การเปิดปากในงานพิธีอากีเกาะห์

อากีเกาะห์ (العقيقة) เป็นพิธีกรรมตามหลักศาสนาอิสลาม มีกล่าวไว้ชัดเจนในฮะดิษ(วจนะของท่านศาสดา) เช่นบทที่กล่าวว่า “ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺได้สั่งใช้เราให้ทำอากีเกาะห์ให้กับเด็กผู้ชายด้วยกับแกะ 2 ตัว และให้กับเด็กผู้หญิงด้วยกับแกะ 1 ตัว” อากีเกาะห์จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการได้บุตรของชาวมุสลิม ตามหลักศาสนาจริง ๆ จะทำขึ้นเมื่อลูกมีอายุครบ 7 วัน หรือเมื่อพ่อแม่มีกำลังทรัพย์พร้อม เนื่องจากพิธีอากีเกาะห์ต้องเชือดสัตว์พลีเพื่อเลี้ยงอาหารให้กับคนชุมชนเพื่อแสดงถึงการเฉลิมฉลอง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะจัดขึ้นก่อนเด็กมีอายุครบ 2 ขวบ 

            คำว่า อากีเกาะฮ์ ตามหลักภาษาแล้ว คือชื่อของเส้นผมที่อยู่บนหัวของเด็กแรกเกิด และความหมายของอากีเกาะฮ์ตามหลักนิติบัญญัติ คือ ชื่อของสิ่งที่จะถูกเชือดในวันที่ 7 ของเด็กแรกเกิด ซึ่งเป็นวันที่มีการโกนผมไฟ พ่อแม่จะทำการเชือดสัตว์พลี อาจจะเป็นแพะ แกะ หรือวัวก็ได้ หากเป็นลูกชาย จะต้องเชือดแพะหรือแกะ 2 ตัว ส่วนลูกสาวจะต้องเชือดแพะหรือแกะ 1 ตัว หากต้องการเชือดวัว สำหรับลูกชายต้องใช้เนื้อวัว 2 ส่วน 7ของเนื้อวัวทั้งตัว ส่วนลูกสาวจะใช้ 1 ส่วน 7 ของเนื้อวัวทั้งตัว เมื่อเชือดแล้วก็นำมาทำอาหารแบ่งปันกันกินในครอบครัว ในชุมชน หรือนำไปบริจาคให้คนยากจน

ในวันเดียวกันผู้เป็นพ่อจะทำพิธี บือเลาะมูโละ (บูกอมูโละ – เปิดปาก) และโกนผมเด็ก ในกรณีที่พ่อไม่ค่อยมีความรู้ทางศาสนาอาจจะเชิญผู้นำชุมชนหรือโต๊ะอิหม่ามมาทำพิธี การบือเลาะมูโละเป็นพิธีดั้งเดิมของท้องถิ่น ของที่ต้องเตรียมในพิธี ได้แก่ น้ำซัมซัม (น้ำศักดิ์สิทธิ์จากนครเมกกะ) อันทผาลัม น้ำผึ้ง กรรไกร น้ำมะนาว แหวนทอง และสำลี โต๊ะอิหม่ามผู้ทำพิธีจะบดอินทผลัมหรือเคี้ยวอินทผลัม แล้วนำไปคลึงเบา ๆ ที่เพดานปากของทารก จากนั้นเอาสำลีจุ่มน้ำซัมซัมแล้วบีบเข้าปากทารก ป้อนน้ำผึ้งและน้ำมะนาว ต่อจากนั้นก็ตัดผมทารกประมาณ 1-2 กระจุกนำไปฝังบริเวณบ้าน (ในอดีต จะโกนผมหมดทั้งศีรษะ) พร้อมกับกล่าวขอพรจากพระผู้เป็นเจ้า ให้เด็กเติบโตเป็นคนดีมีศีลธรรมจริยธรรม ซื่อสัตย์กตัญญูต่อพ่อแม่ รู้จักกาลเทศะและอดทน ความเชื่อท้องถิ่นเชื่อว่าการดื่มน้ำผึ้งทำให้เด็กพูดจาไพเราะ เป็นที่รักของเพื่อน ส่วนน้ำมะนาว คือการสอนให้เด็กรู้ว่าชีวิตต้องเรียนรู้และอดทนอดกลั้น ชีวิตจึงจะมีความสุข (อ้างอิง ทักษะวัฒนธรรม ของ แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง)