คณะผู้จัดงาน (การประชุมวิชาการระดับชาติ - ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท)

การประชุมวิชาการระดับชาติ

ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท

เฉลิมพระเกียรติ
สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ในโอกาสที่องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก
ในวาระครบ 150 ปี พระราชสมภพ

20-21 มิถุนายน 2556
โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด จังหวัดขอนแก่น 

จัดโดย 

โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS)  
สถาบันไทยศึกษา  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

คำกล่าวรายงาน (การประชุมวิชาการระดับชาติ - ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท)

คำกล่าวรายงาน

ในพิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ

 

ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย – ไท

 

โดย  รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา  จงสถิตย์วัฒนา

ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

เรียน ท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

ดิฉันในนามผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    และคณะผู้ร่วมจัดการประชุม  รู้สึกเป็นเกียรติและขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งที่ท่านรองอธิการบดี  กรุณามาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติเรื่อง  ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย – ไท   ในวันนี้

 

ผ้าที่ทอด้วยมือโดยใช้ไหมหรือฝ้าย นับเป็นผลผลิตทางภูมิปัญญาของคนในสังคมที่อาศัยในดินแดนที่เป็นสยามประเทศราว  700 – 800  ปี  ก่อนคริสตกาลแล้ว  โดยมีหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฎให้เห็นเช่นที่อำเภอหนองหาน   จังหวัดอุดรธานี  เป็นต้น  ผ้าที่ทอด้วยมือมีหลากหลายลวดลายและรูปแบบตามกระบวนการวิธีที่ถักทอขึ้น และแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น  อีกทั้งยังแสดงให้เห็นความชำนาญของช่างทอที่สืบเชื้อสายจากกลุ่มชนต่างๆ  ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยด้วย

 

สังคมไทยนั้นนับว่าโชคดีที่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี  พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า  ทรงเป็นผู้ให้ความสนพระทัยในเรื่องการทอผ้า   โดยทรงสนับสนุนให้มีการตั้งโรงเย็บผ้า  และทรงเป็นผู้นำสตรีไทยด้านการเย็บผ้าแบบตะวันตก  นอกจากนี้ยังทรงมีส่วนในการอนุรักษ์พัฒนางานศิลปะในการทอผ้าพื้นบ้านของชุมชนอ่างศิลาและเขาสามมุก จังหวัดชลบุรี รวมถึงการพัฒนาเพิ่มลายทอผ้าไทยแบบใหม่ที่มีความงดงาม

 

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสา อัยยิยาเจ้าในโอกาสครบ 150 ปี  วันพระราชสมภพ  และในโอกาสที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญทางด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ประยุกต์  (สาธารณสุข)  สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์  โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคม  สถาบันไทยศึกษา  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  จึงเห็นสมควรร่วมกันจัดประชุมวิชาการระดับชาติเรื่อง  “ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย – ไท”  เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสอันสำคัญนี้และเพื่อเป็นการส่งเสริมการทอผ้าที่บ่งบอกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมการแต่งกายของคนไทย – ไท ได้เป็นอย่างดี  โดยกำหนดการประชุมเป็น 2 วัน คือวันที่ 20 และ 21 มิถุนายน  2556 ในการนี้ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ที่ให้เกียรติเป็นวิทยากรเสนอบทความ ได้แก่ ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษฯสวนจิตรลดา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และขอขอบคุณ อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ นักวิชาการอิสระไว้ ณ ที่นี้ด้วย 

 

สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยคณาจารย์  นักวิชาการ  นักศึกษา  ตลอดจนผู้สนใจทั่วไปประมาณ  150   คน

 

บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้วกราบเรียนท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวเปิดการประชุมวิชาการครั้งนี้ด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง

คำกล่าวเปิดการประชุม (การประชุมวิชาการระดับชาติ - ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท)

คำกล่าวเปิดการประชุม

ในพิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ

 

ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย – ไท

 

โดย  รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย  สมัปปิโต

อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

 

เรียน ผู้อำนวยการ สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

        ท่านวิทยากร  ผู้เข้าร่วมประชุม และผู้มีเกียรติทุกท่าน

 

กระผมมีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานเปิดงาน “การประชุมวิชาการระดับชาติเรื่อง “ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในโอกาสที่องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในวาระครบ 150 ปี พระราชสมภพ ซึ่งจัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในวันนี้

 

ดังที่ทราบกันดีแล้วว่า เครื่องนุ่งห่ม คือหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์และถือเป็นข้อมูลทางวัฒนธรรมที่สามารถสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์ขึ้นจากผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยอาศัยวัตถุดิบจากธรรมชาติทั้งหลาย ผสมผสานกับเทคนิคและภูมิปัญญาพื้นบ้าน จนกระทั่งก่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสวยงามและทรงคุณค่า สามารถแสดงออกซึ่งตัวตนทางสังคมของชุมชนท้องถิ่น รวมถึงสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่อยู่ในประเทศไทย รวมไปถึงชาติพันธุ์ไทที่มีถิ่นอาศัยอยู่นอกเขตประเทศไทย ซึ่งถือเป็นกลุ่มชนหนึ่งที่สามารถผลิตเครื่องนุ่งห่มได้อย่างประณีต งดงาม และมีความโดดเด่นยิ่ง

 

ด้วยความสำคัญดังกล่าว ทำให้มีนักวิชาการและบุคคลมากมายหันมาให้ความสนใจในการศึกษาค้นคว้า รวมถึงจัดทำพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับผ้าต่างๆ บ้างก็จัดทำหนังสือ และได้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับผ้าทอในหลากหลายแง่มุม เพื่อสืบสานองค์ความรู้เกี่ยวกับผ้าให้ดำรงคงอยู่ เป็นที่ประจักษ์ และคงไว้ซึ่งคุณค่าภูมิปัญญาด้านนี้ให้คงอยู่สืบไป

 

ด้วยเหตุนี้ กระผมจึงมีความเชื่อมั่นว่า การประชุมทางวิชาการระดับชาติในครั้งนี้จะเวทีเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับผ้าทอในวิถีวัฒนธรรมของคนไทย -ไทในถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะในสังคมลุ่มแม่น้ำโขง ตลอดจนเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายทางวิชาการด้านผ้าทอในสังคมไทยให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

 

บัดนี้ ได้เวลาอันสมควรแล้ว กระผมขอเปิดงาน “การประชุมวิชาการระดับชาติเรื่อง “ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท” ขอให้การประชุมในวันนี้ดำเนินด้วยดี และบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ทุกประการ ขอขอบคุณ สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ร่วมเป็นเครือข่ายในการจัดประชุมในครั้งนี้ ขอบคุณวิทยากรทุกท่านที่กรุณามาถ่ายทอดความรู้ รวมถึงบุคลากรทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการจัดประชุมครั้งนี้ และขออวยพรให้ผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการทุกท่านประสบแต่ความสุขโดยทั่วกัน

กำหนดการ 20 มิถุนายน 2556 (การประชุมวิชาการระดับชาติ - ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท)

8.30 – 9.30

ลงทะเบียน

9.30 – 9.50

พิธีเปิดการประชุม

9.50 – 10.40

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กับการส่งเสริมวัฒนธรรมทอผ้าของไทย
     อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ
     – ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าและเครื่องแต่งกายไทย

10.40 – 11.10

รับประทานอาหารว่าง

11.10 – 12.00

ผ้าและการแต่งกายของกลุ่มไทบ่งบอกภูมิลำเนาของชุมชน
     Patricia Cheesman
     คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

12.00 – 13.00

รับประทานอาหารกลางวัน

13.00 – 13.50

ผ้าห่อคัมภีร์ : หัตถศิลป์และพลังศรัทธา
     รองศาสตราจารย์วีณา วีสเพ็ญ
     – สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

13.50 – 14.40

ผ้าทอไทลื้อ : คือชีวิตและศรัทธา
     รองศาสตราจารย์ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล
     – คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

14.40 – 15.10

รับประทานอาหารว่าง

15.10 – 16.00

ผ้าทอชาติพันธุ์ผู้ไท : การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและการต่อยอดภูมิปัญญา
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิทธิชัย สมานชาติ
     – คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
 

กำหนดการ 21 มิถุนายน 2556 (การประชุมวิชาการระดับชาติ - ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท)

8.30 – 9.30

ลงทะเบียน

9.30 – 10.20

ผ้าทอในราชสำนักไทย
     วีรธรรม ตระกูลเงินไทย 
     – ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษฯ สวนจิตรลดา

10.20 – 11.10

ผ้าฝ้าย : ปฐมบทผ้าทอแห่งชีวิตและการขัดเกลาทางสังคม
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชาย นิลอาธิ
     – นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

10.10 – 10.40

รับประทานอาหารว่าง

10.40 – 11.30

ครามมีชีวิต : วัฒนธรรมผ้าย้อมครามของคนไทย-ลาว
     ดร.อุมารินทร์ ตุลารักษ์
     – คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

11.30 – 13.00

รับประทานอาหารกลางวัน


13.00 – 13.50

พลวัตทางส้งคมของครอบครัวช่างทอผ้าไทย-ลาว
     ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล
     – สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

13.50 – 14.40

แพรไหมมังกร : ความเป็นจีนในวิถีราชสำนักหลวงพระบาง
     รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐม หงษ์สุวรรณ
     – สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

14.40 – 15.00

รับประทานอาหารว่าง

15.00 – 15.50

เสวนาโต๊ะกลม : ศิลปาชีพกับผ้าทอในชนบทไทย: จากอดีตสู่ปัจจุบัน

วิทยากร
     สุนา ศรีบุตรโคตร
     แสงเดือน จันทร์นวล
     – สมาชิกศิลปาชีพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ผู้ดำเนินรายการ
     ดลยา เทียนทอง
     – สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

15.50 – 16.00

พิธีปิดการประชุม
 

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กับการส่งเสริมวัฒนธรรมทอผ้าของไทย

อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ

 

 

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นผู้ให้ความสนพระทัยในเรื่องการทอผ้า และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมวัฒนธรรมทอผ้าของไทย จนสามารถเชื่อมโยงมาถึงการพัฒนาเป็นงานอาชีพในกลุ่มสตรี รวมทั้งข้าราชบริพาร และยังต่อเนื่องมาถึงการศึกษานอกระบบ โดยทรงสนับสนุนให้มีการตั้งโรงเย็บผ้า การอนุรักษ์พัฒนางานศิลปะในการทอผ้าพื้นบ้านของชุมชนอ่างศิลาและเขาสามมุก จังหวัดชลบุรี รวมถึงการพัฒนาเพิ่มลายทอผ้าไทยแบบใหม่ที่มีความงดงาม และทรงเป็นผู้นำสตรีไทยด้านการตัดเย็บผ้าแบบตะวันตก นอกจากนี้ พระองค์ทรงมีพระปรีชาด้านงานฝีมือเย็บปักถักร้อยและการทอผ้า  และเคยมีส่วนร่วมเผยแพร่ศิลปหัตถกรรมในต่างประเทศอีกด้วย

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท" ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด  จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

ผ้าและการแต่งกายของกลุ่มไทบ่งบอกภูมิลำเนาของชุมชน

Patricia Cheesman

 

คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

เหตุผลหนึ่งที่กลุ่มไทปกครองพื้นที่กว้างในทวีปเอเชียอาคเนย์ได้คือความกตัญญูที่มีต่อชุมชน ความหลากหลายของผ้าไท แบบต่างๆ แสดงถึงเอกลักษณ์ของชุมชนนั้นๆ และเป็นวิธีที่ใช้กันทั่วโลกเพื่อแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 

ระบบการจำแนกผ้าและการแต่งกายของคนไทโบราณแบบชาติพันธ์วิทยาไม่คำนึงถึงการอพยพ การแต่งงานต่างกลุ่มชาติพันธ์ และประวัติศาสตร์ หรือภูมิลำเนาของชุมชน

 

อีกมุมหนึ่งระบบการจำแนกผ้าและการแต่งกายของคนไทตามชุมชนเป็นระบบที่เชื่อถือได้ ในการวิจัยและการเก็บบันทึก ระบบนี้อธิบายชัดเจนถึงการใช้ผ้าและการแต่งกายที่เหมือนกัน แม้แต่ชาติพันธ์จะต่างกัน เพราะอยู่ในชุมชนเดียวกัน นอกจากนั้นระบบนี้ยังช่วยพิสูจน์เอกลักษณ์ ภูมิลำเนาดั้งเดิมของกลุ่มไทที่ย้ายถิ่นฐานระบบนี้ก็ได้อธิบายการเปลี่ยนแปลงการแต่งกายและการใช้ผ้าของกลุ่ม หรือบุคคลที่ย้ายไปอยู่ชุมชนใหม่ โดยการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการเลิกใช้แบบเก่า เพื่อรับแบบใหม่ของชุมชน  ซึ่งไม่ใช่การรับอิทธิพลแค่บางส่วน

 

การบรรยายนี้จะกล่าวถึงชุมชนไทที่มีเอกลักษณ์เจาะจง เป็นผลสรุปจากการวิจัยในพื้นที่กว่า 35  ปี ซึ่งจะอธิบายถึงระบบแม่แบบชุมชนและสาธิตว่าวิวัฒนาการของผ้าไท ได้เกิดจากระบบเศรษฐกิจ สังคมและการปกครองของชุมชนไม่ใช่มาจากชาติพันธ์วิทยา นักวิจัยสามารถนำระบบนี้ไปใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิสูจน์เอกลักษณ์ของผ้าไทในอดีต

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท" ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด  จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

ผ้าห่อคัมภีร์: งานหัตถศิลป์แห่งพลังศรัทธา

รองศาสตราจารย์วีณา  วีสเพ็ญ

 

สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

 

ผ้าห่อคัมภีร์เป็นผ้าทอที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่นับถือพุทธศาสนา และปรากฏสืบเนื่องมาในชุมชนตั้งแต่สมัยอยุธยา ผ้าห่อคัมภีร์ คือผ้าห่อใบลานซึ่งได้จารพระไตรปิฎก อันได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก รวมทั้งจารเรื่องราวทางคติธรรมต่างๆ เช่น พุทธประวัติ ชาดก เป็นต้น ผ้าห่อคัมภีร์ใบลานจัดอยู่ในกลุ่มผ้าที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา มีอยู่หลายประเภทและมีการสร้างสรรค์โดยมีศรัทธาของคนในชุมชนเป็นเครื่องนำทาง เช่น ผ้าทังกา ผ้าพระบฏ ผ้าปูกราบ ผ้าหมอนถวายวัด ผ้าธง ตุง ผ้าผะเหวด เป็นต้น ผ้าที่เกี่ยวข้องกับศาสนาทุกประเภท ล้วนมีบทบาทของชายและหญิงทำการเกื้อกูลกันประดิษฐ์ด้วยฝีมือที่งดงาม แสดงเอกลักษณ์ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ ผ้าห่อคัมภีร์ใบลานเป็นผ้าที่ใช้หุ้มภายนอกของคัมภีร์ใบลาน เพื่อป้องกันฝุ่น แมลง และสิ่งสกปรกต่างๆ เป็นการช่วยถนอมรักษาให้คัมภีร์ใบลานสะอาดและใช้ได้ยาวนาน พบอยู่ทุกภาคของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากคัมภีร์ใบลานถือเป็นของสูงและชาวบ้านเคารพนับถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผ้าที่นำมาห่อคัมภีร์ใบลานจึงต้องเป็นผ้าใหม่ สวยงาม เนื้อดี นำไปถวายวัดด้วยจิตศรัทธาว่า จะได้อานิสงส์ ได้บุญไม่น้อยกว่าการสร้างหนังสือใบลานด้วยการจารใบลาน การสร้างไม้ประกับลวดลายสวยงามที่ฝ่ายชายได้สร้างสรรค์ขึ้น ผ้าห่อคัมภีร์ใบลานจึงมีพัฒนาการด้านรูปแบบ ลวดลายและการใช้เส้นใยควบคู่มาพร้อมๆ กับพัฒนาของสังคม และเป็นโอกาสที่สตรีในชุมชนได้ร่วมสร้างอานิสงส์ โดยนำงานหัตถกรรมการทอที่ประกอบด้วยการสร้างสรรค์ศิลปะด้านการมัด การย้อม การขิด การจก การเย็บซึ่งมีในชุมชนมาร่วมรักษาธรรมเจดีย์ คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ที่จารในใบลาน ด้วยเชื่อว่าเป็นทางแห่งบุญอีกอย่างหนึ่ง

 

ผ้าห่อคัมภีร์ใบลานอีสาน มีหลายรูปแบบ และสะท้อนว่ามีพัฒนาการของการปรับเพื่อประโยชน์ใช้สอยให้เหมาะสม โดยเป็นผ้าทั้งผืน เช่น ผ้าหางกะรอก ผ้าซิ่นเต็มผืนมีหัวและตีนซิ่นลายมัดหมี่ ผ้าปูม ผ้าตาขนาดต่างๆ คือ ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าขิด ผ้าลายดอก ผ้าพื้น ในระยะแรก ต่อมาจึงมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับการห่อคัมภีร์ใบลานโดยเฉพาะ ตามขนาดของคัมภีร์ใบลานและโอกาสในการใช้มากขึ้น ผ้าเต็มผืนมักใช้ห่อคัมภีร์ที่มีจำนวนผูกของใบลานจำนวนมาก และเก็บไว้ศึกษาในโอกาสต่างๆ ผ้าห่อขนาดเล็กมีการสาบ การรองด้านล่างด้วยผ้า ด้วยไม้ไผ่ เก็บแต่งขอบด้วยการกุ๊น มักใช้กับคัมภีร์ที่มีผูกเล็ก หรือได้รับการนำไปใช้เทศน์บ่อย ส่วนใหญ่เป็นผ้าลายขิด ซึ่งมีลวดลายสีสันหลากหลาย ผ้ามัดหมี่และผ้าขิดมีลวดลายเกี่ยวกับพืช สัตว์ คน รูปทรงเรขาคณิต วัตถุสิ่งของ ชนิดของเส้นใยระยะแรกเป็นไหมและฝ้ายที่ทอเองในชุมชน กลายมาเป็นการปักบนผ้าเนื้อแพรหรือผ้าต่วน ผ้ากำมะหยี่ และเส้นใยสังเคราะห์ และมีการทำจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ทำให้มีการซื้อไปทำบุญมากกว่าจัดทำเอง

 

ปัจจุบันวัฒนธรรมการถวายผ้าห่อคัมภีร์ในชุมชนต่างๆ ลดน้อยลงมากและแทบจะไม่มีหลงเหลือในชุมชน ความงดงามของการประดิษฐ์สร้างสรรค์ด้วยพลังศรัทธาได้แปรเปลี่ยนเป็นการเอาความสะดวกรวดเร็วเป็นเครื่องนำชีวิต คุณค่าของผ้าห่อคัมภีร์จึงคงประโยชน์เฉพาะแก่นักวิชาการด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ชาติพันธุ์ และผู้สนใจงานวิจิตรศิลป์บางกลุ่มเท่านั้น ที่สนใจศึกษาและตีความในเรื่องต่างๆ จากเทคนิคและลวดลายผ้าที่ปรากฏ ถึงแม้ทุกคนต่างตระหนักว่า สังคมย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา แต่การเปลี่ยนจนไม่คงตัวตนที่งดงามที่เคยมี เป็นสิ่งที่น่าเสียดายและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ทางออกของเรื่องนี้อยู่ที่การสร้างความรู้ ความคิดและค่านิยมให้เด็ก เยาวชน ตระหนักในความสำคัญของศิลปกรรมที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาในระบบการศึกษา สร้างความคุ้นเคยและโอกาสในการปฏิบัติในชุมชน โดยวัด สถานศึกษา  และชุมชนต้องเข็มแข็งในการสร้างค่านิยมและรสนิยมที่เหมาะสมให้เกิดขึ้น ผ้าห่อคัมภีร์ใบลานและงานหัตถศิลป์อื่นๆ ในชุมชนจะได้ไม่กลายเป็นของเก่าเก็บอีกต่อไป

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท" ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด  จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

ผ้าทอไทลื้อ: คือชีวิตและศรัทธา

รองศาสตราจารย์ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล

 

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

วัฒนธรรมการทอผ้าเพื่อประดิษฐ์เป็นเครื่องแต่งกาย ใช้สอยในชีวิตประจำวัน และใช้ในพิธีกรรม เป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของผู้หญิงไทลื้อมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ความสามารถในการสร้างสรรค์ผืนผ้า ทั้งการเลือกวัสดุ การย้อมสี เทคนิคการทอ และลวดลายที่มีความหมายในชุมชนไทลื้อแต่ละแห่ง คือผลงานทางศิลปะอันประณีตและเปี่ยมด้วยคุณค่า

 

การทอผ้าของผู้หญิงไทลื้อมีบทบาทสำคัญในพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นการสะสมสร้างบุญด้วยความศรัทธา ด้วยการทอผ้าถวายให้พระสงฆ์เพื่อใช้ในโอกาสต่างๆ และถวายเป็นพุทธบูชา นอกจากนี้ลวดลายที่ปรากฏบนผ้าทอบางชนิด เช่น ตุง ผ้าเช็ดหลวง ยังเป็นสัญลักษณ์เก่าแก่ที่สืบทอดมาจากความเชื่อดั้งเดิมในการนับถือผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติต่างๆ อีกด้วย

 

ผ้าทอไทลื้อจึงผูกพันกับชีวิตและศรัทธา และเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ควรได้รับการศึกษา อนุรักษ์ และส่งเสริมให้สืบเนื่องต่อไป

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท" ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด  จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

ผ้าทอชาติพันธุ์ผู้ไทย : การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและการต่อยอดภูมิปัญญา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิทธิชัย สมานชาติ

 

คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

 

ผ้าทอชาติพันธุ์ผู้ไทย/ภูไทเป็นผ้าทอมือที่มีพัฒนาการภายใต้โครงการศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP) ในบทความครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1)เพื่อวิเคราะห์เอกลักษณ์ดั้งเดิมของผ้าทอของชาวผู้ไทย/ภูไทและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม (2)เพื่อศึกษาการต่อยอดภูมิปัญญาการทอผ้าของชาวผู้ไทย/ภูไทในประเทศไทย ตลอดจนปัจจัยเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้อง หลังจากการสำรวจศึกษาหลักฐานผ้าตัวอย่างของชาวผู้ไทย/ภูไท จากทั้งแหล่งพิพิธภัณฑ์ คลังสะสมส่วนบุคคล รวมทั้งจากแหล่งผลิตผ้าทอมือที่ยังสืบทอดอยู่ในปัจจุบัน เราได้สำรวจพบผ้าทอมือแบบดั้งเดิมจำนวน 19 ชนิด

 

ผ้าทอของชาวผู้ไทย/ภูไท สามารถวิเคราะห์เอกลักษณ์จากสีสัน วัสดุเส้นใย การย้อมสีเทคนิคการทอผ้า และลวดลายผ้า โดยเราพบว่าผ้าที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของชาวผู้ไทย/ภูไท คือ “ผ้าแพรวา” ซึ่งมีสีสันเอกลักษณ์ดั้งเดิมคือ สีโทนแดง เราได้พบว่าข้อสังเกตว่าชาวผู้ไทย/ภูไท ดั้งเดิมนั้นจะทอผ้าแพรวาโดยใช้ “เส้นไหม” ในการตกแต่งลวดลายด้วยเส้นพุ่งพิเศษ และใช้ “เส้นฝ้าย” ทอเป็นพื้นหลักทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง โดยช่างทอชาวผู้ไทย/ภูไทจะใช้ “นิ้วก้อย” เป็นอุปกรณ์ในการสอดเส้นด้ายพุ่งพิเศษ ด้วยการใช้ระบบการยกตะกอลวดลายช่วยในการทอ สำหรับลักษณะการทอผ้าด้วยเทคนิค “มัดหมี่” ของชาวผู้ไทย/ภูไท จะใช้เทคนิคการมัดโอบลำหมี่เพื่อย้อมสีลวดลายมัดหมี่เฉพาะสีพื้นหลัก ส่วนสีตกแต่งส่วนย่อยของลวดลายประกอบนั้นจะใช้กิ่งไม้ทุบปลายทำเป็นพู่กันเพื่อแต้มสีสำหรับสีสันเอกลักษณ์ของผ้าซิ่นมัดหมี่ของชาวผู้ไทย/ภูไท กรณีของกลุ่มตำบลโพน อำเภอคำม่วงจังหวัดกาฬสินธุ์ คือ การใช้สีสีดำเป็นสีพื้นหลักและใช้สีส่วนลวดลายมัดหมี่ด้วยสีแดง เหลือง เขียวขาว ทำให้สีสันภาพรวมของผ้ามัดหมี่ดูมืดทึม เป็นความงดงามตามแบบเฉพาะตัว ส่วนลวดลายผ้า ดั้งเดิมของชาวผู้ไทย/ภูไทนั้นสื่อสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความเชื่อของบรรพบุรุษ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และสื่อถึงธรรมชาติ สภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชน

 

ผ้าทอของชาวผู้ไทย/ภูไทจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมจากการทอผ้าเพื่อใช้สอยเองในครอบครัว มาเป็นการทอผ้าเพื่อการจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ โดยได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงลักษณะเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในสังคมเมืองและชาวต่างชาติได้แก่เอกลักษณ์สีแดงของผ้าแพรวามีการปรับเพิ่มสีสันให้มีสีสันที่หลากหลาย ในด้านลวดลายผ้าได้มีการออกแบบผสมผสานกับวัฒนธรรมสังคมเมือง และมีการปรับเพิ่มความยาวของผ้าทอเพื่อนำไปใช้ตัดเย็บเป็นชุดแบบชาวตะวันตก ประเด็นที่น่าสนใจคือ เพศชายได้เข้ามามีบทบาทในฐานะช่างทอ จากเดิมเป็นงานเฉพาะเพศหญิง ในขณะที่ช่างทอผู้ไทย/ภูไท อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ได้ต่อยอดภูมิปัญญาการทอผ้าดั้งเดิมที่เคยย้อมทับสีผ้าโสร่งไหมให้เข้มขึ้นด้วยการหมักโคลน มาประยุกต์กับการทำผลิตภัณฑ์ผ้าหมักโคลน เพื่อผลิตสินค้าสิ่งทอร่วมสมัยที่สร้างรายได้จำนวนมากให้ชุมชน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท" ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด  จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

ผ้าฝ้าย : ปฐมบทผ้าทอแห่งชีวิตและการขัดเกลาทางสังคม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชาย  นิลอาธิ

 

สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

 

เครื่องนุ่ง เครื่องห่ม เป็นปัจจัยจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่มีมาแต่อดีตกาล จากหลักฐานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่ง พบหลักฐานหลายอย่างบ่งบอกว่า ผู้คนในดินแดนไทยรู้จักนำเส้นใยธรรมชาติมาทอเป็นผืนผ้าและประดิษฐ์เป็นเครื่องนุ่งห่ม คือ การพบเศษผ้าและเส้นใยในดินและที่ติดอยู่กับเครื่องมือเครื่องประดับที่ทำด้วยสำริดและเหล็ก รวมทั้งอุปกรณ์หลายอย่างที่ใช้ในการทอผ้าด้วย นอกจากนี้ยังมีร่องรอยจากตำนานนิทานพื้นบ้านหลายเรื่อง บอกให้รู้ว่าในอดีตเคยมีการ “ตำหูกเข็นฝ้าย…ทอผ้าทอซิ่นอันนุ่ง… อันห่มอันปก…”  และยังรวมถึงมีการพบหลักฐานบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับเรื่องการ “ปลูกฝ้าย” และการกำหนดให้เลกต้องส่งส่วย “ผ้าขาว และ ผ้าลาย”  ซึ่งมีนัยบอกว่าเป็น “ผ้าฝ้าย” เป็นสำคัญ

 

แม้ในสังคมเกษตรกรรมจะมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ตามเพศไม่ชัดเจนนักก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าการทอผ้าเป็นบทบาทหน้าที่หลักของเพศหญิง ดังนิทานเรื่องขุนบรมราชาธิราช ตอนสอนลูกสะใภ้ทั้ง 7 มีคำสอนอย่างหนึ่งว่า “ให้คึดหาอันจักตำหูกเขนฝ้าย” ที่สะท้อนถึงคุณสมบัติสำคัญของลูกผู้หญิงที่ต้องปฏิบัติตัวเป็น “สาวผู้ดี”   ด้วยการฝึกหัดต่ำหูกเข็นฝ้าย ให้ได้เป็นปฐมก่อน เพื่อเตรียมตัวเป็น “หญิงแม่เรือน” ที่ดีของครอบครัว เครือญาติในสังคมต่อไปเมื่อมีเหย้ามีเรือน

 

ลูกผู้หญิงที่จะเป็นสาวผู้ดีในสังคมอดีตจะเริ่มต้นจากการทอผ้าฝ้ายก่อนเสมอ เพราะเป็นผ้าที่จำเป็นใช้สอยในชีวิตของทุกคน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่อายุก่อนเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นด้วยการช่วยแม่เก็บดอกฝ้าย ไปจนถึงการเรียนรู้กระบวนการทอผ้าฝ้ายทุกขั้นตอนให้ได้ผ้าฝ้ายหลายชนิด ทั้งผ้าขาว ผ้าลาย ผ้าขิด-ผ้าจก และผ้าหมี่ฝ้าย ด้วยการเรียนรู้จากแม่เป็นปฐมบทจนถึงเครือญาติและเพื่อน ๆ เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวได้ใช้สอยในชีวิตประจำวันและในพิธีกรรม ความเชื่อ โอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น ทำเครื่องนุ่ง เครื่องห่ม เครื่องปก เครื่องคาด และเครื่องลาด(เครื่องปูลาดอาสนะ) ฯลฯ  ซึ่งในทุกขั้นตอนของการทอผ้าฝ้ายที่ลูกผู้หญิงต้องฝึกหัดเพื่อเป็นสาวผู้ดีนี้จำต้องเรียนรู้เทคนิควิธีการต่าง ๆ อันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านหลายชนิด ตั้งแต่การเก็บดอกฝ้าย ตากดอกฝ้าย การอิ้วฝ้าย ดีดฝ้าย ล้อฝ้าย ไปจนถึงขั้นตอนที่ยากขึ้นอีกคือ การเข็นฝ้ายและการเปียฝ้าย เพื่อนำไปย้อมสีที่นิยมย้อมด้วยครามที่ต้องเรียนรู้เป็นพิเศษอีก กระทั่งถึงขั้นตอนการปั่นหลอดเส้นเครือและเส้นตำที่พร้อมจะนำไปตำหูกเป็นผืนแพฝ้าย

