ผ้าปะลางิง เป็นผ้าพื้นถิ่นในจังหวัดยะลาที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 100 ปี แต่ภูมิปัญญานี้สูญหายไป ผ้าปะลางิงแต่เดิมใช้กันในกลุ่มชาวมุสลิมชายแดนในแถบจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นผ้าที่สะท้อนเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับวิถีชีวิต และศาสนา
บางเอกสารระบุว่า ปะลางิง เป็นผ้าท้องถิ่นที่ใช้เทคนิคการมัดย้อม มีถิ่นกำเนิดมาจากชวา ภายใต้ลานเส้นสีไม้ ชั้นสีที่ผ่านการย้อมและแต้มสีหลายชั้นคล้ายกับเป็นสีรุ้ง ภูมิปัญญาผ้าปะลางิงสะท้อนให้เป็นถึงประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ภูมิประเทศ ชีวิตของผู้คน ที่สืบเนื่องมากแต่อดีต
ตัวอย่างกลุ่มผลิตผ้าปะลางิง ได้แก่
กลุ่มผ้าศรียะลาบาติก ภายในซอยสุขธร 12 ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ซึ่งมี นายปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2560 เป็นผู้เริ่มก่อตั้งการทำผ้าบาติก ได้ริเริ่มฟื้นฟูตำนานของผ้าปะลางิงให้กลับมาสร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดยะลาอีกครั้ง
อาจารย์ปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ได้นำเอาศิลปะลวดลายที่พบเห็นจากสถานที่ต่างๆ ที่สะท้อนเรื่องราวของสถาปัตยกรรมวิถีและวัฒนธรรมในพื้นถิ่นใต้ มาออกแบบเป็นลวดลาย“บล็อกไม้” ที่ใช้พิมพ์ผ้าปะลางิงกว่า 200 ลาย มีการพัฒนาสร้างสรรค์กระบวนการผลิตผ้าปะลางิง ให้มีมิติของสีสัน และลวดลายที่มีความแปลกสะดุดตายิ่งขึ้น จนทำให้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับ “ผ้าปะลางิง” ฟื้นคืนชีวิตเป็นที่รู้จักและนิยมกันอย่างกว้างขวาง กลายเป็นผ้าที่มีชื่อเสียงประจำของจังหวัดยะลา ผ้าปะลางิง ที่ทอสำเร็จแล้ว จะมีความยาวด้านหน้ากว้าง ตั้งแต่ 42 ถึง 45 นิ้ว ความยาวของผ้าทอที่ได้จะมีความยาวรอบละประมาณ 10 กว่าเมตร เพราะต้องการให้มีการเปลี่ยนลายใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา เอกลักษณ์ที่โดดเด่นมากคือ ผ้าแต่ละผืนจะมีอยู่เพียงแค่ลายเดียว
(อ้างจาก https://yala.mots.go.th/news_view.php?nid=654 )
อาจารย์ปิยะ สุวรรณพฤกษ์ เล่าว่า “ผ้าปะลางิง” เป็นผ้าในตำนาน ได้สูญหายไปร่วม 80 ปี ตนได้พบเห็นผ้าปะลางิงครั้งแรกในปี พ.ศ.2472 ในขบวนรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยผู้ร่วมขบวนทั้งหญิงและชายได้แต่งกายด้วยผ้าปะลางิง ซึ่งผู้ชายส่วนใหญ่จะใช้นุ่ง ส่วนผู้หญิงจะใช้สำหรับคลุมผม คลุมศีรษะ และปล่อยชายผ้าห้อยลงมาอย่าสวยงาม ซึ่งเป็นผ้าปะลางิง ยุคแรกๆ ที่ได้เห็นกัน



อาจารย์ปิยะ ให้สัมภาษณ์ว่า “ในส่วนของการพบเจอที่เป็นเอกสารหลักฐานสำคัญ ก็คือ แม่พิมพ์ไม้ ที่กรมศิลปากรได้มาเก็บข้อมูลไว้ และนำไปจัดแสดง จึงได้หาข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับที่มาของผ้าปะลางิง และการสูญหายไปของผ้าปะลางิง ก็มาจากการที่ได้เลิกปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในท้องถิ่น เพราะสภาพพื้นที่ และสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ทำให้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมหยุดไป โดยผ้าปะลางิงนั้น ตัวผืนผ้าใช้การทอ ไม่ว่าจะเป็นการทอด้วยฝ้ายกับฝ้าย หรือไหมกับฝ้าย ก่อนที่จะมาทำเป็นผ้ามัดย้อม การเขียนลวดลาย การพิมพ์ลายผ้า และการเก็บสี เพราะฉะนั้นในผ้าปะลางิงหนึ่งผืนจะมีหลากหลายสีแต่โทนสีจะเป็นคู่สีตัดกัน”
จุดเด่นของผ้าปะลางิง ที่สำคัญคือ ตั้งแต่ตัวลวดลายที่อยู่บนผืนผ้า เพราะลายทอของผ้าได้ถอดแบบมาจากบล็อกแม่พิมพ์ไม้ แล้วมาเขียนกราฟ แล้วก็ทอ ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน และการทอก็มีลูกเล่นของลายเนื้อผ้า จุดเด่นอีกอย่างก็คือ การใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นมาเป็นตัวเล่าเรื่องผ้า เช่น ตัวลวดลายที่ทำแม่พิมพ์ไม้ จะศึกษาออกแบบมาจากลวดลายช่องลมโบราณ ลวดลายกันสาด ลวดลายราวประตู กระเบื้องโบราณ หรือลวดลายจากสถาปัตยกรรมในท้องถิ่น เช่น จากวังโบราณต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ อย่างเช่น วังจะบังติกอ วังในจังหวัดปัตตานี ก็ถูกนำมาเล่าเรื่องผ่านลายผ้า

สำหรับผ้าปะลางิง จะใช้เวลา 1 เดือน ผลิตได้ประมาณ 4 ผืน ไม่ได้มากกว่านี้ เพราะปัจจัยด้านเวลา และการทำผ้าที่ใช้มือทำทั้งหมด ทั้งการวางสี การวางลวดลายต่าง ๆ แต่ละผืนจะมีลายไม่ซ้ำกัน นอกจากนี้ ในผืนผ้าปะลางิง ก็จะมีตัวเลขกำกับไว้เฉพาะใครซื้อไป ผ้าผืนนี้หมายเลขนี้ไปอยู่ที่ใครก็จะทราบ
ชุมชนที่ผลิตผ้าปะลางินในปัจจุบัน เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทุกเชื้อชาติศาสนา ทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิม และคนไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่จังหวัดยะลา