วัดคูหาภิมุข เป็นวัดที่สำคัญอันดับหนึ่งของจังหวัดยะลา อยู่ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 8 กิโลเมตร วัดคูหาภิมุขเริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี 2390 เดิมชื่อวัดหน้าถ้ำ ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดคูหาภิมุขในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากจอมพล แปลก ต้องการให้ชื่อวัดทั่วไปเป็นคำราชาศัพท์ หรือ ภาษาบาลี
วัดคูหาภิมุขมีตำนานเล่าขานกันว่า เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชเกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนาและเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา พระองค์ได้ส่งพระสมณทูต 9 สายไปประกาศเผยแพร่พระพุทธศาสนารอบดินแดนอินเดีย ส่วนดินแดนสุวรรณภูมิ มีพระสมณทูตสายหนึ่ง ได้แก่ พระโสณะเถระ และพระอุตมะเถระรับหน้าที่มาเผยแพร่พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนแห่งนี้ โดยลงเรือลำเดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราช และพระนางสังฑมิตรซึ่งนำต้นโพธิ์ทอง 2 ต้นมาด้วย เรือของพระสมณทูตได้แวะที่ “เมืองพรหมทัศน์” (เมืองถ้ำคูหา) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเจ้าอ้ายไต และพระเจ้าอโศกมหาราชทรงปลูกต้นโพธิ์ทองต้นหนึ่งไว้ที่เมืองพรหมทัศน์ (เมืองถ้ำคูหา) คือบริเวณวัดคูหาภิมุข จังหวัดยะลา ในปัจจุบัน จึงมีความเชื่อว่า สถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่สร้างวัดแห่งแรกในดินแดนสุวรรณภูมิ (น. สพ. ชาญณรงค์ พุฒิคุณเกษม. 2547: 53)