กับดักความเป็นชายและความพิการบนเรือเควียร์ : อ่านในกับดักและกลางวงล้อมแบบเควียร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เสาวณิต จุลวงศ์

 

– คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

บทความนี้เสนอการศึกษานวนิยายเรื่อง ในกับดักและกลางวงล้อม ของประชาคม ลุนาชัย ด้วยการอ่านแบบเควียร์และทฤษฎีความพิการ เพื่อเผยให้เห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างความพิการกับความเป็นเควียร์ จากการศึกษาพบว่า ร่างกายที่พิการของตัวละครไม่เพียงเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน แต่ยังส่งผลให้พวกเขาล้มเหลวในการสร้างความสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม ร่างกายที่พิการลดทอนความเป็นชายของตัวละครเหล่านั้น ทำให้เกิดภาวะความเป็นเควียร์ขึ้น นวนิยายสะท้อนถึงพลังของปิตาธิปไตยที่แผ่อำนาจกดทับและกดดันผู้ชายซึ่งมีเพศวิถีแบบรักต่างเพศ โดยเรียกร้องความเป็นชายที่สมบูรณ์ไม่ใช่เพียงเรื่องของรูปร่างหน้าตาและสมรรถภาพทางเพศ หากแต่หมายรวมถึงความสามารถและศักยภาพในการทำงาน ทำให้ผู้ชายที่ไม่สามารถทำงานได้ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตความเป็นชายและกลายสภาพไปเป็นเควียร์ ติดอยู่ในกับดักบรรทัดฐานความเป็น “ปกติธรรมดา” ของสังคมชายเป็นใหญ่

 

คำสำคัญ: นวนิยายไทย, เควียร์, ความพิการ, ความเป็นชาย

 

 

(เสนอในการเสวนาวิชาการ "ความหลากหลายทางเพศในวรรณกรรมไทย (LGBTQ in Thai Literature)" วันที่ 26 มกราคม 2563 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร)