ซอเก๊าะคือหมวกชนิดหนึ่งในวัฒนธรรมการแต่งกายแบบมลายู สำหรับชายชาวมุสลิมสวมใส่ มีรูปทรงรี ส่วนมากจะเป็นสีดำ ทำมาจากผ้าสำลีที่ห่อหุ้มกระดาษแข็งอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้ซอเก๊าะไม่เสียรูปทรง ซอเก๊าะมักจะใส่คู่กับชุดตือโละบลางอ เป็นที่นิยมกันในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน ซอเก๊าะกลายเป็นหมวกประจำชาติ สวมใส่ในเทศกาลและพิธีการสำคัญๆ ในมาเลเซีย ซอเก๊าะเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายประจำกองทัพบกและสำนักงานตำรวจมาเลเซีย

ซอเก๊าะมีสองแบบ แบบ rata จะมีลักษณะความสูงเรียบเท่ากัน อีกแบบคือแบบ gunung มีลักษณะทรงสูง คล้าย ๆ กับภูเขา

ซอเก๊าะแบบ gunung

ซอเก๊าะได้รับอิทธิพลจากเฟซ (fez) เป็นหมวกของชาวมุสลิมในอาณาจักรออตโตมาน หากแต่เฟซของออตโตมานจะมีสีแดง ซอเก๊าะเริ่มเข้ามาในเมืองมลายูครั้งแรกจากความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่าง (https://www.thepatriots.asia/asal-usul-songkok/) Sultan Sir Abu Bakar (1833-1895) ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนักยะโฮร์กับ Sultan Abdul Hamid II (ครองราชย์ 1876-1909) สุลต่านองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรออตโตมาน โดย Sultan Sir Abu Bak นำเฟซมาประยุกต์ใช้ให้เป็นเครื่องหมวกประจำการแต่งกายของชาวมลายูยะโฮร์ ภายหลังจึงมีการเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีดำเพื่อไม่ให้ซ้ำกับออตโตมาน อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า หมวกของ Hasan al Banna (1906-1949) ผู้ก่อตั้งกลุ่มอิควานมุสลีมีนในอิยิปต์ เป็นหมวกสีดำเรียกว่า ตัรบูซ (tarboosh) คล้ายกับซอเก๊าะ เป็นที่ทราบกันดีว่ากลุ่มอิควานมุสลิมเป็นกลุ่มฟื้นฟูอิสลามที่มีทรงอิทธิพลมากในโลกมุสลิม จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ซอเก๊าะในโลกมลายูอาจได้รับอิทธิพลจากอิควานมุสลีมีนด้วย