พวงหรีด

วันที่ออกอากาศ: 2 กุมภาพันธ์ 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พวงหรีด หรือที่คำศัพท์ทางราชการเรียกว่า พวงมาลา หมายถึง การจัดดอกไม้ประเภทหนึ่งให้เป็นพวง ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งลักษณะวงกลม วงรี วงสี่เหลี่ยม หรือสามเหลี่ยมก็ได้ โดยนำดอกไม้แห้งหรือดอกไม้สดมาใช้ประดับตกแต่งนำมาใช้สำหรับพิธีศพ

 

การวางพวงหรีดหรือการวางพวงมาลาไม่ได้เป็นธรรมเนียมของไทยมาแต่ดั่งเดิม จนมาถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อไทยเปิดความสัมพันธ์กับโลกตะวันตก ราชสำนักไทยเริ่มรับธรรมเนียมของการวางพวงมาลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีการพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมวงศ์ หรือพระศพเจ้านาย จึงมีการประดับพวงหรีด หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า "Wreath" 

 

ในธรรมเนียมตะวันตก "Wreath" คือพวงดอกไม้ที่จัดเป็นวงกลม อาจใช้ดอกไม้ ใบไม้หรือผลไม้มาประดับตกแต่งขึ้นเป็นพวงวงรอบ สามารถนำไปแขวน วางบนพื้น หรือวางเอียงติดกับผนังก็ได้ วัตถุประสงค์ของการวางพวดหรีดไม่ได้จำกัดเฉพาะในพิธีศพเท่านั้น แต่มักนิยมใช้ในพิธีมงคลต่างๆ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยกรีกโรมัน สามารถแบ่งลักษณะได้ 4 ประเภทหลักๆ ดังนี้

 

1. Decoration Wreath คือพวงหรีดดอกไม้สำหรับตกแต่งบ้านเรือน นิยมใช้ดอกไม้แห้งที่มีกลิ่นหอม หรือใบไม้สมุนไพรกันแมลงกันต่างๆ ประดับที่บานประตูหรือผนังบ้านเรือนให้สวยงาม โดยเฉพาะในงานเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ 

 

2. Wreath of History เป็นสัญลักษณ์ของผู้ชนะจากสงครามหรือการแข่งขันกีฬาต่างๆ นิยมใช้ใบไม้ เช่นใบมะกอก (Bay Leaf) หรือ ใบกระวาน มาร้อยเป็นพวงแล้วก็สวมศีรษะผู้ได้รับชัยชนะ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ

 

3. Cram Wreath คือพวงหรีดสำหรับสวมศีรษะเป็นเครื่องประดับ หรือเป็นมงกุฎที่เรียกว่ามงกุฎดอกไม้  

 

4. Funereal Wreath คือพวงหรีดสำหรับมอบให้ในพิธีศพ เพื่อระลึกและไว้อาลัยแก่ผู้ตาย ในธรรมเนียมอังกฤษ โดยเฉพาะรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียมีการคัดสรรดอกไม้ประเภทต่างๆ ที่จะใช้ประดิษฐ์พวงหรีดสำหรับพิธีศพอย่างพิถีพิถันโดยเฉพาะดอกไม้ที่มีสีขาวเพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ของวิญญาณผู้ตาย

 

การมอบพวงหรีดตามธรรมเนียมไทยนำมาใช้สำหรับพิธีศพเท่านั้น เพื่อระลึกหรือไว้อาลัยแก่ผู้ตาย โดยนิยมนำไปมอบให้ญาติผู้ตายในพิธีรดน้ำศพหรือระหว่างการสวดพระอภิธรรมศพ ซึ่งเจ้าภาพจะนำพวดหรีดมาตั้งประดับไว้ในพิธี

 

การมอบพวงหรีดไม่ได้จำกัดเฉพาะในนามส่วนตัวเท่านั้น ยังสามารถมอบพวงหรีดในนามกลุ่มบุคคล อาทิ บริษัทที่ทำงานของผู้ตายหรือของทายาทผู้ตาย กลุ่มเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากธรรมเนียมตะวันตกซึ่งคนสำคัญในชีวิตของผู้ตายเท่านั้นที่จะนำพวงหรีดมาวางตั้งบนหีบศพ เช่น คู่สมรส ทายาท เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ในวัฒนธรรมไทยการประดับพวงหวีดได้กลายเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่แสดงถึงบารมีของผู้ตาย หรือผู้ตายเป็นที่รักของบุคคลมากน้อยแค่ไหน จึงนิยมแขวนประดับพวงหรีดบนผนัง เพดาน หรือประตูหน้าต่างของศาลาสวดอภิธรรมศพ หรือวางไว้บนขาตั้ง ซึ่งการวางพวงหรีดบนขาตั้งเป็นธรรมเนียมที่คนไทยประยุกต์ขึ้นเพื่อให้วางแล้วดูสวยงามเป็นระเบียบ