ศิลปะการตกแต่งบ้านเรือนของชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องด้วยได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลาม ซึ่งยึดถือระบบการดำเนินชีวิตและคำสอนทางศาสนา แสดงออกมาในงานศิลปะ ศาสนาอิสลามไม่มีการกำหนดรูปแบบของงานศิลปะ แต่ต้องมีเนื้อหาอยู่ภายในคำสอนทางศาสนาอิสลาม ได้แก่ ลักษณะศิลปะแบบอิสลามจะไม่ปรากฏรูปคน และรูปสัตว์ แต่จะแสดงออกมาในลักษณะเป็นนามธรรม ไม่เขียนรูปที่มีเจตนาเย้ายวนอารมณ์ จะพบเห็นงานศิลปะแบบอิสลามได้ทั่วไปตามบ้านเรือน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
ประเภทที่หนึ่ง ลวดลายอักษรประดิษฐ์ (Calligraphic) คือการนำโองการในพระคัมภีร์อัลกูรอ่านมาประดิษฐ์เป็นลวดลายตกแต่งบ้านเรือนในตำแหน่งที่เหมาะสม ประดิษฐ์ให้สวยงามและอ่านง่าย ตัวอักษรในพระคัมภีร์เป็นอักษรภาษาอาหรับที่มีหลายรูปแบบ แต่ที่นิยมนำมาประดิษฐ์ ได้แก่ ตัวอักษรแบบ ซูลูซี ฟารีซี เดวานี และ คูฟี
ประเภทที่สอง ลวดลายจากพรรณไม้ (floral design) คือการนำส่วนต่าง ๆ ของพรรณไม้มาออกแบบและจัดองค์ประกอบให้สวยงามต่อเนื่อง อาจจะนำมาเป็นลวดลายทำไม้แกะสลักประดับตามบ้าน นิยมจัดองค์ประกอบเป็น 2 แบบ คือ แบบจัดให้ต่อเนื่องและซ้ำ ๆ กัน และ แบบสมดุลสองข้างเท่ากัน
ประเภทที่สาม ลวดลายเรขาคณิต (geometrical design) คือการนำเอาเส้นตรง เส้นโค้ง รูปทรงเรขาคณิต สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงรี วงกลม มาจัดองค์ประกอบให้สอดประสานกันอย่างต่อเนื่องสวยงาม จะพบเห็นจากงานแกะสลัก ปูนปั้น หรืองานโลหะ
ลวดลายทั้งสามประเภทนี้ อาจนำมาจัดองค์ประกอบพร้อมกันก็ได้ เพื่อให้มีความสวยงามและซับซ้อนมากขึ้น บ้านเรือนของชาวไทยมุสลิมจะตกแต่งด้วยลวดลายที่สวยงามในรูปแบบของงานแกะสลัก งานโลหะ หรือปูนปั้น ตามตำแหน่งของตัวบ้าน ดังนี้
- สันหลังคา ส่วนมากตกแต่งด้วยลายฉลุโลหะ เป็นลายแนวนอนผูกลายกันต่อเนื่องเป็นทางยาว
- หน้าจั่ว หรือ ยอดจั่ว เรียกว่า “ตูแบลายา” ส่วนลวดลายที่ตกแต่งยอดจั่วเรียกว่า “เวาะฆูตง” ตกแต่งด้วยไม้ฉลุ ไม้แกะสลัก ตีเกล็ดเป็นที่ระบายอากาศ บางแห่งทำเป็นรูปรัศมี อาจมีการลงสีให้สวยงาม
- เชิงชาย หรือที่เรียกว่า “ตือโปกาซา” ตกแต่งด้วยโลหะฉลุลายโปร่ง
- ช่องลมใต้หลังคา หรือ “ปากาซา” นิยมทำเป็นลายฉลุโปร่ง ลวดลายเป็นแนวตั้ง โดยทั่วไปจะฉลุลงบนไม้แผ่นกว้างประมาณ 60 เซนติเมตร แล้วนำมาเรียงกัน
- ช่องลมเหนือประตูและหน้าต่าง ตกแต่งด้วยลวดลายโปร่ง เพื่อให้ลมพัดเข้าออกได้สะดวก อีกทั้งยังให้แสงสว่างเข้ามาภายในอีกด้วย อาจเป็นลวดลายพรรณไม้ หรือบางแห่งอาจประดับด้วยลายอักษรประดิษฐ์ ที่เรียกว่า “ยาลอซอแบะ”
- คาน ตง และพื้น จะมีส่วนตกแต่งน้อยมาก เพราะต้องการให้มั่นคงแข็งแรง
- ระเบียงลูกกรง หรือ “ปาฆามูแซ” นิยมตกแต่งเป็นไม้ฉลุ แล้วนำไม้ระแนงมาตีไขว้กันเป็นตาราง
- ตีนเสา หรือ “ปลาแปะ” เป็นชิ้นส่วนรองรับเสาบ้าน เดิมเป็นงานก่ออิฐถือปูน ปัจจุบันมักจะหล่อด้วยปูนซีเมนต์
(อ้างอิงจากงานวิจัยเรื่อง ลวดลายตกแต่งบ้านของชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ ของ นันทา โรจนอุดมศาสตร์ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดยะลา วิทยาลัยครูยะลา. 2532)

(ที่มาของภาพ naewna.com)
