ผ้าสะระบั่น (ผ้าโพกศีรษะมุสลิมชาย)

คำว่า สะระบั่น เป็นคำที่ยืมมาจากคำว่า Turban ในภาษาเปอร์เซีย เนื่องจากชาวเปอร์เซียเป็นกลุ่มแรกที่ใช้ผ้าโพกหัว ต่อมาวัฒนธรรมดังกล่าวได้แพร่กระจายไปทั่วนับจากบริเวณเอเชียใต้ไปจนถึงบริเวณแอฟริกาตอนเหนือ กระทั่งเมื่อถึงยุคสมัยของท่านศาสดามูฮำหมัด มีหลักฐานระบุว่าท่านศาสดาใช้ผ้าสะระบั่นโพกศีรษะในขณะทำการละหมาดและใช้ในกิจวัตรประจำวันของท่าน เพราะเหตุนี้ผ้าสะระบั่นจึงเป็นที่นิยมมากในหมู่ชาวมุสลิมทั่วโลก เนื่องจากถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องแต่งกายของท่านศาสดา หากผู้ใดแต่งกายเหมือนศาสดาผู้นั้นจะได้ผลบุญมากเป็นพิเศษ ผ้าสะระบั่นเป็นผ้าที่ใช้โพกศีรษะผู้ชายมีหลากหลายรูปแบบ ในอดีตการพกศีรษะของผู้ชาย มิได้คำนึงถึงเรื่องของศาสนา แต่เป็นการโพกโดยเหตุผลในด้านการป้องกันภัยจากธรรมชาติเพื่อความปลอดภัยของศีรษะ หรือในบางวัฒนธรรมการโพกศีรษะก็เป็นลักษณะการแต่งกายเฉพาะของ ชนชั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับชนชั้นขุนนาง เพื่อแสดงถึงอำนาจ ชนชั้น และสถานะทางสังคมที่เหนือกว่า (อ้างอิงบทบาทของชมรม คนรักผ้าสะระบั่น ต่อการสร้างกระแสนิยมการใช้ผ้าสะระบั่น ของชายไทยมุสลิม)

ท่านจุฬาราชมนตรีคนปัจจุบันขณะสวมผ้าสะระบั่น

ผ้าสะระบั่นเริ่มแพร่ขยายมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นนับตั้งแต่ผู้คนที่นี่เริ่มรู้จักการไปแสวงบุญที่นครเมกกะ เมื่อกลับมามักจะซื้อผ้าสะระบั่นเป็นของฝากให้ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง อย่างไรก็ตามในช่วงแรกผ้าสะระบั่นจะจำกัดการใช้เฉพาะในหมู่ผู้นำทางศาสนาหรือนักเรียนที่เรียนวิชาศาสนาเท่านั้น ต่อมาได้แพร่ขยายมายังทุกกลุ่มคนในสังคม ในปัจจุบันหากจะกล่าวให้ถึงที่สุด ผ้าสะระบั่นก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากเท่าหมวกกะปีเยาะห์ และหากเทียบกับมุสลิมในภาคกลางของไทย มุสลิมในภาคกลางจะนิยมโพกผ้าสะระบั่นมากกว่ามุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผ้าสะระบั่นเป็นผ้ารูปสี่เหลี่ยม มีหลายรูปแบบ ทั้งสีขาวล้วนและแบบมีลวดลาย สามารถโพกทับหมวกกะปีเยาะห์ หรือโพกสะระบั่นเปล่าๆก็ได้ โดยที่ราคาจะเริ่มจากหลักร้อยยันหลักแสน โดยเฉพาะผ้าสะระบั่นที่ผลิตจากประเทศเยเมนจะมีราคาแพงมาก ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เราจะเห็นคนที่โพกสะระบั่นมากในมัรกัสยะลา สถาบันปอเนาะต่างๆ และตามสถานที่สอนศาสนาประจำสัปดาห์ บางครั้งเราอาจจะเห็นผ้าสะระบั่นในแบบที่ไม่ได้โพกศรีษะ แต่จะอยู่ในลักษณะคลุมศรีษะคล้ายกับการสวมฮิญาบของผู้หญิงมุสลิม มีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุที่ผ้าสะระบั่นไม่ได้รับความนิยมเท่าหมวกกะปีเยาะห์หรือหมวกซอเก๊าะเนื่องจากมีขั้นตอนการโพกที่ค่อนข้างยุ่งยาก