วรรณกรรมพุทธศาสนาเพื่อการเยียวยาทางจิตวิญญาณในวิถีล้านนา

ชวนพิศ นภตาศัย

 

นักวิชาการอิสระ

 

 

การเยียวยาด้วยการสวดมนต์ หรือการเทศน์ให้แก่ผู้ป่วยตามธรรมเนียมล้านนาที่สืบทอดกันมาในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เมื่อรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร สัมภาษณ์ผู้รู้ และร่วมสังเกตการณ์ในพิธีกรรม พบว่าตัวบทวรรณกรรมที่มีการนำมาใช้เพื่อเยียวยาผู้ป่วย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มี 15 เรื่อง

 

ในแง่คติชนนั้น ตัวบทวรรณกรรมเป็นคำกล่าวสรรเสริญ และเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า บริบทในพิธีกรรมเป็นสิ่งช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาในคำสอน ดังนั้นพิธีกรรมเยียวยาแบบนี้จึงมีความหมายว่า เป็นการทำบุญด้วยการช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างดีที่สุดในบริบทนั้น เป็นพิธีกรรมที่สืบทอดความเชื่อว่าจะช่วยให้วิญญาณได้ไปสู่ภพภูมิที่ดี พิธีกรรมนี้จึงเป็นพิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน (Rites of Passage) ไปสู่สภาวะที่ดีกว่า

 

ในแง่จิตวิทยา ตัวบทวรรณกรรมเป็นการบอกให้ผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ยึดเหนี่ยวและสาระธรรมเป็นการสอนให้ฝึกสติและปล่อยวาง ส่วนบริบทของพิธีกรรมเป็นการสร้างความรู้สึกมั่นคงทางอารมณ์ และการสร้างเสริมความศรัทธาเพื่อให้เกิดความหวังในสิ่งที่ดีกว่า และพิธีกรรมเป็นการสนับสนุนทางสังคม (Social Support) ช่วยให้ผู้ป่วยทำสมาธิด้วยมนตราบำบัดซึ่งอาจทำให้บรรลุสู่สภาวะเหนือตน (Transpersonal Stage)ได้อย่างราบรื่น

 

ปัจจุบัน วรรณกรรมเยียวยาที่นิยมใช้ มีเพียง 3 เรื่อง คือ มหาวิบาก กรรมวาจา และโพชฌงค์ 7  อีก 12 เรื่อง ไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากมีพลวัตของตัวบทที่ทำให้ไม่สะดวกที่จะนำมาใช้ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงในทัศนคติของพระสงฆ์ตลอดจนความสับสนในความเชื่อของชาวล้านนายุคใหม่ การสอนธรรมให้แก่ผู้ป่วยและญาติ จึงกลายเป็นพิธีกรรมเพื่อการทำบุญเอาอานิสงส์เท่านั้น

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการ "การรักษาโรคกับการใช้ยาสมุนไพรในวัฒนธรรมไทย-ไท (2017 Chulalongkorn Thai-Tai Heritage Forum: Healing and Herbal Medicine) ระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2560 ณ โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยและอาเซียนศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITAS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมไทย สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง)