ปลาในวัฒนธรรมไทย

ปลา เป็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่งที่คนไทยคุ้นเคยมาตั้งแต่โบราณ และมีบทบาทในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทยมากมาย ปลาถือเป็นอาหารหลักของคนไทย เพราะคนไทยโบราณนิยมปลูกบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง ข้าวที่กินก็ปลูกกันในนา ส่วนกับข้าวก็หาจับเอาสัตว์ในแม่น้ำ จนเกิดเป็นสำนวนไทยว่า ข้าวปลาอาหาร หรือ กินข้าวกินปลามารึยัง ซึ่งเป็นคำทักทายที่ติดปากผู้ใหญ่เมื่อลูกหลานมาเยี่ยม

 

แม้แต่สำนวนที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ก็แสดงให้เห็นว่า ปลาเป็นอาหารหลักคู่กับข้าวและคู่กับครัวของคนไทยมาเนิ่นนาน 

 

ใน คำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่ง ได้กล่าวถึงกรุงอยุธยาว่ามีตลาดอยู่ทั่วทุกมุมเมือง ปลาเป็นสินค้าที่มีขายอยู่ทั่วไป มีที่ขายเป็นปลาสดและที่ถนอมอาหารขายเป็นปลาตากแห้ง ทั้งปลาแม่น้ำและปลาทะเล ซึ่งคนไทยก็สามารถนำปลามาทำอาหารได้นานาชนิด

 

ปลายังปรากฏอยู่ในคติความเชื่อปรัมปราของคนไทย ในเรื่องไตรภูมิทีกล่าวถึงภูมิศาสตร์ตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ใต้พื้นแผ่นดินทั้ง 4 ทวีป ซึ่งอยู่รอบเขาพระสุเมรุนั้น มีปลาใหญ่ที่ชื่อว่า อานนท์ หรือ อานันตะ หนุนพื้นทวีปอยู่ กล่าวกันว่าทุกครั้งที่ปลาอานนท์พลิกตัว จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวหรือคลื่นยักษ์ขึ้น เราสามารถเห็นรูปปลาอานนท์ตามจิตรกรรมฝาผนังภาพไตรภูมิ 

 

ในงานศิลปะทั้งภาพจิตรกรรมและภาพแกะสลักที่เกี่ยวข้องกับสายน้ำ จะต้องมีภาพปลานานาชนิดอยู่ในนั้นด้วย เช่น ภาพโลกสัณฐานในวัดสุทัศน์เทพวนาราม ซึ่งมีปลานานาชนิดในมหาสมุทร หรือในศิลปะพื้นบ้านก็มี ปลาตะเพียนสาน ซึ่งนิยมแขวนไว้เหนือเปลให้เด็กมองดูเวลานอน 

 

นอกจากนี้ ในวรรณคดีและนิทานพื้นบ้านก็มีปลาเป็นตัวละครอยู่หลายเรื่อง อย่าง นางสุวรรณมัจฉา ในเรื่องรามเกียรติ์ ปลาบู่ทอง ในนิทานพื้นบ้าน หรือปลากรายทองที่เป็นร่างอวตารของพระนารายณ์ ในเรื่องลิลิตนารายณ์สิบปาง เรียกว่า ปางมัตสยาวตาร ในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ก็มี นางเงือก เป็นตัวละครหลัก หรือในเรื่องสังข์ทอง ตอนที่ท้าวสามลให้เขยแข่งกันหาปลา เป็นต้น

 

สมเด็จเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง ทรงนิพนธ์ตอนหนึ่งในกาพย์เห่เรือเป็นบทชมปลา บทเริ่มต้นจาก พิศพรรณปลาว่ายเคล้า คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์ มัตสยายังรู้ชม สาสมใจไม่พามา แล้วจากนั้นก็ยกชื่อปลามาเปรียบกับนางที่เป็นที่รัก อย่างทรงเห็นปลาตะเพียนทอง ก็ต่อด้วย เพียนทองงามดั่งทอง ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย กระแหแหห่างชาย ดั่งสายสวาทคลาดจากสม

 

นอกจากนี้ บทเห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้ง มีการกล่าวถึงปลาพันธุ์หายากหลายชนิด ก็เป็นแรงบันดาลใจให้กรมประมงไปจัดสร้างศูนย์แสดงพันธุ์ปลาน้ำจืดหายากทั่วประเทศด้วย

 

ในสุภาษิตไทยก็ข้องเกี่ยวกับปลามากมาย เช่น หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว ปลาข้องเดียวกันเน่าตัวเดียวก็เหม็นทั้งข้อง ปลาตกน้ำตัวโต ปลาติดร่างแห ปลาหมอตายเพราะปาก ปลาหมอแถกเหงือก ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ปลากระดี่ได้น้ำ พวกใจปลาซิว เป็นต้น

 

แล้วยังมีปลาในฐานะชื่อบ้านนามเมือง อย่าง มีนบุรี ซึ่งเคยเป็นจังหวัดมาก่อน มีน แปลว่าปลา หรือ บางปลาสร้อย ชื่อเดิมของเมืองชลบุลี หรือ บางปลาม้า เป็นอำเภอในสุพรรณบุรี บางปลากรด ในสมุทรปราการ หนองปลาดุก ในราชบุรี 

 

ทั้งหมดนี้ เป็นหลักฐานที่แสดงว่า ปลา ผูกพันกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน และในหลากหลายมิติและบทบาท