สมเด็จพระนางเจ้าฯ กับการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย

วันที่ออกอากาศ: 12 สิงหาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยแขนงต่างๆ ไม่เพียงแต่เฉพาะงานศิลปหัตถกรรมไทยเท่านั้น ยังรวมถึงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของไทยอีกด้วย

 

โดยมรดกวัฒนธรรมไทย หมายถึง ความเจริญทางวัฒนธรรมที่อยู่ในอารยธรรมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่เป็นวัฒนธรรมภาคกลางและวัฒนธรรมของภูมิภาคต่างๆ  ที่ได้หลอมรวมกันเป็นวัฒนธรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์และความเป็นไทยในปัจจุบัน

 

ซึ่งตามประเพณีปฏิบัติของไทยตั้งแต่สมัยโบราณ สถาบันพระมหากษัตริย์มีบทบาทโดยตรงต่อการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของความเป็นไทยให้ยืนยงอยู่คู่สังคมไทย 

 

กล่าวถึงพระราชประวัติของพระองค์ท่าน การได้ใช้ชีวิตในหมู่พระราชวงศ์ทำให้ทรงมีโอกาสพบเห็นขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทยมาแต่ครั้งพระเยาว์ และการเสด็จพระราชดำเนินไปประทับอยู่ในต่างประเทศ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส และสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นอารยประเทศที่เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม จึงทรงได้รับการศึกษา อบรมให้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมด้วย

 

เมื่อทรงอภิเษกสมรสและได้รับพระราชทานสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์ในฐานะสมเด็จพระบรมราชินีเป็นต้นมา ก็ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอย่างเข้มแข็งในการอนุรักษ์และกระตุ้นเตือนให้ราษฎรให้ประชาชนไทยตระหนักถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมและความเป็นไทยด้านต่างๆ ดังนี้

 

ความสำคัญของภาษาไทย ดังเห็นได้จากพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานในโอกาสต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ในการใช้สำนวน ถ้อยคำ หรือรูปประโยคของภาษาที่เข้าใจง่าย กระชับ สื่อความหมายได้ชัดเจน และทรงใช้ภาษาในเชิงสร้างสรรค์มีปิยวาจา กล่าวคือ ใช้วาจาอ่อนหวาน สุภาพ เหมาะสมแก่กาลเทศะ

 

นอกจากนี้ ทรงมีพระปรีชาในด้านภาษาเขียนด้วย เห็นได้จากงานพระราชนิพนธ์ปกิณกะความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย รวมถึงพระราชหัตถเลขาที่เป็นจดหมายส่วนพระองค์ หรือพระราชนิพนธ์คำไว้อาลัยบุคคลต่างๆ ทรงใช้ภาษาที่กระชับ รวมถึงสำนวนภาษาและถ้อยคำที่สื่อสารภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

กิริยามารยาทแบบไทย ทรงปฏิบัติรักษากิริยามารยาทไทยได้อย่างงดงามและถูกต้อง อย่างเช่นวัฒนธรรมการกราบไหว้ของคนไทยที่มีระดับของการไหว้แตกต่างกัน โดยทรงปฏิบัติตามจารีตประเพณีได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งยังทรงวางพระองค์ได้อย่างเหมาะสมและมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งพบว่าเวลาที่เสด็จออกไปพบปะประชาชนซึ่งนั่งอยู่กับพื้นแล้ว จะเสด็จประทับราบอยู่กับพื้นแล้วทรงมีพระราชดำรัสกับประชาชนในระดับที่เสมอกัน

 

การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระองค์ในฐานะพุทธมามกะ ทรงเคารพในพระรัตนตรัยและปฏิบัติตนอยู่ในพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด คือ การปฏิบัติธรรม การปฏิบัติสมาธิภาวนา ตลอดจนการฟังพระธรรมเทศนาโดยเฉพาะในวันธรรมสวนะ  

 

นอกจากนี้ ทรงเอาพระทัยใส่ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปะพื้นบ้านอย่างงานหัตถกรรมประเภทต่างๆ รวมถึงศิลปะประจำชาติอื่นๆ เช่น โขน ละคร  โดยในปี พ.ศ. 2537 คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ได้ถวายพระราชสมัญญาองค์เอกอัครอุปถัมภ์ มรดกช่างศิลป์ไทย และในปี พ.ศ. 2555 กระทรวงวัฒนธรรมไทย ได้ถวายพระราชสมัญญาอัครภิรักษศิลปิน ซึ่งหมายความว่าศิลปินยิ่งใหญ่ ผู้ปกปักรักษางานศิลปะ เพื่อเป็นการสดุดีพระเกียรติคุณแก่สมเด็จพระนางเจ้าสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถที่ทรงอนุรักษ์ ฟื้นฟู รักษาศิลปะไทยให้อยู่คู่กับคนไทยตลอดไป

สมเด็จพระนางเจ้าฯ กับการอนุรักษ์ผ้าไทย

วันที่ออกอากาศ: 19 สิงหาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีบทบาทความสำคัญอย่างยิ่งในการอนุรักษ์ผ้าและสิ่งทอของไทย ด้วยทรงเห็นว่าผ้าและสิ่งทอถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ที่นำมาใช้ทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม การผลิตผ้าและสิ่งทอก็เป็นกิจกรรมสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ วิถีชีวิต ตลอดจนสภาพแวดล้อมของกลุ่มคนท้องถิ่นต่างๆได้

 

เนื่องจากประเทศไทยประกอบด้วยคนพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ ที่สามารถผลิตงานหัตถกรรมประเภทผ้าและสิ่งทอแตกต่างกันไปตามวิถีชีวิตของตน ทั้งภูมิปัญญาในการผลิตเส้นใยและการออกแบบลวดลายต่างๆ ที่สวยงาม จึงทำให้เกิดผลงานผ้าและสิ่งทอมีความหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์

 

จากพระราชกรณียกิจที่โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไปเยี่ยมเยียนราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ทำให้ทรงสังเกตการนุ่งห่มของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งสร้างความสนพระราชหฤทัยและเป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัยให้ทรงตระหนักถึงคุณค่าของผ้าไทย โดยทรงเริ่มต้นจากการศึกษาและสะสมผ้าจากท้องถิ่นต่างๆ ตลอดจนการนำผ้าท้องถิ่นเหล่านั้นมาตัดเย็บฉลองพระองค์

 

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 เป็นต้นมา จะพบว่าทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าท้องถิ่นในการพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคนั้นๆ ซึ่งแสดงถึงความพยายามที่จะฟื้นฟูลักษณะการแต่งกายของสุภาพสตรีไทยขึ้นมา โดยในเวลาต่อมาได้ทรงกำหนดลักษณะชุดไทยพระราชนิยม ซึ่งใช้ผ้าไหมไทยชนิดต่างๆ มาเป็นวัสดุสำคัญในการตัดเย็บ ซึ่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นชุดสตรีที่นิยมใส่โดยทั่วไปทั้งในลักษณะทางการและกึ่งทางการ  

 

กล่าวได้ว่าบทบาทในการเป็นผู้อนุรักษ์ผ้าไทยของพระองค์ท่าน เริ่มมีความเป็นทางการมากขึ้นในปี พ.ศ. 2521 เมื่อทรงสนับสนุนให้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญในการอนุรักษ์และส่งเสริมงานหัตถกรรมท้องถิ่นชนิดต่างๆ ของประเทศ ซึ่งรวมถึงผ้าและสิ่งทอประเภทต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะผ้าไหมที่มีแหล่งผลิตอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

 

ทรงตระหนักว่าภูมิปัญญาการเรียนรู้และเทคนิคการผลิตผ้าไหมมักถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อทรงพบเห็นว่าผู้ผลิตผ้าไหมส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนชราแล้วทั้งสิ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าภูมิปัญญาเหล่านั้นอาจจะสูญหายไปได้ จึงทรงรวบรวมลูกหลานของชาวบ้านเพื่อส่งเสริมให้เรียนรู้วิธีการผลิตเส้นไหม ย้อมสี และผูกลายผ้า โดยอุปการะเข้ามาเป็นสมาชิกของมูลนิธิศิลปาชีพเพื่อฝึกฝนทักษะฝีมือจนชำนาญ

 

นอกจากนี้ ได้ทรงใช้หลักการตลาดเข้ามาช่วยในเรื่องการจำหน่ายสินค้า ตลอดจนการขยายตลาดของผ้าไหมไทยให้เป็นที่นิยมในวงกว้างมากขึ้น โดยเปิดร้านจิตรลดาเพื่อจำหน่ายสินค้าของมูลนิธิศิลปาชีพ โดยรับซื้อผ้าที่ชาวบ้านผลิตในราคาสูงและจัดจำหน่ายในราคาถูก ทำให้ชาวบ้านผู้ผลิตมีรายได้เสริมและสามารถจำหน่ายผ้าไหมของโครงการได้มากขึ้นด้วย

 

อีกทั้งทรงมีพระราชดำริแนะนำให้ชาวบ้านปรับลวดลายและสีสันของผ้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อให้สามารถนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าตามสมัยนิยมได้

 

ปัจจุบันผ้าไทยเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ นักออกแบบเสื้อผ้าชื่อดังของหลายๆ ประเทศนิยมนำผ้าไทยไปออกแบบตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูปและวางจำหน่ายในห้องเสื้อชั้นนำ ซึ่งนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงเข้ามามีบทบาทในการทำให้ผ้าพื้นเมืองของไทยได้อย่างดียั่ง จนผ้าไทยสามารถกลับฟื้นคืนชีวิตมาได้และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก 

รัชกาลที่ 2 กับจังหวัดปทุมธานี

ความรักและความอาทรที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ต่อพสกนิกรนั้น ไม่ได้ทรงมีแต่เฉพาะชาวไทยซึ่งเป็นราษฎรในขอบขันทสีมาเท่านั้น ยังทรงแสดงความอาทรต่อกลุ่มคนต่างชาติพันธุ์ซึ่งอพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมพาร

 

โดยเฉพาะครอบครัวชาวมอญกว่า 40,000 คน ที่อพยพมาตั้งรกรากในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง บริเวณจังหวัดปทุมธานี เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ จนในที่สุดได้กลายเป็นราษฎรไทยภายใต้พระบารมีและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและสังคมไทยสืบต่อมา

 

ในช่วงต้นรัชกาลที่ 2 ประมาณปีพุทธศักราช 2358 มีการอพยพของครอบครัวชาวมอญจากเมืองเมาะตะมะทางตอนใต้ของพม่า ซึ่งเป็นอาณาบริเวณของชุมชนชาวมอญ เนื่องจากการคุกคามจากกองทัพพม่าในราชวงศ์คองบอง ทำให้ สมิงรามัญ ผู้นำชุมชนของเมืองเมาะตะมะนำชาวเมืองกว่า 40,000 คนหนีอพยพเข้ามาในดินแดนสยาม

 

รัชกาลที่ 2 ทรงยินดีต้อนรับเนื่องจากเป็นการเพิ่มกำลังคนหรือแรงงานซึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ จึงโปรดเกล้าฯให้จัดกองทัพจากกรุงเทพฯ ไปรับครัวมอญที่ด่านพระเจดีย์สามองค์ และมีพระราชดำริให้ครัวมอญไปอาศัยอยู่ที่ สามโคก หรือบริเวณจังหวัดปทุมธานีในปัจจุบัน ซึ่งมีชุมชนมอญอาศัยอยู่สืบมาตั้งแต่สมัยอยุธยา รวมถึงบริเวณเกาะเกร็ด และพระประแดงในปัจจุบัน ภายหลังทรงยกเมืองสามโคกขึ้นเป็นเมืองชั้นตรีเนื่องจากมีประชากรเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

 

ตามบันทึกไว้ที่พระราชพงศาวดาร ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ชุมชนมอญอพยพเป็นอย่างยิ่ง กล่าวว่าในเดือน 11 ของปีนั้น พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการจัดสรรที่ตั้งชุมชนมอญ ทรงสร้างพลับพลาและประทับแรมที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกเยื้องกับเมืองสามโคก บริเวณวัดปทุมทองซึ่งอยู่ในตัวอำเภอเมืองปทุมธานีในปัจจุบัน

 

โปรดเกล้าให้ผู้แทนชุมชนพาครัวเรือนมอญมาเข้าเฝ้า โดยชาวชุมชนได้ทูลถวายดอกบัวที่เก็บมาจากท้องทุ่งในเมืองสามโคก ซึ่งเต็มไปด้วยดอกบัวชนิดต่างๆ บานสะพรั่งในช่วงฤดูน้ำหลาก ด้วยเหตุนี้ ภายหลังจึงได้พระราชทานชื่อใหม่ให้แก่เมืองสามโคกเมื่อครั้งทรงยกขึ้นเป็นหัวเมืองชั้นตรีแล้วว่า เมืองประทุมธานี ดังปรากฎความอยู่ในนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่

 

ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า

พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี

ชื่อประทุมธานีเพราะมีบัว

 

ทรงมีพระบรมราชโองการยกสามโคกขึ้นเป็นเมืองตรี ชื่อเมืองประทุมธานี เป็นทางการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ปีพุทธศักราช 2358 ปัจจุบันจังหวัดปทุมธานีจึงถือว่าวันนี้เป็นวันเฉลิมฉลองการสถาปนาจังหวัด ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6-7 ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารส่วนจังหวัด จึงเปลี่ยนสถานะของเมืองประทุมธานีเป็นจังหวัด โดยเขียนคำว่า ประทุมธานี แบบกร่อนเสียง กลายเป็น ปทุมธานี แทน

 

จึงเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ความเอาพระราชหฤทัยใส่ ตลอดจนความเอื้ออาทรต่อชุมชนชาวมอญที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในบริเวณจังหวัดปทุมธานี ทรงรับเข้ามาเป็นราษฎรในภายใต้พระบารมีในขอบขันธสีมาของพระองค์และทรงดูแลความเป็นอยู่ของราษฏรกลุ่มนี้เป็นอย่างดี

 

ชาวมอญก็มีความสัมพันธ์ที่ดีและมีไมตรีจิตต่อคนไทยมาโดยตลอด ไม่มีเรื่องขัดแย้ง คุกคาม หรือเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ซึ่งคนไทยและคนมอญต่างก็มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมของการนับถือพุทธศาสนาร่วมกัน อีกทั้งวัฒนธรรมมอญโบราณก็เป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย จึงทำให้คน 2 กลุ่มชาติพันธุ์มีความกลมกลืนประสานวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตร่วมกันได้เป็นอย่างดี

150 ปี ปฐมบรมราชินีนาถ

วันที่ออกอากาศ: 12 มกราคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ในปีพุทธศักราช 2556 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศสดุดีพระเกียรติคุณยกย่องให้ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง เป็นบุคคลสำคัญของโลก

 

และในปีพุทธศักราช 2557 รัฐบาลไทยประกาศให้เป็นปีฉลอง 150 ปี พระบรมราชสมภพ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา-บรมราชินีนาถฯ สืบเนื่องจากการประกอบพระราชกรณียกิจที่เป็นคณูปการเอนกอนันต์ต่อบ้านเมือง จึงถือเป็นปีแห่งการฉลอง 150 ปี ปฐมบรมราชินีนาถ

พระบรมราชินีนาถ คือ สมเด็จพระราชินีที่ได้รับการโปรดแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนองค์พระมหากษัตริย์ เกิดขึ้นครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2440 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปเป็นครั้งแรก ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระนามเดิมของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

 

ซึ่งในประวัติศาสตร์ไทยมีประกาศพระราชโองการแต่งตั้งพระบรมราชินีนาถเพียง 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงดำรงตำแหน่งผู้รักษาราชการแทนพระองค์อยู่นานร่วมปี ทรงมีส่วนร่วมในกระบวนการปรึกษาราชการแผ่นดิน ทรงออกความคิดเห็น ตลอดจนทรงตัดสินใจการบริหารกิจการบ้านเมืองตามบทบาทที่ได้รับอย่างเหมาะสม

 

หากเป็นกรณีเรื่องสำคัญมากๆ ก็ทรงปรึกษาคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก่อน หากตัดสินใจกันไม่ได้จึงมีพระราชโทรเลขไปยุโรปเพื่อขอพระราชดำริในเรื่องนั้น ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเวลานั้นดำเนินการได้อย่างลุล่วงด้วยดี 

 

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ยังทรงมีบทบาทในการเป็นประมุขฝ่ายใน มีหน้าที่ดูแลพระบรมวงศานุวงศ์เปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัวในเขตพระราชฐานชั้นใน และมีบทบาทในการพัฒนาสังคมในฐานะผู้นำการพัฒนาสตรีสมัยใหม่ในยุคปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัย

 

เช่นในปีพุทธศักราช 2436 ในวิกฤตการณ์ รศ.112 ที่มีความขัดแย้งกับฝรั่งเศส การรบครั้งนั้นทำให้มีทหารและประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริจัดตั้งสภาอุณาโลมแดงตามลักษณะสภากาชาดสากล โดยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีเมื่อได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถแล้วทรงรับตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทยจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 

 

ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการพัฒนาสถานศึกษาในประเทศ แต่ทรงเน้นบทบาทในการพัฒนาโรงเรียนสำหรับสตรี ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ในการก่อตั้งโรงเรียนสตรีในช่วงปลายทศวรรษ 2440 ได้แก่ โรงเรียนบำรุงวิชา โรงเรียนราชินี โรงเรียนสุนันทาลัย (ต่อมาใช้ชื่อว่า โรงเรียนราชินีล่าง) ทรงรับพระราชภาระเป็นผู้จัดการโรงเรียนด้วยพระองค์เอง

 

ในส่วนภูมิภาคยังทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ให้กระทรวงธรรมการ กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งโรงเรียนสตรีในจังหวัดต่างๆ เช่น โรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐม โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ จังหวัดอยุธยา โรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรัง โรงเรียนสตรีราชินูทิศ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งถือเป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด

 

นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าให้สร้างโรงเรียนนางผดุงครรภ์และนางพยาบาลขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนราชแพทยทยาลัย ซึ่งปัจจุบันคือคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บริเวณโรงพยาบาลศิริราช ด้วยทรงเห็นความจำเป็นในสร้างบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

สินค้านำเข้าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

วันที่ออกอากาศ: 30 กันยายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ปัจจุบันคนไทยสามารถหาซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเพื่อใช้อุปโภคบริโภคได้อย่างสะดวกสบาย สินค้านำเข้าเหล่านี้มีอยู่มากมายหลายประเภทและหลากหลายราคาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนในทุกระดับชั้น แต่ในอดีตนั้น สินค้านำเข้าจากต่างประเทศถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและมีราคาสูง จึงจำกัดวงผู้บริโภคแต่เฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูงในสังคมไทยเท่านั้น

 

กล่าวได้ว่าสินค้าจากต่างประเทศในสมัยอยุธยาก็ดี รัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ดี ได้สั่งเข้ามาเพื่อตอบสนองต่อวัฒนธรรมการบริโภคของกลุ่มชนชั้นสูง ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านาย ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนคหบดีที่มีฐานะมั่งคั่ง 

 

กระบวนการของการค้าขายระหว่างประเทศ คือการแลกเปลี่ยนค้าขายสินค้าระหว่างกันและกัน โดยทั่วไปแล้วมักส่งออกสินค้าที่สามารถผลิตในประเทศได้จำนวนมาก และนำเข้าสินค้าที่ไม่สามารถผลิตได้เอง ซึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น สินค้าส่งออกของไทยจะเป็นผลิตผลทางการเกษตรและสินค้าจากป่าเป็นส่วนใหญ่

 

สำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศก็มีทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ผลไม้ชนิดต่างๆ ถ้วยชามเครื่องกระเบื้อง เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าสินค้าต่างๆ เหล่านี้บางส่วนจะเป็นของประเภทเดียวกับที่ผลิตได้เองในประเทศ แต่สินค้าเหล่านี้มักมีคุณภาพดีกว่าของในประเทศ โดยใช้เทคนิควิธีการผลิตขั้นสูงกว่าที่ผลิตกันในประเทศ สินค้าเหล่านี้จึงเป็นของดีมีราคาและเป็นที่นิยมเฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูงที่มีฐานะมั่งคั่งพอในการหาซื้อมาบริโภคได้

 

โดยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นิยมนำเข้าสินค้ามาจากกลุ่มประเทศต่างๆ ได้แก่ กลุ่มเอเชียตะวันออก คือ จีนและญี่ปุ่น กลุ่มเอเชียใต้หรืออนุทวีปอินเดีย กลุ่มเอเชียตะวันตก คือ เปอร์เซียหรืออิหร่านในปัจจุบัน รวมถึงประเทศอาหรับในคาบสมุทรอาราเบีย และสุดท้ายกลุ่มประเทศในยุโรป 

 

สินค้านำเข้าในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทั้งที่เป็นสินค้าบริโภคซึ่งหมายถึงอาหารและของกินต่างๆ และสินค้าอุปโภคหรือข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ นั้น มีอยู่มากมายหลายชนิดซึ่งแตกต่างไปตามกลุ่มประเทศที่นำเข้ามา

 

สินค้าบริโภคมักนิยมนำเข้ามาจากประเทศในเอเชียตะวันออก ซึ่งมีวัฒนธรรมของอาหารการกินใกล้เคียงกัน โดยนิยมนำเข้าผลไม้แห้งจากจีน เช่น ลูกพลับ ลูกไหน ลิ้นจี่ดอง เป็นต้น จากเนื้อความในกาพย์แห่ชมเครื่องคาวหวานก็พบว่ามีสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นที่เป็นเครื่องหมักจากถั่วเหลืองหรือปลาอย่างเช่นซอสโชยุ

 

ในกลุ่มอนุทวีปอินเดียและเอเชียตะวันตกมีสินค้านำเข้ามาจำพวกเครื่องเทศต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องประกอบของแกง รวมถึงถั่วชนิดต่างๆ เช่น ถั่วทอง ถั่วสีชมพู เป็นต้น 

 

สำหรับสินค้าอุปโภค ส่วนใหญ่เป็นของใช้ฟุ่มเฟือยเพื่อเสริมบารมีหรือแสดงความมั่งคั่งหรูหราของผู้ใช้สินค้าเหล่านั้น โดยสินค้าอุปโภคไทยที่นำเข้ามาจากประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออก ได้แก่ ผ้าไหมและผ้าแพรจากจีน ซึ่งเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงในด้านเทคนิคการผลิตและคุณภาพของเส้นไหม โดยเฉพาะผ้าแพรของจีนมีคุณลักษณะเด่นเรื่องความเบาของเนื้อผ้าใส่แล้วเย็นสบาย จึงเป็นที่นิยมในราชสำนักใช้เป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่ม รวมถึงทำเป็นผ้าไตรจีวรสำหรับถวายพระเถระผู้ใหญ่

 

สินค้าจากจีนยังมีเครื่องถ้วยชามกระเบื้อง ซึ่งเป็นแม่แบบของเครื่องถ้วยชามสวยงามในราชสำนักไทย รวมถึงภาพวาดพงศาวดารจีนหรือภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ ส่วนสินค้านำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องเขิน ซึ่งมีการเขียนลวดลายด้วยมืออย่างประณีต นิยมใช้เป็นเครื่องบรรณาการส่งไปยังราชสำนักต่างประเทศ รวมถึงฉากและพัดแบบญี่ปุ่น  

 

นอกจากนี้ ยังนิยมนำเข้าพรม เครื่องสำอาง น้ำหอม น้ำอบต่างๆ จากประเทศในกลุ่มอนุทวีปอินเดียและเอเชียตะวันตก และยังนิยมนำเข้าเครื่องแก้วเจียระไน โคมไฟแก้วที่เรียกว่าแชนเดอเรีย กรอบรูป จากกลุ่มประเทศในยุโรปอีกด้วย

เศรษฐกิจสมัยกรุงธนบุรี

วันที่ออกอากาศ: 28 ธันวาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

หากกล่าวถึงประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรี แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 15 ปี แต่ก็มีเหตุการณ์และประเด็นต่างๆ ที่นักประวัติศาสตร์ศึกษาและถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่อง

 

ในปัจจุบันการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงธนบุรีนั้นมีวิวัฒนาการและค้นพบหลักฐานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ช่วยให้นักวิจัยสามารถนำไปใช้ศึกษาและผลิตเป็นงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ได้อย่างมากมาย

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งซึ่งมักถูกละเลยมองข้ามในการศึกษาวิจัยอยู่เสมอ ก็คือประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ  

 

จิราธร ชาติศิริ ได้เขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2547 เรื่องเศรษฐกิจสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจและเป็นประเด็นทางด้านเศรษฐกิจที่ถูกละเลยมานานสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงธนบุรี

 

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้มีผู้นำไปอ้างอิงและต่อยอด เสมือนเป็นการริเริ่มและสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาวิจัยประเด็นดังกล่าวในเวลาต่อมา

 

เศรษฐกิจในสมัยกรุงธนบุรี ต้องพิจารณาในเบื้องต้นว่าอยู่ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองเพิ่งฟื้นตัวจากภัยสงคราม หลังจากการล่มสลายของพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจการปกครองและความมั่งคั่งมากอย่างยาวนาน ทำให้ราชอาณาจักรสยามสูญเสียปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจในทันที

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านกำลังคน คนในวัยฉกรรจ์จำนวนมากถูกกวาดต้อนไปกรุงอังวะ อีกจำนวนหนึ่งหนีกระจายเข้าไปในป่าหรือไปร่วมกลุ่มผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นตามส่วนภูมิภาค ซึ่งในที่สุดได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นเจ้าชุมนุมหรือเจ้าก๊ก ทำให้ทรัพยากรมุนษย์ซึ่งเป็นกำลังการผลิตทางเศรษฐกิจนั้นหายไปจากระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมการปลูกข้าวในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้หยุดชะงักไปเป็นเวลากว่า 10 ปี

 

เมื่อไม่มีการปลูกข้าว บ้านเมืองจึงเข้าสู่ภาวะข้าวยากหมากแพง แม้สมเด็จพระเจ้าตากสินฯทรงเอาชนะและขับไล่กองทัพพม่าออกไปจากอยุธยาได้ภายในเวลา 10 เดือน แต่ทรงพบว่าคุณภาพชีวิตของประชากรที่ตกต่ำลงอย่างมาก เต็มไปด้วยผู้คนอดตาย จึงทรงตัดสินพระทัยย้ายศูนย์กลางอำนาจลงมายังเมืองธนบุรี ซึ่งมีความพร้อมและมีขนาดเล็กพอที่กองกำลังของพระองค์จะดูแลได้

 

ทรงรวบรวมและอพยพผู้คนเข้ามาในกรุงธนบุรี และระดมสรรพกำลังทุกด้านเพื่อพื้นฟูกิจกรรมการปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงดูผู้คน ทรงขยายพื้นที่ทำนาทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก และมีพระราชดำริให้ข้าราชการออกไปช่วยทำนา แต่ข้าวที่ผลิตได้ในช่วงนั้นไม่เพียงพอ จำเป็นต้องซื้อข้าวมาจากจีนเพื่อแจกจ่ายราษฎร ขณะเดียวกันก็ต้องนำเข้าเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นๆ ทั้งจากจีนและชาติตะวันตก

 

ทรงมีพระราโชบายทำให้กรุงธนบุรีมีสถานะเป็นเมืองท่า โดยชักชวนให้สำเภาจีนก็ดี เรือบริษัทการค้าตะวันตกก็ดีเข้ามาขายสินค้าเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ทำให้ราคาสินค้าถูกลงจนในที่สุดสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องความอดอยากขาดแคลน

 

สำหรับการฟื้นฟูท้องพระคลังซึ่งสัมพันธ์กับอำนาจการซื้อนั้น ทรงมีนโยบายให้ขุดหาสมบัติจากเมืองเก่าที่ราชสำนัก ขุนนาง ราษฎร ในราชสำนักอยุธยาฝังซ่อนกองทัพพม่า โดยให้สัมปทานการขุดสมบัติเพื่อไปประมูลขายพ่อค้าชาวจีน แล้วเก็บเป็นภาษีเข้าท้องพระคลังเป็นเงินหมุนเวียน ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญในเวลานั้น

 

ส่วนรายจ่ายสำคัญของของราชสำนักธนบุรี ลำดับแรกเป็นเรื่องการบำรุงปากท้องของประชาชนก่อน ต่อมาคือค่าใช้จ่ายในการศึกสงครามที่ยังคงต้องรบต่อเนื่องกับพม่า เรื่องที่สามคือการฟื้นฟูและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์

 

ท้ายที่สุดแล้วกรุงธนบุรีสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง เห็นได้ว่าในยุครัตนโกสินทร์ฐานะการคลังของราชสำนักในรัชกาลต่อๆ มาได้ฟื้นฟูไปในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการค้าสำเภามีผลช่วยให้ภาวะขาดเงินคงคลังบรรเทาขึ้นมาได้มาก จนสามารถคลี่คลายปัญหาได้ในสมัยรัชกาลที่ 2

เดินสวนเดินนา

วันที่ออกอากาศ: 16 กันยายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ในช่วงสมัยกรุงธนบุรี มาจวบจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงที่ราชสำนักไทยพยายามฟื้นฟูบ้านเมือง ภายหลังจากการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา จึงจำเป็นต้องมีการจัดเก็บรายได้เข้าท้องพระคลังให้มากขึ้น เพื่อใช้ในงานราชการต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การก่อร่างสร้างตัวของราชธานีแห่งใหม่ให้เป็นหลักเป็นฐาน

 

แต่เนื่องจากการจัดเก็บภาษีตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันมาในสมัยอยุธยาเริ่มไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย ราชสำนักจึงพยายามแสวงหารายได้ใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น รายได้การค้าสำเภาจีนซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเอง ภาษีจากเรือสินค้าที่เรียกว่าภาษีอากรจังกอบ การเก็บภาษีแทนการเกณฑ์แรงงาน เป็นต้น

 

ในสมัยรัชกาลที่ 2 ภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงครองราชย์ครบ 3 ปี ทรงมีแนวคิดการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ที่เรียกว่า การเดินสวนเดินนา ซึ่งเป็นภาษีที่เก็บจัดเก็บตามจำนวนผลผลิตที่ประเมินได้จากที่สวนไร่นาของราษฎร

 

ทรงมีพระราชวินิจฉัยภายหลังจากการย้ายการราชธานีมาอยู่ที่บางกอกว่า นอกจากการขยายพื้นที่ของที่นาสมัยกรุงธนบุรีแล้ว บริเวณโดยรอบราชธานีมีการทำไร่สวนผลไม้อยู่หนาแน่น ซึ่งชาวสวนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างล้วนแล้วแต่มีฐานะเป็นคหบดีทั้งสิ้น  

 

สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลพระทัยสำหรับการจัดเก็บอากรภาษีจากไร่สวนและที่นาต่างๆ ไม่ให้รั่วไหล โดยเฉพาะภาษีเดินสวนซึ่งมีอัตราจัดเก็บสูงกว่าภาษีเดินนา เนื่องจากชาวสวนมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า 

 

ภาษีเดินสวน เป็นการส่งข้าหลวงออกไปสำรวจและรังวัดพื้นที่สวนของราษฎร ซึ่งจะเก็บภาษีตามจำนวนต้นของไม้ผล โดยมีอัตราจัดเก็บแตกต่างไปตามชนิดของผลไม้ที่ปลูก สามารถแบ่งอากรได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

 

– อากรสวนใหญ่ มีอัตราภาษีสูงที่สุด จัดเก็บจากผลไม้ยืนต้นชั้นดี ซึ่งมีทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด มะม่วง มะปราง ลางสาด หมาก และพลูค้างทองหลาง โดยทุเรียนมีอัตราการจัดเก็บภาษีสูงที่สุดถึงต้นละ 1 บาท ซึ่งถือเป็นอัตราที่แพงมากเมี่อเปรียบเทียบกับข้าวที่มีราคาไร่ละ 1 สลึงในเวลานั้น

 

– อากรพลากร จัดเก็บภาษีจากไม้ยื่นต้นที่มีลำดับชั้นรองลงมา มีทั้งหมด 8 ชนิด ได้แก่ ขนุน สะท้อนหรือกระท้อน  เงาะ ส้ม มะไฟ ฝรั่ง สับปะรด และสาเก

 

– อากรสมพัตสร จัดเก็บจากผลไม้ล้มลุกมีทั้งหมด 2 ชนิด ได้แก่ กล้วย และ อ้อย

 

ภาษีเดินนา มีการส่งข้าหลวงออกไปสำรวจรังวัดพื้นที่นาของราษฎร โดยจัดเก็บภาษีตามประเภทของนา ดังนี้

 

– นาท่า หรือ นาคู่โค คือนาที่ปลูกข้าวได้ปีละหลายครั้งโดยอาศัยน้ำท่าจากแม่น้ำลำคลอง มีการจัดเก็บภาษีเป็นหางข้าวซึ่งเป็นผลผลิตส่วนเกินจากนาข้าวในแต่ละแปลง โดยประเมินจำนวนผลผลิตจากการนับจำนวนโคหรือกระบือที่ชาวนาใช้ทำนา สำหรับนาท่านี้ แม้ว่าจะไม่ได้ผลผลิตในปลายปี ชาวนาก็ยังต้องเสียภาษีหางข้าวเพราะว่าได้ใช้ทรัพยากรของหลวงคือน้ำท่าแล้ว

 

– นาฟางลอย หรือ นาดอน คือนาที่ปลูกโดยอาศัยน้ำฝน จัดเก็บภาษีตามจำนวนตอฟางข้าวภายหลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว หากในปีใดไม่ได้ผลผลิตก็ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

 

ภาษีเดินสวนเดินนานั้น ใช้มาจนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 จึงทรงปรับเปลี่ยนระบบการเก็บภาษีอากรตามแนวคิดสมัยใหม่ ต่อมาได้พัฒนาปรับปรุงจนกลายมาเป็นพระราชบัญญัติอย่างในทุกวันนี้

จากเลกวัดสู่เด็กวัด

วันที่ออกอากาศ: 2 กันยายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ตามพระธรรมวินัยแล้ว พระสงฆ์ไม่อาจมีบทบาทเป็นผู้ทำมาหาเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเอง จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรที่เป็นฆราวาสกลุ่มหนึ่งเข้ามาอาศัยในวัดเพื่อช่วยดูแลความเป็นอยู่ของพระสงฆ์

 

ในประวัติศาสตร์ของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ตั้งแต่อินเดีย ลังกา จนมาถึงภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และไทย พบว่าในสมัยโบราณ เวลาที่กษัตริย์หรือผู้นำที่มีบุญบารมีในสังคมจะสร้างวัดวาอารามต่างๆ เพื่อเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจและที่จำพรรษาของพระสงฆ์ ก็จำเป็นต้องมีการอุทิศถวายคนกลุ่มหนึ่งเพื่อทำหน้าที่บางอย่างในวัดแทนพระสงฆ์ที่ถูกจำกัดด้วยพระธรรมวินัย

 

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อาทิ จารึก จดหมายเหตุ พงศาวดาร ปรากฏชื่อกลุ่มบุคคลเหล่านี้ซึ่งมีอยู่หลายลักษณะได้แก่ เลกวัด โยมวัด ข้าพระ ข้าวัด ศิษย์วัด ศิษย์โยม เป็นต้น โดยสามารถจำแนกกลุ่มคนเหล่านี้ตามสถานภาพและหน้าที่ได้ ดังนี้

 

เลกวัด คำว่า เลก นี้มาจากคำว่า สักเลก หมายถึงการทำเครื่องหมายที่ข้อมือของชายฉกรรจ์ที่ถูกเกณฑ์แรงงานในระบบไพร่ของไทยสมัยศักดินา พระธรรมกิติวงศ์ราชบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดราชโอรสารามได้อธิบายคำว่าเลกวัดไว้ในพจนานุกรมคำวัด ว่าหมายถึงชายฉกรรจ์ที่พระมหากษัตริย์พระราชอุทิศให้เป็นข้าใช้สอยในวัด ซึ่งเดิมเป็นไพร่หลวงหรือไพร่สมในระบบการเกณฑ์แรงงานไพร่

 

การพระราชทานเลกวัดเป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างวัดใหม่ของราชสำนัก ซึ่งเป็นธรรมเนียมมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลที่เรียกว่า การกัลปนา คือการที่พระมหากษัตริย์อุทิศทรัพยากรต่างๆ เช่น กำลังคน พื้นที่ ที่ดิน ข้าวปลาอาหาร หรือทรัพย์สินมีค่าต่างๆ ให้กับศาสนสถาน โดยกำลังคนเหล่านี้จะมีหน้าที่รับใช้และดูแลความเป็นอยู่ของพระภายในวัด อาทิ การทำความสะอาด การซ่อมบำรุงอาคารสิ่งของต่างๆ รวมถึงการทำเกษตรเพื่อนำผลผลิตมาเป็นอาหารเลี้ยงพระและแรงงานในวัด

 

ข้าพระ มีหน้าที่รับใช้และดูแลพระภายในวัดเช่นเดียวกับเลกวัด แต่มีความแตกต่างกันของสถานภาพที่มา โดยข้าพระในสมัยโบราณคือ ทาส ซึ่งมีฐานะต่ำกว่าไพร่ เมื่อเจ้านาย ขุนนาง หรือคณหดีผู้มีฐานะสร้างวัดวาอารามก็มีธรรมเนียมในการอุทิศสิ่งจำเป็นต่างๆ แก่วัดตามธรรมเนียมหลวง ซึ่งรวมถึงการถวายทาสในเรือนให้เป็นแรงงานสำหรับวัดด้วย

โยมสงฆ์ อาจเรียกอีกอย่างว่า โยมวัด ศิษย์โยม หรือศรัทธา ไม่ได้มีสถานภาพเป็นสมบัติของวัดตามระบบไพร่หรือทาส แต่เป็นคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบริเวณรอบวัดแล้วมีจิตศรัทธาในการช่วยเหลือหรืออุปถัมป์วัด เนื่องจากมีความศรัทธาในปูชนียวัตถุของวัด หรือนับถือพระเถระที่เป็นเจ้าอาวาส หรือมีความผูกพันของวัดหรือพระสงฆ์ในวัดมาตั้งแต่อดีต

 

จึงอาสาช่วยเหลือกิจการของวัดในทางใดทางหนึ่ง รวมถึงการดูแลผลประโยชน์ของวัด ซึ่งตามพระวินัยแล้ว พระสงฆ์ไม่สามารถจับต้องหรือเก็บทรัพย์สินเงินทองได้ จึงจำเป็นต้องให้ฆราวาสเข้ามาช่วยดูแลรักษาและบริหารเงินบริจาคของวัด

 

การถวายแรงงานในธรรมเนียมกัลปนาถูกยกเลิกในเวลาต่อมา เนื่องจากระบบเกณฑ์แรงงานไพร่และระบบทาสเริ่มเสื่อมคลายลง จนมาถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้ไม่มีแรงงานไพร่หรือทาสสำหรับอุทิศถวายแก่วัด

 

อย่างไรก็ตาม บุคลากรฆราวาสที่ทำหน้าที่ดูแลรับใช้พระสงฆ์หรือช่วยเหลือกิจกรรมด้านต่างๆ ก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับวัด ซึ่งต่อมาโยมสงฆ์ข้าพระได้กลายสถานภาพมาเป็น เด็กวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กกำพร้าหรือเด็กยากจนที่วัดอุปการะไว้ รวมถึงโยมสงฆ์ที่เปลี่ยนมาเรียกว่า ไวยาวัจกร หรือ มรรคนายก ซึ่งทำหน้าดูแลรักษาผลประโยชน์และบริหารจัดการทรัพย์สินต่างๆ ของวัด

การชุมนุมล้มอำนาจรัฐในสมัยโบราณ

วันที่ออกอากาศ: 16 กุมภาพันธ์ 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

การชุมนุมต่อต้านอำนาจรัฐ ปรากฏในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย คือการระดมผู้คนมาชุมนุมโดยมีวัตถุประสงค์ในการยุติ ล้มล้าง เปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐ หรือเปลี่ยนขั้วอำนาจการปกครองจากกลุ่มอำนาจเดิมไปสู่กลุ่มผู้ต่อต้าน

 

ในสมัยโบราณความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่ความไม่พอใจในตัวกษัตริย์ มักเป็นปัญหาความขัดแย้งในกลุ่มบุคคลชั้นปกครอง กลุ่มเจ้านาย หรือกลุ่มขุนนาง ซึ่งมักมีความไม่ลงรอยในการจัดสรรทรัพยากร

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกณฑ์แรงงานในสังคมยุคจารีตที่มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอำนาจรัฐอย่างมาก ทั้งในเรื่องกำลังพลในการทัพ และแรงงานในก่อสร้างอาคารสถานสำคัญ สาธารณูปโภคต่างๆ ในเมือง

 

กระบวนการชิงอำนาจจำเป็นต้องผ่านการล้มอำนาจเดิม โดยการระดมผู้คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรผู้ชายมาชุมนุมพลกลายเป็นกองกำลังติดอาวุธหรือทหาร เพื่อรบพุ่งกับฝ่ายที่ตนเองต้องการล้มอำนาจ 

 

มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรปรากฏในศิลาจารึกยุคสุโขทัย โดยเฉพาะจารึกวัดป่ามะม่วง กล่าวถึง ความวุ่นวายจากการชิงอำนาจหลังรัชสมัยพระยาเลอไท พระมหาธรรมราชาลิไทต้องเสด็จเข้ามาระงับการจลาจลโดยอ้างความชอบธรรมในฐานะพระมหาอุปราช จึงทรงระดมไพร่พลจากเมืองศรีสัชนาลัยเข้ามาตีเมืองสุโขทัยจนทรงได้รับอำนาจการปกครอง ภายหลังทรงใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสถานะของพระองค์ในฐานะกษัตริย์แบบธรรมราชา 

 

ในสมัยอยุธยาที่มีช่วงระยะเวลายาวนานกว่า 4 ศตวรรษ ก็มีเหตุขัดแย้งในชนชั้นปกครองอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอาณาจักรอยุธยาเกิดจากการรวมของนครรัฐเดิม 3 นคร คือ สุพรรณภูมิ อโยธยา และละโว้ ซึ่งผนวกรวมเข้าด้วยกันบนพื้นฐานความสัมพันธ์ทางเครือญาติจากการอภิเษกสมรสข้ามราชวงศ์ จึงมักเกิดเหตุความขัดแย้งทางการเมือง

 

โดยเฉพาะช่วงการเปลี่ยนผ่านรัชกาลที่ต่างฝ่ายต่างอ้างความชอบธรรมในการเป็นผู้ถืออำนาจการปกครองของรัฐ อาทิ เหตุการณ์เมื่อสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทอง มีความขัดแย้งระหว่างสมเด็จพระราเมศวร เจ้านายฝั่งอู่ทอง กับขุนหลวงพระงั่ว เจ้านายฝั่งสุพรรณภูมิ

 

หรือเมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงกระทำการต่อต้านสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา ซึ่งเป็นพระเจ้าอา พระองค์ต้องทรงระดมพลแม้กระทั่งชาวต่างชาติ โดยเฉพาะแขกเปอร์เซีย แขกมัว มาเป็นกำลังสำคัญ จนได้รับชัยชนะและทรงสามารถขึ้นครองราชย์ได้สำเร็จ

 

นอกจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนชั้นนำ ยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงกรณีชนชั้นระดับไพร่บ้านพลเมืองลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจรัฐในสมัยอยุธยา ที่เราเรียกว่าเหตุการณ์กบฏต่างๆ อาทิ กบฏธรรมเสถียรในสมัยพระเพทราชา ด้วยเกิดความไม่พอใจในอำนาจรัฐของราชวงศ์บ้านภูหลวง โดยมีนายธรรมเสถียรซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาปลอมตัวเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ พระญาติของสมเด็จพระนารายณ์ เพื่ออ้างความชอบธรรมในการสืบต่อราชบัลลังก์ มีการระดมพลจากชาวบ้านตามชานเมืองอยุธยา

 

หรือกรณี กบฏผู้มีบุญต่างๆ ที่มักใช้เหตุการณ์ทางพระพุทธศาสนามาอ้างอิงตัวว่าเป็นผู้นำที่จะสิ้นสุดกลียุคและนำไปสู่ยุคพระศรีอารย์ที่ประเสริฐกว่า เพื่อสร้างความชอบธรรมในการระดมชาวบ้านต่อต้านอำนาจรัฐ

 

จึงเห็นได้ว่าการชุมชนต่อต้านอำนาจรัฐในสมัยโบราณแตกต่างจากการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบัน  ด้วยในทัศนะคนโบราณ กษัตริย์คือผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองของรัฐแบบสมบูรณาญาสิทธิ์ เมื่อเกิดความไม่พอใจหรือมีความขัดแย้งกับองค์อธิปัตย์ของรัฐ จึงมักนำไปสู่การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวผู้ปกครอง  

 

ส่วนการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบัน เป็นแนวคิดที่ใหม่ที่นำมาจากโลกตะวันตก ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี 2435 ไปแล้ว ซึ่งอาจเป็นการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องบางอย่าง โดยไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครองก็ได้

อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

วันที่ออกอากาศ: 9 มีนาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

อำเภอสามโคก เดิมเคยเป็นศูนย์กลางของจังหวัดปทุมธานีมาก่อน จึงมีความน่าสนใจทางประวัติศาสตร์ให้ได้ทัศนศึกษาและเที่ยวชมร่องรอยของอดีต

 

ในนิราศภูเขาทองซึ่งเป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สุนทรภู่ประพันธ์ขึ้นในช่วงต้นรัชกาลที่ 3 ขณะเดินทางไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง ซึ่งต้องนั่งเรือผ่านบริเวณเมืองสามโคก ก็คิดถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ปรากฏเป็นความว่า

 

ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า

พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี

ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว
โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง

แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว
โอ้เรานี้สุนทรประทานตัว

ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ

 

ในเวลานั้นเมืองสามโคกได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่าเมืองปทุมธานี เดิมเป็นที่ตั้งของชุมชนมอญที่อพยพจากสงครามมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ 2 ก็มีเหตุให้ชาวมอญต้องอพยพครั้งใหม่มาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารอีกครั้ง จึงโปรดเกล้าให้จัดแบ่งครอบครัวมอญไปอาศัยอยู่เมืองต่างๆ รวมถึงเมืองสามโคก

 

มีหลักฐานว่าเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ไปประทับแรมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดปทุมทอง ได้ทอดพระเนตรเห็นดอกบัวหลวงบานสะพรั่งอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำของเมืองสามโคก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนามแก่เมืองสามโคกให้เป็นสิริมงคลว่าเมืองประทุมธานี ภายหลังจึงเปลี่ยวตัวสะกดเป็น ปทุมธานี

 

ด้วยความที่สามโคกเป็นเมืองเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น จึงมีชุมชนตั้งรกรากมาโดยตลอด มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมมอญที่มีพื้นฐานจากการนับถือพระพุทธศาสนาเหมือนกัน ในเขตอำเภอสามโคกจึงมีจำนวนวัดพุทธมากขึ้น 48 แห่ง ยังไม่รวมวัดร้างจำนวนราวๆ 10 แห่ง เรียกว่าเหมือนกับเมืองอยุธยาน้อยๆ ที่มีซากวัดโบราณจำนวนมากที่น่าตื่นตาตื่นใจ

 

วัดที่มีความสำคัญ ได้แก่ วัดสิงห์ สร้างจากจิตศรัทธาของชาวมอญ วิหารมีลักษณะสถาปัตยกรรมอยุธยาตอนปลาย มีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ รวมถึงพระแท่นบรรทมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสมัยที่เสด็จประพาสเมืองสามโคก และมีการจัดแสดงอิฐมอญโบราณ รวมทั้งมีโรงทำอิฐที่เป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้านของชาวบ้านมอญ 

 

วัดเจดีย์ทอง สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีพระเจดีย์ทรงมอญหรือทรงรามัญอายุประมาณ 160 ปีเป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น และมีพระพุทธรูปหยกขาวปางมารวิชัยซึ่งเป็นพระพุทธรูปแบบมอญ วัดนี้ถือเป็นวัดสำคัญในอำเภอสามโคกเป็นสถานที่จัดงานประเพณีต่างๆ ของชาวไทยมอญ

 

วัดป่างิ้ว เป็นวัดที่รวมเอาวัดร้าง 2 แห่ง ได้แก่ วัดพญาเมือง และวัดนางหยาด วัดพญาเมืองเคยเป็นศูนย์กลางของเมืองสามโคกเดิมตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ปัจจุบันเสนาสนะส่วนใหญ่ในวัดเป็นของสร้างใหม่ แต่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถที่น่าชมมาก เป็นจิตรกรรมฝาผนังแบบไทยประยุกต์ รวมถึงซากโบราณสถานของวัดพญาเมืองกับวัดนางหยาด

 

ปัจจุบัน ชุมชนมอญสามโคก ถือเป็นชุมชนมอญใหญ่แห่งหนึ่งในเขตภาคกลางของไทย ซึ่งยังคงดำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมมอญอยู่ในเขตอำเภอสามโคก และมีความใกล้ชิดกับชุมชนมอญในเกาะเกร็ด จังหวัดนนทุบรี เนื่องจากมีเชื้อสายเดียวกัน

หมู่บ้านสาขลา

หมู่บ้านสาขลา เป็นชุมชนโบราณที่อยู่เขตพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ปัจจุบันทางราชการกำหนดให้ชุมชนหมู่บ้านสาขลาเป็นตำบล แต่เรียกชื่อว่า ตำบลนาเกลือ ด้วยแต่เดิมเป็นบริเวณที่มีการทำนาเกลือกันมาก หมู่บ้านสาขลาเป็นชุมชนขนาดกลางๆ กะทัดรัด อยู่ละแวกปากอ่าวไทย ค่อนข้างเป็นเอกเทศในลักษณะชุมชนแบบปิด ซึ่งแต่เดิมสามารถเข้าออกชุมชนได้เพียงแค่ทางเรือ 

 

ชุมชนสงขลานี้ สันนิษฐานจากโบราณวัตถุที่ค้นพบเป็นเศษเครื่องถ้วยชามประเภทต่างๆ ซึ่งมีเศษถ้วยชามสังคโลกที่อายุย้อนไปได้ถึงสมัยสุโขทัย เศษเครื่องถ้วยลายครามจากสมัยอยุธยา หรือแม้แต่เครื่องถ้วยเบญจรงค์ในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งแสดงว่าเป็นชุมชนโบราณที่มีเศรษฐกิจมั่งคั่ง

 

ทั้งนี้ ชุมชนบริเวณปากอ่าวมักเป็นชุมชนประมงที่มีอุตสาหกรรมพื้นบ้านประเภทการถนอมอาหารทะเล เช่น ปลาหมึกแห้ง ปลาแห้ง ปลาเค็ม กุ้งแห้ง ซึ่งในประวัติศาสตร์ถือว่าสินค้าเหล่านี้เป็นของดีมีราคา

 

มีผู้สันนิษฐานว่า ชื่อหมู่บ้าน สงขลา เพี้ยนมาจากคำว่า สาวกล้า ซึ่งชาวสาขลาในปัจจุบันภูมิใจกับคำว่าสาวกล้ามาก มีตำนานกล่าวกันว่า ชุมชนหมู่บ้านสาขลาได้ผจญกับกองลาดตระเวนพม่าในสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งเข้ามาปล้นสะดมเพื่อหาเสบียงอาหาร โดยผู้คนในหมู่บ้านเหลือเพียงผู้หญิง เด็ก และคนแก่ เนื่องจากผู้ชายส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์ไปรบในสงคราม ปรากฏว่าบรรดาผู้หญิงในหมู่บ้านลุกขึ้นมาต่อสู้ จนสามารถขับไล่กองลาดตระเวนพม่าออกไปได้สำเร็จ ก็เป็นที่มาของชื่อชุมชนสาวกล้า แล้วจึงเพี้ยนมาเป็นสาขลา 

 

หมู่บ้านสาขลามีวัดประจำชุมชนชื่อ วัดสาขลา กล่าวกันว่าเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา พิจารณาได้จากพระพุทธรูปเก่าสมัยอยุธยาจำนวนมาก ในสมัยปลายกรุงธนบุรีมีการสร้างพระปรางค์เป็นสิ่งก่อสร้างหลักในวัด เป็นพระปรางค์ทรงชะลูดแบบสมัยปลายอยุธยาต่อถึงตอนต้นรัตนโกสินทร์ มีความสูงประมาณ 13 วา แต่ปัจจุบันพระปรางค์องค์นี้อยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรจนเอียง ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า พระปรางค์เอน เพราะปัจจุบันหมู่บ้านสาขลาประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะ เช่นเดียวกับชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ริมปากอ่าวหลายแห่ง 

หมู่บ้านสาขลามีของฝากที่ขึ้นชื่อคือ กุ้งเหยียด โดยนำกุ้งทั้งตัวนำมาต้มกับเกลือและน้ำตาล อาจจะเป็นกุ้งกะลาดำ กุ้งแชบ๊วย หรือกุ้งทะเลก็ได้ แต่จะนำตัวกุ้งมาจับให้ตรงแล้วจัดเรียงก่อนนำไปต้ม ทำให้กุ้งมีลักษณะตัวตรงสวย ซึ่งต่างจากกุ้งหวานในที่อื่นๆ ที่เป็นกุ้งตัวงอ

 

นอกจากนี้ ยังมีงานหัตถกรรมที่เรียกว่า ปูสต๊าป คือการนำปูทะเลหรือปูม้าตัวใหญ่ไปสต๊าปแห้งเพื่อทำเป็นของประดับ ของที่ระลึก หรือเอาไว้ใช้สำหรับห้องวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน และยังมีการทำ ปูรามเกียรติ์ คือการนำกระดองปูมาเขียนเป็นหน้ายักษ์หรือหน้าตัวละครในเรื่องราวรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมที่ค่อนข้างขายดี 

 

ปัจจุบัน ชาวหมู่บ้านสาขลายังคงรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนได้อย่างน่าชื่นชม ทั้งนี้ บริเวณอำเภอพระสมุทรเจดีย์ที่ต้นทางมีหมู่บ้านชาวประมงที่ทำอุตสาหกรรมเรือประมงอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะจ้างชาวพม่ามาเป็นแรงงาน จนกลายเป็นชุมชนพม่าขนาดใหญ่ ซึ่งมีปัญหาทางสังคมต่างๆ ตามมา แต่ปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้กับหมู่บ้านสาขลา อาจเป็นเพราะหมู่บ้านสาขลาเป็นเหมือนกึ่งๆ ชุมชนปิด เพราะแต่เดิมเข้าถึงได้ทางเรือเท่านั้น

 

แม้ว่าในปัจจุบันที่มีถนนเข้าไปถึงหมู่บ้านแล้ว แต่ว่าหมู่บ้านสาขลาก็มีองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีประสิทธิภาพ และพยายามที่จะพัฒนาดูแลรักษาความบริสุทธิ์ของความเป็นหมู่บ้านดั่งเดิมให้ยังคงอยู่ต่อไป นอกจากนี้ยังได้เผยแพร่ชื่อเสียงและความน่าสนใจของหมู่บ้านไปยังนักท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าหมู่บ้านสงขลายังได้รับการอนุรักษ์ได้ดีอย่างยิ่ง

สุนทรภู่กับการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

วันที่ออกอากาศ: 24 มิถุนายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

สุนทรภู่ได้รับยกย่องว่าเป็นนักเดินทางท่องเที่ยวรุ่นบุกเบิกของเมืองไทย เนื่องจากในชีวิตของท่านได้มีโอกาสเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ มากมาย  ทั้งที่เป็นภารกิจทางราชการ การพักผ่อนหย่อนใจ กระทั่งการท่องเที่ยวเพื่อบรรเทาความทุกข์ใจในช่วงตกต่ำของชีวิตราชการ โดยได้ถ่ายทอดเรื่องราวในการเดินทางของท่านออกมาเป็นผลงานวรรณกรรมสำคัญๆ หลายเรื่อง

 

โดยเฉพาะวรรณกรรมประเภทนิราศที่ท่านประพันธ์ไว้ทั้งสิ้น 9 เรื่อง สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดและความกระตือรือร้นของท่านในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ที่ท่านเดินทางผ่านไป ทั้งในเรื่องสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตผู้คน ตลอดจนวัฒนธรรมคติความเชื่อของท้องถิ่น 

 

นิราศทั้ง 9 เรื่อง เรียงลำดับจากปีที่ประพันธ์ ได้แก่ นิราศเมืองแกลง เป็นเรื่องราวขณะที่ท่านเดินทางไปเมืองระยอง ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นบ้านเกิดของท่าน ประพันธ์ไว้ในปี 2350 ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 2 และในปีเดียวกันยังได้ประพันธ์ นิราศพระบาท ขณะตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ เจ้านายวังหลัง ไปนมัสการพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี

 

นิราศภูเขาทอง ประพันธ์ในปี 2371 เว้นห่างจากนิราศ 2 เรื่องแรกถึง 20 ปี ขณะที่ท่านอยู่ในสมณเพศ นิราศเมืองเพชร ช่วงปี 2371-2374 ซึ่งเป็นช่วงที่ท่านเดินทางไปพำนักอยู่ที่เพชรบุรี หลังจากนั้นจึงกลับมายังพระนครและได้ประพันธ์ นิราศวัดเจ้าฟ้า ประมาณปี 2374 ขณะท่านศึกษาการแปรธาตุและเรื่องเหล็กไหลที่วัดเจ้าฟ้า

 

ช่วงปี 2375-2378  ได้ประพันธ์นิราศอิเหนา ซึ่งเป็นนิราศที่ไม่ได้ประพันธ์จากการเดินทางจริงๆ แต่สมมุติตัวท่านเองเป็นอิเหนาที่ต้องพลัดพลากจากนางบุษบา นิราศสุพรรณ ช่วงปี 2377-2380 มีความพิเศษตรงที่ท่านแต่งเป็นโคลง เป็นนิราศที่แสดงความสามารถทางด้านภาษาของท่าน

 

รำพันพิลาป ประพันธ์ในปี 2385 ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางแต่แสดงถึงช่วงชีวิตรันทดในเพศภิกษุของท่านขณะที่จำพรรษาที่วัดเทพธิดาราม และเรื่องสุดท้าย นิราศพระปฐม ช่วงปี 2385-2388 ขณะที่เดินทางไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์องค์เดิมก่อนที่จะมีการบูรณปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ 4 

 

หากศึกษานิราศของสุนทรภู่จะพบว่าท่านนิยมศึกษาชื่อบ้านนามเมืองของท้องถิ่นต่างๆ และนำมาใช้ประโยชน์ในงานประพันธ์ โดยเฉพาะการนำชื่อของสถานที่มาพ้องกับสิ่งที่ท่านต้องการสื่อสารแก่ผู้อ่าน ถือเป็นความสามารถและปฏิภาณกวีที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของท่าน

 

ดังที่ปรากฏในนิราศภูเขาทอง สุนทรภู่เดินทางไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งได้ผ่านย่านหรือชุมชมต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็นำชื่อย่านชุมชนมาประพันธ์เปรียบเปรย

 

ถึงบางจากจากวัดพลัดพี่น้อง

มามัวหมองม้วนหน้าไม่ฝ่าฝืน
เพราะรักใคร่ใจจืดไม่ยืดยืน

จึงต้องขืนในพรากมาจากเมือง
(คำว่า"จาก" ในบางจากนำมาสื่อสารเรื่องการจากลา)

 

ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์

มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร

จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจาฯ
(คำว่า "พูด" ในบางพูดนำมาสื่อสารเรื่องความระมัดระวังในการพูดจา)

 

สุนทรภู่ยังได้สอดแทรกประวัติความเป็นมาของสถานที่ต่างๆ รวมถึงการสะท้อนให้เห็นสภาพชุมชนของท้องถิ่นต่างๆ ในช่วงเวลานั้น ดังปรากฏในนิราศภูเขาทอง ขณะที่ท่านเดินทางผ่านเมืองสามโคก ทำให้ท่านรันทดใจนึกถึงช่วงที่ท่านยังรับราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งพระราชทานชื่อใหม่แก่เมืองสามโคกว่าปทุมธานี เนื่องจากบริเวณนั้นมีบัวอยู่เป็นจำนวนมาก (ปทุม แปลว่า บัว)  

 

ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า

พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี

ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว

 

ในนิราศเมืองแกลง ท่านเดินทางตามลำน้ำไปบางปะกง ซึ่งในสมัยนั้นยังเรียกว่าบางมังกง ก็บรรยายถึงสภาพของชุมชนที่แปรรูปสินค้าจากการประมง เมื่อเดินทางถึงบางแสนยังได้บรรยายให้ภาพบรรยากาศของตลาดเขาสามมุก

 

ถึงหย่อมย่านบ้านบางมังกงนั้น

ดูเรียงรันเรือนเลียบชลาสินธุ์
แต่ล้วนบ้านตากปลาริมวาริน

เหม็นแต่กลิ่นเน่าอบตระหลบไป

 

เป็นสองแถวแนวถนนคนสะพรั่ง

บ้างยืนบ้างนั่งร้านประสานเสียง
ดูรูปร่างบรรดาแม่ค้าเคียง

เห็นเกลี้ยงๆ กร้องแกร้งเป็นอย่างกลาง
ขายหอยแครง แมงภู่กับปูม้า

หมึกแมงดาหอยดอง รองกระถาง
พวกเจ๊กจีนสินค้าเอามาวาง

มะเขือคางแพะเผือกผักกาดดอง
ที่ขายผักหน้าถังก็เปิดโถง

ล้วนเบี้ยโป่งหญิงชายมาจ่ายของ
สักยี่สิบหยิบออกเป็นกอบกอง

พี่เที่ยวท่องทัศนาจนสายัณห์

 

นอกจากนี้ สุนทรภู่ยังมีความสนใจในวิถีชีวิตของชาวจีน ซึ่งท่านมักสังเกตสิ่งต่างๆ เหล่านี้ระหว่างการเดินทาง และนำมาประพันธ์ในนิราศของท่านเสมอ ในนิราศเมืองแกลงท่านก็กล่าวถึงศาลเจ้าปูนเถ้ากง ซึ่งเป็นศาลเจ้าเซียนผู้พิทักษ์รักษาชุมชนจีนตามคติความเชื่อลัทธิเต๋า

 

เห็นศาลเจ้าเหล่าเจ๊กอยู่เซ็งแซ่

ปูนทะก๋งองค์แก่ข้างเพศไสย
เกเลเอ๋ยเคยข้ามคงคาลัย 

ช่วยคุ้มภัยปากอ่าวเถิดเจ้านาย

 

กล่าวได้ว่านิราศทั้ง 9 เรื่องของสุนทรภู่ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีความเกร็ดความรู้ปกิณกะในเรื่องวิถีชีวิตของผู้คน สภาพความเป็นอยู่ของชุมชน รวมทั้งสภาพภูมิประเทศไทยในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ผู้ที่สนใจอาจลองเดินทางท่องเที่ยวตามเส้นทางในนิราศของท่านแล้วเปรียบเทียบสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีตและปัจจุบันก็จะได้รับประโยชน์ยิ่ง

ล่องแม่น้ำป่าสัก

วันที่ออกอากาศ: 17 มิถุนายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

แม่น้ำป่าสัก ถือเป็นหนึ่งในแม่น้ำประวัติศาสตร์สำคัญ 3 สายที่ไหลผ่านกรุงศรีอยุธยานอกจากแม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำเจ้าพระยา

 

ลำน้ำป่าสักเมื่อครั้งอดีตเป็นเส้นทางที่พระเจ้าแผ่นดินใช้เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทที่แขวงเมืองสระบุรี ซึ่งได้รับการสถาปนาให้เป็นศาสนสถานสำคัญมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมในสมัยอยุธยา จนกลายเป็นพระราชประเพณีประจำปีของพระเจ้าแผ่นดินทุกรัชกาลสืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

 

นอกจากนี้ แม่น้ำป่าสักเป็นเส้นทางคมนาคมที่มีความสำคัญมาตั้งแต่โบราณจึงมีโบราณสถานและชุมชนของชาวบ้านกระจัดกระจายตลอดเส้นทาง ซึ่งถือเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่น่าสนใจ  

 

เนื่องจากการล่องแม่น้ำป่าสักยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ผู้สนใจเดินทางเส้นทางนี้จำเป็นต้องสำรองเช่าเรือล่วงหน้า โดยสามารถติดต่อเรือเช่าได้ที่ท่าเรือป้อมเพชรหรือท่าเรือวัดสุวรรณาราม การเช่าเรือมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงสักเล็กน้อย เนื่องจากระยะทางค่อนข้างไกลทำให้ต้องใช้เวลาเดินทางนาน

 

หากต้องการเดินทางถึงอำเภอท่าเรือ ซึ่งเคยเป็นจุดจอดเรือสุดท้ายของพระมหากษัตริย์สมัยอดีตที่แวะพักก่อนเดินทางทางบกไปยังพระพุทธบาท จะต้องใช้ระยะเวลาเดินทางราว 12-14 ชั่วโมง ดังนั้น ควรออกเดินทางตั้งแต่เช้ามืด 

 

สำหรับเส้นทางที่แนะนำนั้น ให้ออกเดินทางจากท่าเรือไปยังลำคูขื่อหน้า ซึ่งเป็นจุดบรรจบกันของแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำลพบุรี ซึ่งอยู่บริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมืองอยุธยา กล่าวกันว่าบริเวณนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญและเป็นจุดที่กองทัพพม่าใช้โจมตีอยุธยาได้สำเร็จในสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 โดยมีสถานที่สำคัญ คือ พระราชวังจันทรเกษม หรือวังหน้าซึ่งเป็นที่ประทับของมหาอุปราช

 

จากนั้นล่องเรือต่อไปจะพบร่องน้ำโบราณ  ซึ่งอดีตคือแม่น้ำหันตราหรือแม่น้ำป่าสักสายเดิมที่เป็นคูเมืองของเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร เมืองอยุธยาโบราณก่อนที่พระรามาธิบดีจะมาการสร้างพระนครศรีอยุธยา

 

ขอแนะนำให้จัดเตรียมข้าวของใส่บาตรไว้ด้วยเนื่องจากในช่วงเช้าจะมีพระสงฆ์พายเรือมาบิณฑบาตตามแม่น้ำ อันเป็นวิถีชีวิตของชุมชนแถบนี้มาตั้งแต่โบราณ ระหว่างล่องเรือจะพบว่าสองฝั่งของแม่น้ำเป็นเทือกสวนไร่นาของชาวบ้าน ซึ่งสามารถพบเห็นวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวบ้านไปได้ตลอดเส้นทาง

 

เมื่อล่องเรือจนถึงเขตอำเภอนครหลวงจะพบกับปราสาทนครหลวง ซึ่งเป็นที่ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถของพระมหากษัตริย์ในการเสด็จนมัสการพระพุทธบาท สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง และบริเวณใกล้เคียงกันมีวัดใหม่ประชุมพลซึ่งสามารถเข้าไปศึกษาสถาปัตยกรรมในสมัยประเจ้าปราสาททอง คือ เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง และพระพุทธรูปทรงเครื่องจักรพรรดิราชองค์ใหญ่ที่เป็นพระประธาน รวมถึงจิตรกรรมฝาผนังที่มีลวดลายสวยงามมาก

 

เมื่อแวะชมวัดใหม่ประชุมพลเสร็จแล้วสามารถแวะรับประทานอาหารแถวนี้ ซึ่งมีก๋วยเตี๋ยวเรือและเรือกาแฟผ่านมาบริการ หรืออาจจะเตรียมอาหารมารับประทานบนเรือ

 

จากนั้นให้ล่องเรือต่อไปยังหมู่บ้านอรัญญิก ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องของการตีมีด  ถือเป็นภูมิปัญญาไทยอีกอย่างหนึ่ง ต่อจากนั้นจะผ่านวัดวาอารามตลอด 2 ฝั่งซึ่งสามารถแวะเยี่ยมชมได้ จนกระทั่งไปถึงท่าเจ้าสนุก เขตอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่ติดกับอำเภอเสาไห้จังหวัดสระบุรี

 

หากพ้นจากอำเภอท่าเรือแล้วจะไม่สามารถเดินทางโดยทางเรือเพื่อไปนมัสการพระพุทธบาทต่อไปได้ เนื่องจากจะมีเขื่อนพระราม 6 ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้เป็นเขื่อนชลประทานสำหรับบริหารจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำป่าสัก

 

บริเวณนี้มีตลาดขนาดใหญ่ให้แวะเลือกซื้อสินค้าก่อนเดินทางกลับมายังท่าเรือวัดพนัญเชิง โดยจะถึงท่าเรือราว 1-2 ทุ่ม แต่หากไม่ต้องการเดินทางกลับทางเรือสามารถนัดรถมารับที่ตลาดอำเภอท่าเรือนี้ก็ทำได้

เมืองสระบุรี

วันที่ออกอากาศ: 13 ตุลาคม 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

สระบุรี เป็นจังหวัดที่มีความน่าสนใจในฐานะเมืองสำคัญทั้งทางโบราณคดีและทางประวัติศาสตร์  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์  ปัจจุบัน สระบุรี ถือว่าเป็นจังหวัดใหญ่ที่มีอาณาเขตติดต่อกับหลายจังหวัด เช่น ลพบุรี นครนายก นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

คำว่า สระบุรี ที่ปัจจุบันนิยมอ่านว่า สะ-ระ แต่เดิมมาจากคำว่า สระ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับสระน้ำโบราณสมัยทวารวดี ซึ่งเป็นศาสนสถานเขมร แต่ปัจจุบันชาวสระบุรีรวมถึงชาวจังหวัดอื่นๆ ส่วนใหญ่ได้ลืมเลือนความหมายของคำดังกล่าวจากความทรงจำแล้ว

 

เมื่อกล่าวถึงจังหวัดสระบุรีในทางประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม ส่วนใหญ่นึกถึงรอยพระพุทธบาทในฐานะของแหล่งแสวงบุญที่สำคัญของประเทศ

 

เมืองสระบุรี ในจารึกเขมรโบราณเดิมชื่อ เมืองปรันตะปะ จากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ปรากฏแหล่งอารยธรรมโบราณจำนวนมากตรงพื้นที่นี้ เนื่องจากปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ โดยมีแม่น้ำป่าสักซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่ช่วยหล่อเลี้ยงป่าไม้ในพื้นที่ให้อุดมสมบูรณ์  

 

สระบุรีจึงเป็นจุดหมายปลายทางในการอพยพของคนหลายเชื้อชาติ โดยเฉพาะกลุ่มคนเชื้อสายลาวและกลุ่มไทยญวน  กลายเป็นเหมือนหม้อที่หลอมรวมวัฒนธรรมที่หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน 

 

ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยกรุงเทพฯ เมืองสระบุรีมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่าน ซึ่งเป็นชุมทางเศรษฐกิจสำคัญในการขนส่งสินค้าจากเขตที่ราบสูงโคราชหรือเมืองทางตอนเหนือ ซึ่งมีการล่องซุงและสินค้าจากป่ามารวบรวมไว้ที่เมืองสระบุรีก่อนส่งไปยังอยุธยา

 

ในสมัยอยุธยา สินค้าจากป่าจำนวนมากถือเป็นสินค้าสำคัญ เป็นทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับชาวเมือง รวมทั้งใช้เป็นส่วย  อากร และยุทธปัจจัยในการศึกสงคราม นอกจากสินค้าป่าแล้ว ชาวสระบุรียังผลิตพืชผลทางการเกษตรมาตั้งแต่สมัยโบราณ

 

ดังนั้น การเป็นเมืองต้นทางของบรรดาสินค้าทั้งหลายที่จะส่งลงมายังเมืองหลวงจึงทำให้เศรษฐกิจของเมืองสระบุรีดีขึ้น กลายเป็นเมืองใหญ่ที่มีความมั่งคั่งมาตั้งแต่สมัยอยุธยาสืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ 

 

สระบุรี ยังเป็นแหล่งจาริกแสวงบุญของพระมหากษัตริย์และของราษฎรมาตั้งแต่โบราณ ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่าพระมหากษัตริย์อยุธยาทรงพบพระพุทธฉายบนหน้าผาของเขาปฐวี ซึ่งอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในปัจจุบัน

 

ในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมทรงพบรอยพระพุทธบาท ซึ่งต่อมากลายเป็นพุทธสถานสำหรับจาริกแสดงบุญของชาวอยุธยา มีประเพณีการจาริกแสดงบุญไปยังพระพุทธบาทสระบุรีที่ปฏิบัติเป็นประจำทุกปีของพระเจ้าแผ่นดินและราษฎรในอาณาจักรอยุธยา และสืบสานต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

ปัจจุบัน สระบุรีเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจหลายแห่ง อาทิ ถ้ำพระโพธิสัตว์ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก อำเภอมวกเหล็ก มีภาพสลักนูนต่ำทางพุทธศาสนาในวัฒนธรรมทวารวดี เป็นภาพพระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรมแก่บรรดาเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีความชัดเจนของภาพอยู่มาก

 

นอกจากนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะในเขตอำเภอมวกเหล็กและอำเภอแก่งคอยบริเวณเชิงขอบที่ราบสูงโคราช ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แม่น้ำป่าสักไหลผ่านซอกเขาเกิดเป็นโตรก เป็นธาร และมีเพิงผาตลอด 2 ฝั่งลำน้ำ จึงเป็นที่นิยมสำหรับกิจกรรมล่องแก่ง

ไทลื้อ

วันที่ออกอากาศ: 19 มกราคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

ไทลื้อ หรือ ไตลื้อ คือกลุ่มชาติพันธุ์ ไท หรือ ไต ถิ่นฐานเดิม ซึ่งได้แตกแขนงมากมายและอพยพไปตามพื้นที่ต่างๆ บนแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการสันนิษฐานว่าถิ่นฐานโบราณดั่งเดิมของชาวไทน่าจะอยู่ในบริเวณมณฑลทางตอนใต้ของจีนซึ่งมีทั้งลักษณะเป็นภูเขาสูงและเป็นที่ราบ ซึ่งมีประชาคมของชุมชนของชาวไทกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป 

 

ชาวไทลื้อมีวัฒนธรรมร่วมกับคนไทยที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางใต้ลงมา ตั้งแต่ภาคเหนือของไทยลงมาถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งผู้ปกครองเมืองนับถือพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคติชาวไทลื้อในมณฑลสิบสองปันนาที่รับพุทธศาสนาไปเป็นศาสนาหลัก โดยได้ประสานกลมกลืนร่วมกับการนับถือผี วิญญาณในธรรมชาติ บรรพบุรุษ

 

ทำให้เห็นว่ารากฐานทางวัฒนธรรมของชาวไทลื้อมีลักษณะใกล้เคียงกับคนไทยกลุ่มอื่นๆ ที่มีพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน ดังนั้นเมื่อเกิดการอพยพของชาวไทลื้อเข้ามาในดินแดนของชาวไทยกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือจึงไม่เป็นอุปสรรคหรือมีความแปลกแยกใดๆ ต่อการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม 

 

ในประเทศไทย น่าน ถือเป็นจังหวัดที่เราสามารถมองเห็นวัฒนธรรมไทลื้อได้เด่นชัด ทั้งการแต่งกาย อาหารการกิน สถาปัตยกรรม จิตรกรรมฝาผนัง จนกลายเป็นแหล่งรวบรวมวัฒนธรรมไทลื้อที่สำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมไทลื้อหรือไตลื้อในเขตจังหวัดน่านเพิ่งเริ่มปรากฏให้เห็นชัดขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 23-24 ซึ่งตรงกับสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หลังจากไทยได้ขับไล่พม่าออกไปจากล้านนา เชียงแสน และบริเวณภาคเหนือ เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองน่านได้สวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ

 

รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำริให้เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญไปกวาดต้อนผู้คนชาวไทลื้อในเขตสิบสองปันนาลงมาตั้งรกรากในเขตเมืองน่าน เพื่อแก้ปัญหาจำนวนประชากรของเมือง จึงปรากฏวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีแบบไทลื้อในจังหวัดน่านและจังหวัดใกล้เคียงของไทยมาจนถึงปัจจุบัน

 

ด้วยเหตุนี้ชาวไทลื้อจึงกลายเป็นคนพื้นถิ่นของเมืองน่าน และวัฒนธรรมของชาวไทลื้อได้กลายเป็นวัฒนธรรมหลักของเมืองน่าน

 

ศิลปวัฒนธรรมไทลื้อที่สำคัญๆ ในจังหวัดน่าน ได้แก่ วัดหนองบัว และวัดหนองแดง มีสถาปัตยกรรมและภาพจิตรกรรมไทลื้อที่หาดูได้ยาก ปัจจุบันกรมศิลปากรเข้าไปอนุรักษ์ไว้ ภาพจิตรกรรมของวัดภูมินทร์ ซึ่งมีภาพจิตรกรรมที่โด่งดัง เรียกว่า กระซิบรักบรรลือโลก

 

นอกจากนี้ ผ้าทอลายน้ำไหล หรือซิ่นน้ำไหล ซิ่นขาก่าน ซิ่นม่าน ของชาวไทลื้อยังได้สร้างชื่อเสียงให้กับเมืองน่าน และกลายเป็นชุดพื้นเมืองประจำจังหวัด ผู้คนนิยมแต่งกายในงานบุญ หรือโอกาสงานสำคัญ

 

ปัจจุบันการแต่งกายแบบไทลื้อยังแพร่หลายไปในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ ซึ่งเรียกเหมารวมการแต่งกายแบบไทลื้อนี้ไปว่า การแต่งกายแบบล้านนา 

 

นับได้ว่าเมืองน่านเป็นจังหวัดหนึ่งที่ ชาวไทลื้อ หรือ ไตลื้อ กลุ่มชนชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไทยอาศัยอยู่มาก จึงมีวัฒนธรรมประเพณีที่น่าสนใจ มีการรักษาและสืบทอดขนบประเพณีของตน ทั้งเรื่องการแต่งกาย พิธีกรรม มาจนถึงทุกวันนี้ 

ชวนเที่ยวแม่น้ำอ้อม จังหวัดนนทบุรี

วันที่ออกอากาศ: 14 ธันวาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

เมืองนนทบุรีมีพื้นดินที่มีความสมบูรณ์มากเหมาะสำหรับการทำสวนปลูกพืชผลได้เป็นอย่างดี เป็นแหล่งสวนผลไม้ที่โด่งดังมากมาตั้งแต่สมัยอยุธยา อยู่ในพื้นที่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างไหลผ่านไปจนถึงลุ่มแม่น้ำแม่กลอง มีการทำสวนผลไม้สลับกับที่นาไปโดยตลอด

 

อย่างไรก็ตาม แม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่ไหลผ่านเมืองนนทบุรีมีความคดเคี้ยวมากจนเป็นอุปสรรคต่อความเจริญเติบโตทางการค้าในสมัยอยุธยา ในสมัยอยุธยาต้นนับตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นต้นมา จึงมีนโยบายขุดคลองลัดแม่น้ำเพื่อย่นระยะทางและสะดวกต่อการเดินเรือขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนเส้นทางมาเข้าคลองลัด ต่อมาคลองลัดก็ขยายตัวเป็นแม่น้ำขณะที่แม่น้ำสายเดิมก็เล็กลงจนกลายเป็นคลอง

 

ในเมืองนนทบุรีบริเวณแม่น้ำที่ไหลคดเคี้ยวซึ่งได้กลายไปเป็นคลองหลังจากการขุดคลองลัด ยังคงมีชุมชนที่ผู้คนตั้งถิ่นฐานยังอย่างหนาแน่น โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันตกของเมืองนนทบุรีที่ปัจจุบันเรียกว่า คลองอ้อมนนท์ เป็นบริเวณที่น่าท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจอย่างยิ่ง รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ทางโบราณคดี

 

คลองอ้อมนนท์ หรือตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่ยังคงเรียกแม่น้ำอ้อม มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปากคลองบางกรวยตรงข้ามวัดเขมาภิรตารามในเขตอำเภอเมืองนนทบุรี ไหลไปจนถึงบริเวณบ้านบางศรีเมืองเลยวัดเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้นไปเล็กน้อยก่อนถึงสะพานพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณนั้นคือปากคลองของแม่น้ำอ้อมทางด้านทิศเหนือ

 

เท่ากับว่าบริเวณปากคลองทิศเหนือตรงบ้านบางศรีเมืองจนถึงปากคลองบางกรวย ซึ่งปัจจุบันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ก็คือคลองลัดที่ขุดในปี 2479 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ตามพระราชดำริว่า แม่น้ำเจ้าพระยาไหลอ้อมเหลือเกิน เรือแพที่เป็นเรือสินค้าของต่างชาติเกิดปัญหามากที่จะเข้าไปไม่ถึงพระนครศรีอยุธยา จึงให้ขุดคลองลัดปากทางทั้งสอง ซึ่งแม่น้ำนั้นไหลเป็นรูปตัวยูปัจจุบันวัดระยะทางได้ประมาณ 17.5 กิโลเมตร ภายหลังก็กลายเป็นคลองอ้อมไป

 

บริเวณแม่น้ำอ้อมหรือคลองอ้อมนี้เป็นบริเวณที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในทางประวัติศาสตร์โบราณคดี เป็นแหล่งรวบรวมงานศิลปกรรมโบราณ แหล่งกำเนิดของนิทานพื้นบ้าน รวมถึงเป็นเส้นทางกวีนิราศที่เราสามารถเห็นประเพณีวิถีชีวิตไทยแบบดั่งเดิม ซึ่งมีอายุตั้งแต่สมัยต้นอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ 

 

ตลอดระยะทางราว 17 กิโลเมตร มีวัดโบราณสมัยอยุธยาตอนต้นจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์กว่า 60 แห่งตั้งอยู่ทั้ง 2 ฝั่งคลอง ซึ่งยังคงมีร่องรอยของงานศิลปกรรมโบราณในสภาพดี ทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม และงานประณีตศิลป์ให้ศึกษาได้ในทุกวัด

 

วัดสำคัญๆ ได้แก่ วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระชนกชนนีในกรมสมเด็จพระศรีสุราลัยพระบรมราชชนนี สามารถชมงานศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ได้

 

วัดประชารังสรรค์ เดิมชื่อวัดย่าไทร มีพระพุทธรูปซึ่งชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อหิน แกะสลักจากหินทรายสีแดง และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารเก่า

 

วัดปรางค์หลวง ซึ่งมีพระปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้นเป็นถาวรวัตถุสำคัญ มีตำนานเล่าขานเรื่องท้าวอู่ทองอพยพผู้คนหนีโรคห่าจากเมืองอู่ทองมาตั้งอยู่บริเวณวัดปรางค์หลวง ซึ่งชาวบ้านเล่าขานสืบกันมานับศตวรรษ

 

วัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ วัดปราสาท มีอุโบสถสมัยราชวงศ์บ้านภูหลวง เป็นอุโบสถตกท้องช้างทั้งยังเป็นโบสถ์มหาอุต มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาสกุลช่างนนทบุรีซึ่งปัจจุบันลบเลือนลงไปมากแล้ว 

 

ปัจจุบัน กรมศิลปากรเข้าไปอนุรักษ์และขึ้นทะเบียนวัดหลายแห่งบริเวณคลองอ้อมนนท์เป็นโบราณสถานแล้ว หากสนใจจะไปเที่ยวชมวัดโบราณและวิถีชีวิตไทยตาม 2 ฝั่งคลองอ้อม ก็สามารถจ้างเรือหางยาวซึ่งเป็นเรือรับผู้โดยสารจากท่าน้ำนนทบุรี

จังหวัดอุตรดิตถ์

จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นเมืองสงบๆ แต่มีลักษณะวัฒนธรรม วิถีชีวิต ตลอดจนศิลปะที่น่าสนใจ เนื่องจากตั้งอยู่บนรอยต่อระหว่างพื้นที่ภาคกลางและพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งได้มีการผสมผสานวัฒนธรรมทั้ง 2 ภาค จนกลายเป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ของเมืองอุตรดิตถ์

 

เมืองอุตรดิตถ์เกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นการรวม 3-4 หัวเมืองเล็กๆ ได้แก่ เมืองทุ่งยั้ง เมืองลับแล เมืองฝางหรือสวางคบุรี และเมืองพิชัย หากพิจารณาสภาพภูมิศาสตร์ของที่ตั้งเมือง เมืองนี้อยู่ไม่ไกลจากเมืองสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย จังหวัดที่ต่อขึ้นไปจากอุตรดิตถ์ คือ แพร่ และ น่าน ซึ่งตรงนั้นเป็นหัวเมืองของล้านนาในยุคพระเจ้าติโลกราช

 

อุตรดิตถ์จึงเป็นเมืองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างอิทธิพล 2 ฝ่าย คือ ไทยสยาม และ ไทยล้านนา ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นวัฒนธรรมที่มีความปะปนกันอยู่ ความเป็นเมืองรอยต่อระหว่างวัฒนธรรมไทย 2 กลุ่ม ทำให้อุตรดิตถ์เป็นแหล่งงานศิลปะของทั้งแบบล้านนา แบบไทยภาคกลาง รวมถึงงานศิลปะที่ผสมผสานกัน

 

อย่างเช่นพระพุทธรูปของวัดท่าถนนในเขตอำเภอเมือง เป็นพระพุทธรูปล้านนาแบบเชียงแสนสิงห์ในยุคที่อาณาจักรล้านนามีความรุ่งเรืองมาก เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเรียกกันว่า หลวงพ่อเพชร ซึ่งมีความงดงามมาก จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เชิญลงมาประดิษฐานไว้ในวัดเบญจมบพิตรในช่วงเวลาหนึ่ง

 

หลวงพ่อเพชรนี้ไม่ได้เป็นพระพุทธรูปล้านนาองค์เดียวที่มาปรากฏอยู่ในเมืองอุตรดิตถ์ ยังอีกหลายองค์ตามวัดต่างๆ แต่ขณะเดียวกันก็พบพระพุทธรูปสุโขทัยในจำนวนที่มากพอๆ กันตามวัดเก่าต่างๆ ในเมืองอุตรดิตถ์ โดยส่วนหนึ่งนำมาจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานจังหวัดน่าน

 

วัดกลาง เป็นวัดโบราณในเมืองอีกแห่งที่น่าสนใจ สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา พระอุโบสถเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายในยุคพระเจ้าบรมโกศ แต่จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถเป็นศิลปะในยุคต้นรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสำคัญกับเมืองอุตรดิตถ์ ต่อเนื่องจากสมัยอยุธยามาถึงรัตนโกสินทร์ 

 

เมืองสวางคบุรี เป็นหนึ่งในหัวเมืองที่รวมเข้ามาเป็นจังหวัดอุตรดิตถ์ เดิมมีชื่อว่าเมืองฝาง ต่อมาในสมัยอยุธยาจึงได้ชื่อเมืองว่าสวางคบุรี วัดสำคัญของเมืองนี้ปัจจุบันมีชื่อว่า วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน มีพระธาตุเจดีย์ทรงลังกาเป็นศูนย์กลาง

 

สันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะมีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย ซึ่งมีอิทธิพลของลัทธิลังกาวงศ์เข้าไป รัชกาลที่ 5 ทรงได้พระพุทธรูปทรงเครื่องจักรพรรดิสมัยอยุธยาตอนปลายมาจากวัดแห่งนี้ชื่อว่า พระฝาง ซึ่งปัจจุบันได้อัญเชิญกลับมาประดิษฐานไว้ที่วัดตามเดิมแล้ว 

 

เมืองลับแล เป็นเมืองโบราณอีกแห่งหนึ่งของอุตรดิตถ์ มีวัดโบราณ 2 แห่งที่แสดงให้เห็นถึงงานศิลปะตั้งแต่ยุคอยุธยามาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ รวมทั้งมีศิลปะล้านนาปะปนมาด้วย  ได้แก่ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง และวัดพระแท่นศิลาอาสน์ วัดทั้งสองแห่งนี้มีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคสุโขทัยและยังคงมีความสำคัญอยู่ในปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม ศิลปะยุคสุโขทัยในวัดทั้งสองแห่งนี้สูญหายไปหมดแล้ว เนื่องจากการก่อสร้างตกแต่งในยุคต่อๆ มา แต่พบหลักฐานที่แสดงว่าเมืองลับแลมีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคสุโขทัยจากการปรากฏชื่อในจารึกยุคพระมหาธรรมลิไท ตัววิหารของวัดพระแท่นและโบสถ์วิหารในวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ล้วนเป็นศิลปะยุคอยุธยาที่ปนกับลักษณะวิหารแบบล้านนา ซึ่งปนกันได้สัดส่วนจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

 

นอกจากนี้ ทั้งวัดบรมธาตุทุ่งยั้งและวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ถือเป็นปูชนียสถานสำคัญมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยในรัชกาลที่ 3-4 โปรดให้พระราชทานเงินหลวงและช่างหลวงมาช่วยในการบูรณะวัด โดยเฉพาะวิหารหลวงของวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งนั้น มีงานจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ปัจจุบันนี้ลบเลือนไปมากพอสมควร 

ของดีเมืองชัยนาท

วันที่ออกอากาศ: 15 มกราคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

เมืองชัยนาท มีอดีตอันยาวนานนับตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนมามีฐานะเป็นหนึ่งในเมืองลูกหลวงเมื่อครั้งสมัยอยุธยาตอนต้น และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะศูนย์การกระจายอำนาจของเชื้อพระวงศ์อยุธยาสายสุพรรณภูมิ

 

ราชวงศ์สุพรรณภูมิมีบทบาทในการสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติผ่านการแต่งงานของเชื้อพระวงศ์ เพื่อรวมแผ่นดินสุโขทัยเข้ากับรัฐใหม่อย่างอยุธยาเข้าเป็นแผ่นดินเดียวกัน เดิมศูนย์กลางอำนาจของสุพรรณภูมิอยู่ที่สุพรรณบุรีในปัจจุบัน ต่อมาได้กระจายอำนาจไปยังเมืองชัยนาท รวมทั้งเมืองสรรคบุรีและเมืองแพรกศรีราชา ซึ่งปัจจุบันรวมอยู่ในเขตจังหวัด

 

ถ้ามองกลุ่มเมืองชัยนาทเหล่านี้ตามพิกัดภูมิศาสตร์ ก็คือเมืองบริเวณรอยต่อระหว่างเขตแดนของสุโขทัยกับแคว้นอยุธยา ซึ่งอาจจะเป็นหน้าด่านของสุโขทัย หรือหน้าด่านของสุพรรณภูมิเดิม ความรุ่งเรืองในอดีตของชัยนาทนี้ ยังพบสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นร่องรอยที่ยืนยันได้มาจนถึงปัจจุบัน

 

วัดสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเมืองขนาดใหญ่ของชัยนาท ได้แก่ วัดธรรมามูลวรวิหาร ตั้งอยู่บนเชิงเขาริมแม่น้ำเจ้าพระยานอกเขตอำเภอเมือง ปัจจุบันมีฐานะเป็นอารามหลวงประจำจังหวัด หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญในวัดแห่งนี้ คือ ใบเสมาของพระอุโบสถ ระบุว่าเป็นเสมาแบบอยุธยาตอนต้น แกะสลักจากหินทรายแดง มีลวดลายที่ประดับบนใบเสมา ยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เป็นหลักฐานที่ยืนยันถึงอิทธิพลของเจ้านายสายสุพรรณภูมิในพื้นที่

 

นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติองค์ใหญ่ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อธรรมจักร ด้วยที่ฝ่าพระหัตถ์แกะสลักเป็นรูปธรรมจักร มีความพิเศษตรงพุทธลักษณะที่ก่ำกึ่งระหว่างศิลปะอู่ทองหรืออยุธยากับศิลปะสุโขทัย ส่วนพระพักตร์กับรูปร่างคล้ายกับพระพุทธรูปอู่ทอง แต่พระเศียรและพระรัศมีสะท้อนให้เห็นธรรมเนียมของการสร้างพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยที่เรียกว่า พระอัฏฐารส ซึ่งลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้ก็เหมือนกับลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์ของเมืองชัยนาทที่แบ่งครึ่งกันได้พอดีระหว่าง 2 เมืองนี้ 

 

วัดสำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ พระบรมธาตุชัยนาท ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง เป็นพระเจดีย์ทรงปราสาทมียอดสูงใหญ่ 1 ยอด และเจดีย์ยอดเล็กๆ รายล้อม มีความสำคัญต่อประเพณีหลวงสำหรับการทำพลีกรรมตักน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งมีบ่อน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในการประกอบน้ำสงฆ์มูรธาภิเษกสำหรับพระมหากษัตริย์

 

นอกจากนี้ในบริเวณวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงโบราณวัตถุ โดยท่านเจ้าคุณพระชัยนาทมุนี อดีตเจ้าอาวาสได้มอบไว้ก่อนมรณภาพ กรมศิลปากรจึงจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนีขึ้น

 

ในอำเภอสรรคบุรี ก็เป็นเมืองแต่ดั้งเดิมที่มีความสำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้น เมืองสรรคบุรีมีวัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลาง พระมหาธาตุที่วัดนี้เป็นพระปรางค์ ปัจจุบันได้ปรักหักพังลงแล้ว แต่ยังมีเจดีย์ที่เรียงรายเป็นแถวให้เห็นอยู่ มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์เจ็ดแถวที่เมืองศรีสัชนาลัย มีทั้งพระเจดีย์ทรงลังกา ทรงปราสาท ตลอดจนพระปรางค์ที่เป็นเอกลักษณ์ของอโยธยา เรียกว่า ปรางค์กลีบมะเฟือง ซึ่งยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดที่สามารถหาชมได้

 

ในบริเวณวัดยังมีพระพุทธรูปเก่าลักษณะสุโขทัยอยู่ 2-3 องค์ จึงเห็นได้ว่าเป็นวัดที่ค่อนข้างใหญ่และคงมีความสำคัญในอดีตไม่น้อย 

 

ในอำเภอสรรคบุรียังมีเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัยอยู่ที่วัดโตนดหลาย ใกล้กับวัดมหาธาตุ และมีพระเจดีย์ใหญ่แบบอโยธยา เป็นพระเจดีย์ทรงลังกาที่มีฐานสูงชะลูด มีทรวดทรงงดงามมากจนกล่าวกันว่า เป็นราชินีแห่งเจดีย์ อยู่ในวัดพระแก้ว บริเวณเขตเทศบาลของอำเภอ โดยศิลปวัตถุที่มีอยู่ปะปนกันทั้งแบบอยุธยาและสุโขทัย ก็แสดงว่าสุโขทัยได้เข้ามามีบทบาทกับเมืองสรรคบุรีมากพอสมควร 

 

ในจังหวัดชัยนาทไม่ได้มีเพียงวัดหรือโบราณสถานเท่านั้น ยังมีเขื่อนเจ้าพระยาที่น่าเที่ยวชมและมีร้านอาหารอร่อยอยู่หลายแห่ง ของดีเมืองชัยนาทอีกอย่างก็คือ ส้มโอขาวแตงกวา มีรสชาติอร่อยมาก 

กว่าจะเป็นแม่ฮ่องสอน

วันที่ออกอากาศ: 1 กุมภาพันธ์ 2558
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พื้นที่บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีภูมิประเทศเป็นหุบเขา ทำให้ตัวเมืองมักตั้งอยู่ในหุบเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่าน จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า อาณาบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีร่องรอยของมนุษย์อยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์

 

ยิ่งมีการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งใหม่ๆ ก็ยิ่งพบหลักฐานที่อายุเก่าแก่มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันพบหลักฐานที่มีอายุเกินกว่าหมื่นปีแล้ว อาทิ โลงศพที่ทำจากไม้ซุงในถ้ำผีแมน แกลบข้าวที่แสดงถึงภูมิปัญญาในการปลูกข้าวเป็นธัญญาหาร เป็นต้น 

 

อำเภอสำคัญๆ ของแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน เช่น อำเภอขุนยวม อำเภอปาย อำเภอแม่เสลียง หรือแม้กระทั่งตัวอำเภอเมือง เกิดขึ้นมาจากกระบวนการขยายอาณาเขตของอาณาจักรล้านนา

 

การแสวงหาทรัพยากรต่างๆ แร่ธาตุ ป่าไม้ ตลอดจนทรัพยากรบุคคล ซึ่งหมายถึงการรวบรวมคนในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มคนไทยวนของล้านนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านกำลังคนของอาณาจักรล้านนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20 เนื่องจากกำลังเผชิญกับการคุกคามจากอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยา รวมถึงการขยายอิทธิพลของราชวงศ์พม่า

 

อย่างไรก็ตาม จังหวัดแม่ฮ่องสอนในปัจจุบันมีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนในกลุ่มชาติพันธุ์ฉานหรือไทใหญ่ อันเนื่องมาจากการอพยพของชาวไทใหญ่จากความผันผวนทางการเมืองภายในรัฐฉานในระยะหลัง

 

ราวปลายปีพุทธศตวรรษที่ 24 ช่วงที่แม่ฮ่อนสอนกำลังเข้าสู่ยุคชุมชนเมือง สมัยเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์เป็นผู้ปกครองล้านนา เกิดการสู้รบกันในรัฐไทใหญ่ทำให้ชาวไทใหญ่กลุ่มหนึ่งอพยพข้ามแม่น้ำสาละวินเข้ามาอาศัยอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ บริเวณที่เป็นเมืองแม่ฮ่องสอนปัจจุบัน อาทิ บ้านแม่ร่องสอน ปางหมู ขุนยวม ปาย

 

มีผู้นำชาวไทใหญ่ชื่อ ชานกะเล ซึ่งเป็นทหารในกองทัพของเจ้าฟ้าโกหล่าน เจ้าฟ้าไทใหญ่นครหมอกใหม่ ไม่เห็นด้วยกับการยกทัพไปสู้รบกับเมืองเชียงของ ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองในพระราชอาณาเขตของสยามแล้ว จึงลอบพาผู้คนหนีจากเมืองหมอกใหม่อพยพมาอยู่ที่บ้านแม่ร่องสอน ในเวลาต่อมาเจ้าฟ้าโกหล่านเองก็ต้องอพยพมาอยู่เมืองปายด้วยรบแพ้ต่อเจ้าเมืองไทใหญ่คนอื่นๆ 

 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ราวปี พ.ศ. 2443 รัฐบาลได้รวมเมืองขุนยวม เมืองปาย เป็นเมืองใหญ่เมืองเดียวกันคือเมืองแม่ฮ่องสอน จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 จึงยกฐานะเมืองแม่ฮ่องสอนขึ้นเป็นเมืองชั้นจัตวาในสังกัดมณฑลพายัพ มีการแต่งตั้งข้าราชการทำหน้าที่เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนจากรัฐบาลไทย คือ พระศรสุรราช (เปลื้อง) ถือว่าท่านดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนแรก ในช่วงพ.ศ. 2484-2488

 

แม่ฮ่องสอนถือเป็นหนึ่งในจังหวัดของประเทศสยามที่มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์สงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านเข้ามาในเขตอำเภอขุนยวมเพื่อที่จะข้ามไปยังประเทศพม่า จนกระทั่งญี่ปุ่นแพ้สงครามก็ถอนทัพกลับมาเมืองขุนยวม ซึ่งชาวเมืองให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี

 

ด้วยความซาบซึ้งในมิตรไมตรีรัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้มาก่อตั้งอนุสรณ์สถานแห่งมิตรภาพไทยญี่ปุ่นที่อำเภอขุนยวม ปัจจุบันตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงวัตถุและภาพถ่ายเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามเอเชียบูรพาของเมืองขุนยวม

 

นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2488 ถือว่าแม่ฮ่องสอนได้วิวัฒนาการขึ้นมาเป็นหนึ่งในจังหวัดของประเทศไทยโดยสมบูรณ์ แต่มีปัญหาการคมนาคมที่ไม่สะดวก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงทรงบุกเบิกพัฒนาพื้นที่บริเวณที่สูงของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทรงพัฒนาวิถีชีวิตของชนกลุ่มน้อยตามโครงการพระราชดำริ ทั้งทรงสร้างพระราชนิเวศที่ประทับคือ พระราชนิเวศปางตอง ในช่วงที่เสด็จแปรพระราชฐาน ทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เมืองเสมา (โคราชเก่า)

วันที่ออกอากาศ: 5 กุมภาพันธ์ 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

เมืองเสมา เป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา แต่เมืองเสมานี้ คือจุดกำเนิดของเมืองนครราชสีมา หรือ โคราช ในปัจจุบัน

 

จากร่องรอยศิลปวัตถุที่สำรวจพบ พบว่าเป็นเมืองโบราณที่มีอายุยาวนานตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 12 จนถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง มีการสันนิษฐานว่าเป็นเมืองเดียวกับที่ปรากฏชื่อในจารึกของอาณาจักรกัมพูชา คือ โคราฆปุระ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นที่มาของคำว่าโคราช 

 

จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่วัฒนธรรมแรกที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาในพื้นที่นี้ คือ วัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งแพร่วัฒนธรรมพุทธศาสตร์จากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำป่าสัก บริเวณรอยต่อระหว่างที่ราบลุ่มภาคกลางกับที่ราบสูงโคราช ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเสมา

 

ปัจจุบันมีศิลปวัตถุแบบทวารวดีที่น่าสนใจอยู่ใน วัดธรรมจักรเสมาราม อำเภอสูงเนิน ซึ่งพบพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ สร้างในพุทธลักษณะทวารวดี กำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 มีความยาว 13.30 เมตร สูง 2.80 เมตร สร้างด้วยการนำหินทรายแดงมาก่อขึ้นแล้วแกะสลักเป็นพระพุทธรูป และยังพบหลักเสมา ซึ่งน่าจะเป็นเขตอุโบสถเดิม

 

นอกจากนั้น ยังได้พบธรรมจักรแกะสลักจากหินทรายในศิลปะทวารวดี เป็นธรรมจักรขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายคลึงกับธรรมจักรที่พบในเขตเมืองนครปฐม 

 

เมื่อวัฒนธรรมทวารวดีเสื่อมลง วัฒนธรรมของอาณาจักรกัมพูชาโบราณก็ได้เข้ามาเจริญรุ่งเรืองจนถึงที่ราบลุ่มภาคกลาง ซึ่งได้สำรวจพบปราสาทหินเขมรหลายแห่งในเมืองเสมา โดยโบราณสถานที่เป็นศูนย์กลางของเมืองเป็นศาสนสถานพราหมณ์แบบเขมร แม้ปรักหักพังเหลือแต่ฐานอิฐ แต่ก็สำรวจพบศิลปวัตถุรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งแสดงว่าวัฒนธรรมเขมรเข้ามามีอิทธิพลแทนที่ในเมืองนี้ด้วย

 

นอกจากนี้ มีปราสาทหิน 2 แห่ง ได้แก่ ปราสาทเมืองแขกและปราสาทโนนกู่ โดยปราสาทเมืองแขกมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ ได้รับการขุดแต่งและบูรณะโดยกรมศิลปากร เรียกได้ว่าเป็นปราสาทหินเขมรแห่งแรกที่สามารถพบได้ในการเดินทางมาจากกรุงเทพ

 

ในพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา วัฒนธรรมไทยสยามซึ่งมีตัวแทนคือพระนครศรีอยุธยา ได้เจริญขึ้นมาแทนในพื้นที่ภาคกลาง เมืองเสมายังมีฐานะสืบต่อมาในสมัยอยุธยาตอนต้น คำว่า เสมา ได้กลายเป็นคำท้ายนามของเมืองนครราชสีมา

 

จนมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ด้วยมีพระราชดำริในทางยุทธศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ โปรดเกล้าให้ย้ายเมืองนครราชสีมาไปสร้างใหม่ในบริเวณพื้นที่ของอำเภอเมืองในปัจจุบัน ทำให้เมืองเสมาถูกทิ้งร้างจนกลายสภาพเป็นซากโบราณสถาน 

 

อย่างไรก็ตาม ร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ทำให้ทราบว่า เมืองเสมา เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีความคึกคัก มีวัฒนธรรมทางศาสนาที่บูรณาการมาจากวัฒนธรรมอินเดียที่หลากหลาย ด้วยเป็นเมืองชุมทางของการเดินทางติดต่อระหว่างที่ราบภาคกลางกับเขตที่ราบสูงโคราช เป็นเส้นทางเชื่อมไปทางลาวหรือพื้นที่อีสานตอนบน หรือเชื่อมออกไปทางกัมพูชา

 

เป็นเมืองที่อาจจะเทียบเคียงได้กับเมืองพิมายที่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรว่าปกครองโดยเจ้านายที่มีเชื้อสายจากเมืองพระนคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรกัมพูชา สันนิษฐานกันว่า เมืองเสมาเองน่าจะมีฐานะใกล้เคียงกัน เพราะมีการสร้างปราสาทหินขนาดใหญ่จำนวนมาก 

 

จากหลักฐานต่างๆ ที่แสดงให้เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมในเมืองเสมานี้ เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจที่ทำให้เราตระหนักได้ว่า วัฒนธรรมไทยภาคกลางที่เป็นวัฒนธรรมกระแสหลักในทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นการรังสรรค์วัฒนธรรมขึ้นมาใหม่โดยไม่มีรากฐานอะไรรองรับ แต่ความเป็นเราในทุกวันนี้ มาจากการหล่อหลอมวัฒนธรรมโบราณที่หลากหลาย ทั้งจากภายในและภายนอกที่ราบภาคกลาง

เมืองโบราณดงละคร

วันที่ออกอากาศ: 1 มิถุนายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

เมืองดงละคร เป็นเมืองโบราณสำคัญตั้งอยู่ในตำบลดงละคร อำเภอเมืองนครนายก โดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2478 เป็นเมืองโบราณที่มีสันฐานรูปไข่เกือบเป็นวงกลมมีอายุสืบได้ตั้งแต่ยุคทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 10-18

 

ปรากฎร่องรอยของคูน้ำคันดิน 2 ชั้น ตัวเมืองครอบคลุมอาณาบริเวณประมาณ 3,000 ไร่ เส้นผ่านศูนย์กลางของเมืองกว้างประมาณ 700-800 เมตร พื้นที่ในตัวเมืองส่วนหนึ่งเป็นเนินสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 30 เมตร

 

ปัจจุบันยังคงมีร่องรอยซากโบราณสถานปรากฎอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ใหญ่โตสมบูรณ์มากนักเมื่อเทียบกับโบราณสถานทวารวดีแห่งอื่นๆ อย่างเช่น นครปฐม อู่ทอง คูบัว หรือศรีเทพ

 

โบราณสถานสำคัญในเมืองดงละครมีอยู่ประมาณ 3-4 แห่ง แต่ไม่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ คงเหลือเพียงฐานรากและซากปรักหักพัง โบราณสถานหมายเลข 1 ตั้งอยู่นอกตัวเมือง เหลือเพียงแค่ฐานรากที่มีลักษณะคล้ายกำแพงแก้ว ก่ออิฐดินเผา มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางมีฐานรูปเคารพ 2 ฐาน

 

ในบริเวณดังกล่าวยังพบซากของสถูปโบราณแบบทวารวดีสร้างอยู่ใกล้เคียงกัน ถือเป็นโบราณสถานหมายเลข 2 ซึ่งในบริเวณโบราณสถาน 2 แห่งนี้ กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีร่วมกับภาควิชาโบราณคดีของมหาวิทยาลัยไวกาโต (Waikato) ประเทศนิวซีแลนด์

 

พบศิลปวัตถุยุคทวารวดีเป็นจำนวนมาก อาทิ พระพุทธรูป เศียรพระพุทธรูปทองคำ แหวน กำไร ตุ้มหู ลูกปัดหิน เครื่องประดับชนิดต่างๆ ซึ่งบ่งบอกวัฒนธรรมยุคทวารวดี ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิทธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี

 

จุดที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งคือสระน้ำโบราณ ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางทิศเหนือ เป็นสระน้ำที่ขุดในบริเวณที่มีศิลาแลงที่เรียกว่า บ่อแลง สันนิษฐานว่าน่าเกิดจากการขุดเอาศิลาแลงไปใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างศาสนสถานหรือเชิงเทินกำแพงเมือง ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นมีความลึกจนสามารถกักเก็บน้ำได้

 

ในคำอธิบายของกรมศิลปากรกล่าวว่าเป็นสระน้ำสำหรับให้ชาวเมืองชำระร่างกายก่อนที่เข้าเมือง หรือใช้เป็นปราการสำหรับป้องกันข้าศึกโจมตีประตูเมืองทางทิศเหนือ

 

จากการศึกษาทางธรณีวิทยาพบว่าในอดีตขอบชายทะเลฝั่งอ่าวไทยอยู่ลึกเข้าไปจนถึงสิงห์บุรีและลพบุรี เมื่อเปรียบเทียบกับแผนที่โบราณของสมัยทวารวดีจะพบว่ามีเมืองโบราณต่างๆ ในยุคทวารวดีตั้งอยู่โดยรอบขอบทะเลอ่าวไทยในสมัยอดีต เรียงรายต่อเนื่องกันจากทิศตะวันตกของอ่าวไทย

 

ตั้งแต่เมืองโบราณบริเวณเชิงเขานางพันธุรัตน์ อำเภอชะอำ  เมืองโบราณคงตึก เมืองโบราณคูบัว เมืองอู่ทอง เมืองนครปฐม วกลงมาสู่ฝั่งตะวันออกมีเมืองลพบุรี เมืองซับจำปา ลงมาสู่เมืองในลุ่มแม่น้ำนครนายก ได้แก่ เมืองโบราณดงละคร เมืองศรีมโหสถ และเมืองพระรถ จึงมองเห็นเครือข่ายกลุ่มเมืองของอาณาจักรทวารวดีเป็นรูปโค้งเว้ารอบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน

 

เมืองโบราณดงละครในสมัยทราวดีจึงเป็นเมืองที่อยู่ใกล้ทะเล จากหลักฐานทางโบราณคดีอย่างเช่นเศษเครื่องถ้วยชามที่พบในเมืองโบราณดงละครซึ่งเคลือบสีฟ้าอ่อน นักโบราณคดีพบว่าเป็นเครื่องถ้วยชามจากเปอร์เซีย มีแหล่งผลิตอยู่ที่เมืองชีราซในประเทศอิหร่านปัจจุบัน

 

ลูกปัดหินต่างๆ ก็ถือสินค้านำเข้าของยุคนั้น จึงสรุปได้ว่าเมืองดงละครน่าจะเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในเครือข่ายเส้นทางการค้าทางทะเลระหว่างอินเดียกับจีนในสมัยโบราณ  

เมืองดงละครยังคงดำรงอยู่มาอย่างน้อยถึงยุคที่อารยธรรมเขมรขยายอิทธิพลเข้าครอบคลุมบริเวณลุ่มแม่น้ำนครนายก เนื่องจากพบศิลปวัตถุเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนามหายานและมีรูปแบบงานศิลปกรรมเขมรแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

 

ภายหลังเมืองดงละครก็ได้ล่มสลาย ซึ่งนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำนครนายกที่เปลี่ยนเส้นทางน้ำไหลห่างไกลออกไปจากตัวเมือง ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ เมืองดงละครจึงเสื่อมความสำคัญลงไป

โบราณสถานในเมืองตาก

วันที่ออกอากาศ: 21 ตุลาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์ 

 

 

ตาก เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในหุบเขา ตัวเมืองอยู่บนเนินสูง มีแม่น้ำปิงไหลผ่านทางด้านหนึ่ง ด้านทางทิศตะวันตก มีเทือกเขาถนนธงชัยเป็นแนวต่อลงไปยังเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเขตพรมแดนระหว่างประเทศไทย และพม่า มาตั้งแต่โบราณ

 

จากหลักฐานทางโบราณคดี พบการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในพื่นที่จังหวัดตาก นับย้อนไปได้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้มีแหล่งน้ำบริบูรณ์จากแม่น้ำปิง และได้ทรัพยากรธรรมชาติจากป่าเขาเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์

 

ก่อนการเกิดรัฐสุโขทัยที่เป็นประชาคมของคนไทยนั้น มีตำนานที่กล่าวถึงความเป็นมาของเมืองตาก ว่าเคยเป็นประชาคมของคนเชื้อสายมอญมาก่อน โดยการกล่าวถึงพระนางจามเทวีของนครหริภุญชัย ซึ่งมีเชื้อสายมอญ

 

ทรงพบร่องรอยของกำแพงเมือง และซากเมือง บริเวณเมืองตากระหว่างเสด็จเดินเรือกลับจากละโว้ จึงทรงสถาปนาเมืองขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้ ในตำนานปรัมปราที่เล่าสืบทอดกันมาของกลุ่มเมืองต่างๆ ของจังหวัดตาก ล้วนมีการเชื่อมโยงการสร้างบ้านสร้างเมือง เข้ากับพระนามจามเทวีทั้งสิ้น

 

เมืองตากมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางเดินทัพ และการรบทัพจับศึกต่างๆ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงต้นรัตนโกสินทร์ เดิมทีตัวเมืองตากตั้งอยู่บริเวณอำเภอบ้านตากปัจจุบัน โดยมีพระธาตุเจดีย์คือ วัดพระบรมธาตุ เป็นศูนย์กลางของเมือง

 

บริเวณบ้านตากนี้เป็นเมืองตั้งอยู่บนที่สูงมีดอย และภูเขาลูกเล็กๆ โดยรอบ จึงมีชัยภูมิที่ดี เหมาะแก่การป้องกันการโจมตีของข้าศึกศัตรู แต่ต่อมาได้มีการย้ายทำเลที่ตั้งตัวเมืองอยู่หลายครั้ง อันเนื่องมาจากความห่างไกลจากแหล่งน้ำ

 

ในรัชกาลพระมหาธรรมราชา สมัยอยุธยา ทรงย้ายตัวเมืองมาที่บริเวณสบวัง ซึ่งเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำปิงและแม่น้ำวัง เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายกองทัพ และขนส่งสินค้า

 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 หลังสิ้นสุดสถานการณ์การรบทัพกับพม่า ได้ย้ายตัวเมืองมาอยู่บริเวณบ้านระแหงริมแม่น้ำปิง เพื่อความสะดวกในการขนส่งสินค้า และการคมนาคมติดต่อกับหัวเมืองทางตอนล่าง ซึ่งในคำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวว่าบ้านระแหง แขวงเมืองตาก เป็นจุดรวบรวมสินค้าจากป่าสำหรับส่งไปกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในสมัยนั้น ซึ่งยังคงเป็นที่ตั้งของเมืองตากในปัจจุบันด้วย

 

โบราณสถานต่างๆ ในเมืองตาก มีความหลากหลายทางศิลปกรรมที่ปะปนกันอยู่ ตั้งแต่ศิลปะแบบมอญพม่า ต่อมายังสมัยสุโขทัย อยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ ยังพบศิลปะแบบล้านนาที่เกิดขึ้นในสมัยหลัง

 

เนื่องจากสมัยอยุธยาตอนปลาย จนถึงสมัยธนบุรี มีความพยายามกวาดต้อนผู้คนจากล้านนา ลงมาอาศัยในบริเวณภาคกลางตอนบน และภาคเหนือตอนล่าง เพื่อไม่ให้ล้านนาเป็นจุดสนใจของพม่าอีก ดังนั้น ธรรมเนียมการสร้างวัดวาอาราม และสถูปเจดีย์ในเมืองตาก จึงมีทั้งลักษณะแบบอยุธยา แบบล้านนา หรือแบบมอญพม่ากระจายอยู่ทั่วเมือง

 

เมืองตากมีโบราณสถานที่มีความน่าสนใจทางศิลปะอยู่หลายแห่ง ทั้งที่ปัจจุบันกลายเป็นวัดร้างไปแล้ว และวัดที่ยังคงมีสถานะสืบมาจนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น

 

วัดบรมธาตุ ซึ่งเป็นวัดศูนย์กลางของตัวเมืองเดิม

 

วัดมณีบรรพต ที่มีรูปแบบศิลปะของอยุธยาต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงประจำจังหวัดตาก

 

วัดเขาแก้ว ที่กลายเป็นวัดร้าง แต่มีความสำคัญในพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ว่าเสด็จมาอธิษฐานเสี่ยงบารมีเมื่อครั้งรับราชการที่เมืองตาก ต่อมาเมื่อปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว ก็ทรงพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงสร้างเสนาอาสนะตามแบบศิลปะปลายอยุธยาที่วัดแห่งนี้

 

นอกจากนี้ ยังมีเจดีย์ยุทธหัตถีเมืองตาก ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย รวมถึงศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเป็นที่สักการะของคนชาวเมืองตาก

จารึกในประเทศไทย ตอนที่ 2

วันที่ออกอากาศ: 1 เมษายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

การทำจารึกในรัฐโบราณของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งอาณาจักรไทยโบราณ ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประกอบการสร้างศาสนสถาน ดังที่เห็นได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี มักจะพบจารึกอยู่ร่วมกับโบราณสถานที่เป็นศาสนสถานด้วย

 

โดยแบบแผนข้อความของจารึกลักษณะนี้ เบื้องต้นจะกล่าวถึงผู้สร้างจารึก ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้รู้บทบาทและประวัติของบุคคลต่างๆ ในยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลของกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ของราชอาณาจักรโบราณ  

 

อย่างการพบพระราชประวัติของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 จากจารึกปราสาทสด๊กก๊อกธม ในจังหวัดสระแก้ว ข้อมูลเกี่ยวกับราชวงศ์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จากจารึกที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา จารึกเกี่ยวกับเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าวรมันที่ 2 จากเขาพนมรุ้ง เป็นต้น

 

หลังจากนั้นก็เป็นการแสดงพระราชประสงค์หรือความประสงค์ของเจ้าของจารึก ว่ามีศรัทธาสร้างถวายให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามลัทธิความเชื่อใด เช่น สร้างถวายพระศิวะในศาสนาพราหมณ์ หรือสร้างเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เป็นต้น 

 

ต่อมาเป็นการกล่าวถึงข้อมูลการดำเนินการก่อสร้างศาสนสถาน เช่น ใครเป็นผู้คุมงาน เกณฑ์คนมาจากที่ใด มีการจัดเตรียมทรัพยากรในการเลี้ยงดูแรงงานอย่างไร หรือมีการสร้างรูปเคารพอะไรบ้างเพื่อประดิษฐานอยู่ในศาสนสถานแห่งนั้น ที่สำคัญที่สุด เป็นการกล่าวถึงการกัลปนาในการสร้างศาสนสถานแห่งนั้น 

 

กษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์ที่เป็นผู้สร้างโบราณสถานเทวสถาน ส่วนใหญ่จะเลือกสร้างเทวสถานพื่นที่ห่างไกลจากชุมชนเดิม ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการขยายอาณาเขตของเมืองหรือราชอำนาจ โดยเมื่อสร้างศาสนสถานนั้นๆ เสร็จก็จะใช้เป็นศูนย์กลางของชุมชน

 

กษัตริย์จะส่งกัลปนาก็คือการอุทิศทรัพยากรทรัพย์สินต่างๆ เช่น  ที่ดิน ผู้คน พราหมณ์และนักบวช ปศุสัตว์ ร่วมถึงการปันส่วนทรัพยากรจากส่วนกลางระหว่างที่ชุมชนใหม่ยังไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เช่น ข้าว พืชพันธุ์ธัญญาหาร หรือผลผลิตผลอื่นๆ ซึ่งข้อมูลต่างๆเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ วิถีชีวิตของบ้านเมือง หรือผลิตผลทางการเกษตรในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี 

 

ข้อความในส่วนสุดท้ายของจารึกประกอบศาสนสถานนั้น มักเป็นข้อความสำหรับอธิษฐาน ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการขอทรัพย์สินเงินทอง ขอให้มีอำนาจบารมี แล้วค่อยๆ ขอในสิ่งที่สูงขึ้นไป เช่น ขอให้เป็นผู้รู้ธรรม เป็นโสดาบัน จนกระทั่งขอให้บรรลุนิพพาน  

 

นอกจากจารึกประกอบการสร้างศาสนสถานแล้ว ยังมีจารึกประเภทอื่นๆ อีก ซึ่งก็มีจารึกประเภทบันทึกเหตุการณ์ ซึ่งจารึกประเภทนี้พบได้ไม่มากนัก โดยจะบอกกล่าวความเป็นไปในบ้านเมือง อย่างเช่น จารึกพ่อขุนรามคำแหง เป็นการเล่าเรื่องบุคคลและเหตุการณ์ในรัชสมัย

 

จารึกวัดป่ามะม่วง ทำให้ทราบความเป็นมาของพระมหาธรรมราชาลิไท ช่วงการเสด็จออกผนวช และเหตุการณ์ในรัชสมัย จารึกวัดศรีชุม บันทึกประวัติของพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์สุโขทัยในสายพ่อขุนผาเมือง พระกรณียกิจในการอุปถัมภ์พุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ การสร้างและบูรณะศาสนสถานต่างๆ ทำให้ได้ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ศิลป์และงานพุทธศิลป์ต่างๆ ในแคว้นสุโขทัย

 

จารึกอีกประเภทหนึ่ง เป็นการบันทึกสรรพวิทยาความรู้ต่างๆ รวมถึงบทสวดมนต์พระคาถาต่างๆ อย่างเช่นจารึกที่วัดโพธิ์ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากจารึกได้หมดบทบาทหน้าที่แล้ว ด้วยมีกระดาษสมุดเข้ามาแทนที่ จึงนิยมบันทึกในลักษณะจดหมายเหตุหรือพงศาวดาร   

 

แม้ว่าธรรมเนียมการสร้างจารึกค่อยๆ หมดความนิยมลงนับตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่ในปัจจุบัน จารึกก็ยังไม่หมดบทบาทลงเสียทีเดียว ยังคงมีธรรมเนียมการวางศิลาฤกษ์ประจำอาคารต่างๆ ให้เห็นได้อยู่มาก ซึ่งถือว่าเป็นจารึกอีกประเภทหนึ่งเช่นกัน

จารึกในประเทศไทย ตอนที่ 1

วันที่ออกอากาศ: 25 มีนาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

จารึก ถือเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคต้นของประเทศไทย นับถอยจากสมัยอยุธยาไปจนถึงยุคสุโขทัย ล้านนา หรือรัฐในแว่นแคว้นโบราณต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่คนไทยจะรวบรวมคนตั้งตนเป็นบ้านเมืองได้ จริงๆ แล้ว การสร้างจารึกถือเป็นวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานนับพันปี

 

จารึกส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทย หรือประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดีย โดยได้หยิบยืมอักษรอินเดียโบราณมาใช้ เช่น ปัลลวะ พราหมี เทวนาครี หรือการนำภาษาอินเดียมาใช้ถ่ายเสียงภาษาพื้นเมือง เช่น ใช้อักษรสันสกฤตเขียนภาษาเขมร ใช้อักษรปัลลวะเขียนภาษามลายู เป็นต้น

 

ยกเว้นจารึกในเวียดนาม ตั้งแต่สมัยก่อตั้งอาณาจักร ไดเวียด ขึ้นมาใหม่ๆ นั้น ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมจีน จึงใช้อักษรจีนมาทำจารึก

 

ต่อมา คนพื้นเมืองในประเทศต่างๆ เหล่านี้ต่างก็ประดิษฐ์อักษรขึ้นจากการประยุกต์ใช้ภาษาที่มีมาแต่ดั่งเดิม แล้วก็นำอักษรเหล่านี้มาใช้ทำจารึกด้วย อย่างเช่นอักษรขอมในกัมพูชา หรือลายสือไทยในยุคพ่อขุนรามคำแหง 

 

วิธีการทำจารึกนั้น จะใช้วัสดุโลหะปลายแหลมจานลงบนพื้นผิวของวัสดุให้ลึกเป็นรอยลงไป ตอกเป็นรูปตัวอักษรเรียงเป็นข้อความ โดยมีวัสดุที่สามารถนำมาใช้ได้หลายชนิด แต่ที่นิยมคือการจารึกบนหิน ซึ่งเรียกว่า ศิลาจารึก หินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เหมาะในการทำจารึกก็มีหลายชนิด เช่น หินทราย หินอ่อน หินสบู่ หินภูเขาไฟ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ โลหะชนิดต่างๆ อย่างเช่น ทองคำ ก็สามารถตีแผ่เป็นแผ่น แล้วก็จารึกลงบนแผ่นทองได้ เรียกกันว่า จารึกลานทอง หรือการจารึกลงไปบนโลหะสัมฤทธิ์ ซึ่งนิยมจารึกในรูปศิลปวัตถุต่างๆ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป ระฆัง เป็นต้น

 

ก่อนการแกะสลักตัวอักษรลงบนวัตถุนั้น น่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่ร่างคำพูดหรือข้อความต่างๆ ที่จะจารึก อาจจะเป็นอาลักษณ์ของราชสำนัก เพราะจารึกส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทยเป็นจารึกของกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ ชนชั้นสูง หรือแม้กระทั่งคหบดีที่มั่งมี

 

ทั้งนี้ สันนิษฐานจากข้อความในจารึกต่างๆ พบว่า ข้อความเหล่านั้นมักเป็นการพรรณนาโดยใช้ภาษาที่สละสลวย  ซึ่งน่าจะผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว จึงเกินวิสัยที่จะใช้วิธีบอกกล่าวแบบปากต่อปาก คำต่อคำ อย่างไรก็ตาม การบันทึกข้อความสั้นๆ อย่างการจารึกบนผนังถ้ำ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะใช้วิธีการเขียนคำบอก

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นผู้บุกเบิกรายแรกๆ ในประเทศไทย ที่ใช้จารึกมาเป็นหลักฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุที่ทรงค้นพบและพยายามศึกษาข้อความในจารึก ได้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนชั้นหลัง

 

ต่อมาได้มีนักโบราณคดีตะวันตกโดยเฉพาะนักวิชาการชาวฝรั่งเศส สนใจเข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยและประเทศใกล้เคียง ก็เป็นการเปิดศักราชของการอ่านจารึกและการใช้ข้อความในจารึกเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์

 

จนในปัจจุบัน การศึกษาจารึกมีการพัฒนาไปสู่ระบบฐานข้อมูลออนไลน์ มีการรวมรวมสำเนาตัวอักษรจากจารึกต่างๆ และถอดข้อความเป็นภาษาไทยโดยคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งผู้สนใจสามารถใช้งานผ่านเวปไซต์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

ความสำคัญของศรีสัชนาลัย

วันที่ออกอากาศ: 2 พฤศจิกายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

เมืองศรีสัชนาลัย เป็นหนึ่งในเมืองศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรสุโขทัยร่วมกับเมืองสุโขทัย ซึ่งสมัยสุโขทัยใช้ระบบการบริหารบ้านเมืองในลักษณะเมืองคู่ ปัจจุบันศรีสัชนาลัยเป็นชื่ออำเภอหนึ่งของจังหวัดสุโขทัย แต่ตัวเมืองเดิมของศรีสัชนาลัยสมัยสุโขทัยนั้น ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของอำเภอศรีสัชนาลัยกับอำเภอสวรรคโลก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีแม่น้ำยมไหลผ่าน

 

จากหลักฐานการสำรวจทางโบราณคดีพบว่า พื้นที่บริเวณนี้มีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์มาอย่างน้อย 3,000 ปี ได้ขุดพบหลุมฝังศพ เครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ตั้งแต่ยุคหินใหม่ ยุคสัมฤทธิ์ ยุคโลหะ และยุคเหล็ก และพบว่าเป็นแหล่งอารยธรรมมนุษย์ซึ่งผ่านความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมมาหลายยุคสมัยต่อเนื่องกันมา

 

ตั้งแต่วัฒนธรรมทวารวดี ผ่านมาสู่ยุคอาณาจักรขอมโบราณ ซึ่งพบหลักฐานทางสถาปัตยกรรมมากมายที่เป็นเทวสถานสมัยขอม อาทิ พระปรางค์ที่วัดเจ้าจันทร์ พระปรางค์ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง ซึ่งอยู่ในตัวเมืองดั้งเดิมก่อนยุคสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย ก่อนมีการขยายเมืองไปทางทิศเหนือและสถาปนาเมืองศรีสัชนาลัยใหม่ขึ้นในสมัยสุโขทัย 

 

จากข้อมูลที่ได้จากจารึกต่างๆ สะท้อนว่าเมืองศรีสัชนาลัยมีความสำคัญรองลงไปจากกรุงสุโขทัย โดยเป็นเมืองที่ประทับของพระมหาอุปราชซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญรองจากพระมหากษัตริย์ หรือเป็นที่ประทับของพระอนุชาพระเจ้าแผ่นดินก็ได้

 

เมืองศรีสัชนาลัยมีขนาดย่อมลงจากกรุงสุโขทัยแต่มีการวางผังเมืองอย่างดี โดยใช้เขาพนมเพลิงเป็นศูนย์กลางของเมืองซึ่งเป็นสูงสามารถใช้เป็นที่สังเกตการณ์ ที่ราบรอบเขาเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวเมือง มีการสร้างกำแพงคูเมืองล้อมรอบ ภายนอกกำแพงเมืองเป็นพื้นที่เพาะปลูก ถัดออกไปมีแนวเทือกเขาล้อมรอบอาณาบริเวณอีกชั้นกลายเป็นปราการทางธรรมชาติ

 

เมืองศรีสัชนาลัยจึงมีความสำคัญด้านความมั่นคงของอาณาจักร และเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยต่อมาจนถึงอาณาจักรอยุธยา โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงใช้เมืองศรีสัชนาลัยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการป้องกันการรุนรานจากแคว้นล้านนา 

 

ในตัวเมืองศรีสัชนาลัยมีวัดสำคัญๆ หลายแห่ง สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ภายใต้การอุปถัมภ์ของกษัตริย์สมัยสุโขทัย อาทิ วัดช้างล้อม ซึ่งถือเป็นวัดพระมหาธาตุตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีพระเจดีย์ทรงลังกาขนาดใหญ่ก่อจากศิลาแลงประดับด้วยรูปช้างปูนปั้นล้อมรอบ

 

วัดเจดีย์เจ็ดแถว ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดช้างล้อม มีสถาปัตยกรรมเจดีย์รูปแบบต่างๆ ทั้งแบบศิลปะขอม ศิลปะล้านนา ศิลปะพุกามของพม่า พระเจดีย์องค์ที่เป็นประธานสร้างสรรค์โดยช่างสุโขทัยในรูปแบบที่เรียกว่า พระเจดีย์ทรงดอกบัวตูม หรือ พระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่สำหรับเก็บพระอัฐิของเจ้านายฝ่ายศรีสัชนาลัย จึงได้สร้างพระเจดีย์จำนวนมากในลักษณะเจดีย์ราย

 

