กัณฑ์เทศน์

วันที่ออกอากาศ: 9 กันยายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ในประเพณีไทยมีธรรมเนียมการถวายสิ่งของต่างๆ แก่พระสงฆ์หลังแสดงพระธรรมเทศนา โดยเรียกเครื่องถวายนี้ว่า กัณฑ์เทศน์ โดยใช้ในคำเรียกต่างๆ กัน อาทิ จตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ เครื่องไทยธรรมกัณฑ์เทศน์ เครื่องบูชากัณฑ์ หรือ ติดกัณฑ์เทศน์ เป็นต้น

 

คำว่า กัณฑ์ หมายถึงจำนวนหรือหัวข้อพระธรรมเทศนา เมื่อพระสงฆ์เทศน์จบกัณฑ์แล้ว ญาติโยมก็จะถวายเครื่องกัณฑ์เทศน์ต่างๆ เพราะเห็นว่าสิ่งที่พระสงฆ์นำมาเทศน์ปรากฏอยู่ในพระธรรมของพระพุทธเจ้า ฟังแล้วเกิดพุทธปัญญา ชีวิตอยู่ในทางธรรม และหลุดพันจากความทุกข์ จึงเกิดเป็นธรรมเนียมถวายกัณฑ์เทศน์เพื่อเป็นเครื่องบูชาพระธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในพระรัตนตรัยที่เป็นสิ่งบูชาสูงสุดของพุทธศาสนิกชน

 

เครื่องบูชากัณฑ์เทศน์ที่พุทธศาสนิกชนถวายเป็นทรัพย์สินตัวเงิน มักใช้กับคำว่า ติดกัณฑ์เทศน์ มาจากกิริยาของธรรมเนียมการนำเหรียญเงินหรือธนบัตรไปติดไว้บนต้นเทียน ซึ่งเป็นต้นเทียนขนาดใหญ่คล้ายเทียนพรรษา

 

นอกจากนี้ มักนิยมหล่อเทียนจากขี้ผึ้งแท้เพื่อให้ความนิ่มเพียงพอแก่การนำเหรียญไปติดไว้ได้ ถ้าถวายเป็นธนบัตรจะนิยมนำไม้แหลมพันกระดาษสีแล้วทำง่ามสำหรับสอดธนบัตร แล้วนำไม้ที่สอดธนบัตรไปปักไว้บนตัวเทียน ซึ่งเมื่อปักเรียงกันเป็นจำนวนมากแล้วจะมีลักษณะเป็นพุ่มคล้ายต้นไม้และมีสีสันสวยงาม

 

สำหรับต้นเทียนหลวงในงานพระราชพิธีจะติดกัณฑ์เทศน์ด้วยเหรียญเงินไม่นิยมติดธนบัตร โดยตั้งต้นเทียนอยู่บนพานแว่นฟ้าแล้วตกแต่งดอกไม้ที่เชิงเทียนและต้นเทียน ส่วนใหญ่ต้นเทียนติดกัณฑ์เทศน์นี้จะตั้งไว้หน้าธรรมาสน์ซึ่งอยู่ด้านหน้าของแถวที่พุทธศาสนิกชนนั่งฟังธรรม

 

เมื่อพระสงฆ์แสดงธรรมจบแล้วก็จะถวายเงินติดกัณฑ์เทศน์แก่พระสงฆ์ ซึ่งส่วนใหญ่พระสงฆ์จะมอบเงินกัณฑ์เทศน์นี้ให้เป็นเงินกองกลางชองวัดเพื่อใช้ในกิจการด้านต่างๆ ในปัจจุบันวัดบางแห่งอาจใช้ตู้เงินบริจาคแทนการใช้ต้นเทียนเพื่อความสะดวก

 

นอกจากการถวายทรัพย์สินในรูปเงินแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงใช้ทองคำติดกัณฑ์เทศน์สมเด็จพระวันรัต (แดง) ซึ่งแสดงพระธรรมเทศนาได้เป็นที่ถูกพระราชอัธยาศัย เพื่อนำไปปิดทองพระศรีศากยมุนี พระประธานในวัดสุทัศน์เทพวราราม อย่างไรก็ตาม การติดกัณฑ์เทศน์ด้วยทองคำค่อนข้างเป็นกรณีเฉพาะไม่ได้เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติโดยทั่วไป

 

สำหรับกัณฑ์เทศน์ที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้อื่น สามารถถวายได้ทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภคตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมแก่สมณบริโภค ตั้งแต่สบง จีวร ผ้าไตร หรือสิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ

 

สำหรับธรรมเนียมการถวายอาหารมีปรากฏในพระราชพิธี 12 เดือนว่าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชนิยมถวายขนมนานาชนิด แม้แต่พระราชพิธีในช่วงค่ำก็นิยมถวายอาหารช่วงหลังเพลด้วย โดยเป็นขนมแห้งชนิดต่างๆ อาทิ วุ้นกรอบ ขนมกลีบลำดวน ขนมกง ขนมเปี๊ยะ ฝอยทองกรอบ ขนมจันอับ เป็นต้น

 

การถวายอาหารหลังเพลจะไม่นิยมประเคนให้พระสงฆ์รับโดยตรง มักส่งมอบให้ไวยาวัจกรรับไปประเคนให้พระสงฆ์สำหรับฉันในวันรุ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ ในเอกสารเก่าทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงเครื่องกัณฑ์เทศน์ที่ญาติโยมถวายในอดีต พบว่ามีการถวายคนเป็นเครื่องกัณฑ์เทศน์ด้วย โดยพระมหากษัตริย์หรือชนชั้นสูงในอดีตมีธรรมเนียมการบูชาพระธรรมเทศนาด้วยการถวายคนให้เป็นข้าพระหรือศิษย์วัด

 

หรือในกรณีของสามัญชนที่บิดามารดาเลี้ยงดูบุตรไม่ไหวก็ถวายติดกัณฑ์เทศน์แก่พระสงฆ์ เพื่อให้บุตรมีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ซึ่งในปัจจุบันไม่มีธรรมเนียมถวายคนเป็นเครื่องติดกัณฑ์เทศน์แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม การฟังเทศน์ในทางพระพุทธศาสนาถือเป็นบุญกิริยาของผู้ไปฟัง ตั้งแต่สมัยพุทธกาลที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก สืบต่อมาจนถึงพระสงฆ์ในปัจจุบันที่ได้แสดงพระธรรมเทศนานั้น โดยเนื้อแท้แล้ว ไม่ได้ปรารถนาสิ่งตอบแทนจากญาติโยม แต่ด้วยวัฒนธรรมของคนไทยที่มักถือสิ่งของติดมือไปทำบุญที่วัดมาตั้งแต่อดีต จึงนิยมถวายกัณฑ์เทศน์สำหรับการแสดงพระธรรมเทศนาด้วยตามกำลังทรัพย์และศรัทธา