กลุ่มทำเทริดโนรา ชุมชนหน้าถ้ำ จังหวัดยะลา

เทริดโนรา เป็นองค์ประกอบสำคัญของเครื่องแต่งการแสดงโนรา การทำเทริดโนราเป็นศิลปหัตถกรรมที่ทรงคุณค่า และสื่อความหมายเกี่ยวกับคติความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวใต้ ในพื้นที่ชุมชนหน้าถ้ำ จังหวัดยะลา มีกลุ่มผลิตเทริดโนราเพื่อการสืบสานความรู้ให้แก่ชนรุ่นหลัง และเพื่ออนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมด้านนี้ไว้

จากการสัมภาษณ์นายอริยวัฒน์ ฉิมประดิษฐ์  ผู้สืบทอดการทำเทริดมโนราห์​เล่าให้ฟังว่า

“​โนรา​มีเอกลักษณ์​ที่โดดเด่นโดยเฉพาะการแต่งกายของผู้แสดง ที่ต้องมีการประดับสวยงามทั้งตัว มีองค์ประกอบกว่า 20 ชิ้น ที่สำคัญ คือเทริด ซึ่งเป็นเครื่องสวมศรีษะ ของโนรา มีลักษณะเป็นมงกุฎอย่างเตี้ย มีกรอบหน้า มีด้ายมงคลประกอบ ซึ่งเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่สถิตของครูโนราห์ โดยที่ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมืองยะลา เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ยังคงสืบสานวัฒนธรรม​นี้ไว้อย่างเหนียวแน่น”

(http://www.xn--22ceam2gca3da8bob7fa9ckd74a6bi7g.com/?p=23589)

สำหรับเทริด ที่ผ่านการทำพิธีบูชาครูแล้ว ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในพิธีผูกผ้าใหญ่ หรือแต่งพอกซึ่งหมายถึงการแต่งกายเพิ่มเติมหรือ “พอก” เพิ่มจากเครื่องแต่งกายโนราธรรมดา เพื่อทำพิธียอมรับการเป็นศิลปินโนราคนใหม่ หรือพิธีโนราโรงครู โดยมีการจัดวางเทริดไว้บนปะรำพิธีด้านบน และยกเทริดเพื่อครอบให้กับโนราที่ฝึกรำ ทั้งนี้องค์ประกอบต่างๆ ของเทริดต้องครบถ้วน ถูกต้องตามประเพณี ลวดลายประณีต สวยงาม 

ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มของเยาวชนและผู้สนใจเป็นชมรมการแสดงศิลปะการแสดงพื้นพื้นบ้านโนราจังหวัดยะลา ฝึกหัดและถ่ายทอดการทำเทริดและการรำโนรา​กันมาอย่างต่อเนื่อง