อาดือนันบาติก เป็นผลิตภัณฑ์ที่สืบทอดองค์ความรู้มาจากบรรพบุรุษที่มีภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำผ้าปาเต๊ะ ผ้าบาติกจากหลักฐานแม่พิมพ์ ลายโลหะ กระทะต้มเทียน คู่มือการผสมสีของโบราณ คุณอาดือนันได้รับการถ่ายทอดทักษะนี้มาจากคุณตา อาแว หายีอาแว ซึ่งเป็นชาวปัตตานี
อาดือนันในฐานะทายาทจึงสนใจศึกษางานผ้าบาติกที่มีลักษณะเฉพาะของตระกูล จนสามารถสร้างสรรค์งานที่แปลกใหม่ ด้วยเทคนิคแม่พิมพ์โลหะ ได้ลายบาติกที่เรียกว่า “ผ้าบาติกลายหินแตก” แล้วนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ ทั้งเครื่องแต่งกายรูปแบบต่าง ๆ ผ้าคลุม ผ้าพันคอ ปัจจุบันผลงานได้รับการยกย่องเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP 5 ดาวของจังหวัดยะลา
“..ที่เรียกว่าอัตลักษณ์ ต้องแตกต่างจากคนอื่น แตกต่างจากคู่แข่งขัน จากการสำรวจตลาดผ้าบาติกพบว่า ส่วนใหญ่มักทำผ้าบาติกลายดอกไม้ ลายสัตว์น้ำและปะการัง ฯลฯ ลวดลายหินอ่อนยังไม่มีผู้ผลิตรายใดนำมาทำลวดลายบนผ้าบาติก จึงเห็นช่องทางการตลาด ทำบาติกลายหินอ่อนในที่สุด….”
(อาดือนัน กาปา, สัมภาษณ์ วันที่ 4 สิงหาคม 2562) (อ้างอิง วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปีที่ 15 ฉบับที่ 3 (2020) กันยายน – ธันวาคม) ช่องทางติดต่อ – คุณอาดือนัน กาปา โทร.081-0992164
อ้างอิงจาก https://www.facebook.com/Adeunanbatik-676650872358992/)



กลุ่มผลิตผ้าปะลางิง อีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Adel Kraf ได้รังสรรค์ผ้าแห่งชีวิตนี้ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ด้วยเทคนิคการเย็บ เนา รูด มัด รัด ย้อม และคลาย เพื่อให้ได้ผ้าที่มีลวดลายวิจิตรงดงาม จนได้ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นการสืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเพื่อให้ยั่งยืนสืบไป มีเทคนิคคล้ายกับการมัดย้อมของชาติอื่น เช่น ในญี่ปุ่นเรียกว่า ชิโบริ (Shibori Nui) ในอินเดีย เรียกว่า บันดาหนี (Bandhani) ส่วนมาลายู เรียกว่า เปอลางี (Palangi) หรือญัมปุตตัน (Jamputan)