นอกจากนี้ ยังมี วัดนางพญา ซึ่งมีภาพลายปูนปั้นประดับผนังวิหารที่งดงามมาก 

 

เมืองศรีสัชนาลัยในอดีต ยังเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเครื่องถ้วยสังคโลกขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณรอบนอกกำแพงเมืองในบริเวณที่เรียกกันว่า เตาป่ายาง และ เตาเกาะน้อย ซึ่งการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีทำให้พบเตาเผาเครื่องถ้วยสังคโลกโบราณจำนวนมากในบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำยม กรมศิลปากรจึงได้เข้าไปอนุรักษ์และจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีแหล่งเตาเผาที่ยังไม่ได้ดำเนินการขุดค้นอีกเป็นจำนวนมาก 

ความสำคัญของวัฒนธรรมทวารวดี

วัฒนธรรมไทยสยาม เป็นวัฒนธรรมที่อิงอยู่บนพื้นฐานของพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมหลายๆ แขนงในภาคกลางของประเทศไทย หลายคนมองว่าวัฒนธรรมไทยสยามได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมต่างๆ จากภายนอก อาทิ อินเดีย ลังกา หรือแม้แต่เขมร ซึ่งได้หล่อหลอมมาเป็นวัฒนธรรมของไทยภาคกลาง

 

แต่จริงๆ แล้ว คนไทยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็ได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมของตนขึ้น บนรากฐานของวัฒนธรรมเดิมที่เคยเจริญรุ่งเรืองบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งตอนบนและตอนล่าง รวมทั้งในบริเวณรอบๆ อ่าวไทยตอนบน ซึ่งก็คือวัฒนธรรม ทวารวดี 

 

ทวารวดี เป็นวัฒนธรรมแรกๆ ที่ปรากฏในพื้นที่บริเวณรอบอ่าวไทย เป็นวัฒนธรรมที่บูรณาการอิทธิพลของอารยธรรมอินเดียเข้ามาผสมผสาน จนเกิดเป็นรูปแบบวัฒนธรรมเฉพาะของคนพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มต้นราวพุทธศตวรรษที่ 7 แล้วมีความเจริญรุ่งเรืองจนถึงพุทธศตวรรษที่ 13-14 จากนั้นก็เริ่มเสื่อมลงหลังจากพุทธศตวรรษที่ 15 ไปจนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 โดยวัฒนธรรมเขมรได้เข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่แทน

นักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อว่า ทวารวดี เป็นชื่อของรัฐหรืออาณาจักรที่มีระบบปกครองแบบอินเดีย โดยสันนิษฐานการมีอยู่ของหน่วยการเมืองนี้จากหลักฐานลายลักษณ์อักษรเป็นเครื่องยืนยัน โดยเฉพาะหลักฐานจากบันทึกสมัยราชวงศ์ถังของจีน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 8–9

 

นอกจากนี้ ยังพบจารึกที่ด้านหลังของเหรียญกษาปณ์ มีข้อความภาษาสันสกฤตว่า ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ หมายถึง ผู้มีบุญกุศลของพระผู้เป็นเจ้าแห่งทวารวดี ซึ่งแสดงถึงการมีกษัตริย์ปกครองรัฐที่ชื่อทวารวดี 

 

ส่วนนักวิชาการอีกกลุ่มกลับมองว่าความมีตัวตนของทวารวดีในฐานะรัฐไม่ได้มีความสำคัญ แต่ให้ยอมรับทวารวดีในฐานะวัฒนธรรมสำคัญที่มีอิทธิพลต่อชุมชนต่างๆ รอบอ่าวไทย โดยส่งผ่านวัฒนธรรมพุทธศาสนากระจายทั่วบริเวณที่ราบลุ่มแม้น้ำเจ้าพระยา ไปจนถึงรอยต่อที่ราบสูงโคราชและบางส่วนของคาบสมุทรภาคใต้ ทั้งนี้ วัฒนธรรมพุทธศาสนาสมัยทวารวดีก็มีความหลากหลาย ไม่ได้จำกัดเฉพาะเถรวาทแบบลังกาเท่านั้น 

 

วัฒนธรรมทวารวดีมีศิลปะในลักษณะเฉพาะ เราพบศิลปวัตถุแบบทวารวดีจำนวนมากในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันตก รวมทั้งภาคใต้ตอนบนบางส่วน โดยเฉพาะพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ถือเป็นศิลปวัตถุที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ทางศิลปะแบบทวารวดีที่ชัดเจนที่สุด มักสร้างในปางประทับนั่งห้อยพระบาท พระวรกายค่อนข้างท้วม มีลักษณะเฉพาะของพระพักตร์ เช่น พระขนงตอบเป็นปีกกา พระโอษฐ์หนา พระเนตรโปน ขมวดเส้นพระเกศาโต พระพักตร์ยังไม่ได้เป็นรูปไข่ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ก็มีภาพลายปูนปั้นรูปชาดกในคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความหลากหลายของวัฒนธรรมพุทธศาสนาในทวารวดี โดยเฉพาะภาพปูนปั้นรูปชาดกที่พระเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม พบการเรียงลำดับเรื่องราวตามแบบ มูลสรรวาสติวาท ซึ่งเป็นนิกายเถรวาทสายหนึ่งที่ไม่ได้มาจากลังกา 

 

เราสามารถพบร่องรอยเมืองโบราณของทวารวดีได้ในหลายพื้นที่ เช่น บ้านคูเมืองที่สิงห์บุรี เมืองจันเสน เมืองโคกไม้เดน ที่จังหวัดนครสวรรค์ เมืองอู่ทองที่สุพรรณบุรี เมืองคูบัวและเมืองโบราณนครปฐม แหล่งโบราณคดีทุ่งเศรษฐี จังหวัดเพชรบุรี เมืองเสมาที่นครราชสีมา

 

การกระจายของวัฒนธรรมทวารวดีในวงกว้างนี้ สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองของทวารวดีในยุคนั้น และเป็นรากฐานสำคัญต่อวัฒนธรรมพุทธศาสนาในพื้นที่ภาคกลางของไทย นับตั้งแต่สมัยอยุธยามาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

การศึกษาประวัติศาสตร์จากจารึก

ในการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคโบราณ จารึกถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมาก เพราะหากขาดเสียซึ่งหลักฐานประเภทนี้แล้ว ก็จะไม่สามารถให้คำอรรถาธิบายประวัติศาสตร์ในยุคต้นได้เลย

 

การทำจารึกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งในประเทศไทย เริ่มมีความสำคัญตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 1 เป็นต้นมา กระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 13-14 จึงค่อยๆ ได้รับความนิยมน้อยลงไป จนในที่สุดธรรมเนียมการทำจารึกก็กลายเป็นบันทึกเรื่องราวเฉพาะในวงการพุทธศาสนา 

 

จารึก คือการสลักตัวอักษรลงไปบนวัสดุที่เป็นพื้นระนาบและมีความแข็ง แล้วใช้ศิลปะในการสลักอักษรลงไปในเนื้อวัตถุเพื่อให้คงทนอยู่ยาวนาน เราสามารถใช้ตัววัตถุมาแบ่งประเภทของจารึกได้ ดังนี้

 

ประเภทแรก ศิลาจารึก คือ จารึกบนแผ่นหิน ซึ่งเป็นที่นิยมมาก เพราะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีหินหลายชนิดที่สามารถใช้ทำจารึกได้ดี อีกประการหนึ่ง หินเป็นวัสดุที่คงทน แม้ว่ายุคสมัยของบุคคลหรือบ้านเมืองที่เป็นเจ้าของจารึกนั้นจะผ่านพ้น หรือเสื่อมถอยไปแล้วนานนับพันปีก็ตาม แต่ศิลาจารึกนั้นยังคงอยู่เป็นหลักฐานที่ทำให้คนรุ่นหลังได้ใช้ศึกษาในทางประวัติศาสตร์

 

ประเภทต่อมาเป็นจารึกบนแผ่นโลหะ ซึ่งนิยมใช้แผ่นทองคำ แผ่นโลหะผสม หรือแม้กระทั่งสัมฤทธิ์ การจารึกบนสัมฤทธิ์ไม่ได้ทำในลักษณะแผ่นระนาบ แต่จะจารึกลงบนวัตถุที่ทำขึ้นจากสัมฤทธิ์ เช่น ฐานเทวรูป ระฆัง เป็นต้น นอกจากนี้ ก็มีการจารึกลงบนแผ่นไม้ แต่ไม่ค่อยคงทนนัก

 

จารึกยังสามารถแบ่งประเภทตามวัตถุประสงค์ของการใช้ ประเภทแรก คือ จารึกเพื่อประกอบศาสนาสถาน อาทิ เทวาลัย วัด หรือสถูปเจดีย์ต่างๆ ซึ่งเป็นธรรมเนียมของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่ยุคโบราณ

 

การสร้างจารึกพร้อมกับการสร้างศาสนสถานนั้น ก็เพื่อแสดงวัตถุประสงค์ของผู้สร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำบุญบำเพ็ญพระราชกุศลของกษัตริย์ หรือเป็นการสร้างถวายเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ การบูชาพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนามหายาน หรือเป็นพุทธบูชาแก่พระรัตนตรัย ซึ่งจะมีการบันทึกข้อความลงไปในจารึก นอกจากนี้ยังได้ระบุถึงการอุทิศถวายที่เรียกว่า การกัลปนา จากนั้นจึงเป็นการอธิษฐานขอพรต่างๆ 

 

ประเภทสอง คือ จารึกบันทึกประวัติบุคคลและเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของผู้สร้างจารึก ตัวอย่างเช่น พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงให้สร้างจารึกประเภทนี้ พระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อสายพอขุนผาเมือง ก็ทรงสร้างจารึกวัดศรีชุมเพื่อบันทึกเหตุการณ์ของราชวงศ์พระร่วง ตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงสุโขทัย รวมทั้งเรื่องราวของพระองค์ที่จำเป็นต้องออกผนวช ไปจาริกแสวงบุญยังลังกาทวีป แล้วก็นำสิ่งที่ได้ศึกษากลับมาสร้างสิ่งต่างๆ ในเมืองสุโขทัย 

 

ประเภทที่สาม คือ จารึกเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่างๆ ก็เป็นจารึกที่นิยมทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณจวบจนปัจจุบัน ตัวอย่างเช่นศิลาฤกษ์ต่างๆ รวมทั้งจารึกแผ่นป้ายในการเปิดใช้อาคาร

 

นอกจากนี้ก็มีจารึกที่บันทึกความรู้หรือสรรพวิทยาการต่างๆ เช่น จารึกวัดพระเชตุพน โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้บันทึกสรรพวิชาต่างๆ ที่เป็นองค์ความรู้ในแบบจารีตดั้งเดิมของสังคมไทย ไม่ให้สูญหายไปท่ามกลางกระแสของวัฒนธรรมตะวันตกหรือความรู้แผนใหม่ที่เข้ามา 

 

จารึกเหล่านี้ ต่างให้ข้อมูลที่สำคัญเพื่อสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ แม้แต่จารึกประกอบศาสนสถาน ที่นอกจากจะให้ความรู้เกี่ยวกับวัดวาอารามแล้ว ยังให้ข้อมูลอื่นๆ โดยเฉพาะการกัลปนา ที่มีการอุทิศข้าวของเครื่องใช้ ผู้คน สิ่งก่อสร้าง หรือข้อมูลการทำเกษตรกรรมและการปศุสัตว์ ก็สะท้อนให้เห็นสภาพเศรษฐกิจของบ้านเมืองในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

กลองมโหระทึก

วันที่ออกอากาศ: 9 พฤศจิกายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

กลองมโหระทึก เป็นประดิษฐกรรมจากอารยธรรมยุคสัมฤทธิ์โบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้ามามีบทบาทในวัฒนธรรมไทย กลองมโหระทึกมิได้เป็นเครื่องดนตรีสำหรับเล่นเพื่อความบันเทิง แต่คาดว่าจะเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นกลองสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ทำมาจากส่วนผสมของทองแดงและดีบุก พบได้ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งบทแผ่นดินใหญ่และในบริเวณคาบสมุทรหมู่เกาะต่างๆ

 

กลองมโหระทึกมีลักษณะเป็นกลองตั้งมีตั้งแต่ขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ หน้ากลองทำจากโลหะสัมฤทธิ์ตกแต่งเป็นลวดลาย ซึ่งส่วนใหญ่นิยมลวดลายเป็นวงโคจรของดวงดาวที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง บ้างเป็นภาพวงโครจรของฝูงนก บ้างเป็นขบวนของผู้คนลักษณะต่างๆ ส่วนตรงมุมทั้ง 4 ของหน้ากลองยังมีรูปกบ 4 ตัวนั่งอยู่

สันนิษฐานว่าต้นตอของกลองมโหระทึกมาจากวัฒนธรรมดงเซิน (Dong Son) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมหนึ่งในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอายุประมาณ 2,000 ปีจนถึง 1,000 กว่าปีก่อนคริสตกาล มีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในแขวงทันหัวของเวียดนามตอนเหนือ หรือที่เรียกว่าแคว้นตันเกี๋ย

 

ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมสัมฤทธิ์บนคาบสมุทรชานตงทางตอนใต้ของจีน ซึ่งแพร่ขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมเลียบฝั่งทะเลของประเทศจีนลงมาจนถึงเวียดนามตอนเหนือ พบร่องรอยของชุมชนมนุษย์ที่ประสบความสำเร็จในผสมแร่ทองแดงและดีบุกกลายเป็นโลหะสัมฤทธิ์นำมาใช้ประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ก่อนจะมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับพื้นที่อื่นๆ ในภูมิภาค

 

ปัจจุบันสามารถขุดพบกลองมโหระทึกทั้งในหมู่เกาะอินโดนีเซีย แหลมมลายู รวมถึงพื้นที่แถบประเทศพม่าและกัมพูชา

 

สำหรับการใช้กลองมโหระทึก ประการแรกใช้ตีบอกสัญญาณสำคัญในพิธีกรรมต่างๆ บอกกล่าวการปรากฏตัวของชนชั้นสูง ประการต่อมาใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์หรือพิธีขอฝน สันนิษฐานได้จากรูปกบบนหน้ากลอง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของฝนฟ้ามาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์

 

เมื่อพิจารณาลวดลายบนหน้ากลองที่ส่วนใหญ่ทำเป็นวงกลมซ้อนกันและมีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรู้จักสังเกตุวิถีโคจรของดวงอาทิตย์และดวงดาวในธรรมชาติที่เป็นปรากฎการณ์บนท้องฟ้าที่มีความสัมพันธ์กับฤดูกาลปลูกเพาะ หรือความสัมพันธ์ระหว่างดวงจันทร์กับปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง

 

แสดงในเห็นถึงภูมิปัญญาต่างๆ ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีผลต่อความอุดมสมบูรณ์และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน กลองมโหระทึกจึงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของมนุษย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่โบราณ

 

กลองมโหระทึกในวัฒนธรรมไทยมีปรากฏอยู่ในจารึกตั้งแต่ยุคก่อนสุโขทัย ในบทพระอัยการสมัยอยุธยา จนปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจนในสมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งประโคมกลองมโหระทึกในในงานพระราชพิธีต่างๆ เฉพาะพระอิสริยยศพระมหากษัตริย์ อาทิ การเสด็จออกมหาสมาคมในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา พระราชพิธีถวายน้ำสงฆ์พระบรมศพในอดีตก็จะมีการย่ำมโหรทึกไปพร้อมกับการประโคมแตรสังข์ ตีกลองชนะ

 

รวมถึงการประโคมในพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งบริเวณบันไดทางขึ้นพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ด้านหน้าของฉากลับแลกั้นประตูทั้ง 2 ข้าง จะมีกลองมโหระทึกตั้งอยู่เพื่อใช้ในพระราชพิธี

อนุสรณ์ในรัชกาลที่ 1

วันที่ออกอากาศ: 6 เมษายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ของพระบรมราชจักรีวงศ์เมื่อวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325  ทรงเป็นประธานของระบบบริหารราชการแผ่นดินของสยามประเทศสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

 

ทั้งยังมีพระราชดำริให้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งตะวันออก สถาปนากรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่    ปกครองภายใต้พระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ครองราชสมบัติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันรวม 9 รัชกาล 

 

ในกรุงเทพมหานครมีอนุสรณ์สำคัญๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกและสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอย่างน้อย 7 แห่งที่ควรกล่าวถึง ได้แก่ วัดสระเกศราชวรวิหาร หรือที่ผู้คนสมัยนี้นิยมเรียกว่า วัดภูเขาทอง ซึ่งเป็นวัดดั้งเดิมที่อยู่มาตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงเทพฯ ชื่อวัดสะแก

 

เป็นวัดที่สมัยพระองค์ดำรงยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ใช้ทำพิธีสรงบูรพาภิเษกซึ่งเป็นการอาบน้ำสระผมชำระร่างกายตามคติธรรมเนียมภายหลังกลับมาจากการระงับเหตุจราจลในกรุงกัมพูชา หลังจากเสด็จปราบดาภิเษกแล้ว ทรงรำลึกถึงวัดสะแกจึงโปรดเกล้าฯให้บูรณะและเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสระเกศ ซึ่งหมายถึง การสระผม 

 

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ก็เป็นวัดที่รำลึกถึงรัชกาลที่ 1 สร้างก่อนกรุงรัตนโกสินทร์เช่นกัน โดยเป็นวัดประจำชุมชนในเมืองบางกอกมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดโพธาราม หรือ วัดโพธิ์ ต่อมามีพระราชดำริให้ปฏิสังขรณ์วัดนี้อย่างใหญ่โต เนื่องจากเป็นวัดที่อยู่ติดกับพระบรมมหาราชวัง จึงปฏิสังขรณ์ขึ้นให้เป็นเกียรติเป็นศรีแก่บ้านเมือง มีพระพุทธเทวปฏิมากร เป็นพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ในเวลาต่อมา

 

หอพระไตรปิฏกวัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งอดีตเป็นส่วนหนึ่งในจวนที่ประทับของพระองค์เมื่อครั้งยังทรงเป็นขุนนางในกรุงธนบุรี ดำรงพระอิสริยายศเป็นพระราชวรินทร์ แล้วทรงจำเริญก้าวหน้าขึ้นมาเป็นเจ้าพระยาจักรี และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ตามลำดับ เมื่อเสด็จปราบดาภิเษกก็ทรงยกจวนแบ่งถวายเป็นหอพระไตรปิฏกของวัดระฆังโฆษิตารามและมีการปฏิสังขรณ์และวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังเพิ่มเติม 

 

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ประดิษฐานในปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างขึ้นตามพระราชดำริขององค์รัชกาลที่ 4 จนมาสำเร็จในรัชกาลที่ 5 โดยปั้นเป็นรูปเหมือนจากการสอบถามเชื้อพระวงศ์และขุนนางที่เคยพบพระพักต์ พระบรมรูปทรงยืนเท่าพระองค์จริงฉลองพระภูษานุ่งอย่างลำลอง 

 

ถนนพระรามที่ 1 เป็นถนนที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เดิมเรียก ถนนปทุมวัน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนเป็นถนนพระรามที่ 1 เนื่องจากถนนสายนี้เป็นเส้นทางโบราณที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ในการเสด็จยกทัพไปและกลับจากการระงับเหตุจราจลที่กรุงกัมพูชา ถนนเส้นนี้จึงเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงรัชกาลที่ 1 และบนเส้นทางนี้ก็มีอนุสรณ์อีกแห่งหนึ่ง คือ สะพานกษัตริย์ศึก เดิมเป็นสะพานไม้สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนบูรณะเป็นสะพานคอนกรีตในสมัยรัชกาลที่ 7 

 

สถานที่สุดท้ายคือ ปฐมราชานุสรน์ ประกอบด้วย พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสะพานพระพุทธยอดฟ้า ก่อสร้างในวาระฉลองสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี สมัยรัชกาลที่ 7 เป็นสะพานที่ใช้สัญจรเชื่อมฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีสืบต่อมา และเป็นสถานที่สำหรับถวายราชสักการะเนื่องในวันจักรี วันที่ 6 เมษายน ของทุกปี ซึ่งมีการเสด็จพระราชดำเนินของพระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐบาล ส่วนราชการและภาคเอกชน ถวายพานพุ่มดอกไม้ ถือเป็นพิธีสำคัญสืบมาจนถึงปัจจุบัน

หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์

วันที่ออกอากาศ: 23 พฤศจิกายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ สร้างขึ้นในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี 2397 ซึ่งเป็นปีแรกที่เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ โดยสร้างติดกันกับหมู่พระพุทธนิเวศน์หรือพระพุทธมณเฑียร สร้างในอาณาบริเวณทางด้านทิศตะวันออกสุดของพระบรมมหาราชวังติดกำแพงพระราชวังด้านถนนสนามชัย ซึ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นพระราชอุทยานที่เรียกว่า สวนขวา

 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าให้สร้างและตกแต่งสวนด้วยศิลปะจีนยุคราชวงศ์ชิงอย่างวิจิตรงดงาม ครั้งพอถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริสถาปนาหมู่พระราชมณเฑียรเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกนาถ โปรดเกล้าให้แบ่งพื้นที่สวนขวาออกเป็น 2 ส่วน

 

ส่วนหนึ่งทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วยการทรงสร้างหมู่พระพุทธนิเวศน์ ซึ่งมีฐานะเป็นวัดอีกแห่งหนึ่งในพระบรมมหาราชวัง และอีกส่วนหนึ่งทรงสร้างเป็นพระราชมณเฑียรแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกประยุกต์ สำหรับใช้เป็นสถานที่จัดแสดงศิลปะวัตถุที่เป็นเครื่องราชบรรณาการที่ทรงได้รับมาจากนานาประเทศ ซึ่งก็คือหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์

 

รูปแบบสถาปัตยกรรมของพระอภิเนาว์นิเวศน์ได้ผสมผสานอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคของทางตะวันตกร่วมกับสถาปัตยกรรมจีน โดยเฉพาะลักษณะหลังคาเก๋งแบบจีน รวมทั้งได้นำสถาปัตยกรรมไทยประเพณีเข้ามาผสมผสานด้วย

 

แนวคิดหลักที่ใช้ออกแบบพระที่นั่งต่างๆ ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ คือโปรดเกล้าสร้างในรูปแบบที่พระมหากษัตริย์จะประทับและทรงดำรงชีวิตอย่างสมัยใหม่ ทั้งเป็นสถานที่เสด็จออกว่าราชการ เสด็จออกแขกเมือง และเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องราชบรรณาการต่างๆ ในลักษณะที่เรียกว่า State Apartment ในพระราชวังของพระมหากษัตริย์ในทวีปยุโรป ด้วยมีพระราชดำริว่าพระมหาษัตริย์ควรปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และวิถีดำรงชีวิตให้เหมือนกับพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศ เนื่องจากทรงต้องติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศมากขึ้น

 

หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ประกอบอาคาร 11 หลัง เป็นอาคารพระที่นั่ง 8 องค์ ในจำนวนนี้โปรดเกล้าให้รวมพระที่นั่ง 2 หลังที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 3 คือ พระที่นั่งสุไธสวรรค์ปราสาท และพระที่นั่งไชยชุมพล ส่วนอาคารอีก 3 หลังสร้างเป็นหอสำหรับประดิษฐานปูชนียวัตถุ ทรงพระราชทานชื่ออาคารอย่างคล้องจ้องกัน ได้แก่ พระที่นั่งไชยชุมพล พระที่นั่งภูวดลทัศไนย พระที่นั่งสุไธสวรรย์ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งบรมพิมาน พระที่นั่งนงคราญสโมสร พระที่นั่งจันทรทิพโยพาส พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ พระที่นั่งมูลมณเฑียร และหอเสถียรธรรมปริตร หอราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ หอโภชนลีลาศ และพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีประโยชน์ใช้สอยแตกต่างกันไป

 

อาทิ พระที่นั่งภูวดลทัศไนยเป็นหอนาฬิกา พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกว่าราชการ พระที่นั่งบรมพิมานเป็นที่บรรทม พระที่นั่งนงคราญสโมสรเป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกฝ่ายใน หอโภชนลีลาศเป็นห้องพระราชทานเลี้ยงภัตตาหาร เป็นต้น

 

จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงทุกข์โทมนัสจากการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระบรมชนกนาถในปี 2411 จึงทรงย้ายกลับไปประทับที่พระที่นั่งจักรพรรดิ์พิมานในหมู่พระมหามณเฑียร จนถึงปี 2416 จึงโปรดให้สำรวจสภาพของหมู่พระอภิเนาว์นิเวศ พบว่าวัสดุก่อสร้างที่เป็นไม้ อิฐ และปูน เสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว ไม่ปลอดภัยจะใช้เป็นที่ประทับต่อไป ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้รื้อถอนลงแล้วปรับปรุงพื้นที่เป็นสวน และทรงสร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท พระราชทานเรียกชื่อว่าสวนแห่งนี้ว่า สวนศิวาลัย 

สิมอีสาน

สิม คือคำเรียกของโบสถ์หรือพระอุโบสถในภาษาวัฒนธรรมไทย-ลาว ถือเป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่นในวัดวาอารามของภาคอีสาน ซึ่งวัสดุก่อสร้างที่นำมาใช้และการออกแบบตกแต่งต่างๆ ได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และคติความเชื่อของชาวไทยอีสานได้เป็นอย่างดี

 

วัสดุที่ชาวไทยอีสานนำมาก่อสร้างสิม หรือ อุโบสถ ในยุคเก่า ส่วนใหญ่เป็นวัสดุประเภทไม้ซึ่งหาได้ง่ายในธรรมชาติ อาจจะเป็นไม้เนื้อแข็ง ไม้ไผ่ หรือหวายก็ได้ สิมในภาคอีสานมีขนาดไม่ใหญ่โต เป็นโบสถ์เล็กๆ พอเพียงสำหรับทำสังฆกรรมของพระสงฆ์

 

สะท้อนให้เห็นว่า สิมเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับใช้ในกิจของสงฆ์เท่านั้น อาทิ พิธีอุปสมบท หรือการกฐิน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจของฆราวาส โดยหากฆราวาสจะเข้ามาในเขตวัดเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาหรือทำบุญทำกุศลต่างๆ ก็ให้ใช้ลานวัดหรือศาลาวัดที่มีขนาดใหญ่กว่า 

 

สิมอีสาน สามารถแบ่งลักษณะตามการกำหนดเขตพื้นที่สำหรับประกอบกิจของสงฆ์ ได้แก่ สิมบก ซึ่งหมายถึงสิมในเขตวัดทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นสิ่งก่อสร้างถาวรที่ทำจากไม้ อิฐ หรือดิน และ สิมน้ำ ซึ่งก่อเป็นฐานในพื้นที่ที่มีน้ำไหลผ่านล้อมรอบ อย่างเช่นแม่น้ำลำคลองต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นสิมที่ใช้ชั่วคราว ซึ่งในคติของพุทธศาสนาลังกาวงศ์ ถือว่าน้ำเป็นสิ่งบริสุทธิ์สำหรับชำระล้าง จึงสามารถใช้น้ำเป็นมณฑลล้อมรอบเป็นเขตพัทธสีมา

 

สิมบก ยังสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ สิมไม้  สิมก่อ และ สิมโถง เนื่องจากบริเวณภาคอีสาน โดยเฉพาะอีสานทางใต้ เป็นเขตพื้นที่มีป่าไม้มาก ชาวอีสานจึงนิยมก่อสร้างสิมไม้ เนื่องจากเป็นทรัพยากรที่มีอยู่มาก สิมไม้ส่วนใหญ่ก่อสร้างเป็นอาคารลักษณะตอบสูง ขนาดไม่ใหญ่โต แต่พอที่จะประดิษฐานพระพุทธรูปประธานองค์เล็กได้ ทำประตูทางเข้าออกไว้เพียงช่องเดียว มีหน้าต่างไม่เกินด้านละ 2 บาน

 

แม้จะดูเป็นสิ่งก่อสร้างที่เรียบง่าย แต่ก็มีเสน่ห์ในตัว ด้วยความสุนทรียะทางศิลปะของชาวบ้านที่สอดแทรกไว้ในการก่อสร้าง เช่น เทคนิควิธีการเข้าไม้ การแกะสลักไม้เป็นลวดลายต่างๆ ซึ่งชาวบ้านจะประดิดประดอยทำเพื่อเป็นการบูชาพุทธศาสนา 

 

สิมโถง มีหน้าตาเหมือนอาคารศาลา ประกอบด้วยเสาไม้อยู่บนฐานรองรับหลังคา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีฝาผนัง หรืออาจมีฝาเฉพาะด้านที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน

 

ต่อมาคือ สิมก่อ หมายถึงมีการก่อผนังทั้ง 4 ด้าน เป็นอาคารที่ก่อด้วยอิฐดิบ  การก่อสร้างสิมก่อค่อนข้างมีความประณีตมากกว่าสิมไม้ โดยมีการประดับตกแต่งผนังหรือฐานปั้นปูนเป็นลวดลายต่างๆ ให้สวยงาม มีการทำช่องประตู ช่องหน้าต่าง ซึ่งไม่เกินด้านละ 2 ช่อง 

 

ด้วยความที่สิมมักทำจากไม้หรือวัสดุไม่ค่อยคงทน ส่วนใหญ่จึงผุพังไปตามกาลเวลา แต่ยังคงพบเห็นได้ในจังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดกาฬสินธุ์ หรือในหลายพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานี

 

อย่างไรก็ตาม เท่าที่สำรวจพบจะนับอายุย้อนไปได้ไม่เกินปีพุทธศักราช 2500 ในปัจจุบัน มีความพยายามของวัดใหม่ๆ ในภาคอีสานในการอนุรักษ์สิมอีสาน โดยสร้างพระอุโบสถหรือสร้างสิมในรูปแบบที่รักษาความเป็นเอกลักษณ์ไว้ แต่สร้างให้มีขนาดใหญ่โตขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับจำนวนพระสงฆ์สามเณรที่เพิ่มขึ้น และต้องใช้เป็นพื้นที่สำหรับอุบาสก อุบาสิกา ที่มาปฏิบัติธรรมกันมากขึ้นด้วย 

 

สิมอีสานที่วัดป่าแสงอรุณ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เป็นสิมที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยกให้เป็นสิมอีสานตัวอย่าง เป็นสิมหลังใหญ่ขนาด 9 ห้อง มีลักษณะตามสิมโบราณกึ่งไทยกึ่งลาว สร้างด้วยอิฐปูนมีลวดลายประดับตกแต่ง ช่อฟ้าเป็นรูปพญานาค ที่สันหลังคาเป็นเรือนยอดหลังเล็กๆ ภาษาอีสานเรียกว่า ยอด-ผา-สาท นอกจากนี้ ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีความสนใจแห่งหนึ่งในภาคอีสาน

สวนศิวาลัย

วันที่ออกอากาศ: 7 ธันวาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

สวนศิวาลัย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากโปรดเกล้าให้รื้อถอนหมู่พระพุทธนิเวศน์และหมู่พระอภิเนานิเวศน์ตรงบริเวณฝั่งตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากได้ตรวจสอบว่าชำรุดทรุดโทรมเกินกว่าจะบูรณะได้ คงไว้แต่พระที่นั่งมหิศรปราสาท และพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน ซึ่งรวมถึงหอระฆังกับศาลาราย

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้ปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นสวน ซึ่งแต่เดิมบริเวณนี้เคยเป็นสวนอุทยานสำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จประทับสำราญพระอิริยาบถในสมัยรัชกาลที่ 1-3 และโปรดเกล้าให้สร้างอาคารใหม่บริเวณสุดมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ของสวนก็คือ พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งมหาปราสาททำนองเดียวกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่มิได้มีมุกยาวเสมอกัน 4 ด้านแบบจตุรมุก

 

พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทเป็นปราสาท 5 ยอดที่มีมุกยาว 2 ด้านและมุกสั้น 2 ด้าน โปรดเกล้าให้ออกแบบตามอย่างพระมหาปราสาทในสมัยกรุงศรีอยุธยา ยุคราชวงศ์บ้านภูหลวง ที่สร้างด้วยอิฐปูนในสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลแบบตะวันตก พอจะเห็นตัวอย่างได้จากพระตำหนักที่วัดกุฎีดาวของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระตำหนักคำหยาดของสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร ในอำเภอโพธิทอง จังหวัดอ่างทอง 

 

พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทเป็นพระที่นั่ง 2 ชั้น มีบันไดทางขึ้นทั้งด้านทิศตะวันตกไปยังท้องพระโรงเล็กและทางทิศตะวันออกเป็นท้องพระโรงใหญ่ แต่ไม่มีเฉลียงเดินเชื่อมถึงกัน สวนที่อยู่บริเวณโดยรอบก็ได้พระราชทานนามว่าสวนศิวาลัยตามนามพระที่นั่ง คำว่า "ศิวาลัย" หมายถึงสถานที่ประทับของพระศิวะ ตามคติเทวราชาของศาสนาพรามหมณ์ พระมหากษัตริย์ก็คือองค์พระศิวะที่ประทับอยู่บนโลกมนุษย์

 

ต่อมาในวโรกาสสมโภชน์พระนคร 100 ปี ทรงโปรดเกล้าให้ย้ายพระบรมรูปหล่อเสมือนจริงของบุรพกษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ทั้ง 4 รัชกาลจากพระที่นั่งสุไธสวรรค์ปราสาท มาประดิษฐานในพระที่่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท จึงอาจเป็นที่มาของการใช้คำว่าศิวาลัย ซึ่งในยุคโบราณมักสร้างเทวรูปเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์เป็นเทวรูปฉลองพระองค์ของกษัตริย์

 

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ได้มีการหล่อพระบรมรูปของพระองค์มาประดิษฐานเพิ่มเติม ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาลไปประดิษฐานที่พระพุทธปรางค์ปราสาท แล้วโปรดให้เปลี่ยนชื่อเป็นปราสาทพระเทพบิดร ทรงกำหนดวันที่ 6 เมษายนของทุกปีเป็นวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์

 

หลังจากสร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าให้สร้างพระที่้นั่งบริเวณทิศเหนือของสวนศิวาลัยเพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชหลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับจากทรงศึกษาในยุโรป เดิมพระราชทานนามว่าพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น พระที่นั่งบรมพิมาน

 

แต่ขณะนั้นรัชกาลที่ 6 ทรงกราบทูลขอเสด็จไปประทับที่พระราชวังสราญรมย์นอกพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากทรงมีข้าราชบริพารจำนวนมากที่ไม่รู้ธรรมเนียมปฏิบัติในเขตพระบรมมหาราชวัง อาจทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศได้ ภายหลังทรงรับราชสมบัติจึงทรงใช้พระที่นั่งบรมพิมานเป็นที่ประทับเวลาเสด็จเข้ามาประทับที่พระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นธรรมเนียมสืบมาจนถึงรัชกาลที่ 8

 

ต่อมาในรัชกาลที่ 9 จึงโปรดเกล้าให้ปรับปรุงพระที่นั่งบรมพิมานเป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะระดับประมุขของรัฐ ทั้งที่เป็นพระราชาธิบดี สมเด็จพระราชินีนาถ หรือประธานาธิบดี ซึ่งได้เสด็จหรือเดินทางมาเยือนประเทศไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระเจ้าแผ่นดิน ทั้งในระดับทางการหรือเป็นการเสด็จส่วนพระองค์

วัดมหาพฤฒาราม

วัดมหาพฤฒารามเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิด วรวิหาร มีความเกี่ยวพันกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อย่างมาก อย่างไรก็ตาม วัดนี้ไม่ใช่วัดที่ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ แต่ทรงโปรดให้บูรณะจากวัดเดิมที่มีมาก่อนการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ชื่อ วัดท่าเกวียน

 

เนื่องจากสมัยนั้น พื้นที่รอบบริเวณวัดเป็นทุ่งโล่งที่เรียกว่า ทุ่งวัวลำพอง ซึ่งเป็นบริเวณที่ขบวนเกวียนจากหัวเมืองแวะพักก่อนเข้าไปค้าขายในเมือง ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดตะเคียน สันนิษฐานว่าเปลี่ยนชื่อมาเนื่องจากมีต้นตะเคียนขึ้นกันอยู่หนาแน่นรอบบริเวณวัดซึ่งมีอาณาบริเวณมากกว่า 10 ไร่

 

ในปลายรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สมัยที่ยังทรงผนวชเป็น พระวชิรญาณภิกขุ มีความคุ้นเคยกับเจ้าอาวาสของวัดตะเคียน คือ พระอธิการแก้ว ซึ่งเป็นพระภิกษุชราอายุกว่าร้อยปีที่ทรงเคารพศรัทธามาก จึงเสด็จไปประทับจำวัดตะเคียนอยู่บ่อยครั้ง

 

พระอธิการแก้วผู้นี้ถวายคำพยากรณ์ว่าพระองค์จะได้ขึ้นครองราชย์ จึงรับสั่งกับพระอธิการแก้ว หากคำพยากรณ์เป็นจริง จะทรงสถาปนาวัดตะเคียนถวายให้เป็นวัดใหม่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 2397 ก็โปรดเกล้าพระราชทานสมณศักดิ์พระอธิการแก้วเป็นพระราชาคณะในราชทินนามว่า พระมหาพฤฒาจารย์ แปลว่า พระอาจารย์ผู้เฒ่า และโปรดให้สร้างพระอารามขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า วัดมหาพฤฒาราม หมายถึง อารามที่สถิตของพระอาจารย์ผู้เฒ่า 

 

สถาปัตยกรรมและศิลปวัตถุของวัดมหาพฤฒาราม จึงเป็นงานศิลปะพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 อาทิ พระอุโบสถ และ วิหารพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งสร้างตามแบบไทยประเพณี มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หลังคาประดับกระเบื้องเคลือบสี และตัววิหารมีลักษณะสูงตอบ ทรงโปรดให้สร้างพระปรางค์ 4 องค์ ด้วยมีพระราชประสงค์อุทิศถวายแด่อดีตพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ในภัทรกัป โดยมีสถาปัตยกรรมคล้ายกับพระเมรุทิศ วัดไชยวัฒนาราม อยุธยา องค์พระปรางค์ทั้ง 4 ทาสีขาว ตั้งอยู่ระหว่างพระอุโบสถกับวิหาร  

 

งานศิลปกรรมชิ้นสำคัญ คือ ลวดลายแกะสลักที่หน้าบันของพระอุโบสถ เป็นรูปตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 4 คือ รูปพระมหามงกุฎ วางอยู่บนแว่นฟ้า 2 ชั้น ภายในวิมานบุษบก แล้ววิมานบุษบกนั้น ตั้งอยู่บนหลังของช้างสามเศียร

 

ส่วนบานประตูหน้าต่างของพระอุโบสถ แกะสลักไม้เป็นภาพวัวเทียมเกวียน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเดิมของวัด มีรูปช้างบนบานประตูพระอุโบสถเป็นสัญลักษณ์ของความมีอายุยืน ซึ่งหมายถึงพระอธิการแก้ว อดีตเจ้าอาวาสของวัด ส่วนบนสุดของบานประตูทำเป็นรูปภาพเทพยดากำลังทูลพาน 2 ชั้น แล้วมีพระมหามงกุฎวางอยู่ข้างบน ซึ่งหมายถึงองค์รัชกาลที่ 4 ตามพระนามเดิมคือ สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ 

 

นอกจากนี้ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ก็มีความสนใจอย่างยิ่ง ด้วยเป็นงานศิลปะที่เปลี่ยนขนบการเขียนไป ซึ่งไม่ได้เขียนเรื่องราวชาดกในพุทธประวัติ ภาพอดีตของพระพุทธเจ้า หรือเรื่องไตรภูมิ แต่ได้หยิบยกเอาคติของพุทธศาสนาแบบลังกา ซึ่งเป็นคติที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาธรรมยุติกนิกาย

 

ภาพเขียนฝาผนังในพระอุโบสถเป็นเรื่องธุดงควัตร 13 คือวัตรปฏิบัติของพระธุดงค์ โดยการเขียนภาพได้รับอิทธิพลแบบตะวันตก ซึ่งได้นำเทคนิคเขียนภาพแนว 3 มิติเข้ามาใช้ กล่าวคือ มีภาพวิวทิวทัศน์ต่างๆ เป็นฉากหลัง มีการจัดองค์ประกอบภาพให้เห็นความตื้นลึกเหมือนจริงตามธรรมชาติ รวมทั้งมีภาพอาคารตามสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกอยู่ในภาพด้วย อาจเรียกได้ว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดมหาพฤฒารามเป็นสกุลช่างเดียวกับพระอาจารย์อิน หรือขรัวอินโข่ง 

วิวัฒนาการของพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย

พิพิธภัณฑ์ เป็นแนวคิดที่เพิ่งวิวัฒนาการขึ้นในประเทศไทยมาไม่ถึง 200 ปี อาจกล่าวได้ว่า พิพิธภัณฑ์มีจุดเริ่มต้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็ยังมิใช่พิพิธภัณฑ์ตามแนวคิดในปัจจุบัน

 

สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นสมัยแห่งการเปิดประเทศ เพื่อติดต่อเชื่อมความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ ทรงสังเกตว่าในนานาอารยประเทศ มีธรรมเนียมที่ประมุขของรัฐได้นำของขวัญหรือเครื่องบรรณาการที่ได้เจริญสัมพันธไมตรีมาจัดแสดงไว้ในพระราชสถานที่ประทับหรือในทำเนียบทางราชการ เพื่อเป็นเครื่องประดับพระเกียรติ และเป็นการแสดงถึงเครือข่ายความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ

 

ทรงรับแนวคิดนี้มา โดยโปรดเกล้าให้สร้างพระที่นั่งบริเวณพระมหามณเฑียร เป็นอาคารสถาปัตยกรรมจีน 2 ชั้น พระราชทานชื่อว่า พระที่นั่งราชฤดี โปรดเกล้าให้ใช้เป็นที่แสดงสิ่งของต่างๆ ที่นานาประเทศส่งมาน้อมเกล้าถวาย ให้ผู้คนที่มาเข้าเฝ้าได้มีโอกาสชมและศึกษา ต่อมาจึงได้มาจัดแสดงใน พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งพระที่นั่ง 2 แห่งนี้ถือเป็นจุดกำเนิดของแนวคิดในการจัดพิพิธภัณฑสถานในประวัติศาสตร์ไทย

 

ต่อมาในรัชกาลที่ 5  ทรงมีโอกาสเสด็จต่างประเทศหลายครั้ง โดยเยือนพิพิธภัณฑสถาน หรือ museum สำคัญๆ ในโลกตะวันตกหรือแม้กระทั่งในเมืองอาณานิคม จึงนำแนวคิดการรวบรวมศิลปวัตถุ โดยเฉพาะโบราณวัตถุจากแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญๆ ในประเทศ ที่แสดงให้เห็นรอยร่อยอารยธรรมที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน เพื่อจัดแสดงไว้ในกรุงเทพฯ

 

ทรงโปรดเกล้าให้สร้าง ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง เป็นอาคารห้องโถงขนาดใหญ่ และย้ายสิ่งของใน พระที่นั่งประภาสพิพิธภัณฑ์ มาจัดแสดงไว้ใน ศาลาสหทัยสมาคม ร่วมกับโบราณศิลปวัตถุที่มีพระราชดำริให้รวบรวมมา ต่อมา จึงมีแนวคิดในการก่อตั้ง Royal Museum ประจวบกับตำแหน่งวังหน้าได้ถูกยุบเลิกไป จึงโปรดเกล้าให้นำพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นที่เก็บรักษาโบราณศิลปวัตถุ โดยมีสมเด็จกรมพระยาราชานุภาพเป็นกำลังสำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม การเปิดใช้พระราชวังบวรสถานมงคลเป็น โรง Museum ของหลวง อย่างเป็นทางการนั้น เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เป็นครั้งแรก 

 

ในช่วงเวลาใกล้กันกับการเปิดพิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ ก็มีแนวคิดของพระสงฆ์ท้องถิ่นและเจ้านายฝ่ายเหนือผู้ปกครองเมืองลำพูน ในการรวบรวมศิลปวัตถุที่เป็นร่องรอยอารยธรรมหริภุญชัยมาเก็บรักษาและจัดแสดง ในบริเวณวัดพระบรมธาตุหิริภุญชัย โดยมีการจัดทำคำอธิบายและการกำหนดอายุอย่างเป็นระบบเหมือนกับพิพิธภัณฑ์สากลในต่างประเทศ

 

ต่อมาเมื่อศิลปวัตถุเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงขยายพื้นที่ตรงข้ามด้านหลังวัด ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญชัย โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ด้วย 

 

ปัจจุบัน มีพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเป็นจำนวนมากกว่า 30 แห่ง และยังมีพิพิธภัณฑ์อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งที่สังกัดหน่วยราชการและเป็นของส่วนตัวหรือหน่วยงานเอกชน แนวคิดของการจัดพิพิธภัณฑ์ยังได้ขยายออกไปมากกว่าเรื่องการจัดแสดงโบราณวัตถุ ยังมีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเมืองหรือชุมชน วิถีชีวิตของคนกลุ่มอาชีพต่างๆ ข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน อาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหาร เครื่องแบบเครื่องแต่งกาย หรือเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์

 

การมีพิพิธภัณฑ์เพิ่มขึ้นมากมายสะท้อนให้ถึงความกระตือรือร้น ความสงสัยใคร่รู้ของเยาวชนไทยที่มากขึ้น ก็เป็นความโชคดีที่มีหน่วยงานต่างๆ พยายามตอบสนองสิ่งเหล่านี้ จึงทำให้กระบวนการของการจัดตั้งองค์กรพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

วัดพระแก้ววังหน้า

วันที่ออกอากาศ: 7 กันยายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

วัดบวรสถานสุทธาวาส เป็นโบราณสถานสำคัญสมัยรัตนโกสินทร์ มีชื่อเรียกเป็นสามัญว่า "วัดพระแก้ววังหน้า" หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าวัดพระแก้วไม่ได้มีเฉพาะแต่ในวังหลวง ซึ่งหมายถึงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในส่วนของวัดพระแก้วของวังหน้าเป็นวัดประจำพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ซึ่งเป็นที่ประทับสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช แต่เดิมถือเป็นตำแหน่งสำคัญในราชสำนักมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

ในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระองค์เจ้าอรุโณทัย พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระปิตุลาขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ทรงมีบทบาทอย่างมากในการบูรณะปฏิสังขรณ์และก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ในพระราชวังบวรสถานมงคล รวมถึงการก่อสร้างวัดพระแก้ววังหน้าให้เป็นวัดประจำพระราชวัง

 

ในปีแรกที่ทรงรับสถาปนากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ มีพระราชประสงค์ให้สร้างวัดเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาโดยสร้างเพียงพระอุโบสถหลังใหญ่บริเวณพื้นที่ที่เคยเป็นวัดหลวงนางชีในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่เดิมมีพระราชดำริจะสร้างเป็นทรงปราสาท คือมีจตุรมุขและยอดปราสาท แต่เมื่อกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคัดค้านด้วยเห็นว่าการสร้างปราสาททำได้เฉพาะในวังหลวงเพื่อเป็นการแสดงฐานานุศักดิ์ของพระมหากษัตริย์ จึงลดรูปแบบเป็นพระอุโบสถทรงจตุรมุข สร้างขึ้นบนฐานไพทีสูงอยู่พอสมควร

 

เนื่องจากเป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ทำใช้การสร้างใช้เวลานาน รวมทั้งได้สร้างด้วยความปราณีตและใช้วัสดุอย่างดี ตัวอย่างเช่นฐานไพทีและบันไดที่รองรับพระอุโบสถ รวมถึงผนังภายนอกพระอุโบสถก็กรุด้วยหินอ่อนสีเทา ภายในพระอุโบสถมีความโอ่โถงมาก ทรงตั้งพระทัยที่จะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานเป็นพระประธาน แต่เสด็จทิวงคตเสียก่อนในปี 2375

 

พระทายาทของพระองค์คือพระองค์เจ้าดาราวดี ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ในการก่อสร้างพระอุโบสถของวัดบวรสถานสุทธาวาสจนสำเร็จ ประดิษฐานพระธานเป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพโปรดให้หล่อเป็นพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารไว้ รวมถึงการตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่้งเป็นถือชิ้นงานศิลปะที่โดดเด่น

 

ปัจจุบัน พระราชวังบวรสถานมงคล กลายเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ซึ่งมีการแบ่งอาณาเขตเป็นส่วนต่างๆ เพื่อใช้เป็นสถานที่่ราชการ ในส่วนของวัดบวรสถานสุทธาวาสอยู่ในเขตวิทยาลัยนาฏศิลป์ เดิมไม่ได้เปิดให้เยี่ยมชมโดยทั่วไป เนื่องจากอยู่ในเขตสถานศึกษา แต่ปัจจุบันกรมศิลปากรได้เผยแพร่ความก้าวหน้าของการสำรวจพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล รวมถึงการเข้าไปบูรณะปฏิสังขรณ์วัดบวรสถานสุทธาวาส ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมศึกษา

 

วัดบวรสถานสุทธาวาสได้รับการบูรณะภายนอกพระอุโบสถแล้ว คงเหลือการบูรณะภาพภาพจิตรกรรมฝาผนังแต่สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ ภาพจิตรกรรมฝาผนังมีอยู่เต็มพื้นที่ทั้ง 4 มุข ของพระอุโบสถ เป็นจิตรกรรมฝาผนังระหว่างรัชกาลที่ 3-4 ประกอบด้วยเรื่องราวหลักๆ ได้แก่ เรื่องพระพุทธสิหิงค์ เรื่องประวัติอดีตพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ซึ่งอุบัติขึ้นก่อนพระพุทธเจ้าศากยมุนีตามคัมภีร์ของพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ บนบานประตูและหน้าต่างก็มีภาพเกี่ยวกับตำนานเทพเจ้าในศาสนาพราหม รวมถึงเรื่องราวของอมนุษย์ซึ่งเป็นอวตารของพระนารายณ์ในคัมภีร์ไวศนพ

วัดทองบางพลัด วัดบางยี่ขัน

วันที่ออกอากาศ: 23 มีนาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

วัดทอง ย่านเขตบางพลัด เป็นวัดอีกแห่งที่ตั้งอยู่ในเรือกสวนฝั่งธนบุรี จากลักษณะสถาปัตยกรรมต่างๆ ภายในวัดสะท้อนให้เห็นว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย

 

มีพระอุโบสถเก่าแก่สร้างพาลัยอยู่ด้านหน้าเหนือประตู ซึ่งเป็นทางเข้าออกเพียงทางเดียว ด้านหลังเป็นผนังทึบ มักเรียกพระอุโบสถแบบนี้ว่า โบสถ์มหาอุด เชื่อกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาว่าเหมาะสำหรับการประกอบพิธีกรรมปลุกเสกวัตถุมงคลเครื่องรางของขลังต่างๆ เนื่องจากความศักดิ์สิทธิ์หรือความอาถรรพ์ทั้งหลายไม่สามารถออกไปทางประตูหลังได้

 

ปัจจุบันพระอุโบสถหลังนี้ได้กลายเป็นวิหารของวัด ส่วนอุโบสถหลังปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ลักษณะของซุ้มเสมาที่อยู่รอบๆ เป็นเสมานั่งแท่น ซึ่งเป็นศิลปะในสมัยอยุธยา

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถได้รับการบูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นเรื่องพุทธประวัติตามขนบของศิลปะจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 4 ยังมีภาพผู้คนแต่งกายเป็นฝรั่ง ภาพตึกฝรั่ง จึงเป็นภาพจิตรกรรมยุครอยต่อระหว่างสยามเก่ากับสยามใหม่

 

มีสถาปัตยกรรม 2 สิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าวัดทองบางพลัดสร้างขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา และได้รับการทำนุบำรุงต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์สืบต่อมา คือ เจดีย์ 2 องค์ที่ตั้งอยู่บนลานระหว่างอุโบสถกับวิหาร องค์หนึ่งเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองตั้งอยู่บนฐานสูง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นเจดีย์ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ประมาณสมัยรัชกาลที่ 3 มีรูปแบบสัดส่วนที่งดงามมาก สามารถใช้เป็นตัวอย่างเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองในการสอนวิชางานช่างหรือประวัติศาสตร์ศิลป์ของไทยได้เป็นอย่างดี

 

เจดีย์อีกองค์ขนาดย่อมลงมา มีทรวดทรงสวยงามเช่นกัน เป็นเจดีย์ทรงลังกามีลักษณะคล้ายระฆังกลม ซึ่งเป็นลักษณะนิยมของเจดีย์ในสมัยสุโขทัยจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น มาได้รับการบูรณะอีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 4

 

วัดบางยี่ขัน มีลักษณะสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาตอนกลาง ยังคงหลงเหลือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นฝีมือของช่างเขียนสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่มีการเขียนซ่อมและเขียนเพิ่มเติมในสมัยต้นรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 3 แต่ยังคงขนบการเขียนภาพในลักษณะจิตรกรรมสมัยอยุธยา

 

ผนังเหนือช่องประตูหน้าต่างด้านหลังพระประธานเขียนเรื่องไตรภูมิ ด้านหน้าพระประธานเขียนเรื่องมารผจญ เป็นภาพที่เขียนได้ปราณีตงดงามมาก ทั้งภาพกองทัพมาร ภาพก่อนและหลังเหตุน้ำท่วม ภาพพระพุทธเจ้าประทับบนพุทธบัลลังก์และพระแม่ธรณีบีบมวยผม ซึ่งภาพมารผจญของวัดบางยี่ขันได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบที่สวยงามของภาพมารผจญในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ 

 

ด้านข้างพระประธานเหนือช่องหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุม ซึ่งงดงามไม่น้อยกว่าภาพเทพชุมนุมในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่พระราชวังบวรสถานมงคล ระหว่างช่องหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติจากคัมภีร์ปฐมสมโภชและเรื่องทศชาติชาดก ซึ่งมีภาพที่น่าสนใจและวาดได้อย่างปราณีตปรากฏอยู่ 2 ภาพ ได้แก่

 

ภาพสุวรรณสามชาดก เขียนในตอนที่ท้าวกบิณยักษ์เสด็จประพาสป่าแล้วยิงลูกศรไปโดนพระสุวรรณสามซึ่งบวชเป็นฤาษีล้มลงเสียชีวิต เป็นภาพซึ่งให้ทั้งลีลาและอารมณ์ของภาพ ตลอดจนการใช้สีที่ทำให้ตัวละครทั้ง 2 ตัว คือท้าวกบิณยักษ์และพระสุวรรณสามโดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางฉากในป่า

 

อีกภาพหนึ่งเขียนเรื่องพระเตมีย์ใบ้ซึ่งเป็นชาดกเรื่องแรกในทศชาติชาดก เป็นภาพพระเตมีย์กำลังยกราชรถกวัดแกว่งไปมาซึ่ง จิตรกรได้ใช้จินตนาการอย่างมากและลงสีไว้อย่างงดงาม 

 

ภาพจิตรกรรมสำคัญอีกภาพหนึ่งของวัดบางยี่ขัน คือภาพเหตุการณ์การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ซึ่งเป็นเหตุให้กษัตริย์หลายพระนครยกทัพมาทำสงครามเผื่อแย่งพระบรมสารีริกธาตุ ฉากของการทำสงครามเขียนได้อย่างปราณีตมีความละเอียดละออมาก สะท้อนให้เห็นถึงความโกลาหลวุ่นวายในภาวะสงครามให้อารมณ์ของความดุเดือด 

วัดไชยทิศ บางขุนศรี

วันที่ออกอากาศ: 16 มีนาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ในกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี บริเวณบางกอกน้อย บางยี่ขัน บางพลัด แต่เดิมเป็นพื้นที่สวนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ชาวสวนในสมัยโบราณนั้น ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นคหบดีผู้มีอันจะกิน ซึ่งมักนิยมสร้างวัดประจำชุมชนอยู่ตามเรือกสวนต่างๆ ในพื้นที่บริเวณนี้จึงปรากฏวัดจำนวนไม่น้อยที่มีอายุเก่าแก่สืบมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นวัดโบราณมีงานศิลปะที่น่าไปเยี่ยมชมศึกษา โดยเฉพาะงานภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีความงดงาม

 

วัดไชยทิศ ตั้งอยู่ในแขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย เป็นวัดกลางสวนมีคลองไชยทิศไหลผ่าน จากหลักฐานการสำรวจทางโบราณคดียืนยันว่าเป็นวัดที่มีอายุสืบได้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย สังเกตจากสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถ ซึ่งยังหลงเหลืออยู่ เป็นพระอุโบสถขนาดกลางประมาณ 3 ห้อง เดิมไม่มีช่อฟ้าใบระกา แต่การบูรณะในระยะหลังได้ต่อเติมเพิ่มขึ้นมา มีพาลัยคลุมทั้งด้านหน้าและด้านหลังทำให้บริเวณมุกด้านหน้าและด้านหลังของพระอุโบสถมีหลังคาคลุมกันฝน

 

ใบเสมาของพระอุโบสถแกะสลักจากหินทรายขนาดเล็ก มีการก่อแท่นฐานตกแต่งด้วยลายปูนปั้นประดับ โดยสามัญเรียกลักษณะของเสมาแบบนี้ว่า เสมานั่งแท่น ซึ่งพาลัยและเสมานั่งแท่นถือเป็นลักษณะเอกลักษณ์ของโบสถ์สมัยอยุธยาตอนปลาย โดยเฉพาะตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นต้นมา

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดไชยทิศ ถือเป็นผลงานสำคัญที่ผู้สนใจงานศิลปะประเภทจิตรกรรมฝาฝนังต้องมาศึกษาเยี่ยมชม ในพระอุโบสถของวัดมีภาพจิตรกรรมเขียนไว้เต็มฝาผนังทั้ง 4 ด้าน แต่ภาพบางส่วนเสียหายจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ในปีพุทธศักราช 2485 โดยเฉพาะบริเวณระหว่างช่องประตูหน้าต่างที่น้ำท่วมถึง

 

แต่ถือเป็นความโชคดีเนื่องจากส่วนที่ถือเป็นหัวใจของเรื่องราวต่างๆ ในแต่ละภาพอยู่เหนือรอยน้ำท่วมขึ้นไป เป็นภาพจิตรกรรมฝาฝนังที่ถือว่าเป็นงานศิลปะชิ้นเอกหลายต่อหลายชิ้น ซึ่งกรมศิลปากรได้เข้ามาดำเนินการอนุรักษ์เมื่อต้นทศวรรษ 2550 ทำให้ปัจจุบันภาพจิตรกรรมต่างๆ อยู่ในสภาพที่เห็นรายละเอียดได้ชัดเจนและมีสีสันสวยงาม

 

ภาพจิตรกรรมของวัดไชยทิศ แต่เดิมเขียนขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่มากกว่าครึ่งหนึ่งมีการซ่อมแซมและเขียนเพิ่มเติมในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ภาพฝาผนังส่วนเหนือช่องประตูหน้าต่างที่อยู่ด้านข้างพระประธานเขียนลายดอกมณฑารพ ซึ่งเป็นดอกไม้สวรรค์ที่ล่วงลงมาตอนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ตัวดอกไม้ใบไม้เขียนด้วยสีทองบนพื้นสีแดงแลดูสดใส

 

ผนังด้านหลังพระประธานเหนือช่องประตูเขียนเป็นภาพไตรภูมิตามขนบสมัยอยุธยา เน้นความสำคัญของพระจุฬาเจดีย์มณีบนยอดเขาพระสุเมรุ และภาพเทพยดาวิทยาธรเหาะมาสักการะบูชาพระจุฬามณีเจดีย์ ผนังด้านหน้าพระประธานโดยปกติตามขนบเดิมนิยมเขียนภาพมารผจญ แต่ของวัดไชยทิศเขียนเป็นภาพพุทธประวัติแบ่งเป็น 3 เรื่อง ได้แก่ การแสดงธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ และการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ

 

ระหว่างช่องประตูหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติจากคัมภีร์ปฐมสมโภช ล้วนแล้วแต่วาดตัวละครต่างๆ ได้อย่างปราณีตงดงาม อาทิ ภาพตอนพระอินทร์อาราธนาพระโพธิสัตว์อุบัติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ภาพพระพุทธมารดาประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ ภาพพระพุทธบิดาประกอบพิธีแรกนาขวัญและเจ้าชายสิทธัตถะได้ปฐมฌาน ภาพอสิตดาบสทำนายเจ้าชายสิทธัตถะ ภาพเสด็จออกมหาภิเนษกรม

 

รวมถึง ภาพมารผจญ ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพที่มีการนำไปลงตีพิมพ์ในหนังสือภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นจำนวนมาก จึงเห็นได้ว่าพระอุโบสถวัดไชยทิศมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่น่าสนใจอยู่มากมาย ซึ่งผู้พิสมัยการชมภาพจิตรกรรมฝาผนังสวยๆ สามารถใช้เวลาชมและศึกษาภาพจิตรกรรมของวัดอยู่ได้ทั้งวัน

พระพุทธมณเฑียร

วันที่ออกอากาศ: 30 พฤศจิกายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

หมู่พระพุทธมณเฑียร เป็นหมู่อาคารพระที่นั่งที่สร้างขึ้นพร้อมๆ กับหมู่พระอภิเนานิเวศน์ทางด้านทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวังในช่วงต้นรัชกาลที่ 4 ปัจจุบันยังคงเหลืออาคารอยู่ 2 หลัง ซึ่งเป็นอาคารสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ได้รับมีการรื้อถอนอาคารในหมู่พระอภิเนานิเวศน์หมดสิ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหมู่พระพุทธมณเฑียรค่อนข้างจะมีน้อยเมื่อเทียบกับหมู่พระอภิเนานิเวศน์ ซึ่งมีทั้งข้อมูลเอกสารและภาพถ่ายจำนวนมากในสมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงต้นรัชกาลที่ 5

 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธนิเวศน์หรือพระพุทธมณเฑียรส่วนหนึ่งได้มาจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุญนาค) ได้อธิบายมูลเหตุของการโปรดเกล้าให้สร้างหมู่อาคารดังกล่าวในพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นสวนขวาในสมัยรัชกาลที่ 1 แล้วมาสร้างตกแต่งครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 2 อย่างวิจิตรงดงาม โดยสร้างพระที่นั่งแฟดแบบไทยประเพณีทรงโบสถ์วิหารติดกัน 3 หลัง คล้ายกับพระที่นั่งจักรพรรดิ์พิมานในหมู่พระมหามณเฑียร

 

ครั้นมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้ปรับปรุงพื้นที่ในบริเวณนี้เสียใหม่ ซึ่งโปรดให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างเดิมหลายอาคาร แต่ทรงละพระที่นั่ง 3 องค์นี้ไว้ โปรดให้แก้ไขลวดลายบนผนังจากเดิมเขียนลายทองบนพื้นชาดสีแดงเป็นลายทองลายรดน้ำ รวมทั้งเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระปฐมสมโภชน์และพุทธประวัติซึ่งทรงค้นคว้าจากคัมภีร์พระสูตรต่างๆ

 

ในพระที่นั่งองค์กลางโปรดเกล้าให้ประดิษฐานพระเจดีย์ทองเหลืองซึ่งทรงกะไหล่ทองคำทั้งองค์ ฐานกว้าง 3 ศอก สูง 7 ศอก สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ทั้งยังโปรดให้สร้างเครื่องตกแต่งต่างๆ เป็นเครื่องบูชาไว้อย่างวิจิตรพิสดาร พระราชทานนามใหม่ให้เรียกว่า พระพุทธมณเฑียร หรือ พระพุทธนิเวศน์ เพื่ออุทิศให้เป็นพระมณเฑียรสำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือเป็นพระราชกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถ

 

ทางด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่ง 3 องค์นี้ซึ่งหันไปทางพระมหามณเฑียร โปรดเกล้าให้สร้างปราสาทหลังน้อยองค์หนึ่งชื่อ พระที่นั่งมหิศรปราสาท หน้าบันของมุกทั้ง 4 ด้านจำหลักไม้เป็นภาพพญาช้างเผือกยืนโรงหันหลังชนกัน 4 เชือก ซึ่งเป็นตราพระบรมราชสัญลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและคัมภีร์พระไตรปิฏก

 

ทางด้านตะวันออกโปรดเกล้าให้สร้างเป็นพระอุโบสถประจำพระพุทธนิเวศน์ กรุผนังภายนอกด้วยหินอ่อนสีเทา เป็นพระอุโบสถขนาดเล็กเรียกว่า พระพุทธรัตนสถาน สำหรับประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิ์พิมนมณีมัย หรือ พระแก้วขาว เป็นพระแก้วประจำรัชกาลที่ 2  ซึ่งทรงอัญเชิญจากนครจำปาศักดิ์

 

จากนั้นทรงสร้างอาคารที่เป็นองค์ประกอบของโบสถ์วิหารจำนวนมากในบริเวณพระพุทธรัตนสถาน อาทิ หอระฆัง ศาลาราย เครื่องตกแต่งบูชาต่างๆ ขณะเดียวกันก็สร้างกำแพงแก้วล้อมอาณาบริเวณหมู่พระพุทธมณเฑียร ซึ่งถือเป็นพระอารามอีกแห่งหนึ่งในพระบรมมหาราชวัง

 

ภายหลังได้ใช้เป็นที่จำพรรษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงพระผนวชเป็นสามเณร ตั้งแต่สมัยยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ และอีกครั้งทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อเจริญพระชนม์มายุ 21 พรรษา ซึ่งเป็นช่วงภายหลังจากทรงรับพระราชสมบัติแล้ว

ภายหลังจำเป็นต้องรื้อถอนหมู่พระพุทธมณเฑียรเช่นเดียวกับหมู่พระอภิเนานิเวศน์ เนื่องจากวัสดุต่างๆ ที่ใช้ก่อสร้างเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว แต่มีพระราชดำริให้เก็บอาคารไว้ 2 หลัง ได้แก่ พระที่นั่งมหิศรปราสาท และพระพุทธรัตนสถาน ทั้งตัวพระอุโบสถ ศาลาราย และหอระฆัง ปัจจุบันพระอุโบสถตั้งอยู่ในสนามหญ้าของสวนศิวาลัย ส่วนพระที่นั่งมหิศรปราสาทตั้งอยู่บนกำแพงสูงซึ่งกั้นระหว่างสวนศิวาลัยกับเขตพระราชฐานชั้นในด้านพระมหามณเฑียร

พระบรมราชานุสาวรีย์และศาลสมเด็จพระนเรศวร

วันที่ออกอากาศ: 18 มกราคม 2558
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

วันที่ 18 มกราคม ถือเป็นวันกองทัพไทย โดยมีพิธีถวายสักการะพระบรมราชาอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี  ทั้งนี้ กองทัพไทยได้เอาเหตุการณ์ในพระบรมราชพงศาวดาร การกระทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชแห่งกรุงหงสาวดี มากำหนดฤกษ์ในการเชิดชูเกียรติภูมิของกองทัพไทย

 

การสร้างพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ สร้างจากข้อสันนิษฐานของพระบาทพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ว่าบริเวณดอนเจดีย์ที่มีฐานของเจดีย์โบราณน่าจะเป็นองค์เดียวกันกับพระเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดให้สร้างเพื่อประดิษฐานพระศพของพระมหาอุปราชแห่งหงสาวดี ซึ่งหมายรวมถึงอนุสรณ์ที่ทรงมีชัยชนะในสงครามยุทธหัตถี

 

รัฐบาลไทยจึงได้สร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ครอบรากฐานพระเจดีย์เดิม โดยมีลักษณะเป็นสถูปทรงลังกาแบบเดียวกับพระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลที่อยุธยา ซึ่งเป็นพระเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรฯ โปรดเกล้าให้บูรณะใหม่ภายหลังจากทรงมีชัยชนะในสงครามยุทธหัตถี

 

นอกจากนี้ ยังได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประทับบนช้างศึกแต่งเครื่องทรงพร้อมเข้าสู่การกระทำยุทธหัตถี ซึ่งเรียกสถานที่บริเวณนั้นโดยรวมว่า พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ มีการกำหนดวันสักการะโดยคำนวณวันเดือนปีจากพระราชพงศาวดารจนสรุปให้เป็นวันที่ 18 มกราคม ของรอบปี

 

พระบรมราชานุสาวรีย์ดอนเจดีย์ที่สุพรรณบุรี ถือเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรฯ แห่งแรก สร้างขึ้นในราวทศวรรษที่ 2500 หลังจากนั้นก็มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์และศาลสมเด็จพระนเรศวรฯ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนับได้มากกว่า 30 แห่ง

 

เฉพาะในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเดิมเป็นราชธานีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงครองราช ก็มีจำนวนถึง 4 แห่งกระจายตามพื้นที่ต่างๆ พระบรมราชานุสาวรีย์ที่รู้จักกันดีอยู่ที่ทุ่งภูเขาทอง สร้างขึ้นโดยพระบรมราชูปถัมภ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ นอกจากนี้ก็มีอยู่ที่วัดใหญ่ชัยมงคล และมีศาลสมเด็จพระนเรศวรฯ ตั้งอยู่ในจังหวัดอีก 2 แห่ง

 

ในจังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ ก็มีพระบรมราชานุสาวรีย์อยู่ในเขตเทศบาลสุพรรณบุรี เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายทรงพระแสงดาบ อีกแห่งหนึ่งอยู่ที่วัดชัยนาวาส เขตอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลกมีพระบรมราชานุสาวรีย์หลายแห่ง เนื่องจากตามพระราชประวัติเป็นเมืองที่พระองค์ประสูติและประทับอยู่ขณะทรงดำรงพระอิศริยยศเป็นพระมหาอุปราช อาทิ ในพระราชวังจันทร์มีศาลประดิษฐานพระบรมรูปหล่อสำริด ในค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รวมถึงในมหาวิทยาลัยเรศวร

 

ในพื้นที่ภาคเหนือของไทยตั้งแต่ลำปาง เชียงใหม่ จนถึงแม่ฮ่องสอน มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ตลอดเส้นทาง ซึ่งเป็นบริเวณที่ทรงเดินทัพผ่านในอดีต อาทิ อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อำเภอเมืองงาย อำเภอเชียงดาว อำเภอฝาง อำเภอแม่แตง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภอแม่เสรียง อำเภอขุนยวม อำเภอแม่ฮ่องสอน เป็นต้น

 

การสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สะท้อนให้เห็นถึงสำนึกและการรับรู้ของคนไทยต่อความยิ่งใหญ่ของพระราชวีรกรรมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พระบรมราชานุสาวรีย์แต่ละแห่งล้วนมีความเกี่ยวข้องกับพระราชประวัติ สมรภูมิที่ทรงมีชัยชนะ หรือแม้แต่เส้นทางเดินทัพ

 

รัฐบาลยังได้กำหนดวันที่ระลึกถึงพระองค์ไว้ถึง 2 วันในรอบปี ได้แก่ วันที่ 18 มกราคม ในวันกองทัพไทย หรือที่เรียกกันว่า วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งมีพิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ แต่มีความเกี่ยวข้องกับพิธีการทางทหารมากกว่า และวันที่ 25 เมษายนของปี ซึ่งตรงกับวันเสด็จสวรรคต เป็นวันสำหรับวางพวงมาลาถวายสักการะเพื่อสดุดีวีรกรรมของพระองค์โดยเฉพาะ  

ความสำคัญของหน้าบัน

วันที่ออกอากาศ: 26 สิงหาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

หน้าบัน เป็นองค์ประกอบหนึ่งในโครงสร้างหลังคาของอาคารสถาปัตยกรรมไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนิยมสร้างหลังคาในรูปทรงสามเหลี่ยมที่มีความลาดเอียงและมีเพดานสูงโปร่งโล่ง อันตอบสนองต่อสภาพภูมิอากาศของภูมิภาค ทั้งนี้ ความลาดเอียงของหลังคาจะช่วยระบายน้ำฝนในฤดูฝน และพื้นที่ภายในหลังคาจะช่วยระบายความร้อนในฤดูร้อน

 

ลักษณะของหลังคาสามเหลี่ยมจะทำให้เกิดช่องว่างด้านหน้าและด้านหลัง ดังนั้น เพื่อป้องกันน้ำฝนสาดและป้องกันสัตว์ต่างๆ ไม่ให้เข้ามาทำรังอาศัย จึงจำเป็นต้องทำหน้าจั่วปิดทึบช่องว่างดังกล่าว ซึ่งในการก่อสร้างอาคารสถาปัตยกรรมของชนชั้นสูง อาทิ โบสถ์ วิหาร ศาลา หรือตำหนักที่ประทับต่างๆ มักนิยมตกแต่งลวดลายให้กับหน้าจั่วเพื่อความสวยงาม โดยเรียกหน้าจั่วที่ตกแต่งลวดลายแล้วว่า หน้าบัน    

 

วิวัฒนาการของหน้าบันมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เห็นได้จากโบราณสถานสมัยขอมที่สร้างขึ้นมาก่อนการเกิดรัฐของประชาคมคนไทย อาทิ ปราสาทหิน เทวาลัย เทวสถาน ซึ่งใช้หิน อิฐ หรือศิลาแลงในการก่อสร้างอาคาร

 

มีการตกแต่งหน้าบันด้วยการแกะสลักลงไปในเนื้อหิน เนื้ออิฐ หรือศิลาแลง โดยนิยมทำลวดลายเป็นรูปเทพเจ้าต่างๆ ในศาสนาพราหมณ์ เช่น พระอิศวร พระวิษณุหรือพระนารายณ์ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ หรือเรื่องราวในมหากาพย์ต่างๆ เช่น มหาภารตะ รามเกียรติ์ เป็นต้น

 

หลังจากที่ประชาคมคนไทยรวมตัวก่อตั้งรัฐขึ้น ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา นิยมสร้างอาคารสถาปัตยกรรมต่างๆ ด้วยไม้ หน้าบันจึงถูกสร้างขึ้นด้วยไม้ด้วย โดยใช้เทคนิคการแกะสลักมาตกแต่งลวดลาย ซึ่งในช่วงแรกนิยมแกะสลักเป็นลวดลายพรรณพฤกษาต่างๆ ที่ค่อนข้างเรียบง่าย ตัวอย่างของหน้าบันไม้ในสมัยสุโขทัยที่สามารถเห็นได้ในปัจจุบันคือ หน้าบันของวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีมหาธาตุฯ จังหวัดพิษณุโลก  

 

ต่อมาในสมัยอยุธยาจึงทำลวดลายหน้าบันที่วิจิตรงดงามมากยิ่งขึ้น โดยนิยมแกะสลักเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ จนมาในสมัยของรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 3 โครงสร้างหลังคาอาคารต่างๆ นิยมก่อสร้างด้วยอิฐหรือปูน การตกแต่งหน้าบันได้รับอิทธิพลศิลปะของจีนโดยนำกระเบื้องหรือเครื่องกังไสของจีนมาตกแต่งลวดลายเป็นรูปสิ่งของหรือสัตว์มงคลต่างๆ ของจีน เช่น รูปดอกโบตั๋น ซึ่งเป็นดอกไม้มงคลของจีน ต่อมานิยมตกแต่งเป็นรูปพระปรมาภิไธยย่อของพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อบ่งบอกถึงผู้สร้างหรือผู้อุปถัมภ์ของวัดนั้นๆ

 

วัตถุประสงค์ของการสร้างหน้าบันนั้น เพื่อบ่งบอกถึงฐานานุศักดิ์ ความสำคัญ และประวัติความเป็นมาของสิ่งก่อสร้าง ด้วยเป็นขนบธรรมเนียมของการก่อสร้างอาคารสถาปัตยกรรมในสังคมไทยที่นิยมแสดงให้เห็นถึงฐานันดรศักดิ์ของผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งจะตกแต่งองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้างรวมถึงหน้าบันให้มีความวิจิตรงดงามแตกต่างกันตามฐานะ

 

สังเกตได้ว่าอาคารในเขตพระราชทาน เช่น พระที่นั่ง ตำหนัก วังที่ประทับของเจ้านาย หรืออาคารที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างเช่น โบสถ์ วิหาร กุฏิ ศาลา โดยเฉพาะในวัดหลวงสำคัญๆ มีการตกแต่งลวดลายหน้าบันให้วิจิตรงดงามและอลังการมากกว่าสิ่งก่อสร้างของสามัญชน ทั้งในเรื่องเทคนิคการตกแต่ง ความชำนาญของช่างฝีมือ และการออกแบบลวดลายที่มีความซับซ้อน ตลอดจนการอัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ หรือตราประจำพระองค์ ไปประดิษฐานเป็นลวดลายหน้าบัน

 

สำหรับสิ่งก่อสร้างของสามัญชนอย่าง ส่วนใหญ่จะไม่มีการแกะสลักตกแต่งหน้าจั่ว มักนิยมใช้แผ่นไม้ต่อกันเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วเรียบๆ หรือหากเป็นวัดวาอารามของของราษฎรมักนิยมแกะสลักตกแต่งหน้าบันเป็นลวดลายง่ายๆ เช่น ลายกนก ลายพรรณพฤกษา เป็นต้น

ความสำคัญของพระมณเฑียรธรรม

วันที่ออกอากาศ: 19 ตุลาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

หอพระมณเฑียรธรรม เป็นอาคารสถานสำคัญแห่งหนึ่งในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชตั้งแต่แรกสถาปนาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่ามีฐานะเสมือนเป็นหอไตร หมายถึงหอเก็บคัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งถือเป็นอาคารสำคัญหนึ่งในเป็นองค์ประกอบของวัดในประเทศไทย

 

แต่อันที่จริงหอพระมณเฑียรธรรมไม่ได้มีแต่เฉพาะในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ยังพบว่าในสมัยอยุธยา ภายในวัดพระศรีสรรเพชรก็มีวิหารในชื่อเดียวกันและใช้ในบทบาทหน้าที่เดียวกันกับหอพระมณเฑียรธรรม จึงแสดงให้เห็นว่าหอพระมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นการสืบธรรมเนียมมาจากวัดพระศรีสรรเพชร และไม่ได้มีความสำคัญในฐานะหอไตรเก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกเท่านั้น

 

โดยทั่วไป หอไตรเป็นอาคารขนาดเล็กพอให้ภิกษุสามเณรขึ้นไปเปิดตู้หนังสือค้นคว้าคัมภีร์ได้ แต่หอพระมณเฑียรธรรมทั้งในวัดพระศรีสรรเพชรและวัดพระศรีรัตนศาสดารามกลับสร้างเป็นวิหารขนาดใหญ่ หอพระมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดารางสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 ประมาณปี 2332 ซึ่งไม่ได้ใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ เป็นฉบับที่ได้รับการสังคายนาในรัชกาลที่ 1 แต่โปรดเกล้าให้สร้างพระมณฑปประดิษฐานไว้บนฐานไพทีใกล้ๆ กับพระอุโบสถ ปัจจุบันนี้พระมณฑปองค์นี้ขนาบด้วยพระศรีรัตนเจดีย์และพระพุทธปรางค์ปราสาท (ปราสาทพระเทพบิดร)

 

ส่วนหอพระมณเฑียรธรรมสร้างอยู่ตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของวัดพระแก้ว ภายในหอพระมณเฑียรธรรมมีตู้พระธรรมศิลปะอยุธยาและศิลปะรัตนโกสินทร์จำนวนหลายตู้ ใช้ประดิษฐานคัมภีร์พระไตรปิฎกที่เรียกกันว่า "ฉบับครูเดิม" ซึ่งรวบรวมมาจากหัวเมืองต่างๆ มาตั้งแต่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

 

จากข้อมูลต่างๆ พบว่าหอพระมณเฑียรธรรมมิได้มีหน้าที่เพียงแค่ใช้เก็บพระไตรปิฎกฉบับเก่าเท่านั้น การที่สร้างอาคารเป็นวิหารขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ใช้สอยมากและมีระเบียงให้เดินได้โดยรอบ อีกทั้งตัวอาคารยังถือเป็นสถาปัตยกรรมชั้นเยี่ยมหลังหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่ได้สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถ นำช่างสกุลวังหน้ามาร่วมสร้างหอพระมณเฑียรนี้ด้วย ย่อมสะท้อนให้ถึงภารกิจหน้าที่สำคัญในการใช้สอยอาคารหลังนี้

 

นั้นคือการใช้เป็นสถานที่ทำงานของราชบัณฑิตทางพระพุทธศาสนา หมายถึงบัณฑิตผู้รู้ธรรมในพุทธศาสนา ผู้ที่เคยบวชเรียนจนสำเร็จเปรียญแต่ได้ลาสิขาออกมา ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินในสมัยอยุธยาก็โปรดเกล้าให้มารับราชการแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตประจำกรมสังฆการี มีหน้าที่บอกหนังสือพระสงฆ์หรือสอนหนังสือแก่พระสงฆ์ที่รับการคัดเลือกให้มาเรียนเปรียญ

 

นอกจากนี้ หอพระมณเฑียรธรรมยังเป็นสถานที่แปลพระราชสาสน์และเอกสารทางฑูตต่างๆ รวมถึงการจารึกพระราชสาสน์ลงแผ่นทองคำ จึงเป็นสถานที่ทำงานของอารัก คล้ายๆ เป็นหน่วยงานสารบรรณที่เกี่ยวกับการโต้ตอบจดหมายทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

จวบจนสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา บทบาทของหอพระมณเฑียรธรรมได้ลดความสำคัญลง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้สร้างเก๋งบอกพระปริยัติธรรมนอกระเบียงคตของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อใช้สอนหนังสือสำหรับภิกษุสามเณรแทน เพื่อรองรับจำนวนผู้เรียนเพิ่มมากขึ้น

 

สำหรับงานด้านพระราชสาสน์การฑูตซึ่งมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ภายหลังก็มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบเป็นกิจลักษณะ ปัจจุบัน หอพระมณเฑียรธรรมเป็นสถานที่จัดเก็บพระไตรปิฎกฉบับครู รวมถึงเป็นที่เก็บรักษาศิลปะวัตถุสำคัญ ได้แก่ บานประตูประดับมุกที่มีลวดลายที่วิจิตรงดงาม ซึ่งเป็นบานประตูเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา

กุฏิสงฆ์

วันที่ออกอากาศ: 24 พฤศจิกายน 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

คำว่า กุฏิ หรือ กุฎี เป็นคำภาษามคธ พบในพระไตรปิฎก พระสูตร พระพุทธวจนะ หมายถึงที่อยู่ของสงฆ์

 

แต่เดิมที่เมื่อพระพุทธเจ้าทรงออกมหาพิเนษกรมณ์หรือการออกผนวช ทรงละทิ้งทรัพย์สมบัติทุกสิ่งแม้กระทั่งที่อยู่อาศัย เสด็จจาริกเพื่อทรงบำเพ็ญเพียร ต้องอาศัยตามร่มไม้ ถ้ำ ชายป่า หรือริมฝั่งน้ำเป็นที่ประทับ หลังจากทรงตรัสรู้ก็แสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 บริเวณที่ประทับในป่า ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีธรรมเนียมการสร้างที่อยู่ถวายให้พระสงฆ์ 

 

ตามพุทธประวัติ พระเจ้าพิมพิสารถวายป่าไผ่เป็นพระเวฬุวัน ถือเป็นอารามแห่งแรกในพุทธศาสนาสำหรับแสดงธรรมหรือชุมนุมสงฆ์ และใช้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้ากับพระสาวก จึงเกิด กุฎี หรือ กุฏิ เป็นครั้งแรก ซึ่งมีความกว้างยาวเพียงแค่ประทับนั่งหรือนอนได้เท่านั้น ที่เรียกว่า คันธกุฎี

 

ภายหลังเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน กษัตริย์ในชมพูทวีปรุ่นหลังได้อุทิศถ้ำเป็นวิหาร อาราม และที่อยู่ของพระสงฆ์ อาทิ ถ้ำอชันต้า  ถ้ำตุนหวงในประเทศจีน ในประเทศไทยก็พบถ้ำหลายแห่งตกแต่งเป็นศาสนสถานทางพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยทรารวดี เช่น กลุ่มถ้ำฤาษีที่ราชบุรี ถ้ำเขาถมอรัฐที่เมืองศรีเทพ เป็นต้น

 

การสร้างที่อยู่สงฆ์ในลักษณะ คันธกุฎี ตามพุทธบัญญติ สามารถย้อนได้ถึงสมัยสุโขทัยพบการสร้างกุฏิขนาดที่ใช้สำหรับนั่งกับนอนได้เท่านั้น รวมถึงกุฏิสงฆ์ในวัดล้านนาโบราณซึ่งเป็นยุคร่วมสมัยกับสุโขทัย

 

แม้แต่การสร้างวิหารให้พระพุทธรูปในสมัยสุโขทัยก็สร้างเพียงในลักษณะมณฑป ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งอยู่ได้เพียงองค์เดียวซึ่งไม่สามารถทำพิธีกรรมในนั้นได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคติของที่อยู่สงฆ์แบบคันธกุฎี

ต่อมาภายหลัง คณะสงฆ์มีบทบาทเกี่ยวข้องกับชุมชุมเมืองมากขึ้น มีแนวคิดให้วัดเป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิชาความรู้และเป็นศูนย์กลางของชุมชน จึงจำเป็นต้องสร้างให้วัดมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับจำนวนของพระสงฆ์

 

การสร้างที่อยู่ของสงฆ์จึงได้เปลี่ยนแปลงจนมีลักษณะของการสร้างหมู่เรือนแบบฆราวาส ซึ่งรูปแบบการสร้างวัดในสมัยหลังมักมีความเกี่ยวข้องกับฐานะทางเศรษฐกิจของผู้สร้างถวายด้วย โดยเฉพาะวัดที่สร้างโดยพระมหากษัตริย์ เจ้านายเชื้อพระวงศ์ หรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ที่มีฐานมั่งคั่ง มักมีหมู่เรือนขนาดใหญ่รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในวัดด้วย

 

รวมถึงการที่พระสงฆ์มีกิจต้องประกอบพิธีกรรมต่างๆ สำหรับญาติโยม โดยเฉพาะพระสงฆ์ฝ่ายคันถธุระคือพระฝ่ายบ้าน หรือการใช้วัดเพื่อเป็นสถานศึกษา จำเป็นต้องปรับปรุงให้เรือนต่างๆ รวมทั่งกุฏิมีขนาดใหญ่โตขึ้นเพื่อรองรับการกิจกรรมเหล่านี้

 

ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการปรับปรุงกุฏิไม้ในพระอารามหลวงต่างๆ เป็นกุฏิตึก 2 ชั้น ลักษณะเดียวกับตำหนักเจ้านาย  เช่น วัดพระเชตุพน วัดราชโอรสาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสริต วัดสุทัศนเทพวราราม วัดอรุณราชวราราม เป็นต้น ในสมัยรัชกาลที่ 4-6 ทรงโปรดให้สร้างกุฏิวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชาธิราช ในลักษณะสถาปัตยกรรมตะวันตก  

 

ในปัจจุบัน กุฏิตามหลัก คันธกุฎี คือ มีความกว้าง 3 ศอกคืบ ยาว 4 ศอก ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เกิดความติดอยู่กับการครองเรือนได้ ยังสามารถพบเห็นในวัดป่าต่างๆ เนื่องจากความตั้งใจปฏิปทาของพระป่าคือมุ่งวิปัสสนาเพื่อบรรลุการหลุดพ้น กุฏิวัดป่าส่วนใหญ่จึงยังมีขนาดเล็กสร้างด้วยไม้หรืออาจสร้างด้วยการก่ออิฐก็ได้ มีขนาดพอใช้จำพรรษาสำหรับสงฆ์หนึ่งรูปสำหรับนั่งและนอนได้  

กระเบื้องในศิลปะไทย

กระเบื้อง ใช้ในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมไทยมาตั้งแต่ยุคโบราณ นับย้อนได้ตั้งแต่ก่อนยุคสุโขทัย โดยมีประโยชน์ใช้สอยอย่างมากมาย อาทิ การมุงหลังคา การปูพื้นปูผนัง การประดับตกแต่ง เป็นต้น

 

เราสามารถเห็นกระเบื้องที่ประโยชน์ในองค์ประกอบต่างๆ ของวัดไทย ตั้งแต่หลังคา ช่อฟ้าใบระกา เชิงชาย ฐานพื้นและฝาผนังของโบสถ์วิหาร ไปจนถึงกำแพงแก้วก็ใช้กระเบื้องตกแต่งเป็นซี่ลูกกรงหรือลวดลายโปร่งของกำแพง

 

ซึ่งกระเบื้องที่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างทางศิลปกรรมของไทยมาตั้งแต่โบราณ มีทั้งกระเบื้องที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ กระเบื้องสำเร็จที่นำเข้ามา รวมถึงกระเบื้องสั่งทำตามแบบในต่างประเทศ

 

กระเบื้อง ถือเป็นเครื่องปั้นดินเผาชนิดหนึ่งของไทย แบ่งออกเป็น กระเบื้องเคลือบ และ กระเบื้องไม่เคลือบ โดยกระเบื้องเคลือบจะเคลือบน้ำยาก่อนนำไปเผา ทำให้มีความทนทานมากขึ้น มีสีสันสดใส และไม่ซึมน้ำ

 

ส่วนกระเบื้องไม่เคลือบจะมีผิวด้าน สีออกเป็นธรรมชาติของดิน น้ำสามารถซึมเข้าในเนื้อกระเบื้องได้ ซึ่งความชื้นจะทำให้กระเบื้องเสื่อมสภาพเร็วกว่ากระเบื้องเคลือบ

 

ในการศึกษารูปแบบกระเบื้องยุคสุโขทัย พบว่า เครื่องกระเบื้องเป็นวัสดุก่อสร้างสำคัญในการสร้างโบสถ์วิหาร พระสถูปเจดีย์  การขุดค้นทางโบราณคดีมักพบเศษกระเบื้องกระจัดกระจายอยู่ตามบริเวณรอบโบสถ์วิหาร กระเบื้องที่นิยมมาก คือ เครื่องเคลือบที่เรียกว่า เครื่องสังคโลก ซึ่งผลิตขึ้นเองในสมัยนั้น

 

ตัวอย่างของการใช้กระเบื้องเคลือบที่โดดเด่น คือ ซี่ลูกกรงของพนังกำแพงแก้วของวัดมังกร ซึ่งเป็นวัดร้างเล็กๆ แห่งหนึ่งในเขตอรัญญิกทางตะวันตกของเมืองเก่าสุโขทัย ปัจจุบันยังพบกำแพงแก้วของสถูปเจดีย์หลงเหลืออยู่ ลูกกรงของกำแพงแก้วทำด้วยสังคโลกเคลือบสีน้ำตาลอ่อนๆ สวยงามมาก 

 

ในสมัยอยุธยาตอนต้น ยังคงมีความสืบเนื่องของการผลิตเครื่องกระเบื้องสังคโลกอยู่บ้าง จนมาหยุดผลิตไปในช่วงที่เริ่มทำสงครามกับพม่า ซึ่งผู้คนในกลุ่มเมืองสุโขทัยถูกกวาดต้อนจนทำให้ต้องทิ้งเมือง รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตเครื่องกระเบื้อง

 

ทำให้การสร้างวัดวาอารามของอยุธยาในสมัยต่อๆ มา ส่วนใหญ่มักใช้กระเบื้องดินเผาไม่เคลือบ จะเห็นว่าสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาจะมีไม่ค่อยสดใส เป็นกระเบื้องหยาบๆ สีดิน สีอิฐ ทั้งนี้ กระเบื้องเคลือบเป็นของหายากและมีราคาสูง

 

เราพบหลักฐานว่า หากมีวัดวาอารามแห่งใดนำกระเบื้องเคลือบมาใช้ก็จะกลายเป็นที่โจทย์ขาน เช่น วัดบรมพุทธาราม ซึ่งสมเด็จพระเพทราชา กษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์บ้านภูหลวง ทรงสร้างขึ้นโดยใช้กระเบื้องเคลือบมุงหลังคาและตกแต่งโบสถ์วิหาร จนทั่วทั้งกรุงเรียกวัดนี้ว่า วัดกระเบื้องเคลือบ แต่ปัจจุบันปรักหักพังลงเหลือให้เห็นเป็นเศษกระเบื้องเคลือบกระจายรอบๆ พื้นที่ 

 

การใช้กระเบื้องเคลือบกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ การติดต่อค้าขายกับจีนทำให้เกิดเทคนิคการทำกระเบื้องมากขึ้น โดยเฉพาะกระเบื้องเขียนลาย ในช่วงรัชกาลที่ 2-3 ได้นำเข้ากระเบื้องเขียนลวดลายจากจีนเข้ามาตกแต่งวัดวาอารามมากมาย เช่น วัดเทพธิดา วัดราชโอรสาราม วัดกัลยาณมิตร วัดเฉลิมพระเกียรติ

 

จนในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าให้ตั้งโรงเผากระเบื้องเคลือบใช้เองที่วัดสระเกศฯ จึงทำให้เทคนิคในการใช้กระเบื้องเคลือบเพื่อบูรณะวัดได้รุ่งเรืองสืบต่อมาในรัชกาลที่ 4-5 ซึ่งพบว่าในรัชกาลที่ 5 ทรงใช้กระเบื้องสั่งทำที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ เป็นกระเบื้องที่มีลวดลายงดงามทั้งในแบบไทย จีน และตะวันตก 

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้กระเบื้องสีเบญจรงค์แบบไทยมาตกแต่งโบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แต่เป็นกระเบื้องนำเข้ามา โดยออกแบบแล้วสั่งให้ช่างจีนทำเป็นลายไทยสีเบญจรงค์ ทำให้สถาปัตยกรรมในวัดราชบพิธใช้กระเบื้องสีเบญจรงค์ที่สดใสมากมาจนทุกวันนี้

ฮูปแต้ม

ฮูปแต้ม เป็นความงามที่ซ่อนอยู่ในสิมอีสาน หรือก็คือภาพจิตรกรรมฝาผนังของโบสถ์ในภาษาภาคกลาง แต่เนื่องจากผู้ที่สร้างสรรค์งานฮูปแต้มส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านหรือพระภิกษุในวัด จึงทำให้ผลงานมีความต่างกับงานจิตรกรรมโดยฝีมือช่างหลวงในภาคกลาง ซึ่งมีความประณีตวิจิตรบรรจงตามกำลังทุนทรัพย์ที่รัฐอุปถัมภ์ให้

 

ผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบอีสาน อาจเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ทางจิตรกรรมมาก่อน จึงทำให้ความสวยงามของภาพค่อนข้างธรรมดา แต่มีสิ่งที่สำคัญกว่าคือการสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญา วิถีชีวิต และเรื่องราวในการดำเนินชีวิตของผู้คนในภาคอีสานออกมาเป็นชีวิตจิตใจ 

 

คำว่า ฮูปแต้ม ถ้าออกเสียงในภาษากลางก็คือ รูปแต้ม หมายถึงภาพที่มาจากการแต้มสี ผู้ที่วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังในภาคกลางเรียกว่า ช่างวาด หรือ จิตรกร แต่ในอีสานเรียกผู้เขียนฮูปแต้มว่า ช่างแต้ม เป็นการใช้ภาษาสื่อความหมายที่ตรงไปตรงมา

 

เราสามารถชมฮูปแต้มในสิมอีสานทั้งผนังด้านในและด้านนอกของสิมเท่านั้น ซึ่งวาดเป็นภาพต่อเนื่องกัน มีขนบธรรมเนียมการวาดคล้ายกับภาคกลาง คือ นิยมวาดเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้าปัญจระ ภาพมารผจญ ภาพไตรภูมิ

 

หรือแม้แต่ชาดกตามคติพุทธศาสนาเถรวาท เช่น ทศชาติชาดก หรือชาดกที่คนอีสานนับถือมากอย่าง เวสสันดรชาดก แต่สำนวนของภาคอีสานจะมีลักษณะคล้ายกับนิทานพื้นบ้าน ซึ่งเนื้อเรื่องบางตอนไม่ตรงกับภาคกลาง ภาพสัตว์ที่มีคุณกับพระพุทธศาสนา อาทิ ช้าง นาค ก็ปรากฏอยู่มากในฮูปแต้มอีสาน

 

นอกจากนี้ ยังมีภาพที่สะท้อนให้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน เช่น ภาพเครื่องแต่งกายของชาวบ้านและพระภิกษุสงฆ์ในท้องถิ่น ภาพประเพณีงานบุญต่างๆ หรือภาพขบวนเกวียน วัวต่าง ม้าต่าง ที่ขนสินค้าระหว่างพื้นที่เมืองต่างๆ ในภาคอีสาน รวมถึงเรื่องการจับสัตว์น้ำ การทอดแหจับปลา การนำปลามาทำปลาแดกหรือปลาร้า 

 

สำหรับเทคนิคการวาดฮูปแต้มนั้น จะไม่มีการร่างภาพเหมือนจิตรกรรมฝาผนังในภาคกลางที่ต้องใช้กระดาษฟางมาปรุภาพ แล้วจึงถ่ายภาพที่ปรุลงบนผนังก่อนวาดเส้นลงไป ช่างแต้มเพียงแต่ร่างเส้นดินสอลงไปบนผนังแล้วจึงลงสีแต้มปะเส้น สีที่ใช้อาจเป็นสีธรรมชาติหรือสีเคมีก็ได้

 

ถ้าเป็นสีธรรมชาติจะทำขึ้นเองจากวัสดุท้องถิ่น เช่น สีน้ำเงินจากต้นคราม สีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลอมดำทำจากยางรัก สีม่วงจากลูกหว้า สีเหลืองจากยางของต้นรง สีดำจากเขม่าก้นหม้อ หรือสีแดงจากหินชนิดหนึ่ง ภาพที่ออกมาจึงมีสีพื้นๆ ไม่โดดเด่น นอกจากนี้ พื้นหลังของฮูปแต้มนิยมให้คงสีของพื้นผนังเอาไว้ ใช้การวาดเส้นสีเทาแบ่งให้เห็นเป็นเรื่องๆ ไป มักมีตัวหนังสือเขียนกำกับเพื่อบอกว่าเหตุการณ์ตามภาพนั้นๆ โดยพบทั้งอักษรไทยและอักษรลาว

