ประเพร๊แงเกาะห์ (ภาษามลายู) หรือ อากีกอฮฺ (ภาษาอาหรับ) และ บือเลาะมูโละ หรือ บูกอมูโละ
(ภาษามลายู) เป็นประเพณีตามหลักศาสนาอิสลามเมื่อลูกมีอายุครบ 7 วัน (หรือก่อนเด็กอายุครบ 2 ขวบ ก่อนฟันน้ำนมเริ่มขึ้น) พ่อแม่จะทำการเชือดสัตว์พลี อาจจะเป็นแพะ แกะ หรือวัวก็ได้ หากเป็นลูกชาย จะต้องเชือดสัตว์ 2 ตัว ส่วนลูกสาว จะต้องเชือดสัตว์ 1 ตัว เมื่อเชือดแล้วก็นำมาทำอาหารแบ่งปันกันกินในครอบครัว หรือบริจาคให้คนยากจน
ในวันเดียวกัน อาเยาะ (พ่อ) จะทำพิธี บือเลาะมูโละ (บูกอมูโละ – เปิดปาก) และโกนผมเด็ก เป็นพิธีดั้งเดิมของท้องถิ่น ของที่ต้องเตรียมในพิธี ได้แก่ ไอยซัมแซ (น้ำซัมซัม) อันทผาลัม น้ำผึ้ง กรรไกร น้ำมะนาว แหวนทอง และสำลี โต๊ะอิหม่านเป็นผู้ทำพิธี โดยบดอินทผลัมหรือเคี้ยวอินทผลัม แล้วนำไปคลึงเบา ๆ ที่เพดานปากของทารก จากนั้นเอาสำลีจุ่มน้ำซัมซัมแล้วปีบเข้าปากทารก ป้อนน้ำผึ้งและน้ำมะนาว ต่อจากนั้นก็ตัดผมทารกประมาณ 1-2 กระจุกนำไปฝังบริเวณบ้าน (ในอดีต จะโกนผมทั้งหมดศีรษะ) พร้อมกับกล่าวขอพรจากพระผู้เป็นเจ้า ให้เด็กเติบโตเป็นคนดีมีศีลธรรมจริยธรรม ซื่อสัตย์กตัญญูต่อพ่อแม่ รู้จักกาลเทศะและอดทน
มีความเชื่อว่า การดื่มน้ำผึ้งทำให้เด็กพูดจาไพเราะ เป็นที่รักของเพื่อน ส่วนน้ำมะนาว คือการสอนให้เด็กรู้ว่าชีวิตต้องเรียนรู้และอดทนอดกลั้น ชีวิตจึงจะมีความสุข
(อ้างอิง ทักษะวัฒนธรรม ของ แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง)