หมู่บ้านสาขลา

หมู่บ้านสาขลา เป็นชุมชนโบราณที่อยู่เขตพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ปัจจุบันทางราชการกำหนดให้ชุมชนหมู่บ้านสาขลาเป็นตำบล แต่เรียกชื่อว่า ตำบลนาเกลือ ด้วยแต่เดิมเป็นบริเวณที่มีการทำนาเกลือกันมาก หมู่บ้านสาขลาเป็นชุมชนขนาดกลางๆ กะทัดรัด อยู่ละแวกปากอ่าวไทย ค่อนข้างเป็นเอกเทศในลักษณะชุมชนแบบปิด ซึ่งแต่เดิมสามารถเข้าออกชุมชนได้เพียงแค่ทางเรือ 

 

ชุมชนสงขลานี้ สันนิษฐานจากโบราณวัตถุที่ค้นพบเป็นเศษเครื่องถ้วยชามประเภทต่างๆ ซึ่งมีเศษถ้วยชามสังคโลกที่อายุย้อนไปได้ถึงสมัยสุโขทัย เศษเครื่องถ้วยลายครามจากสมัยอยุธยา หรือแม้แต่เครื่องถ้วยเบญจรงค์ในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งแสดงว่าเป็นชุมชนโบราณที่มีเศรษฐกิจมั่งคั่ง

 

ทั้งนี้ ชุมชนบริเวณปากอ่าวมักเป็นชุมชนประมงที่มีอุตสาหกรรมพื้นบ้านประเภทการถนอมอาหารทะเล เช่น ปลาหมึกแห้ง ปลาแห้ง ปลาเค็ม กุ้งแห้ง ซึ่งในประวัติศาสตร์ถือว่าสินค้าเหล่านี้เป็นของดีมีราคา

 

มีผู้สันนิษฐานว่า ชื่อหมู่บ้าน สงขลา เพี้ยนมาจากคำว่า สาวกล้า ซึ่งชาวสาขลาในปัจจุบันภูมิใจกับคำว่าสาวกล้ามาก มีตำนานกล่าวกันว่า ชุมชนหมู่บ้านสาขลาได้ผจญกับกองลาดตระเวนพม่าในสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งเข้ามาปล้นสะดมเพื่อหาเสบียงอาหาร โดยผู้คนในหมู่บ้านเหลือเพียงผู้หญิง เด็ก และคนแก่ เนื่องจากผู้ชายส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์ไปรบในสงคราม ปรากฏว่าบรรดาผู้หญิงในหมู่บ้านลุกขึ้นมาต่อสู้ จนสามารถขับไล่กองลาดตระเวนพม่าออกไปได้สำเร็จ ก็เป็นที่มาของชื่อชุมชนสาวกล้า แล้วจึงเพี้ยนมาเป็นสาขลา 

 

หมู่บ้านสาขลามีวัดประจำชุมชนชื่อ วัดสาขลา กล่าวกันว่าเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา พิจารณาได้จากพระพุทธรูปเก่าสมัยอยุธยาจำนวนมาก ในสมัยปลายกรุงธนบุรีมีการสร้างพระปรางค์เป็นสิ่งก่อสร้างหลักในวัด เป็นพระปรางค์ทรงชะลูดแบบสมัยปลายอยุธยาต่อถึงตอนต้นรัตนโกสินทร์ มีความสูงประมาณ 13 วา แต่ปัจจุบันพระปรางค์องค์นี้อยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรจนเอียง ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า พระปรางค์เอน เพราะปัจจุบันหมู่บ้านสาขลาประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะ เช่นเดียวกับชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ริมปากอ่าวหลายแห่ง 

หมู่บ้านสาขลามีของฝากที่ขึ้นชื่อคือ กุ้งเหยียด โดยนำกุ้งทั้งตัวนำมาต้มกับเกลือและน้ำตาล อาจจะเป็นกุ้งกะลาดำ กุ้งแชบ๊วย หรือกุ้งทะเลก็ได้ แต่จะนำตัวกุ้งมาจับให้ตรงแล้วจัดเรียงก่อนนำไปต้ม ทำให้กุ้งมีลักษณะตัวตรงสวย ซึ่งต่างจากกุ้งหวานในที่อื่นๆ ที่เป็นกุ้งตัวงอ

 

นอกจากนี้ ยังมีงานหัตถกรรมที่เรียกว่า ปูสต๊าป คือการนำปูทะเลหรือปูม้าตัวใหญ่ไปสต๊าปแห้งเพื่อทำเป็นของประดับ ของที่ระลึก หรือเอาไว้ใช้สำหรับห้องวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน และยังมีการทำ ปูรามเกียรติ์ คือการนำกระดองปูมาเขียนเป็นหน้ายักษ์หรือหน้าตัวละครในเรื่องราวรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมที่ค่อนข้างขายดี 

 

ปัจจุบัน ชาวหมู่บ้านสาขลายังคงรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนได้อย่างน่าชื่นชม ทั้งนี้ บริเวณอำเภอพระสมุทรเจดีย์ที่ต้นทางมีหมู่บ้านชาวประมงที่ทำอุตสาหกรรมเรือประมงอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะจ้างชาวพม่ามาเป็นแรงงาน จนกลายเป็นชุมชนพม่าขนาดใหญ่ ซึ่งมีปัญหาทางสังคมต่างๆ ตามมา แต่ปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้กับหมู่บ้านสาขลา อาจเป็นเพราะหมู่บ้านสาขลาเป็นเหมือนกึ่งๆ ชุมชนปิด เพราะแต่เดิมเข้าถึงได้ทางเรือเท่านั้น

 

แม้ว่าในปัจจุบันที่มีถนนเข้าไปถึงหมู่บ้านแล้ว แต่ว่าหมู่บ้านสาขลาก็มีองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีประสิทธิภาพ และพยายามที่จะพัฒนาดูแลรักษาความบริสุทธิ์ของความเป็นหมู่บ้านดั่งเดิมให้ยังคงอยู่ต่อไป นอกจากนี้ยังได้เผยแพร่ชื่อเสียงและความน่าสนใจของหมู่บ้านไปยังนักท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าหมู่บ้านสงขลายังได้รับการอนุรักษ์ได้ดีอย่างยิ่ง