ศาลเจ้าพ่อไต่เสี่ย บ้านกำแพง จังหวัดนราธิวาส

ศาลเจ้าพ่อไต่เสี่ย บ้านกำแพง ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 7 หมู่ 7 ตำบลกะลุวอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส แม้อายุศาลเจ้าแห่งนี้จะยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับศาลเจ้าอื่น ๆ คือประมาณ 36 ปีนับตั้งแต่ พ.ศ. 2529 แต่ก็เป็นศาลเจ้าแห่งหนึ่งที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่ศรัทธาของผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่จนไปถึงทางฝั่งมาเลเซีย 

 

ย้อนกลับไปก่อนจะมาเป็นศาลเจ้าพ่อไต่เสี่ยซึ่งตั้งอยู่บริเวณโครงการอ่างเก็บน้ำพิกุลทองในปัจจุบัน ศาสนสถานแห่งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากกิมซิ้นหรือองค์พระไต่เสี่ยฮุกโจ้ว ที่มารดาของคุณสุวรรณ หวังสันติ ได้รับสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษที่เมืองจีน และได้ตั้งบูชากันภายในครอบครัว แต่ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ทำให้มีเพื่อนบ้านที่กำลังตกทุกข์ได้ยากแวะเวียนมาสักการะบูชาเป็นครั้งคราว จนเมื่อคุณสุวรรณอายุได้ 12 ปี เกิดเจ็บป่วยด้วยโรคดีซ่านอยู่เป็นเวลานานจนครอบครัวทำใจเตรียมโลงศพไว้ เคราะห์ดีที่วันหนึ่งมารดาของคุณสุวรรณได้พาเขาไปพบร่างทรงที่ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะที่อำเภอสุไหงโกลก จึงทราบว่าอาการป่วยเป็นสัญญาณว่าองค์เทพ “ไต่เสี่ยฮุกโจ้ว” หรือ “เห้งเจีย” ต้องการให้คุณสุวรรณเป็นร่างทรงของท่านเพื่อช่วยเหลือผู้คน เมื่อทราบเช่นนั้นและได้มอบตัวเป็นลูกศิษย์ขององค์เห้งเจีย อาการเจ็บป่วยของคุณสุวรรณก็ดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ยังเป็นเด็กและไม่ต้องการให้เพื่อนวัยเดียวกันล้อเลียนว่าตนเป็นบ้า คุณสุวรรณพยายามทุกวิถีทางที่จะหนีจากการเป็นร่างทรง แต่เมื่ออายุได้ 18 ปี ก็ไม่อาจที่จะหนีจากภารกิจที่องค์เห้งเจียมอบหมายให้ได้อีกต่อไป จึงได้ตัดสินใจดำเนินชีวิตตามลิขิตสวรรค์และเริ่มต้นศึกษาทางด้านนี้อย่างจริงจัง

 

คุณสุวรรณได้ร่ำเรียนวิชาและทำพิธีเบิกเนตรเบิกโอษฐ์จากอาจารย์บุญ บุญรักษ์ ร่างทรงประจำศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะในขณะนั้น และได้รับใช้อาจารย์อยู่หลายปี ก่อนตัดสินใจกลับมาช่วยกิจการของครอบครัวที่บ้านกำแพงตามคำขอของบิดา เมื่อกลับมาอยู่ที่บ้านแล้ว วันหนึ่งในช่วงปลาย พ.ศ. 2529 องค์เห้งเจียได้เข้าประทับทรงและสั่งให้อัญเชิญองค์พระของท่านขึ้นประทับเกี้ยว ออกหามไปหาที่ประดิษฐานจนมาเลือกบริเวณอ่างเก็บน้ำพิกุลทอง ซึ่งด้านหน้าของที่ดินเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ด้านหลังเป็นป่าสวนยาง และด้านข้างเป็นทิวเขาทอดยาว เมื่อเลือกสถานที่แล้ว องค์เห้งเจียได้บอกลูกหลานผ่านร่างทรงด้วยภาษาแบบชาวบ้านว่า “อีก 3 ปี กูจะมีบ้านใหม่” จากนั้น มารดาของคุณสุวรรณจึงได้บริจาคที่ดินผืนนั้นให้สำหรับสร้างศาลเจ้าซึ่งในช่วงต้นเป็นเพียงเพิงไม้หลังคามุงใบจาก ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ขององค์เห้งเจีย 3 ปีต่อมาได้มีพ่อค้าหนุ่มผู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจตามที่ได้บนบานต่อองค์เห้งเจียไว้ได้นำปัจจัยมาถวายเพื่อสร้างศาลเจ้าจนแล้วเสร็จและทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2532 ตามที่ท่านประกาศไว้ทุกประการ

 

นับแต่นั้น ชื่อเสียงของศาลเจ้าพ่อไต่เสี่ย บ้านกำแพง และคุณสุวรรณหรือที่ขณะนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า “อาจารย์แอ๊ะ” ก็เป็นที่นับถือลือเลื่องไปทั่วโดยเฉพาะในหมู่ผู้ที่ปรารถนาโชคลาภจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์และผู้ที่ถูกมนตร์ดำคุณไสย ไม่เพียงแต่บารมีขององค์เห้งเจียเท่านั้น ผู้คนที่หลั่งไหลมาที่ศาลเจ้าแห่งนี้ยังมีโอกาสกราบสักการะเทพเจ้าอื่น ๆ ด้วย เช่น เจ้าแม่กวนอิม พระหมอทรงม้า เป็นต้น โดยเทพเจ้าเหล่านี้ล้วนแล้วแต่อัญเชิญมาประดิษฐานที่ศาลเจ้าตามคำสั่งขององค์เห้งเจียที่บอกผ่านร่างทรง 

 

ลักษณะที่น่าสนใจประการหนึ่งของศาลเจ้าแห่งนี้ คือ เทวลักษณะขององค์พระเห้งเจีย องค์แรกเป็นปางนั่งบัลลังก์ มือซ้ายถือคทา มือขวาทำมุทรา องค์พระนี้เป็นองค์พระดั้งเดิมคือเป็นปางเดียวกับองค์พระแรกเริ่มของครอบครัว แม้จะมีการทำพิธีเผาองค์พระเดิมแล้วนำมวลสารมาใส่องค์พระใหม่เพื่อสืบทอดความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระเดิมที่เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา สำหรับองค์ที่สอง มีลักษณะเป็นปางยืนขี่เมฆ มือขวาป้องตาเพื่อใช้ตาทิพย์ทั้งมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตช่วยเหลือผู้คน มือขวาถือไม้กระบองวิเศษ องค์สุดท้ายนั้นเป็นองค์ที่มีขนาดเท่าคนจริงและประทับนั่งบัลลังก์เป็นประธาน อยู่ตรงกลางระหว่างสององค์แรก โดยมือซ้ายของท่านถือคทาหรูอี้ มือขวาถือไม้กระบองวิเศษ กล่าวกันว่าเทวลักษณะขององค์พระเห้งเจียในศาลเจ้าแห่งนี้เป็นไปตามคำสั่งของท่านที่ประสงค์ให้มีทั้งปางนั่ง (ปางบุ๊น) และปางยืน (ปางบู๊) เพื่อที่จะช่วยเหลือเหล่าลูกหลานที่มากราบสักการะได้อย่างรอบด้าน 

 

งานสมโภชของศาลเจ้าพ่อไต่เสี่ย บ้านกำแพง จัดขึ้นช่วงวันเทวสมภพขององค์เห้งเจีย ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือนกันยายนของทุกปี ในงานจะมีการแห่พระลุยไฟ ที่พิเศษ คือ การประมูลองค์พระเห้งเจียและแม่เต่าเงินและแม่เต่าทองคำ โดยผู้ที่ชนะการประมูลจะได้นำวัตถุมงคลนี้ไปบูชาส่วนตัวเป็นเวลา 1 ปี และนำกลับมาคืนศาลเจ้าก่อนงานสมโภชปีถัดไป ด้วยศรัทธาของลูกหลานที่มีต่อองค์เห้งเจีย องค์พระที่เปิดให้ประมูลนี้จึงมีได้รับอัญเชิญไปสถิตเป็นมิ่งขวัญทั้งในประเทศ และต่างประเทศตามบุญสัมพันธ์ที่ท่านมีต่อลูกหลานแต่ละคนแต่ละปีสำหรับลูกหลานที่ศรัทธาองค์เห้งเจีย โดยเฉพาะผู้ที่เกิดปีนักษัตรวอก (ปีลิง) นั้นในปีที่ตรงกับปีนักษัตรวอกจะมีการเชิญพระเห้งเจียองค์ใหญ่ซึ่งเป็นองค์ประธานของศาลเจ้าแห่งนี้ ประทับเกี้ยวออกแห่ในงานสมโภชเป็นสิริมงคลแก่ลูกหลานด้วย 

 

ท่ามกลางกระแสศรัทธาที่น้อมนำลูกหลานผู้มีจิตศรัทธาให้หลั่งไหลมากราบไหว้องค์เห้งเจียจนสามารถจัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ในช่วงงานสมโภช เช่น เมื่อ พ.ศ. 2538 มีการจัดหนังกลางแปลงและมโนห์รา รวมถึงมีการจุดประทัดถวายถึงแสนนัด ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของศาลเจ้าแห่งนี้อย่างประมาณมิได้ กล่าวคือ ด้วยที่ตั้งของศาลเจ้าที่อยู่นอกตัวเมืองและอยู่ในพื้นที่ที่ล้อมด้วยป่าและภูเขา ผู้คน ทั้งที่อยู่ในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้กังวลด้านความปลอดภัยและไม่กล้าเดินทางมากราบสักการะ ส่งผลต่อเนื่องถึงปัจจุบันที่บางเดือนไม่มีผู้มากราบสักการะเลยทำให้ศาลเจ้าขาดปัจจัยในการจัดการและบูรณะ ศาลเจ้าในปัจจุบันจึงอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก เปรียบเสมือนมังกรหลับใหลหรือไม่ก็วานรจำศีล ที่รอเวลาตื่นหรือออกจากการปฏิบัติเพื่อเผยแผ่บารมีอย่างเต็มกำลังอีกครั้งหนึ่ง

 

ผู้ที่ศรัทธาองค์เห้งเจียและสนใจเดินทางไปกราบไหว้ท่านที่ศาลเจ้าแห่งนี้ สามารถติดตามข่าวสาร สอบถามข้อมูล และร่วมบุญบริจาคปัจจัยเพื่อบำรุงศาลเจ้าได้ทางเพจเฟซบุ๊ก ศาลเจ้าพ่อไต่เสี่ย บ้านกำแพง นราธิวาส 陶公府甘烹村大聖宮 

 

 

หมายเหตุ 

 

เรียบเรียงจากบทความในนิตยสารมหาสิทธิโชค ฉบับที่ 46 พ.ศ. 2533 และนิตยสารลานโพธิ์ ฉบับที่ 172 พ.ศ. 2539 รวมถึงคำบอกเล่าของคุณสุวรรณ หวังสันติ ทั้งนี้ ได้รับการตรวจทานความถูกต้องจากทางผู้แทนศาลเจ้าแล้ว ผู้ที่สนใจใช้ข้อมูลชุดนี้เพื่อการประชาสัมพันธ์หรือการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ขอความกรุณาอ้างอิงแหล่งข้อมูลนี้โดยระบุชื่อ ศาลเจ้าพ่อไต่เสี่ย บ้านกำแพง ในฐานะผู้เขียน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)