ผู้รู้บางท่านกล่าวว่า ลิเกฮูลู มีต้นกำเนิดที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ริเริ่มนี้คือใคร ชาวปัตตานีเรียกคนในอำเภอรามันว่า คนฮูลู แต่ชาวมาเลเซียเรียกศิลปะชนิดนี้ว่า ดีเกปารัต ซึ่งปารัตแปลว่า เหนือ จึงเป็นที่ยืนยันได้ว่าลิเกฮูลู หรือดีเกปารัตนี้มาจากทางเหนือของมาเลเซียและอยู่ทางใต้ของรัฐปัตตานี (อ้างจาก หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องวัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดยะลา อธิบายว่า ดิเกรฮูลู หรือ ดีเกฮูลู เป็นการละเล่นขึ้นบทเป็นเพลงประกอบดนตรีและจังหวะตบมือ มีรากดั่งเดิมมาจากคำว่า “ลิเก” คือ การอ่านทำนองเสนาะ และคำว่า “ฮูลู” แปลว่า ทิศใต้ หมายรวมว่าเป็นการขับกลอนเป็นทำนองเสนาะจากทิศใต้ เรียกว่า “ปันตน” หรือ “ปาตง” ในภาษาถิ่นปัตตานี
ลิเกฮูลู มีรูปแบบการแสดงประกอบด้วยนักแสดงส่วนใหญ่เป็นหญิงล้วน มีนักร้องนำ หรือแม่เพลง 1-2 คนลูกคู่ 10-15 คน และนักดนตรี 5-6 คน เริ่มจากการแสดงโหมโรง มีการขับบทกาโร๊ะ เพื่อเป็นการไหว้ครูและทักทายเจ้าภาพ รวมถึงผู้ชม จากนั้นก็ร้องบอกจุดประสงค์ของงานด้วยเพลงจังหวะต่าง ๆ สลับกับการขับบทโต้ตอบ ในเรื่องของเหตุการณ์บ้านเมือง และจบด้วยการขับกลอนลา เรียกว่า “วาบูแล” และโหมโรงลา
ภาษาที่ใช้ในการแสดง คือ ภาษามลายูถิ่น ผู้แสดงแต่งกายด้วยกางเกงขายาวสีขาว นุ่งผ้าซอเกะทับข้างนอกสั้นเหนือเข่า สวมเสื้อคอกลมมีผ้าโพกศีรษะ ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ประกอบด้วย ฆ้อง (โหม่งใหญ่) 1 วง รำมะนาอย่างน้อย 2 ใบ ลูกแซ็ก 1-2 คู่ ต่อมามีการเพิ่มกรับ ฉาก โหม่งคู่ (ฆ้องคู่) เข้าด้วย
โดยมากการแสดงลิเกฮูลู จะแสดงในงานสำคัญ เช่น งานมาแกปูโละ พิธีเข้าสุนัต งานฮารีรายอ
(อ้างอิง หนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดยะลา. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. 2554.http://libarts.pnu.ac.th/images/libdatabase/cultural/62/1.pdf )
