ท่าสาปเป็นพื้นที่ราบริมแม่น้ำปัตตานี มีภูมิประเทศเป็นป่าเขาที่ทอดตัวยาวไปจนถึงสันเขาสันกาลาคีรี อันเป็นจุดกำเนิดของลำน้ำสายสำคัญสองสาย คือ แม่น้ำปัตตานี และ แม่น้ำสายบุรี บ้านท่าสาปเป็นแหล่งชุมชนตั้งแต่ครั้งโบราณก่อนตั้งเมืองยาลอ ดังปรากฏร่องรอยให้เห็น เช่น “ทุ่งกาโล” ที่เคยเป็นชุมชนโบราณในแถบนี้ เพราะมีการขุดพบเครื่องใช้ไม้สอยเก่าแก่มากมาย เมื่อเดินข้ามเขาหินปูนไปอีกฟากหนึ่งจะเป็นศาสนสถานในยุคเดียวกับทุ่งกาโล คือ ถ้ำคูหาภิมุข อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์สมัยจักรวรรดิศรีวิชัยที่สร้างด้วยดินดิบ ขึ้นรูปด้วยโครงไม้ไผ่ขัดสาน โบกปูนทรายทับข้างนอก ในละแวกใกล้เคียง พบหลักฐานภาพเขียนด้วยสีดิน เป็นเรื่องราววิถีชีวิตของยุคก่อนประวัติศาสตร์และภาพพระพุทธเจ้า พุทธสาวกและอุบาสกอุบาสิกา นอกจากนี้ ยังพบพระดินดิบฝังอยู่ในดินเป็นจำนวนมาก การพบร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของคนในชุมชนแถบบ้านท่าสาปและบ้านหน้าถ้ำแสดงว่าถิ่นแถบนี้เคยเป็นชุมชนเดียวกันมาก่อน ท่าสาปเคยเป็นท่าเรือเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของลุ่มน้ำปัตตานี รวมทั้งเคยเป็นเส้นทาง “สินค้าของป่า” ในสมัยอาณาจักรลังกาสุกะ
เมืองยาลอได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2355 “ต่วนยาลอ” หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า “เต็งกูสุไลมาน รงโซ๊ะ เป็นเจ้าเมืองคนแรก พระราชทินนามว่า “พระยาณรงค์ฤทธีศรีประเทศวิเศษวังษา” สร้างบ้านแปงเมืองอยู่ที่บ้านยาลอ เมื่อเปลี่ยนผ่านเมืองไปสู่ยุคของ “ต่วนบางกอก” เมืองยาลอก็ยังใช้วังยาลอเป็นที่ทำการ แต่เมื่อ “หลวงสวัสดิ์ภักดี” (ยิ้มซ้าย) ได้รับโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองยาลอคนต่อไป จึงได้ย้ายเมืองไปตั้งที่บ้านวังกระ ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานีในปัจจุบัน จนกระทั่งได้ย้ายไปเป็นเจ้าเมืองยะหริ่งแทนนายพ่ายที่ถึงแก่อสัญกรรม “นายเมือง” บุตรนายพ่ายได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองยาลอ เมื่อ พ.ศ. 2390 ได้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ที่บ้านท่าสาป ริมแม่น้ำปัตตานี ได้รับพระราชทินนามเป็น “พระยาณรงค์ฤทธิ์ศรีประเทศวิเศษวังษา” (เมือง) ต้นตระกูล “กูลณรงค์” คหบดีในเมืองยะลาคนหนึ่ง บ้านท่าสาปมีทำเลการค้าที่เหมาะสม ทำให้มีราษฎรย้ายมาตั้งบ้านเรือนกันมากมาย เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการสร้างอาคารบ้านเรือนเป็นตึกรูปทรงจีนขึ้นเป็นครั้งแรกของเมืองยาลอ การค้าขายรุ่งเรืองมาเป็นลำดับ ท่าสาปกลายเป็นศูนย์กลางการค้าขายที่มีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะการส่งสินค้าดีบุกจากเมืองยาลอ เมืองยะหา เมืองรามันห์ และเมืองบันนังสตา ไปยังเมืองปตานี
ย่านบริเวณบ้านลิมุด บ้านทุเรียน และบ้านท่าสาป ได้กลายเป็นย่านการค้าและการคมนาคมทางน้ำ ควบคู่กับบ้านสะเตงที่อยู่กันคนละฟาก ซึ่งมีบ้านเรือนของราษฎรมาตั้งหลักแหล่งมากมายเช่นเดียวกัน จนกลายเป็นชุมชนเดียวกัน เพียงแต่อยู่กันคนละฟากแม่น้ำเท่านั้น ทางฝั่งบ้านท่าสาป บ้านลิมุด บ้านทุเรียน เป็นท่าเรือเพื่อขนส่งสินค้าและจุดเริ่มต้นเดินทางไปยังอำเภอยะหาและจังหวัดสงขลา ในขณะเดียวกัน ทางฝั่งบ้านสะเตงกำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นตำแหน่งที่อยู่ใกล้บริเวณที่รัฐบาลกำลังวางแผนสร้างทางรถไฟตัดผ่านบ้านนิบงไปยังสุไหงโกลค นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของของเมืองอีกครั้งหนึ่ง จนในที่สุดเมืองยาลอได้ย้ายข้ามฟากไปตั้งที่บ้านสะเตงตามที่คาดไว้
ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 ได้ย้ายไปที่บ้านนิบงบริเวณทางผ่านของรถไฟ ปัจจุบันคือที่ตั้งวิทยาลัยอาชีวะผดุงประชา ทำให้เกิดย่านการค้าใหม่ขึ้น โดยเฉพาะการเกิดตลาดนัดแห่งใหม่ คือ “ตลาดเสรี” หรือที่เรียกกันว่า “ตลาดเก่า” ทั้งสองฟากฝั่งทางรถไฟมีผู้มาจับจองที่ดินปลูกสร้างบ้านเรือนกันมากมาย ถนนสายแรกที่เกิดขึ้น คือ “ถนนสิโรรส” ซึ่งตัดตรงมาจากบ้านสะเตง ผ่านย่านบ้านเรือนที่ผู้คนมาจับจองกันอย่างคึกคัก ข้ามทางรถไฟไปทางย่าน “ตลาดเก่า” ตรงไปบรรจบกับถนนที่มาจากปัตตานี ทำให้ถนนสายนี้เป็นถนนสายหลักของเมืองยะลามาจนถึงปัจจุบัน บ้านนิบงกลายเป็นย่านการค้าใหญ่ที่มีคนจีน คนไทยพุทธ และคนไทยมุสลิมมาอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนใหญ่
ในช่วงที่เมืองยาลอตั้งอยู่ที่บ้านท่าสาป มีรายได้หลักอยู่ที่การให้สัมปทานเหมืองแร่ดีบุก และการเก็บค่าผ่านแดนก่อนลำเลียงไปที่ปากน้ำปัตตานี เพื่อส่งต่อไปยังตลาดสิงคโปร์ตลาดใหญ่ของภูมิภาค พ่อค้าไทย จีน ลำเลียงสินค้าและดีบุกมาขายที่บ้านท่าสาป ท่าเรือบ้านท่าสาปจึงกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า ซึ่งมีสินค้าจากเมืองยาลอและเมืองอื่น ๆ ส่งไปยังเมืองท่าปัตตานี ได้แก่ แร่ดีบุก ของป่า ข้าว ส่วนสินค้าจากเมืองท่าปัตตานีจะเป็นสินค้านำเข้าจากชาติต่าง ๆ บ้าง จากปัตตานีเองบ้าง เช่น ไม้ขีดไฟ ผ้าขาว ผ้าลาย ผ้าดำ ธูปจีน เกลือ และด้ายสีต่าง ๆ น้ำมันมะพร้าว กุ้งแห้ง ปลาเค็ม น้ำตาลโตนด น้ำตาลกรวด เป็นต้น นอกจากนี้ ท่าสาปยังเป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้าในการนำสินค้าต่าง ๆ ไปขายยังเหมืองหลายแห่งที่อยู่ทางตอนใต้ ซึ่งต้องใช้พาหนะอย่างช้างช่วยในการลำเลียงต่ออีกชั้นหนึ่ง เพื่อนำสินค้าไปขายที่เหมืองถ้ำทะลุ เหมืองติดะ เหมืองลาบู
เดิมตำบลท่าสาป ชื่อว่า ท่าม่วง มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยก่อน ยังไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำปัตตานี ชาวบ้านจึงใช้แพข้ามแม่น้ำ พวกกลุ่ม หนังตะลุง โนราห์ หมอดู มีความเลื่อมใสทางไสยศาสตร์มาก เชื่อกันว่าเมื่อข้ามแพนี้แล้ว สิ่งศักดิ์ทั้งหลายจะเสื่อมลงทันที ไม่ขลังเหมือนเก่า และทางข้ามแพนี้จะมีสิ่งอาถรรพ์มากมาย จะสังเวยเอาชีวิตชาวบ้านปีละ 1 คน อยู่มาวันหนึ่งมีแม่ชีปะขาวเดินทางธุดงค์มาพักพิงที่บริเวณชายฝั่งแม่น้ำ เจริญภาวนาธรรม ชาวบ้านได้มาพบและได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ฟัง แม่ชีดูเห็นว่าที่นี่มีสิ่งชั่วร้ายสถิตอยู่ ภูตผีปิศาจอาศัยอยู่จึงทำพิธีขับไล่ปีศาจหายสาบสูญไป แล้วให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากบ้านท่าม่วงเป็น “บ้านท่าสาป”
(อ้างอิง https://www.thasap.go.th/)