ฮูปแต้มสินไซเดินดง : ฟันฝ่าทางโลก ค้นพบทางธรรม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์

 

คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

ฮูปแต้มสินไซเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาวอีสานนับจากอดีตถึงปัจจุบัน ในแง่มุมด้านระบบความสัมพันธ์และสุนทรียธรรม จากการศึกษาพบว่าวรรณกรรมเรื่องสินไซได้รับความนิยมจากชุมชนชาวอีสาน ซึ่งเชื่อว่าสินไซเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตชาติของพระพุทธเจ้า จึงมีการนำมาผลิตซ้ำในรูปแบบฮูปแต้มมากที่สุดเรื่องหนึ่งในบรรดาเรื่องราวฮูปแต้มอีสาน ด้วยการเขียนภาพบนผนังสิม (โบสถ์) ซึ่งเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นพื้นที่ทางธรรมร่วมกับเรื่องพระเวสสันดรและพระมาลัย รวมถึงเรื่องอื่นๆในทางพุทธศาสนา มีวัตถุประสงค์เพื่อฉลองศรัทธาพุทธศาสนิกชนที่มีต่อพระพุทธศาสนา สร้างบารมีและใช้เป็นสื่อธรรมะ ตลอดจนใช้เป็นภาพประดับศาสนสถานให้สวยงามเป็นศรีสง่าแก่วัดและชุมชน ฉากที่นิยมนำมาเขียนมากที่สุดคือ ”สินไซเดินดง” เนื่องจากเป็นฉากที่มีความอลังการมากที่สุดเพราะมีเรื่องราวการผจญภัยชวนให้ติดตาม ผู้ชมได้รับสุนทรีย์ครบทุกรส โดยเฉพาะการต่อสู้ของตัวละครเอก ได้แก่ สินไซ สังข์ สีโห กับงูชวง ยักษ์กันดาน ช้างฉัททันต์ ยักษ์ 4 ตน ยักษ์ขิณี พญาธร(ด่านนารีผล) ยักษ์อัสสมุขี ยักษ์กุมภัณฑ์ และพญานาค รวมถึงฉากเชยชมนางกินรี ซึ่งเป็นตอนที่ช่างเขียนมีอิสระในการแสดงออกอย่างเต็มที่ แต่หลายวัดไม่ได้นำเสนอครบทุกด่านด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ ซึ่งมีความต้องการเขียนหลายเรื่องร้อยเรียงกันผนวกกับเรื่องสินไซ เช่น ภาพสินไซตอนกำลังต่อสู้กับยักษ์กุมภัณฑ์ ฉากด่านนารีผล ฉากงูซวง ฉากต้นกัลปพฤกษ์ ฉากนางกินรี เป็นต้น นอกจากนี้ฮูปแต้มตอนสินไซเดินดงของวัดต่างๆ จะถูกนำเสนอในรูปแบบที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับมุมมองและการตีความของช่างเขียน โดยมีศรัทธาและการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นพื้นฐานที่สำคัญไม่มีขนบด้านรูปแบบตายตัว แต่เน้นการแสดงออกตามจริต ทักษะ และจินตนาการของช่างแต่ละคน

 

สรุปได้ว่าฮูปแต้มสินไซมีความสัมพันธ์กับชุมชนอีสานมายาวนานนับจากอดีตถึงปัจจุบัน มีบทบาทเป็นสื่อสอนธรรมะให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นที่สำคัญฮูปแต้มสินไซนับเป็นสื่อสุนทรีย์ไม่กี่ชนิดในอดีตที่ช่วยหล่อหลอมสร้างแรงบันดาลใจ เชื่อมโยงโลกและธรรมได้อย่างประสานกลมกลืน โดยเฉพาะฉากสินไซเดินดงที่อยู่ในความทรงจำของคนอีสานตลอดมา ปัจจุบันมีการนำฉากสินไซเดินดงไปปรับประยุกต์ใช้ในหลากหลายรูปแบบและวัตถุประสงค์ผ่านการตีความใหม่ เช่น การนำไปสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่น การส่งเสริมเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น ฮูปแต้มสินไซในบริบทร่วมสมัยจึงถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นวัตถุเพื่อการพัฒนาผ่านระบบการบริโภควัฒนธรรมซึ่งเป็นการลดทอนคุณค่าเชิงจิตวิญญาณของท้องถิ่น สู่การสร้างคุณค่าใหม่ผ่านนโยบายการพัฒนาของภาครัฐเป็นสำคัญ

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "โลกกับธรรม : ภูมิปัญญาความรู้ในงานพุทธศิลป์อีสาน" ระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)