หมวกกะปีเยาะห์ เป็นหมวกอีกชนิดหนึ่งในวัฒนธรรมมลายูสำหรับชายชาวมุสลิม ความต่างจากซอเก๊าะคือ โอกาสในการสวมใส่ กะปีเยาะห์มักจะสวมใส่ในเวลาละหมาดหรือพิธีกรรมทางศาสนาอื่น ๆ ต่างจากซอเก๊าะที่มักจะใส่ในงานพิธีการหรือในเทศกาลสำคัญ ๆ เสียมากกว่า หมวกกะปีเยาะห์มักมีสีขาว ไม่แข็งเหมือนซอเก๊าะ และจะมีลวดลายมากกว่า ในความเชื่อของอิสลามจะเชื่อว่าหากมุสลิมที่ใส่กะปีเยาะห์ในการละหมาด จะได้ผลบุญมากกว่าคนที่ไม่ใส่ เนื่องจากเป็นเครื่องแต่งกายของท่านศาสดามูฮำหมัด เช่นเดียวกับการโพกศีรษะที่เรียกว่า ผ้าซัรบัน หรือ สะระบั่น หรือ กาเฆ็ง (ผ้า) ซรือแบ ในการละหมาดกะปีเยาะห์จะทําหน้าที่รวบเก็บปอย ผมไม่ให้บดบังหนังผากเวลาก้มกราบ (สูยุด) ช่วยให้การละหมาดสมบูรณ์ ดังนั้นกะปีเยาะห์จึงมีความหมายมากในทางศาสนา คนที่ใส่กะปีเยาะห์ตลอดเวลาจะถูกมองว่าเป็นคนเคร่งศาสนาและได้รับการยอมรับจากคนในสังคม
กะปีเยาะห์เป็นคําที่กลายเสียงมาจากคําว่า “กูฟียะฮฺ – كُوفِيَّة” ในภาษาอาหรับ หมายถึงเมืองกูฟฟะฮฺ ในประเทศอิรัก ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตหมวกที่ดีที่สุดในสมัยราชวงศ์อับบาซียะห์ (Abbasid Caliphate 750 – 1517) โดยชาวอับบาซียะห์ได้ใช้คําว่า “กูฟียะฮฺ” ในความหมายของสิ่งที่ครอบบนศีรษะหรือหมวกนั่นเอง จากคำว่า กูฟียะห์ จึงเพี้ยนเป็น กะปีเยาะห์ ในภาษามลายูถิ่นปาตานี (อ้างอิง การผลิตหมวกกะปิเยาะห์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณค่าทางวัฒนธรรมมลายูท้องถิ่น ด้านการแต่งกายในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี) คาดว่ากะปีเยาะห์เข้ามาในมลายูตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เนื่องจากช่วงนั้นมีชาวมลายูจำนวนมากอพยพไปนครเมกกะเพื่อหนีสงครามและอีกส่วนหนึ่งอพยพเพื่อไปแสวงบุญพร้อมทั้งศึกษาวิชาความรู้ด้านอิสลาม เมื่อกลับมายังบ้านเกิดจึงได้นำหมวกแบบกะปีเยาะห์กลับมาด้วย
