คำว่าอาชูรอ หมายถึง วันที่ 10 แต่ในทางปฏิบัติแล้วจะเจาะจงเฉพาะไปยังวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอมซึ่งเป็นเดือนแรกของศาสนาอิสลาม วันอาชูรอจะมีสองกิจกรรมหลัก ๆ คือเป็นพิธีกรรมทางศาสนาอันได้แก่การถือศีลอดในวันที่ 8 – 10 เดือนมูฮัรรอม การถือศีลอดในวันอาชูรอนับว่าเป็นการถือศีลอดที่ได้รับผลบุญสูงมากในระดับที่เทียบเท่ากับการถือศีลอดในเดือนรอมฏอน เนื่องจากก่อนที่อัลลอฮจะประทานคำสั่งให้ชาวมุสลิมถือศีลอดในเดือนรอมฏอน ท่านศาสดามูฮำหมัดได้ถือศีลอดในวันอาชูรอมาก่อน ดังนั้นเมื่อสาวกของท่านศาสดาถามท่านว่า การถือศีลอดในวันไหนจะได้ผลบุญมากที่สุด ท่านได้ตอบว่า การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนและในวันอาชูรอ หากใครถือศีลอดในวันอาชูรออัลลอฮจะทรงล้างบาปของผู้นั้นเป็นเวลาหนึ่งปี

นอกจากนี้ หากกล่าวถึงวันอาชูรอ โดยเฉพาะในสังคมมลายู ผู้คนจะนึกถึงขนมกวนอาชูรอ เป็นขนมที่ไม่สามารถจัดหมวดหมู่ได้ว่าเป็นของคาวหรือของหวาน เนื่องจากขนมอาชูรอมีรสชาติที่หลากหลาย ทั้งหวาน มัน เค็ม เผ็ด ขนมชนิดนี้ปรุงจากวัตถุดิบหลายชนิด มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานตั้งแต่สมัยท่านนบีนูฮ (Noah) กล่าวคือสมัยท่านนบีนูฮได้เกิดน้ำท่วมโลก กลุ่มคนกลุ่มเดียวที่อยู่รอดก็คือกลุ่มที่ขึ้นเรือท่านนบีนูฮเท่านั้น ขณะตอนอยู่บนเรือ อาหารที่ได้เตรียมไว้ได้หมดลง ท่านนบีนูฮจึงได้สั่งให้ใครที่มีอาหารเหลือ ให้เอาอาหารที่เหลือมาต้มรวมกันแล้วแบ่งกันรับประทาน เมื่อถึงสมัยท่านนบีมูฮำหมัด เหตุการณ์ลักษณะคล้าย ๆ กันนี้ได้เกิดขึ้นอีกครั้งตอนที่กลับจากทำสงครามบาดัร ปรากฏว่ากองทหารของท่านนบีมีอาหารไม่พอกิน ท่านจึงได้ใช้วิธีการเช่นเดียวกับนบีนูฮ
ขนมอาชูรอในภาษามลายูถิ่นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเรียกว่า บูโบร์ซูรอ เป็นขนมที่กลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงความสามัคคีของคนในชุมชน บูโบร์ซูรอจัดเป็นขนมที่มีขั้นตอนการทำที่ค่อนข้างยาก และต้องอาศัยคนทำหลายคน ด้วยความที่นิยมทำในภาชนะขนาดใหญ่ ใช้ไม้ฟืนในการก่อไฟ และต้องกวนอยู่ตลอดเวลานานอย่างน้อย 5 ชั่วโมง หากหยุดกวนจะทำให้ขนมมีความแข็ง วัตถุดิบในการทำบูโบร์ซูรอได้แก่ ข้าวชนิดต่าง ๆ เมล็ดธัญพืช ถั่ว มัน ฟักทอง ข้าวโพด กล้วยดิบ มะพร้าว ข่า ตะไคร้ พริกไทย ลูกผักชี