คณะผู้จัดงาน (การประชุมวิชาการระดับชาติ - วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย)

การประชุมวิชาการระดับชาติ

 

วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย

 

เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา

 

30 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2554
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

 

จัดโดย

 

โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS)
สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 

ร่วมกับ

 

คณะมนุษยศาสตร์ และ สถาบันวิจัยสังคม

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รายงานสรุป (การประชุมวิชาการระดับชาติ - วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย)

วัฒนธรรมชาดกนั้นกล่าวได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อสังคมพุทธศาสนาไทย ดังจะเห็นได้จากประเพณีการสวดและเทศน์มหาชาติ เมื่อมีการนำชาดกมาสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ เช่น เป็นบทละคร นิทาน การ์ตูน นอกจากนี้ชาดกยังได้รับการถ่ายทอดผ่านศิลปะหลายแขนงอีกด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกและทรงสนพระราชหฤทัยในวรรณกรรมพุทธศาสนา ทรงนำมหาชนกชาดกอันมีที่มาจากพระไตรปิฎกมาดัดแปลงเป็นพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก เพื่อสื่อปรัชญาความคิดอันลึกซึ้งเกี่ยวกับความเพียรและการพัฒนาปัญญาแก่พสกนิกรในแผ่นดิน

 

เนื่องในปีพุทธศักราช 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยโครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) จึงเห็นสมควรจัดประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวาระอันเป็นมงคลนี้ 

 

การประชุมครั้งนี้ ได้รับความกรุณาจากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ประคอง นิมมานเหมินท์ ดร. ปีเตอร์ สกิลลิ่ง จากสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ ศาสตราจารย์ ดร. ศิราพร ณ ถลาง และรองศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือด้วยดีจากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิในสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สนใจศึกษาชาดกในหลากหลายแง่มุมตามความสนใจและความเชี่ยวชาญของตนเอง สำหรับผู้เข้าร่วมฟังการสัมมนา ประกอบด้วยคณาจารย์ และนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศมากกว่า 250 คน

 

เนื้อหาของบทความต่างๆ ที่นำเสนอในการประชุมวิชาการครั้งนี้ครอบคลุมตั้งแต่การพิจารณาชาดกจากแหล่งกำเนิดในชมพูทวีป จนกระทั่งแพร่หลายมายังภูมิภาคอุษาคเนย์ การชำระ การแปลตัวบท และการศึกษาชาดกของนักวิชาการตะวันตก การเปรียบเทียบปัญญาสชาดกฉบับพม่ากับฉบับอื่น ความแพร่หลายของชาดกในอรรถกถาชาดกในสังคมไทย แนวคิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในอุดมคติที่ปรากฏในชาดก รวมทั้งอิทธิพลและบทบาทของชาดกที่มีต่อการสร้างสรรค์วรรณคดี คำทำนาย พิธีกรรม งานศิลปะ การแสดง รวมทั้งเครื่องรางของขลัง ซึ่งล้วนแต่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของคนไทย

 

การประชุมวิชาการครั้งนี้จึงเป็นการแลกเปลี่ยนทัศนะและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับชาดกที่มีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมไทยให้ลึกซึ้งและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างเครือข่ายของนักวิจัยรุ่นใหม่ อันจะเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการทางพุทธศาสนา การศึกษาวรรณคดีและวัฒนธรรมไทย เป็นการเฉลิมพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระบรมธรรมิกมหาราชอย่างเป็นรูปธรรม

กำหนดการ (การประชุมวิชาการระดับชาติ - วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย)

30 มิถุนายน 2554

 

08:00 – 09:00 

 

ลงทะเบียน

 

09:00 – 10:15

 

พิธีเปิดการประชุม

                            

บรรยายนำ : พินิจเชียงใหม่ปัณณาสชาดก (ปัญญาสชาดกฉบับอักษรพม่า)

     ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ประคอง นิมมานเหมินท์

     – ราชบัณฑิต

 

10:15 – 10:30 

 

รับประทานอาหารว่าง

 

10:30 – 11:45 

 

นำเสนอบทความ (1)

 

11:45 – 13:00 

 

รับประทานอาหารกลางวัน

 

13:00 – 14:15 

 

นำเสนอบทความ (2)

 

14:15 – 14:45

 

รับประทานอาหารว่าง

 

14:45 – 16:00 

 

เสนอบทความ (3)

 

 

1 กรกฎาคม 2554

 

08:00 – 09:00

 

ลงทะเบียน

 

09:00 – 10:15

 

บรรยายนำ : Jataka Culture: Definitions and Questions

     Dr. Peter Skilling

     – หัวหน้ากลุ่มพุทธศาสน์ศึกษา EFEO

 

10:15 – 10:30

 

รับประทานอาหารว่าง

 

10:30 – 11:45 

 

นำเสนอบทความ (4)

 

11:45 – 13:00

 

รับประทานอาหารกลางวัน

 

13:00 – 14:15

 

นำเสนอบทความ (5)

 

14:15 – 14:45

 

รับประทานอาหารว่าง

 

14:45 – 16:00 

 

นำเสนอบทความ (ุ6) และสรุปเนื้อหาการประชุม

 

16.00 – 16.15 

 

ปิดการประชุม

พินิจเชียงใหม่ปัณณาสชาดก

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ประคอง นิมมานเหมินท์

 

ราชบัณฑิต

 

 

ปัญญาสชาดก นอกจากแสดงให้เห็นวัฒนธรรมการสร้างสรรค์วรรณกรรมทางพุทธศาสนาประเภทหนึ่งในล้านนาแล้ว ยังแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของชาวพุทธที่อยู่ในดินแดนใกล้เคียงกัน  เชียงใหม่ปัณณาสชาดก หมายถึงปัญญาสชาดกฉบับภาษาบาลีอักษรพม่า ฉบับที่ผู้เขียนศึกษาเป็นผลงานแปลเป็นภาษาไทยของข้าราชการประจำกองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร และกรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2541 ปัญญาสชาดกชุดนี้มีจำนวนชาดก 50 เรื่อง ชื่อชาดกส่วนใหญ่ตรงกับที่ปรากฏในคัมภีร์ปิฏกมาลา เมื่อเทียบกับปัญญาสชาดกฉบับหอสมุดแห่งชาติแล้วพบว่า ชาดกบางเรื่องมีรายละเอียดต่างไปจากฉบับหอสมุดแห่งชาติ และรายละเอียดที่ต่างกันบางประเด็นเป็นหลักฐานให้ทราบถึงชื่อตัวละครและชื่อชาดกที่ถูกต้อง  ชาดกในเชียงใหม่ปัณณาสชาดกไม่ปรากฏในปัญญาสชาดกฉบับหอสมุดแห่งชาติถึง 14 เรื่อง ชาดก 14 เรื่องนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อชี้แนะให้เห็นความสำคัญของการนับถือพระรัตนตรัยอย่างมั่นคง การประพฤติปฏิบัติตนในฐานะพุทธศาสนิกชนที่ดี ได้แก่ การรักษาศีล การฟังธรรมเทศนา การบำเพ็ญทาน การปฏิบัติต่อศาสนสถาน การถวายดอกไม้ ธูปเทียนและธงเป็นเครื่องสักการะพระรัตนตรัย เป็นต้น แสดงให้เห็นภูมิปัญญาของพระสงฆ์ในล้านนาสมัยก่อนที่ใช้กลวิธีในการสร้างสรรค์วรรณกรรมเพื่อเผยแผ่พระศาสนา และเป็นเครื่องชี้แนะให้ประชาชนประพฤติปฏิบัติตนตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันจะนำไปสู่ความสงบสุขของสังคม 

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–1 กรกฎาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ความสัมพันธ์ระหว่างชาดกกับวรรณกรรมการทำนายในวัฒนธรรมล้านนา

อาจารย์เชิดชาติ หิรัญโร

 

สาขาวิชาภาษาไทย สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 

 

คนล้านนาได้คิดค้นระบบกลวิธีเกี่ยวกับกาลเวลาสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตทั้งในชีวิตประจำวัน ในพิธีกรรมความเชื่อ หรือแม้แต่ในยามภาวะวิกฤตต่างๆของชุมชนและสังคมโดยรวม  ระบบกลวิธีดังกล่าวเป็นการตั้งข้อสังเกตจากการเรียนรู้สิ่งต่างๆ และธรรมชาติรอบตัว แล้วนำมาปรับให้เข้ากับพื้นฐานระบบความเชื่อของชุมชนและพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ในชีวิต  กลายเป็นเครื่องมือ หรือ กลไกที่ใช้รองรับความต้องการในการป้องกันปัญหาและการแก้ไขปัญหาต่างๆในชีวิต  โดยเฉพาะระบบความเชื่อเกี่ยวกับการทำนาย การพยากรณ์ และเรื่องฤกษ์ยามซึ่งปรากฏอยู่ในตำราต่างๆ มากมาย เช่น ตำราพรหมชาติ และปักขทืนล้านนา หรือ ปฏิทินจันทรคติของชาวล้านนา เป็นต้น

 

ในวรรณกรรมเกี่ยวกับการทำนายของล้านนาดังกล่าว มีสิ่งที่น่าสังเกตและน่าสนใจบางประการกล่าวคือ วรรณกรรมกลุ่มดังกล่าว ปรากฏลักษณะวิธีการทำนายหรือการพยากรณ์บางประการที่ใช้การอ้างอิงอนุภาคบางส่วนจากชาดกในพุทธศาสนามากำกับ หรือใช้เป็นเครื่องมือในการอธิบายมูลเหตุของฤกษ์ยามและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคำพยากรณ์ ด้วยเหตุนี้เองมนุษย์ได้นำพาเอาความคิดเรื่องกาลเวลาและพิธีกรรมมาผูกเชื่อมโยงกันไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อจุดมุ่งหมายในการสร้างความเป็นระบบระเบียบให้กับสังคม และชุมชน การประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อและศาสนาของแต่ละสังคม จึงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกาลเวลาและพิธีกรรมในสังคมมนุษย์เอาไว้ด้วยกันภายใต้ความคิดเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์

 

ลักษณะดังกล่าวข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ความคิดเรื่องกาลเวลากับระบบวัฒนธรรมการทำนาย การพยากรณ์ และความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามในวัฒนธรรมล้านนานั้นมีจุดเด่นในเรื่องของการกำหนดมาตรฐานของสังคมเกี่ยวกับเรื่องกาลเทศะ (Time and Space) ที่เน้นให้คนในสังคมและชุมชนได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเป็นระบบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการกำหนดแนวทางเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในสังคมวัฒนธรรมเกษตรกรรมที่ผูกพันอยู่กับการพึ่งพาธรรมชาติและอำนาจเหนือธรรมชาติอย่างมีระเบียบแบบแผน