 

ภาพฮูปแต้มหลายแห่งยังอยู่ในสภาพดี แต่ทั้งหมดเป็นภาพในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา เนื่องจากชาวอีสานมักสร้างสิมด้วยไม้ อิฐ หรือดิน ซึ่งเป็นวัสดุไม่คงทน ทำให้ต้องมีการซ่อมแซ่มหรือสร้างขึ้นใหม่อยู่บ่อยครั้ง 

 

ภาพฮูปแต้มที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบได้มีอายุไม่เกิน 150 ปี หรือในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่วัดหนองสระบัว อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งสยามสมาคมได้สำรวจพบ จึงสนับสนุนเงินทุนในการบูรณะและอนุรักษ์ไว้ทั้งตัวสิมและฮูปแต้ม ทำให้อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ ยังมีภาพฮูปแต้ม ในอำเภอมัญจาคีรี ที่ได้รับการอนุรักษ์และบูรณะจากเงินทุนขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ซึ่งมองว่าฮูปแต้มอีสานเป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาประเภทหนึ่งของโลก โดยเฉพาะการสะท้อนมรดกทางภูมิปัญญาของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ราวเทียนในงานประณีตศิลป์

วันที่ออกอากาศ: 20 กรกฎาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ในการประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาของสังคมไทยตั้งแต่สมัยโบราณ เทียนเป็นวัตถุพิธีอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญนำมาใช้จุดบูชาร่วมกับธูป เทียนที่จุดแล้วให้แสงสว่าง หมายถึง ประทีป ถือเป็นเครื่องอามิสบูชาอย่างหนึ่งในการบูชาพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นสิ่งเคารพสูงสุดในพระพุทธศาสนา คนไทยจึงมีภูมิปัญญาในการหล่อเทียนด้วยวัสดุต่างๆ เพื่อใช้ในสังคมมาช้านานแล้ว

 

รวมถึงรู้จักประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับรองหรือตั้งเทียนไว้ใช้ด้วย โดยมักปรากฎอยู่ตามศาสนสถานโดยเฉพาะในโบสถ์และวิหารตามวัดต่างๆ นิยมเรียกกันว่า ราวเทียน มีลักษณะเป็นคานยาวยึดด้วยเสา 2 ข้าง ทำจากไม้หรือเหล็กก็ได้ อาจทำเหล็กแหลมเหมือนตะปูบนราวเพื่อความสะดวกในการปักเทียน ส่วนรูปแบบของราวเทียนนั้นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของประเทศ

 

ในภาคกลาง ราวเทียนถือเป็นงานประณีตศิลป์อย่างหนึ่ง ปรากฏอยู่ในพระอารามหลวงสำคัญๆ ในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นราวเทียนที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าให้สร้างสำหรับปักเทียนในงานพระราชพิธีต่างๆ อาทิ ราวเทียนรอบฐานชุกชีพระพุทธรัตนมหามณีปฏิมากร ราวเทียนรอบฐานชุกชีพระศรีศากยมุนีในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งสร้างในรูปแบบของภาคกลางที่ดูเรียบๆ แต่มีความประณีตงดงาม หล่อรูปดอกบัวบานประดับเรียงรายบนราวเทียน กลางดอกบัวมีเหล็กแหลมขึ้นมาสำหรับปักเทียน

 

กลุ่มคนไทยที่มีเชื้อสายไทยลาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีวัฒนธรรมการประดิษฐ์ประดอยราวเทียนให้มีความซับซ้อนงดงามจนเป็นเอกลักษณ์ ราวเทียนในวัฒธรรมไทยล้านนาและไทยล้านช้างมีชื่อเรียกเฉพาะว่า สัตตภัณฑ์ หรือ สัตตบริภัณฑ์  หมายถึงภูเขาทั้ง 7 ที่ตั้งอยู่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุตามคติไตรภูมิของพุทธศาสนา ซึ่งนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์รูปแบบของราวเทียน โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางและมีทิวเขาสัตตบริภัณฑ์ลดหลั่นลงไปเป็นรูปสามเหลี่ยม บนยอดเขาทำหลักแหลมไว้สำหรับปักเทียน ตัวราวเทียนเป็นไม้แกะสลักวิจิตรงดงาม ถือเป็นงานศิลปะที่นำมาประกวดประขันกันเป็นหน้าเป็นตาของวัด

 

ปัจจุบันสามารถหาชมสัตตภัณฑ์ที่ทำด้วยความประณีตงดงามได้ตามวัดโบราณในภาคเหนือ อาทิ วัดประจำเมือง วัดพระธาตุต่างๆ มักสร้างสัตตภัณฑ์ประดิษฐานไว้ในวิหารหน้าพระธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าชุกชีหรือฐานพุทธบัลลังก์ขององค์พระประธาน 

 

สำหรับราวเทียนในวัดระดับท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ฮาวใต้เทียน หรือ ฮาวเทียนใต้ ซึ่งคำว่า เทียนใต้ หมายถึงเทียนสำหรับจุดบูชาพระ นอกจากราวเทียนในลักษณะเขาพระสุเมรุจำลองแล้ว ยังนิยมทำราวเทียนเป็นรูปพญานาค โดยแกะสลักไม้เป็นลำตัวพญานาค มีเสา 2 ข้างยึดส่วนหัวและหางพญานาค แล้วทำที่สำหรับปักเทียนไว้บนลำตัว ซึ่งเป็นงานฝีมือของช่างท้องถิ่นที่ปัจจุบันยังหาชมได้ตามวัดต่างๆ ในภาคอีสาน

 

ในปัจจุบัน แม้ราวเทียนในฐานะงานประณีตศิลป์ได้ลดบทบาทและความสำคัญลงไป มีการนำเชิงเทียนสำเร็จรูปที่ผลิตในรูปแบบคล้ายๆ กันมาใช้แทน แต่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคเหนือก็คงรักษาธรรมเนียมการสร้างสัตตภัณฑ์หรือราวเทียนรูปเขาพระสุเมรุถวายไว้หน้าองค์พระประธาน โดยเฉพาะในโอกาสที่มีการสร้างวัด พระอุโบสถ หรือพระวิหารขึ้นใหม่ สัตตภัณฑ์จึงยังถือเป็นงานประณีตศิลป์ที่สร้างขึ้นตามความศรัทธาในพระพุทธศานา ซึ่งผู้มีจิตศรัทธาถวายไว้เป็นพุทธบูชา 

พระลีลา “กำแพงเขย่ง”

วันที่ออกอากาศ: 22 กันยายน 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พระลีลา หรือ พระกำแพงเขย่ง เป็นหนึ่งในกลุ่มพระพิมพ์ที่ได้รับความนิยมในวงการพระเครื่อง ซึ่งมีความโดดเด่นในเรื่องพุทธคุณที่เชื่อถือศรัทธากันมา และมีรูปลักษณะงดงามทางพุทธศิลป์ โดยนิยมทำเป็นพระพิมพ์ใน 2 ลักษณะ ได้แก่ พระพิมพ์ขนาดเล็กที่สามารถพกพานำติดตัว และองค์พระขนาดใหญ่ประมาณศอก เรียกว่า พระกำแพงศอก 

 

พระกำแพงลีลานี้ บางครั้งเรียกว่า พระกำแพงเขย่ง คำว่า พระกำแพง นี้สันนิษฐานว่าเป็นคำเรียกจากลักษณะการพิมพ์รูปพระที่ย่อส่วนมาจากพระพุทธรูปปางลีลาที่เป็นปฏิมากรรมเอกลักษณ์สมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปที่เรียกว่าพระ 4 อิริยาบถ ได้แก่ พระนั่ง พระยืน พระเดิน และพระนอน ซึ่งพระพุทธรูปปางลีลาอยู่ในอิริยาบถเดิน มักปั้นให้มีลักษณะอ่อนช้อย นิยมปั้นติดกับกำแพงหรือผนังซุ้มสถูปเจดีย์ ไม่ปั้นเป็นพระลอยองค์เหมือนรูปพระอิริยาบถอื่นๆ

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อสันนิษฐานอื่นถึงคำว่า กำแพง นั้น มาจาก กำแพงเพชร ซึ่งเป็นกลุ่มเมืองสำคัญโบราณในสมัยสุโขทัยที่มีการค้นพบพระพิมพ์ปางลีลาในรูปแบบต่างๆ จำนวนมาก ส่วนคำว่า เขย่ง เรียกจากลักษณะการย่างพระบาทของพระพุทธรูปปางลีลา บิดสะโพกเล็กน้อยและเอียงกายทางซ้าย ซึ่งเรียกว่า กริดพัง คนโบราณแลดูว่าเหมือนว่าพระกำลังก้าวเขย่ง จึงเรียกต่อกันมาว่า พระกำแพงเขย่ง

 

พระกำแพงปางลีลาขนาดเล็กมีอยู่ 2 ลักษณะ ได้แก่ กำแพงลีลาแบบเม็ดขนุน ตัวพระพิมพ์เป็นรูปวงรีคล้ายเม็ดขนุน และกำแพงลีลาพลูจีบ มีลักษณะเป็นทรงแหลมเหมือนกลีบจำปา กล่าวกันว่างามกว่าทรงเม็ดขนุน

 

พระกำแพงทั้ง 2 ลักษณะพบอยู่ในกรุพระเจดีย์วัดร้างต่างๆ ในเขตเมืองกำแพงเพชร โดยเฉพาะวัดร้างบริเวณทุ่งเศรษฐี ซึ่งในสมัยสุโขทัย มีฐานะเป็นเขตอรัญญิก ซึ่งพระกำแพงที่ค้นพบจากกรุทุ่งเศรษฐีจะเป็นที่นิยมมาก โดยเฉพาะกำแพงลีลาแบบพลูจีบเนื่องจากองค์พระมีความงดงามและคมชัด

 

พระกำแพงลีลาแบบกำแพงศอก พบในเขตจังหวัดที่เป็นแคว้นสุพรรณภูมิเดิม ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ลงไปจนถึงจังหวัดสุพรรณบุรี มีความสูงประมาณข้อศอก นิยมวางไว้บูชาบนโต๊ะหรือในตู้พระ เดิมนิยมทำจากวัสดุดินเผา ภายหลังนิยมใช้ดีบุกผสมตะกั่วมาหล่อองค์พระ เรียกว่า เนื้อชิน

 

ลักษณะของพระกำแพงศอกเป็นรูปทรงยาว ตรงส่วนบนของแผงพระจะสอบเข้าด้วยกันเหมือนรูปโค้งปลายแหลม มีรายละเอียดขององค์พระและลวดลายต่างๆ งดงามชัดเจนมาก  โดยมีพระพุทธรูปลีลาประทับอยู่ในซุ้มที่ตกแต่งลวดลายพันธุ์พฤกษา

 

กล่าวกันว่าพระลีลากำแพงศอกของแท้ต้องประดับซุ้มด้วยแจกันดอกไม้ 2 ข้าง ซึ่งเป็นรูปแบบนิยมในสมัยสุโขทัย กรุพระลีลากำแพงศอกที่สำคัญๆ ได้แก่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดราชบูรณะ จังหวัดอยุธยา และวัดสนามชัย วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น

 

ความเชื่อด้านพุทธคุณของผู้ที่บูชาพระลีลา-กำแพงเขย่ง จัดอยู่ในเรื่องเมตตามหานิยม การทำมาค้าขาย ความเจริญก้าวหน้า ซึ่งแผงนัยยะจากลักษณะของพระพุทธรูปปางลีลาที่อยู่ลักษณะก้าวเดิน ก้าวอย่าง ซึ่งสื่อถึงความก้าวหน้าหรือก้าวอย่างมั่นคง

 

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าสามารถป้องกันอัคคีภัยได้อีกด้วย เมื่อรวมถึงความงดงามของรูปลักษณะทางพุทธศิลป์แล้ว พระลีลา-กำแพงเขย่ง จึงเป็นพระพิมพ์ที่มีผู้นิยมบูชามากที่สุดประเภทหนึ่ง

พระพิมพ์ พระเครื่อง

ออกอากาศวันที่ 8 กันยายน 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พระพิมพ์ เป็นรูปเคารพแทนองค์พระพุทธเจ้าที่สร้างขึ้นด้วยวิถีการขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ โดยวัสดุหลักๆ ที่นำมาปั้นเนื้อพระ ได้แก่ ดิน ขี้เถ้า มวลสารต่างๆ หรือแม้กระทั่งอัฐิของพระสงฆ์ที่เชื่อว่าเป็นพระอรหันต์  หรืออัฐิของพระสงฆ์ที่เป็น เกจิอาจารย์ หรือแม้แต่อัฐิคนธรรมดา ซึ่งการทำพระพิมพ์ในสมัยโบราณถือว่าเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่ช่วยสร้างบุญอุทิศให้กับผู้ตาย

 

สันนิษฐานว่าเริ่มมีการสร้างพระพิมพ์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 5-6 หลังจากการสร้างพระพุทธรูปและสังเวนียสถาน ซึ่งเริ่มสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 3 ในสมัยโบราณการสร้างพระพิมพ์ทำขึ้นเพื่อบรรจุในกรุของสถูปเจดีย์

 

ในกรุหนึ่งๆ จะบรรจพระพิมพ์ไว้เป็นจำนวนมาก อาจมีจำนวนถึง 48,000 องค์เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ ซึ่งมาจากแนวคิดเรื่องการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา มีคติความเชื่อเรื่อง ปัญจอัตรธาร หรือความเสื่อมสลายของศาสนาในราว 5,000 ปี จึงคิดสร้างพระพิมพ์บรรจุในกรุสำหรับคนในชั้นหลัง

 

ภายหลังจึงมีแนวคิดการสร้างพระพิมพ์เพื่อเป็นของที่ระลึกสำหรับคนไปนมัสการสังเวชนียสถานหรือผู้บริจาคปัจจัยต่างๆ มีการสร้างพระพิมพ์เป็นรุ่นๆ ซึ่งได้รับความนิยมแตกต่างกันไป

 

พระพิมพ์ แบ่งเป็นออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ตามเนื้อของวัสดุที่ได้ ดังแก่ 

 

(1) วัสดุที่เป็นดิน คือ ดินเหนียวเนื้อดี ผสมกับมวลสารชนิดต่างๆ ซึ่งสร้างคุณค่าและมูลค่าให้แก่พระพิมพ์ อาทิ อัฐิธาตุ ชายจีวร ดอกไม้ ขี้เถ้าจากธูป ขี้ผึ้งจากเปลวเทียน เป็นต้น พระพิมพ์ที่ไม่นำมาเผาให้แห้ง เรียกว่า พระพิมพ์ดินดิบ ซึ่งรอให้เนื้อพระพิมพ์แห้งเอง ซึ่งไม่คงทนเหมือนกับพระพิมพ์ที่เผาก่อนบรรจุในกรุสถูปเจดีย์ 

 

(2) พระพิมพ์ที่ผลิตจากวัสดุชนิดอื่น เช่น ดีบุก ตะกั่ว หรือที่เรียกว่า เนื้อชิน ภายหลังมีความนิยมใช้ทองคำและเงิน นำมาหล่อเป็นพระพิมพ์ ซึ่งพระพิมพ์ประเภทนี้มีจำนวนน้อยกว่า เนื่องจากใช้ต้นทุนสูงและต้องอาศัยแม่พิมพ์ที่มีความคงทนมากสำหรับเทโลหะที่หลอมละลายด้วยความร้อนสูง ปัจจุบันมีการนำเครื่องจักรมาใช้ผลิตในรูปแบบของเหรียญโลหะ ซึ่งผลิตได้ครั้งละจำนวนมาก

 

สำหรับคำว่า พระเครื่อง เพิ่งเริ่มมีปรากฏในสมัยรัตโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 4 โดยเรียกรวมเครื่องรางต่างๆ ที่เชื่อว่าทำให้เกิดพุทธคุณแก่ผู้ที่มีไว้บูชา ซึ่งนับรวมถึง พระพิมพ์ เข้ามาอยู่ในกลุ่มพระเครื่องด้วย

 

คติความเชื่อเรื่องพระพิมพ์มักเชื่องโยงกับอำนาจพุทธคุณที่ก่อเกิดประโยชน์ทางด้านใดด้านหนึ่งแก่ชีวิต แต่พระเครื่องจะหมายรวมความถึง เครื่องรางของขลังอื่นๆ ที่มักมีคติความเชื่อปะปนร่วมกับทางไสยเวช เช่น เขี้ยวเสือ เล็บเสือ หรือกระดูกสัตว์ที่เป็นสัตว์ดุร้าย มักบูชาร่วมกับพระพิมพ์ ซึ่งมีฐานะเป็นเครื่องรางมาตั้งแต่โบราณ ที่เรียกว่า พระเครื่องราง ภายหลังต่อมาคำว่ารางเลือนหายไปกลายเป็นคำว่า พระเครื่อง

 

ในทางวิชาการ พระพิมพ์ เป็นวัตถุที่แสดงถึงวิวัฒนาการลักษณะของพุทธศิลป์ของประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พระพิมพ์คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ทั้งทางประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ศิลป์

 

ส่วนหนึ่งแสดงให้เห็นวิชาช่างในยุคต่างๆ มุมมองและรสนิยมของคนในยุคต่างๆ ที่พิจารณาอากัปกิริยาของพระพุทธองค์ในรูปลักษณะต่างๆ เป็นต้น จึงถือว่า พระพิมพ์ มีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ นอกเหนือจากอำนาจศักดิ์สิทธิ๋ที่เป็นคติความเชื่อของผู้ที่นับถือบูชา

พระเครื่องเบญจภาคี

วันที่ออกอากาศ: 15 กันยายน 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พระเบญจภาคี คือกลุ่มพระบูชาในวงการพระเครื่อง เป็นกลุ่มพระบูชาที่มีผู้นิยมสะสมบูชามากที่สุด ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นพระเครื่องที่มีคุณลักษณะที่ดี มีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถนำสิ่งที่เป็นคุณมาสู่ผู้ที่มีไว้บูชา ประกอบด้วยพระเครื่อง 5 ตระกูลซึ่งสร้างขึ้นต่างยุคสมัย สามารถเรียงลำดับตามอายุการสร้างได้ ดังนี้

 

พระรอดลำพูน เป็นพระพิมพ์รุ่นเก่าที่สุด สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรหริภุญชัย ซึ่งเป็นรากเง้าของเมืองลำพูนในปัจจุบัน เดิมเคยเป็นอาณาจักรของพวกมอญ สันนิษฐานว่า พระนางเจ้าจามเทวี ทรงเป็นกษัตริย์ต้นราชวงศ์ หลังจากพุทธศตวรรษที่ 18 จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา ซึ่งอยู่ร่วมสมัยเดียวกับอาณาจักรสุโขทัยยุคต้น ในรัชกาลพระยารามราช หรือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เชื่อกันว่าการบูชาพระรอดลำพูน จะช่วยให้อยู่รอดปลอดภัย แคล้วคลาดพ้นภัยเวลาเดินทาง อยู่ยงคงกระพัน และอุดมด้วยโภคทรัพย์ 

 

พระซุ้มกอ มีกรอบทรวดทรงของพระพิมพ์เหมือนซุ้มรูปตัวอักษร กอ-ไก่ ภายในซุ้มมีพระพุทธรูปประทับนั่งสมาธิ พบในกรุสถูปเจดีย์ที่เมืองกำแพงเพชร เชื่อว่าเป็นพระที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย เนื่องจากเมืองกำแพงเพชรอยู่ในกลุ่มเมืองสำคัญของรัฐสุโขทัย ถือพระเครื่องที่มีอายุรองลงมาจากพระรอดลำพูน เชื่อว่ามีพุทธคุณทางโภคทรัพย์ ความมั่งคั่งร่ำรวย ส่งเสริมให้ผู้บูชาได้เป็นใหญ่เป็นนายคน มีวาสนา ไม่มีวันอับจน

 

พระผงสุพรรณ พบในกรุพระเจดีย์ต่างๆ ของแขวงเมืองสุพรรณบุรี โดยเฉพาะกรุพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี สุพรรณบุรีหรือสุพรรณภูมิเป็นนครรัฐอิสระของคนไทยบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 – 19 ต่อมารวมเมืองกับแคว้นละโว้และอโยธยากลายเป็นกรุงศรีอยุธยา เชื่อว่ามีคุณในเรื่องเมตตาบารมี ความเป็นผู้นำ มีเสน่ห์ มีความสงบและหนักแน่น และขจัดทุกข์

 

พระนางพญา เป็นพระพิมพ์ทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ด้านแหลมค่อนข้างยาว พบในกรุวัดนางพญาเมืองพิษณุโลก  ในสมัยรัตนโกสินทร์มีผู้สร้างเลียนแบบพระพิมพ์ทรงสามเหลี่ยมปรากฏในกรุเจดีย์ใหญ่ๆ ในกรุงเทพ ซึ่งน่าจะเป็นพระนางพญาคนละยุคสมัย เชื่อว่าให้คุณเรื่องความมีเมตตากรุณา ความเป็นสวัสดิมงคล มีอิทธิฤทธิ์แกล้วกล้า อยู่ยงคงกระพัน ไม่หวั่นเกรงต่อศาสตราวุธศัตรู คนที่บูชาจะเป็นผู้มีบารมี มีคนเกรงใจ

 

พระสมเด็จวัดระฆัง สร้างโดยพระคุณสมเด็จพุทธจารย์โตพรหมรังสี วัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีสัณฐานเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีกรอบโค้งอยู่ข้างในและมีเค้าโครงรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่บนพุทธบัลลังก์ที่ซ้อนกันหลายชั้น ซึ่งไม่ได้ลงรายละเอียดชัดเจน ผู้ที่มีไว้บูชาจะเชื่อเรื่องพุทธคุณครอบจักรวาล เน้นบุญฤทธิ์หนุนดวงชะตาเมตตามหานิยม แคล้วคลาดภัยพิบัติ คงกระพัน โชคลาภ บารมีรุ่งเรืองไม่มีวันตกต่ำ

 

แม้พระสมเด็จวัดระฆังจะมีความเก่าแก่น้อยที่สุด แต่ในวงการพระเครื่องถือว่ามีความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกเล่าว่าสมเด็จพระพุทธจารย์โตพรหมรังสีสร้างพระบูชาด้วยฝีมือของท่านเอง ซึ่งท่านเป็นพระเถรวาทผู้ใหญ่และเป็นเกจิอาจารย์ที่คนไทยเคารพศรัทธามาก ตั้งแต่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 รวมถึงประชาชนทั่วไป

 

ทั้งนี้ ยังมีความเกี่ยวข้องกับตำนานเรื่องแม่นาคที่เล่าขนาถึงอิทธิฤทธิ์และความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน จึงทำให้มีผู้คนเคารพศรัทธาสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ประเภทของจิตรกรรมฝาผนังในวัดโพธิ์

วันที่ออกอากาศ: 11 มกราคม 2558
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

วัดพระเชตุพนวิมลมังคราราม หรือ วัดโพธิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกขนาดใหญ่ที่มีผลงานสร้างสรรค์ทางด้านศิลปะประเภทจิตรกรรมอยู่อย่างมากมาย ถือเป็นแหล่งที่รวบรวมภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้ได้มากที่สุด

 

มีภาพจิตรกรรมฝาผนังปรากฎอยู่ทั้งในอาคารขนาดเล็ก ไปจนถึงอาคารขนาดใหญ่ระดับพระอุโบสถและพระวิหาร ซึ่งภาพเกือบทั้งหมดเป็นผลงานจิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3

 

หากพิจารณามุมมองในเชิงประวัติศาสตร์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดพระเชตุพนฯ สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ

 

ประเภทแรก คือ ทางคดีธรรม ซึ่งเป็นเรื่องราวทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ทั้งเรื่องการสอนในเชิงนัยประวัติ ได้แก่ ประวัติของพระพุทธเจ้า ประวัติของพระสาวก ประวัติของพระภิกษุณี อุบาสกหรืออุบาสิกาคนสำคัญที่กล่าวไว้ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา รวมถึงการสอนในเชิงธรรมะ เรื่องบาปบุญคุณโทษ การปฏิบัติธรรม หัวข้อธรรมะต่างๆ

 

ประเภทที่สอง เป็นจิตรกรรมฝาผนังในเชิงคดีโลก เป็นการให้ความรู้สรรพวิชาต่างๆ ที่ไม่ใช่ห้วข้อธรรมะ ซึ่งในการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังครารามสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้รวบรวมความรู้และวิทยาการในสาขาต่างๆ ทั้งวรรณคดี วรรณกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ตำรายา สุขวิทยาต่างๆ ถ่ายทอดเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเพื่อให้ผู้คนได้ศึกษาความรู้นั้นๆ ในเชิงรูปธรรม อาทิ ภาพตำราการนวด ภาพรามเกียรติ์ ภาพสัตว์หิมพานต์ ภาพขนบประเพณีและคติคตินิยมในสังคมไทย ภาพพงศาวดารจีน ภาพการค้าเรือสำเภา รวมถึงภาพชนชาติ 12 ภาษา

 

ในเชิงคดีธรรมมีภาพจิตรกรรมที่สำคัญอยู่มากมาย เริ่มจากภาพในพระอุโบสถซึ่งเป็นเสมือนศูนย์กลางของวัด พระอุโบสถนี้สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังตามขนบธรรมเนียมใหม่ ได้แก่ภาพมโหสถชาดก หนึ่งในทศชาติชาดกซึ่งสะท้อนเปรียบเทียบถึงปัญญาบารมีและความเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาขององค์รัชกาลที่ 3

 

รวมถึงภาพพระอรหันต์เอตทัคคะ 41 องค์ เป็นภาพประวัติของพระอรหันต์ 41 องค์ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยกให้เป็นความดีเด่นหรือมีจริยวัตรที่โดดเด่นในแต่ละด้าน

 

ในวิหารพระพุทธไสยาสน์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังส่วนเหนือช่องหน้าต่างทั้ง 4 เป็นเรื่องคัมภีร์มหาวงศ์หรือพงศาวดารของลังกาทวีป การประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีปหรือเกาะศรีลังกา ซึ่งเป็นต้นทางพระพุทธศาสนาก่อนเข้ามาเจริญในประเทศไทย

 

นอกจากนี้มีภาพประวัติบุคคล 3 ประเภท ได้แก่ พระพุทธสาวิกา หรือ ภิกษุณีเอตทัคคะ 13 องค์ เรื่องอุบาสกเอตทัคคะและอุบาสิกาเอตทัคคะ ซึ่งกล่าวถึงอุบาสกและอุบาสิกาในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่อง อาทิ พระเจ้าพิมพิสาร อนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขา เป็นต้น 

 

ในเขตพุทธาวาสของวัดพระเชตุพนฯ ยังมีวิหารตั้งอยู่บนแนวระเบียงคตรอบพระอุโบสถทั้ง 4 ทิศ วิหารทิศตะวันออก มีภาพจิตรกรรมเรื่องพระโยคาวจรพิจารณาสุภาษิต ซึ่งเป็นธรรมะขั้นสูงของพระสงฆ์และพระธุดง ภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ  วิหารทิศตะวันตก มีจิตรกรรมพุทธประวัติเกี่ยวกับพระเกศาธาตุ

 

วิหารทิศเหนือ มีจิตรกรรมเรื่องไตรภูมิและโลกสันฐาน และวิหารด้านทิศใต้ มีภาพจิตรกรรมพระพุทธประวัติ 2 เรื่อง ได้แก่ ตอนแสดงปฐมเทศนาหรือเทศนาธรรมจักร และตอนเทศนาดาวดึงส์ กล่าวถึงเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนดาวดึงส์และเทศนาโปรดพระพุทธมารดา 

จิตรกรรมฝาผนังวัดกก

วันที่ออกอากาศ: 6 กรกฎาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

วัดกก เป็นวัดประจำชุมชนของชาวสวนย่านธนบุรีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตั้งอยู่บริเวณคลองสนามชัยซึ่งขุดใช้เป็นเส้นทางเสด็จประพาสของพระเจ้าแผ่นดินสมัยอยุธยา

 

พระอุโบสถของวัดกกมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบสมัยรัชกาลที่ 1 ช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์ที่สืบเนื่องมาจากกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี  มีลักษณะคล้ายกับหอพระนาค อาคารหลังหนึ่งในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

 

ภายในพระอุโบสถของวัดกกมีฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระประธาน 2 องค์ พระประธานองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ด้านหลังเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ และพระประธานองค์หน้าเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งเป็นลักษณะนิยมของพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย เช่นเดียวกับฐานชุกชีที่มีเป็นลักษณะเฉพาะในช่วงปลายสมัยอยุธยาเช่นกัน จึงสันนิษฐานได้ว่าพระอุโบสถหลังนี้สร้างมาก่อนสมัยรัชกาลที่ 1 แต่น่าจะได้รับการปฏิสังขรณ์หรือสร้างใหม่ตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา 

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถของวัดกกมีความน่าสนใจและมีเอกลักษณ์เป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นภาพรูปแบบจิตรกรรมแบบรัชกาลที่ 1 และมีการเขียนภาพเพิ่มเติมเป็นรูปแบบจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 3

 

ปัจจุบันยังเหลือภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ประมาณร้อยละ 70 ของผนังทั้ง 4 ด้าน ซึ่งถือว่ามาก สิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นภาพจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 1 คือ ภาพเทพชุมนุม ซึ่งเขียนเต็มพื้นที่ของผนังเหนือช่องหน้าต่างด้านซ้ายและด้านขวาของพระประธาน เป็นภาพเทพยดา ครุฑ นาค จนถึงเทวดาชั้นพรหมเรียงรายกันเป็น 3 แถว นั่งประนมมือเข้าหาพระประธาน ซึ่งเป็นรูปแบบที่เทียบเคียงได้กับจิตรกรรมเทพชุมนุมของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพระราชวังบวรสถานมงคล

ผนังด้านล่างระหว่างช่องหน้าต่าง ช่องประตู มีภาพวาดทศชาติชาดกและมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งปัจจุบันเลือนลางไปมาก ประกอบกับผนังอุโบสถได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ซึ่งกรมศิลปากรได้เข้ามาอนุรักษ์และพยายามซ่อมแซม

 

ภาพจิตรกรรมที่เป็นเอกลักษณ์อย่างมากของวัดกก คือ ภาพจิตรกรรมบนผนังเหนือช่องหน้าต่างด้านสะกัด ก็คือด้านหน้าและด้านหลังองค์พระประธาน ซึ่งแต่เดิมในสมัยปลายอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 มักนิยมวาดภาพตรงหน้าพระประธานเป็นภาพมารผจญและด้านหลังพระประธานเป็นภาพไตรภูมิ แต่ด้านหน้าพระประธานของวัดกกกลับเป็นภาพมณฑปพระพุทธบาทสระบุรีเป็นศูนย์กลาง รอยพระพุทธบาทประดิษฐ์จากแผ่นทองเหลืองแกะลายขนาดใหญ่ แวดล้อมด้วยภาพป่าเขา มีภาพเมืองสระบุรีและมหาชนกำลังนมัสการพระพุทธบาท

 

ด้านหลังพระประธานเป็นภาพพระพุทธเจ้ายืนพิงหน้าผาอยู่ ซึ่งเป็นภาพพระพุทธฉาย ปูชนียสถานอีกแห่งหนึ่งในแขวงเมืองสระบุรี ภาพจิตรกรรมทั้ง 2 ภาพนี้เป็นฝีมือของช่างสมัยยุครัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 3 

 

ภาพนมัสการพระพุทธบาทสระบุรีและพระพุทธฉายนี้ ไม่ปรากฏในภาพจิตรกรรมของวัดอื่นๆ หรือแม้แต่วัดสำคัญในจังหวัดสระบุรีซึ่งอยู่ในพื้นที่ แต่เหตุใดมาปรากฏในวัดกกที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ได้เป็นวัดหลวงที่มีความสำคัญมากนักในทางประวัติศาสตร์

 

ตรงนี้มีข้อสันนิษฐานจากข้อความในพระราชพงศาวดารสมัยรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 3 พบว่าบริเวณบางบอน-บางขุนเทียน เป็นพื้นที่รองรับการกวาดต้อนผู้คนจากสงครามและการอพยพของชาวลาวช่วงการทำศึกเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งกลุ่มชาวลาวถูกกวาดต้อนมาพักบริเวณรอยต่อที่ราบสูงโคราชบริเวณจังหวัดสระบุรีในปัจจุบัน

 

จึงมีข้อสันนิษฐานว่าผู้อุปถัมภ์การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดกกในสมัยรัชกาลที่ 3 อาจจะเป็นผู้อันจะกินเชื้อสายลาวที่อพยพมา ซึ่งรับรู้การนมัสการปูชนียสถานพระพุทธฉายและพระพุทธบาทของเมืองสระบุรี ปัจจุบันภาพจิตรกรรมดังกล่าวนี้ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มาก โดยกรมศิลปากรอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี