ผู้คนในยะลารวมถึงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่จะเป็นคนมลายูนับถือศาสนาอิสลาม ลักษณะการแต่งกายที่บ่งบอกความเป็นอัตลักษณ์คนมลายูที่ชัดที่สุดจึงเป็นเสื้อแบบมลายู สำหรับผู้ชายจะเรียกว่าเสื้อ “ตือโละบลางอ – baju teluk belanga” เป็นชุดเสื้อกับกางเกงสีเดียวกัน บนเสื้อจะมีกระเป๋า 3 ใบ หรือ 1 ใบ แล้วแต่แบบ มีผ้า “ซัมปิง – kain samping” ไว้คาดเอว และใส่หมวกแบบ “ซอเก๊าะ – songkok”
ส่วนของผู้หญิงจะเรียกว่าชุด “กูรง – baju kurung” ชุดกูรงก็จะมีสองชิ้น คือเสื้อกับกระโปรง โดยที่ไม่จำเป็นว่าผ้าจะเป็นสีพื้นหรือลายดอกก็ได้ และชุดอีกชนิดหนึ่งสำหรับผู้หญิงมลายูมุสลิมจะมีลักษณะคล้ายๆกับชุดกูรง เรียกว่า “ชุดบานง” ลักษณะเฉพาะของเสื้อมลายูทั้งของผู้ชายและผู้หญิงจะมีการเย็บข้างที่เป็นเอกลักษณ์ เรียกว่า “แปเซาะ – pesak”



อย่างไรก็ตาม ลักษณะเสื้อมลายูที่กล่าวมาข้างต้นคือต้นฉบับเสื้อมลายูที่แท้จริง หากแต่ในปัจจุบัน แฟชั่นการออกแบบเสื้อผ้ามลายูได้แตกขยายไปเป็นรูปแบบอื่นมากขึ้น โดยยึดเอาแบบจากต้นฉบับไปพัฒนาเพิ่มเติมให้ทันกับยุคสมัย เช่นการทำให้เสื้อเข้าทรงพอดีตัวกับรูปร่างผู้ใส่ ซึ่งจะตัด “แปเซาะ” ออกไป จากเสื้อกูรงก็กลายเป็นเสื้อ “มินิกูรง” ซึ่งเป็นที่นิยมมากในหมู่วัยรุ่นผู้หญิงมุสลิม ส่วนเสื้อ “ตือโละบลางอ” ของผู้ชาย บางแบรนด์ก็ได้ตัด“แปเซาะ” ออกไปเช่นเดียวกัน


ชุดมลายูของคนมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมีความคล้ายกับชุดประจำชาติของมาเลเซียอย่างมาก เนื่องจากในอดีตในบริเวณนี้เคยเป็นรัฐมลายูเหมือน ๆ กัน มีภาษาและวัฒนธรรมเดียวกัน หลายคนแย้งว่าอันที่จริงชุดมลายูของคนสามจังหวัดฯ ไม่เหมือนของมาเลเซีย โดยเฉพาะของผู้ชาย ผู้ชายที่นี่จะไม่ใส่เสื้อเป็นชุดกับกางเกง จะใส่เฉพาะเสื้อ ส่วนท่อนล่างจะสวมผ้าโสร่งลายที่นำเข้าจากอินโดนีเซีย และไม่มีผ้าคาดเอว แต่เมื่อทำการค้นคว้าข้อมูลในอดีต ปรากฏว่าคนมลายูที่นี่สวมใส่ชุดมลายูที่คล้ายกับของมาเลเซียมานานแล้ว ผู้วิจัยได้สอบถามบิดาของผู้วิจัย เขาตอบว่าใช่ ตอนที่บิดาของผู้วิจัยยังเป็นวัยรุ่น ผู้คนนิยมใส่ชุดมลายูกันเป็นปกติ แต่เพราะสาเหตุอะไรไม่อาจทราบ ความนิยมในการใส่มลายูลดน้อยถอยลง ผู้เขียนอนุมานว่าอาจเป็นเพราะนโยบายของรัฐในอดีต โดยเฉพาะช่วงรัฐนิยมที่มีคำสั่งห้ามมิให้คนแต่งตัวตามวัฒนธรรมท้องถิ่น จึงไม่ค่อยมีคนกล้าสวมใส่
อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษหลังมานี้ มีกลุ่มเยาวชนที่พยายามจะอนุรักษ์วัฒนธรรมการแต่งกายมลายูหันมารณรงค์ให้คนในสังคมกลับมาใส่เสื้อมลายูกันมากขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา วงการเสื้อมลายูกลับมาคึกคักอีกครั้ง จากเมื่อก่อนต้องไปหาซื้อกันถึงประเทศมาเลเซีย ภายหลังเริ่มมีผู้ประกอบการผลิตเสื้อผ้าเองในพื้นที่โดยไม่ต้องไปหาซื้อไกลถึงมาเลเซีย