 

สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งที่ได้ค้นพบจากการศึกษา ก็คือ วรรณกรรมการทำนายของล้านนากลุ่มนี้ แม้ว่าจะมีลักษณะเป็นภาพตัวแทนของระบบความเชื่อ การทำนายและพิธีกรรมที่อิงอยู่กับระบบความเชื่อดั้งเดิมแบบผีและวิญญาณนิยม (animism) ระบบความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ (supernaturalism) และความเชื่อทางโหราศาสตร์ตามแบบศาสนาพราหมณ์ฮินดูก็ตาม แต่กระนั้นก็ยังปรากฏลักษณะของความพยายามในการผสมผสานและประนีประนอมกันระหว่าง “สิ่งเดิม” ซึ่งก็คือ ความเชื่อดั้งเดิม (ผี วิญญาณนิยม อำนาจเหนือธรรมชาติ และโหราศาสตร์) กับ “สิ่งใหม่” คือ แนวคิดและความในพุทธศาสนาด้วย ด้วยการนำเอาอนุภาคบางอย่าง หรือ เนื้อความบางส่วนที่ปรากฏอยู่ในชาดกในพุทธศาสนามาผนวกเข้ากับระบบความเชื่อเรื่องวันเดือนปีและฤกษ์ยามเวลามงคลต่างๆ ในลักษณะของการผสานกันทางศาสนา

 

การสร้างชุดสัญลักษณ์ต่างๆ ผ่านอนุภาคและตัวละครในชาดกพุทธศาสนาในวรรณกรรมการทำนายของชาวล้านนานั้น จึงมีความสอดคล้องกับลักษณะดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะการนำเอาความคิดเรื่องบุญบารมี ความคิดเรื่องกรรม ความคิดเรื่องสังสารวัฏ ผนวกเข้ากับคติความเชื่อเรื่องการทำนาย การพยากรณ์ และความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามนั้น นับได้ว่าเป็นระบบสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่สะท้อนวิธีคิดและความพยายามค้นหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิตและความพยายามในการสร้างความถูกต้องและความจริงแท้สำหรับความคิดเรื่องบุญ บารมี กรรมและ สังสารวัฏในระบบวิธีคิดของชาวล้านนา

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–1 กรกฎาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

จาก “ชูชก” ถึง “พ่อปู่”: พลวัตของตัวละครชาดกในวิถีชีวิตของคนไทยร่วมสมัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปฐม หงษ์สุวรรณ

 

ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

 

บทความนี้มุ่งศึกษาการประดิษฐ์สร้างความหมายใหม่ว่าด้วย “ชูชก” ซึ่งเป็นตัวละครตัวหนึ่งใน เวสสันดรชาดก ที่ปรากฏในข้อมูลทางวัฒนธรรมประเภทต่างๆ ทั้งที่เป็นกลุ่มเรื่องเล่า เครื่องรางของขลัง และสัญลักษณ์วัตถุอื่นๆ รวมไปถึงประเพณีความเชื่อในวิถีชีวิตชาวบ้าน นั่นคือ “ประเพณีแห่ตาชูชก” ของชาว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นพิธีกรรมในรอบปีที่สืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน

 

ผลการศึกษาพบว่า ประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมว่าด้วย “ชูชก” ในบริบทของสังคมไทยสมัยใหม่นั้นมีหลากหลายลักษณะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นการสืบทอด (Descend) การตัดตอน (Reduce) การเพิ่มเติม (Add) และการเปลี่ยนแปลง (Change) ความหมายใหม่เกี่ยวกับ “ชูชก” ที่มักถูกนำเสนอผ่านบทบาทของความเป็น “เทพเจ้า” สัญลักษณ์ของความมีทรัพย์สินเงินทองที่เชื่อมโยงกับพฤติกรรมในชาดก คตินิยมว่าด้วยการประหยัดอดออม เรื่องเพศและสุขภาพ รวมถึงกระบวนทัศน์และบทบาทในวิถีชีวิตปัจจุบันภายใต้เงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม จึงกล่าวได้ว่า ปรากฏการณ์ของการสร้างความหมายใหม่เกี่ยวกับชูชกที่อยู่ในการรับรู้และเข้าใจของคนไทยนั้น มุ่งตอบสนองความต้องการในเรื่องทางโลกเพื่อสื่อให้เห็นถึงความหมาย ความศักดิ์สิทธิ์ อำนาจ สีสัน และปาฏิหาริย์ของ “ชูชก” ทั้งนี้ การสร้างความหมายใหม่ให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติและมีอำนาจผ่านตัวตนของความเป็น “พ่อปู่ชูชก  เจ้าปู่ชูชก  ตาปู่ชูชก หรือตาชูชก” แนวความคิดดังกล่าวล้วนเกิดจากการตีความหมายใหม่ผ่านช่องว่างความสัมพันธ์ทางความเชื่อระหว่าง “คำสอนแบบพุทธศาสนาเชิงปรัชญา” (Buddhism) กับความเชื่อดั้งเดิม นั่นคือการนับถือใน “อำนาจเหนือธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์” (Supernatural Being) ให้มีการเชื่อมโยงผูกพันกัน อันเป็นความพยายามของกลุ่มคนที่ต้องการบูรณาการทางความเชื่อที่มีความแตกต่างหลากหลายให้อยู่ร่วมกันภายใต้กระแสของความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–1 กรกฎาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

