ตลาดเก่าเป็นชุมชนมุสลิมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองยะลา มีอาณาเขตตั้งแต่ถนนสิโรรสบริเวณทางรถไฟจรดเขตแดนยะลา-ปัตตานี บริเวณจุดตรวจขุนไวย์ที่บ้านจารู ฝั่งตะวันตกติดกับแม่น้ำปัตตานี ฝั่งตะวันออกติดกับบึงแบเมาะ

ตลาดเก่ามีชื่อเรียกภาษามลายูว่า”กือดาลามอ” หรือว่า “กือดาบูโฆะ” ซึ่งก็แปลว่าตลาดที่มีมานาน (เว็บไซต์) ชุมชนตลาดเก่าประกอบด้วยชาวมุสลิมประมาณร้อยละ 90 ที่เหลือเป็นชาวไทยจีน ก่อนพ.ศ. 2547 ย่านตลาดเก่ามีชาวไทยจีนมากกว่านี้ แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ชาวไทยจีนเริ่มย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่นมากขึ้น เหลือแต่ที่อยู่ในชุมชนบริเวณถนนวิฑูรอุทิศ 10 เนื่องจากที่นั่นยังมีศาลเจ้าพ่อบู้เต็กโฮ้วเป็นจุดศูนย์กลางอยู่ เนื่องจากคนในพื้นที่นี้ส่วนมากเป็นชาวมุสลิม เวลามีเทศกาลหรืองานประเพณีทางศาสนาอิสลามจะมีความคึกคักมาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอน ผู้คนจะออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากเพื่อต้อนรับเทศกาลหลังประเพณีถือศีลอด

ตลาดเก่าประกอบด้วยชุมชนในสังกัดเทศบาลนครยะลาทั้งหมด 9 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนจารูพัฒนา ชุมชนร่วมใจพัฒนา ชุมชนโรงเรียนเทศบาล 5 ชุมชนตลาดเก่าซอย 8 ชุมชนสันติสุข ชุมชนจารูนอก ชุมชนมุสลิมสัมพันธ์ ชุมชนวิฑูรอุทิศสัมพันธ์ ชุมชนดารุสสลาม หากแบ่งอย่างง่าย ผู้คนจะติดปากว่าฝั่งมัสยิดกลางกับฝั่งโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ซึ่งมีถนนสิโรรสคั่นตรงกลาง หรือหากแบ่งแบบคนตลาดเก่า ก็จะมีการแบ่งอีกอย่างคือฝั่งตลาดเก่ากับฝั่งจารู พื้นที่จารูตามความเข้าใจของผู้วิจัยคือนับจากซอยศรีปุตราเป็นต้นไปจนถึงด่านตรวจขุนไวย์ ฝั่งจารูนั้นยังสามารถแบ่งได้อีกสองส่วน ได้แก่จารูนอกซึ่งก็คือฝั่งโรงเรียนธรรมฯ ด้านหลังติดกับสวนมิ่งเมือง (ปาแดกูจิง) ริมบึงแบเมาะ ส่วนจารูในคืออีกฟากหนึ่งของถนน ด้านหลังติดกับแม่น้ำปัตตานี และเป็นที่ตั้งของสนามฟุตบอลของทีมฟุตบอลยาลอซิตี้

รูปภาพที่ 4.1: แผนที่บางส่วนของตลาดเก่า

ย่านตลาดเก่ามีมัสยิดกลาง จังหวัดยะลาเป็นจุดศูนย์กลาง นอกจากนี้ยังมีมัสยิดอีก 10 แห่ง รอบ ๆ ชุมชน ได้แก่ มัสยิดนูรูลฮูดา มัสยิดซอย 5 มัสยิดจารูใน มัสยิดจารูนอก มัสยิดหลัง ท.5 มัสยิดซอย 8 มัสยิดญาดิ๊ด, มัสยิดซอย 4 มัสยิดซอย 2 และมัสยิดกาโบ โดยแต่ละมัสยิดจะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของคนในชุมชนย่อย ๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น

ตลาดเก่าเป็นชุมชนใหม่ที่เพิ่งมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยพร้อมกับการตั้งเมืองยะลาใหม่ที่บริเวณหมู่บ้านนิบงในทศวรรษ 2480 จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสตลาดเก่า กลุ่มคนกลุ่มแรกที่มาตั้งรกรากบริเวณตลาดเก่าเป็นลูกหลานของเจ้าเมืองยาลอที่มีชื่อขึ้นต้นด้วย “ต่วน” แต่โดยส่วนใหญ่แล้วคือมากกว่าร้อยละ 70  เป็นคนที่มีพื้นเพมาจากปัตตานี โดยเฉพาะจากยะรังและปูยุด1 ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เมื่อถึงเทศกาลวันฮารีรายอ ตลาดเก่ามักจะเงียบเหงาเนื่องจากส่วนใหญ่ผู้คนในย่านนี้กลับไปเยี่ยมบ้านเดิมของบรรพบุรุษที่ปัตตานี

วิถีชีวิตของชาวตลาดเก่า

ชาวตลาดเก่ามีวิถีชีวิตเรียบง่าย หลายคนมักกล่าวกันว่า ตลาดเก่าเป็นพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท กล่าวคือ มีความเป็นเมืองน้อยกว่าพื้นที่อื่น ๆ ในเมืองยะลา เช่น สายกลาง รวมมิตร คุรุ ผังเมือง 4 หรือแม้แต่ตือเบาะ ที่ผู้คนมักจะใช้ชีวิตแบบไม่รู้จักเพื่อนบ้านกันมากนัก เช้าออกไปทำงาน เย็นกลับบ้าน แต่ที่ตลาดเก่า ผู้คนยังใช้ชีวิตคล้ายกับในชนบท เพื่อนบ้านร่วมในละแวกเดียวกันรู้จักกัน มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ขณะเดียวกันตลาดเก่าก็มีความเป็นเมือง มีปัจจัยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันครบถ้วน ด้วยทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟ ใกล้สถานีรถตู้ไปหาดใหญ่ มีรถสามล้อ วิ่งผ่านไม่ขาดสาย มีร้านสะดวกซื้อถึง 4 สาขา และมินิบิ๊กซีอีก 1 สาขา

การศึกษาในย่านตลาดเก่า

โรงเรียนเทศบาล 5 (บ้านตลาดเก่า) เป็นโรงเรียนประถมแห่งเดียวในตลาดเก่า สังกัดเทศบาลนครยะลา มีจำนวนนักเรียนมากที่สุดในบรรดาโรงเรียนเทศบาลทั้ง 6 แห่งในเมืองยะลา

รูปภาพที่ 4.2: โรงเรียนเทศบาล 5 บ้านตลาดเก่า โรงเรียนประถมแห่งเดียวในตลาดเก่า

ส่วนโรงเรียนมัธยมในตลาดเก่าจะมี 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาสังกัดอิสลามวิทยามูลนิธิ ได้แก่ โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ หรือเรียกติดปากว่า “โรงเรียนยีรง” เนื่องจากผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีนามว่าหะยีฮารูน และโรงเรียนสตรีอิสลามวิทยามูลนิธิ หรือ “ยีรงฝั่งผู้หญิง” โรงเรียนธรรมฯ ถือว่าเป็นโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนักเรียนเกือบ 7,000 คน และบุคลากรอีกเกือบ 600 คน โดยในบรรดานักเรียนเหล่านี้มาจากหลากหลายพื้นที่ มิใช่เฉพาะคนในภาคใต้ชายแดนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมุสลิมจากภาคใต้ตอนบน ภาคกลาง และภาคเหนือ

รูปภาพที่ 4.3: บรรยากาศหน้าเสาธงในตอนเช้าของโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ

นอกจากนี้ ตลาดเก่ายังคับคั่งไปด้วยโรงเรียนตาดีกา ตาดีกาที่ใหญ่ที่สุดคือ “ตาดีกาอิรชาด” ตั้งอยู่บริเวณใกล้หอนาฬิกาตลาดเก่า “ตาดีกาอิรชาด” เป็นโรงเรียนตาดีกาแห่งเดียวในตลาดเก่าที่ไม่สังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งทำให้ทางตาดีกาไม่ได้รับเงินอุดหนุนจาก สช. แต่ก็สามารถใช้ตำราเรียนของโรงเรียนเองได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ตำราของ สช.  แตกต่างจากตาดีกาแห่งอื่นอีกประมาณ 5 แห่ง ที่ผู้สอนได้รับเงินอุดหนุนจาก สช. และต้องใช้ตำราของ สช. ซึ่งจะมีการใช้ภาษาไทยในตำราเรียน2 งบประมาณที่บริหารตาดีกาทั้งหมดจึงมาจากค่าเทอมของนักเรียน

เมื่อปี พ.ศ. 2563 ชุมชนตลาดเก่าและเครือข่ายตาดีกาตลาดเก่า (PERTAKAI) ได้จัดมหกรรมมาอัลฮิจเราะห์ 1442 สานสัมพันธ์ตลาดเก่ายะลา ครั้งที่ 1 ขึ้น เพื่อร่วมอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมอิสลาม และเสริมสร้างความรักสามัคคีให้กับชุมชน ณ สนามกีฬากลางจารู อำเภอเมือง จังหวัดยะลา


  1. ครอบครัวของสมาชิกคนหนึ่งในคณะผู้วิจัยย้ายถิ่นฐานมาอยู่ตลาดเก่าสมัยรุ่นปู่และย่า โดยปู่มีพื้นเพเป็นคนปูยุดและย่าเป็นคนยะรัง ↩︎
  2. ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารของโรงเรียน ยังพบว่า การใช้ภาษาไทยในตำราเรียนผิดเจตนารมณ์ของการเกิดตาดีกาที่ต้องการใช้เยาวชนมลายูมุสลิมรู้จักการใช้ภาษามลายูให้ถูกต้อง หากกล่าวให้ถึงที่สุด ผลของการเข้าไปสังกัด สช. ของตาดีกาส่วนใหญ่ในตลาดเก่าทำให้เยาวชนตลาดเก่ามักใช้ภาษาไทยกันตั้งแต่เด็ก และเริ่มจะใช้ภาษามลายูไม่ถนัดแล้ว ↩︎