อาหารและวัฒนธรรมการสังสรรค์ของชาวไทยมุสลิม

ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งในเรื่องอาหารในสังคมมุสลิมคือ อาหารในกิจกรรมสังสรรค์ โดยอาหารเป็นปัจจัยหลักในกิจกรรมการสังสรรค์และสามารถแบ่งเพศและพวกได้ สังคมมุสลิมนิยมรวมตัวกันสังสรรค์หรือมิตติ้งในวันสำคัญต่าง ๆ เช่น ถ้าเป็นนักเรียนนักศึกษามักจะสังสรรค์กันก่อนปิดเทอมใหญ่ หากเป็นวัยทำงานก็จะสังสรรค์ก่อนวันสำคัญในอิสลาม อาทิ ก่อนเข้าเดือนรอมฎอน 

ในกลุ่มผู้ชายไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นหรือวัยทำงาน อาหารหลักที่ในการสังสรรค์คือ “ซุปเป็ดเทศ” โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะจัดในสถานที่บริเวณชานเมืองหรือบริเวณที่มีพื้นที่โล่ง ๆ เนื่องจากการทำซุปเป็ดเทศจะอร่อยเป็นพิเศษหากตั้งบนเตาถ่านหรือตั้งฐานแล้วก่อฟืนขึ้นมา ดังนั้นสถานที่หากจัดขึ้นริมลำธาร ริมเขื่อน ก็จะได้บรรยากาศและรสชาติ สำหรับวัตถุดิบ จะต้องรู้แหล่งเพราะเป็ดเทศไม่ได้หาได้ง่าย ๆ ตามตลาดเหมือนไก่สด นอกจากนี้ ซุปเป็ดเทศต้องมีสมุนไพรอย่างน้อยครึ่งหม้อรสชาติจึงจะอร่อย สมุนไพรในการทำซุปเป็ดเทศได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ กระเทียม พริกไทยดำ มะขามเปียก เครื่องซุปมลายู พริก มะนาว บางสูตรจะใช้ไข่แดงต้มเข้าไปด้วย เพื่อเพิ่มความกลมกล่อม ในการปรุงรสจะใช้แค่เกลือหวานปัตตานีเท่านั้น  

ซุปเป็ดเทศ เมนูอาหารสำหรับการเฉลิมฉลองของกลุ่มผู้ชายมลายู

ในระยะหลัง ซุปเป็ดเทศกลายเป็นเครื่องมือหลักในการหลอมรวมเยาวชนในชุมชนให้เกิดความสามัคคี กล่าวคือ ในแต่กิจกรรมของชุมชนมักจะจบด้วยการเลี้ยงซุปเป็ดเทศ ขณะที่นักการเมืองท้องถิ่นก็เริ่มนิยมใช้ซุปเป็ดเทศในการหาเสียง เรียกสมาชิกในชุมชนมาฟังการหาเสียงปราศรัย และจบงานด้วยการเลี้ยงซุปเป็ดเทศ 

ขณะที่กลุ่มผู้หญิง จะไม่สังสรรค์ในลักษณะทำอาหารเองเหมือนกลุ่มผู้ชาย แต่มักจะนัดเจอกันที่ร้านชาบูปิ้งย่าง ปัจจุบันร้านชาบูปิ้งย่างในยะลามีอยู่หลายร้าน ร้านชาบูปิ้งย่างในปัจจุบันไม่เหมือนในอดีตที่เป็นบุฟเฟ่ต์เนื้อย่างเกาหลีหัวละ 99 บาท หรือ 129 บาท แต่ร้านชาบูในปัจจุบันมีการยกระดับขึ้นมาโดยการใช้เนื้อเกรดพรีเมี่ยม สไลด์บาง ราคาหัวละ 400-500 บาท ร้านดัง ๆ ในยะลาเช่น Makishi, Shabu Za, Makiniku, Shabu bangและเนื้อแท้ by มายู ร้านพวกนี้ราคาอยู่ที่อย่างต่ำ 399 บาทต่อคน 

อีกกลุ่มหนึ่งที่มีกิจกรรมการสังสรรค์ที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มมูวัลลัด ซึ่งเป็นชาวมลายูที่เกิดและเติบโตที่ประเทศซาอุดิอาราเบีย แต่มีบัตรประชาชนเป็นคนไทย และต้องเดินทางกลับมายังสามจังหวัดชายแดนใต้เนื่องจากนโยบายใหม่ของซาอุดิอาราเบียได้ขึ้นราคาค่าวีซ่าสำหรับคนต่างชาติ หากศึกษาจากประวัติศาสตร์ คนกลุ่มนี้คือคนในสังกัดรัฐปาตานีในอดีตที่อพยพหนีสงครามกับสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมกกะมาตลอด จนกระทั่งรัฐบาลประเทศซาอุดีอาราเบียปรับกฏหมายใหม่เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนมลายูที่ไม่ได้เป็นพลเมืองของซาอุดิอาราเบีย (มีเป็นจำนวนน้อยที่ได้บัตรประชาชนของประเทศซาอุดิอาราเบีย) ต้องกลับมาตั้งต้นชีวิตใหม่ในบ้านเกิดเดิมของบรรพบุรุษนั่นก็คือที่สามจังหวัดชายแดนใต้ จะเห็นว่าในตัวเมืองยะลาปัจจุบันมีกลุ่มมูวัลลัดเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะตลาดเก่า คนที่มีวุฒิปริญญาตรีก็สามารถเป็นครูสอนศาสนาตามโรงเรียนเอกชนได้ ส่วนคนไม่มีวุฒิก็เปิดร้านขายอาหารอาหรับ

กลุ่มมูวัลลัดได้นำวัฒนธรรมการเฉลิมฉลองสังสรรค์แบบอาหรับมายังพื้นที่ คือการฉลองด้วยการกินข้าวหมกอาหรับในถาด ซึ่งการกินแบบนี้ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน กระทั่งมีร้านข้าวหมกอาหรับแบบทานในถาดเปิดใหม่หลายร้านในเมืองยะลา ข้าวหมกอาหรับจะมีความต่างจากข้าวหมกเหลืองทั่วไป ข้าวหมกอาหรับจะใช้ข้าวสารบัสมาตี ซึ่งเป็นข้าวสารอย่างดี ราคากิโลกรัมละ 100 – 160 บาท เม็ดเรียวยาว หอม นุ่ม น้ำจิ้มจะเป็นน้ำจิ้มทำจากมะเขือเทศ พริก หอมใหญ่ ปรุงด้วยเกลือนิดหน่อย ข้าวหมกเหลืองทั่วไปจะทานเคียงกับอาจาดแตงกวาซึ่งมีส่วนผสมของน้ำส้มสายชู แต่ข้าวหมกอาหรับจะทานเคียงกับสลัดแบบอาหรับที่ทำจากแตงกวา มะเขือเทศ หอมใหญ่ และผักชี ปรุงด้วยเกลือและมะนาวเท่านั้น และทานคู่กับโยเกิร์ตธรรมชาติ

กลุ่มมูวัลลัดกำลังทำข้าวหมกอาหรับ