วัฒนธรรมการสืบทอดแนวคิดพุทธศาสนาเรื่องทุกข์: จากปัญญาสชาดกสู่บทละครนอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

อาจารย์ ดร. พัชรินทร์ บูรณะกร

 

สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมไทย คณะศิลปศาสตร์

มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

 

 

บทความนี้มุ่งตอบคำถามว่า เมื่อวรรณคดีชาดกซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อสั่งสอนผู้อ่าน ได้รับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเสนอเป็นวรรณคดีบทละครซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเพลิดเพลินแล้วนั้น แนวคิดสำคัญในทางพุทธศาสนาที่อยู่ในเรื่อง ยังคงสื่อสารอยู่เช่นเดิมหรือไม่ หากยังสื่อสารอยู่ สื่อสารแนวคิดพุทธศาสนาด้วยกลวิธีใดและประเด็นใดบ้าง โดยมุ่งศึกษาบทละครนอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จำนวน 2 เรื่อง ศึกษาเฉพาะตอนที่ปรากฏเป็นบทละครนอกเท่านั้นและศึกษาเฉพาะเรื่องที่มีผู้สันนิษฐานว่ามีที่มาจากปัญญาสชาดก ได้แก่  สังข์ทอง และ คาวี โดยกำหนดจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ และทางพ้นทุกข์ตามแนวคิดพุทธศาสนา และเพื่อศึกษากลวิธีนำเสนอแนวคิดพุทธศาสนาจากบทละครนอก

 

ผลการศึกษาพบว่า บทละครนอกเรื่องสังข์ทอง และ คาวี ได้นำเสนอแนวคิดพุทธศาสนาเรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ และทางพ้นทุกข์ใน ได้นำเสนอทุกข์ ทั้งทุกข์กาย ทุกข์ใจ และทุกข์กายที่เกิดพร้อมกับทุกข์ใจ ซึ่งมีเหตุแห่งทุกข์มาจากการที่ต้องพลัดพรากจากกัน จากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งวิเคราะห์ตามหลักปฏิจสมุปบาทพบว่ามนุษย์ที่ก่อทุกข์แก่ผู้อื่นนั้น เกิดจากอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน เป็นตัวนำให้เกิดเวทนา สังขาร และภพ คือการคิดและกระทำการอันไม่ดีต่อผู้อื่น ตัวละครที่ก่อทุกข์แก่ผู้อื่นนั้นเวียนว่ายอยู่ในวงจรแห่งทุกข์ทั้งก่อทุกข์แก่ตนเองและขยายขอบเขตของทุกข์ไปยังผู้อื่นด้วย  หนทางพ้นทุกข์ที่บทละครนอกนำเสนอคือ การพ้นทุกข์ด้วยความมานะพยายาม  ด้วยความซื่อสัตย์ ด้วยการให้อภัย

 

กลวิธีนำเสนอแนวคิดพุทธศาสนาคือ การนำเสนอแก่นเรื่อง โดยแบ่งเป็น การนำเสนอแก่นเรื่องที่เสนอแนวทางปฏิบัติที่ดี เพื่อนำเสนอคุณธรรมอันดีที่มนุษย์พึงปฏิบัติตามหลักคำสอนเรื่องการทำความดีตามแนวคิดในพุทธศาสนา และแก่นเรื่องที่เสนอแนวทางปฏิบัติที่ไม่ดี เพื่อแนะผู้อ่านในทางอ้อมว่าหากไม่ต้องการประสบความหายนะในชีวิตเช่นตัวละครเหล่านี้ก็ให้หลีกเลี่ยงการประพฤติที่ไม่ดีเสีย

 

กลวิธีการสร้างอนุภาคเรื่องการพลัดพราก จากคนรัก และจากบิดามารดา อนุภาคการพลัดพรากนี้ได้นำเสนอแนวคิดทางพุทธศาสนาเรื่องการเอาชนะอุปสรรคและความทุกข์ด้วยความดีงาม ความมานะพยายามอย่างอดทนอดกลั้นเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีคืนมา ได้สื่อแนวคิดเรื่องกรรมอันเป็นเหตุให้ตัวละครต้องพลัดพรากจากกันด้วย และกลวิธีการสร้างตัวละครฝ่ายดีให้เป็นตัวอย่างของความดีงามตามคำสอนในพุทธศาสนา และตัวละครฝ่ายร้ายเพื่อแสดงให้เห็นโทษของการกระทำชั่วอันได้รับผลเป็นความทุกข์ที่แสนสาหัส

 

