เศรษฐกิจสมัยกรุงธนบุรี

วันที่ออกอากาศ: 28 ธันวาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

หากกล่าวถึงประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรี แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 15 ปี แต่ก็มีเหตุการณ์และประเด็นต่างๆ ที่นักประวัติศาสตร์ศึกษาและถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่อง

 

ในปัจจุบันการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงธนบุรีนั้นมีวิวัฒนาการและค้นพบหลักฐานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ช่วยให้นักวิจัยสามารถนำไปใช้ศึกษาและผลิตเป็นงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ได้อย่างมากมาย

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งซึ่งมักถูกละเลยมองข้ามในการศึกษาวิจัยอยู่เสมอ ก็คือประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ  

 

จิราธร ชาติศิริ ได้เขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2547 เรื่องเศรษฐกิจสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจและเป็นประเด็นทางด้านเศรษฐกิจที่ถูกละเลยมานานสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงธนบุรี

 

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้มีผู้นำไปอ้างอิงและต่อยอด เสมือนเป็นการริเริ่มและสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาวิจัยประเด็นดังกล่าวในเวลาต่อมา

 

เศรษฐกิจในสมัยกรุงธนบุรี ต้องพิจารณาในเบื้องต้นว่าอยู่ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองเพิ่งฟื้นตัวจากภัยสงคราม หลังจากการล่มสลายของพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจการปกครองและความมั่งคั่งมากอย่างยาวนาน ทำให้ราชอาณาจักรสยามสูญเสียปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจในทันที

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านกำลังคน คนในวัยฉกรรจ์จำนวนมากถูกกวาดต้อนไปกรุงอังวะ อีกจำนวนหนึ่งหนีกระจายเข้าไปในป่าหรือไปร่วมกลุ่มผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นตามส่วนภูมิภาค ซึ่งในที่สุดได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นเจ้าชุมนุมหรือเจ้าก๊ก ทำให้ทรัพยากรมุนษย์ซึ่งเป็นกำลังการผลิตทางเศรษฐกิจนั้นหายไปจากระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมการปลูกข้าวในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้หยุดชะงักไปเป็นเวลากว่า 10 ปี

 

เมื่อไม่มีการปลูกข้าว บ้านเมืองจึงเข้าสู่ภาวะข้าวยากหมากแพง แม้สมเด็จพระเจ้าตากสินฯทรงเอาชนะและขับไล่กองทัพพม่าออกไปจากอยุธยาได้ภายในเวลา 10 เดือน แต่ทรงพบว่าคุณภาพชีวิตของประชากรที่ตกต่ำลงอย่างมาก เต็มไปด้วยผู้คนอดตาย จึงทรงตัดสินพระทัยย้ายศูนย์กลางอำนาจลงมายังเมืองธนบุรี ซึ่งมีความพร้อมและมีขนาดเล็กพอที่กองกำลังของพระองค์จะดูแลได้

 

ทรงรวบรวมและอพยพผู้คนเข้ามาในกรุงธนบุรี และระดมสรรพกำลังทุกด้านเพื่อพื้นฟูกิจกรรมการปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงดูผู้คน ทรงขยายพื้นที่ทำนาทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก และมีพระราชดำริให้ข้าราชการออกไปช่วยทำนา แต่ข้าวที่ผลิตได้ในช่วงนั้นไม่เพียงพอ จำเป็นต้องซื้อข้าวมาจากจีนเพื่อแจกจ่ายราษฎร ขณะเดียวกันก็ต้องนำเข้าเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นๆ ทั้งจากจีนและชาติตะวันตก

 

ทรงมีพระราโชบายทำให้กรุงธนบุรีมีสถานะเป็นเมืองท่า โดยชักชวนให้สำเภาจีนก็ดี เรือบริษัทการค้าตะวันตกก็ดีเข้ามาขายสินค้าเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ทำให้ราคาสินค้าถูกลงจนในที่สุดสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องความอดอยากขาดแคลน

 

สำหรับการฟื้นฟูท้องพระคลังซึ่งสัมพันธ์กับอำนาจการซื้อนั้น ทรงมีนโยบายให้ขุดหาสมบัติจากเมืองเก่าที่ราชสำนัก ขุนนาง ราษฎร ในราชสำนักอยุธยาฝังซ่อนกองทัพพม่า โดยให้สัมปทานการขุดสมบัติเพื่อไปประมูลขายพ่อค้าชาวจีน แล้วเก็บเป็นภาษีเข้าท้องพระคลังเป็นเงินหมุนเวียน ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญในเวลานั้น

 

ส่วนรายจ่ายสำคัญของของราชสำนักธนบุรี ลำดับแรกเป็นเรื่องการบำรุงปากท้องของประชาชนก่อน ต่อมาคือค่าใช้จ่ายในการศึกสงครามที่ยังคงต้องรบต่อเนื่องกับพม่า เรื่องที่สามคือการฟื้นฟูและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์

 

ท้ายที่สุดแล้วกรุงธนบุรีสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง เห็นได้ว่าในยุครัตนโกสินทร์ฐานะการคลังของราชสำนักในรัชกาลต่อๆ มาได้ฟื้นฟูไปในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการค้าสำเภามีผลช่วยให้ภาวะขาดเงินคงคลังบรรเทาขึ้นมาได้มาก จนสามารถคลี่คลายปัญหาได้ในสมัยรัชกาลที่ 2