ช่วงต้นของรายงานได้กล่าวถึงตลาดเก่าในฐานะที่เป็นย่านอยู่อาศัยของชาวมุสลิม ในส่วนนี้จะกล่าวถึงตลาดเก่าหรือตลาดเสรี ในฐานะตลาดเก่าแก่ เป็นพื้นที่จับจ่ายใช้สอยของผู้คน โดยเฉพาะผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณฝากตรงกันข้ามกับตัวเมือง (หรือถนนสายกลาง) มีสถานีรถไฟยะลากั้นกลางระหว่างพื้นที่ตลาดเก่ากับตัวเมืองหลัก ทิศตะวันตกติดแม่น้ำปัตตานี
ในอดีตตลาดเก่ามีความสำคัญกับวิถีชุมชนมาก จากคำบอกเล่าของผู้คนท้องถิ่นเดิมถึงความเปลี่ยนแปลงของตลาด กล่าวว่า
“..ตลาดเก่าไม่เป็นอย่างที่เห็นตอนนี้ สมัยก่อนถนนสิโรรสก็เล็ก แถวบ้านแบมะ ถนนเป็นถนนดินลูกรัง คนมักจะไปอยู่ที่แถวมัสยิดกลาง ตอนนั้นมัสยิดก็ยังเป็นไม้อยู่ ที่นั้นจะมีบ้านคนเยอะ ที่อื่นนั้นเป็นป่าต้นไผ่ บ้านคนมีน้อย แถวริมน้ำจะมีสวนยาง ต้นทุเรียนเต็มไปหมด รถไฟก็ยังเป็นรถจักรไอน้ำ เดิมวันละเที่ยวเพราะคนไม่เยอะเหมือนสมัยนี้ ส่วนในเมืองจะมีรถยาลอลีมอ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว …” (หะมะ สาเยาะ, สัมภาษณ์ 2552.)
“…ฟังจากคนแก่เล่า ตรงนี้เป็นป่า สมัยก่อนยังไม่ได้พัฒนา เป็นที่ดินจับจองของคน มีการทำการค้า เรามาอยู่ปี 2527 ก๊ะมาอยู่ที่นี่ ไม่ใช่คนในพื้นที่ ฟังเค้าเล่า เป็นตึกไม้ หลังจากนั้นเกิดไฟไหม้ สักปี 20 ต้น ๆ (ต้นปี พ.ศ. 2520) ก๊ะมาก็เป็นตึกแล้วแม่แฟนเค้าเซ็ง ไฟไหม้ทั้งซอยแฟนเล่า เหลือแค่บ้านอิมรอนกับบ้านดาโต๊ะทั้งสองฟากก็ไหม้หมด แต่ก่อนจะมีพวกกาโบ (มุสลิมเชื้อสายปากีสถาน) อยู่ด้วย…” (ฟาตีเมาะ บือราเฮง,สัมภาษณ์ 2552.)
“..ตลาดเก่านี้มีสิ่งอำนวยความสะดวก ส่วนมากจะอยู่ทางฝั่งนี้ มีสถานีรถไฟ รถเมล์ รถอื่น ๆ เวลาเราไปไหนมาไหน เดินทางสะดวก ไม่เหมือนกับถ้าเราเลือกไปอยู่ (ชุมชน) มลายูบางกอก (ชานเมือง) ฝั่งนู้นจะลำบาก ถ้าไม่มีรถส่วนตัว ลำบากจะไปไหนมาไหน…” (สะปีหล๊ะ กาเจ, สัมภาษณ์ 2552.)
(ความเป็นตัวตนของคนมลายูมุสลิมในเมืองยะลา ของ นิยามาล อาแย. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2553)

