ส้มโชกุน เมืองยะลา

เมื่อราว 30 ปีก่อน เจ้าของร้าน “ตั้งท่งหยู” ได้พันธุ์ส้มชนิดนี้มาจากประเทศจีน นำมาทดลองปลูกต้นแรกที่เมืองยะลา ปรากฏว่าเหมาะสมกับดินและอากาศเมืองยะลา ได้ผลดี อร่อย จึงตั้งชื่อว่า “ส้มโชกุน” เพราะเห็นว่าเป็นส้นคุณภาพชั้นเลิศกว่าส้มพันธุ์อื่น ๆ หลังจากนั้นจึงได้ขยายพันธุ์ขายให้แก่ชาวสวนในอำเภอต่าง ๆ โดยเฉพาะในอำเภอเบตงจะเป็นที่นิยมมาก

คุณสมชาย รุจิระไพบูลย์ เจ้าของสวนส้มโชกุนจังหวัดยะลา เล่าว่า มีเพื่อนชาวจีนมาเยี่ยมชมสวนส้มที่ปลูกอยู่ และได้นำส้มจากประเทศจีนมาฝาก เมื่อรับประทานแล้วรู้สึกว่ามีรสชาติอร่อย หอมหวาน จึงได้เพาะเมล็ดเอาไว้ ต่อมามีการผสมพันธุ์โดยธรรมชาติเป็นส้มพันธุ์ใหม่ ทำให้ได้ส้มคุณภาพดีเป็นพิเศษ รสชาติอร่อย หอมหวาน 

ส้มโชกุนเป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายกับส้มเขียวหวาน ทั้งการเจริญเติบโตที่ดี รูปทรงต้น และขนาด ส่วนที่แตกต่าง คือ 

ทรงต้นมีทรงพุ่มแน่นกว่าส้มเขียวหวาน กิ่งและใบจะตั้งขึ้น ใบสีเขียวเข้ม ขนาดของใบ เล็กกว่าใบของส้มเขียวหวาน เมื่อนำใบมาขยี้แล้วดม จะมีกลิ่นหอม มีดอกสีขาวใหญ่กว่าส้มเขียวหวานเล็กน้อย  จะออกดอกมาก ในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ส่วนผลนั้น มีลักษณะเหมือนกับส้มเขียวหวานมาก ผลแก่จัดจะเปลี่ยนเป็น สีเหลืองแดง ปอกเปลือกง่าย ล่อน ชานมีลักษณะนิ่ม ให้น้ำส้มในปริมาณมาก รสชาติหวานอมเปรี้ยวนิด ๆ กลิ่นหอมมีน้ำหนักดีกว่าส้มเขียวหวาน                                                                                                        

หลายภาคส่วนในจังหวัดยะลาเห็นว่า ส้มโชกุน เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่สามารถนำมาเป็นจุดเด่นของจังหวัดยะลาได้ จึงตั้งชื่อให้ส้มพันธุ์นี้ใหม่ ว่า ส้ม “เพชรยะลา” บางครั้งก็เรียกว่า  “เพชรน้ำผึ้ง” แต่ก็ไม่เป็นที่ติดหูเท่ากับชื่อว่า “โชกุน” ซึ่งเป็นที่นิยมและแพร่หลายไปทั่วทั้งประเทศ 

องค์ความรู้เกี่ยวกับส้มโชกุนได้รับการศึกษาค้นคว้าจากนักวิชาการ นักวิจัยมากมาย ทั้งในเชิงการเกษตรและในเชิงสังคม อีกทั้งยังนำไปสร้างเป็นเนื้อหาบทเรียนให้กับนักเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ อีกมาก เช่น งานวิจัยเรื่อง การเปลี่ยนแปลงคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของส้มโชกุน ของ พรรณิภา ยั่วยล, พรประภา คงตระกูล, อรสา ชูละเอียด และหนังสืออ่านประกอบชุดยะลาใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน เรื่อง อร่อยจริงส้มโชกุน กลุ่มสาระความรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล 3 (วัดพุทธภูมิ) โดย นภาวรรณ (เรื่อง) และ วีระศักดิ์ (ภาพ) และ หลักสูตรท้องถิ่น ส้มโชกุนเบตง โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 94 (บ้านบ่อน้ำร้อน) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลาเขต 3 เป็นต้น

(http://www.kasetloongkim.com/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=110)