บทละครนอกทั้ง 2 เรื่อง คือ สังข์ทอง และ คาวี อันมีผู้สันนิษฐานว่ามีที่มาจากปัญญาสชาดกนี้ ได้นำเสนอแนวคิดทางพุทธศาสนาไว้อย่างเด่นชัด และนำเสนอด้วยกลวิธีของงานเขียนบันเทิงคดีที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเพลิดเพลินไปกับเรื่องราว แต่ขณะเดียวกันก็ได้รับสาระความรู้อันเป็นประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตไปด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าบทละครนอกจึงเป็นวรรณคดีที่สืบทอดวัฒนธรรมชาดกจากปัญญาสชาดกทั้งกลวิธีนำเสนอแนวคิดทางพุทธศาสนาและแนวคิดทางพุทธศาสนาในระดับเบื้องต้นได้อย่างชัดเจน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–1 กรกฎาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

การตีความชาดกในคัมภีร์หลังพระไตรปิฎก

อาจารย์ ดร. พิสิทธิ์  กอบบุญ

 

สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันออก

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

 

บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาการตีความชาดกในคัมภีร์หลังพระไตรปิฎก โดยศึกษาจากคัมภีร์มิลินทปัญหา ในแง่แนวทางและวิธีการตีความชาดก รวมถึงแนวคิดเกี่ยวกับชาดกด้วย จากการศึกษาพบว่ามิลินทปัญหาเป็นคัมภีร์ประเภทปกรณ์วิเสสที่มีสาระธรรมหลากหลาย รวมทั้งเนื้อหาที่เกี่ยวกับชาดกด้วย โครงสร้างและวิธีปุจฉา-วิสัชนาในมิลินทปัญหาสามารถกล่าวได้ว่ามิลินทปัญหาเป็นวรรณคดีแห่งการตีความ เพราะการปุจฉาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมณฑกปัญหา เป็นการสร้างคำถามที่มีลักษณะขัดแย้งกัน (Questions on Dilemmas) โดยนำคำสอนต่างบริบทมาเทียบเคียงกันเพื่อให้เกิดการตีความให้ถูกต้อง ส่วนการวิสัชนาโดยวิธีการใช้ภาพพจน์ก็เป็นวิธีหนึ่งของการตีความเพื่ออรรถาธิบายขยายความคำตอบให้กระจ่าง ในส่วนที่เกี่ยวกับชาดกนั้น มิลินทปัญหาได้นำเสนอปุจฉา-วิสัชนาอันเกี่ยวเนื่องกับชาดกในหลายมิติต่างทั้งเรื่องเล่า พุทธพจน์ และข้อคำสอน นอกจากนี้ยังใช้ชาดกเป็นส่วนหนึ่งของการตีความอรรถาธิบายพุทธธรรม การตีความในมิลินทปัญหาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในแง่สารัตถะและรูปแบบการนำเสนอตัวบทของการตีความ ซึ่งเป็นไปเพื่อขจัดความสงสัย และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชาดกได้อย่างสมบูรณ์ในยุคหลังพุทธกาล 

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–1 กรกฎาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

อลินจิตต์คำฉันท์: จากชาดกสู่วรรณคดีนิทานร้อยกรอง

อาจารย์วสันต์ รัตนโภคา

 

สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

 

 

บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้เห็นถึงกลวิธีการสร้างอลินจิตต์ชาดกให้เป็นวรรณคดีนิทานร้อยกรองของไทยเรื่องอลินจิตต์คำฉันท์ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่น กวีพจน์สุ-ปรีชา  เมื่อพิจารณาเนื้อหาในภาพรวมของอลินจิตต์คำฉันท์แล้วพบว่า กวียังคงรักษาแนวคิดเรื่องความกตัญญูตามอย่างอลีนจิตตชาดกอยู่ และยังคงดำเนินเรื่องตามโครงเรื่องของอลีนจิตตชาดก แม้ว่ากวีจะได้ทรงแทรกส่วนต่างๆ ตามขนบของนิทานร้อยกรองเข้าไป ทั้งการพรรณนาเมือง การพรรณนากระบวนเรือพระที่นั่ง การพรรณนาธรรมชาติ และการพรรณนาอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครก็มิได้ทำให้แนวคิดของเรื่องและโครงสร้างของเรื่องเสียหาย แต่กลับทำให้ผู้อ่านรู้สึกเพลิดเพลินใจมากกว่า กล่าวโดยสรุปแล้ว อลินจิตต์คำฉันท์ พระนิพนธ์ในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา เป็นวรรณคดีที่มีความโดดเด่นในการนำเสนอเนื้อหามากกว่าวรรณคดีที่มีที่มาจากนิบาตชาดกหลายเรื่องที่มุ่งแสดงเฉพาะหลักธรรมคำสอนซึ่งมีเนื้อหาแห้งแล้งและไม่ชวนให้ติดตาม โดยยังคงรักษาแนวคิดเรื่องความกตัญญูของอลีนจิตตชาดกไว้อย่างครบถ้วน อลินจิตต์คำฉันท์จึงถือได้ว่าเป็นวรรณคดีเอกเรื่องหนึ่งในวงวรรณคดีไทยที่ควรค่าแก่การศึกษายิ่ง

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–1 กรกฎาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ธรรมค่าว: กลวิธีการเล่านิทานชาดกในล้านนา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิโรจน์  อินทนนท์

 

สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

ค่าวเป็นชื่อลักษณะการเรียบเรียงถ้อยคำให้เป็นระเบียบเหมือนห่วงโซ่ คือมีสัมผัสคล้องจองกันไป เป็นคำประพันธ์ประเภทหนึ่งใน 5 ประเภทของวรรณกรรมร้อยกรองของล้านนา ค่าวแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ ค่าวธรรม ค่าวซอ  ค่าวใช้ และค่าวร่ำ หรือ ค่าวฮ่ำ

 

ค่าวธรรมหรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าธรรมค่าว เป็นบทประพันธ์ที่แต่งด้วยฉันทลักษณ์ค่าว มักเป็นเรื่องชาดก มีลักษณะละม้ายกับนิทานคำกลอนประเภทจักร ๆ วงศ์ ๆ ที่เรียกว่าธรรมค่าวนั้นเพราะเป็นการนำเอาเรื่องธรรมหรือชาดกมาแต่งขึ้น ธรรมค่าวจะแต่งด้วยร้อยแก้วสำนวนเทศน์ หรือแต่งเป็นร้อยกรองคล้ายร่ายยาวหรือร่ายโบราณก็ได้ ธรรมค่าวถูกแต่งขึ้นเพื่อให้พระภิกษุ สามเณรใช้เทศนาให้ชาวบ้านฟัง ทุกวันพระ ในฤดูกาลเข้าพรรษา มีเนื้อหา ลีลา การดำเนินเรื่องทำนองเดียวกับชาดก คือ มีการตั้งบทพระคาถาบาลีแล้วขยายความเป็นพรรณนาโวหาร หรือเทศนาโวหารแล้วแต่กรณี แต่เดิมรูปแบบคำประพันธ์เป็นร้อยแก้วที่ไม่กำหนดจำนวนคำในวรรคมีการส่งสัมผัสของพยางค์สุดท้ายของวรรคแรกไปสู่พยางค์ที่ 3 4 หรือ 5 ของวรรคถัดไป แล้วพัฒนามาส่งสัมผัสแบบร่ายอย่างหลวม ๆ จนมีลักษณะเป็นร่ายยาวหรือร่ายโบราณ ธรรมค่าวที่มีลักษณะเป็นร้อยกรองนั้นจะมีฉันทลักษณ์เป็นของตัวเอง แต่มีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน คือแบบ  “พลูไต่ค้างช้างเทียวคอง” โดยเรียกการแต่งว่า “สามตัวเหลียว เจ็ดตัวเทียว บาทหลัง บาทหน้า” และแบบ “ช้างข้ามโท่งหงส์ย่างบาท” โดยเรียกการแต่งว่า “ห้าตัวเหลียว เจ็ดตัวเทียว บาทหลัง บาทหน้า” การนำธรรมค่าวไปแสดงที่เรียกว่า การเทศน์ หรือ เทศนา  จะมีท่วงทำนองในการเทศน์อันจะเพิ่มความไพเราะและชวนฟังเข้าไปอีก ทำนองการเทศน์หรือที่เรียกว่า ระบำการเทศน์ในล้านนามี 2 แบบ คือ แบบธรรมวัตรและแบบมหาชาติ แบบธรรมวัตรคือระบำหรือทำนองตามปกติทั่วไป ที่จะใช้เทศน์ในกิจนิมนต์หรือเทศน์ในช่วงเข้าพรรษาแบ่งได้ 4 แบบ คือ น้ำดั้นท่อรินคำ ขี่ม้าชมเมือง ม้าย่ำไฟ ฝนแสนห่า ส่วนแบบมหาชาตินั้นก็แบ่งได้ 4 แบบเช่นเดียวกัน คือ  หมาไต่คันนา กวางเดินดง น้ำดั้นท่อ แม่ของ(โขง)นองบน นอกจากนี้ ก็ยังมีทำนองหรือระบำประจำเมือง เช่น น้ำตกตาด และพร้าวไกวใบ ของเมืองลำพูน-เชียงใหม่ มะนาวล่องของ(โขง) ของเมืองเชียงแสน-เชียงราย ภู่ชมดวง ของเมืองลำปาง เป็นต้น

 

ธรรมค่าวเป็นพัฒนาการประการหนึ่งของภูมิปัญญาล้านนาที่นำฉันทลักษณ์ค่าวมาแต่งประพันธ์เรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาทั้งด้านหลักคำสอนและประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าอยู่เพื่อใช้เทศนาสั่งสอนประชาชนให้มีความรู้ทางพุทธศาสนา อันเป็นการรังสรรค์สังคมให้มีความสงบสุขด้วยรสธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่เพียงการแต่งการประพันธ์ให้มีฉันทลักษณ์แบบค่าวดังกล่าวเท่านั้น ธรรมค่าวยังมีท่วงทำนองหรือระบำในการเทศนาเพื่อให้เกิดความไพเราะก่อความศรัทธาความเลื่อมใสและน่าติดตามให้แก่ผู้ฟังอีกด้วย

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–1 กรกฎาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ก่ำกาดำ: ความสัมพันธ์กับอรรถกถาชาดก ปัญญาสชาดก และชาดกในคัมภีร์มหาวัสตุ

สายป่าน ปุริวรรณชนะ

 

นิสิตหลักสูตรอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาภาษาไทย (คติชนวิทยา) 

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

         

 

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างนิทานเรื่องก่ำกาดำซึ่งแพร่หลายอยู่ในกลุ่มคนไทยภาคเหนือและภาคอีสาน กลุ่มชาวไทพวน กลุ่มชาวไทเขิน และกลุ่มชาวลาว กับอรรถกถากุสชาดกในพระสุตตันตปิฎก สุวรรณสังขชาดกในปัญญาสชาดก และกุศราชชาดกในคัมภีร์มหาวัสตุ เนื่องจากผู้วิจัยมีข้อสันนิษฐานว่า แม้นิทานเรื่องก่ำกาดำจะแตกเรื่องมาจากนิทานแบบเรื่องสังข์ทองซึ่งมีที่มาจากสุวรรณสังขชาดกในปัญญาสชาดก แต่กลับปรากฏร่องรอยหลายประการที่แสดงว่านิทานเรื่องนี้ได้รับอิทธิพลจากอรรถกถากุสชาดก และกุศชาดกในคัมภีร์มหาวัสตุ ทั้งนี้ผลการศึกษาพบว่า นอกจากโครงเรื่องที่คล้ายกันแล้ว นิทานทั้ง 3 เรื่อง ยังมีรายละเอียดต่างๆ ที่คล้ายคลึงกัน และที่ต่างกันในลักษณะ “คู่ตรงข้าม” อันนำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าอรรถกถากุสชาดกและกุศชาดกในคัมภีร์มหาวัสตุน่าจะเป็น “ที่มา”ของสุวรรณสังขชาดก จากนั้นสุวรรณสังขชาดกจึง “แตกเรื่อง”เป็นนิทานเรื่องก่ำกาดำสำนวนต่างๆ ทั้งนี้ในกระบวนการของการแตกเรื่องอาจได้รับอิทธิพลจากอรรถกถากุสชาดกและกุศชาดกซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–1 กรกฎาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

พระมหากษัตริย์ในอุดมคติ: ศึกษาจากอรรถกถาชาดกและปัญญาสชาดก

รองศาสตราจารย์ ดร. สุปาณี พัดทอง

 

ภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

การศึกษาอรรถกถาชาดกและปัญญาสชาดก ได้เลือกศึกษาชาดกเรื่องที่พระโพธิสัตว์เป็นกษัตริย์และปรากฏบทบาทในฐานะผู้ปกครอง  รวมทั้งศึกษาชาดกเรื่องที่พระโพธิสัตว์ไม่ได้เป็นกษัตริย์แต่ปรากฏบทบาทเด่นในฐานะผู้ปกครอง หรือได้แสดงธรรมะตลอดจนแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ปกครองแก่พระมหากษัตริย์ ผลการศึกษาทำให้เห็นภาพของพระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครองในอุดมคติทางพระพุทธศาสนาอย่างเด่นชัดว่า พระมหากษัตริย์ในอุดมคติทางพุทธศาสนา คือ “ธรรมราชา” ผู้ทรงดำรงมั่นในราชธรรมและธรรมะของความเป็นมนุษย์ หลักธรรมสำคัญที่ทรงปฏิบัติ ได้แก่ ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร ราชสังคหวัตถุ ทรงดำรงในกุศลกรรมบถ รักษาศีล ละเว้นอคติ นอกจากนี้ยังทรงเปี่ยมด้วยพระบุญญาบารมี มีพระสติปัญญาปรีชาสามารถในการปกครอง ทรงวินิจฉัยคดีด้วยความยุติธรรม ทรงเสียสละบำเพ็ญทานให้ความสงเคราะห์แก่พสกนิกรด้วยพระเมตตาประดุจบิดามารดาอุ้มชูบุตร ทรงมีพระราชจริยาวัตรที่ดีงามเป็นแบบอย่างทางความประพฤติ ทรงสั่งสอนอบรมแนะแนวทางแห่งความดีแก่ราษฎรและมหาชนทุกหมู่เหล่า ทรงใช้ธรรมพิชิตศัตรูผู้คิดร้ายทั้งยังน้อมนำให้ทำความดีละเว้นความชั่ว นำพาให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขในบ้านเมืองและพสกนิกร ทรงได้รับการเทิดพระเกียรติอย่างยอดยิ่ง และทรงเป็นแบบอย่างของพระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครองที่ดีตราบจนปัจจุบัน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–1 กรกฎาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

นาฏยลีลาร่วมสมัย “พระมหาชนก”: การสืบทอดและการสร้างสรรค์ในบริบทสังคมไทย

อาจารย์ ดร. สุภัค มหาวรากร

 

ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

 

บทความนี้มุ่งศึกษาการแสดงร่วมสมัย “พระมหาชนก” ซึ่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดแสดงเนื่องในงานวันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 24 ในปีพุทธศักราช 2554 ผลการศึกษาพบว่า นาฏยลีลาร่วมสมัยเรื่อง “พระมหาชนก” ดำเนินเรื่องตามบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช การแสดงแบ่งเป็น 3 องก์ องก์ที่ 1 มิถิลานคร องก์ที่ 2 ความเพียรอันบริสุทธิ์ และองก์ที่ 3 ศรัทธาแห่งปัญญาธรรม มีการเล่าเรื่องโดยใช้สื่อ ได้แก่ การเล่นภาพเงาเคลื่อนไหว การแสดงหุ่นละครเล็ก การใช้แอนิเมชั่น การขับบทเสภา และการบรรเลงเพลงประกอบวงดุริยางค์ซิมโฟนีออร์เคสตรา การแสดงนาฏยลีลาร่วมสมัยเรื่อง “พระมหาชนก” ในครั้งนี้แสดงถึงการสืบทอดและรังสรรค์เรื่องชาดกในวัฒนธรรมไทย โดยยังคงเสนอบทบาทสำคัญของพระโพธิสัตว์ผู้ยังคง “เพียรบำเพ็ญบารมีมิหวาดหวั่น” ท่ามกลางสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวตลอดเวลา

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–1 กรกฎาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

การถ่ายทอดวรรณคดีชาดกผ่านเพลงพื้นบ้านภาคกลาง:  กลวิธีการถ่ายทอดและความแพร่หลายในสังคมไทย

อาจารย์ ดร. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล

 

สาขาวิชาภาษาไทย 

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์กลวิธีการถ่ายทอดวรรณคดีชาดกผ่านเพลงพื้นบ้านภาคกลาง โดยศึกษาจากเพลงพื้นบ้านประเภทเพลงปฏิพากษ์ 6 ชนิด ได้แก่ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงพวงมาลัย เพลงทรงเครื่อง เพลงเรือ ลำตัด และเพลงร้องรำพัน 3 ชนิด ได้แก่ เพลงแหล่ เพลงขอทาน และสวดคฤหัสถ์ ผลการศึกษาพบว่าชาวบ้านในภาคกลางรับรู้และถ่ายทอดวรรณคดีชาดกผ่านเพลงพื้น บ้านที่ร้องในเทศกาลและงานประเพณีพิธีกรรมต่างๆ อาทิ ในเทศกาลสงกรานต์ งานประเพณีเทศน์มหาชาติ งานศพ ฯลฯ โดยเรื่องชาดกที่นำมาถ่ายทอดมีทั้งเรื่องชาดกในนิบาต และชาดกนอกนิบาต นอกจากนี้ในการถ่ายทอดเป็นเพลงพื้นบ้านยังสะท้อนให้เห็นมุมมองของชาวบ้านที่ มีใน 2 ลักษณะคือ มองเรื่องชาดกเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ในฐานะประวัติพระพุทธเจ้า และมองเรื่องชาดกเป็นนิทาน ส่วนกลวิธีการถ่ายทอดนั้น จากการศึกษาพบว่ามีการถ่ายทอดเป็น 5 วิธี ไก้แก่ การเล่าพรรณนาเป็นเรื่องนิทาน การแสดงบทบาทสมมติ การเล่าพรรณนาประกอบการแสดงบทบาทสมมติ การยกตัวอย่างเป็นอุทาหรณ์ และการถามโต้ตอบเพื่อทดสอบปัญญา กลวิธีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการรับรู้วรรณคดีชาดกในสังคมไทยผ่านเพลงพื้นบ้านในหลากหลายมิติ

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–1 กรกฎาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

The Silent Prince: จากมหานิบาตชาดกสู่มหาอุปรากร

อาจารย์ ดร. อาทิตย์ ชีรวิณิชย์กุล

 

ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

บทความวิจัยนี้มุ่งศึกษาบทมหาอุปรากร The Silent Prince ของสมเถา สุจริตกุล ซึ่งนำเค้าโครงเรื่องมาจากเตมียชาดก ชาดกเรื่องที่ 538 ในคัมภีร์ชาดกบาลี และเป็นเรื่องที่หนึ่งในมหานิบาตหรือทศชาติชาดก จากการศึกษาแสดงว่า มหาอุปรากร The Silent Prince เป็นการปรับเปลี่ยนบริบทของการเล่าเรื่องชาดกอย่างชัดเจน สารสำคัญของเรื่อง คือ การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ โดยเฉพาะเนกขัมมบารมีเพื่อความหลุดพ้นจากบ่วงกรรมและสังสารวัฏ รวมทั้งเพื่อประโยชน์สุขของสรรพสัตว์ ได้รับการนำเสนออย่างชัดเจนผ่านความขัดแย้งระหว่างพระเตมีย์กับพระบิดา เมื่อพระบิดา ซึ่งเป็นตัวแทนของ “โลก” ทรงคาดหวังให้พระเตมีย์เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ แต่พระเตมีย์ ซึ่งเป็นตัวแทนแห่ง “ธรรม” ไม่ยอมกระทำตามพระประสงค์ เพราะเห็นว่าการครองราชสมบัตินั้นเป็นเหตุให้ต้องลงทัณฑ์ผู้อื่นตามหน้าที่ของพระราชา อันเป็นบาปอกุศลที่จะนำตนไปสู่ทุคติดังเช่นในอดีตชาติที่ผ่านมา จึงแสร้งทำตนเป็นคนพิการ นอกจากนี้ หากพิจารณาในแง่ของการนำชาดกมาปรับเพื่อนำเสนอเป็นการแสดงแล้ว มหาอุปรากร The Silent Prince แสดงให้เห็นการสืบทอดขนบของการถ่ายทอดชาดกเป็นการแสดงซึ่งมีมาแต่โบราณกาล และแสดงให้เห็นความคิดสร้างสรรค์ในการประสมประสานนาฏยศิลป์และคีตศิลป์ตะวันตกกับตะวันออก เพื่อนำเสนอชาดกอันเป็นสมบัติทางปัญญาของมนุษย์ให้ยังคงมีชีวิตอยู่ในสังคมร่วมสมัย

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วัฒนธรรมชาดกในสังคมไทย" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–1 กรกฎาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)