ประเพณี มาแกปูโละ หรือพิธีแต่งงานของชาวมุสลิม อันที่จริงประเพณีนี้อาจคล้ายกับพิธีแต่งงานของคนไทยทั่วไป แต่ความพิเศษสำหรับชาวมุสลิมแล้ว งานแต่งงานคือมิใช่งานเฉพาะของคู่บ่าวสาวหรือของครอบครัวคู่บ่าวสาว หากแต่งานแต่งงานกลายเป็นงานของคนในชุมชน เนื่องจากคนในชุมชนจะช่วยเจ้าภาพเตรียมงานตั้งแต่ก่อนวันงาน สมาชิกชุมชนที่เป็นผู้หญิงจะช่วยจัดเตรียมเรื่องอาหาร ปอกกระเทียม ตำเครื่องแกง จัดหาเนื้อสัตว์ ช่วยกันคั้นกะทิ หุงข้าว ส่วนสมาชิกชุมชนที่เป็นผู้ชายก็จะจัดหาไม้ฟืนเพื่อก่อไฟทำอาหาร เตรียมเต็นท์ และเป็นทีมช่วยเสริ์ฟอาหารในวันงาน

ปูโล๊ะหรือข้าวเหนียวในงานแต่ง
ขบวนขันหมากของเจ้าบ่าว

คำว่า มาแกปูโละ แปลตรงตัวจะหมายถึง กินข้าวเหนียว เนื่องจากประเพณีดั้งเดิมในงานแต่งงานของคนมลายูจะมีข้าวเหนียวสีต่าง ๆ อาจจะเป็นข้าวเหนียวมูล กินกับสังขยาที่ทำจากกะทิมีรสหวานจากน้ำตาลมะพร้าว หรือหากไม่ได้ปรุงข้าวเหนียวให้เป็นข้าวเหนียวมูล ก็จะกินกับแกงเนื้อหรือแกงกุ้ง ตามความเชื่อเดิม การกินปูโละลักษณะนี้จะทำให้เรียกความฮึกเหิมให้แก่คู่บ่าวสาวในการใช้ชีวิตคู่และได้บารอกัต (ความประเสิรฐ) 

งานมาแกปูโละโดยส่วนใหญ่แล้วจะจัดที่บ้านของเจ้าสาว ซึ่งเป็นธรรมเนียมท้องถิ่นที่ฝ่ายเจ้าสาวต้องจัดงานและเชิญแขกมาร่วมงาน หลังจากเสร็จสิ้นงานมาแกปูโละแล้ว จะมีงานงาตา หรืองานส่งตัวเจ้าสาวไปยังบ้านฝ่ายชาย ซึ่งอาจจะทำในวันรุ่งขึ้นหรืออาจจะห่างกันสักหนึ่งสัปดาห์ก็ได้