 

เมื่อได้วัสดุเส้นใยฝ้ายพร้อมจะตำหูกแล้ว ก็จำเป็นต้องเรียนรู้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆที่เริ่มจะยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น ตั้งแต่การค้นเครือหูกด้วยหลักเฝือค้นหูก แล้วจึงนำเครือหูกไปสืบใส่ฟืม ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทอผ้า ที่ต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างมากในการสืบค้นเพื่อสอดเส้นเครือเข้ารูฟันฟืมที่มี “มาตรา” เฉพาะที่เป็น “ระบบ” กำหนดระยะความกว้างของหน้าผ้า ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมานานนักแล้ว

 

ระหว่างช่วงเวลาในกระบวนการทอผ้าฝ้ายนี้ หญิงสาวผู้ดีส่วนใหญ่มักจะขยายทักษะไปสู่การทอผ้าไหมกับแม่ไปพร้อม ๆ กันด้วย เพราะผ้าไหมเป็นผ้าทอที่ยอมรับกันทั่วไปในเรื่องความงามและความคงทนของวัสดุเส้นใยทั้งผ้าขาวและผ้าสี รวมถึงเทคนิคการมัดหมี่ ทั้งหมี่หว่านหรือหมี่รวดและหมี่คั่นที่มีสีสันของลวดลายแวววาวระยับตา ที่นิยมใช้ในโอกาสพิธีกรรมความเชื่อในสังคมที่จะบ่งบอกถึงทักษะความสามารถอีกระดับหนึ่งของสาวผู้ดีวัยรุ่นที่พร้อมจะมีครอบครัวเป็นหญิงแม่เรือนที่ต้องเป็นแม่และเป็นครูให้กับลูกสาวต่อไปทั้งวิชาการทอผ้าฝ้ายและผ้าไหม

 

สำหรับกรณีผ้าฝ้ายนั้น กล่าวได้ว่าเป็นผ้าที่ใช้สอยในวิถีชีวิตประจำวันทั่วไป เป็นเสมือนผ้าทอเพื่อชีวิตในเบื้องต้นอย่างแท้จริงได้ แต่ขณะเดียวกันทั้งเส้นใยฝ้ายและผ้าฝ้ายก็จะมีโอกาสพิเศษที่นำไปใช้ในพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ เช่นกันกับเส้นใยไหมและผ้าไหมด้วย ดังมีการพบใช้เส้นฝ้ายผูกข้อต่อแขนในพิธีสูตรขวัญต่างๆ และใช้ปอยฝ้ายเป็นเครื่องคายบูชาครู และใช้เป็นเครื่องสมมาที่มักเรียกกันรวม ๆ ว่า “ซิ่นผืน แพวา”

 

เมื่อหญิงแม่เรือนทำหน้าที่ทอผ้าในสถานภาพความเป็นแม่และเป็นป้าของลูกหลานนั้น ส่วนใหญ่มักต้องฝึกหัดเทคนิคการทอผ้าอีกชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า “ผ้าเหยียบ” (ผ้าเหยียบเขา)  หรือ  “ผ้าห่มเหยียบ”  เพราะเป็นที่รู้กันว่าต้องใช้เทคนิคการทอด้วยการเหยียบเขาที่ยากกว่าการทอผ้าชนิดอื่นๆ ที่ทอด้วยการเก็บเขาธรรมดาเพียง 2 เขาเท่านั้น (มีผ้าหมี่ไหมที่ทอ 3 เขาอยู่บ้าง แต่ก็มีน้อย)  นั่นคือการทอผ้าเหยียบจะมีการเก็บเขาเหยียบมากขึ้นตั้งแต่ 3-4-5-6 และ 8 เขา ที่เป็นเทคนิคพิเศษทำให้เกิดลวดลายได้หลายรูปแบบและมีขนาดต่างกันได้ตามต้องการ และที่สำคัญยิ่งคือจะทำให้ได้เนื้อผ้าหนาและแน่นมากกว่าการทอผ้าทั่วไปที่ใช้เทคนิคการทอ 2 หรือ 3 เขา

 

อดีตหญิงแม่เรือนในวัยชราที่อยู่กับลูกสาว-ลูกเขย และหลานนั้น นอกจากจะช่วยเลี้ยงดูหลาน ๆ ต่างเพศวัยแล้ว จะช่วยดูแลบ้านเรือน-ครัวบ้าง แต่คนทั่วไปมักจะมองข้ามกิจกรรมสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การนั่งสาวเส้นใยไหมชั้นในสุด ต่อจากไหมน้อยในยามเย็น ซึ่งเรียกกันว่า ไหมขี้กะเพย เพื่อนำไปเข็นควบใช้ทอผ้าเหยียบ และทั้งยังเป็นที่พึ่งในการเรียนรู้เรื่องการทอผ้าเหยียบที่ต้องใช้เทคนิคภูมิปัญญาขั้นสูงที่ซับซ้อนให้กับลูกสาวและหลานสาวด้วย

 

ครั้นถึงยุคอุตสาหกรรม-โลกาภิวัตน์ ภาพอดีตการผลิตผ้าทอทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหมก็ค่อยเริ่มเลือนหายไปจากสังคมเกษตรกรรมในอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการขัดเกลาทางสังคมเพื่อสืบทอดผลิตซ้ำที่หญิงสาวชั้นลูกหลานต่างพากันละเลยด้วยระบบการศึกษาใหม่ และมุ่งออกนอกชุมชนเพื่อทำงานหาเงินในเมืองอุตสาหกรรมตามกระแสทุนนิยมที่รุนแรงมาไม่น้อยกว่า 50 ปีแล้ว

 

แม้กระแสการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงจนเกือบจะทำให้วัฒนธรรมการทอผ้าฝ้ายในสังคมอีสานต้องซบเซาและสลายตัวไปเพราะ “หลงเมาของใหม่” แล้วก็ตาม แต่ ณ ปัจจุบันก็พอจะมองเห็นความหวังในการฟื้นตัวของการทอผ้าฝ้ายกลับคืนมาบ้าง จากระบบการศึกษาที่เห็น “คุณค่า” ของภูมิปัญญาชาวบ้านในลักษณะ “ไม่ลืมของเก่า” ที่เป็นรากเหง้า-รากแก้วของสังคม ความคิดดังกล่าวนี้ได้แพร่กระจายในวงกว้างมากขึ้นจากสื่อสารสนเทศยุคใหม่ที่เห็นความสำคัญด้วย จนดูเหมือนว่าจะมีอิทธิพลให้คนในสังคมหันกลับมาช่วยกันสร้าง “ค่านิยมใหม่” ในงานช่างฝีมือทอผ้าฝ้ายกันอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการใช้ผ้าฝ้ายขาวและผ้าฝ้ายย้อมคราม

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท" ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด  จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

ครามมีชีวิต: วัฒนธรรมผ้าย้อมครามของคนไทย-ลาว

อาจารย์ ดร.อุมารินทร์ ตุลารักษ์

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

ภาคอีสานของประเทศไทยและประเทศลาวเป็นพื้นที่ที่มีรากร่วมทางวัฒนธรรมเนื่องจากมีความสัมพันธ์ในเชิงประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ วัฒนธรรมสำคัญที่ทั้งสองประเทศมีร่วมกันคือผ้าทอพื้นเมืองที่เรียกว่า “ผ้าย้อมคราม”

 

ผ้าย้อมครามเป็นผ้าทอพื้นเมืองที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนกลุ่มไทในประเทศไทยและลาวมาเนิ่นนาน การทำผ้าฝ้ายย้อมคราม ทั้งการทอและการย้อมเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องอาศัยฝีมือและความชำนิชำนาญของผู้ทำที่สืบเนื่องภูมิปัญญาที่มีมาตั้งแต่ในอดีต ผ้าย้อมครามจึงเป็นผ้าดั้งเดิมที่ใช้ในวิถีชีวิตประจำวันของคนอีสานและลาวที่ผูกพันกับวิถีการเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีพิธีกรรม เป็นสิ่งที่แสดงสถานะของบุคคลและสื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล ครามและผ้าย้อมครามถือเป็นยารักษาโรคของชาวบ้าน รวมทั้งผ้าย้อมครามยังเป็นผ้าพื้นเมืองที่เชื่อมโยงกับพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านภาวะของความเป็นผู้หญิงและความเป็นท้องถิ่นไทย-ลาวอีกด้วย

 

นอกจากนี้ความเชื่อเกี่ยวกับครามและลวดลายของผ้าย้อมครามยังสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวบ้าน เป็นผ้าสามารถสะท้อนความสามารถและตัวตนของคนย้อม ดังนั้นการใช้ผ้าย้อมครามและภูมิปัญญาในการย้อมครามจึงเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาของคนไทย-ลาวทุกยุคสมัย ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานเพียงใดแต่ผ้าย้อมครามก็ยังมีส่วนในการตอกย้ำสำนึกทางชาติพันธุ์ นำเสนอความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่มีร่วมกัน และยังเป็นผ้าที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันผ้าย้อมครามไทย-ลาวได้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญเนื่องจากกระแสการส่งเสริมภูมิปัญญาตะวันออกในโลกธุรกิจการค้ายุคโลกาภิวัตน์

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท" ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด  จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

พลวัตทางส้งคมของครอบครัวช่างทอผ้าไทย-ลาว

ดร.วศิน  ปัญญาวุธตระกูล

 

สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

 

บทความนี้ เป็นการศึกษาถึงพลวัตทางสังคมของครอบครัวช่างทอผ้าในพื้นที่มรดกโลก ศึกษาเปรียบเทียบประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  โดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษา 2 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาพลวัตทางสังคมของครอบครัวช่างทอผ้าในพื้นที่ มรดกโลก 2) เพื่อเปรียบเทียบพลวัตทางสังคมของครอบครัวกรณีศึกษาในพื้นที่มรดกโลกของเมืองศรีสัชนาลัยในประเทศไทยและเมืองหลวงพระบางในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 

 

ผลการศึกษาพบว่า ลักษณะเด่นของครอบครัวในพื้นที่มรดกโลกศรีสัชนาลัย คือ มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการผลิตเพื่อใช้เป็นการผลิตเพื่อขาย  และปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่แสดงความเป็นมรดกโลกไปเป็นการผลิตเพื่อประโยชน์ใช้สอย  โดยเน้นตลาดภายนอกชุมชน  และเกิดการพัฒนาความสัมพันธ์แบบเครือญาติไปสู่ความสัมพันธ์ในรูปแบบนายจ้างกับลูกจ้าง  และเป็นเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบอาชีพ  ซึ่งมีรูปแบบการถ่ายทอดความรู้ภายในกลุ่มอาชีพ

 

ในขณะที่ ลักษณะเด่นของครอบครัวในพื้นที่มรดกโลกหลวงพระบาง คือ ลักษณะการผลิตเป็นการผลิตเพื่อขายภายในชุมชนเป็นหลัก  และเพิ่มรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นสินค้าของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว  โดยลักษณะความสัมพันธ์เป็นแบบเครือญาติ  และมีรูปแบบการถ่ายทอดความรู้ภายในกลุ่มครอบครัวและเครือญาติ

 

พลวัตทางสังคมของครอบครัวในพื้นที่มรดกโลกศรีสัชนาลัยและหลวงพระบางมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างครอบครัว อันได้แก่ รูปแบบครอบครัว ที่อยู่อาศัยหลังแต่งงาน และโครงสร้างอำนาจในครอบครัว แต่มีประเด็นความแตกต่างของทั้งสองพื้นที่ คือ นโยบายของรัฐในประเทศไทยที่มีต่อพื้นที่มรดกโลกในช่วงเวลาต่างๆ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทุกระดับตั้งแต่ระดับปัจเจกชนจนถึงความสัมพันธ์ในกลุ่มทางสังคม ในขณะที่ นโยบายรัฐของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่มีต่อพื้นที่มรดกโลกในช่วงเวลาต่างๆ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระดับปัจเจกชนในเรื่องการยอมรับสถานภาพที่ได้มาด้วยความสามารถเท่านั้น

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท" ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด  จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

แพรไหมมังกร: ความเป็นจีนในราชสำนักลาวหลวงพระบาง

รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐม หงษ์สุวรรณ

 

สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

 

บทความวิจัยฉบับนี้มุ่งศึกษาการนำเสนอภาพความเป็นจีนผ่านข้อมูลทางวัฒนธรรมของชาวลาวประเภทผ้าแพรไหมของจีนที่มีปรากฏอยู่ในราชสำนักหลวงพระบาง โดยมุ่งมองความหมายเชิงสัญลักษณ์ของผืนผ้าทอของจีนว่าเป็นเสมือนเครื่องมือในการสื่อสารให้กลุ่มคนอื่นได้รับรู้และเข้าใจ ทั้งนี้ประเภทผ้าแพรไหมจีนที่นำมาศึกษาในครั้งนี้ประกอบด้วยผ้าทอที่เป็นเครื่องแต่งกายและเครื่องใช้ของเจ้ามหาชีวิต พระมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนาง ตลอดจนชนชั้นผู้ปกครองในราชสำนักของลาวหลวงพระบางในอดีต ซึ่งผู้วิจัยค้นคว้าจากข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาจากข้อมูลสนามและเอกสารต่างๆ อาทิ พิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง (หอพระราชวังเก่า) หนังสือภาษาไทย ภาษาลาว ภาษาอังกฤษ ตลอดจนข้อมูลจากเว็บไซต์ที่มีการนำเสนอให้เห็นภาพของผ้าทอของกลุ่มราชสำนักลาวหลวงพระบาง

 

ผลการวิจัยพบว่า การใช้ผ้าแพรจีนที่นำมาเป็นเครื่องนุ่งห่มของกลุ่มชนชั้นสูงในราชสำนักหลวงพระบางมีทั้งกลุ่มเจ้านายฝ่ายชาย และกลุ่มเจ้านายฝ่ายหญิง นอกจากนี้ ยังมีการนำผ้าแพรจีนมาแปรรูปเป็นข้าวของเครื่องใช้ในราชสำนัก สิ่งที่สำคัญที่ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้ผ้าแพรจีนที่ใช้ในราชสำนักหลวงพระบาง คือ การแสดงให้เห็นถึงอำนาจบารมี ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ ตลอดจนยังใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอุดมการณ์ทางการเมืองตามวิถีราชสำนักหลวงพระบาง ซึ่งแพรไหมจีนนั้นได้แสดงให้เห็นการเป็นสัญลักษณ์แสดงฐานะ (Status Symbol) ผ่านการเทคนิคสร้างสรรค์ผืนผ้า วัสดุ สีสัน และลวดลายซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับเรื่องราวของชนชั้น เศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา เพศ ชาติพันธุ์ในวิธีคิดของคนลาวได้อย่างน่าสนใจ

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท" ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด  จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

เสวนาโต๊ะกลม “ศิลปาชีพกับผ้าทอในชนบทไทย : จากอดีตถึงปัจจุบัน”

วิทยากร

 

สุนา ศรีบุตรโคตร และ แสงเดือน จันทร์นวล

 

สมาชิกศิลปาชีพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

 

ผู้ดำเนินรายการ 

 

ดลยา เทียนทอง

 

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  (นิยมเรียกทั่วไปว่า ‘ศิลปาชีพ’) ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2519   โดยมีวัตถุประสงค์ประการสำคัญเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่มีความเดือดร้อนจากปัญหาการทำมาหากินด้วยการส่งเสริมหัตถกรรมพื้นบ้านเป็นอาชีพเสริมรายได้  อันเป็นไปตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมุ่งเน้นพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่ทรงมีต่อราษฎรผู้ยากไร้ในชนบทห่างไกล  ทั้งนี้ภายหลังการก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เป็นต้นมา  โครงการศิลปาชีพได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งแผ่ขยายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานได้เกิดโครงการศิลปาชีพต่างๆ มากมาย

 

ในบรรดาหัตถกรรมพื้นบ้านของภาคอีสาน  การทอผ้านับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะและทรงคุณค่าซึ่งสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษและอยู่คู่กับวิถีชีวิตในชนบทของภาคอีสานมาแต่โบราณ  ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้าไหม ผ้าไหมมัดหมี่  ผ้าแพรวา หรือผ้าฝ้ายในลวดลายต่างๆ  ล้วนแล้วแต่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญทั้งสิ้น   ดังนั้น ในพื้นที่ชนบทของภาคอีสานจึงปรากฏโครงการศิลปาชีพเกี่ยวกับการทอผ้าเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังรวมถึงโครงการศิลปาชีพเกี่ยวกับการปลูกหม่อนและเลี้ยงไหม ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอีกด้วย     กล่าวได้ว่านับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โครงการศิลปาชีพเกี่ยวกับการทอผ้าในภาคอีสานได้มีพัฒนาการก้าวไกลในท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศ   ซึ่งส่งผลให้เกิดคุณูปการอันยิ่งใหญ่และนัยสำคัญต่อสังคมไทยในบริบทที่หลากหลายตามมา

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย-ไท" ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด  จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)