ศิลปะการแสดงพื้นบ้านพื้นเมืองของจังหวัดยะลา มีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำแบบกับภาคอื่น ๆ เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านพื้นเมืองที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดยะลา
ปันจักสีลัต เป็นศิลปะการป้องกันตัวที่มีมานานในกลุ่มชาวมลายู ใน แถบประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ปัจจุบันปันจักสีลัตเป็นที่ยอมรับในรูปแบบหนึ่งของการกีฬา โดยกำหนดให้มีกติกาชัดเจน ตั้งแต่การคัดเลือกผู้แสดง (นักกีฬา) จนถึงการกฎเกณฑ์การแข่งขัน เพื่อไปประชันกับทีมของประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ปันจักสีลัตประจำอยู่ ชื่อว่า อะห์ลีรันติง
ปันจักสีลัต มีชื่อเรียกอื่น เช่น อังชัน ฆายง ปันจักสีลัตเป็นคำภาษาอินโดนีเซีย คำว่า ปันจัก หมายถึงการป้องกันตัว และคำว่า สีลัต หมายถึง ศิลปะ ในบริเวณสามจังหวัดชายแดนใต้เรียกกันว่า สิละ ดีกา หรือ บือดีกา คำว่า สิละ มาจากคำว่า ศิละ ในภาษาสันสกฤต สะท้อนให้เห็นว่าดินแดนนี้เป็นพื้นที่อาณาจักรศรีวิชัย ที่มีวัฒนธรรมอินเดียมาก่อน เนื่องด้วยศิลปะประเภทนี้มีมายาวนานมาก ทำให้เรื่องราวของปันจักสีลัตมีอยู่หลายสำนวน ขึ้นอยู่กับการเล่าของผู้คนในแต่ละท้องที่ อาจจะตรงกันหรือไม่ตรงกันก็ได้ หาความถูกต้องแน่นอนชัดเจนไม่ได้
ในประเทศไทยมีผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับปันจักสีลัตอยู่หลายคน แต่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ ในบริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีบางจังหวัดรู้จักในชื่อ ฆายง
กีฬาปันจักสีลัตมาจากชาติพันธุ์มลายู ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน ปันจักสีลัตเข้ามาในลักษณะกีฬา ขยายเข้ามาในตะวันออกเฉียงใต้ และแพร่ เข้าสู่ยุโรป “ในบ้านเรารู้จัก สีลัตฆายง ปันจักสีลัตเป็นกีฬาที่ไม่ค่อยมีคนเรียนสักเท่าไร ถ้าผู้สอนเสียชีวิต จะไม่มีคนมาสานต่อ” การรู้จักปันจักสีลัตในปัจจุบันนี้ คือแนวทางกีฬามากกว่า เป็นศิลปะในการป้องกันตัวที่ ต่อสู้ด้วยมือเปล่า เท้าเปล่า เน้นให้เห็นลีลาการเคลื่อนไหว สมาคมกีฬาปันจักสีลัตแห่งประเทศไทย ได้กำหนดการแข่งขันปันจักสีลัตออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
- ประเภทการต่อสู้ (Tanding) เริ่มจากสองฝ่ายเคารพกัน เรียกว่า สาลามัต แล้วทั้งสองฝ่ายเริ่มร่ายรำจนถึงขั้นต่อสู้จนอีกฝ่ายหนึ่งล้มลง
- ประเภทเดี่ยวปันจักสีลัต (Tunggal) การแสดงโดยนักกีฬาคนเดียว ต้องแสดงท่าตามข้อกำหนด 100 กระบวนท่า จะเป็นท่ามือเปล่า ใช้มีด (Golok) และ ใช้กระบอง (Thongkat) นักกีฬาต้องแสดงท่าที่ถูกต้องชัดเจน
- ประเภทคู่ปันจักสีลัต (Ganda) เป็นการแข่งขันที่มีนักกีฬาข้างละ 2 คน ต่อสู้ผสมผสานกันด้วยมือเปล่า หรือใช้อาวุธ เช่น มีด กระบอง กริช เป็นต้น
- ประเภททีม (Rega) เป็นการแสดงที่มีนักกีฬาข้างละ 3 คน ต้องใช้ท่า 100 กระบวนท่า มีทั้งการแสดงด้วยมือเปล่าและใช้อาวุธ แสดงกระบวนท่าที่ถูกต้องชัดเจนทั้งสีหน้าท่าทาง ความแข็งแรง และความพร้อมเพรียง
(อ้างอิงจาก งานบทความวิชาการเรื่อง ศิลปวัฒนธรรมที่ถูกลืม ปันจักสีลัต ของ แวฟาตีเม๊าะ มะแซ, รุสมีนี ดอเลาะ, มาเรียม ยูโซ๊ะ, นารีนี สูหลง, ดาราณี โสะสี, มูฮัมหมัดชาร์รีฟ, เจ๊ะมูซอ นัสรี สะมะแอ และข้อมูลจากสมาคมกีฬาปันจักสีลัตแห่งประเทศไทย)

