ร้านชากาแฟในเมืองยะลามีหลากหลายประเภท ประเภทแรกคือ ร้านน้ำชาราคาประหยัด ราคาเครื่องดื่มจะอยู่ที่แก้วละ 5 – 20 บาท ร้านประเภทนี้พบเห็นได้ทั่วไปในตลาดเก่า ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นชาวบ้านที่มีรายได้น้อย ลูกค้าอีกกลุ่มของร้านน้ำชาแบบนี้คือกลุ่มวัยรุ่นมัธยมผู้ชายที่มักจะนั่งพูดคุยจิบน้ำชาและดูดใบจากยาเส้น ประเภทที่สอง ร้านกาแฟ Amazon และชาวดอย ร้านประเภทนี้มีลูกค้า 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ วัยรุ่นผู้หญิงที่หัดนั่งร้านกาแฟเพื่อถ่ายรูปลงอินสตาแกรม กลุ่มผู้ขับรถสัญจรซื้อกาแฟเพื่อดื่มในรถ และกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น/ นักธุรกิจ และประเภทสุดท้าย ร้านกาแฟ specialty ที่กาแฟราคาสูงตั้งแต่ 50 ถึง 200 บาท ลูกค้าจะเป็นกลุ่มคนทำงานอิสระ นักกิจกรรมภาคประชาสังคม ชาวแคมปิ้ง และพวกวัยรุ่นตอนปลายที่รู้วิธีการดื่มกาแฟ
วัฒนธรรมการดื่มกาแฟของชาวยะลาเป็นเหมือนกับที่อื่น ๆ กล่าวคือ เมื่อก่อนดื่มกาแฟชง พัฒนามาเป็นกาแฟสดที่เอาเมล็ดกาแฟคั่วเข้มมาทำ ปัจจุบันกาแฟแบบ Specialty ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนมีคนกล่าวว่า “ยะลากลายเป็นเมืองกาแฟไปแล้ว” ร้านกาแฟแบบ Specialty มีเกือบ 20 ร้าน ผู้ดื่มสามารถเลือกเมล็ดเองได้ เลือกวิธีการชงได้ว่าจะเอาแบบดริป ไซฟ่อน หรือจะชงแบบอเมริกาโน่ เลือกระดับการคั่วได้ว่าจะเอาคั่วอ่อน คั่วกลาง คั่วเข้ม และดื่มแบบไม่ใส่นม ไม่ใส่น้ำตาล ร้านที่ได้รับความนิยม อาทิ Feel Design (ถนนรวมมิตร), Gratio (ถนนรวมมิตร), Hooman (ถนนรวมมิตร), I like Coffee (ถนนรวมมิตร),APE (ตลาดประชาชื่น), คีรีเขต (ตลาดใหม่), Moon (พรุบาโกย), Cratfee bar (ตือเบาะ), Brew Brother (แถวโรงเรียนจีน) เป็นต้น ร้านกาแฟแบบเฟรนไชส์ระดับประเทศอย่าง Amazon มี 6 สาขา และชาวดอยมี 4 สาขา วัยรุ่นมัธยมนิยมมานั่งหย่อนใจที่ร้านกาแฟประเภทนี้ โดยสั่งกาแฟโคลอมเบียแก้วละร้อยกว่าบาท นับเป็นเรื่องที่แปลกตาและเป็นพลวัตที่น่าสนใจ


