จังหวัดยะลาเคยเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลปัตตานี มีดินแดนต่อเนื่องกับประเทศมาเลเซีย ตามประวัติศาสตร์ชนเชื้อชาติไทยและมลายูนั้นได้อยู่ร่วมกันมาช้านาน ทำให้มีการผสมผสานแลกเปลี่ยนกันในทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมในการใช้ภาษาเป็นสิ่งที่เห็นได้ง่ายที่สุด ในภาษาไทยถิ่นยะลานั้นมีศัพท์ส่วนหนึ่งที่คิดว่าเป็นคำเฉพาะถิ่น แต่แท้จริงแล้วเป็นคำภาษามลายู ภาษามลายูในจังหวัดยะลามีทั้งที่ใช้ตรงกันหรือใกล้เคียงกัน อาทิ ชื่อบ้านนามเมืองที่เป็นคำมลายู อาทิ คำว่า เบตง ซึ่งเป็นตำบลและอำเภอในยะลาเป็นภาษามลายูคือคำว่า betong ซึ่งแปลว่า ใหญ่ เพราะมีไม้ไผ่ตงเป็นจำนวนมาก ไม้ไผ่ตงนี้มลายูเรียกว่า “buloh betong” หรือ ชื่อ นิบง ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเมืองยะลา เป็นคำมลายู nibong หมายถึง ไม้เหลาชะโอน (สถาบันทักษิณคดีศึกษา สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ หน้า 133)
คำศัพท์มลายูจำนวนหนึ่งใช้ในชีวิตประจำวัน จนอาจไม่รู้สึกว่าเป็นคำที่ยืมมาจากภาษามลายู ในขณะที่บางคำก็นำมาเปลี่ยนแปลงเสียง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างคำ จนกลายเป็นภาษาผสม จนกระทั่งไม่อาจตัดสินได้ว่า แท้จริงแล้วเป็นคำภาษาใดกันแน่
นอกจากชื่อบ้านนามเมืองในจังหวัดยะลาที่ใช้ภาษามลายูแล้ว ยังมีชื่ออาหารการกินอีกมากมายที่ใช้คำภาษามลายู