ความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์บ้านในชุมชนไทลื้อ บ้านไม้ลุงขน อ.แม่สาย จ.เชียงราย: การสืบทอดและพลวัตภายใต้บริบทใหม่

อัมพิกา ยะคำป้อ

 

โรงเรียนดอยหลวง รัชมังคลาภิเษก

 

 

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพลวัตและบทบาทของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์บ้านที่บ้านไม้ลุงขน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ผลการศึกษาพบว่า พิธีสำคัญที่เกี่ยวกับผีอารักษ์บ้านในชุมชนไทลื้อมี 3 พิธี คือ พิธีเลี้ยงเจหรืองานประจำปีศาลเจ้าพ่อคำแดง พิธีสงเคราะห์บ้านและสืบชะตาบ้าน และพิธีเลี้ยงเมือง พิธีกรรมทั้ง 3 พิธีนี้แสดงให้เห็นถึงการสืบทอดความเชื่อเรื่องผีอารักษ์ของชาวไทลื้อ ขณะเดียวกันความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับอารักษ์บ้านก็มีพลวัต คือ การย้ายศาลอารักษ์บ้านตามธรรมเนียมการตั้งศาลแต่เดิมที่เอาไว้ท้ายหมู่บ้านมาตั้งใหม่ใจกลางหมู่บ้านเพื่อให้อยู่ในที่ที่สะดวกต่อการเซ่นสรวงบูชา การยอมรับเอาชื่อผีอารักษ์เมืองเชียงใหม่และผีอารักษ์เมืองจากสิบสองปันนาเป็นผีอารักษ์บ้าน การเซ่นสรวงบูชาอารักษ์บ้านด้วยอาหารมังสวิรัติ และธรรมเนียมการปฏิบัติตนของผู้เข้าร่วมพิธีกรรม ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นพลวัตของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์บ้านของชาวไทลื้อ เมื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริบทใหม่ คือที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย ก็มีการยอมรับและปรับวัฒนธรรมของชาวไทยวนเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวไทลื้อ

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลังและพลวัตวัฒนธรรมล้านนา" วันที่ 30 มกราคม 2558 ณ โรงแรมเวียงลคอร จังหวัดลำปาง จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง)