Photo Source

รู้จักรายการวิทยุไทยศึกษา

รายการวิทยุไทยศึกษา ออกอากาศทาง สถานีวิทยุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 101.5 MHz ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-10.30 น. นำเสนอสาระความรู้ด้านความเป็นไทยในประเด็นต่างๆ ดำเนินรายการโดย วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์ 

 

สถาบันไทยศึกษา ได้จัดทำสรุปเนื้อหารายการวิทยุที่มีสาระประโยชน์ เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่ความรู้ด้านไทยศึกษาสู่สาธารณะ โดยแบ่งลักษณะเนื้อหาเป็นหมวดต่างๆ ดังนี้

 

(1) ภูมิปัญญาความรู้และวัฒนธรรมความเป็นอยู่

 

(2) วัฒนธรรมอาหาร

 

(3) คตินิยมและความเชื่อ

 

(4) พิธีกรรม ธรรมเนียม ประเพณี

 

(5) พุทธศิลป์และงานประณีตศิลป์

 

(6) สิ่งปลูกสร้างและงานสถาปัตยกรรม

 

(7) โบราณคดีและอารยธรรมไทย

 

(8) ประวัติศาสตร์และเรื่องราวท้องถิ่น

 

(9) เศรษฐกิจการเมืองไทยในอดีต

 

(10) บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย

การอาบน้ำแบบไทยๆ

วันที่ออกอากาศ: 22 เมษายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ในสังคมไทย การอาบน้ำชำระล้างกายถือเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งที่สั่งสมมาตั้งแต่โบราณ จนอาจเรียกเป็นวัฒนธรรมก็ว่าได้ ซึ่งการอาบน้ำบางประเภท ยังได้รับยกย่องเป็นประเพณีพิธีกรรมด้วย

 

สังคมไทยในอดีตที่นิยมสร้างบ้านริมแม่น้ำ มักสร้างท่าน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจวัตรประจำวัน รวมถึงการอาบน้ำ ดังปรากฏในสำนวนที่ว่า อาบน้ำอาบท่า  ซึ่งติดปากคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าปัจจุบัน คนส่วนใหญ่นิยมอาบน้ำในห้องน้ำแล้วก็ตาม

 

ในวัฒนธรรมการอาบน้ำของคนไทย มิใช่เพียงแต่การนุ่งกระโจมอก หรือผ้าขาวม้า ลงไปตักน้ำอาบที่ท่าเท่านั้น ยังมีภูมิปัญญาในเรื่องการทำความสะอาดร่างกาย รวมถึงการบำรุงประทินผิว เห็นได้จากวรรณคดีไทยหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะ ขุนช้างขุนแผน และ อิเหนา ซึ่งสะท้อนธรรมเนียมรูปแบบการอาบน้ำแบบไทยๆ ทั้งของชนชั้นสูง และของชาวบ้าน ว่ามีวิธีการชำระล้างร่างกายให้สะอาด การบำรุงผิวพรรณด้วยสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ และมีขั้นตอนที่พิถีพิถัน

 

แม้ว่าในสมัยโบราณ จะไม่มีสบู่ หรือแชมพู ที่เป็นสารเคมีสำหรับทำความสะอาดร่ายกาย และเส้นผม แต่คนไทยในอดีต ก็รู้จักใช้สมุนไพรที่มีสรรพคุณที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น การใช้ขมิ้น และมะขามเปียก ในการอาบน้ำ โดยคั้นน้ำจากขมิ้นมาชโลมตัว ขัดทำความสะอาดร่างกายแล้วจึงล้างออก จากนั้น ใช้มะขามเปียกที่ขยำผสมกับน้ำ โดยนำกากมาใช้เป็นใยสำหรับขัดผิว เสร็จแล้วให้ล้างน้ำออก เป็นการบำรุงผิวพรรณให้งามผ่อง

 

ในการสระผมนั้น คนไทยแต่ละภูมิภาค ต่างมีภูมิปัญญาเลือกใช้สมุนไพรท้องถิ่นมาทำความสะอาดเส้นผม ในภาคกลาง นิยมใช้มะกรูดนำมาหมกขี้เถ้าจากเตาไฟ จนผิวเป็นสีเหลืองเพื่อลดความเป็นกรด แล้วจึงคั้นนำน้ำมาสระผม

 

สมุนไพรที่นิยมอีกชนิดหนึ่งคือ ปะคำดีควาย โดยนำเมล็ดมาโขลก แล้วใช้สระผม ซึ่งเมื่อเมล็ดปะคำดีควายถูกน้ำแล้ว จะมีความลื่น จึงช่วยชำระล้างสิ่งสกปรกต่างๆ ออกจากเส้นผมได้ง่าย นอกจากนี้ ทางภาคเหนือนิยมใช้ใบกับฝักของส้มป่อย ส่วนทางภาคอีสานนิยมใช้ใบอ้ม ซึ่งมีสรรพคุณในการทำความสะอาดเส้นผมเช่นกัน

 

การอาบน้ำของชนชั้นสูงในสังคมไทย ไม่นิยมลงไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ แต่ให้บ่าวไพร่ไปตักน้ำขึ้นมาใส่ภาชนะ แล้วอาบน้ำที่ชานเรือน เรื่องวิธี และขั้นตอนการชำระล้างร่างกาย และการบำรุงผิวพรรณ จะมีความพิถีพิถันมากกว่าสามัญชน

 

หากได้อ่านบทพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ของรัชกาลที่ 2 จะเห็นธรรมเนียมการอาบน้ำของเจ้านาย ที่ใช้เวลาสรงน้ำนาน โดยเฉพาะการประทินโฉม และผิว ด้วยเครื่องสำอาง หรือเครื่องหอมต่างๆ หลากหลายขนาน เครื่องน้ำหอมประเภทต่างๆ นี้เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องใช้ของกลุ่มชนชั้นสูงมาตั้งแต่สมัยอยุธยา อาทิ น้ำกุหลาบ น้ำอบฝรั่ง (Eau de Cologne) เป็นต้น

 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 น้ำอบฝรั่ง ถือเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันที่ขาดไม่ได้ของเจ้านาย ซึ่งนิยมใช้น้ำอบฝรั่งเป็นส่วนประกอบในการชำระล้างร่างกาย หลังจากอาบน้ำแล้วก็ยังต้องใช้น้ำอบฝรั่งปะพรมร่างกายอีกด้วย

 

นอกจากนี้ ในวัฒนธรรมไทยยังมีการอาบน้ำที่เป็นธรรมเนียมเฉพาะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมความเชื่อ ได้แก่ประเภทแรก การอาบน้ำว่าน คือการอาบน้ำพระพุทธมนต์ ที่ผสมด้วยพืชหรือว่านมงคลชนิดต่างๆ  ซึ่งคนไทยมีความเชื่อว่า เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ สามารถสะเดาะเคราะห์ หรือสร้างสิริมงคลกับตนเอง การอาบน้ำว่านต้องทำพิธีในวัดโดยมีพระเป็นผู้ประกอบพิธี

 

ประเภทต่อมา การอาบน้ำเพ็ญ คือการอาบน้ำในช่วงเที่ยงคืนของวันเพ็ญเดือน 12 โดยนำน้ำพระพุทธมนต์ที่ได้จากวัด มาเจือมาผสมกับน้ำปกติมาอาบที่ท่าน้ำ เพื่อให้ร่างกายอาบแสงจันทร์ไปด้วย เป็นการอาบน้ำเพื่อเสริมสิริมงคลเช่นกัน 

ขันน้ำในวัฒนธรรมไทย

วันที่ออกอากาศ: 18 มีนาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ขัน หรือ ขันน้ำ เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้คู่ครัวเรือนไทยมาช้านาน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และวัฒนธรรมไทยมาจนถึงปัจจุบัน สันนิษฐานว่า คนไทยรับเอาวัฒนธรรมการใช้ขันมาจากอินเดีย ซึ่งมีลักษณะการใช้สอยประโยชน์ของขันคล้ายคลึงกัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้ตักน้ำ บรรจุน้ำ รวมถึงใช้ใส่ข้าวปลาอาหารต่างๆ ด้วย

 

ขันที่ใช้กันในสังคมมีมากมายหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดใหญ่ที่สุด เรียกว่า ขันสาคร ซึ่งมีขนาดที่สามารถบรรจุเด็กเล็กลงไปได้ จนถึงขนาดที่เล็กที่สุด เรียกว่า จอก สำหรับตักน้ำพอคำจากหม้อบรรจุน้ำมารับประทาน ในการผลิตขัน สามารถผลิตได้ด้วยวัสดุต่างๆ มากมาย ได้แก่ เงิน ทอง สัมฤทธิ์ ทองแดง ทองเหลือง อลูมิเนียม สแตนเลส หรือที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือ พลาสติก 

 

นอกจากประโยชน์ใช้สอยของขันแล้ว ขันยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงฐานะของผู้เป็นเจ้าของด้วย ในสมัยก่อนเมื่อถึงเวลาตักบาตรตอนเช้านั้น แต่ละบ้านก็จะจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ บรรจุอาหารสำหรับใส่บาตร ซึ่งนิยมใช้ขันขนาดใหญ่ใส่ข้าวสวย หากเป็นบ้านของขุนนาง คหบดี เศรษฐี หรือผู้ดีต่างๆ จะใช้ขันเงินขนาดใหญ่ที่มีราคา รวมถึงทัพพี ถาดรอง พานรอง ที่ทำจากเงินให้เข้าชุดกัน จนกลายเป็นการประกวดประขันกันของแต่ละบ้าน ขันข้าวจึงกลายเป็นสิ่งบ่งบอกฐานะของครอบครัว

 

นอกจากนี้ ขันอาบน้ำที่เป็นของใช้ส่วนตัว ซึ่งคนสมัยก่อนไม่ใช้ปะปนกับคนอื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกฐานะของบุคคลด้วยเช่นกัน ขันอาบน้ำสำหรับผู้มีอันจะกิน มักนิยมใช้ขันที่ถมเงินถมทอง ที่เรียกว่า ขันถม ซึ่งเป็นของดีมีราคา  

 

การใช้ขันเป็นสิ่งแสดงฐานะในสังคมไทย มีที่มาจากวัฒนธรรมของกลุ่มชนชั้นสูง ซึ่งมีธรรมเนียมการทำขันเป็นเครื่องประกอบอิสริยายศอย่างหนึ่ง ทั้งลักษณะของขันสรงพระพักตร์ ขันน้ำเสวย หม้อน้ำเสวย ซึ่งใช้ศิลปะในการตกแต่งลวดลาย ให้ขันมีความวิจิตรสวยงามแตกต่างกันไปตามยศถาบรรดาศักดิ์

 

ตั้งแต่ที่เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยายศของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสี พระอิสริยายศพระบรมวงศานุวงศ์ หรือเจ้านายลำดับชั้นต่างๆ ลงมาจนกระทั่ง ขันประกอบยศของเสนาบดีขุนนางชั้นผู้ใหญ่

 

ในสังคมไทยยังใช้ขันประกอบพิธีกรรมต่างๆ มาตั้งแต่โบราณด้วย อย่างพิธีกรรมราชสำนักที่มีความสำคัญยิ่ง คือ พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เป็นพิธีสำหรับขุนนางแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ โดยใช้พระแสงแทงลงไปในน้ำ ทำให้กลายเป็นน้ำพิพัฒน์สัตยา มีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม ซึ่งน้ำจะบรรจุอยู่ในขันขนาดใหญ่ เป็นขันลงหินที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ โดยทำจากทองเหลืองหรือสัมฤทธิ์ ตกแต่งด้วยการลงยาหรือลงถมเป็นลวดลายต่างๆ  ซึ่งเชื่อว่าการใช้ขันลงหิน จะทำให้ประกอบพิธีกรรมเกิดความศักดิ์สิทธิ์ 

 

นอกจากนี้ ขันยังมีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมในวิถีชีวิตของคนไทย ตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่เด็กมีอายุครบเดือนก็พิธีทำขวัญเดือน โดยใช้ขันสาครขนาดใหญ่ ใส่เด็กทารกเพื่ออาบน้ำทำขวัญ พิธีแห่ขันหมากที่แต่เดิมจะนิยมนำสินสอดทองหมั้นใส่ไว้ในขัน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า ขันหมาก

 

ในพิธีทำบุญตักบาตร ก็ใช้ขันใส่ข้าวสุก หรือสำรับอาหารสำหรับใส่บาตรพระสงฆ์ จนมาถึงพิธีกรรมสุดท้ายของชีวิตคือ พิธีกรรมงานศพ ก็ใช้ขันในการรดน้ำศพ รวมทั้งใช้ขันใส่น้ำอบสำหรับพรมตอนเก็บอัฐิหลังการฌาปนกิจ

ความรู้ที่ได้จากร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก

วันที่ออกอากาศ: 23 กันยายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ในช่วงออกพรรษา มีธรรมเนียมการเทศน์อย่างหนึ่งที่เรียกว่า เทศน์มหาชาติ หรือหากเป็นของพิธีหลวง จะเรียกว่า เทศน์มหาชาติทำนองหลวง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการบำเพ็ญกุศลของพระเวสสันดร ซึ่งเป็นพุทธประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย ก่อนประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ มีบทเทศน์ด้วยกันทั้งสิ้น 13 กัณฑ์ โดยเรียกอย่างเป็นทางการว่า ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก

 

ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในรัชกาลของพระเจ้าทรงธรรม โปรดให้แต่งเรื่องเวสสันดรชาดกเป็นคำประพันธ์ สำหรับราชบัณฑิตใช้สวดในเทศกาลเข้าพรรษา ประกอบด้วยร่าย และกาพย์ ปะปนกันเป็นวรรณคดีเรื่องสำคัญ เรียกว่า กาพย์มหาชาติ ซึ่งไม่ได้ใช้สำหรับการเทศน์มหาชาติอย่างในปัจจุบัน

 

จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหน้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มีพระราชดำริให้แต่งเรื่องมหาชาติ สำหรับพระสงฆ์ใช้แสดงพระธรรมเทศนาที่เรียกว่า เทศน์มหาชาติ ทรงเห็นว่า กาพย์มหาชาติที่แต่งในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม และบทเทศน์มหาชาติแบบร่ายยาวสำนวนอื่นๆ ในสมัยอยุธยา คงสูญหายหรือกระจัดกระจายไป ก็โปรดให้มีการประชุมกวี เพื่อประพันธ์บทเทศน์มหาชาติทำนองหลวง ซึ่งต้องอาศัยความสามารถทางด้านภาษา และความรู้เกี่ยวกับพุทธประวัติเป็นอย่างดี

 

กวีคนสำคัญที่มีบทบาทในการประพันธ์ ได้แก่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงพระนิพนธ์ กัณฑ์จุมพล กัณฑ์มหาราช กัณฑ์ฉกษัตริย์ และนครกัณฑ์ พระเทพมุนี (ด้วง) ประพันธ์กัณฑ์ชูชก พระเทพโมลี (กลิ่น) ประพันธ์กัณฑ์มหาพล เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ประพันธ์กัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี เป็นต้น

 

เทศน์มหาชาติคำหลวง ถือเป็นวรรณคดีชั้นสูงของไทยที่มีคุณค่ายิ่ง นอกจากเนื้อหาที่ให้ความรู้ด้านพุทธศาสนาแล้ว การใช้คำศัพท์ และภาษาที่งดงามในการเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ก็เป็นประโยชน์ยิ่งต่อผู้สนใจ และศึกษาการใช้ภาษาในวรรณคดีไทย นอกจากนี้ ยังได้สอดแทรกความรู้ทางโลกต่างๆ ที่มีประโยชน์ในบทประพันธ์ด้วย ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์พืชของไทยในกัณฑ์จุลพน และกัณฑ์มหาพน ซึ่งบรรยายสภาพของป่าหิมพานต์ โดยใช้บริบทของพันธุ์พืชไทยเป็นองค์ประกอบ ตัวอย่างเช่น

 

ยังรุกขชาติที่ชายเชิงเขาเป็นคันเขต กอบด้วยเบญโกศเกษกฤษณากรรณิกาแกมกะพุดดง เหล่ามลุลีแลกาหลงกุหลาบล้วนลำดวนดอกดูสร่าง

 

หรือ

 

สัปพประดู่ หมู่ตะเพา ตะแบก เบญจบานไสว รังรุกขลำไยประโยมแย้มสายหยุดแลยมโดย แต่ล้วนหล่นลงร่วงโรยรายดอกลงมูลมอง 

 

ความรู้เรื่องขนมไทยนานาชนิดในกัณฑ์ชูชก ซึ่งนางอมิตตาดาจัดขนมแห้งต่างๆ ใส่ย่าม ให้ชูชกเก็บไว้บริโภคระหว่างเดินทางไปเฝ้าพระเวสสันดร มีทั้งขนมแข็งเป็นก้อนกัด งาตัดข้าวตอกคั่ว ถั่วงาแลแดดงา ขนมรำเรเร่ฉ่ำ ขนมเทียนทำทั่วทุกสิ่ง รวมถึงขนมผิงหินฝนทอง ข้าวตู ข้าวตาก ข้าวตัง ที่เป็นขนมขบเคี้ยวของคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน 

 

นอกจากนี้ กัณฑ์กุมารก็ให้ความรู้เรื่องเครื่องดนตรีไทยชนิดต่างๆ ในตอนที่เหล่านางสนมกำนัลบรรเลงดนตรีขับกล่อมให้พระเจ้ากรุงสญชัย รวมถึงความรู้เรื่องเรือสำเภาโบราณ ตอนที่พระเวสสันดรเปรียบเทียบพระชาลี พระกันหา เป็นเหมือนมหาสำเภาทองที่จะนำพระองค์ข้ามองคสงสารไปได้ ซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้แจกแจงองค์ประกอบของเรือสำเภาได้อย่างชัดเจน

 

ในกัณฑ์ฉกษัตริย์ ก็ให้ความรู้เรื่องขั้นตอนของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์ ซึ่งเป็นตอนที่พระเจ้ากรุงสญชัยเชิญพระเวสสันดรกลับมาครองราชย์ แล้วทำพิธีราชาภิเษกอีกครั้ง รวมถึงความรู้เกี่ยวกับเพชรนิลจินดาชนิดต่างๆ ที่ตกแต่งเครื่องอาภรณ์ของกษัตริย์ด้วย

เครื่องจักสาน : วัฒนธรรมร่วมในอุษาคเนย์

วันที่ออกอากาศ: 30 มิถุนายน 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

การประดิษฐ์เครื่องจักสานเพื่อนำมาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ถือเป็นวัฒนธรรมร่วมที่สำคัญของคนไทย และชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์

 

เครื่องจักสานเป็นของใช้สอยในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญประเภทหนึ่งของคนในภูมิภาคนี้ ซึ่งมีภูมิปัญญาในการประดิษฐ์เครื่องจักสานมากมายหลายชนิดๆ โดยประดิษฐ์แตกต่างกันไป ทั้งรูปแบบ และขนาด เพื่อประโยชน์ในการใช้สอยที่แตกต่างกันไป 

 

คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มประดิษฐ์เครื่องจักสานมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อเริ่มหยุดการเร่ร่อน และตั้งหลักแหล่งที่อยู่อาศัย จึงเริ่มคิดประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องจักสานที่สามารถใช้เป็นภาชนะใส่ของต่างๆ และเครื่องมือทุ่นแรง ที่ทำให้ชีวิตมนุษย์มีความสะดวกสบายขึ้น

 

แม้เราจะไม่พบเครื่องจักสาน ที่เป็นหลักฐานจากแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีในประเทศไทย เนื่องจากเครื่องจักสาน ผลิตจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย แต่ด้วยสภาพแวดล้อมต่างๆ ทำให้นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า คนในดินแดนที่เป็นประเทศไทย รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน รู้จักประดิษฐ์เครื่องจักสานเพื่อใช้งาน ก่อนรู้จักการทำเครื่องปั้นดินเผา โดยสันนิษฐานจากลวดลายของเครื่องปั้นดินเผาว่า มีทำลวดลายให้คล้ายคลึงกับการสานลายของเครื่องจักสาน

 

เครื่องจักสานเป็นภูมิปัญญาที่มนุษย์รู้จักนำวัสดุธรรมชาติ ได้แก่ เส้นใยจากการแปรรูปพืชพันธุ์ต่างๆ มาใช้สำหรับ ถัก ทอ สาน ใช้เป็นภาชนะหรือเครื่องใช้ต่าง ๆ ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งพืชยืนต้น พืชล้มลุก ป่าไม้ และเขตทุ่งหญ้า จึงมีสภาพภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยให้คนในพื้นที่ สั่งสมภูมิปัญญาในการประดิษฐ์เครื่องจักสาน มาตั้งแต่โบราณ

 

ตั้งแต่การคัดเลือกชนิดของพืชพันธุ์ต่างๆ ในธรรมชาติ ที่เหมาะสมต่อการแปรรูปให้เป็นเส้นใย อย่างเช่น ต้นกก เป็นพืชล้มลุกตระกูลหญ้า ที่ขึ้นตามพื้นที่ชื้นแฉะ พืชน้ำล้มลุกอย่างผักตบชวา ไม้ยืนต้นตระกูลหวาย และไผ่ หรือแม้แต่ไม้ยืนต้นตระกูลหวาย พืชตระกูลมะพร้าว ตระกูลตาล ตระกูลปาล์ม ซึ่งเป็นพืชธรรมชาติในภูมิภาค โดยรู้จักนำส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ลำต้น ก้าน ใบ นำมาตากแห้ง และแปรรูปให้ได้เส้นใยที่มีความเหนียว ก่อนนำมาสานขึ้นรูปเป็นภาชนะและเครื่องใช้ต่างๆ

 

เครื่องจักสานมีรูปร่างที่เหมาะกับการใช้งานต่างๆ ส่วนใหญ่ใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงในการดำรงชีวิต ของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีพื้นฐานอยู่ในสังคมเกษตรกรรม จึงประดิษฐ์เครื่องจักสานที่ใช้ประโยชน์ทางการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร การเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการหาอาหารจากแหล่งธรรมชาติต่างๆ

 

โดยเฉพาะการปลูกข้าว ซึ่งถือเป็นอาหารหลัก มีการนำเครื่องจักสานมาใช้ในกระบวนการปลูกข้าวเกือบทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการหว่านเมล็ด ก็ใช้ กระบุง สำหรับใส่ข้าวเปลือกนำไปท้องนา หลังจากต้นข้าวเริ่มโต ก็ทำรั้วกันแปลงนาด้วยการนำไม้ไผ่มาสาน รวมถึงการทำห้างเฝ้านาหรือ เขียงนา ก็ใช้หวาย หรือไม้ไผ่ มาสานเป็นฝาเรือน

 

แม้แต่พิธีกรรมที่สร้างความเป็นมงคลสำหรับต้นข้าว ก็ใช้เครื่องจักสานมาทำปักเฉลียว จนถึงขั้นตอนเก็บเกี่ยว ก็อาศัยเครื่องจักสานมาใช้ประโยชน์ทั้งสิ้น

 

คนไทยและคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีวิถีชีวิตอยู่กับแหล่งน้ำ ก็ใช้ภูมิปัญญาในการประดิษฐ์เครื่องมือจับน้ำ และสัตว์น้ำรูปแบบต่างๆ อาทิ ไซ สุ่ม ลอบ ให้เหมาะสมกับสภาพของแหล่งน้ำ ในบางภูมิภาค สามารถสร้างเรือด้วยการจักสาน โดยใช้เส้นใยของต้นกกที่มีความหนา นำมาสานขึ้นรูปเป็นเรือได้ด้วยเช่นเดียวกัน

 

นอกจากนี้ เครื่องจักสานยังเป็นภาชนะใช้ในบ้านเรือน เช่น กระบุง ตะกร้า พัด เสื่อปูนอน เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะออกแบบรูปแบบเพื่อประโยชน์ใช้สอยแล้ว ยังออกแบบลวดลายของเครื่องจักสาน ให้มีความสวยงามอย่างน่าชื่นชม

เครื่องจักสานในภาคกลางของไทย

วันที่ออกอากาศ: 7 กรกฎาคม 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ล้วนแต่มีการผลิต และใช้เครื่องจักสานในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น ซึ่งรวมถึงในภาคกลางของประเทศ ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งปลูกข้าวแหล่งใหญ่ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีการประดิษฐ์เครื่องจักสาน มีความหลากหลายทั้งชนิด และขนาด เพื่อใช้สอยในกิจกรรมประเภทต่างๆ  

 

คนไทยในภาคกลาง มีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับเครื่องจักสานมาตั้งแต่โบราณ สำหรับชาวสวน ก็ใช้ตะกร้อจักสานในการสอย หรือเก็บเกี่ยวผลไม้ ใช้กะบุง ตะกร้า สำหรับใส่ และจัดเก็บผลไม้

 

มีการใช้ชลอมเล็กๆ ที่ทำจากตอกไผ่ นำมาห่อผลไม้เพื่อกันแมลง โดยสานให้มีช่องระบายอากาศ ไม่ให้อบจนผลไม้เน่าเสีย ซึ่งสามารถรักษาให้ผลไม้เติบโต สวยงาม เป็นสินค้าราคาดี อย่างเช่น กระท้อน ชมพู่ ชมพู่มะเหมี่ยว หรือแม้แต่ทุเรียน ก็ใช้ชลอมหอตามขนาดแตกต่างกันไป

 

รวมถึงเครื่องมือวิดน้ำจากร่องสวน ก็ใช้ที่เครื่องมือตักน้ำที่สานจากหวาย และทำด้ามจากไม้ไผ่ที่มีก้านยาว

 

สำหรับชาวประมงในภาคกลาง ก็ใช้เครื่องมือจับปลาที่เป็นเครื่องจักสาน เช่น ไซ สุ่ม ลอบ ซึ่งสานให้มีระยะช่องไฟพอเหมาะให้น้ำไหลผ่าน เพื่อดักหรือกักปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ ให้เข้าไปอยู่ในภาชนะนั้น

 

เครื่องจักสานประเภทหนึ่ง ที่ถือเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทยภาคกลาง ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้ง คือหมวกที่เรียกว่า งอบ สามารถใช้ทั้งชาวนา ชาวสวน รวมถึงชาวประมง

 

มีข้อความในพระนิพนธ์ของ เจ้าฟ้าสมเด็จพระนิศรานิรัติวงศ์ เป็นลายพระหัตถ์ที่ส่งไปกราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรับสั่งชมข้อดี และชมประโยชน์ของงอบ ซึ่งเป็นหมวกสานใบลานชนิดหนึ่งของชาวไทยภาคกลาง

 

เมื่อครั้งเสด็จไปอยุธยา เพื่อทอดพระเนตรการขุดค้นโบราณสถานที่อยู่ในกรุงเก่า ซึ่งอากาศร้อนมาก ทรงนำพระมาลา หรือหมวกที่ตัดเย็บจากผ้าสักหราด มาสวมกันแดด ซึ่งรับสั่งมาใช้ไม่ดีในสภาพอากาศของเมืองไทย เนื่องจากไม่มีช่องระบายอากาศให้ระบายความร้อน ทำให้ประชวร ต่อมาจึงทรงใช้งอบแบบที่คนอยุธยาใช้ ปรากฏว่าใส่สบาย

 

ภายหลังเมื่อเสด็จไปอยุธยา หรือหัวเมืองต่างๆ ก็ทรงสวมงอบไปตลอด สะท้อนเห็นภูมิปัญญาของคนไทยในการประดิษฐ์เครื่องใช้ต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพวิถีชีวิตจริง

 

เครื่องจักสานของภาคกลางส่วนใหญ่ นิยมนำไม้ไผ่มาเป็นวัสดุ โดยขึ้นรูปโครงจากหวาย เนื่องจากไผ่เป็นพืชท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อภาคตะวันตก ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นป่าเขา จะพบต้นไผ่ขึ้นตามธรรมชาติจำนวนมาก

 

แหล่งผลิตครื่องจักสานที่สำคัญในภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดอ่างทอง จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอยุธยา ซึ่งจะพบว่าตามฝั่งถนนที่ใช้เป็นเส้นทางไปภาคเหนือ จะพบร้านจำหน่ายเครื่องสานจำนวนมาก อาทิ ฝาชี กระบุง ตะกร้า เป็นต้น

 

ในจังหวัดอ่างทองก็มีกลุ่มจักสานไม้ไผ่ ที่ตำบลบางเจ้าฉ่า ซึ่งมีชื่อเสียงมาก ในฝีมือการสานกระเป๋าได้อย่างละเอียดประณีต ส่วนจังหวัดอยุธยา มีชื่อเสียงมากในการสานปลาตะเพียนโมบาย

 

ปัจจุบัน เครื่องจักสานภาคกลางของประเทศไทย กลายเป็นสินค้าที่สามารถออกส่งไปยังต่างประเทศ ทั้งในยุโรป และอเมริกา ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภท ตะกร้า ภาชนะต่างๆ กล่องกระดาษทิชชู่

 

รวมถึง พัด ที่เป็นงานจักสานประยุกต์อีกชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงมานานแล้ว โดยสานจากตอกไม้ไผ่เป็นลายพื้นฐานต่างๆ หรือลายยกดอก แล้วขึ้นรูปตัวพัดเป็นรูปร่างต่างๆ อาทิ รูปไข่ รูปใบโพธิ์ รูปเพชร อาจจะย้อมสีพัดเพิ่มเติมเพื่อความสวยงาม หรือไม่ลงสีก็ได้

 

เครื่องจักสาน จึงถือเป็นงานหัตถกรรมที่สำคัญของคนภาคกลาง ตั้งแต่การนำมาใช้สอยในชีวิตประจำวัน จนถึงการผลิตเป็นสินค้า จนกลายอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

จระเข้ในวัฒนธรรมไทย

คนไทยแต่โบราณมีความคุ้นเคยกับจระเข้และปรับตัวให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ ไม่ได้มองว่าเป็นสัตว์ร้ายที่มีแต่ความน่ากลัว ด้วยจระเข้และคนต่างก็พึ่งพาสายน้ำเหมือนกัน ซึ่งก็ยึดหลักว่าต้องไม่มาเบียดเบียนซึ่งกันและกัน

 

ในยามที่จระเข้หิวและออกล่าอาหารนั้น มนุษย์เองก็ต้องระวังตัวไม่ให้จระเข้มาทำร้าย มีการเรียนรู้ฝึกฝนความชำนาญในการป้องกัน จับ แม้กระทั้งการปราบจระเข้ จนพัฒนาเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่ง และเรียกผู้สามารถปราบจระเข้ได้ว่า หมอจระเข้ 

 

หมอจระเข้ คือผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะตัวเรื่องวิชาอาคมในการจัดการจระเข้ ถือเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความจำเป็นในสังคมไทยที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง แม้ในราชสำนักก็ยังคงมีหมอจระเข้หลวง เนื่องจากพระมหากษัตริย์มีพระราชกรณียกิจที่ต้องเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคอยู่บ่อยครั้ง จึงต้องมีเรือหมอจระเข้ร่วมอยู่ในขบวนด้วย

 

การพระราชพิธีที่ต้องประกอบขึ้นที่ริมฝั่งน้ำ อาทิ พระราชพิธีลอยพระประทีป พระราชพิธีลงสรง จะมีการตั้งหมอจระเข้หลวงคอยรักษาการอยู่ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มีเหตุร้ายเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีหมอจระเข้ชาวบ้านที่เรียกว่า หมอจระเข้เชลยศักดิ์ เป็นผู้มีคาถาอาคมอยู่ตามชุมชนต่างๆ

 

ความคุ้นเคยกับจระเข้ของคนไทยนั้น ได้สร้างความประหลาดใจให้กับชาวตะวันตก จนมีการบันทึกไว้ในเอกสารจดหมายเหตุของ บาทหลวงตาชาร์ด สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่แสดงความสงสัยว่าชาวสยามใช้ชีวิตอยู่กับสัตว์ร้ายชนิดนี้ได้อย่างไร หากเป็นคนฝรั่งเศสก็คงไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้

 

จระเข้อยู่ในวัฒนธรรมไทยมากมายหลายด้าน ในตำนานที่จระเข้เข้ามามีบทบาท ได้แก่ เรื่องตากับยายเลี้ยงลูกตะเข้ หรือตำนานเรื่องลูกตะเข้เนรคุณจนเกิดเป็นคำพังเพยติดปาก เลี้ยงลูกเสือลูกตะเข้ ด้วยความที่จระเข้เป็นสัตว์ดุร้าย จึงนำไปเปรียบกับความร้ายกาจความเนรคุณของคน

 

มีการนำจระเข้มาเป็นตัวละครในนิทานพื้นบ้านหรือแม้แต่วรรณคดีมรดกบางเรื่อง เช่น เรื่อง ไกรทอง เป็นเรื่องของหมอจระเข้หนุ่มชื่อ ไกรทอง รับอาสาไปปราบพญาจระเข้ชื่อ ชาละวัน ซึ่งมีการกล่าวถึงเทคนิคและวิธีต่างๆ ของหมอจระเข้ใช้ในการปราบจระเข้ด้วย

 

ในเรื่อง ขุนช้างขุนแผน มีตอนที่ชื่อว่า จระเข้เถรขวาด เป็นเรื่องของเถรขวาดที่ถูกนางสร้อยฟ้าร้องขอให้ช่วยแก้แค้นพลายชุมพลลูกชายของขุนแผน ซึ่งก็แปลงกลายลงมาเป็นจระเข้มาอาละวาดในเมือง ร้อนถึงพลายชุมพลซึ่งมีวิชาอาคม ต้องกลายมาเป็นหมอจระเข้ลงไปปราบจระเข้เถรขวาด 

 

ในศิลปะไทยก็พบจระเข้ปรากฏอยู่ในหลายๆ แห่ง โดยเฉพาะในภาพจิตรกรรมฝาพนังเกี่ยวกับสายน้ำ ก็จะมีรูปจระเข้รวมอยู่ หรือแม้กระทั้งจระเข้ที่เป็นสัตว์พาหนะของพระวรุณ เทพเจ้าแห่งน้ำและสายฝนในศาสนาพราหมณ์ เห็นได้จากบานหน้าต่างพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม ธงจระเข้เป็นคติความเชื่อหนึ่งในพระพุทธศาสนา ปักเอาไว้ริมตลิ่งของวัด เพื่อบ่งบอกว่าวัดนี้รับกฐินแล้ว ในเรื่องดนตรีไทย เรายังพบเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งหน้าตาเหมือนจระเข้ เรียกว่า จะเข้ และมีเพลงไทยที่ชื่อว่า จระเข้หางยาว อีกด้วย 

 

ในสำนวนไทย อาทิ จระเข้คับคลอง จระเข้ขวางคลอง ลิ้นจระเข้ หรือจระเข้ในฐานะชื่อบ้านนามเมืองของไทย ตัวอย่างเช่น บ้านห้วยจระเข้ ในจังหวัดนครปฐม มีแม่น้ำชื่อ จระเข้สามพันธุ์ ซึ่งแม่น้ำโบราณแถบจังหวัดสุพรรณบุรี ย่าน ดาวคะนอง ซึ่งได้ชื่อมาจากการที่จระเข้มาอาละวาดในสมัยหนึ่ง ตำบล จระเข้ร้อง ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจังหวัดอ่างทอง

 

เหล่านี้เป็นเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับจระเข้ที่มีความเกี่ยวพันกับชีวิตไทยเรามาตั้งแต่โบราณ ยังมีกลุ่มดาวจระเข้ที่คนเอาไปแต่งสักวา คือ สักวาดาวจระเข้ เป็นความเชื่อที่รับมาจากดาราศาสตร์แผนหนึ่งของชาวอินเดีย ซึ่งก็ไปปรากฏในวรรณคดีอีกหลายเรื่อง 

น้ำดื่มของคนไทย

วันที่ออกอากาศ: 6 พฤษภาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

น้ำ ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต มนุษย์จึงเลือกตั้งชุมชนที่มีถิ่นฐานใกล้แหล่งน้ำจืดเพื่อนำน้ำมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค โดยมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์รู้จักพัฒนาภูมิปัญญาการจัดการน้ำและการชลประทานขั้นพื้นฐานเพื่อให้มีปริมาณน้ำดื่มน้ำใช้เพียงพอต่อความต้องการของคนในสังคม อาทิ การสร้างอ่างกักเก็บน้ำ การสร้างเขื่อน การทำฝาย การขุดคูคลองสำหรับส่งน้ำ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังมีภูมิปัญญาในเรื่องการจัดการแหล่งดื่มที่มีความใสสะอาดเพียงพอ ทั้งวิธีการกรองน้ำผ่านบ่อทราย การพักน้ำให้เกิดการตกตะกอน และการหมุนเวียนของกระแสน้ำ ตลอดจนภูมิปัญญาในการรักษาความสะอาดของแหล่งน้ำเพื่อไม่ให้เกิดสิ่งปฏิกูลต่างๆ ในน้ำ

 

ภูมิปัญญาการจัดการน้ำสะอาดสำหรับบริโภคนั้น พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่นับย้อนไปได้ถึงสมัยสุโขทัย หลักฐานลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดคือ ศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้กล่าวถึงการสร้างตะพังโพยในเมืองสุโขทัย ซึ่งเป็นสระน้ำสาธารณะสำหรับเก็บน้ำสะอาดไว้อุปโภคบริโภค ดังกรากฏข้อความว่า

 

มีตะพังโพยสีใสกินดี ดั่งกินน้ำโขงเมื่อแล้ง

 

แหล่งน้ำดื่มของเมืองสุโขทัยมาจากการนำน้ำจากเทือกเขาทางทิศตะวันตกของตัวเมือง ซึ่งทำเป็นทำนบสำหรับกักเก็บน้ำฝนจากเทือกเขาไว้ ชื่อว่า ทำนบพระร่วง หรือ สรีดภงส์ โดยทดน้ำที่อยู่เหนือทำนบนั้นส่งมายังตัวเมืองทางคลองส่งน้ำชื่อว่า คลองเสาหอ แล้วจึงทดน้ำเข้าไปยังตะพังโพยด้วยระบบท่อประท่อที่ทำจากวัสดุสังคโลก การส่งต่อน้ำให้ไหลลงมาเป็นทอดๆ แบบนี้จะทำให้เกิดน้ำที่ใสสะอาดเพียงพอต่อการดื่มกินและชำระร่างกาย 

 

ต่อมาในสมัยอยุธยา ที่ตั้งของราชธานีมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านทำให้มีแหล่งน้ำใช้บริบูรณ์ แต่น้ำจากแม่น้ำที่เรียกว่า น้ำท่านั้น ไม่ใสสะอาดเท่าน้ำฝนอย่างในเมืองสุโขทัย จึงใช้ภูมิปัญญาการจัดหาน้ำสะอาดที่แตกต่างกัน

 

ตามบันทึกของซีมง เดอ ลา ลูแบร์ บุคคลในคณะทูตฝรั่งเศสที่ได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวว่าประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมอยุธยามีกรรมวิธีทำให้สะอาดด้วยการตักน้ำจากแหล่งน้ำขึ้นมาพักไว้ในภาชนะใบใหญ่ เช่น ตุ่ม หรือ ครุ ประมาณ 3-4 สัปดาห์เพื่อให้เกิดการตกตะกอน แล้วจึงได้น้ำใสสำหรับการอุปโภค ถ้าหากจะนำมาบริโภคเป็นน้ำดื่มจะต้องผ่านการต้มอีกครั้ง

 

ซึ่งตรงกับหลักฐานของชาวตะวันตกชาติอื่นๆ ที่กล่าวถึงวัฒนธรรมการดื่มน้ำของผู้คนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่านิยมการบริโภคน้ำดื่มที่ผ่านการต้มสุกมาแล้ว

 

สิ่งที่น่าสนใจในวัฒนธรรมการดื่มน้ำของคนไทยอีกประการหนึ่ง คือ เรื่องแหล่งตักน้ำของราชสำนัก สำหรับใช้เป็นน้ำเสวยของพระมหากษัตริย์ เนื่องจากมีจารีตหรือกฎเกณฑ์ที่กำหนดเป็นราชประเพณีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาว่าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงดื่มน้ำที่มีเลนหรือตม

 

ดังนั้น น้ำเสวยสำหรับพระมหากษัตริย์อยุธยาจะต้องตักน้ำจากแม่น้ำขนาดใหญ่ มิใช่แหล่งน้ำตื้น ซึ่งธรรมเนียมนี้ยังคงปฏิบัติสืบมายังในสมัยรัตนโกสินทร์

 

อย่างเช่นในสมัยรัชกาลที่ 4  ทรงโปรดเสวยน้ำที่ตักจากบริเวณจุดบรรจบของแควน้อยกับแควใหญ่หน้าเมืองกาญจนบุรี ตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5  ว่ารัชกาลที่ 4 มีพระราชนิยมว่าน้ำบริเวณที่เป็นจุดกำเนิดแม่น้ำแม่กลองนี้เป็นน้ำที่ดื่มแล้วปราศจากโทษ

 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเสวยน้ำที่ตักมาจากแม่น้ำเพชรบุรี ทรงให้กรมการเมืองคุมการตักน้ำใส่โอ่งใบใหญ่ลำเลียงทางเรือส่งเข้ามาในกรุงเทพฯ ครั้งละจำนวนมาก เพื่อนำมาพักไว้ใช้เป็นน้ำสำหรับเสวย

 

จนกระทั่งราว พ.ศ. 2465 ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อทรงเริ่มกิจการการประปาในกรุงเทพฯ แล้ว พบว่าน้ำประปาเป็นน้ำผ่านกระบวนการทำให้สะอาดที่ดีที่สุด จึงได้ยกเลิกธรรมเนียมการตักน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีมาใช้เสวย แต่ยังคงใช้ในพระราชพิธีสำคัญๆ เช่น พระบรมราชาภิเษก การสรงพระมูลธาภิเษกของพระมหากษัตริย์ เป็นต้น

ทำอย่างไรให้ลูกมีความสนใจวรรณคดีไทย

วันที่ออกอากาศ: 21 ธันวาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

วรรณคดีไทย เป็นหนึ่งในวิชาพื้นฐานสำหรับผู้ที่ศึกษาในหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต ซึ่งความคาดหวังของสังคมไทยที่มีต่อบัณฑิตอักษรศาสตร์ไม่ใช่เพียงความรู้ทางด้านภาษา แต่ยังรวมถึงความรู้ด้านวรรณคดี โดยเฉพาะวรรณคดีไทยที่นำไปสู่การเห็นคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมไทย รากเหง้าทางด้านภาษา รวมถึงความเข้าใจพื้นฐานต่อการศึกษาศิลปะไทยแขนงต่างๆ อาทิ จิตรกรรม สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ คนที่เลือกเรียนในสาขาอักษรศาสตร์รวมถึงทางด้านมนุษยศาสตร์สาขาอื่นๆ ควรทำความเข้าใจถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมไทย โดยไม่เอามาตรฐานของคนปัจจุบันไปวัดคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีต

 

การมองเห็นคุณค่าของวรรณคดีไทยและมรดกทางวัฒนธรรมไทยแขนงอื่นๆ จำเป็นต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งพ่อแม่ต้องเห็นความสำคัญ ยอมสละเวลาของตัวเอง และมีความรู้พอเข้าใจที่จะอธิบายให้ลูกฟังได้ รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจต่อวรรณคดีไทย

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเด็กไปร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวข้องกับวรรณคดีไทยที่เป็นพื้นฐานของศิลปวัฒนธรรม อาทิ พาไปชมการแสดงโขน ซึ่งการแสดงโขนในปัจจุบัน โดยเฉพาะโขนพระราชทานที่จัดแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีการนำเทคนิคพิเศษสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชม เรื่องที่นำมาใช้แสดงก็คือรามเกียรติ์ เป็นเรื่องราวแนวจินตนาการและมีตัวละครที่มีสีสัน ทั้งยักษ์ วานร เทพเจ้า มีการต่อสู้เหาะเหินอากาศ ซึ่งน่าจะเรียกความสนใจจากเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี

 

หรือการพาเที่ยวชมวัดที่มีภาพจิตรกรรมฝาฝนังสวยๆ  อย่างภาพรามเกียรติ์ที่ระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามซึ่งมีคำอธิบายสั้นๆ ประกอบภาพด้วย ซึ่งช่วยกระตุ้นความสนใจให้แก่เด็กได้อีกทางหนึ่ง

 

เมื่อเด็กเกิดความสนใจแล้วจึงช่วยส่งเสริมให้เด็กเข้าใจเรื่องราวในวรรณคดี ซึ่งอาจเริ่มต้นจากพ่อหรือแม่อ่านเนื้อหาให้เด็กๆ ฟังพร้อมอธิบายเรื่องราวต่างๆ หรือส่งเสริมให้เด็กเริ่มต้นอ่านหนังสือด้วยตัวเอง ซึ่งเด็กๆ คงไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาได้ทั้งหมด แต่ก็พอที่จะจดจำภาพลักษณ์ของตัวละครต่างๆ เหตุการณ์สำคัญๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะนำไปใช้ศึกษาหาความรู้ความเข้าใจต่อไปได้ในอนาคต วรรณคดีไทยสำคัญๆ ที่ควรส่งเสริมให้เด็กได้อ่าน ได้แก่ รามเกียรติ์ ลิลิตพระลอ พระอภัยมณี สามก๊ก เป็นต้น 

 

การส่งเสริมให้เด็กๆ ได้อ่านวรรณคดีไทยจะช่วยให้เด็กซึมซับเรื่องของการใช้ภาษาไทย ซึ่งวรรณคดีไทยถือเป็นแบบอย่างของการใช้ภาษาไทยที่สละสลวย และเป็นตัวอย่างของรูปแบบการเขียนในลักษณะต่างๆ ทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง กาพย์ ฉันท์ โคลง กลอนต่างๆ

 

นอกจากนี้ วรรณคดียังแฝงไว้ซึ่งความรู้ คติธรรม คำสอนต่างๆ อย่างเช่นในเรื่องรามเกียรติ์ที่เป็นบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ทรงแฝงคติธรรมและคติทางการเมืองการปกครองของกษัตริย์ ซึ่งยังคงเป็นสำนวนที่ติดปากคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงความรู้เรื่องกลศึกยุทธศาสตร์ เชาว์ไหวพริบ การเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่างๆ 

ปลาในวัฒนธรรมไทย

ปลา เป็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่งที่คนไทยคุ้นเคยมาตั้งแต่โบราณ และมีบทบาทในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทยมากมาย ปลาถือเป็นอาหารหลักของคนไทย เพราะคนไทยโบราณนิยมปลูกบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง ข้าวที่กินก็ปลูกกันในนา ส่วนกับข้าวก็หาจับเอาสัตว์ในแม่น้ำ จนเกิดเป็นสำนวนไทยว่า ข้าวปลาอาหาร หรือ กินข้าวกินปลามารึยัง ซึ่งเป็นคำทักทายที่ติดปากผู้ใหญ่เมื่อลูกหลานมาเยี่ยม

 

แม้แต่สำนวนที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ก็แสดงให้เห็นว่า ปลาเป็นอาหารหลักคู่กับข้าวและคู่กับครัวของคนไทยมาเนิ่นนาน 

 

ใน คำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่ง ได้กล่าวถึงกรุงอยุธยาว่ามีตลาดอยู่ทั่วทุกมุมเมือง ปลาเป็นสินค้าที่มีขายอยู่ทั่วไป มีที่ขายเป็นปลาสดและที่ถนอมอาหารขายเป็นปลาตากแห้ง ทั้งปลาแม่น้ำและปลาทะเล ซึ่งคนไทยก็สามารถนำปลามาทำอาหารได้นานาชนิด

 

ปลายังปรากฏอยู่ในคติความเชื่อปรัมปราของคนไทย ในเรื่องไตรภูมิทีกล่าวถึงภูมิศาสตร์ตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ใต้พื้นแผ่นดินทั้ง 4 ทวีป ซึ่งอยู่รอบเขาพระสุเมรุนั้น มีปลาใหญ่ที่ชื่อว่า อานนท์ หรือ อานันตะ หนุนพื้นทวีปอยู่ กล่าวกันว่าทุกครั้งที่ปลาอานนท์พลิกตัว จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวหรือคลื่นยักษ์ขึ้น เราสามารถเห็นรูปปลาอานนท์ตามจิตรกรรมฝาผนังภาพไตรภูมิ 

 

ในงานศิลปะทั้งภาพจิตรกรรมและภาพแกะสลักที่เกี่ยวข้องกับสายน้ำ จะต้องมีภาพปลานานาชนิดอยู่ในนั้นด้วย เช่น ภาพโลกสัณฐานในวัดสุทัศน์เทพวนาราม ซึ่งมีปลานานาชนิดในมหาสมุทร หรือในศิลปะพื้นบ้านก็มี ปลาตะเพียนสาน ซึ่งนิยมแขวนไว้เหนือเปลให้เด็กมองดูเวลานอน 

 

นอกจากนี้ ในวรรณคดีและนิทานพื้นบ้านก็มีปลาเป็นตัวละครอยู่หลายเรื่อง อย่าง นางสุวรรณมัจฉา ในเรื่องรามเกียรติ์ ปลาบู่ทอง ในนิทานพื้นบ้าน หรือปลากรายทองที่เป็นร่างอวตารของพระนารายณ์ ในเรื่องลิลิตนารายณ์สิบปาง เรียกว่า ปางมัตสยาวตาร ในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ก็มี นางเงือก เป็นตัวละครหลัก หรือในเรื่องสังข์ทอง ตอนที่ท้าวสามลให้เขยแข่งกันหาปลา เป็นต้น

 

สมเด็จเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง ทรงนิพนธ์ตอนหนึ่งในกาพย์เห่เรือเป็นบทชมปลา บทเริ่มต้นจาก พิศพรรณปลาว่ายเคล้า คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์ มัตสยายังรู้ชม สาสมใจไม่พามา แล้วจากนั้นก็ยกชื่อปลามาเปรียบกับนางที่เป็นที่รัก อย่างทรงเห็นปลาตะเพียนทอง ก็ต่อด้วย เพียนทองงามดั่งทอง ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย กระแหแหห่างชาย ดั่งสายสวาทคลาดจากสม

 

นอกจากนี้ บทเห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้ง มีการกล่าวถึงปลาพันธุ์หายากหลายชนิด ก็เป็นแรงบันดาลใจให้กรมประมงไปจัดสร้างศูนย์แสดงพันธุ์ปลาน้ำจืดหายากทั่วประเทศด้วย

 

ในสุภาษิตไทยก็ข้องเกี่ยวกับปลามากมาย เช่น หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว ปลาข้องเดียวกันเน่าตัวเดียวก็เหม็นทั้งข้อง ปลาตกน้ำตัวโต ปลาติดร่างแห ปลาหมอตายเพราะปาก ปลาหมอแถกเหงือก ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ปลากระดี่ได้น้ำ พวกใจปลาซิว เป็นต้น

 

แล้วยังมีปลาในฐานะชื่อบ้านนามเมือง อย่าง มีนบุรี ซึ่งเคยเป็นจังหวัดมาก่อน มีน แปลว่าปลา หรือ บางปลาสร้อย ชื่อเดิมของเมืองชลบุลี หรือ บางปลาม้า เป็นอำเภอในสุพรรณบุรี บางปลากรด ในสมุทรปราการ หนองปลาดุก ในราชบุรี 

 

ทั้งหมดนี้ เป็นหลักฐานที่แสดงว่า ปลา ผูกพันกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน และในหลากหลายมิติและบทบาท

พันธุ์ไม้ดอกกลิ่นหอมในวัฒนธรรมไทย

วันที่ออกอากาศ: 18 สิงหาคม 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์    

 

 

การคัดเลือกพันธุ์ไม้ถือเป็นภูมิปัญญาไทยของคนโบราณอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะการเลือกไม้ดอกที่มีกลิ่นหอมเพื่อมาปลูกในบริเวณบ้าน เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี หรือการใช้กลิ่นหอมในการบำบัดรักษาโรคหรือบำรุงสุขภาพ เมื่อลมพัดมาในบริเวณบ้านจะเกิดกลิ่มหอมในตอนเย็นที่คนนิยมมานั่งเล่นนอกหรือรับประทานอาหาร กลิ่นหอมของดอกไม้ยังช่วยให้คนในบ้านนอนหลับสนิท 

 

ภูมิปัญญาเกี่ยวข้องดอกไม้หอมปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง อาทิ ขุนช้างขุนแผน ตอนที่ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ปรากฏความว่า

 

โจนลงกลางชานร้านดอกไม้ ของขุนช้างปลูกไว้อยู่ดาษดื่น รวยรสเกสรเมื่อค่อนคืน ชื่นชื่นลมชายสบายใจ

 

แสดงว่าขุนช้างปลูกดอกไม้ไว้หลายชนิด จากนั้นมีความต่อด้วยชื่อดอกไม้อีกหลายชนิด ซึ่งสะท้อนให้แสดงถึงพันธุ์ไม้ดอกกลิ่นหอมต่างๆ ที่คนไทยนิยมปลูกในบ้านเรือน

 

ในวรรณคดีอิเหนาได้สะท้อนแนวคิดที่ว่าไม้ดอกกลิ่นหอมแต่เดิมไม่ได้ปลูกอยู่ในบ้านเรือน โดยมักกล่าวถึงท้าวพระยามหากษัตริย์ทั้งหลายที่เสด็จประพาสป่าชมดอกไม้ต่างๆ ดังนั้นไม้ดอกเหล่านี้จึงมีถิ่นเดิมอยู่ในป่า แล้วจึงค่อยมีคนนำออกมาปลูกในภายหลัง 

 

มีข้อสังเกตว่าไม้ดอกกลิ่นหอมที่คนไทยนิยมนำมาปลูกกันในครัวเรือน มักเป็นดอกไม้สีขาว ทั้งนี้ในทางพฤกษศาสตร์ดอกไม้สีขาวส่วนใหญ่จะมีกลิ่นหอมกว่าดอกไม้สีอื่นๆ มีภูมิปัญญาในการเลือกสรรดอกไม้ที่ส่งกลิ่นหอมในช่วงเวลาแตกต่าง บางชนิดส่งกลิ่นหอมเฉพาะกลางวัน บางชนิดจะหอมมากในช่วงกลางคืน ตัวอย่างเช่น ชมนาศ ราตรี ซ่อนกลิ่น ดอกแก้ว เป็นต้น  

 

ข้อแนะนำในการปลูกดอกไม้กลิ่นหอมของไทยในบ้าน ควรต้องศึกษาช่วงเดือนที่ดอกไม้ส่งกลิ่นด้วย เพื่อจะได้รับกลิ่นดอกไม้สลับสับเปลี่ยนกันไปทั้งปี รวมถึงลักษณะความหอมและสรรพคุณต่างๆ ของดอกไม้ อาทิ ดอกพุดซ้อนมีกลิ่นหอมเย็น ดอกมะลิซ้อนหรือมะลิเรื้อยอย่างมะลิลาจะให้กลิ่นหอมอ่อนๆ ในทางวิทยาศาสตร์ยังพบว่าดอกมะลิมีประโยชน์ต่อการบำรุงหัวใจ ดอกเขี้ยวกระแตมีกลิ่นหอมแรง ดอกเล็บมือนางมักมีแมลงอย่างหนอนและมดขึ้นเยอะต้องหมั่นดูแล  ดอกเข็มสีขาวหรือที่เรียกว่าดอกเข็มอุนากันเป็นดอกไม้อีกชนิดที่หอมตอนกลางคืน

 

นอกจากนี้ หากบ้านมีบริเวณกว้างภูมิปัญญาไทยโบราณแนะนำให้ปลูกไม้ดอกไว้ตามมุมต่างๆ เพื่อให้สามารถรับกลิ่นหอมได้ เช่น เมื่อออกมานั่นเล่นก่อนนอนหรือรับประทานข้าวเย็น ลมพัดก็พัดโชยกลิ่นดอกไม้หอมมา หรือหลังจากเข้านอนก็สามารถเปิดหน้าต่างรับกลิ่นดอกไม้ ซึ่งจะช่วยให้นอนหลับสนิท 

 

การปลูกไม้ดอกกลิ่นหอมในภูมิปัญญาไทยโบราณ มีวิธีรักษาบำรุงต้นไม้ให้เจริญงอกงามโดยไม่ต้องใช้สารเคมี แต่จะใช้วิธีทางธรรมชาติ อย่างเช่นการปลูกไม้ดอกตระกูลมะลิให้ออกดอกดกต้องหมั่นรดน้ำพรวนดิน ภูมิปัญญาโบราณกล่าวว่า น้ำซาวข้าว น้ำล้างปลา กุ้ง รวมถึงก้างปลา เกล็ดปลา เปลือกกุ้งต่างๆ เป็นปุ๋ยบำรุงต้นอย่างดี และต้องหมั่นเด็ดใบเสียทิ้ง จะช่วยในต้นมะลิออกดอกดกตลอดทั้งปี

 

การบำรุงรักษาดอกบัวก็ต้องหมั่นตัดใบทิ้ง โดยเฉพาะหลังจาการตัดดอกไปแต่ละรุ่น  สมัยก่อนจะทำการ บ้าใบ โดยลงเดินย่ำใบบัวและดอกที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้ยุบลงไปก้นสระกลายเป็นปุ๋ยและเพื่อให้รากบัวสร้างต้นและดอกใหม่ขึ้นมา เป็นวิธีโบรารณที่ช่วยให้ดอกไม้งอกงามตลอดปี ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่เน้นการใช้ยาฆ่าแมลงซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายเมื่อสูดดมกลิ่นดอกไม้

ภูมิปัญญาเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวและการทำนาของคนไทย

วันที่ออกอากาศ: 27 พฤษภาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

จากหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ มีข้อสันนิษฐานว่าทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าเป็นภูมิภาคแรกในโลกที่ปลูกข้าวเพื่อยังชีพ บรรพบุรุษที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ได้สร้างและสั่งสมภูมิปัญญาการปลูกข้าวมาอย่างยาวนาน ซึ่งต่อมาได้ถ่ายทอดมรดกทางภูมิปัญญาเหล่านี้มาสู่ชนรุ่นหลัง โดยคนโบราณที่อาศัยในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันก็ได้รับเอาภูมิปัญญาการปลูกข้าวมาด้วยเช่นกัน

 

ในหลักฐานเกี่ยวกับการปลูกข้าวเก่าที่สุดในประเทศไทยเป็นร่องรอยแกลบข้าวเหนียวบริเวณภาคเหนือและอีสาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คนในบริเวณนี้รู้จักและนิยมปลูกพันธุ์ข้าวเหนียว ก่อนที่จะหันมานิยมปลูกข้าวเจ้าในช่วงเวลาต่อมา ภูมิปัญญาในการปลูกข้าวที่คนโบราณได้รับมรดกมาแล้วสืบทอดมายังคนรุ่นปัจจุบัน สามารถจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

 

ภูมิปัญญาการจัดการพื้นที่นา คนไทยมีภูมิปัญญาในการจัดแบ่งประเภทของที่นาตามลักษณะของภูมิประเทศต่างๆ อาทิ นาฟางลอย นาพูกโค นาปรัง นาปี นาน้ำตม นาดำ นาสวน นาไร่ ซึ่งจะมีวิธีการปลูกและการเตรียมพื้นที่แตกต่างกันไป จึงทำให้ชาวนาไทยสามารถปลูกข้าวที่เป็นอาหารหลักได้ในทุกสภาพภูมิประเทศที่มีอยู่ในดินแดนไทย ทั้งบนภูเขา ที่ราบสูง ที่ดอน พื้นที่ลุ่ม แม้แต่พื้นที่ที่น้ำท่วมอยู่ทิตลอดเวลาหรือบริเวณที่เป็นน้ำกร่อย 

 

ภูมิปัญญาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เนื่องจากน้ำมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปลูกข้าว ซึ่งจะต้องเตรียมน้ำให้เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวหรือหล่อเลี้ยงต้นข้าวไว้ คนไทยตั้งแต่ยุคโบราณก็มีภูมิปัญญาในการชักน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งบนที่สูงและในที่ราบเข้ามาสู่ที่นา แม้แต่การทำนาบนภูเขาในลักษณะนาขั้นบันไดก็ยังสามารถแสวงหาแหล่งน้ำจากบนภูเขา เช่น ตาน้ำ ห้วย ลำธารต่างๆ มาใช้หล่อเลี้ยงพื้นที่นา นอกจากนี้ การทำคลองส่งน้ำ คัน คู ระหัดวิดน้ำ เพื่อชักน้ำและส่งน้ำเข้ามาสู่ที่นาก็เป็นภูมิปัญญาอีกลักษณะหนึ่ง  

 

ภูมิปัญญาในเรื่องพันธุ์ข้าว ชาวนาไทยตั้งแต่สมัยโบราณมีภูมิปัญญาในการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเพาะปลูกในแต่ละสภาพพื้นที่ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศและปริมาณน้ำ อาทิ การใช้พันธุ์ข้าวที่มีลำต้นสูงมาปลูกในพื้นที่น้ำท่วม การใช้พันธุ์ข้าวที่ต้องการน้ำน้อยมาปลูกในนาไร่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรู้จักผสมพันธุ์ข้าวให้ได้ข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีคุณภาพดีขึ้น ทนทานต่อโรคและศัตรูพืช หรือให้ปริมาณผลผลิตสูงขึ้น

 

ปัจจุบันกรมการข้าวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถรวบรวมรายชื่อพันธุ์ข้าวที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทยในภูมิภาคต่างๆ ได้นับร้อยสายพันธุ์ อาทิ พันธุ์ข้าวขาวอย่างขาวตาแห้ง ขาวน้ำค้าง ขาวบุญมา ขาวเศรษฐี พันธุ์ข้าวหอมอย่างหอมมะลิ หอมไชยา พันธุ์ข้าวท้องถิ่นอย่างข้าวเขี้ยวงูในภาคเหนือและอีสาน ข้างสังหยดในภาคใต้ เป็นต้น

 

ภูมิปัญญาเรื่องวิธีการปลูกข้าว ภูมิปัญญานี้ครอบคลุมตั้งแต่การเตรียมพื้นที่จนถึงการเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีการมากมาย เช่น รู้จักการไถในหลายๆ แบบตั้งแต่การไถดะ ไถรี ไถขวาง หรือไถกลบ วิธีการหว่านเมล็ดพืช สำหรับข้าวบางชนิดต้องทำแปลงตกกล้าก่อนแล้วจึงนำต้นกล้าไปปักดำ วิธีการรักษาดูแลเมื่อข้าวออกรวง  รู้จักวิธีจัดการกับศัตรูพืชและโรคพืชชนิดต่างๆ ตลอดจนการจัดหาและผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ที่เพิ่มประสิทธิภพในการทำนา อาทิ คันไถ เคียว เป็นต้น

 

นอกจากนี้แล้ว คนโบราณยังมีภูมิปัญญาในการนำพิธีกรรมความเชื่อมาประกอบการทำนา เพื่อใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ อันเนื่องมาจากสภาพการดำรงชีวิตที่ต้องพึ่งพาฟ้าฝนในการเพาะปลูกข้าว ซึ่งเป็นปัจจัยเหนือการควบคุม จึงได้ประกอบพิธีกรรมในทุกๆ ขั้นตอนของการปลูกข้าว อาทิ พิธีแรกนาขวัญในช่วงการเตรียมที่นา พิธีทำขวัญข้าวในช่วงข้าวออกร่วง พิธีลาซางในช่วงหลังการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ เพื่อความสบายใจว่าจะสามารถได้ผลผลิตเพียงพอในแต่ละปี 

มะพร้าวในวิถีชีวิตไทย

มะพร้าว มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Cocos nucifera สันนิษฐานว่ามีแหล่งกำเนิดอยู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยก็มีความผูกพันกับมะพร้าวมาช้านาน จากหลักฐานปรากฏในจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1 กล่าวว่า หมากพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ทำให้ทราบว่าคนไทยรู้จักปลูกมะพร้าวมาอย่างน้อยตั้งแต่ยุคสุโขทัย 

 

มะพร้าวถือเป็นต้นไม้เอนกประสงค์ คนไทยรู้จักใช้ประโยชน์จากมะพร้าวมาตั้งแต่รากจรดยอด กล่าวคือ ราก ใช้ทำยา แก้โรคผิวหนัง คลื่นเหียนอาเจียน หรือท้องเสีย ลำต้น ใช้ทำสะพานหรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ใบ ใช้ทำเครื่องจักรสาน ห่อขนม ทางมะพร้าว ใช้ทำไม้กวาด ดอก ให้น้ำหวานที่เรียกว่าน้ำตาลสด เปลือก หรือ กาบ ใช้ทำที่นอน สุมจุดไฟไล่ยุง ขัดพื้นไม้ เนื้อ ใช้ปรุงอาหารนานาชนิดทั้งคาวหวาน กะลา มะพร้าวใช้เป็นเครื่องดนตรี เช่น ซออู้ ใช้ทำเครื่องประดับ หรือทำจานชามได้

 

คนไทยคุ้นเคยกับมะพร้าวและมีภูมิปัญญารู้จักชนิดของมะพร้าว ว่าชนิดไหนใช้ทำอาหารหรือใช้ทำยา อย่างเช่น มะพร้าวแกง เป็นมะพร้าวเนื้อแข็ง สามารถขูดเนื้อไปคั้นกะทิเพื่อใช้ทำแกงได้ มะพร้าวน้ำเค็ม เป็นมะพร้าวที่ปลูกตามชายฝั่งทะเลหรือพื้นที่น้ำทะเลเข้าถึง มีเนื้ออ่อนนุ่ม สามารถใช้ทำขนม เช่น ขนมบ้าบิ่น

 

มะพร้าวพวงร้อย ในหนึ่งทลายมีผลเล็กหลายสิบลูก เป็นมะพร้าวน้ำเค็มชนิดหนึ่ง ใช้ทำขนมได้อร่อย มะพร้าวไฟ  ลูกมะพร้าวมีสีแดง ใช้ทำเป็นยาได้ มะพร้าวน้ำหอม นิยมปลูกไว้ทานน้ำกับเนื้อ แต่ทานได้เฉพาะตอนที่ผลยังอ่อนอยู่

 

นอกจากชนิดของมะพร้าวที่ใช้ทำยาและอาหารแล้ว คนไทยยังรู้จักชนิดมะพร้าวที่นำมาใช้เป็นเครื่องดนตรี คือ มะพร้าวซอ ปลูกบริเวณอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม นิยมนำมาทำซออู้ เนื่องจากอุ้มเสียงได้ดี ลักษณะของกะลามีส่วนที่โป่งออกมา 3 พลู หากได้พันธุ์ดีจะขัดออกมาเป็นสีงาช้าง ใช้ทำกะโหลกซออู้ได้สวยงาม

 

มะพร้าวยังเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในสังคมไทยมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากคนโบราณเห็นว่า มะพร้าวที่มีเปลือกแข็งกลับมีน้ำอยู่ภายใน ซ้ำยังมีรสหวาน จึงเชื่อว่าเป็นผลไม้วิเศษ และถือว่าน้ำมะพร้าวเป็นน้ำบริสุทธิ์ ที่นำมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ตามคติความเชื่อในวิถีของไทยตั้งแต่เกิดจนตาย

 

กล่าวคือ ตั้งแต่ก่อนเกิด หญิงที่ตั้งครรภ์มีความเชื่อว่า ถ้าดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนอยู่เสมอ เด็กทารกที่คลอดจะไม่มีไขมันเกาะตัวมากนัก ทำให้ทารกแข็งแรงและผิวพรรณดี ต่อมาเมื่อเป็นเด็ก ใน พิธีปลงผมไฟ พิธีทำขวัญเดือน พิธีโกนจุก ก็ใช้มะพร้าวประกอบพิธีทั้งหมด พราหมณ์ที่ทำพิธีจะตัดเนื้อมะพร้าวอ่อนป้อนให้เด็กเพราะเชื่อว่าเป็นอาหารมงคล  

 

ตอนจะบวชใน พิธีทำขวัญนาค ผู้ทำขวัญหรือหมอขวัญก็จะตัดเนื้อมะพร้าวอ่อนให้นาครับประทานถือว่าเป็นอาหารมงคลเช่นกัน

 

รวมถึงพิธีกรรมต่างๆ ที่มีการบรวงสรวงสังเวย เช่น พิธียกเสาเอกบ้าน พิธียกศาลพระภูมิ พิธีไหว้ครู มะพร้าวก็ถือเป็นผลไม้ที่ขาดไม่ได้ในพิธี มาจนการแต่งงานก็ใช้มะพร้าวในขบวนขันหมากด้วย

 

จนกระทั่งตอนตาย ในงานพิธีปลงศพ สัปเหร่อจะต้องล้างหน้าศพด้วยน้ำมะพร้าว โดยเอาท่อนฟืนต่อยลูกมะพร้าวแล้วใช้น้ำล้างหน้าศพ 

 

นอกจากนี้ คำว่า มะพร้าว ยังปรากฏอยู่ในสำนวนไทยต่างๆ  เช่น มะพร้าวห้าวเอาไปขายสวน คือ เอาของที่คนมีอยู่แล้วไปให้ หมายถึง การกระทำที่ไม่มีคุณค่าอะไร มะพร้าวห้าวยัดปาก การพูดจาก้าวร้าวที่อาจเป็นภัยแก่ตัว มะพร้าวตื่นดก ยาจกตื่นมี หมายถึงคนที่ไม่เคยมีมาก่อน พอมั่งมีขึ้นมาก็รู้สึกตื่นเต้น มะพร้าวทึนทึก หมายถึงมะพร้าวแก่จัด คนโบราณนำมาใช้เรียกสาวใหญ่ที่ไม่ได้แต่งงาน

สะพานในวัฒนธรรมไทย

วันที่ออกอากาศ: 21 กันยายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

สังคมไทยได้พัฒนาการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำมาช้านานแล้ว ปรากฏหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนใหญ่เป็นสะพานขนาดเล็กซึ่งพบร่องรอยรากฐานและซากของสะพานอยู่พอสมควรตามเกาะเมืองอยุธยา อาทิ สะพานป่าถ่าน ซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองเล็กๆ บริเวณหน้าวัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะ สะพานชีกูล เป็นสะพานข้ามคลองเล็กๆ ในเมือง

 

ทั้งยังพบสะพานอีกหลายแห่งที่ใช้เป็นทางสัญจรข้ามคลองท่อ ซึ่งคลองขุดขวางตัวเมืองอยุธยาเพื่อใช้เป็นทางสัญจรหลักในสมัยนั้น ก็พบร่องรอยของสะพานอยู่ท้ายพระราชวังหลวงที่ได้วางฐานรากและตอหม้ออย่างมั่งคง

 

อย่างไรก็ตาม ในสมัยอยุธยายังไม่พบหลักฐานของการสร้างสะพานขนาดใหญ่เพื่อใช้ข้ามแม่น้ำสายใหญ่ที่มีความไหลเชี่ยว ประการหนึ่ง เนื่องจากการสัญจรทางน้ำสามารถใช้เรือข้ามฟากได้อยู่เป็นปกติ ซึ่งสมัยนั้นมีภูมิปัญญาออกแบบสร้างเรือเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ นับร้อยแบบ

 

ประการต่อมา การสร้างสะพานอาจเป็นอันตรายแก่พระนครหากมีการทำศึกสงคราม ซึ่งข้าศึกอาจใช้ลำเลียงกองทัพช้างศึกข้ามมาได้โดยง่าย

 

เทคโนโลยีการสร้างสะพาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสะพานข้ามแม้น้ำขนาดใหญ่ พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดในยุคปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัยแบบชาติตะวันตกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสังคมไทยได้รับการถ่ายทอดวิทยาการด้านวิศวกรรมเข้ามา

 

นอกจากนี้ ความจำเป็นของแม่น้ำลำคลองในฐานะเส้นทางสัญจรและขนส่งสินค้าได้ลดความสำคัญลงไปมาก แล้วหันมาใช้ถนนเป็นเส้นทางหลักในการขนส่ง ซึ่งมีการตัดถนนเพิ่มขึ้นจากตัวเมืองพระนครไปยังพื้นที่รอบๆ กรุงเทพฯ จึงมีความจำเป็นต้องสร้างสะพานสำหรับขนถ่ายพาหนะใช้ล้อต่างๆ เพื่อข้ามแม่น้ำลำคลอง 

 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้สร้างสะพานขึ้นหลายแห่งโดยนำสถาปัตยกรรมสะพานสวยๆ ในยุโรปมาเป็นต้นแบบ อย่างเช่นสะพานปงอาแล็กซ็องดร์ กรุงปารีส ก็นำมาเป็นต้นแบบของสะพานมัฆวานรังสรรค์ ซึ่งใช้ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม

 

ภายหลังการสร้างสะพานได้กลายเป็นพระราชนิยมของพระมหากษัตริย์และเจ้านายเพื่ออุทิศเป็นสาธารณะประโยชน์ในโอกาสที่เจริญพระชนม์มายุในปีสำคัญๆ โดยมากเป็นสะพานที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า "เฉลิม" ทั้งในคลองผดุงกรุงเกษมและคลองแสนแสบ อาทิ สะพานหัวช้างข้ามคลองแสนแสบ ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่าสะพานเฉลิมหล้า 56 เป็นต้น

 

จากนั้นการจราจรทางถนนก็ทวีความสำคัญมากขึ้น การขยายตัวของกรุงเทพฯ ออกไปทางฝั่งธนบุรี จังหวัดปริมณฑล ไปจนถึงการตัดถนนทางหลวงสายใหญ่เพื่อเชื่อมเส้นทางสัญจรไปยังภูมิภาคต่างๆ จึงมีความจำเป็นในการก่อสร้างสะพานขนาดใหญ่เข้ามาแทนที่แพข้ามแม่น้ำซึ่งต้องเสียเวลาขนส่งมาก สะพานขนาดใหญ่สำคัญๆ จึงเกิดขึ้นมาตามลำดับ

 

เริ่มจากสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเชื่อมฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี อาทิ สะพานพุทธฯ สะพานกรุงธน สะพานกรุงเทพฯ สะพานที่เชื่อมเขตปริมณฑลอย่างสะพานนวลฉวี ซึ่งปัจจุบันเรียกสะพานนนทบุรี จนถึงสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง

 

ปัจจุบัน นอกจากความจำเป็นในการตัดถนนสายใหญ่เชื่อมระหว่างจังหวัดต่างๆ ในประเทศ ยังมีความจำเป็นในการตัดถนนสายใหญ่ข้ามแม่น้ำนานาชาติเพื่อเชื่อมเส้นทางสัญจรกับประเทศเพื่อนบ้านเกิดเป็นสะพานที่เรียกว่า สะพานมิตรภาพ เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ อาทิ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่ใช้ข้ามแม่น้ำโขง สะพานมิตรภาพไทย-พม่า ที่ใช้ข้ามแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำเมย แม่น้ำกก

หมอน

หมอน เป็นเครื่องใช้ประจำวันในครัวเรือน ซึ่งอยู่กับวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่โบราณ โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงธรรมเนียมการใช้หมอนนับย้อนไปไกลได้ถึงสมัยสุโขทัย

 

ในจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง กล่าวถึงประเพณีการทำบุญกฐิน ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงเสด็จพระราชดำเนินไปบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้ากฐินในเขตอรัญญิก และมีการระบุถึงสิ่งของเครื่องใช้ที่นำไปถวายเป็นบริวารผ้ากฐิน โดยมีของใช้ที่เรียกว่า หมอนนั่ง และ หมอนนอน สำหรับถวายแก่พระสงฆ์

 

นอกจากนี้ ในสำนวนไทยก็มีคำว่า ร่วมเรียงเคียงหมอน หมายถึง การร่วมใช้ชีวิตอยู่เป็นครอบครัว ก็เป็นหลักฐานการมีอยู่ของหมอนมาตั้งแต่โบราณ 

 

การใช้หมอนในชีวิตประจำวันถือเป็นวัฒนธรรมสากล แต่ก็มีความแตกต่างของรูปแบบตามแต่ละวัฒนธรรม อย่างเช่น คนจีนนิยมใช้หมอนไม้ เพราะการแพทย์จีนเชื่อว่าการนอนหนุนสิ่งที่อ่อนนุ่มเกินไปส่งผลเสียต่อสุขภาพ หรือหมอนตามแบบตะวันตกที่เรียกว่า Pillow ก็มีลักษณะเหมือนของที่ใช้ในปัจจุบัน

 

ในเชิงวัฒนธรรมนิยมแยกประเภทของหมอนไปตามวัตถุประสงค์การใช้ และบทบาทหน้าที่ของหมอน 
หมอนที่คุ้นเคยที่สุดในวัฒนธรรมไทย คือ หมอนในห้องนอน ซึ่งบนเตียงนอนของคนไทยมีหมอนอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกคือ หมอนหนุน หรือ หมอนนอน ก็คือหมอนที่ใช้หนุนศีรษะสำหรับนอน ปัจจุบันนี้มีลักษณะแบบตะวันตก

 

แต่เดิมหมอนหนุนของไทยเป็นหมอนที่เย็บเป็นฟูกทีละเปลาะ แล้วจึงพับๆ เข้าด้วยกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม นิยมเรียกว่า หมอนหน้าอิฐ ปัจจุบันยังคงเห็นได้ในวัฒนธรรมอีสาน เย็บด้วยผ้าทอลายขิดที่เรียกว่า หมอนขิด ซึ่งนอกจากเป็นหมอนหนุนของคนไทยมาแต่ดั้งแต่เดิม ยังนิยมใช้เป็นหมอนสำหรับถวายพระในเทศกาลงานบุญต่างๆ ด้วย ทั้งยังเป็นของที่ระลึกสำหรับผู้ไปทำบุญ

 

ประเภทที่สองคือ หมอนข้าง ใช้กอดเพื่อความสบายของผู้นอน และใช้ทับชายมุ้งไม่ให้เปิดออก 

 

นอกจากในห้องนอน ยังมีหมอนในห้องนั่งเล่นหรือห้องรับแขกของคนไทย เรียกว่า หมอนอิง แต่นิยมทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสวางไว้ที่พนักเก้าอี้สำหรับพิง ปัจจุบันนี้ ยังเห็นได้เวลาพระมหากษัตริย์ หรือพระราชวงศ์ผู้ใหญ่เสด็จออกในงานพิธีการต่างๆ ที่พระราชอาสน์จะมีหมอนอิงหรือเรียกคำราชาศัพท์ พระเขนยอิง วางถวายไว้เวลาที่ประทับเพื่อความสำราญพระอิริยาบถ

 

หมอนอิงอีกรูปแบบหนึ่งคือ หมอนขวาน ทำเป็นรูปสามเหลี่ยม ซึ่งเดิมคนไทยนั่งบนพื้นกระดานหรือบนตั่ง ก็จำต้องมีหมอนขวานมาอิงสีข้างเพื่อช่วยผ่อนคลายอากัปกิริยา 

 

อีกประเภทหนึ่งคือ หมอนรองนั่ง ใช้หนุนนั่งบนพื้นแข็งๆ ปัจจุบันมักเรียกว่าเบาะรองนั่ง หมอนนั่งมักวางคู่กับหมอนอิง ประกอบกิริยาของคนไทยที่ชอบนั่งๆ นอนๆ บนพื้น ซึ่งปัจจุบันมีการนำหมอนนั่งกับหมอนขวานมาเย็บติดกันเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว

 

นอกจากนี้ มีหมอนอีกลักษณะที่นิยมใช้ในพิธีการต่างๆ ทั้งของหลวงและของราษฎร์ เรียกว่า หมอนรูปฟักทอง อย่างเช่นในพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พระบรมวงศานุวงศ์หรือข้าราชการ ตอนที่จะพระราชทานตัวเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เจ้าพนักงานที่รับผิดชอบการเชิญเครื่องราชฯ ขึ้นทูลเกล้าถวาย จะใช้พานรองหมอนรูปฟักทองสำหรับวางดวงตราหรือสายสะพายบนนั้น

 

ในพิธีศพของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ โดยเฉพาะชั้นสายสะพาย หน้าหีบศพจะมีหมอนรูปฟักทองสำหรับวางเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือสายสะพายที่ได้รับพระราชทานมา

 

ในพิธีประดับยศข้าราชการทหารตำรวจ หรือการประดับเครื่องหมายต่างๆ ก็นิยมใช้หมอนรูปฟักทองรองเครื่องหมายยศหรือเข็มเครื่องหมายที่จะประทานในพิธี ขณะเดียวกันในพิธีมงคลสมรส บางครั้งก็จะใช้หมอนรูปฟักทองสำหรับเจ้าบ่าวเจ้าสาววางมือให้ผู้ใหญ่รดน้ำสังข์ ก็เป็นอีกวัตถุประสงค์หนึ่งของหมอนรูปฟักทอง  

ห้องน้ำในวัฒนธรรมไทย

 

วันที่ออกอากาศ: 11 มีนาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ห้องน้ำในสังคมไทยที่พบเห็นได้ในปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลแนวคิดมาจากสังคมตะวันตก ซึ่งมีการพัฒนานวัตกรรมและวัฒนธรรมการใช้ห้องน้ำมาก่อน โดยคำว่า ห้องน้ำ สันนิษฐานว่านำมาจากคำว่า Washroom หรือ Bathroom ในภาษาอังกฤษ โดยความหมายของห้องน้ำในบริบทของวัฒนธรรมไทยได้รวมลักษณะในการใช้ประโยชน์ 2 กิจกรรมไว้ในห้องเดียวกัน คือ การขับถ่าย และการอาบน้ำ ซึ่งแต่เดิมเราแยกพื้นที่สำหรับ 2 กิจกรรมนี้ออกเป็นส้วมและที่อาบน้ำ

 

ในวัฒนธรรมเดิมของไทยพบหลักฐานการสร้างห้องส้วมเป็นห้องเฉพาะอยู่บ้าง แต่สร้างไว้ให้ใช้สำหรับพระสงฆ์เท่านั้น ซึ่งตามพระธรรมวินัยให้พระสงฆ์ทำกิจกรรมเหล่านี้ในที่มิดชิด การค้นพบร่องรอยของส้วมที่เก่าที่สุดย้อนไปได้ถึงสมัยสุโขทัย ซึ่งปรากฏร่องรอยของฐานสงฆ์ในวัดอาวาสใหญ่ในเขตอรัญญิก เมืองกำแพงเพชร  

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่ได้ครองสมณเพศ ตั้งแต่กลุ่มชนชั้นสูงลงมาจนกระทั่งสามัญชนก็ไม่ได้มีการสร้างห้องส้วมเป็นการเฉพาะ สำหรับชาวบ้านจะใช้ท้องทุ่งหรือแม่น้ำเป็นที่ขับถ่าย แต่ในกลุ่มชนชั้นสูงจะขับถ่ายลงในกระโถน ซึ่งสำหรับพระมหากษัตริย์หรือเจ้านาย จะมีเจ้าพนักงานเย็บใบตองเป็นกระทงเจิมสำหรับรองไว้ที่ก้นกระโถน โดยขับถ่ายในห้องมีฉากกั้นไว้เฉพาะเรียกว่า ที่ลงพระบังคน

 

ส่วนที่สำหรับอาบน้ำนั้น ชาวบ้านทั่วไปที่นิยมปลูกบ้านอยู่ริมน้ำก็มักพากันไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ แต่สำหรับกลุ่มชนชั้นสูงหรือผู้ดีต่างๆ แล้ว จะมีบ่าวไพร่ตักน้ำขึ้นไปให้อาบบนชานเรือนซึ่งมิดชิดมากกว่า 

 

การใช้ห้องน้ำในลักษณะปัจจุบัน เริ่มมีวิวัฒนาการเมื่อกลุ่มชนชั้นสูงได้นำคตินิยมของชาวตะวันตกเข้ามาปรับใช้ในสังคมไทย หากการลองสำรวจพระที่นั่งวิมานเมฆที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 จะพบห้องลงพระบังคนจัดไว้เฉพาะแต่ยังไม่มีโถส้วม แต่ก็พบห้องสำหรับสรง เป็นห้องที่มีอ่างอาบน้ำทำจากทองแดงแต่ยังไม่มีระบบประปา

 

จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที 6 ในพระนิพนธ์ของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ เรื่อง เกิดในวังปารุสก์ ทรงเล่าว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้านายพระองค์แรกๆ ที่มีพระราชนิยมใช้ห้องน้ำแบบตะวันตก โดยโปรดให้สร้างห้องสรงหรือห้องน้ำแบบตะวันตกในพระราชมณเฑียรต่างๆ ที่เสด็จไปประทับ อย่างเช่น พระราชวังบางปะอิน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชวังบ้านปืน พระราชนิเวศมฤคทายวัน พระราชวังพญาไท พระราชวังสนามจันทร์

 

แม้กระทั่งพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นพระราชมณเฑียรที่พระมหากษัตริย์ต้องเสด็จประทับเมื่อแรกพระบรมราชาภิเษก ก็โปรดให้ต่อเติมห้องสรงโดยจัดแอบไว้อย่างกลมกลืนกับงานสถาปัตยกรรมไทยแบบโบราณ ต่อมาพระราชนิยมในเรื่องห้องน้ำแบบตะวันออกจึงได้แพร่หลายในหมู่ชั้นชนสูง ตลอดจนคหบดีและสามัญชนทั่วไป

 

ปัจจุบัน ห้องน้ำถือเป็นสิ่งความสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมไทย ซึ่งสะท้อนการคำนึงถึงหลักสุขอนามัยในการขับถ่ายและชำระร่างกายที่เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่คนไทยมักไม่นิยมสร้างห้องน้ำบนตัวบ้าน เพราะเชื่อว่าการมีห้องส้วมอยู่ในบ้านถือเป็นสิ่งไม่ดี จึงนิยมสร้างห้องน้ำหรือห้องส้วมไว้นอกบ้าน แต่ปัจจุบันมักนิยมสร้างห้องน้ำทุกๆ ชั้นเพื่อความสะดวกในการใช้สอย ทั้งยังให้ความพิถีพิถันในการก่อสร้างเป็นพิเศษจนกลายเป็นห้องที่เป็นหน้าเป็นตาของบ้าน ไม่เพียงแต่ห้องน้ำส่วนตัวเท่านั้น

 

คนในสังคมไทยยังให้ความสำคัญต่อห้องน้ำสาธารณะ ทั้งในเรื่องความสะดวกและความสะอาด อันทำให้สถานีบริการน้ำมัน สถานที่ท่องเที่ยว แม้กระทั่งวัดวาอาราม ยังต้องปรับปรุงสภาพห้องน้ำให้มีความสะอาดและความสะดวกสบายเพื่อตอบสนองผู้มาใช้บริการหรือแวะมาเยี่ยมชม จนได้กลายเป็นจุดขายอย่างหนึ่งของสถานที่นั้นไป

หางเสียงในภาษาไทย

ในวัฒนธรรมไทยมีการใช้หางเสียงในภาษามากมายหลายระดับ ตั้งแต่ระดับราชาศัพท์ เช่น พระพุทธเจ้าค่ะ เพคะ มังคะ ระดับสามัญชนทั่วไป เช่น จ๊ะ จ๋า ค่ะ ขา ครับ ขอรับ หรือแม้แต่หางเสียงในเชิงดูถูก เช่น ย่ะ ยะ หรือ ฮะ มาจนถึงภาษาที่เด็กวัยรุ่นนิยมใช้ในปัจจุบัน เช่น อะ ตามภาษาที่เขียนกันใน facebook หรือห้องแชทต่างๆ

 

สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของไทย ถือเป็นมารยาทในสังคมที่มาจากประสบการณ์การเรียนรู้คนไทยมาตั้งแต่เด็กจนโต การอบรมสั่งสอนจากครอบครัว หรือที่สอนกันในสถานศึกษาต่างๆ

 

อันที่จริง ภาษาของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกกลุ่มล้วนแต่มีการใช้หางเสียง ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมการใช้ภาษาที่สำคัญของคนในภูมิภาคนี้ อย่างเช่นในภาษาอินโดนีเซียจะมีคำลงท้ายว่า กะ เพื่อเป็นการแสดงความสุภาพเหมือนการใช้ ครับ ค่ะ ของไทย

 

ถ้าคนอินโดนิเชียใช้คำ ล่ะ หมายถึงการพูดกับคนที่สนิทสนม ใช้ได้ทั้งหญิงทั้งชาย เหมือนคำว่า จ๊ะ จ๋า ของไทย ในภาษาตะวันตกแม้จะไม่มีคำที่ใช้เป็นหางเสียงตรงๆ แต่ก็ใช้เป็นสำเนียงที่แสดงมารยาทเชิงสุภาพ (polite released) เช่นการคำลงท้ายประโยคด้วย please หรือ sir 

 

ปัจจุบัน คนไทยมักมีการใช้หางเสียงอย่างผิดๆ ทั้งในเรื่องกาลเทศะและบริบทของการพูดคุย อย่างเช่นการใช้หางเสียงของพนักงานขายหรือพนักงานตอบรับทางโทรศัพท์ ที่นิยมใช้หางเสียง จ๊ะ จ๋า กับลูกค้าหรือผู้รับบริการ โดยได้รับการสั่งสอนวิธีการพูดเหล่านี้จากการฝึกอบรมพนักงาน เพื่อเป็นการแสดงความสนิทสนมกับลูกค้าในลักษณะญาติสนิท ซึ่งเป็นการใช้ภาษาที่ผิดมารยาทและขาดความเข้าใจต่อวัฒนธรรมอันดีของสังคมไทย

 

คำว่า จ๊ะ จ๋า เป็นหางเสียงที่แสดงความสนิทสนม มักใช้กับผู้ที่คุ้นเคยกันมาพอสมควร เช่น เป็นคนในครอบครัว คนในละแวกบ้านเดียวกัน หรือระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่สำหรับการพูดกับลูกค้าหรือผู้รับบริการถือเป็นหน้าที่ในลักษณะที่เป็นทางการหรือกึ่งทางการ จึงต้องรักษามารยาทต่อลูกค้าไม่ให้รู้สึกว่าตีเสมอหรือแสดงความสนิทจนเกินพอดี ซึ่งการใช้คำว่า ค่ะ ครับ เป็นหางเสียงมี่เหมาะสมในบริบทเช่นนี้ 

 

อย่างไรก็ตาม การใช้หางเสียงไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ในบางสถานการณ์อาจจะใช้คำว่า จ๊ะ จ๋า เป็นผู้ที่ไม่ได้สนิทสนม ซึ่งไม่ดูเป็นการเสียมารยาทและบางครั้งผู้ที่พูดคุยด้วยจะเกิดความรู้สึกที่ดีด้วยมากกว่าคำว่า ค่ะ ครับ

 

อย่างเช่นการลงพื้นที่ของนักศึกษาหรือนักวิจัยเพื่อสอบถามข้อมูลจากคนในท้องถิ่นต่างๆ พบว่า คนในท้องถิ่นจะรู้สึกอุ่นใจและพร้อมที่จะให้ข้อมูลมากกว่า หากผู้ที่เข้าไปขอความร่วมมือพูดลงท้ายด้วย จ๊ะ จ๋า เนื่องจากคำว่า ครับ ค่ะ ค่อนข้างเป็นทางการและแสดงถึงความห่างเหินจนไม่สะดวกใจในการพูดคุย ทั้งนี้ สิ่งที่ควรคำนึงอีกประการคือน้ำเสียงของการพูดที่แสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งจะทำให้รู้สึกว่าผู้พูดเป็นมิตรและให้ความเคารพและยกย่องไปในตัว จึงดูไม่การเป็นเสียมารยาท 

 

การใช้หางเสียงที่เหมาะสมกับสถานการณ์ต้องอาศัยประสบการณ์และการเรียนรู้มากพอสมควร อย่างไรก็ตาม การใช้คำว่า ค่ะ-ครับ กับน้ำเสียงที่อ่อนโยนดูจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุดกับสถานการณ์ต่างๆ ในการรักษามารยาทและเป็นการแสดงความเคารพไปในตัวคน ทั้งนี้ วัฒนธรรมไทยให้ความสำคัญกับการให้ความเคารพต่อผู้มีอายุมากกว่า และการปฏิบัติตนเพื่อแสดงความสัมมาคารวะทางทั้งกาย วาจา และใจ 

กล้วยพันธุ์หายากของไทย

วันที่ออกอากาศ: 26 ตุลาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

กล้วย เป็นผลไม้ที่หาบริโภคได้ทุกฤดูกาล ถือเป็นหนึ่งในยอดอาหารของคนไทยมาตั้งแต่โบราณกาล ดังสำนวนที่ว่า กินกล้วยเป็นยา ในวัฒนธรรมการกินกล้วยของคนไทยปัจจุบัน มักนิยมกินกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม และกล้วยไข่ เป็นหลัก

 

กล้วยน้ำว้า หรือโบราณเรียกว่า กล้วยน้ำละว้า เดิมอาจไม่ใช่กล้วยพันธุ์ของคนไทยภาคกลาง แต่เป็นกล้วยของชาวละว้าซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง ภายหลังจึงนิยมนำมาปลูกในบริเวณภาคกลาง เนื่องจากมีรสชาติดี รับประทานได้ทุกเพศวัย และถือเป็นยาระบายขนานดี

 

กล้วยไข่ ถือเป็นของดีของจังหวัดกำแพงเพชร นิยมนำมาทานคู่กับขนมกระยาสาท จนเกิดเป็นเทศกาลวันสารทกล้วยไข่กำแพงเพชร

 

ส่วนกล้วยหอมมีนานาชนิด พันธุ์ที่นิยมมากและถือเป็นสินค้าชั้นดีสำหรับส่งออกไปต่างประเทศ คือ กล้วยหอมทอง มีลูกใหญ่เปลือกสีเหลืองสวย

 

นอกจากกล้วย 3 ชนิดที่ถือว่าเป็นกล้วยพันธุ์หลักของคนไทยแล้ว ยังมีกล้วยพันธุ์ต่างๆ นานาชนิดที่ปัจจุบันกลายเป็นพันธุ์หายากในในสังคมไทยไปแล้ว อย่างเช่น กล้วยน้ำไท ซึ่งในอดีตคนไทยนิยมนำมาบริโภคก่อนกล้วยน้ำว้า มีรูปร่างเหมือนนำกล้วยน้ำว้ามาผสมกับกล้วยหอม

 

รูปทรงของผลกล้วยมีความเหลี่ยมคล้ายกล้วยหอม แต่ขนาดไม่ใหญ่และยาวเท่ากับกล้วยหอม มีปริมาณเนื้อของผลกล้วยมากเท่ากล้วยน้ำว้า จึงเหมือนกล้วยหอมที่มีขนาดย่อมลงมา มีเปลือกหนาค่อนข้างแข็งสีเหลืองดอกจำปา

 

มีรสชาติไม่หวานมากและมีความฝาดปนอยู่ จึงไม่อร่อยเท่ากล้วยน้ำว้าหรือกล้วยหอม แต่มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก รวมถึงใยอาหารและไฟเบอร์ จึงมีคุณสมบัติเป็นยา ซึ่งในตำรายาไทยโบราณถือเป็นยาอายุวัฒนะ

 

นอกจากการรับประทานแล้ว กล้วยน้ำไทถือเป็นกล้วยชั้นสูงสำหรับใช้ในพิธีบรวงสรวงสังเวยในราชสำนัก โดยเฉพาะการบรวงสรวงพระสยามเทวาธิราช และดวงพระวิญญาณสมเด็จพระบูรพระมหากษัตริย์

 

ปัจจุบันกล้วยน้ำไทถือเป็นของหายาก แทบไม่มีขายในท้องตลาด ส่วนใหญ่ปลูกไว้รับประทานกันเองภายในบ้าน 

 

กล้วยนาค มีรูปร่างคล้ายกล้วยไข่แต่ผลใหญ่กว่า มีผิวภายนอกเป็นเงาสีแดงปนม่วง กล้วยนาคเป็นกล้วยพันธุ์โบราณที่ในสังคมไทยบริโภคกัน

 

กล้วยพันธุ์หายากอีกชนิดหนึ่งคือ กล้วยหักมุก ปัจจุบันยังคงพอหาทานได้ แต่ก็ลดจำนวนลงไปมาก ขนาดผลค่อนข้างใหญ่ นิยมนำมาปิ้งทั้งเปลือกจนเปลือกเกรียมเป็นสีดำ ต้องกรีดเปลือกก่อนนำมาปิ้งเพราะว่าเนื้อก็จะฟูขยายขึ้นมา เนื้อกล้วยหักมุกเมื่อสุกจะมีสีเหลืองสวย

 

กล้วยหักมุกก็ถือว่าเป็นยาขนานดี ทั้งเป็นยาอายุวัฒนะและยาระบาย ผลวิจัยการแพทย์ทางโภชนาการระบุว่ากล้วยหักมุกมีสารที่เป็นประโยชน์ต่อไต  สำหรับตำรับยาไทยที่เรียกว่ายากลางบ้านระบุว่ามีประโยชน์ต่อคนที่ป่วยด้วยโรคนิ่ว โรคไต โรคท้องมาร

 

ปัจจุบัน กล้วยหอม กำลังจะกลายเป็นกล้วยพันธุ์หายาก โดยเฉพาะกล้วยหอมสายพันธุ์ไทย สำหรับกล้วยหอมทองที่กล่าวมาข้างต้นนั้น มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปและเป็นสินค้าส่งออก เป็นสายพันธุ์ที่มาจากลาตินอเมริกา นิยมส่งออกไปยังตลาดยุโรป รสชาติไม่ค่อยดีเท่ากล้วยหอมทองของไทย แต่ที่กล้วยหอมทองของไทยไม่เป็นที่นิยมในตลาดยุโรปและอเมริกาเนื่องจากสุกงอมเร็วกว่ามาก จึงมักส่งออกไปยังตลาดเอเชียที่ใกล้กว่า

 

กล้วยหอมพันธุ์ไทยแต่ดั้งเดิมที่นิยมมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ กล้วยหอมจันทร์ และกล้วยหอมเขียว กล้วยหอมเขียวตอนผลสุกเปลือกยังคงเป็นสีเขียว ส่วนกล้วยหอมจันทร์มีผิวเปลือกที่สวยมาก กล้วยหอมทั้งสองชนิดนี้รสชาติหวานหอม แต่ปัจจุบันหาทานได้ค่อนข้างยากแล้ว  

ขนมทองเอก ขนมสัมปันนี

วันที่ออกอากาศ: 23 กุมภาพันธ์ 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ขนมทองเอก ขนมสัมปันนี สันนิษฐานว่าไม่เป็นขนมที่มีรากเง้าในวัฒนธรรมไทยมาแต่ดั่งเดิม แต่เป็นขนมที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอินเดียหรือวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในโลกมุสลิมตะวันออกกลาง ซึ่งมักเรียกรวมๆ ว่า วัฒนธรรมแขก

 

ด้วยลักษณะของการทำขนมโดยใช้วิธีการกวน การนวดเนื้อขนมด้วยแป้ง แล้วนำไปใส่พิมพ์แกะสลักเป็นรูปสวยงาม จากนั้นโขลกขนมออกมาแล้วผึ่งให้แห้ง อาจนำขนมไปอบเทียนหอมก่อน แล้วจึงใส่ภาชนะรับประทาน

 

ขนมทองเอก มีสีออกเหลืองหรือส้ม อาจเป็นสีเหลืองอ่อน เหลืองนวล หรือเข้มจนเป็นสีส้มก็ได้ และมีทองคำเปลวแผ่นเล็กๆ ตกแต่งหน้าขนม สีเหลืองส้มมาจากสีของไข่แดง โดยมักนิยมใช้ไข่แดงของไข่เป็ด ซึ่งอาจทำให้สีของขนมออกเหลืองเข้มจนเป็นสีแดงส้มได้  

 

นำไข่แดงมากวนกับหัวกะทิและน้ำตาลทรายเข้าด้วยกัน จากนั้นเติมแป้งสาลีที่คั่วในกระทะทองแดงให้เนื้อละเอียด หากเป็นตำราโบราณจะใส่ถั่วทองลงไปด้วย การคั่วเนื้อแป้งจะช่วยให้ความหอมหวานของรสชาติเข้าไปสู่เนื้อขนม อาจนำมาอบควันเทียนแล้วค่อยนำมากวนกับส่วนผสมอื่น

 

กวนจนกระทั่งเนื้อขนมร่อนออกจากกระทะ ต้องใช้ความอดทนอย่างสูงและรู้จักทักษะการควบคุมความแรงของไฟ เสร็จแล้วนำมานวดและแบ่งเป็นก้อนเล็กๆ ใส่พิมพ์ จากนั้นโขลขนมกออกมา แล้วประดับด้วยการปิดทองคำเปลว 

 

สัมปันนี ใช้แป้งมันลงคั่วในกระทะก่อน จากนั้นปรุงน้ำกะทิกับน้ำตาลทรายกวนเข้าด้วยกันจนกลายเป็นน้ำเชื่อมลักษณะเหนียวข้นรสชาติออกหวานมัน แบ่งแป้งที่คั่วและอบเทียนส่วนหนึ่งนำมานวดผสมเข้าด้วยกัน อาจจะเติมสีเพิ่มความสวยงาม

 

เมื่อนวดเนื้อขนมจนเนียนได้ที่ แบ่งเป็นก้อนเล็กๆ ใส่พิมพ์แล้วโขลกออกมา ตั้งผึ่งลมไว้ให้เข้าสู่สภาพที่เรียกว่า ตกทราย  เมื่อเคี้ยวดูแล้วข้างในขนมจะอ่อน หลังนั้นพอขนมตกทรายแล้วนำมาเคล้าแป้งส่วนที่เหลือให้หน้าขนมนวล จึงบรรจุเรียงใส่ภาชนะแล้วอบควันเทียนอีกรอบหนึ่ง

 

ขนมทองเอกและขนมสัมปันนีที่ดี เนื้อขนมจะไม่แข็งเกินไป และไม่นิ่มจนเหมือนถั่วหรือเผือกกวน ผิวของขนมจะมีความมัน รูปร่างของพิมพ์ขนมมักนิยมพิมพ์รูปดอกพุดตานมาตั้งแต่โบราณ กลายเป็นลายเอกลักษณ์ของขนมทองเอกหรือสัมปันนีมาจนถึงปัจจุบัน

 

การพิมพ์ลายขนมนี้เป็นสิ่งที่ไทยรับภูมิปัญญามาจากวัฒนธรรมแขก ในอดีตส่วนใหญ่ใช้แม่พิมพ์ที่ทำจากไม้เนื้อดีนำมาแกะลายอย่างประณีต มักแกะสลักโดยช่างชาวจีน ซึ่งในสมัยโบราณมีฝีมือในการแกะสลักไม้มาก จากเอกสารคำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวว่าในกรุงเทพฯ มีย่านหนึ่งที่ทำพิมพ์ขนมขาย

 

ปัจจุบันนิยมใช้พิมพ์พลาสติก ซึ่งนอกจากมีรูปดอกพุดตานแล้ว มีการคิดสร้างสรรค์ลายอื่นๆ เช่น รูปนก รูปปลา การใช้พิมพ์พลาสติกยังทำลวดลายได้ชัดเจนมากกว่าพิมพ์ไม้ มีน้ำหนักเบา และต้นทุนถูกกว่า 

 

นอกจากการพิมพ์ขนมทองเอกและขนมสัมปันนีแล้ว คนไทยยังประยุกต์ภูมิปัญญานี้ไปใช้กับขนมอื่นๆ โดยเฉพาะขนมที่นำพืชพันธุ์ธัญญาหารท้องถิ่นมากกวน เช่น เผือกกวน ถั่วกวน หรือ ข้าวตู ที่ทำจากข้าวคั่วที่กวนผสมกับมะพร้าว แล้วนำมาใส่พิมพ์เพื่อความสวยงาม

 

ลวดลายที่ใช้จะแตกต่างจากขนมทองเอกและสัมปันนี เช่น ข้าวตู หรือถั่วกวน มักนิยมพิมพ์เป็นรูปวงรี บางครั้งมีตัวอักษรจีนอยู่ตรงกลาง ที่เรียกว่า ลายประแจจีน ซึ่งคนไทยมักนิยมพิมพ์ลายขนมที่แกะสลักโดยคนจีน แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมการทำขนมของคนไทยมีการผสมผสานวัฒนธรรมอื่นๆ เข้ามา    

ปลาร้า ปลาจ่อม

วันที่ออกอากาศ: 5 ตุลาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

การบริโภคอาหารที่ปรุงจากปลาร้าเป็นวัฒนธรรมการบริโภคของคนไทย-ลาว ทั้งคนในภาคอีสานของไทยและคนในประเทศลาว รวมถึงคนเวียดนามและกัมพูชาบาทส่วนก็บริโภคปลาร้าเช่นกัน

 

อาหารประเภทปลาร้าหรือปลาจ่อมเกิดจากภูมิปัญญาในการถนอมอาหารด้วยการนำเอาปลาไปหมักเกลือและรำข้าว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่พัฒนามาจากลักษณะทางกายภาพของท้องถิ่นบริเวณนั้นที่มีแม่น้ำไหลผ่านอยู่หลายสาย ได้แก่ แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำโขง รวมถึงทะเลสาบเขมร ซึ่งเป็นบริเวณที่มีปลาน้ำจืดชุกชุม

 

ชาวบ้านในพื้นที่จึงสามารถทำประมงน้ำจืดในช่วงหน้าน้ำ เมื่อสามารถจับปลาได้มากจนเกิดบริโภคก็ได้ใช้ภูมิปัญญาในการเก็บรักษาเนื้อปลาหรือถนอมอาหาร เพื่อให้สามารถเก็บนำมารับประทานได้ภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าแล้งที่ไม่สามารถจับปลาได้ 

 

ส่วนประกอบสำคัญที่นำมาใช้ถนอมเนื้อปลาให้กลายเป็นปลาร้า ได้แก่ เกลือ และ รำข้าว ซึ่งเกลือที่ใช้ทำปลาร้าจะไม่ใช่เกลือทะเลซึ่งหาได้ยากในภูมิภาคนี้ แต่จะใช้เกลือสินเธาซึ่งคนในท้องถิ่นผลิตจากการสูบน้ำใต้ดินที่มีเกลือผสมอยู่มาก นำมาต้มจนระเหยกลายเป็นผลึกเกลือสีเทาไปจนถึงสีน้ำตาล ซึ่งชาวบ้านพบว่ายิ่งเกลือมีสีน้ำตาลมากก็จะหมักปลาร้าได้รสชาติดีมากขึ้นด้วย

 

นอกจาก เกลือ และ รำข้าว ก็จะใช้ข้าวคั่ว รวมถึงเม็ดกฐิน ซึ่งแกะเม็ดจากฝักที่แห้งแล้ว นำไปคั่วจนสุกแล้วโขลกให้ละเอียดผสมลงไปตอนหมัก เม็ดกฐินจะช่วยเป็นสารเคมีทางธรรมชาติช่วยยับยั่งไม่ให้แมลงวันมาไข่

 

ปลาที่นิยมนำมาใช้หมักปลาร้าก็สามารถใช้ได้ตั้งแต่ปลาตัวใหญ่ ได้แก่ ปลาช่อน ปลาตะเพียน จนถึงปลาขนาดเล็กอย่างปลากระดี่ หากเป็นปลาที่มีเกล็ด ควรขอดเกล็ดออกก่อนเนื่องจากเป็นแหล่งสะสมพยาธิใบไม้

 

สำหรับการทำปลาจ่อมนั้นเป็นภูมิปัญญาถนอมอาหารอีกประเภทหนึ่ง ในหลายๆ พื้นที่ของภาคอีสานจะใช้กุ้งฝอยและปลาซิวมาผสมเข้าด้วยกัน แล้วก็นำกุ้งฝอยมาหมักเกลือใส่ไว้ในไห หมักไว้ได้ประมาณ 2-3 วันก็นำมาผสมข้าวคั่วแล้วหมักต่ออีกประมาณ 5-7 วัน จึงสามารถรับประทานได้ ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าการทำปลาร้า 

 

ในหลายๆ พื้นที่เชื่อว่าการหมักปลาร้าเป็นการถนอมอาหารให้ปลาปราศจากเชื้อโรคที่เป็นภัยต่อร่างกาย ด้วยจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และปลาร้าถือเป็นอาหารที่ให้แคลเซี่ยมสูง การนำปลาร้ามาปรุงอาหารนั้น ถ้าเป็นปลาร้าตัวใหญ่จะนำมาสับผสมกับเครื่องเทศสมุนไพรชนิดต่างๆ เรียกว่า ปลาร้าสับ รับประทานกับผักเคียง แต่ถ้าอยากปรุงปลาร้าให้สุกเสียก่อนก็สามารถทอดหรือห่อใบตองย่างไฟก่อนแลัวจึงนำมาปรุงก็ได้

 

ในอาหารอีสานยังนิยมนำไปทำซุบหน่อไม้หรือใส่ในส้มตำ รวมถึงการทำปลาร้าบอง ซึ่งผสมกับพริกและเครื่องเทศกลายเป็นเครื่องจิ้มที่รสจัดจ้าน หรือการใส่ปลาร้าลงในแกงบางชนิดที่ไม่ใส่กะทิของภาคอีสานหรือในกัมพูชา ในเวียดนามก็มีการนำปลาร้ามาทำไข่เจียวเช่นกัน

 

ในสำรับพระกระยาหารราชสำนักเองก็มีการประยุกต์นำปลาร้ามาใช้เป็นส่วนประกอบ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุธาสินีนาถ พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคิดค้นสูตรปลาร้าหลนทรงเครื่อง แต่ทรงจัดแต่งให้น่าชมโดยผสมใส่ปลาร้าหลนนั้นในกะลาขัดมัน รับประทานกับผักชนิดต่างๆ

ข้าวยำปักษ์ใต้

วันที่ออกอากาศ: 28 กันยายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ข้าวยำปักษ์ใต้ เป็นวัฒนธรรมอาหารการกินอย่างหนึ่งของคนไทยในภาคใต้ สามารถหารับประทานได้ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร จนถึงยะลา นราธิวาส แม้แต่ในเขตรัฐต่างๆ ของประเทศมาเลเซียบริเวณแหลมมลายู จนถึงเกาะสุมาตราและเกาะชวาของอินโดนิเซีย แต่อาจมีหน้าตาเครื่องปรุงแตกต่างกันไปบ้างตามแต่ละท้องถิ่น

 

หากถอดคำว่าปักษ์ใต้ออกไป ข้าวยำ หมายถึง ข้าวหุงหรือข้าวสวยที่รับประทานกับผักชนิดต่างๆ และเนื้อสัตว์ คลุกด้วยน้ำปรุงหรือน้ำซอสหลากชนิดที่ให้รสชาติเปรี้ยว เค็ม หวาน ให้ลักษณะเดียวกับการยำ

 

น้ำปรุงของข้าวยำปักษ์ใต้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่คุ้นเคยของคนไทยก็คือ น้ำบูดู แต่แท้จริงแล้วในการทำข้าวยำภาคใต้ยังมีน้ำปรุงอีกหลายอย่างที่คิดค้นตามแต่ละท้องถิ่น ข้าวยำจึงเป็นวัฒนธรรมร่วมตั้งแต่ภาคใต้ของประเทศไทยไปจนถึงแหลมมลายูและหมู่เกาะในอินโดนิเซีย

 

อย่างข้าวยำหลากสีต่างๆ จะข้าวยำ 5 สีก็ดี หรือข้าวยำ 7 สีก็ดีของทางภาคใต้ ที่ประกอบด้วยข้าวชนิดต่างๆ ที่มีสีต่างกันมาวางกับผักเคียงและเครื่องเคียงจนเกิดมีสีสันน่ารับประทาน ก็สามารถพบเห็นในวัฒนธรรมข้าวยำของมาเลเซียที่เรียกว่า Nasi Kerabu 

 

ข้าวยำที่เป็นเอกลักษณ์ในภาคใต้นิยมใส่มะพร้าวคั่ว กุ้งแห้งป่นหรือบางพื้นที่ก็ใช้ปลาแห้ง ใบมะกรูดซอย ตะไคร้ซอย หัวเจียว และกระเทียมเจียว มีผักเคียงต่างๆ ที่หาเก็บได้ตามรั้วตามสวน อาทิ สะตอ ยอดกระถิน ถั่วฝักยาว ถั่วพลู ถั่วงอก ใบพาโหม หรือใบไม้อย่าง ใบชะพลู ใบมะม่วงดิบ ใบมะม่วงหินมะพาน แล้วยังสามารถทานร่วมกับผลไม้ท้องถิ่น ได้แก่ ส้มโอ มะม่วงดิบ มะเฟืองดิบ มะดัน จนถึงส่วนประกอบที่เป็นพระเอกคือน้ำปรุงหรือน้ำที่นำมายำกับข้าวและเครื่องเคียงต่างๆ

 

คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกับน้ำปรุงที่ทำจากน้ำบูดู ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการถนอมอาหารของคนภาคใต้จากการหมักปลากับเกลือ เพื่อให้จุลินทรีย์ในเนื้อปลาทำปฏิกิริยากับเกลือจึงทำให้ไม่เน่าเสีย และเกิดรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ น้ำบูดูที่มีคุณภาพจะหมักกันนานถึง 15 เดือน

 

น้ำบูดูที่นิยมกันมากเป็นของอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี น้ำบูดูไม่ใช่น้ำยำที่นำมาคลุกกับข้าวได้เลย แต่จะต้องนำมาปรุงรสเสียก่อน โดยกรองน้ำบูดูมาตั้งไฟกับเครื่องเทศและสมุนไพร ได้แก่ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด เพื่อดับกลิ่นคาวและให้ได้กลิ่นหอม ตัดรสชาติด้วยน้ำตาลจนได้รสกลมกล่อม หากอยากได้รสชาติเข้มข้นมากขึ้นก็สามารถใส่เนื้อปลาที่กรองมาจากน้ำบูดู

 

การใช้น้ำบูดูมาทำข้าวยำนี้นิยมในแถบจังหวัดปัตตานี สงขลา นราธิวาส รวมถึงนครศรีธรรมราช แต่ในแถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี สตูล หรือยะลา จะนิยมใช้กะปิ โดยนำมาผัดกับเครื่องแกงจนมีลักษณะเหมือนน้ำพริกแกงข้นๆ ใช้คลุกข้าวยำและราดด้วยหัวกะทิ ส่วนเครื่องเคียงอื่นๆ จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน

 

ในบริเวณแหลมมลายูก็มีข้าวยำที่แบ่งเป็น 2 ลักษณะเช่นกัน ทางรัฐกลันตันที่อยู่ฝั่งเดียวกับปัตตานี นราธิวาส จะนิยมใช้น้ำบูดู ส่วนอีกฝั่งทางด้านไทรบุรี ปะลิส นั้นนิยมใช้กะปิ

 

สำหรับข้าวยำในเกาะสุมาตราและเกาะชวาของอินโดนิเซียจะมีความแตกต่างออกไป จะมีน้ำปรุงที่มีลักษณะคล้ายน้ำสะเต๊ะซึ่งปรุงจากถั่วและพริกแกง รสชาติออกหวานมากกว่า ทานกับปลาย่าง ไก่ย่าง หรือไก่ทอด

แป้งอิตาลีในอาหารไทย

 

วันที่ออกอากาศ: 16 พฤศจิกายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พาสต้า เป็นอาหารที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอิตาลี เป็นอาหารประเภทแป้งที่ลักษณะคล้ายเส้นบะหมี่หรือก๋วยเตี๋ยวในโลกตะวันออก แต่ก็มีรูปลักษณะอื่นๆ นอกจากเส้น ได้แก่ รูปเปลือกหอย รูปตัวอักษร รูปดอกไม้ดอกไร่ ไปจนถึงเมล็ดข้าวเล็กๆ ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป อาทิ สปาเก็ตตี้ เฟตตูชินี่ เพนเน่ หรือมักกะโรนี ซึ่งคนไทยรู้จักดี

 

ใช้แป้งสาลีเป็นวัตถุดิบหลัก ก่อนนำมาประกอบอาหารจะต้องต้มให้สุกแล้วเอาไปปรุงได้หลากหลาย อาจจะคลุกกับน้ำมันมะกอกโรยเครื่องเทศ หรือราดด้วยซอสนานาชนิต หรือนำมาผัดด้วยเครื่องปรุงต่างๆ

 

พาสต้าถือเป็นอาหารจานหลักของผู้คนในคาบสมุทรอิตาลี ซึ่งต่อมาได้เข้าไปสู่วัฒนธรรมอาหารของสังคมชาวตะวันตกมาจนกลายเป็นอาหารที่รับรู้กันทั่วโลก

 

คนไทยรับรู้วัฒนธรรมการรับประทานแป้งพาสต้าแบบอิตาลีครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 จากกระบวนการปฏิรูปสังคมไทยให้มีความทันสมัยอย่างประเทศตะวันตก โดยเฉพาะในราชสำนักและสังคมชั้นสูง

 

มีการฝึกให้พระราชวงศ์ไปตนถึงเสนาบดีข้าราชการรู้จักรับประทานอาหารฝรั่ง ซึ่งมีการจ้างพ่อครัวตะวันตกเข้ามาประจำการในราชสำนัก นำเอาสูตรอาหารของประเทศต่างๆ ในโลกตะวันตกเข้ามาปรุงอาหาร รวมถึงแป้งพาสต้าซึ่งคนไทยในสมัยนั้นเรียกว่า “แป้งอิตาลี”

 

ในตำราอาหารสำคัญ 2 เล่ม ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มคนชั้นสูงของไทยในสมัยรัชกาลที่ 5-7  ได้แก่ ตำรับอาหารสายเยาวภา ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระเจ้าเยาวภาพงศ์สนิท พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และตำราอาหารแม่ครัวหัวป่าก์ ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ภรรยาของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)

 

ซึ่งทั้ง 2 เล่มมีตำรับอาหารที่ปรุงจากแป้งอิตาลีอยู่หลายชนิด ทั้งที่เป็นตำรับการปรุงแบบตะวันตก อาทิ มักกะโรนีอบชีส ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า มักกะโรนีอบเนยแข็ง หรือ มักกะโรนีเข้าเตาอบ รวมถึงรายการอาหารที่ดัดแปลงขึ้นมาใหม่อย่าง ซุปมักกะโรนี หรือบางคนก็เรียกว่า แกงจืดแป้งอิตาลี คือต้มแกงจืดที่ใส่มักกะโรนี ร่วมกับผักและเนื้อสัตว์ต่างๆ ซึ่งทั้ง 2 ตำรับกล่าวว่าเป็นอาหารยอดพลังสำหรับคนป่วย

 

ตำรับอาหารแป้งพาสต้าอีกจานหนึ่ง ซึ่งต่อมากลายเป็นอาหารยอดนิยมของคนไทยมาจนถึงปัจจุบันก็คือ ผัดมักกะโรนี โดยผัดแป้งกับซอสมะเขือเทศ แล้วใส่เนื้อสัตว์ หอมหัวใหญ่ มะเขือเทศ ซึ่งไม่ได้เป็นอาหารพาสต้าแบบตำรับดั่งเดิม

 

จนมาถึงปัจจุบัน คนไทยยังคงนำแป้งพาสต้ามาดัดแปลงทำอาหารที่มีรสชาติคุ้นลิ้นคนไทย โดยเฉพาะอาหารที่มีรสเผ็ด อาทิ มักกะโรนีหรือสปาเก็ตตี้ผัดขี้เมาที่ผัดกับพริกตำและผัดกระเพรา สปาเก็ตตี้ผัดปลาสลิดที่ใส่พริกและปลาสลิดที่นำไปทอดจนฟูกรอบ จนถึงการนำเส้นพาสต้ามาราดกับแกงเผ็ดหรือนำมาผัดเข้ากับเครื่องแกงเขียวหวาน ก็เป็นที่นิยมของคนไทยสมัยใหม่

 

แม้แต่ร้านอาหารอิตาเลี่ยนในเมืองไทยยังต้องมีรายการอาหารดัดแปลงเหล่านี้ไว้บริการด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นที่ชื่นชอบของลูกค่าชาวไทย แม้แต่ชาวตะวันตกเองก็ชื่นชอบการปรุงเส้นพาสต้าแบบไทยๆ นี้ บางรายการก็ได้กลายเป็นอาหารบริการในร้านอาหารฟิวชั่นในประเทศต่างๆ ของยุโรปอีกด้วย

ผัดหมี่ในรายการอาหารไทย

ในวัฒนธรรมอาหารของคนไทยมีเส้นก๋วยเตี๋ยวต่างๆ นานาชนิด ตั้งแต่เส้นสีขาวทำจากแป้งข้าวเจ้า เส้นบะหมี่สีเหลืองหรือแป้งเกี๊ยวที่มีส่วนผสมของแป้งสาลีและไข่ แล้วยังมีอาหารประเภทเส้นต่างๆ อีกหลายชนิด ซึ่งคนไทยมักเรียกรวมๆ ว่าเส้นก๋วยเตี๋ยว เป็นวัฒนธรรมการบริโภคที่คนไทยได้รับอิทธิผลมาจากวัฒนธรรมจีน

 

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก่อนการปฏิรูปประเทศสมัยรัชกาลที่ 5 พบหลักฐานที่น่าสนใจกล่าวถึงการกินเส้นก๋วยเตี๋ยวของคนไทย ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4 กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสวรรคต มีผู้สงสัยว่าทรงพระประชวรด้วยมีผู้ลอบกระทำคุณไสย ในรายงานชิ้นนั้นกล่าวว่าวันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยพระกระยาหารที่เรียกว่า "แกงก๋วยเตี๋ยว"  

 

แกงก๋วยเตี๋ยวนี้ไม่ปรากฏในกาพย์แห่ชมเครื่องคาวหวานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือในหลักฐานในสมัยอยุธยาก็ไม่เคยกล่าวถึงอาหารประเภทเส้น นอกจากสลิ่มซึ่งเป็นของหวาน อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ก็เชื่อว่าในสังคมไทยคงมีวัฒนธรรมการบริโภคเส้นก๋วยเตี๋ยวอยู่แล้ว เนื่องจากมีชุมชนจีนขนาดใหญ่มาอาศัยในประเทศมาช้านานแล้ว แต่อาจจะไม่ใช่บัญชีพระกระยาหารประจำสำหรับเจ้านาย 

 

ต่อมารัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรว่าทรงโปรดหมี่กรอบและหมี่ผัด หมี่กรอบนี้เป็นสูตรที่คนจีนคิดค้นให้ถูกลิ้นคนไทย นำเส้นหมี่ไปทอดแล้วคลุกกับน้ำปรุงซึ่งให้รสชาติแบบไทยทำจากน้ำส้มมะขาม น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ แล้วบีบน้ำส้มซ่าลงไป ซึ่งหมี่กรอบเจ้าดังที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดคือ ร้านจีนหลีที่ตลาดพลูซึ่งยังคงสืบสานกิจการมาจนถึงปัจจุบัน

 

สำหรับหมี่ผัด เป็นหมี่ผัดกับซอสสีแดงทำจากเต้าหู้ยี้ แล้วทำน้ำราดซึ่งประกอบด้วย น้ำมะขาม กะทิ น้ำตาลปี๊บ ถ้าชอบเผ็ดก็ใส่เครื่องแกง แล้วใส่หมู กุ้ง หรือไก่ นำมาคลุกกับหมี่ซอสแดงที่ผัดได้ ถือเป็นตำหรับในราชสำนัก ปัจจุบันไม่แน่ชัดว่าอาหารมีหน้าตาหรือรสชาติอย่างไร

 

ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 คนไทยก็นิยมอาหารประเภทเส้นมากขึ้น มีรายการอาหารประเภทเส้นที่เพิ่มขึ้นมากมาย อาทิ ผัดซี่อิ้ว ผัดหมี่ซั่ว เป็นเป็นอาหารจีนแต่เดิม จนถึงอาหารเส้นที่คิดค้นใหม่อย่าง หมี่กะทิ

 

ถ้าเป็นของภาคกลางหรือภาคใต้จะผัดหมี่ไว้จานหนึ่ง จะใส่ซอสแดงหรือไม่ใส่ก็ได้ แล้วผัดเครื่องปรุงอีกกะทะประกอบด้วยน้ำกะทิ เนื้อสัตว์ เต้าหู้เหลือง กุ้ยช่าย ใบบัวบก ถั่วงอก ปรุงรสแล้วราดบนหมี่ที่ผัดเตรียมไว้ แต่ถ้าเป็นหมี่กะทิทางภาคอีสานจะผัดกะทิจนเป็นน้ำมันใส่เครื่องแกง พริกแห้ง และเนื้อสัตว์ แล้วใส่เส้นหมี่ที่ลวกไว้ลงไปผัด มีรสชาติจัดจ้านกว่าของภาคกลาง

 

สำหรับก๋วยเตี๋ยวผัดไทที่เป็นอาหารยอดนิยมในปัจจุบัน เป็นรายการอาหารเส้นที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ซึ่งมีนโยบายส่งเสริมให้คนไทยขายก๋วยเตี๋ยว ใช้ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก หรือเส้นจันทน์ ซึ่งเป็นก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กที่ทำที่จังหวัดจันทบุรีมีความเหนียวนุ่ม ผัดกับไช้โป๊วสับ เต้าหู้เหลือง ไข่ กุ้ยช่าย และถั่วงอก หรืออาจจะใส่กุ้งลงไปด้วย ปรุงรสด้วยน้ำมะขาม น้ำปลา

 

เชื่อกันว่าช่วงนั้นตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศก็มีการประดิษฐ์ก๋วยเตี๋ยวหรือหมี่ผัดแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมา อย่างหมี่โคราชก็น่าปรับสูตรมาจากก๋วยเตี๋ยวผัดไท ซึ่งปัจจุบันก็ได้รับความนิยมจนเป็นสินค้า OTOP ขายดีอย่างหนึ่งในประเทศ

เส้นหมี่ ในวัฒนธรรมการกินของคนไทย

ก๋วยเตี๋ยว หมายถึงอาหารประเภทเส้นที่ทำจากข้าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมอาหารการกินของคนไทยมาอย่างยาวนาน ในปัจจุบัน คนไทยมักนิยมรับประทานก๋วยเตี๋ยวในมื้ออาหารต่างๆ เนื่องจากมีร้านจำหน่ายอยู่ทั่วไป อีกทั้งยังมีก๋วยเตี๋ยวหลากหลายประเภทให้เลือกรับประทาน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากเส้นหมี่

 

เส้นหมี่ ถือเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวขนาดเล็กที่สุด ทำจากข้าวเจ้าหรือข้าวสาลีจึงมีสีขาว มีทั้งเส้นหมี่สดที่สามารถนำไปประกอบอาหารได้ทันที และเส้นหมี่แห้ง ที่จะต้องนำมาแช่น้ำให้นิ่มก่อน ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายยี่ห้อให้เลือกบริโภค

 

โดยทั่วไปคนไทยนิยมแยกประเภทเส้นหมี่ออกจากเส้นเล็ก ซึ่งขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย แต่ในบางภูมิภาค เช่น ภาคอีสาน จะเรียกรวมเส้นเล็กเป็นเส้นหมี่ด้วย ซึ่งตามความหมายของเส้นหมี่ในภาษาจีน หรือหมี่เฝิ่น ที่แปลว่า เส้นข้าว นั้น ใช้เป็นคำเรียกเส้นก๋วยเตี๋ยวขนาดอื่นๆ ที่ทำจากข้าวด้วย

 

วิวัฒนาการการบริโภคเส้นหมี่ในสังคมไทย สันนิษฐานว่า มีความเป็นมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยาแล้ว แม้ว่าในบันทึกเกี่ยวกับบัญชีอาหารต่างๆ ในสมัยอยุธยา จะยังไม่พบการนำเส้นหมี่มาประกอบอาหารในวัฒนธรรมไทย แต่ก็พบร่องรอยการบริโภคเส้นหมี่ในสังคมไทย โดยเฉพาะชุนชนชาวจีน ที่อพยพมาตั้งรกรากในกรุงศรีอยุธยา พบว่ามีการขายอาหารที่เรียกว่า แกงก๋วยเตี๋ยว ซึ่งหมายถึงก๋วยเตี๋ยวน้ำอย่างในปัจจุบัน

 

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดต่างๆ ที่สร้างขึ้นในยุคนี้ เป็นภาพชาวจีนพายเรือขายก๋วยเตี๋ยว แสดงว่าก๋วยเตี๋ยวกลายเป็นอาหารประเภทหนึ่งในวัฒนธรรมไทยไปแล้ว

 

แต่หลักฐานที่แสดงถึงการนำก๋วยเตี๋ยว หรือเส้นหมี่ของจีนมาปรุงเป็นอาหารไทยที่เก่า และชัดเจนที่สุด คือ พระราชหัตถเลขา และบันทึกส่วนพระองค์ต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

 

ทรงกล่าวถึงหมี่ชนิดต่างๆ ที่ปรุงเป็นอาหารไทยในทำเนียบเครื่องเสวย โดยเฉพาะ หมี่ผัด และ หมี่กรอบ ที่ทรงโปรดเป็นพิเศษ หมี่ผัดในลักษณะที่ผัดใส่กะทิหรือใส่ซีอิ้ว เป็นหนึ่งในเครื่องเสวยประจำทุกมื้อ ส่วนหมี่กรอบ ก็เป็นอาหารชาววังที่ประณีตอีกชนิดหนึ่ง ใช้เครื่องปรุงหลายชนิด และมีขั้นตอนการปรุงที่พิถีพิถัน ก็เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นในเวลานั้น

 

ปัจจุบัน คนไทยในแต่ละภูมิภาคได้พลิกแพลงนำเส้นหมี่ไปประกอบอาหารหลากหลายชนิด ในภาคกลาง ที่นอกจากจะนิยมนำเส้นหมี่มาบริโภคเป็นก๋วยเตี๋ยวน้ำแล้ว ยังนิยมนำมาผัดซีอิ้ว โดยผัดกับผักคะน้า ไข่ และเนื้อสัตว์ ปรุงรสด้วยซีอิ้ว หรือนำมาผัดกับกะทิ หมู และเต้าหู้ ทานร่วมกับถั่วงอกดิบ ใบกุยช่าย และไข่เจียวหั่นฝอย ที่เรียกว่าหมี่กะทิ

 

ในภาคใต้ นิยมนำเส้นหมี่ไปยำ เรียกว่า เต้าคั่ว หรือ ท่าวคั้ว ในสำเนียงใต้ มักรู้จักกันในชื่อสลัดปักษ์ใต้ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากคนจีนในแหลมมลายู ปัจจุบันเป็นอาหารท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

 

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสานนั้น มักนิยมรับประทานเส้นเล็กมากกว่าเส้นหมี่ แต่ก็เรียกอาหารที่ปรุงเส้นเล็กว่าหมี่เหมือนกัน  วัฒนธรรมการบริโภคเส้นหมี่ในภาคอีสาน น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากชาวญวนหรือชาวเวียดนาม

 

โดยอาหารปรุงจากเส้นหมี่ที่มีชื่อเสียง และเป็นที่นิยมกันมาก คือ หมี่โคราช นำหมี่มาผัดกับผักและเนื้อสัตว์ต่างๆ คล้ายผัดซีอิ้ว แต่ปรุงรสด้วยพริกป่นให้มีรสเผ็ดจัดจ้านตามวัฒนธรรมการบริโภคของคนท้องถิ่นแถบนี้ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีหมี่ผัดสารพัดทั่วท้องถิ่นอีสาน อาทิ หมี่ไฟแดงของจังหวัดบุรีรัมย์ หมี่สกลนคร หมี่อุบล หมี่พิมาย เป็นต้น

อาหารคลายร้อน

วันที่ออกอากาศ: 29 เมษายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

คนไทยตั้งแต่สมัยโบราณมีภูมิปัญญาการกินอาหารให้ถูกต้องตามฤดูกาลที่เรียกว่า การกินเย็น-กินร้อน เพื่อรับประทานอาหารที่มีสรรพคุณเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในฤดูกาลต่างๆ อันไม่ก่อให้เกิดโทษแก่ร่างกาย โดยเฉพาะในฤดูร้อนที่ร่างกายมักไม่เกิดความอยากอาหารอยู่บ่อยครั้ง

 

โบราณจึงแนะนำให้รับประทานอาหารที่ช่วยปรับอุณหภูมิร่างกายให้มีความสมดุล คลายความร้อน และให้รู้สึกสบายเนื้อตัวมากขึ้น และแนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารบางประเภทที่อาจทำให้เกิดโทษแก่ร่างกายในช่วงฤดูร้อน อาทิ อาหารจำพวกแป้งและไขมัน เนื่องจากทำให้มีอาการท้องอืด อีกทั้งยังเป็นอาหารที่บูดและเสียง่าย

 

สำหรับวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ต่างๆ โบราณให้เลือกใช้วัตถุดิบที่มีสรรพคุณเย็นและมีผลดีต่อระบบย่อยอาหาร 

 

อาหารคาวที่แนะนำในฤดูร้อนมักนิยมให้ทานข้าวแช่ ซึ่งโบราณให้ขัดข้าวเสียก่อนแช่ในน้ำหอมอกไม้ เพื่อขัดเนื้อข้าวที่เป็นแป้งให้ออกไปชั้นหนึ่ง ทำให้ลดอาการท้องอืดได้ โดยทานร่วมกับข้าวต่างๆ อาทิ พริกหยวกสอดไส้ ลูกกะปิทอด หมู หรือเนื้อฝอย ปลาแห้งผัดหวาน หัวไชโป้ผัดหวาน เป็นต้น

 

ส่วนแกงร้อนต่างๆ ควรหลีกเลี่ยงแกงกะทิ ให้ทานแกงส้ม แกงเหลือง แกงเลี่ยง หรือต้มโคล้ง แต่ยังมีแกงกะทิชนิดหนึ่งที่รับประทานได้ คือ แกงขี้เหล็ก เนื่องจากใบขี้เหล็กมีสรรพคุณเย็น นอกจากนี้ก็ให้ทานอาหารจำพวกน้ำพริกหรือยำต่างๆ  วัตถุดิบจำพวกเนื้อสัตว์ควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู ซึ่งย่อยยาก ให้เลือกทานเนื้อปลาหรือเนื้อไก่แทน

 

รับประทานผักที่มีสรรพคุณเย็น ได้แก่ ผักบุ้ง แตงกวา ฝัก มะระ กระชาย มะม่วงดิบ เป็นต้น รวมถึงข้าวที่ทานในฤดูร้อน โบราณแนะนำให้ทานข้าวเบา ซึ่งเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนสาม มีคุณลักษณะพิเศษที่เนื้อข้าวจะมีแป้งน้อย หรือให้ทานข้าวกล้อง เนื่องจากเยื่อที่หุ้มเมล็ดข้าวกล้องมีผลดีต่อการย่อยอาหาร 

 

สำหรับอาหารหวาน ให้เลี่ยงขนมหวานที่มีกะทิและแป้งเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น ขนมทอด แกงบวชต่างๆ เป็นต้น แนะนำให้ทานอาหารหวานจำพวกลอยแก้วต่างๆ โดยใช้ผลไม้เป็นส่วนประกอบหลักและไม่ปรุงน้ำเชื่อมให้มีรสชาติหวานจนเกินไป น้ำเชื่อมลอยแก้วในสมัยโบราณจะใช้เกลือและพิมเสนเป็นส่วนประกอบ ซึ่งมีสรรพคุณช่วยให้เกิดความเย็นรวมอยู่ด้วย  

 

นอกจากนี้ ให้รับประทานผลไม้สด โดยเลือกทานผลไม้ที่มีสรรพคุณเย็น ซึ่งส่วนใหญ่จะมีรสเปรี้ยว เช่น มะม่วงเปรี้ยว มะดัน มะยม มะเฟือง จะช่วยทำให้ร่างกายสดชื่นและปรับสมดุลให้ร่ายกาย  ควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสชาติหวานจัด เช่น ทุเรียน เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย แต่หากต้องการทานทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้สำคัญในหน้าร้อน โบราณให้ทานคู่กับมังคุดซึ่งมีสรรพคุณเย็นเพื่อลดอาการร้อนใน

 

น้ำเปล่าที่เป็นน้ำดื่มคลายร้อนของคนไทยมาแต่โบราณ มักนิยมแช่น้ำไว้ในโอ่งดินหรือคนโทที่เป็นเครื่องดินเผาเพื่อปรับอุณหภูมิของน้ำต่ำลง ทำให้ได้น้ำที่มีความเย็น แต่ไม่เย็นจัดจนทำให้เกิดโทษ คนไทยในปัจจุบันนิยมดื่มน้ำใส่น้ำแข็งซึ่งมีอุณหภูมิเย็นจัด จะก่อให้เกิดโทษแก่ร่างกาย เนื่องจากทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิให้สมดุลไม่ได้ เป็นสาเหตุให้เจ็บคอ แล้วอาจมีอาการเจ็บป่วยตามมาภายหลัง 

 

สังเกตได้ว่า รสชาติของอาหารคลายร้อนหรืออาหารที่แนะนำให้ทานในฤดูร้อน จะมีอยู่ด้วยกัน 3 รสชาติ ได้แก่ รสเปรี้ยว รสขม ซึ่งมักได้จากผักและผลไม้ที่มีสรรพคุณเย็น และรสเค็มปะแล่ม ซึ่งได้จากการใส่เกลือเล็กน้อยในอาหาร โดยตามหลักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่นั้น เกลือหรือโซเดียมจะช่วยปรับสภาวะร่างกายให้สดชื่นหลังจากการเสียเหงื่อ ส่วนรสชาติของอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง คือ รสหวานจัด ซึ่งมักทำให้เกิดอาการร้อนในตามมา

อาหารเช้าของคนไทย

 

 

วันที่ออกอากาศ: 31 สิงหาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

"กินข้าวกินปลามาหรือยัง" คำทักทายคุ้นเคยในตอนเช้าที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมการกินในสังคมไทย ซึ่งไม่ได้มีการแบ่งมื้ออาหารอย่างชัดเจน รวมถึงไม่ได้กำหนดประเภทอาหารรับประทานในแต่ละมื้อ

 

คนไทยสมัยก่อนใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้ำลำคลอง ซึ่งแหล่งอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือปลา สามารถหาจับขึ้นมาปรุงอาหารได้ง่าย ทานร่วมกับข้าวสวยที่เป็นอาหารจานหลักของสังคมไทย จนกลายเป็นสำนวนติดปากว่า "กินข้าวกินปลา" 

 

แม้แต่ในประเพณีการเลี้ยงพระของไทยซึ่งพระสงฆ์ฉันท์ได้ 2 มื้อ คือ มื้อเช้าและมื้อเพล เมื่อพิจารณาจากวรรณกรรมและหลักฐานทางประวัติศาสตร์เก่าๆ ที่พูดถึงการเลี้ยงพระเช้า ก็จะมีรายการอาหารไม่แตกต่างจากมื้อเพล หรือในเวลาตักบาตรเช้า คนไทยก็นิยมตักบาตรด้วยข้าวตามด้วยกับข้าวประเภทต่างๆ

 

แสดงให้เห็นว่าอาหารจากหลักของคนไทยไม่ว่าจะมื้อไหนๆ ก็คือข้าวและกับข้าว ซึ่งในค่านิยมปัจจุบันของคนไทยถือเป็นอาหารที่เรียกว่าหนักท้องอยู่พอสมควร

 

การแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็นอย่างชัดเจน เป็นวัฒนธรรมการบริโภคที่สังคมไทยรับมาจากวัฒนธรรมต่างชาติ ในช่วงปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัยอย่างชาติตะวันตก ตั้งแต่ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 3 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6

 

เริ่มจากสังคมชั้นสูงที่รับเอาประเพณีการรับประทานมื้อเช้าที่เป็นอิทธิพลทางวัฒนธรรมทั้งจากชาติตะวันตก จีน และมลายู ซึ่งทำให้สังคมไทยมีรายการอาหารให้เลือกทานในมื้อเช้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาติตะวันตกถือว่ามีวัฒนธรรมการบริโภคที่มีความพิถีพิถันในการเลือกอาหารมารับประทานเป็นมื้อเช้า และมีการวางแบบแผนเป็นกิจลักษณะ

 

อย่างอาหารเช้าแบบยุโรปที่เรียกว่า continento เกิดขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 รวมถึงอาหารเช้าแบบอเมริกันที่เรียกว่า American breakfast ซึ่งเน้นอยู่บนพื้นฐานของอาหารประเภทเนื้อ นม ไข่ และผลไม้

 

สำหรับอาหารเช้าที่สังคมไทยรับมาจากวัฒนธรรมจีน ได้แก่ โจ๊ก ก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้ม รวมถึงขนมจีบ ซาลาเปา ที่เรียกรวมๆ ว่าติ่มซำ นิยมทานร่วมกับชาหรือกาแฟ โดยเฉพาะในภาคใต้ของไทยนิยมทานติ่มซำกับชา จนมีเป็นคำศัพท์ที่เรียกอีกอย่างว่า แต่เตี้ยม เป็นวัฒนธรรมการรับประทานอาหารเช้านอกบ้านพร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนข่าวสารความคิดเห็นต่างๆ จนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าสภากาแฟ

 

นอกจากนี้ ในสังคมภาคใต้ยังได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาจากโลกมลายู ซึ่งรับประทานเช้าประเภทข้าวกับแกง โดยเฉพาะข้าวมันที่หุงข้าวกับกะทินำมาทานกับน้ำพริกปลาแห้ง กุ้งป่น ไก่ทอด ถั่วลิสงคั่ว หรือจะทานร่วมกับแกงไก่หรือแกงกุ้งก็ได้ เป็นข้าวมันแบบแขกมลายูที่ภาษาถิ่นเรียกว่า นาซิ เลอมัก (Nasi Lemak)

 

จากการผสมผสานวัฒนธรรมอาหารของชนชาติต่างๆ เข้ามาในวัฒนธรรมการกินของเรา ทำให้สังคมไทยในปัจจุบันมีวัฒนธรรมการบริโภคอาหารเช้าที่มีสีสันมากที่สุดชาติหนึ่งของโลก มีรายการอาหารเช้ามากมายให้เลือกรับประทานได้อย่างไม่จำเจ ทั้งอาหารหนักและอาหารเบา

 

ตั้งแต่ข้าวแกง ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยว เกาเหลาเลือดหมู น้ำเต้าหู้ ข้าวเหนียวไก่ทอด หมูปิ้ง สลัดผัก ขนมปัง แซนวิส ไปจนถึงอาหารท้องถิ่นอย่างข้าวยำปักษ์ใต้ ข้าวซอย ขนมจีนน้ำเงี้ยว

การประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในสมัยอยุธยา ตอนที่ 1

วันที่ออกอากาศ: 22 มิถุนายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พระบรมสารีริกธาตุ มีความสำคัญในความรับรู้ของสังคมไทยมาตั้งแต่โบราณ การสร้างพระธาตุเจดีย์หรือพระสถูปสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเป็นศาสนสถานศูนย์กลางของวัด เป็นคติความเชื่อของสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย

 

รวมถึงบ้านเมืองที่อยู่ร่วมสมัย อาทิ ล้านนา พะเยา สุพรรณภูมิ อโยธยา ก็วางแผนผังของวัดตามคติทางพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์เช่นเดียวกัน 

 

คติเรื่องพระบรมสารีริกธาตุมีที่มาจากอินเดียโบราณ ตามพุทธประวัติหลังการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระก็เกิดการทำสงครามระหว่าง 9 นครรัฐที่ต่างประสงค์จะครอบครองพระบรมสารีริกธาตุ แต่ในที่สุดได้แบ่งพระบรมธาตุเป็น 9 ส่วนให้กษัตริย์อัญเชิญกลับไปสักการะบูชาที่นครรัฐของตน

 

การสร้างสถูปเจดีย์เพื่อประดิษฐานเป็นความเชื่อที่อ้างอิงจากพุทธวจนะที่เคยกล่าวแก่พระอานนท์ ซึ่งกล่าวถึงบุคคลที่สมควรแก่การสร้างสถูปเจดีย์เพื่อเป็นที่ระลึก ได้แก่ พระเจ้าจักรพรรดิ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

สถูปเจดีย์องค์แรกที่ถือแบบแผนของการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ คือ สถูปในเมืองปิปผลิวาห์ (Piparawa) อยู่บริเวณรอยต่อประเทศอินเดียกับเนปาล ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นบริเวณที่ตั้งของกรุงกบิลพัสดุ์ในอดีต ซึ่งค้นพบผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในกรุลักษณะเหมือนหีบทำจากแผ่นหินทราย ฝังลึกลงไปจากฐานชั้นล่างสุดของสถูป 10 ฟุต ในกรุเดียวกันนั้นมีจารึกของกษัตริย์ในศากยวงศ์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์เป็นหลักฐานทำให้เชื่อว่าพระบรมสารีริกธาตุเป็นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

พระบรมสารีริกธาตุที่นักโบราณคดีค้นพบนั้น ส่วนหนึ่งนำมาจัดแสดงที่ British Museum ประเทศอังกฤษ ส่วนที่เหลือรัฐบาลอังกฤษได้ทูลฯถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียวที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นพุทธมามกะหรือพุทธศานูปถัมภ์

 

ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุบนพระบรมบรรพตภูเขาทองที่วัดสระเกศ ซึ่งถือเป็นพระเจดีย์เพียงแห่งเดียวในประเทศที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน

 

ขณะเดียวกันก็โปรดเกล้าฯ ให้แบ่งส่วนหนึ่งพระราชทานแก่ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวัดแห่งหนึ่งในเมืองนารา ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางพระพุทธศาสนาของญี่ปุ่นตั้งแต่คริสตวรรษที่ 12

 

คติของการบูชาพระบรมสารีริกธาตุได้แพร่ขยายในภาคต่างๆ ของอินเดีย ผ่านไปยังศรีลังกา เอเชียกลาง เอเชียตะวันตก ซึ่งพระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลาม รวมถึงในทิเบตและประเทศจีนก็พบธรรมเนียมการสร้างสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ใต้ฐานสถูป

 

การแพร่ขยายของคติเรื่องพระบรมสารีริกธาตุนี้สันนิษฐานว่าเป็นอิทธิพลจากการเผยแพร่พระพุทธศาสนาของกษัตริย์นครรัฐต่างๆ ที่รับเอาพระบรมสารีริกธาตุไปบูชา

 

อย่างไรก็ตาม พระบรมสารีริกธาตุที่แพร่กระจายออกไปในยุคหลังมักไม่ได้พิจารณาเรื่องความแท้หรือไม่แท้ของพระบรมสารีริกธาตุ แต่เป็นเรื่องของศรัทธาความเชื่อมากกว่า ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุในช่วงหลังปรากฎว่ามีลักษณะเป็นหินมีค่าแก้วผลึกต่างๆ ซึ่งมีลักษณะต่างจากอัฐิธาตุหรือเถ้ากระดูกของมนุษย์ จนกลายเป็นความเชื่อในเวลาต่อมาว่าพระบรมสารีริกธาตุนั้นมีคุณพิเศษ

 

ในสังคมไทยก็มีคติโบราณพรรณนาถึงลักษณะพระบรมสารีริกธาตุว่าเหมือนแก้วผลึกเหมือนเม็ดข้าวสารเช่นกัน ซึ่งทำให้การสร้างสถูปเจดีย์พระธาตุเจดีย์สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและแพร่ขยายไปทั่วทุกภูมิภาคของสังคมไทย เพื่อใช้เป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชน

การประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในสมัยอยุธยา ตอนที่ 2

วันที่ออกอากาศ: 29 มิถุนายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

การสร้างพระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นคติความเชื่อที่สังคมในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันรับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์มาตั้งแต่ยุคก่อนสุโขทัย โดยพบหลักฐานการสร้างสถูปเจดีย์ที่ใช้สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในสมัยทวารวดี

 

จากการขุดสำรวจสถูปหมายเลข 1 ของเมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี กรมศิลปากรพบผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในกรุใต้ฐานสถูปเจดีย์ กรุมีพื้นเป็นแผ่นหินแบ่งช่องตารางเป็นสัญลักษณ์มงคลซึ่งปรากฎในคติความเชื่อของอินเดียสืบต่อมาถึงลังกา เป็นผอบซ้อนกัน 3 ชั้นทำจากวัสดุที่มีค่าน้อยไปหามาก ได้แก่ สัมฤทธิ์ เงิน และทองคำ พระบรมสารีริกธาตุที่พบมีลักษณะเป็นแก้วผลึก 

 

ในสมัยรัฐสุโขทัย บริเวณที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันให้ความสำคัญกับธรรมเนียมการสร้างพระธาตุเจดีย์อย่างมาก ทั้งกลุ่มเมืองภายใต้อำนาจรัฐสุโขทัย ได้แก่ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร พิจิตร ตาก กลุ่มเมืองของแคว้นล้านนา กลุ่มเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ สุพรรณภูมิ ละโว้ อโยธยา รวมถึงเมืองนครศรีธรรมราชทางภาคใต้ ซึ่งรับพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์เข้ามาเช่นเดียวกัน

 

พระบรมสารีริกธาตุมีความสำคัญในฐานะเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวเมือง เสมือนเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด นอกจากนี้ ยังถือเป็นสิ่งที่ค้ำชูความชอบธรรมของกษัตริย์ภายใต้คติของพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ ซึ่งตามพระสูตรกล่าวว่ากษัตริย์มีภาระหน้าที่ต้องรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุและพระไตรปิฎกไว้ในราชอาณาจักร

 

การสร้างพระธาตุเจดีย์เพื่อบูชาพระพุทธสรีระซึ่งจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ มักสร้างในจุดศูนย์กลางของผังเมือง โดยในรัฐสุโขทัยมีพระธาตุเจดีย์สำคัญ ได้แก่ พระศรีรัตนมหาธาตุที่เมืองเชลียงซึ่งเป็นที่ตั้งเก่าของศรีสัชนาลัย พระมหาธาตุเจดีย์วัดช้างล้อมกลางเมืองศรีสัชนาลัย เจดีย์ประธานในวัดพระมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย รวมถึงเมืองที่อยู่รอบนอกกรุงสุโขทัย ได้แก่ พระบรมธาตุอำเภอบ้านตาก เมืองตาก พระบรมธาตุเมืองนครชุม เมืองกำแพงเพชร เป็นต้น

 

ในสมัยอยุธยา เนื่องจากบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนามหายานและพราหมณ์จากอารยธรรมขอมที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน ในระยะแรกจึงมีการผนวกคติเรื่องการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเข้ากับคติการสร้างพระปรางค์แบบขอม แต่เปลี่ยนสถานะจากเทวาลัยมาเป็นพระธาตุเจดีย์

 

ลักษณะสถาปัตยกรรมของปรางค์จะมีห้องครรภคฤหะหรือเรือนธาตุเป็นโถงกลางสำหรับประดิษฐานเทวรูป แต่คติการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจะต้องประดิษฐานไว้ในชั้นใต้ดิน จึงเพิ่มการสร้างพระปรางค์หรือเจดีย์ย่อส่วนใช้เป็นกรุไว้ใต้ฐานเรือนธาตุของพระปรางค์

 

ตัวอย่างที่สมบูรณ์ที่สุดของการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในลักษณะนี้ คือ กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ สร้างเป็นกรุ 3 ชั้น แต่ละชั้นเป็นห้องขนาดคนยืนได้ไม่เกิน 2 คน ผนังก่ออิฐถือปูนทั้ง 4 ด้าน เขียนจิตรกรรมฝาผนังประดับ

 

ชั้นบนเป็นภาพเทพชุมนุมและมีลวดลายมงคลแบบศิลปกรรมจีน ชั้นต่อมาเป็นห้องเก็บเครื่องทองต่างๆ มีภาพอดีตพระพุทธเจ้าตามคติของลังกา ภาพพุทธประวัติ ภาพพระอสีติมหาสาวก ภาพชาดก 550 พระชาติเรียงกัน

 

ส่วนห้องชั้นล่างไม่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นส่วนประดิษฐานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ชั้นนอกเป็นแท่งหินรูปเขาพระสุเมรุ ชั้นต่อๆ มาเป็นผอบมีค่าต่างๆ ชั้นสุดท้ายเป็นพระเจดีย์ทองคำประดับอัญมณี พระบรมสารีริกธาตุมีลักษณะเป็นแก้วผลึกแช่ไว้ในน้ำมันจันทน์ที่สกัดจากไม้กฤษณา

 

ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนกลาง มีวิวัฒนาการสร้างกรุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในตำแหน่งส่วนต่อของคอระฆังส่วนบนกับยอดเจดีย์ อย่างเช่นกรุพระเจดีย์สวนหลวงสบสวรรค์ หนึ่งในพระเจดีย์ 3 องค์ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ใช้สืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

ความเชื่อเรื่องน้ำท่วมในวัฒนธรรมไทย

วันที่ออกอากาศ: 8 มกราคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 ที่เรียกว่า มหาอุทกภัย ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย จริงๆ แล้ว สังคมไทยผูกพันกับเรื่องน้ำท่วมมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยหากศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์ต่างๆ ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา ทั้งบันทึกของคนไทยเราหรือของคนต่างชาติ จะพบการอ้างถึงน้ำท่วมครั้งใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์มาโดยตลอด

 

เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 1 ปี 2328 เมื่อเริ่มสร้างเมืองได้เพียง 3 ปีก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ และมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่มาตลอดตั้งแต่รัชกาลที่ 2 จนถึง 6 จนกระทั่งปี 2485 ก็มีหลักฐานให้เห็นเป็นรูปภาพน้ำท่วมในกรุงเทพฯ จำนวนมาก

 

น้ำท่วมจึงถือเป็นภัยที่หลีกเลี่ยงเสียไม่ได้ จนเกิดศัพท์สำนวนไทยจากการสังเกตระดับน้ำ เดือน 11 น้ำนอง เดือน 12 น้ำทรง เดือนอ้าย เดือนยี่น้ำก็รี่ไหลลง ซึ่งคนไทยโบราณก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติน้ำหลากตามฤดูกาลตามคติความเชื่อและภูมิปัญญาที่มี

 

ตามโลกทัศน์ของคนไทยสมัยโบราณ มองน้ำท่วมเป็นปรากฏการณ์ของการลงโทษจากสิ่งที่มีอำนาจเหนือกว่า เช่น ในไตรภูมิพระร่วงที่กล่าวถึงการสิ้นกัปสิ้นกัลป์จากน้ำท่วมโลกไปจนถึงชั้นพรหม ในพระปฐมสมโพธิของพุทธประวัติ น้ำท่วมเป็นสัญลักษณ์ของการลงทัณฑ์ความชั่วร้ายต่างๆ ให้พ่ายแพ้แก่พุทธานุภาพ ในพุทธประวัติตอนมารผจญ พระแม่ธรณีบีบน้ำจากมวยผมไปท่วมกองทัพมารให้พ่ายแพ้ไป ในวรรณคดีมรดกเรื่อง กาพย์พระไชยสุริยา ของสุนทรภู่ กล่าวถึงน้ำท่วมที่ลงทัณฑ์ต่อบ้านเมืองที่กษัตริย์ ขุนนาง และผู้คน กระทำผิดศีลธรรมจรรยา 

ในบันทึกเหตุการณ์ในสมัยอยุธยาของชาวตะวันตกอย่าง ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) บาทหลวงตาชาร์ด (Guy Tachard) หรือ นิโคลาส แชแวร์ (Nicolas Gervaise) ก็กล่าวว่าน้ำท่วมเป็นเรื่องปกติของอยุธยาในช่วงฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลาก และมีข้อสังเกตถึงภูมิปัญญาต่างๆ ที่ชาวสยามรู้จักปรับตัวเข้ากับน้ำที่ท่วมหลากเข้ามาจนถึงในตัวพระนครโดยไม่ต้องเดือดร้อนอพยพ 

 

ชาวตะวันตกได้กล่าวถึงภูมิปัญญาการปลูกที่อยู่อาศัยของชาวสยาม ที่นิยมปลูกบ้านใต้ถุนสูง ลา ลูแบร์ กล่าวในบันทึกอย่างน่าสนใจว่า เป็นเรือนขนาดย่อมๆ มีบริเวณกว้างขวางพอใช้ พื้นเรือนใช้ไม้ไผ่สับเป็นฟาก แล้วเรียงไว้แบบไม่ค่อยดีนัก มีการนำไม้ไผ่มาสานขัดแตะเป็นฝา แล้วใช้เป็นทำเป็นหลังคาด้วย เสาตอหม้อของบ้านเรือนยกพื้นขึ้นสูงให้พ้นน้ำท่วม ราวๆ 13 ฟุต โดยใช้ไม่ไผ่ลำใหญ่ๆ แม้แต่คอกสัตว์ก็สร้างไว้กลางแจ้ง แล้วยกพื้นขึ้นเหมือนกัน ทำสะพานพาดเข้าไปยังบริเวณคอกด้วยไม้ไผ่ สำหรับให้สัตว์เลี้ยงที่อยู่ในคอกนั้น เช่น วัว ควาย ใช้ปีนขึ้นลง

 

นอกจากนี้ ยังพบการสร้างบ้านในลักษณะเรือนแพและเรือประเภทต่างๆ ที่คนไทยในสมัยอยุธยามีใช้นับร้อยประเภท ชาวตะวันตกยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า พื้นที่ของกรุงศรีอยุธยาอยู่ในที่ลุ่ม ซึ่ง ลา ลูแบร์ ประหลาดใจมากว่า ประเทศสยามสามารถรอดพ้นจากช่วงที่น้ำทะเลขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ แม้ว่าในทุกๆ ปี พื้นแผ่นดินของประเทศสยามจะจมอยู่ใต้น้ำฝน ซึ่งท่วมและขังอยู่นานเป็นหลายเดือน แต่ชาวสยามก็มีภูมิปัญญาที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพดังกล่าวนี้ได้ 

 

หากลองพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบัน แม้ว่าประเทศไทยจะมีการสร้างเขื่อนจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมหรือบรรเทาปัญหาได้มากนัก ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะคนในปัจจุบันไม่พยายามจะเข้าใจสภาพของน้ำหลากลงมาในที่ลุ่มตามธรรมชาติของฤดูกาล มีการสร้างบ้านเรือนหรือสิ่งก่อสร้างที่ขวางทางน้ำหรือเป็นพื้นที่ที่เป็นท้องทุ่งรับน้ำมาตั้งแต่อดีต ทำให้ปัญหาน้ำท่วมกลายเป็นเรื่องของการระบายน้ำที่ช้า จนกลายเป็นความเดือดร้อนของผู้คนที่ต้องมีชีวิตอยู่กับน้ำขังที่เน่าเหม็นอยู่เป็นเวลานาน 

ความเชื่อเรื่องปาฏิหารย์พระบรมธาตุในสังคมไทย

วันที่ออกอากาศ: 4 มกราคม 2558
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

การสร้างเจดีย์เป็นคติความเชื่ออย่างหนึ่งในสังคมไทย เป็นการสร้างศาสนสถานเพื่ออุทิศถวายเป็นพุทธบูชา เรียกกันว่า เจดียวัตถุ แบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ พระธาตุเจดีย์ ถวายบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมถึงอัฐิธาตุของพระอรหันตสาวก พระธรรมเจดีย์ ถวายบูชาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า พระบริโภคเจดีย์ อนุสรณ์สถานที่เกี่ยวข้องกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอรหันตสาวก อย่างเช่นสังเวชนียสถานทั้ง 4 และ อุเทสิกเจดีย์ สิ่งเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเช่นรอยพระพุทธบาทต่างๆ  

 

พระธาตุเจดีย์ ถือเป็นเจดีย์วัตถุสูงสุดที่ควรบูชาตามคติทางพุทธศาสนาของทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาท จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าความเชื่อเรื่องการถวายบูชาพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าเข้ามาพร้อมกับการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในอาณาจักรต่างๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ประเทศไทยปัจจุบัน

 

พบพระธาตุเจดีย์สมัยทวารวดีที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในกรุใต้ดินในพื้นที่ภาคกลางและภาคอีสาน พระธาตุเจดีย์ในภาคเหนือตั้งแต่แคว้นหริภุญชัยโบราณไปจนถึงแคว้นล้านนา พระธาตุเจดีย์ในกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ตลอดจนพระธาตุเจดีย์ในเมืองโบราณทางภาคใต้ อย่างเช่นพระบรมธาตุเจดีย์องค์ใหญ่ที่นครศรีธรรมราช 

 

พุทธศาสนิกชนตั้งแต่ยุคโบราณถือว่าพระบรมสารีริกธาตุเป็นพระพุทธสรีระส่วนหนึ่งของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเสมือนเป็นตัวแทนองค์พระพุทธเจ้าที่เป็นรูปธรรม ในคัมภีร์โบราณได้พรรณนาถึงลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุ โดยแบ่งไว้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ประเภทที่ยังคงรูปอัฐิธาตุ เช่น พระทนต์ พระเขี้ยวแก้ว พระรากขวัญหรือกระดูกไหปลาร้า ข้อนิ้วพระหัตถ์ เป็นต้น

 

อีกประเภทหนึ่งเป็นพระพุทธสรีระซึ่งสลายตัวเป็นเม็ดเล็กๆ มันเงา และมีสีสันต่างๆ ซึ่งเชื่อกันมาแต่โบราณว่ามีปาฏิหารย์เพิ่มจำนวนได้ และก่อให้เกิดรัศมีที่เรียกว่า พระบรมสารีริกธาตุเสด็จปาฏิหารย์ 

 

การแสดงปาฏิหารย์ของพระบรมสารีริกธาตุ เป็นเรื่องราวที่อยู่ในความเชื่อของคนไทยมาตั้งแต่โบราณ ทั้งจากการบอกกล่าวของพระสงฆ์เกจิอาจารย์และชาวบ้านทั่วไป แต่ที่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรมักเป็นบันทึกเรื่องราวในอดีตของชนชั้นสูง อาทิ จารึก ตำนาน และพงศาวดารต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับบุญบารมีของพระมหากษัตริย์ที่พบเห็นปรากฎการณ์เสด็จปาฏิหารย์ของพระบรมสารีริกธาตุ

 

หลักฐานเก่าแก่ที่สุดอยู่ในตำนานพระธาตุหริภุญชัย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 พระยาอาทิตยราชซึ่งเป็นกษัตริย์ครองนครหริภุญชัยในราชวงศ์จามเทวีทอดพระเนตรเห็นแสงรัศมีเป็น 6 สีจากพื้นดินซึ่งมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานฝั่งอยู่ใต้ดิน จึงทรงสร้างพระธาตุเจดีย์สำหรับถวายบูชา

 

ในจารึกวัดช้างล้อม กรุงสุโขทัย กล่าวถึงสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไททรงสร้างพระพุทธรูปศิลาและทอดพระเนตรเห็นพระศรีรัตนมหาธาตุกระทำปฏิหารย์สว่างดังลวดเงินเป็นแผ่นขนาดใหญ่เท่าเสื่อสาด  

 

ในพระราชพงศาวดารอยุธยาบันทึกว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุเสด็จปฏิหารย์คล้ายดาวหางตกลงมาที่พื้น จึงทรงสร้างพระปรางค์วัดพระมหาธาตุในบริเวณนั้น

 

นอกจากนี้ ยังมีบันทึกที่กล่าวถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทอดพระเนตรเห็นปฏิหารย์พระบรมสารีริกธาตุถึง 4 ครั้ง ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะทรงทำสงครามยุทธหัตถี

 

ในสมัยรัตนโกสินทร์มีบันทึกว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่างทรงมีทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุเสด็จปฏิหารย์ที่องค์พระปฐมเจดีย์ในลักษณะของการปรากฎรัศมีต่างๆ เช่นเดียวกัน

ต้นกัลปพฤกษ์

วันที่ออกอากาศ: 27 กรกฎาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ต้นกัลปพฤกษ์ เป็นต้นไม้อุดมคติตามความเชื่อที่ปรากฎในในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เช่น ไตรภูมิกถา คัมภีร์โลกสันฐาน รวมทั้งในพระสูตรต่างๆ ต่างกล่าวถึงต้นกัลปพฤกษ์ว่าเป็นต้นไม้ที่อยู่ในอุตรกุรุทวีปบ้าง อยู่บนบนสวรรค์บ้าง แต่ไม่ได้อยู่ในโลกมนุษย์ อุตรกุรุทวีปเป็นทวีปที่มีความสุขสมบูรณ์ทุกอย่าง ไม่จำเป็นต้องมีข้าวของเครื่องใช้ติดตัว หากใครประสงค์สิ่งใดก็สามารถอธิษฐานจิตใต้ต้นกัลปพฤกษ์จะได้สิ่งของตามปรารถนา

 

ในไตรภูมิพระร่วงของสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท กล่าวถึงต้นกัลปพฤกษ์ว่าเป็นต้นไม้ที่มีอยู่มากมายทั่วไปในอุตรกุรุทวีป ต้นกัลปพฤกษ์มีความสูง 100 โยชน์ กว้าง 100 โยชน์ ผู้ใดปรารถนาหาทุนทรัพย์อันใดก็สามารถสำเร็จตามความระลึกถึง

 

นอกจากไตรภูมิพระร่วงแล้ว ในคติเกี่ยวกับพระศรีอาริยเมตไตรย ว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต ก็กล่าวถึงต้นกัลปพฤกษ์ว่าเป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นจากพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้าศรีอาริยเมไตรยเมื่อทรงตรัสรู้ ซึ่งบังเกิดต้นกัลปพฤกษ์จำนวน 4 ต้นที่ปากประตูเมืองของโลกมนุษย์ แสดงถึงยุคอนาคตที่มหาชนต่างๆ จะอยู่อย่างมีความสุขสมบูรณ์

 

ในตำนานเกี่ยวกับประวัติอดีตชาติของพระอินทร์ตามคติทางพุทธศาสนา กล่าวว่าเดิมพระอินทร์เป็นบุรุษผู้ครองเรือนชื่อมาฆะมานพ มีภรรยา 4 คน มีบริวารจำนวน 32 คน ได้สร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ศาลาที่พักคนเดินทาง ด้วยอานิสงส์ของบุญกุศลทำให้บังเกิดเป็นพระอินทร์อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งก็มีต้นกัลปพฤกษ์อยู่ในสวรรค์ ตามคัมภีร์กล่าวว่าลำต้นวัดความกว้างได้ 3 ถึง 5 โยชน์ สูงถึง 50 โยชน์ แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปรอบๆ ลำต้นทั้งกว้างสูงและยาวเท่ากันคือ 100 โยชน์ 

 

ต้นกัลปพฤกษ์ จึงเป็นต้นไม้แห่งอุดมคติ เป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์พูลสุขในภพสวรรค์ เป็นมูลเหตุอันหนึ่งซึ่งปรัชญาเมธีโบราณสร้างขึ้นเป็นอุบายเพื่อจูงใจให้คนทำความดี ต้นกัลปพฤกษ์มีเข้ามามีบทบาทในงานพุทธศิลป์ โดยเฉพาะในงานภาพจิตรกรรมฝาผนังของช่างโบราณที่ถ่ายทอดคติไตรภูมิ วาดเป็นภาพต้นไม้แผ่กิ่งก้านสาขาร่มเงาใหญ่โต ตามกิ่งก้านสาขามีทรัพย์สิน แก้วแหวนเงินทอง เครื่องประดับต่างๆ แขวนอยู่ ซึ่งสะท้อนถึงความสุขสมบูรณ์

 

ในสังคมไทยยังได้ใช้ต้นกัลปพฤกษ์เป็นสัญลักษณ์ในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการให้ทานทั้งในรูปแบบเงินทองและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในจารึกวัดป่ามะม่วงสมัยสุโขทัย ด้านที่ 2 ได้กล่าวถึงการบำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหาธรรมราชาลิไท โปรดให้จัดตกแต่งต้นกัลปพฤกษ์สำหรับถวายพระมหาสามีสังฆราชและพระเถวระผู้ใหญ่ โดยจัดต้นไม้จำลองเป็นต้นกัลปพฤกษ์ นำเครื่องบูชาเข้าตอกดอกไม้หมากพลู ทรัพย์สินและจตุปัจจัยต่างๆ แขวนไว้สำหรับถวายพระสงฆ์

 

สืบมาจนถึงสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ พบว่าในการพระเมรุพระเจ้าแผ่นดินหรือการถวายพระเพลิงราชวงศ์ชั้นสูง หรือในงานฉลิมฉลองสมโภชต่างๆ จะมีการสร้างต้นกัลปพฤกษ์จำลองสำหรับการทิ้งทาน มีการนำเหรียญสตางค์หรือเงินสอดไว้ในลูกมะนาวแล้วแขวนไว้ตามต้นกัลปพฤกษ์ หรือนำทรัพย์สินเงินทองผ้าผ่อนวางไว้ที่โคนต้นเพื่อเป็นทานแก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะคนยากคนจน 

 

คนไทยปัจจุบันยังรับรู้คติเรื่องต้นกัลปพฤกษ์ว่าเป็นต้นไม้ที่ให้ทรัพย์สมบัติต่างๆ จึงได้วิวัฒนาการมาเป็นกิจกรรมสอยกัลปพฤกษ์ โดยจัดสร้างต้นกัลปพฤกษ์จำลองแล้วนำฉลากมาแขวนไว้เพื่อนำไปขึ้นรางวัล ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังคงสะท้อนคติความเชื่อเกี่ยวกับต้นกัลปพฤกษ์ในฐานะสัญลักษณ์ของความสุขความอุดมสมบูรณ์สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ตำนานพระร่วง

วันที่ออกอากาศ: 7 ตุลาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พระร่วง ถือเป็นวีรบุรุษในตำนานของคนไทยมาตั้งแต่อดีตกาล ซึ่งในความจริงเป็นบุคคลสมมุติทางประวัติศาสตร์ที่คนไทยรับรู้ในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณและเป็นแรงบันดาลใจให้ประชาคมไทยปลดแอกจากรัฐขอม จนสามารถตั้งรากฐานบ้านเมืองของคนไทยที่เป็นอิสระ

 

ตำนานพระร่วงปรากฏเป็นตำนานปรัมปรา มุขปาถะ และนิทานชาวบ้าน ของกลุ่มคนไทยในหลายๆ ภูมิภาค ได้แก่ พงศาวดารเหนือ พงศาวดารมอญ แม้กระทั่งในตำนานของเมืองนครศรีธรรมราชก็มีการกล่าวถึงพระร่วงซึ่งเป็นกษัตริย์สุโขทัยมาอัญเชิญพระพุทธสิหิงส์ขึ้นไปประดิษฐานที่เมืองสุโขทัย

 

ตำนานพระร่วงในพงศาวดารเหนือที่กล่าวถึงพระองค์ในฐานะต้นวงศ์ของกษัตริย์สุโขทัยมีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ พระร่วงสวรรคโลก กล่าวถึงพระร่วงที่เป็นโอรสของกษัตริย์องค์หนึ่ง ซึ่งครองเมืองแล้วออกไปบำเพ็ญพรตอยู่ในป่าชื่อพระอภัยราชาคามณี โดยเหตุการณ์เกิดที่เมืองสวรรคโลก บริเวณแก่งหลวงซึ่งอยู่ในเขตอำเภอหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

 

อีกตำนานหนึ่งคือ พระร่วงชาวละโว้ผู้มีวาจาสิทธิ์ ทรงเป็นบุตรของนายคงเครา หัวหน้าชาวไทยที่ต้องส่งส่วยน้ำให้ขอม  เมื่อถึงเวลาที่ชาวไทยต้องส่งส่วยน้ำโดยบรรจุในเครื่องดินเผาจากเมืองลพบุรีไปเมืองขอม เนื่องจากเครื่องดินเผาเป็นภาชนะหนัก พระร่วงจึงใช้วาจาสิทธิ์ขอให้ชะลอมสามารถใส่น้ำได้จึงทำให้การขนส่งน้ำมีน้ำหนักเบาและจัดส่งได้ทันเวลา

 

พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์กษัตริย์ขอมจึงเกิดความอาฆาตมาตรร้ายทำให้ต้องหนีไปบวชที่เมืองสุโขทัย กษัตริย์ขอมก็ส่งสายลับดำดินไปโผล่ที่ลานวัด พระร่วงจึงเอ่ยวาจาสิทธิ์ให้หยุดอยู่ตรงนั้นทำให้สายลับกลายเป็นหินไป

 

ตำนานพระร่วงชาวละโว้นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงนำมาพระราชนิพนธ์เป็นบทละครเรื่องพระร่วง ซึ่งเป็นเรื่องการปลดแอกประชาคมไทยและก่อตั้งรัฐอิสระจากของ โดยพระร่วงได้เป็นกษัตริย์ครองกรุงสุโขทัยสืบต่อมา โดยมีพระราชประสงค์เพื่อปลูกฝังให้คนไทยมีความยึดมั่นต่อชาติและพระมหากษัตริย์ ซึ่งทำให้คนไทยรับรู้วีรกรรมของพระร่วงตามตำนานฉบับมาจนถึงปัจจุบัน

 

การเชื่อมโยงพระร่วงกับการสืบเชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์สุโขทัยค่อนข้างมีความคลุมเครือ เพราะในทางประวัติศาสตร์ถือว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นผู้สถาปนารัฐสุโขทัย จากการศึกษาจารึกสมัยสุโขทัยที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้กล่าวเรียกพระองค์และกษัตริย์ที่สืบเชื้อสายจากพระองค์ว่าพระร่วงเลย เพียงแต่ได้รับการเรียกขานจากเมืองใกล้เคียงว่าวงศ์พระร่วง

 

อย่างไรก็ตาม ก็มีการใช้คำว่าพระร่วงในการเรียกชื่อสถานที่โบราณต่างๆ อาทิ  โทรกพระร่วงลองพระขันธ์ ซึ่งเป็นร่องน้ำธรรมชาติที่ตำนานกล่าวว่าพระร่วงใช้พระขันธ์ฟันหินตรงนั้นให้แตกออกเป็นร่องน้ำ เพื่อให้น้ำจากเทือกเขาไหลลงไปยังเมืองสุโขทัยได้ ท่อปู่พญาร่วง ท่อส่งน้ำไปยังเมืองสุโขทัย ซึ่งคำว่า ปู่พญา ที่ปรากฏในจารึกสุโขทัยมักหมายถึงบรรพบุรุษที่กษัตริย์ให้ความเคารพนบนอบ ชื่อเรียกสถานที่โบราณเหล่านี้เป็นการแสดงถึงการรับรู้ถึงตำนานหรือความเป็นวีรบุรุษของพระร่วงในสังคมโบราณ

 

การเริ่มต้นใช้คำว่าพระร่วงแทนพระนามของกษัตริย์สุโขทัยนั้น ปรากฏอยู่ในพงศาวดารเหนือในเหตุการณ์ที่กษัตริย์ 3 พระองค์ที่เป็นพระสหายร่วมสาบานชี้พื้นที่สำหรับสร้างนครพิงค์ ได้แก่ พญามังรายของล้านนา พญางำเมืองของรัฐพะเยา และพระร่วงของสุโขทัย ซึ่งพระร่วงองค์นี้หมายถึง พระยารามราช หรือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช  

 

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีสันนิษฐานว่า พระร่วงที่นครรัฐต่างๆ ใช้เรียกกษัตริย์สุโขทัยนั้น คงหมายถึงพระยารามราชหรือพ่อขุนรามคำแหง โดยเรียกว่า พระยาร่วง หรือบางตำนานทางภาคเหนือเรียกเป็นภาษาบาลีว่า พญารังคราช ภายหลังจึงนำใช้เรียกกษัตริย์ที่สืบเชื้อพระวงศ์ต่อจากพ่อขุนรามคำแหงแทนด้วยคำว่าพระร่วงทั้งหมด แม้แต่ในสมัยอยุธยาก็ยังคงออกนามเชื้อพระวงศ์ที่สืบสายมาจากกษัตริย์สุโขทัยว่า วงศ์พระร่วง

ตำราดูแมว

 

วันที่ออกอากาศ: 22 กรกฎาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

แมว เป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้านในสังคมไทยมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ซึ่งได้อภิสิทธิ์ให้ขึ้นไปอยู่บนเรือนได้ ดังเห็นได้จากประเพณีการขึ้นบ้านใหม่ของคนไทยที่นิยมมอบข้าวของที่เป็นสิ่งของมงคลต่างๆ แก่เจ้าของเรือน ซึ่งรวมถึงสัตว์เลี้ยง 2 ชนิด คือ ไก่ และ แมว

 

นอกจากนี้ ในสุภาษิตหรือสำนวนไทยต่างๆ มีการกล่าวถึงแมวซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้านอยู่มากมาย เช่น หุงข้าวประชดหมา-ปิ้งปลาประชดแมว ฝากปลาย่างไว้กับแมว หรือ แมวนอนหวด ก็สะท้อนให้เห็นว่าแมว เป็นสัตว์เลี้ยงใกล้ชิดของคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ

 

คนไทยโบราณเชื่อว่าการเลี้ยงแมวที่มีลักษณะดีจะทำให้เกิดคุณแก่เจ้าของบ้านจนกลายเป็นค่านิยมสืบต่อกันมา และได้บันทึกลายลักษณ์อักษรจนเกิดเป็นตำราดูแมว    

 

สันนิษฐานว่า ตำราดูแมว มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งเป็นหนึ่งในตำราพรหมชาติ กล่าวกันว่าเป็นตำราโบราณที่คัดลอกสืบต่อกันมา ซึ่งมีฉบับหนึ่งอยู่ในความครอบครองของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) สมเด็จพระราชาคณะผู้ใหญ่รูปหนึ่งในรัชกาลปัจจุบัน ท่านเป็นพระเถระที่โปรดการเลี้ยงแมวเป็นพิเศษ

 

ตำราดูแมวดังกล่าวเป็นสมุดข่อย มีเนื้อหาแต่งเป็นโคลง และมีภาพวาดพันธุ์แมวต่างๆ ประกอบ ในตำรานี้กล่าวถึงแมวพันธุ์ต่างๆ 23 สายพันธุ์ แบ่งเป็นแมวมงคล 17 สายพันธุ์ และแมวให้โทษอีก 6 สายพันธุ์

 

แมวที่เป็นมงคล ได้แก่ เช่น แมววิเชียรมาศ มีขนสีเหลืองนวล มีแต้มสีน้ำตาลออกน้ำตาลเข้ม 9 จุด และตาสีฟ้าสวยงามมาก แมวศุภลักษณ์ หรือแมวทองแดง ขนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลแดงทั้งตัว แมวมาเลศ หรือแมวโคราช มีสีเทาทั้งตัว แมวนิลรัตน์ หรือแมวโกนจา เรียกทั่วๆ ไปว่าแมวดำปลอด มีสีดำทั้งตัวและมีหางยาว

 

แมวเก้าแต้ม  เป็นแมวสีขาวแต่มีจุดแต้มสีดำตามลำตัว 9 จุด แมวปัดเศวต เป็นแมวดำแต่มีขนบริเวณหน้าอกเป็นสีขาวโดยรอบไปถึงหลัง แมวแซมเสวตร เป็นแมวสีดำแต่จะมีขนสีขาวแซมทั้งตัว แมวขาวมณี หรือขาวปลอด มีสีขาวทั้งตัว

 

นอกจากนี้ ยังมีแมวที่ตำรากล่าวถึงอีก อย่างเช่น แมวกระจอก แมวสิงหเสพย์ แมวการเวก แมวจตุบท เป็นต้น แมวต่างๆ เหล่านี้จะให้คุณแก่ผู้เลี้ยงแตกต่างกันไป ทั้งในเรื่องโชคลาภ ทรัพย์สินเงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือการเสริมสร้างเสน่ห์

 

แมวที่เป็นโทษ ได้แก่ แมวทุพลเพศ เกิดมาพิการ แมวพรรณพยัคฆ์ หรือแมวลายเสือ แมวปีศาจ คือแมวที่กินลูกตัวเอง แมวหิณโทษ คือแมวที่ลูกตายในท้องด้วย  แมวกอบเพลิง เป็นแมวที่ชอบซุกตัวอยู่ตามมุมต่างๆ ไม่รับแขก และแมวเหน็บเสนียด มีหางลักษณะคดงอ มักเอาหางเหน็บไว้ใต้ท้อง ซึ่งเชื่อกันว่าแมวเหล่านี้จะนำความเดือดร้อนมาให้แก่ผู้เลี้ยง 

 

นอกจากตำราดูแมวพรหมชาติแล้วยังมีตำราดูแมวสำคัญอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลความเชื่อมาจากตำราตะวันตก กล่าวถึงรูปพรรณสัณฐานของแมวมงคลที่แต่งต่างจากตำราเดิม

 

ตัวอย่างเช่น แมวลายเสือ กลายเป็นแมวมงคลเนื่องจากสามารถเลี้ยงไว้ปราบหนู นก งู ภายในบ้านได้เป็นอย่างดี แมวสีทอง หรือแมวจิงเจอร์ เลี้ยงไว้ในบ้านจะทำให้มีเสน่ห์ แมวสีเทาเป็นแมวนักปราชญ์ รวมถึงแมวด่างและแมวสีทองแดงก็เป็นแมวให้คุณ

 

หากวิเคราะห์ตำราดูแมวที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะพบว่าแมวที่ให้คุณล้วนแต่มีรูปพรรณสัณฐานที่ดี ในขณะที่แมวที่ไม่ควรเลี้ยงจะมีลักษณะไม่พึงประสงค์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของคนไทยในเรื่องรูปลักษณ์ โดยเฉพาะการเลี้ยงแมวซึ่งเป็นสัตว์อยู่ในเรือนก็ถือเป็นหน้าเป็นตาของบ้านอย่างหนึ่ง คนไทยจึงนิยมเลี้ยงแมวที่มีลักษณะชวนมองและเป็นที่นิยมชมชอบแก่ผู้พบเห็น  

น้ำศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรมไทย

วันที่ออกอากาศ: 29 กันยายน 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์    

 

 

สังคมไทยเป็นสังคมที่ต้องพึ่งพาน้ำมาตั้งแต่โบราณ ด้วยเป็นสังคมเกษตรที่ต้องพึ่งฟ้าฝนในการเพาะปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ ในการดำรงชีพ รวมถึงการใช้น้ำเพื่อบริโภคและชำระร่างกายในชีวิตประจำวัน นอกจากที่ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของน้ำ ในลักษณะของน้ำมนต์หรือน้ำศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่มีคุณสมบัติในการชำระสิ่งที่สกปรกสิ่งที่เป็นมลทินและไม่เป็นมงคลทั้งหลายให้ออกจากร่างกายมนุษย์ไป

 

ความเชื่อเรื่องน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ แต่เดิมไม่ได้เป็นคติในพุทธศาสนา จากการศึกษาวรรณกรรมหรือคัมภีร์โบราณต่างๆ ในพระพุทธศาสนา ไม่พบเรื่องพิธีกรรมเสกน้ำพระพุทธมนต์ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพิธีกรรมหรือธรรมเนียมที่พุทธศาสนารับมาภายหลังจากยุคที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์หรือยุคพุทธกาลไปแล้ว

 

ปรากฏเป็นพิธีกรรมทางพุทธทั้งในนิกายมหายานและเถรวาท โดยฝ่ายมหายานจะมีพิธีกรรมที่ซับซ้อนกว่าฝ่ายเถรวาท ซึ่งถือว่าการเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์มาจากโองการของพระพุทธเจ้า จึงใช้ในการรดน้ำบนรูปเคารพต่างๆ โดยถือความสำคัญของน้ำสะอาดว่าเป็นปัจจัยสำหรับชำระร่างกายหรือสิ่งต่างๆ ให้บริสุทธิ์ นำมาซึ่งความเป็นมงคล

 

แนวคิดดังกล่าวปรากฏในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา อย่างเช่นในพุทธประวัติที่เสด็จไประงับทุพภิกขภัยในเมืองสาวัตถี ด้วยพุทธานุภาพบรรดาให้ฝนโบกขรพรรษ ซึ่งเป็นฝนบริสุทธิ์ตกลงมาล้างทุพภิกขภัยในเมืองสาวัตถี ในพระสูตรที่กล่าวถึงพระอินทร์ลงมาเนรมิตสระโบกขรณีให้พระพุทธเจ้าทรงซักผ้าเพื่อทรงนำไปใช้สอย

 

หรือเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าใกล้ปรินิพพานทรงโปรดให้พระอานนท์ไปตักน้ำในแม่น้ำใกล้ที่ประทับ แต่เนื่องจากมีกองเกวียนขนสินค้าเดินข้ามแม่น้ำมาทำให้น้ำขุ่น พระอานนท์จึงตักน้ำไม่ได้ แต่ด้วยพุทธานุภาพทรงทำให้แม่น้ำกลายเป็นน้ำใส จึงสามารถตักไปเป็นพุทธบริโภคได้ เป็นต้น

 

ในพระราชพิธีสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน หากพระมหากษัตริย์ต้องใช้น้ำในการประกอบพิธีต่างๆ หรือมีธรรมเนียมที่ต้องใช้น้ำในการชำระ จำเป็นต้องใช้น้ำที่เสกเป็นพระพุทธมนต์หรือน้ำเทพมนต์ โดยมีประเพณีมี่กำหนดแหล่งน้ำที่ต้องนำมาใช้

 

อาทิ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรว่าใช้น้ำจากแม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเพชรบุรี  โดยตักน้ำจากวัดสำคัญซึ่งมีปูชนียวัตถุ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หรือมีพระธาตุเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ ในเมืองที่แม่น้ำสายนั้นไหลผ่าน อย่างเช่นแม่น้ำบางปะกงให้ตักน้ำที่หน้าวัดโสธร แม่น้ำแม่กลองในเขตจังหวัดราชบุรีให้ตักน้ำหน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นต้น

 

แล้วนำมารวมกับน้ำปัญจมหานทีตามธรรมเนียมพราหมณ์เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรม พระราชพิธีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในขั้นตอนการสรงน้ำพระมูรธาภิเษก พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระราชพิธีสมโภชต่างๆ ในขั้นตอนการสรงพระพักตร์ เป็นต้น

 

การใช้น้ำมนต์ในพิธีกรรมทางพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับการเจริญพระพุทธมนต์ คือ การทบทวนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าพระสูตรต่างๆ ซึ่งปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก พุทธศาสนิกชนเชื่อว่าการทบทวนคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยการเปล่งเสียง เป็นการสร้างให้เกิดพลังงานศักดิ์สิทธิ์และสามารถถ่ายทอดลงไปในน้ำพระพุทธมนต์

 

โดยพระสงฆ์ที่เป็นประธานในพิธีกรรมจะหยดน้ำตาเทียนน้ำผึ้งลงไปในขันน้ำ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของการ ถ่ายทอดพลังของพระพุทธมนต์ลงไปในน้ำ ที่เรียกว่า การเสกน้ำพระพุทธมนต์ แล้วจึงนำน้ำไปใช้ในพิธีกรรมต่างๆ อาทิ งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานศพ หรืองานทำบุญต่างๆ เป็นต้น

พุทธชยันตี

วันที่ออกอากาศ: 3 มิถุนายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ในปีพุทธศักราช 2555 ประเทศไทยได้จัดงานเฉลิมฉลองงานพุทธชยันตี ซึ่งเป็นเทศกาลทางพุทธศาสนาที่เกี่ยวเนื่องกับวันวิสาขบูชา เพื่อเป็นการระลึกถึงวาระครบรอบ 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบหลักธรรมและแก่นแท้ของสรรพสิ่ง ซึ่งต่อมาทรงได้นำสิ่งที่พระองค์ค้นพบไปเผยแพร่แก่มนุษย์ทั้งหลายเพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง 

 

ในสังคมไทยถือว่าพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมมาอย่างช้านาน ซึ่งพุทธศาสนาได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับจารีตประเพณี พิธีกรรม และวิถีชีวิตของคนไทยในหลายๆ ด้าน แต่กระนั้นการตระหนักถึงแก่นแท้ในหลักธรรมของพุทธศาสนาและความพยายามในการให้คำอรรถาธิบายถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้นั้น เพิ่งเริ่มมีความตื้นตัวมากขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง

 

หากพิจารณาคัมภีร์หรือเอกสารทางพุทธศาสนาในสมัยโบราณ อาทิ ไตรภูมิพระร่วง ชินกาลมาลีปกรณ์ หรือ คัมภีร์มหาปุริสลักษณะ ก็ไม่ได้ให้คำอธิบายว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สิ่งใด ส่วนใหญ่มักกล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในพุทธประวัติ หรืองานพุทธศิลป์สมัยต่างๆ

 

จนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์นับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา โลกทัศน์สมัยใหม่แบบตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลต่อความคิดของกลุ่มชนชั้นสูงและปราชญ์นักคิดต่างๆ ในวงการพุทธศาสนา จึงมีการตั้งคำถามถึงสิ่งที่เป็นแก่นแท้ในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยพยายามค้นคว้า รวบรวม และให้คำอรรถาธิบายสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เพื่อถ่ายทอดความรู้แก่พุทธศาสนิกชนต่อไป

 

ซึ่งมีปราชญ์นักคิดสำคัญๆ ได้แก่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวิชรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จนมาถึงปราชญ์ร่วมสมัยอย่าง พระธรรมโกศาจารย์ หรือท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นต้น 

 

สำหรับพื้นฐานสำคัญของสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้จำแนก ไว้ 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ธรรมะ ซึ่งเป็นหลักความจริงของโลกที่ดำรงอยู่ชั่วกาลปาวสาร แม้พระองค์ไม่ทรงตรัสรู้ความจริงเหล่านี้ก็จะยังคงมีอยู่ พระองค์เป็นเพียงผู้ค้นพบแล้วหยิบยกมาเผยแพร่แก่ชาวโลก

 

ประการต่อมา พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ อริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งเป็นหลักความจริงเกี่ยวกับความทุกข์ เหตุแห่งการเกิดทุกข์ และหนทางสู่การดับทุกข์ และประการสุดท้าย พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ พระปัญญาคุณ คือการจำแนกหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้ออกเป็นหมวดหมู่ ตามระดับของความยากง่าย เพื่อทรงใช้สั่งสอนแก่เวยไนยสัตว์ต่อไป

 

ต่อมาในภายหลัง ท่านพุทธทาสภิกขุ ยังได้ให้คำอรรถาธิบายของสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ในระดับที่ลึกลงไปกว่าหลักอริยสัจ 4 โดยแจกแจงให้เห็นหลักธรรมสำคัญอีก 2 ประการ ได้แก่ อิทัปปัจจยตา กฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่ว่าด้วยการอิงอาศัยเป็นเหตุเป็นผลกันไปอย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุปัจจัย และ ปฏิจจสมุปบาท การเกิดขึ้นของความรู้สึกนึกคิดจนเป็นเหตุแห่งความทุกข์ทั้ง 12 ประการ อันเนื่องมาจากความไม่รู้ ความจริงแท้ที่ถูกต้องคือการรู้ว่าความทุกข์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร การดับทุกข์ทำได้อย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นธรรมขั้นสูงที่ชี้ให้เห็นถึงเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งนำไปสู่การเวียนว่ายตายเกิดของชีวิตมนุษย์

 

ปัจจุบัน ความตื่นตัวในการศึกษาค้นคว้าในเรื่องของหลักธรรมและแก่นแท้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีตำราหรือหนังสือทางพุทธศาสนาเผยแพร่ไปสู่ผู้ที่สนใจจำนวนมาก หนึ่งในหนังสือสำคัญเรื่องหนึ่ง คือ พระพุทธเจ้าสอนอะไร นิพนธ์โดยสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงอุตสาหะนิพนธ์ตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อให้การสอนพระพุทธศาสนาในสังคมไทยตรงตามแนวทางในพระพุทธวจนะ หรือแก่นความคิดสำคัญที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้

วัฒนธรรมดอกไม้

วันที่ออกอากาศ: 25 พฤษภาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ดอกไม้ มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทยอย่างมาก วัฒนธรรมการนำดอกไม้ชนิดต่างๆ มาใช้ประกอบอาหาร การนำดอกไม้จากธรรมชาติมาประดิษฐ์ถักร้อยเป็นเครื่องตกแต่งต่างๆ รวมถึงบทบาทของดอกไม้ในฐานะแม่แบบของลวดลายที่ปรากฏในงานศิลปกรรมและงานประณีตศิลป์ของไทย

 

วัฒนธรรมดอกไม้ในสังคมไทยยังมีความเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาของผู้คนมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนาซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในสังคมไทยให้ความเคารพนับถือ 

 

ในพระพุทธศาสนา มีคติเกี่ยวข้องกับดอกไม้ปรากฎอยู่ในพระสูตรต่างๆ โดยยกย่องให้ดอกไม้นานาพรรณเป็นของสูงควรค่าแก่การนำมาบูชาสมเด็จพระสัมมสัมพุทธเจ้า พระอรหัตถ์ และพระสาวก รวมถึงการบูชาพระสัตย์ธรรมที่เป็นคำสอนของพระพุทธองค์ ดังนั้นดอกไม้จึงอยู่ในฐานะวัตถุบูชาทางพระพุทธศาสนาตามคติความเชื่อของคนไทยมาตั้งแต่โบราณ แม้ก่อนยุคที่พุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ฮินดูจะเข้ามามีอิทธิพลในสังคม วัฒนธรรมการใช้ดอกไม้เป็นเครื่องสักการะเซ่นสรวงวิญญาณหรือพลังอำนาจเหนือธรรมชาติต่างๆ ก็ดำรงมาอยู่ก่อนแล้ว 

 

ในพระพุทธประวัติและพระสูตรต่างๆ ในพระไตรปิฎก ได้กล่าวถึงพันธุ์ดอกไม้ที่ค่าควรแก่การนำมาถวายบูชา ได้แก่ ดอกบัว ถือเป็นดอกไม้สำคัญเป็นอันดับแรก ปรากฏอยู่ในคติและพระสูตรต่างๆ มากมาย อาทิ คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงแบ่งจำพวกของคนออกเป็นบัว 4 เหล่า เป็นการเปรียบเทียบพระสัตย์ธรรมของพระพุทธเจ้ากับดอกบัว

 

ในคติพระพุทธศาสนามหายาน พระโพธิสัตว์หลายองค์ทรงถือดอกบัวอยู่ในพระหัตถ์ ในทางประติมานวิทยาถือว่ามีความสำคัญในเชิงปรัชญาด้วย

 

ในงานพุทธศิลป์ตามคติพระพุทธศาสนาเถรวาทก็นำดอกบัวมาใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญๆ หลายอย่าง อย่างเช่นพุทธอาสน์ที่ประทับของพระพุทธเจ้าก็ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นรูปดอกบัว ผู้คนจึงนิยมใช้ดอกบัวในการบูชาพระพุทธศาสนา ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้หลายพันธุ์หลายสี ทั้งบัวหลวง บัวสาย บัวสตบงกฎ ทั้งสีขาวและสีชมพู

 

ดอกมะลิ เป็นดอกไม้อีกชนิดที่ปรากฎอยู่ในพระพุทธประวัติ อาทิเรื่องของนายสุมนมาลาการ ผู้ดูแลสวนดอกไม้ของพระเจ้าพิมพิสาร พระราชาแห่งนครราชคฤห์ ซึ่งทรงปวารณาตัวเป็นพุทธมามกะคนแรก นายสุมนมาลาการมีหน้าที่เก็บดอกมะลิในพระราชอุทธยานส่งขึ้นถวายพระเจ้าพิมพิสารเป็นประจำทุกวัน

 

แต่วันหนึ่งบังเอิญเห็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาทผ่านมา ก็มีปิติศรัทธานำดอกมะลินั้นไปถวายเป็นพุทธบูชา แทนที่พระเจ้าพิมพิสารจะทรงกริ้วกลับอนุโมทนาและพระราชทานบำเหน็จความชอบแก่นายสุมนมาลาการผู้นี้ ดอกมะลิที่มีสีขาวและมีความหอมจึงกลายเป็นดอกไม้อีกชนิดสำหรับใช้ในพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา

 

ในวัฒนธรรมไทยสามารถนำดอกมะลิมาใช้บูชาพระได้หลายรูปแบบ ปักแจกันใส่พานตั้งบูชา หรือนำมาร้อยเป็นพวงมาลัย ทั้งมาลัยกลม มาลัยซีก และมาลัยตุ้ม ในพระราชพิธีของราชสำนักพบว่ามีการใช้ดอกมะลิเป็นสัญลักษณ์ในการพระราชกุศลมาฆบูชา ในพระราชพิธีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะทรงประทับบนธรรมาสน์เทศน์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงโปรยดอกมะลิจำนวน 1,250 ดอก เป็นการบูชาพระอรหัตถ์ตามจำนวนที่กล่าวถึงในตำนานวันมาฆบูชา

 

นอกจากดอกบัวและดอกมะลิแล้ว ดอกไม้หอมสีขาวที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับมะลิ เช่น ดอกพุทธ ดอกเขี้ยวกระแต ดอกราตรี ดอกโมก ดอกแก้ว รวมถึงดอกไม้หอมชนิดอื่นๆ อย่างเช่นดอกกุหลาบที่มีสีสันสวยงาม ในวัฒนธรรมไทยก็นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องบูชาได้เช่นกัน

สัตว์หิมพานต์

สัตว์หิมพานต์ หมายถึง สัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นป่าในเทพปกรนัมตามคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนาแถบชมพูทวีป ในคัมภีร์ของพราหมณ์และไตรภูมิของพระพุทธศาสนา ระบุตำแหน่งของป่าหิมพานต์ว่าอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างชมพูทวีปกับเขาพระสุเมรุ หรือบริเวณเชิงเขาพระสุเมรุ ซึ่งจินตนาการมาจากป่าที่อยู่ระหว่างตอนเหนือของประเทศอินเดียและตอนใต้ของประเทศเนปาล บริเวณเชิงเขาหิมาลัยซึ่งเป็นป่าดงดิบเขตร้อนที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก

 

แม้ว่าป่าหิมพานต์จะเป็นในจินตนาการ  แต่ในคัมภีร์โบรารณได้บรรยายภาพรายละเอียดของป่าไว้อย่างละเอียด ทั้งชนิดของพันธุ์ไม้ในป่าหิมพานต์ ภูมิทัศน์ที่ตั้งของโขดหิน ลำธาร หรือแหล่งน้ำต่างๆ ซึ่งมีลักษณะพิเศษแต่งต่างจากป่าในความเป็นจริง รวมทั้งได้บรรยายชนิดของสัตว์ต่างๆ ในป่าหิมพานต์อย่างละเอียด ทั้งลักษณะ อากัปกิริยา หรือคุณลักษณะที่แตกต่างกันไป บ้างดุร้ายน่ากลัว บ้างน่ารักน่าเอ็นดูไม่มีพิษภัย บ้างงดงามน่าชม ซึ่งสะท้อนในเห็นถึงสังคมโบราณที่มีคนทั้งดีและร้ายปะปนกัน

 

ในวัฒนธรรมไทยเราได้หยิบยกคุณลักษณะของสัตว์ป่ามาใช้เป็นภาพแทนของสัตว์หิมพานต์ อย่างเช่น การนำภาพของสิงโตซึ่งเป็นสัตว์ป่าล่าเหยื่อ มีคุณลักษณะดุร้ายทระพลังกำลัง มาเป็นภาพแทนของ ราชสีห์ ซึ่งเป็นเจ้าแห่งป่าหิมพานต์ มีพละกำลังอำนาจมากจนเป็นที่ยำเกรงของบรรดาสัตว์ทั้งหลาย

 

สัตว์หิมพานต์ที่มีลักษณะแสดงถึงความดีงาม มีความอ่อนหวาน ลักษณะกึ่งเทพกึ่งมนุษย์ ได้ใช้คุณลักษณะของมนุษย์เข้ามาเป็นสัญลักษณ์ ได้แก่ กินนร และ กินนรี ภาพแทนของนกทัณฑิมาที่เป็นพญานก ได้เค้าจากนกอินทรีหรือเหยี่ยว หรือ หงส์ ที่เป็นสัตว์หิมพานต์ที่มีความสวยงามก็ได้ภาพจินตนาการมาจากห่าน เป็นต้น 
 
ภาพของสัตว์หิมพานต์ปรากฏอยู่ทั่วไปในศิลปะแขนงต่างๆ ของไทย อาทิ งานประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีราชสีห์หล่อสัมฤทธิ์แบบเขมรบายนที่เชิงบันไดทางขึ้นพระอุโบสถ ราชสีห์สีขาวแกะสลักจากหินอ่อนอยู่หน้าและหลังพระอุโบสถ  

 

ในวัดเบญจมบพิตรมีราชสีห์ประดับด้วยลายกนกแบบไทยอยู่ที่บันไดทางขึ้นพระวิหาร  ภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปราชสีห์และคชสีห์ในพระอุโบสถวัดสุทัศน์เทพวนาราม เป็นการแบ่งลักษณะตระกูลของราชสีห์และคชสีห์ แสดงให้เห็นจากสีกายไว้อย่างงดงาม  และภาพป่าหิมพานทั้งผืนถือเป็นหนึ่งในงานจิตรกรรมฝาผนังชิ้นเอกในสมัยรัชกาลที่ 3 

 

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ภาพสัตว์หิมพานต์มาเป็นตราสัญลักษณ์ทางราชการ เช่น คชสีห์ในตราสัญลักษณ์กระทรวงกลาโหม ราชสีห์ในตราสัญลักษณ์กระทรวงมหาดไทย หรือการใช้หงส์เป็นหัวเรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ เป็นต้น

สีประจำวัน

คนไทยนิยมการใส่เสื้อผ้าตามสีประจำวันมาตั้งแต่อดีต เพื่อให้ถูกกาลเทศะและถูกโฉลก โดยมีความเชื่อว่าสีประจำวันมีพลังอย่างหนึ่งในการกำหนดความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตมนุษย์ ในงานประพันธ์สำคัญเรื่องหนึ่งของสุนทรภู่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อ และการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเหมาะสมในสังคมไทยก็มีการกล่าวถึงเรื่องการใส่เสื้อผ้าตามสีประจำวัน 

 

สวัสดิรักษา เป็นบทประพันธ์ที่สุนทรภู่ใช้ถวายการสอนสมเด็จเจ้าฟ้าอาภรณ์พระเจ้าลูกยาเธอ ในรัชกาลที่ 2 โดยกล่าวถึงสีของเสื้อผ้าที่จะทรงในโอกาสออกไปรบทัพจับศึก กล่าวว่า 

 

อนึ่งภูษาผ้าทรงณรงค์รบ

ให้ครบเครื่องเสร็จทั้งเจ็ดสี 
วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี 

เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล 
เครื่องวันจันทร์นั้นควรสีนวลขาว

จะยืนยาวชันษาสถาผล 
อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน

เป็นมงคลขัตติยาเข้าราวี 
 

เครื่องวันพุธสุดสีด้วยสีแสด

กับเหลือบแปดปนประดับสลับสี 
วันพฤหัสจัดเครื่องเขียวเหลืองดี

วันศุกร์สีเมฆหมอกออกสงคราม 
วันเสาร์ทรงดำจึงล้ำเลิศ

แสนประเสริฐเสี้ยนศึกจะนึกขาม 
หนึ่งพาชีขี่ขับประดับงาม

ให้ต้องตามสีสรรพ์จึงกันภัยฯ 

 

การที่สุนทรภู่ประพันธ์ธรรมเนียมของสีเสื้อผ้าประจำวันได้ แสดงว่าในสมัยนั้นได้มีธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งแม้แต่ตำราพิชัยสงครามยังมีการกำหนดสีของเสื้อผ้าด้วย

 

การกำหนดสีเหล่านี้มีที่มาจากสีประจำกายของเทพยดานพเคราะห์ ได้แก่ กายสีแดงของพระอาทิตย์ กายสีนวลของพระจันทร์ กายสีม่วงครามของพระอังคาร กายสีเขียวหรือสีเลื่อมแสดของพระพุธ กายสีเลื่อมเขียวเหลืองของพระพฤหัส กายสีเมฆหมอกของพระศุกร์ และกายสีดำของพระเสาร์ ซึ่งสีประจำวันเหล่านี้ไม่เหมือนกับปัจจุบัน

การเปลี่ยนสีประจำวันมาเป็นสีสันที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ วันอาทิตย์สีแดง วันจันทร์สีเหลือง วันอังคารสีชมพู วันพุธสีเขียว วันพฤหัสบดีสีแสด วันศุกร์สีฟ้า วันเสาร์สีม่วง สันนิษฐานว่าเริ่มเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการรับธรรมเนียมตะวันตกเข้ามา

 

มีบางสีไม่ต้องด้วยความนิยมตามคติตะวันตก อย่างสีดำที่ไม่เป็นมงคลสำหรับชาวตะวันตก หรือมีบางสีที่ไม่ชัดเจนหรือมีความซ้ำซ้อน อย่างสีเลื่อมแสด สีเลื่อมเขียวเหลือง สีเมฆหมอก จึงได้เทียบเคียงหรือเปลี่ยนมาใช้สีที่เป็นโทนสีสากลแทน

 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังได้เริ่มประเพณีในราชสำนักที่นำธรรมเนียมการใช้สีประจำวันมากำหนด เช่น การใช้สีประจำพระองค์ของพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ และพระบรมวงศานุวงศ์ จะกำหนดตามวันพระราชสมภพ หรือวันประสูติของพระมหากษัตริย์ หรือเจ้านายแต่ละพระองค์

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ ทรงพระราชสมภพในวันอังคาร สีประจำพระองค์จึงเป็นสีชมพู เครื่องราชอิสริยาภรณ์พระจุลจอมเกล้าก็มีสายสะพานและแปรแถบของเครื่องราชฯ เป็นสีชมพูเช่นกัน

 

ธรรมเนียมยังสืบทอดมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชสมภพวันจันทร์ ในพระบรมนามาภิไธยย่อจะมีพื้นของดวงตราเป็นสีเหลือง สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงพระราชสมภพในวันศุกร์ ก็ทรงใช้สีฟ้าหรือสีน้ำเงินโทนเดียวกันเป็นสีประจำพระองค์ 

 

ความเปลี่ยนแปลงของโทนสีประจำวัน มาได้รับการเน้นย้ำความสำคัญในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งมีพระราชนิยมกำหนดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ตลอดจนสุภาพชนแต่งกายด้วยสีตามวัน

 

โดยมีการสอนเรื่องสีประจำกันในโรงเรียนให้ท่องจำมาตั้งแต่เด็กเล็ก ซึ่งยังคงมีผลในทางวัฒนธรรมและวัตรปฏิบัติของคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน จึงยังมีความนิยมการใส่เสื้อผ้าหรือเลือกใช้สิ่งของต่างๆ ตามสีปัจจุบันวันในสังคมให้เห็นอยู่ทั่วไป

กระยาสารท

วันที่ออกอากาศ: 14 ตุลาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

สารท เป็นคำเรียกช่วงเวลาหรือฤดูกาลแรกเก็บเกี่ยวผลิตผลจากการเพาะปลูก ในวิถีชีวิตของคนไทยมักเริ่มทำการเพาะปลูกในเดือน 6 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูฝน จนกระทั่งได้ผลผลิตพร้อมเก็บเกี่ยวประมาณเดือน 10 ซึ่งเรียกช่วงเวลานี้ว่า เทศกาลสารทเดือน 10

 

สำหรับคนไทยและชาวอุษาคเนย์ที่ดำรงชีวิตด้วยการกสิกรรมแล้ว ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะมีพิธีกรรมที่แสดงความขอบคุณต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นตัวแทนของดินฟ้าอากาศ ซึ่งเชื่อว่าได้ช่วยอำนวยความอุดมสมบูรณ์และคุ้มครองให้พืชที่เพาะปลูกได้เจริญเติบโตจนสามารถเก็บเกี่ยวเป็นอาหารเลี้ยงชีพได้ โดยจะนำพืชพันธ์ธัญญาหารที่เป็นผลผลิตแรกเก็บเกี่ยวไปแปรรูปเป็นอาหารเฉพาะเทศกาล แล้วนำอาหารนั้นไปบวงสรวงเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ 

 

ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง พระราชพิธี 12 เดือน ทรงมีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า พระราชพิธีสารท น่าจะเป็นธรรมเนียมของพราหมณ์มาแต่เดิม จนประมาณรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้นำคติแบบพระพุทธศาสนาเข้ามาปรับเปลี่ยนพระราชพิธีต่างๆ ราชสำนักจึงได้เพิ่มเติมพิธีสงฆ์แบบพุทธเข้าไปในพิธีโบราณหลายพิธีทำให้พระราชพิธีต่างๆ มีลักษณะของทั้งพิธีพุทธและพิธีพราหมณ์

 

ในพิธีสารทจึงมีการนำอาหารเทศกาลสารทไปถวายเป็นภัตตาหารแด่พระสงฆ์เพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษและผู้ล่วงลับของครอบครัว ต่อมาภายหลังจึงได้กลายเป็นเทศกาลทำบุญที่ปฏิบัติกันทั่วทุกภูมิภาคในสังคมไทย เช่น ประเพณีชิงเปรตในภาคใต้ การทำบุญข้าวสารทในภาคอีสาน เป็นต้น

 

สำหรับธรรมเนียมการปรุงอาหารจากพืชพันธุ์ธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวในเทศกาลสารทนั้น ถือว่าเป็นการประกอบอาหารที่มีความประณีตเพื่อแสดงความสักการะต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือพระพุทธคุณ โดยมีความพิถีพิถันแตกต่างกันไปตามลำดับชั้นของผู้ประกอบพิธีกรรมด้วย

 

ในพระราชพิธีสารทของหลวงจะมีการปรุงอาหารที่ประณีตกว่า มีธรรมเนียมการปรุงอาหารในวันสารทที่ชื่อว่า ข้าวทิพย์ ซึ่งเป็นอาหารโบราณในพระราชพิธีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยนำพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ อาทิ ข้าว ถั่ว งา น้ำผึ้ง น้ำอ้อย รวมถึงผลไม้ชั้นดีชนิดต่างๆ มากวนในกระทะให้เป็นเนื้อเดียวกันจนได้เป็นขนมเหนียวๆ

 

ข้าวทิพย์มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มธุปายาส ซึ่งเปรียบเป็นอาหารที่นางสุชาดาถวายแด่พระพุทธเจ้าก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้

 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดให้เพิ่มอาหารอีกชนิดหนึ่งในพระราชพิธีสารทคือ ข้าวยาคู ทำจากข้าวที่แตกรวงอ่อนๆ ซึ่งข้าวยังไม่แข็งเป็นเมล็ด คั้นออกมาเป็นน้ำข้าวที่เรียกว่า น้ำนมข้าว แล้วนำไปผสมกวนกับแป้งให้จับตัวเป็นก้อน ได้ขนมที่มีลักษณะคล้ายแป้งเปียกรับประทานกับน้ำนมหรือกะทิ

 

เนื่องจากปัจจุบันราชสำนักได้ยกเลิกพระราชพิธีสารท จึงไม่ค่อยพบเห็นอาหารทั้ง 2 ชนิดนี้แล้ว   

 

สำหรับอาหารในเทศกาลสารทที่เป็นธรรมเนียมการปรุงของชาวบ้านโดยทั่วไป เรียกว่า กระยาสารท ซึ่งเป็นอาหารประเภทเดียวกับข้าวทิพย์ของราชสำนัก โดยเป็นการกวนพืชพันธุ์ธัญญาหารชนิดต่างๆ รวมเข้าด้วยกัน

 

แต่กระยาสารทมีส่วนประกอบน้อยกว่าและไม่ใช้เวลาในการกวนส่วนประกอบนานจนกลายเป็นเนื้อเดียว โดยใช้ข้าวตอกที่ได้จากการคั่วข้าวเหนียวทั้งเปลือกให้แตก ถั่วลิสง งาขาว และข้าวเม่า กวนรวมกับน้ำอ้อยและกะทิ ได้เป็นขนมกรอบรสชาติหอมหวาน นิยมทานคู่กับกล้วยไข่เพื่อตัดรสหวาน

 

ปัจจุบันสามารถหากระยาสารทรับประทานได้ตลอดปี เนื่องจากทั่วทุกภูมิภาคนิยมทำกระยาสารทเป็นสินค้าจำหน่ายตามท้องถิ่น ซึ่งมีการเพิ่มเติมส่วนประกอบอื่นๆ เพื่อให้ได้รสชาติและจุดขายที่แตกต่างกัน อาทิ ผลไม้แห้งต่างๆ เม็ดมะม่วงหินพาน หรือปรุงด้วยน้ำใบเตยเพื่อเพิ่มความหอมของขนม

กัณฑ์เทศน์

วันที่ออกอากาศ: 9 กันยายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ในประเพณีไทยมีธรรมเนียมการถวายสิ่งของต่างๆ แก่พระสงฆ์หลังแสดงพระธรรมเทศนา โดยเรียกเครื่องถวายนี้ว่า กัณฑ์เทศน์ โดยใช้ในคำเรียกต่างๆ กัน อาทิ จตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ เครื่องไทยธรรมกัณฑ์เทศน์ เครื่องบูชากัณฑ์ หรือ ติดกัณฑ์เทศน์ เป็นต้น

 

คำว่า กัณฑ์ หมายถึงจำนวนหรือหัวข้อพระธรรมเทศนา เมื่อพระสงฆ์เทศน์จบกัณฑ์แล้ว ญาติโยมก็จะถวายเครื่องกัณฑ์เทศน์ต่างๆ เพราะเห็นว่าสิ่งที่พระสงฆ์นำมาเทศน์ปรากฏอยู่ในพระธรรมของพระพุทธเจ้า ฟังแล้วเกิดพุทธปัญญา ชีวิตอยู่ในทางธรรม และหลุดพันจากความทุกข์ จึงเกิดเป็นธรรมเนียมถวายกัณฑ์เทศน์เพื่อเป็นเครื่องบูชาพระธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในพระรัตนตรัยที่เป็นสิ่งบูชาสูงสุดของพุทธศาสนิกชน

 

เครื่องบูชากัณฑ์เทศน์ที่พุทธศาสนิกชนถวายเป็นทรัพย์สินตัวเงิน มักใช้กับคำว่า ติดกัณฑ์เทศน์ มาจากกิริยาของธรรมเนียมการนำเหรียญเงินหรือธนบัตรไปติดไว้บนต้นเทียน ซึ่งเป็นต้นเทียนขนาดใหญ่คล้ายเทียนพรรษา

 

นอกจากนี้ มักนิยมหล่อเทียนจากขี้ผึ้งแท้เพื่อให้ความนิ่มเพียงพอแก่การนำเหรียญไปติดไว้ได้ ถ้าถวายเป็นธนบัตรจะนิยมนำไม้แหลมพันกระดาษสีแล้วทำง่ามสำหรับสอดธนบัตร แล้วนำไม้ที่สอดธนบัตรไปปักไว้บนตัวเทียน ซึ่งเมื่อปักเรียงกันเป็นจำนวนมากแล้วจะมีลักษณะเป็นพุ่มคล้ายต้นไม้และมีสีสันสวยงาม

 

สำหรับต้นเทียนหลวงในงานพระราชพิธีจะติดกัณฑ์เทศน์ด้วยเหรียญเงินไม่นิยมติดธนบัตร โดยตั้งต้นเทียนอยู่บนพานแว่นฟ้าแล้วตกแต่งดอกไม้ที่เชิงเทียนและต้นเทียน ส่วนใหญ่ต้นเทียนติดกัณฑ์เทศน์นี้จะตั้งไว้หน้าธรรมาสน์ซึ่งอยู่ด้านหน้าของแถวที่พุทธศาสนิกชนนั่งฟังธรรม

 

เมื่อพระสงฆ์แสดงธรรมจบแล้วก็จะถวายเงินติดกัณฑ์เทศน์แก่พระสงฆ์ ซึ่งส่วนใหญ่พระสงฆ์จะมอบเงินกัณฑ์เทศน์นี้ให้เป็นเงินกองกลางชองวัดเพื่อใช้ในกิจการด้านต่างๆ ในปัจจุบันวัดบางแห่งอาจใช้ตู้เงินบริจาคแทนการใช้ต้นเทียนเพื่อความสะดวก

 

นอกจากการถวายทรัพย์สินในรูปเงินแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงใช้ทองคำติดกัณฑ์เทศน์สมเด็จพระวันรัต (แดง) ซึ่งแสดงพระธรรมเทศนาได้เป็นที่ถูกพระราชอัธยาศัย เพื่อนำไปปิดทองพระศรีศากยมุนี พระประธานในวัดสุทัศน์เทพวราราม อย่างไรก็ตาม การติดกัณฑ์เทศน์ด้วยทองคำค่อนข้างเป็นกรณีเฉพาะไม่ได้เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติโดยทั่วไป

 

สำหรับกัณฑ์เทศน์ที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้อื่น สามารถถวายได้ทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภคตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมแก่สมณบริโภค ตั้งแต่สบง จีวร ผ้าไตร หรือสิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ

 

สำหรับธรรมเนียมการถวายอาหารมีปรากฏในพระราชพิธี 12 เดือนว่าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชนิยมถวายขนมนานาชนิด แม้แต่พระราชพิธีในช่วงค่ำก็นิยมถวายอาหารช่วงหลังเพลด้วย โดยเป็นขนมแห้งชนิดต่างๆ อาทิ วุ้นกรอบ ขนมกลีบลำดวน ขนมกง ขนมเปี๊ยะ ฝอยทองกรอบ ขนมจันอับ เป็นต้น

 

การถวายอาหารหลังเพลจะไม่นิยมประเคนให้พระสงฆ์รับโดยตรง มักส่งมอบให้ไวยาวัจกรรับไปประเคนให้พระสงฆ์สำหรับฉันในวันรุ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ ในเอกสารเก่าทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงเครื่องกัณฑ์เทศน์ที่ญาติโยมถวายในอดีต พบว่ามีการถวายคนเป็นเครื่องกัณฑ์เทศน์ด้วย โดยพระมหากษัตริย์หรือชนชั้นสูงในอดีตมีธรรมเนียมการบูชาพระธรรมเทศนาด้วยการถวายคนให้เป็นข้าพระหรือศิษย์วัด

 

หรือในกรณีของสามัญชนที่บิดามารดาเลี้ยงดูบุตรไม่ไหวก็ถวายติดกัณฑ์เทศน์แก่พระสงฆ์ เพื่อให้บุตรมีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ซึ่งในปัจจุบันไม่มีธรรมเนียมถวายคนเป็นเครื่องติดกัณฑ์เทศน์แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม การฟังเทศน์ในทางพระพุทธศาสนาถือเป็นบุญกิริยาของผู้ไปฟัง ตั้งแต่สมัยพุทธกาลที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก สืบต่อมาจนถึงพระสงฆ์ในปัจจุบันที่ได้แสดงพระธรรมเทศนานั้น โดยเนื้อแท้แล้ว ไม่ได้ปรารถนาสิ่งตอบแทนจากญาติโยม แต่ด้วยวัฒนธรรมของคนไทยที่มักถือสิ่งของติดมือไปทำบุญที่วัดมาตั้งแต่อดีต จึงนิยมถวายกัณฑ์เทศน์สำหรับการแสดงพระธรรมเทศนาด้วยตามกำลังทรัพย์และศรัทธา

กฐินของคนไทยในยุคใหม่

วันที่ออกอากาศ: 12 ตุลาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

การทอดกฐิน เป็นประเพณีที่สืบสานกันมาตั้งแต่โบราณกาล เป็นประเพณีพิธีกรรมทางพุทธศาสนาที่ยังคงมีความสำคัญและยึดถือปฏิบัติกันในสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน

 

หากพิจาณาในเชิงประวัติศาสตร์ประเพณีทอดกฐินน่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงสถาปนาพระพุทธศาสนาในชมพูทวีปโดยเฉพาะในแคว้นมคธเป็นที่มั่นคงแล้ว ทำให้มีผู้บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนามากขึ้นจนเกิดเป็นชุมนุมสงฆ์ เกิดเป็นอารามที่อยู่ของสงฆ์ในท้องถิ่นต่างๆ มากขึ้น

 

จากพระสูตรต่างๆ ในพระพุทธศาสนาทำให้เราทราบว่า ผ้านุ่ง ผ้าห่มของพระสงฆ์เป็นของหายากที่สำคัญในครั้งพุทธกาล อันนำมาสู่ธรรมเนียมที่พุทธศาสนิกชนนำผ้าใหม่สำหรับนุ่งห่มไปถวายพระสงฆ์ แต่การถวายให้แก่พระสงฆ์ทั้งอารามนั้นคงเป็นเรื่องยาก จึงเกิดเป็นธรรมเนียมของการถวายผ้านุ่มแค่ชุมเดียว แล้วพระสงฆ์ในชุมนุมรับนำไปทำพิธีเพื่อประชุมมอบแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งตามสมควร

 

กล่าวได้ว่าเป็นรากเง้าของประเพณีทอดกฐินในพระพุทธศาสนา ซึ่งปัจจุบันหัวใจสำคัญของพิธีกรรมก็ยังคงอยู่ที่การถวายผ้ากฐิน แต่อาจมีการถวายปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมาที่เรียกว่า บริวารกฐิน หรือ เครื่องไทยธรรม

 

กฐินเป็นเรื่องที่ฝ่ายฆราวาสและฝ่ายสงฆ์ต้องปฏิบัติร่วมกัน ทางฝ่ายสงฆ์ต้องพึ่งฝ่ายฆราวาสนำกฐินมาถวายในชุมนุมสงฆ์ภายใน 1 เดือนนับจากวันออกพรรษา หากพ้นกำหนดแล้วชุมนุมสงฆ์ใดยังไม่ได้รับกฐินก็ถือว่าขาดอนิสงฆ์กฐิน จะทำกิจสิ่งใดต่างๆ ที่ระบุไว้ในพระธรรมวินัยก็ลำบาก

 

แม้กระทั่งในปัจจุบันช่วงใกล้จะสิ้นสุดกฐินกาลทางวัดต่างๆ จะเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อหาเจ้าภาพถวายกฐิน ซึ่งคนไทยก็มักกระตือรือล้นรับเป็นเจ้าภาพเนื่องจากความเชื่อที่ว่าทำบุญให้แก่วัดที่ค้างกฐินจะได้กุศลมาก

 

การทอดกฐินยังเป็นประเพณีที่ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจกัน ถือเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของชุมชน โดยมากไม่อาจสำเร็จได้ด้วยปัจเจกบุคคล และการร่วมแรงร่วมใจนี้ก็นำมาซึ่งประโยชน์แก่ฝ่ายสงฆ์ที่ได้รับปัจจัยต่างๆ ในการทำนุบำรุงเสนาสนะและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในวัด

 

แม้ว่าหัวใจของการทอดกฐินคือพิธีถวายผ้ากฐิน แต่ต้องยอมรับว่าปัจจัยด้านทุนทรัพย์ถือว่ามีความจำเป็นต่อวัดและชุมชนมากขึ้นในปัจจุบัน แม้กระทั่งวัดในชนบทที่มีผู้ไปทำบุญปฏิบัติธรรมมากขึ้นก็ยิ่งต้องการถาวรวัตถุสำหรับใช้เป็นสถานที่ให้ญาติโยมไปปฏิบัติธรรม

 

รวมถึงการจ่ายค่าสาธาณูปโภคต่างๆ หรือแม้แต่โครงการอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ถาวรวัตถุภายในวัด อาทิ โครงการให้การศึกษาสำหรับภิกษุ สามเณร หรือโครงการช่วยเหลือชุมชนอื่นๆ ที่เกิดจากดำริของฝ่ายสงฆ์ ก็จำเป็นต้องใช้เงินทุนมากขึ้น

 

ดังนั้น ในปัจจุบันการทอดกฐินจึงไม่ใช่ประเพณีที่ให้ความสำคัญในการจัดหาผ้ากฐินเป็นอันดับแรก แต่กลายเป็นการให้ความสำคัญกับการถวายปัจจัยทุนทรัพย์เป็นสำคัญ

 

การทอดกฐินในปัจจุบันจึงกลายเป็นความคาดหวังของทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส ทางวัดก็คาดหวังว่าเจ้าภาพจะสามารถนำปัจจัยเข้าวัดได้มากพอเพื่อให้วัดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ตอบสนองโครงการต่างๆ ที่วัดตั้งไว้

 

ในขณะเดียวกันฝ่ายเจ้าภาพก็ถือเป็นภาระต้องรวบรวมปัจจัยนำไปถวายในงานกฐินให้ได้มากที่สุดเพื่อจะพอเป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม

การบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์

วันที่ออกอากาศ: 4 พฤษภาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พระราชพิธีการบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีสำคัญของการขึ้นครองราชสมบัติของพระมหากษัตริย์ไทย ปรากฎเป็นหลักฐานมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ดังปรากฎในจารึกวัดป่ามะม่วงกล่าวถึงการราชาภิเษกสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท

 

คำว่า บรมราชาภิเษก หรือ ราชาภิเษก หมายถึงการอภิเษกบุคคลขึ้นเป็นพระราชา ประกอบด้วยคำศัพท์ 2 คำ คือ ราชะ แปลว่าพระราชา กับคำว่า อภิเษก ในภาษาบาลีสันสกฤตหมายถึงการแต่งตั้งหรือยกย่องให้ใครหรือสิ่งใดขึ้นมามีความสำคัญ ผ่านพิธีกรรมซึ่งมักกระทำผ่านการรดน้ำเป็นสำคัญ

 

ตามคติความเชื่อโบราณของพราหมณ์เชื่อว่าน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความบริสุทธิ์ โดยสามารถชำระล้างสิ่งต่างๆ ให้เกิดความบริสุทธิ์ ก่อนการยกย่องไปสู่ฐานะอันสูงส่ง ซึ่งในที่นี้คือการยกฐานะให้บุคคลหนึ่งเป็นพระราชาที่สูงส่งเปรียบดังสมมุติเทพหรือเทวราชา

 

พิธีกรรมทางพราหมณ์จึงเป็นแก่นสำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสังคมไทย โดยนักบวชพราหมณ์มีบทบาทสำคัญในฐานะสื่อในการติดต่อระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า 

 

การบรมราชาภิเษกในสมัยอยุธยาถือเป็นแบบแผนที่ใช้สืบต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ มีพิธีทางพราหมณ์สำคัญ 3 ขั้นตอน เริ่มจากการสรงมูรธาภิเษก คือ การอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด โดยใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งกำหนดไว้ในจารีต ตักมารวมกันแล้วนำมาเสกโดยพราหมณ์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงกำหนดให้เพิ่มพิธีสงฆ์ โดยให้พระสงฆ์ร่วมสวดมนต์เสกน้ำด้วย

 

ขั้นตอนต่อมาคือ การรับน้ำอภิเษก หลังจากสรงมูรธาภิเษก ผลัดพระภูษา ทรงเครื่องราชภูษิตาภรณ์แล้ว จะประทับบนพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ สร้างจากไม้มะเดื่อเป็นรูป 8 เหลี่ยมเพื่อทรงหันพระองค์ได้ครบทั้ง 8 ทิศ ทรงรับน้ำอภิเษกจากพราหมณ์ 8 คนซึ่งยืนในตำแหน่งรายรอบพระองค์

 

ต่อมาหลังจากสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทรงกำหนดให้ผู้แทนราษฎรเป็นผู้ถวายน้ำแทน เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

 

ในขั้นตอนสุดท้ายจะเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งภัทรบิฐ พระมหาราชครูพราหมณ์จะประกอบพิธีเปิดศิวาลัยไกรราชเพื่อเชิญองค์พระศิวะแบ่งภาคลงมาประทับในองค์พระมหากษัตริย์ หลังจากนั้นกล่าวคาถาถวายศิริราชสมบัติ ถวายพระคลัง ถวายทรัพยากรต่างๆ รวมถึงพระราชอำนาจ

 

เมื่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงรับเครื่องถวายต่างๆ แล้ว จึงยกพระมหาเศวตฉัตรขึ้นเหนือพระราชบัลลังก์ที่ประทับ หลังจากทรงรับการบรมราชาภิเษกจะทรงหลั่งทักษิโณทกและตั้งสัตยาธิษฐาน 

 

ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ทรงให้ความสำคัญกับพิธีทางพระพุทธศาสนา โดยเพิ่มจำนวนวันของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจากขั้นตอนเดิมในพิธีพราหมณ์ ทรงกำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องเสด็จมาสดับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ 3 วันก่อนวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

ภายหลังจากวันบรมราชาภิเษกยังทรงกำหนดให้มีพระราชพิธีทางพุทธศาสนา คือ การสดับพระมงคลวิเศษเทศนา เรียกว่าเป็นพระธรรมเทศกาลกัณฑ์แรกในแผ่นดิน ซึ่งประมวลสาระและธรรมะในพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับหลักปฏิบัติสำหรับผู้เป็นกษัตริย์ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนา

 

ในขั้นตอนต่างๆ ก็โปรดให้มีพระสงฆ์อยู่ในมณฑลพระราชพิธีด้วย ทั้งการสรงพระมูรธาภิเษก การทรงรับราชสมบัติต่างๆ ก็ทรงให้พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาในเวลาเดียวกัน ทรงกำหนดให้พระราชาคณะผู้ใหญ่ทำหน้าที่ผู้ประกาศพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแทนการทำหน้าที่ของพราหมณ์

 

นอกจากนี้ ทรงลดความสำคัญของคติการยกย่องพระมหากษัตริย์ในฐานะเทวราชาหรือสมมุติเทพลงเป็นเพียงสัญลักษณ์ของประเพณีโบราณ โดยเพิ่มความสำคัญในขั้นตอนการสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งให้ความหมายของการเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่หรือพระจักรพรรดิราชตามคติพระพุทธศาสนา 

ของขวัญที่แสดงความรักจากพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2

วันที่ออกอากาศ: 15 กุมภาพันธ์ 2558
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ในปัจจุบัน วันวาเลนไทน์และดอกกุหลาบสีแดง ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แทนการแสดงความรักในการรับรู้ทางวัฒนธรรมของคนไทย ซึ่งมีรากเง้าแนวคิดของวัฒนธรรมตะวันตก แต่อันที่จริงในวัฒนธรรมไทยแต่ดั้งเดิมก็มีเรื่องการแสดงออกทางความรักอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะสัญลักษณ์หรือของขวัญที่แสดงถึงความรักต่อกันระหว่างคนหนุ่มสาวนั้น มีอยู่ตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ร่วมๆ 200 ปีมาแล้ว 

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ผู้มีพระราชหฤทัยละเอียดอ่อน ซึ่งพระราชนิพนธ์บทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเชิงความรักไว้ได้อย่างเป็นเลิศ สะท้อนให้เห็นถึงสุนทรียะในพระอารมณ์ดังที่ศัพท์ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Romantic

 

อย่างเช่นในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานและงานนักขัตฤกษ์ ในบทพระราชนิพนธ์ที่กล่าวถึงงานประเพณีวันนักขัตฤกษ์ใน 12 เดือน ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์ส่วนนี้ด้วยการกล่าวถึงของขวัญที่ให้กันแทนความรักฉันท์ชู้สาว ดังนี้

 

หวนเห็นหีบหมากเจ้า จัดเจียน มาแม่
พลูจีบต่อยอดเนียน น่าเคี้ยว
กลี่กล่องกระวานเขียน มือญี่ปุ่นเฮย
บุหรี่ใส่กล่องเงี้ยว ลอบให้เหลือหาญฯ

 

หมากเจียนเจ้างามปลอด พลูต่อยอดน่าเอ็นดู
กระวานอีกกานพลู บุหรี่ให้ใจเหลือหาญ
เช็ดหน้าชุบน้ำอบ หอมตรลบดอกดวงมาลย์
บังอรซ่อนใส่พาน ส่งมาให้ไม่เว้นวัน

 

กล่าวถึงหญิงสาวที่แอบเอาเครื่องบริโภคที่ผู้ชายโบราณนิยม หมากพลู ยาเส้น ใส่กล่องเครื่องเขินอย่างดีมาให้คนรัก มีเช็ดหน้าชุบน้ำอบหอมซ่อนใส่พาน ก็เป็นการแสดงความรักที่ดูน่ารักๆ ของฝ่ายหญิง ซึ่งสะท้อนว่าในวัฒนธรรมไทยมีการแสดงความรักผ่านการให้สิ่งของกันอยู่ก่อนแล้ว เป็นสัญลักษณ์ของความเอาใจใส่คนรัก โดยเฉพาะจากทางฝ่ายหญิงที่มีให้กับฝ่ายชาย

 

ตามค่านิยมเดิมในสังคมไทย ชายหญิงเมื่อครองเรือนก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิงที่จะต้องดูแลทุกข์สุขของสามีและลูก รวมถึงข้าบริวารในครัวเรือน ให้มีความสุขสบายกันตามอัตภาพ การแสดงออกซึ่งความเอาใจใส่แม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆนี้ ก็เป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งที่ฝ่ายชายนำมาใช้พิจารณาอุปนิสัยของฝ่ายหญิง

 

สิ่งของต่างๆ เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของที่มีราคา ส่วนใหญ่ก็เป็นสิ่งของในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แม้แต่ในระดับชาวบ้านที่สะท้อนอยู่ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน กล่าวถึงของขวัญที่ให้กันอย่างเช่น ผ้าห่ม ผ้าสไบ ดอกไม้หอมๆ ที่เด็ดมาจากต้นใส่ไว้ในกรวยใบตอง ก็เป็นของเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถใช้แทนความรู้สึกดีๆ ต่อกัน โดยเฉพาะความรักความเอาใจใส่ หรือใช้แสดงออกให้เห็นถึงความสนอกสนใจซึ่งกันและกัน 

ความสำคัญของเดือนหกในวัฒนธรรมไทย

วันที่ออกอากาศ: 20 พฤษภาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

เดือนหกตามปฏิทินทางจันทรคติ คือ ช่วงเวลาตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 จนถึงแรม 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปฏิทินเกรโกเรียนที่ใช้ในปัจจุบันจะอยู่ในช่วงประมาณปลายเดือนเมษายนจนถึงต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณให้ความสำคัญกับเดือนหกเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ฤดูฝนกำลังเริ่มต้นขึ้น

 

การที่สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมจึงได้ถือเอาเดือนหกเป็นฤดูเริ่มต้นการเพาะปลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกข้าวที่เป็นอาหารหลักในการดำรงชีวิตของคนไทย โดยสามารถนำน้ำฝนมาใช้ในการปลูกข้าวและพืชพันธ์ธัญญาหารอื่นๆ ได้อย่างบริบูรณ์ นอกจากนี้ ในเดือนหกจะมีประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูณ์ต่างๆ มากมายด้วย  

 

ธรรมเนียมประเพณีในเดือนหกที่เกี่ยวกับการปลูกข้าว ได้แก่ การแรกนา หรือที่ในภาษาท้องถิ่นอีสานเรียกว่า นาตาแฮก ซึ่งเป็นประเพณีโบราณแต่ดั่งเดิมของผู้คนในภูมิภาคอุษาคเนย์ เป็นการทดลองทำนาในแปลงจำลองก่อนเริ่มต้นเพาะปลูกจริง เพื่อให้ผีบรรพบุรุษหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือได้เห็นและขอพรให้การทำนาในปีนั้นสำเร็จราบรื่น

 

ต่อมาเมื่อคติตามศาสนาจากอารยธรรมอินเดีย โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมต่างๆ ในภูมิภาค จึงเกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบประเพณีแรกนาในกลุ่มชนชั้นสูง ซึ่งมีสถานภาพเป็นผู้ปกครองที่จะต้องสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับบ้านเมือง กลายมาเป็นประเพณีหลวงที่เรียกว่า พิธีจรดพระนังคัล เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจให้กับไพร่บ้านพลเมืองทั้งหลาย

 

พิธีจรดพระนังคัลนี้ถือเป็นประเพณีสำคัญในเดือนหก ซึ่งเป็นประเพณีแรกในประเพณีสำคัญ 12 เดือนของราชสำนักด้วย นอกจากนี้ ประเพณีการปลูกข้าวที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในสังคมไทยมาตั้งแต่โบราณ อาทิ พิธีทำขวัญแม่โพสพ การทำขวัญโค เป็นต้น

 

หากในปีใดฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล โดยเฉพาะเมื่อถึงเดือนหกแล้วฝนยังไม่มา ซึ่งคาดหมายได้ว่าจะเกิดความแห้งแล้งและน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกตลอดปี คนโบราณเชื่อว่าต้องทำพิธีกรรมเพื่อเรียกหรือร้องขอให้ฝนตกลงมา การทำพิธีขอฝนถือเป็นธรรมเนียมที่ทำกันมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ โดยพบร่องรอยของภาพเขียนผนังถ้ำและศิลปวัตถุในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ กลองมโหระทึก ซึ่งมีหน้ากลองเป็นรูปกบหรือคางคก โดยเชื่อว่ากบเป็นสัตว์ที่มีอิทธิฤทธิ์ในการเรียกฝน จนมีความเชื่อมาถึงปัจจุบันที่ว่า ฝนตกเพราะกบร้อง เนื่องจากเวลาฝนตกมักพบกบหรือคางคกอยู่ทั่วไป

 

ต่อมาเมื่อมีคติทางศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนาเข้ามา จึงได้มีพิธีกรรมที่แสดงความบูชาต่อพระพิรุณ เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ที่มีอิทธิฤทธิ์เรื่องฝนฟ้า หรือการบูชาพระคันธราชที่เป็นความเชื่อเรื่องพุทธานุภาพที่สามารถบันดาลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลได้ นอกจากนี้ ยังมีพิธีขอฝนตามคติความเชื่อท้องถิ่นที่ยังคงปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน อาทิ พิธีแห่นางแมวในภาคเหนือ พิธีทำบุญบั้งไฟพญานาคในภาคอีสาน เป็นต้น 

 

เดือนหก ยังเป็นเดือนที่มีวันสำคัญทางพุทธศาสนา คือ วิสาขปุณณมี หรือ วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน รวมถึงวันอัฐมีบูชา ซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิงพุทธสรีระของพระพุทธเจ้าหลังจากปรินิพพาน 7 วัน

 

วันวิสาขบูชาถือเป็นวันที่สังคมไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยจะมีธรรมเนียมพิธีกรรมต่างๆ ตลอดทั้งวันเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระพุทธคุณ อาทิ การทำบุญ การเวียนเทียน การฟังเทศน์ เป็นต้น รวมทั้งราชสำนักไทยจะมีการประกอบพิธีกรรมเป็นพิธีหลวงในวันวิสาขบูชาด้วย ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตั้งแต่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 

งานวัดในสังคมไทย

วันที่ออกอากาศ: 13 กรกฎาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

งานวัด เป็นกิจกรรมที่มีหลักฐานปรากฎมาตั้งแต่ครั้งอดีต ในสมัยโบราณการจัดงานวัดส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อฉลองศาสนสถานและถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด รวมถึงการนมัสการปูชนียสถานและปูชนียวัตถุสำคัญของวัด

 

ในราชอาณาจักรไทย วัดแต่ละแห่งก็มีปูชนียสถานและปูชนียวัตถุสำคัญทางพระพุทธศาสนากันอยู่ทั่วไป พระธาตุเจดีย์ก็ดี พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ก็ดี หรือแม้แต่สัญลักษณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา อาทิ รอยพระพุทธบาท พระธรรมจักร จึงมักนิยมจัดเทศกาลนมัสการและงานเฉลิมฉลองต่างๆ จนกลายเป็นประเพณีหนึ่งในสังคมไทยและเป็นกิจกรรมประจำปีของผู้คนท้องถิ่น

 

ประการหนึ่งเพื่อเตือนไม่ให้มหาชนทั้งในท้องถิ่นและต่างถิ่นลืมความสำคัญของปูชนียสถานและปูชนียวัตถุนั้นๆ โดยกำหนดเป็นวันนักขัตฤกษ์สำหรับการนมัสการประจำปี และอีกประการก็ถือเป็นโอกาสให้ผู้คนร่วมแสวงบุญและระลึกถึงคติความเชื่อทางพุทธศาสนา 

 

งานนักขัตฤกษ์เพื่อนมัสการปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่สำคัญ มีตั้งแต่งานที่พระเจ้าแผ่นดินทรงอุปถัมภ์เสด็จพระราชกุศลมาในงานบุญหลวง อย่างเช่น งานนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี งานนมัสการพระปฐมเจดีย์ หรืองานวัดเบญจมบพิตร รวมถึงงานของวัดราษฎร์อื่นๆ ที่คนท้องถิ่นร่วมแรงร่วมใจจัดงานนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของวัดจนกลายเป็นงานประเพณีของวัดไป

 

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นงานประเพณีหลวงหรือประเพณีราษฎร์ก็ตาม งานนมัสการปูชนียสถานและปูชนียวัตถุมักมีการกำหนดเวลาสำหรับการจัดงานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คน ส่วนใหญ่จึงนิยมจัดงานระหว่างประมาณหลังเดือนตุลาคมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูเพาะปลูกและดินฟ้าอากาศเป็นใจ กล่าวคือ ฝนฟ้าไม่ตก อากาศไม่ร้อนจนเกินไป

 

งานของวัดสำคัญระดับจังหวัดหรือระดับประเทศ มักดึงดูดผู้คนจำนวนมากให้มาเที่ยวงานจนกลายเป็นงานประเพณีขนาดใหญ่ที่จัดสืบเนื่องมาตั้งแต่อดีต อาทิ งานนมัสการพระบรมบรรพต หรือที่ชาวบ้านเราเรียกกันทั่วไปว่า งานภูเขาทอง นอกจากการนมัสการพระบรมสารีริกธาตุบนภูเขาทอง ยังมีมหรสพและกิจกรรมที่สร้างความบันเทิงให้กับผู้เข้าร่วมงานต่างๆ มากมาย

 

งานวัดราชโอรสาราม ซึ่งเป็นพระอารามหลวงวัดประจำรัชกาลที่ 3 อยู่ย่านฝั่งธนบุรีก็มีการจัดงานนมัสการพระพุทธไสยาสน์ปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัด รวมถึงกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ เช่นกัน งานนมัสการพระสมุทรเจดีย์ หรือที่นิยมเรียกกันว่า งานพระเจดีย์กลางน้ำ ถือเป็นงานใหญ่ประจำจังหวัดสมุทรปราการ

 

ปัจจุบันผนวกเข้ากับงานกาชาด จัดงานริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง คือ ทั้งฝั่งสมุทรปราการหรือฝั่งปากน้ำ และฝั่งองค์พระสมุทรเจดีย์ มีกิจกรรมทางศาสนาคือการแห่ผ้าแดงไปห่มองค์พระเจดีย์และเปิดให้ประชาชนเข้าไปนมัสการได้ตลอดวัน

 

นอกจากนี้ ยังมีงานวัดสำคัญๆ ในต่างจังหวัด อาทิ งานนมัสการพระปฐมเจดีย์ งานนมัสการพระพุทธไตรรัตนายก วัดพนัญเชิง งานนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี เป็นต้น 

 

งานวัดมีวิวัฒนาการและมีบทบาทอยู่ในสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในสังคมชนบท งานวัดเป็นประเพณีสามารถชุมนุมผู้คนท้องถิ่นและต่างท้องถิ่นได้เป็นจำนวนมาก โดยยังคงมีกิจกรรมทางพุทธศาสนา งานนมัสการและระลึกถึงปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุของท้องถิ่น

 

รวมถึงกิจกรรมสร้างความบันเทิงที่มีการพัฒนารูปแบบลักษณะเรื่อยมา อาทิ เครื่องเล่นสำหรับเด็กๆ ชิงช้าสวรรค์ ม้าหมุน สาวน้อยตกน้ำ เกมปาเป้ายิงปืนชิงรางวัล การออกร้านอาหารและร้านขายของต่างๆ จนกลายเป็นตลาดนัด รวมถึงมหรสพต่างๆ ได้แก่ ลิเก ลำตัด งิ้ว หนังกลางแปลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดึงดูดผู้คนให้เข้ามาร่วมงานจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของงานวัดที่ขาดเสียมิได้

ตักบาตรวันเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษา เป็นวันแรกของการเข้าสู่พรรษากาล ซึ่งช่วงที่พระสงฆ์เริ่มต้นจำพรรษาอยู่กับวัดเป็นเวลา 3 เดือน โดยพระสงฆ์จะร่วมทำพิธีที่เรียกว่า อธิษฐานพรรษา คือการอธิษฐานแสดงความตั้งใจที่จะจำพรรษาไม่ไปค้างอ้างแรมที่ไหนจนครบพรรษากาล เป็นวันสำคัญวันหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนถือโอกาสไปทำบุญตักบาตร ซึ่งวันเข้าพรรษานั้น มีการตักบาตรอยู่ถึง 2 แบบด้วยกัน

 

การตักบาตรในรอบเช้า คือการทำบุญตักบาตรด้วยภัตราหารตามปรกติ แต่ก็มีธรรมเนียมปฏิบัติพิเศษที่ญาติโยมนิยมกระทำ แต่ไม่ถือเป็นธรรมเนียมบังคับ ด้วยวันเข้าพรรษาเป็นวันเริ่มต้นของการจำพรรษา พระสงฆ์จะไม่สามารถออกเดินบิณฑบาต รับกิจนิมนต์ในที่ไกลเกินสมควร หรือพักค้างอ้างแรม เป็นเวลาถึง 3 เดือน จึงมักจัดเตรียมอาหารคาวหวานอย่างเป็นพิเศษ เพื่อถวายพระสงฆ์เป็นมื้อแรกของเทศกาลเข้าพรรษา

 

ในพิธีของหลวงตามหมายกำหนดการพระราชกุศลในเทศกาลเข้าพรรษานั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์ 150 รูป เข้าไปรับพระราชทานภัตตาหารบิณฑบาตในช่วงเช้า ณ พระบรมมหาราชวัง โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าเป็นผู้แทนพระองค์ถวายภัตตาหาร สำหรับราษฎรทั่วไปนิยมไปวัดกันตั้งแต่เช้า โดยเตรียมอาหารที่จัดไว้อย่างดีเลิศ เป็นอาหารคาวหวาน ผลไม้ รวมทั้งเครื่องดื่ม เพื่อทำบุญใส่บาตรในตอนเช้าตรู่ หรืออาจไปที่วัดในช่วงสายเพื่อถวายเพลแด่พระสงฆ์

 

ในช่วงบ่ายของวันเข้าพรรษา จะมีธรรมเนียมการตักบาตรอีกหนึ่งรอบ โดยเป็นการถวายเครื่องสักการะแด่พระสงฆ์ ด้วยพระสงฆ์จะต้องลงโบสถ์เพื่อทำพิธีอธิษฐานพรรษา ดังนั้น ก่อนเข้าโบสถ์ไปนมัสการพระพุทธเจ้าและพระรัตนตรัย ญาติโยมก็มักจัดเตรียมของถวายมาใส่บาตร ได้แก่ ดอกไม้ ธูป เทียน จึงเป็นธรรมเนียมที่เรียกว่า การตักบาตรดอกไม้ หรือ การตักบาตรเทียน เกิดขึ้น ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในวันเข้าพรรษาที่คนไทยนิยมทำกันมาตั้งแต่โบราณ 

 

ปัจจุบัน การตักบาตรดอกไม้เป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะงานตักบาตรดอกไม้ของวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ซึ่งได้รับการส่งเสริมให้เป็นเทศกาลระดับจังหวัด จนกระทั่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีการประชาสัมพันธ์เป็นงานระดับชาติ โดยได้ขยายงานทำบุญตักบาตรดอกไม้ของวัดพระพุทธบาทออกเป็น 3 วัน เพื่อให้ผู้ศรัทธาและนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่นๆ สามารถเข้าร่วมงานได้อย่างทั่วถึง 

 

ในกรุงเทพฯ มีวัดใหญ่ๆ อย่างน้อย 3 แห่ง ที่มีการจัดงานตักบาตรดอกไม้หรือตักบาตรเทียน ได้แก่ วัดบวรนิเวศฯ วัดราชบพิธฯ และวัดเบญจมบพิตร ซึ่งวัด 2 แห่งแรกได้จัดงานประเพณีทำบุญตักบาตรดอกไม้เป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่เวลา 4 โมงเย็น ซึ่งมีประชาชนร่วมงานเป็นจำนวนมาก แต่ละครอบครัวจะจัดเตรียมดอกไม้ถวายตามกำลังศรัทธา ทำให้ภาพออกมาเหมือนเป็นงานแสดงดอกไม้นานาชนิด หรือแม้กระทั่งดอกไม้ประดิษฐ์แบบไทยๆ ทั้งมาลัย ทั้งพุ่มดอกไม้ที่ประดิษฐ์จากดอกไม้ชนิดต่าง ๆ อาทิ มะลิหอม ดอกพุทธ กลีบกุหลาบ กลีบกล้วยไม้ ก็ทำให้เกิดสีสันที่หลากหลาย

 

สำหรับที่วัดเบญจมบพิตรเป็นงานตักบาตรเทียน โดยเป็นงานในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อท้ายพิธีหลวงในพระราชกุศลเข้าพรรษา เริ่มประมาณบ่าย 2 โมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระราชวงศ์เสด็จแทนพระองค์จุดเทียนพรรษาถวายพระพุทธชินราชจำลองในพระอุโบสถ ถวายพุ่มเทียนเป็นเครื่องสักการะปูชนียสถานต่างๆ ภายในในวัด หลังจากนั้น ผู้แทนพระองค์จะเป็นผู้แทนในพิธีตักบาตรเทียนแด่พระสงฆ์บริเวณลานหน้าพระอุโบสถ และเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้ร่วมถวายเทียนและดอกไม้ตามประเพณี

ตำแหน่งพระสังฆราช

วันที่ออกอากาศ: 6 ตุลาคม 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พุทธศาสนาถือเป็นศาสนาหลักของคนไทยมาตั้งแต่โบราณกาล จึงมีพระสงฆ์เป็นองค์บุคลากรทางพระพุทธศาสนาจำนวนมาก ซึ่งรวมตัวกันเป็นคณะสงฆ์ โดยธรรมเนียมปฏิบัติคณะสงฆ์มีสถานะพิเศษในสังคมที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลฆราวาสโดยตรง แต่มีการจัดตั้งองค์กรคณะสงฆ์เพื่อบริหารจัดการกิจการของสงฆ์ โดยมีองค์พระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกเข้ามาส่วนในการแต่งตั้งพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีความเจริญด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสูงสุด เรียกว่า พระสังฆราช หรือ สมเด็จพระสังฆราช 

 

สมเด็จพระสังฆราช ในภาษาบาลี คือ สกลมหาสังฆปรินายก หมายถึง พระซึ่งทรงเป็นใหญ่ในหมู่สงฆ์ เป็นประธานสูงสุดในการบริหารจัดการปกครองคณะสงฆ์ในราชอาณาจักร การแต่งตั้งพระสังฆราช หรือ สมเด็จพระสังฆราช ในประวัติศาสตร์ไทยปรากฏเป็นหลักฐานมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์มาจาก อาณาจักรมอญ และศรีลังกา ซึ่งเป็นมีการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์แล้ว

 

จากจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พบหลักฐานว่ามีคณะสงฆ์จากนครศรีธรรมราชขึ้นมาสถาปนาคณะสงฆ์เถรวาทในกรุงสุโขทัย และได้ทรงแต่งตั้งตำแหน่งพระสังฆราช และในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ทรงอาราธนาพระสงฆ์จากเมืองนครศรีธรรมราช และโปรดให้ พระสุมานะเถระ ไปบวชใหม่ในสำนักสงฆ์เมืองนครพันธ์ (ปัจจุบันคือเมืองเมาะตะมะ) เพื่อศึกษาพระพุทธศาสนาและการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ 

 

ในสมัยอยุธยาแบ่งการปกครองคณะสงฆ์ออกเป็น 2 ฝ่ายประกอบด้วย ฝ่ายคามวาสี หรือ คันธุระ ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้นำจิตวิญญาณและประกอบพิธีกรรมให้แก่พุทธศาสนิกชนในเขตเมืองหรือชุมชนต่างๆ มีสมเด็จพระสังฆราชประทับจำพรรษาอยู่ที่วัดพระมหาธาตุในพระนครศรีอยุธยา

 

ฝ่ายอรัญวาสี หรือ วิปัสสนาธุระ ซึ่งเน้นปฏิบัติธรรมในทางวิปัสสนา ซึ่งแต่เดิมสมเด็จพระสังฆราชจะประทับจำพรรษาที่วัดป่าแก้ว (ปัจจุบันคือวัดใหญ่ชัยมงคล) ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้มาประดับจำพรรษาที่วัดไชยวัฒนาราม

 

นอกจากนี้ ยังก่อตั้งคณะสงฆ์ประจำหัวเมืองต่างๆ ในส่วนภูมิภาค ซึ่งตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ประจำหัวเมืองต่างๆ ในฝ่ายคันธธุระ เรียกกว่า สมเด็จพระสังฆราชา ส่วนฝ่ายอรัญวาสี เรียกว่า สมเด็จพระพันรัตน์ หรือ วรรณรัตน์ มีฐานะเท่ากันทุกเมืองขึ้นตรงต่อสมเด็จพระสังฆราชส่วนกลางที่ราชธานี มีการแต่งตั้งขึ้นตามพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์  

 

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์จนถึงถึงปัจจุบัน ใช้ธรรมเนียมการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์เดียว ในส่วนภูมิภาคมีเพียงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบลเป็นผู้ดูแลคณะสงฆ์

 

ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในการบริหารปกครองคณะสงฆ์ไทย พระมหากษัตริย์จะทรงเลือกพระมหาเถระผู้ใหญ่ซึ่งทรงยกย่องเคารพทั้งเป็นการส่วนพระองค์และเป็นที่ยอมรับในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งหลาย เป็นประธานปกครองคณะสงฆ์ทั้งฝ่ายธรรมยุติและฝ่ายมหานิกาย ครอบคลุมรวมไปถึงคณะสงฆ์ฝ่ายมหายาน 2 ฝ่าย คือ จีนนิกาย และอนันตนิกาย

 

จนถึงปัจจุบันมีผู้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมาแล้ว 19 พระองค์ แต่ละพระองค์ทรงมีคุณูปการในศาสนากิจเป็นอเนกอนันต์ต่อสังคม

เทศกาลตรุษจีนในสังคมไทย

วันที่ออกอากาศ: 10 กุมภาพันธ์ 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

คนไทยรับประเพณีวัฒนธรรมจีนเข้ามาในสังคมไทยมาช้านาน ผสมกลมกลืนจนคนไทยไม่รู้สึกว่าประเพณีจีนเป็นสิ่งแปลกในวิถีชีวิต แม้ไม่สามารถจะระบุได้ว่าวัฒนธรรมจีนมามีอิทธิพลในสังคมไทยตั้งแต่เมื่อใด แต่ในทางประวัติศาสตร์พอจะอนุมานได้ว่าธรรมเนียมประเพณีแบบจีนเป็นที่ยอมรับมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างช้า

 

จากหลักฐานของการอพยพของคนจีนโพ้นทะเลที่มาตั้งหลักแหล่งทำมาค้าขายอยู่ในประเทศไทยในสมัยนั้น จนถึงปัจจุบันเราสามารถการรวมตัวกันเป็นชุมชนจีนที่เรียกว่า China Town ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย อย่างเช่นย่านเยาวราชและสำเพ็งในกรุงเทพฯ รวมถึงในตัวเมืองจังหวัดใหญ่ เช่น นครสวรรค์ ขอนแก่น เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต ก็มีย่านการค้าและที่อยู่อาศัยของชาวไทยเชื้อสายจีน

 

คนไทยเชื้อสายจีนยังคงดำรงรักษาวิถีการดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมจีน และการประกอบพิธีกรรมตามธรรมเนียมประเพณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลตรุษจีน ที่เป็นเทศกาลหลักของคนจีน ร่วมกับเทศกาลไหว้พระจันทร์ เทศกาลสารทจีน เทศกาลเช็งเม้ง หรือกระทั่งเทศกาลถือศีลกินเจ ซึ่งคนไทยในปัจจุบันคุ้นเคยกับเทศกาลเหล่านี้เป็นอย่างดี    

 

เทศกาลตรุษจีนเป็นการฉลองวันขึ้นปีใหม่ตามธรรมเนียมจีน ซึ่งถือเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญมากในวัฒนธรรมจีน โดยเฉลิมฉลองด้วยหลักการพื้นฐานในเรื่องความกตัญญูกตเวที ความยึดถือในวงศ์สกุลและบรรพบุรุษของตระกูล

 

โดยมีความเชื่อว่าถ้าปฏิบัติธรรมเนียมได้อย่างถูกต้องตามประเพณีจะเกิดความเจริญมั่งคั่ง ความสันติสุข และความไพบูลย์วงศ์ตระกูล ตลอดจนความรุ่งเรีองของกิจการการค้าต่างๆ และความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของสมาชิกในครอบครัว

 

ซึ่งคติความเชื่อต่างๆ ในเทศกาลตรุษจีนมีความคล้ายคลึงกับเทศกาลสงกรานต์ของคนไทย ที่ถือเป็นการฉลองวันขึ้นปีใหม่และการแสดงออกในความเคารพนับถือต่อบรรพบุรุษและความยืดถือในความเป็นครอบครัว   

ด้วยคติความเชื่อของประเพณีที่มีพื้นฐานอย่างเดียวกัน คนไทยจึงรับธรรมเนียมตรุษจีนมาปฏิบัติด้วย ซึ่งราชสำนักไทยก็รับเอาธรรมเนียมในวันตรุษจีนมาปฏิบัติตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ได้แก่ พิธีสังเวยพระป้าย ซึ่งก็คือพิธีเซ่นไหว้ป้ายบรรพบุรุษตามธรรมเนียมจีน โดยโปรดให้ทำพระป้ายจากไม้จันทน์และสลักอักษรจีนเป็นพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนๆ เพื่อทำพิธีสักการะในช่วงวันตรุษจีน

 

ปัจจุบันมีพระป้ายพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี  พระป้ายพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่ในพระราชวังบวรสถานมงคล

 

พระบรมนามาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง และสมเด็จพระเทพศรินทราบรมราชชนนีในรัชกาลที่ 4 ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ

 

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ประกอบพระราชพิธีสังเวยพระป้ายในวันตรุษจีนทุกปี  

 

ในระดับสามัญชน นอกจากคนไทยเชื้อสายจีนที่ประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษในวันตรุษจีนแล้ว แม้แต่คนไทยที่ไม่มีเชื้อสายจีนก็รับเอาธรรมเนียมการเซ่นไหว้แบบจีนไปประยุกต์ใช้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

 

อย่างเช่น เครื่องเซ่นไหว้ศาลพระภูมิ ซึ่งศาลพระภูมิเป็นคติความเชื่อที่รับมาจากศาสนาฮินดู หรือในเทวสถานของเทพเจ้าศาสนาพราหมณ์อย่างศาลพระพราหมณ์ที่เอราวัณ ซึ่งคนไทยนับถือบูชาคู่กับพระพุทธศาสนา ก็พบว่ามีการนำเครื่องเซ่นไหว้แบบจีนไปตั้งบูชาสักการะในเทศกาลตรุษจีน

 

นอกจากนี้ คนไทยยังนับเอาเทศกาลตรุษจีนเป็นโอกาสนัดรวมญาติมิตรลูกหลาน และถือโอกาสเป็นวันเฉลิมฉลองของครอบครัวอีกเทศกาลหนึ่ง

ธรรมเนียมจีนในวัฒนธรรมไทย

วันที่ออกอากาศ: 22 มกราคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

สังคมไทยรับเอาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมจีนมาผสมผสานอยู่ในวัฒนธรรมไทยอย่างมากมายจนแยกไม่ออก มีรากเหง้าของการบูรณาการทางวัฒนธรรมนับถอยหลังไปได้ตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา ซึ่งร่องรอยทางโบราณคดีพบว่างานศิลปะในยุคโบราณ เช่น ศิลปะมอญ ทวารวดี ล้านนา หรือเขมรโบราณ ล้วนแล้วแต่มีอิทธิของศิลปะจีนเข้าไปปะปนอยู่ด้วยทั้งสิ้น

 

จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าคนจีนไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมีการติดต่อสัมพันธ์กันมาเนิ่นนาน

 

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับเอาวัฒนธรรมจีนมาได้ง่าย เพราะมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน ความยึดมั่นในบรรพบุรุษและครอบครัว มีวัฒนธรรมข้าวร่วมกัน และความศรัทธาในศาสนาที่ใกล้เคียงกัน แม้ว่าสังคมจีนมีหลักปรัชญาต่างๆ ที่นับถือ เช่น ปรัชญาของขงจื้อ ปรัชญาเต๋า แต่ชาวจีนก็ยังนับถือพุทธศาสนาเช่นกัน

 

นอกจากนี้ หลักการของขงจื้อของเต๋า ก็ผนวกกับหลักพุทธศาสนาจนเกือบเป็นเนื้อเดียวกันในสังคมของจีน ดังนั้น การบูรณาการวัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมจีนจึงเกิดขึ้นและต่อเนื่องมาหลายชั่วอายุคน ทั้งที่เป็นการแลกเปลี่ยนหรือเลือกรับเอามาปรับใช้ 

 

ประเพณีเซ่นไหว้บรรพบุรุษในปัจจุบัน แม้ส่วนใหญ่เป็นธรรมเนียมของคนไทยเชื้อสายจีน แต่คนไทย ที่ไม่มีเชื้อสายจีนบางส่วนก็อนุโลมรับเอาธรรมเนียมนี้มาปรับใช้ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่ ในเทศกาลตรุษจีนด้วย ก็เซ่นไหว้ด้วยอาหารการกิน เครื่องสักการะต่างๆ ตามที่ประเพณีจีนใช้ ทั้งนี้ คนไทยไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องแปลก เนื่องจากคนไทยก็นิยมทำบุญให้บรรพบุรุษในวันสงกรานต์เช่นกัน

 

ในเรื่องเกี่ยวกับศาสนา แม้ว่าคนจีนกับคนไทยนับถือพุทธศาสนาต่างนิกายกัน คือ จีนมหายานและไทยเถรวาท แต่ก็มีชาวพุทธไทยจำนวนมากนิยมไปไหว้พระไหว้เจ้าในวัดมหายาน เช่น วัดเล่งเน่ยยี่ หรือ วัดมังกรกมลาวาส ที่เยาวราช

 

วัดบรมราชากาญจนาภิเษก ที่บางบัวทอง ก็เป็นวัดมหายานฝ่ายจีนที่ใหญ่โตและได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ไทยสืบต่อมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นวัดที่พุทธศาสนิกชนทั้งคนจีน คนเชื้อสายจีน และคนไทยนิยมไปทำบุญ ซึ่งก็ไม่ได้ไหว้แต่พระพุทธเจ้า แต่รวมถึงพระอรหันต์และเทพยดาต่างๆในพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระโพธิสัตว์หลายองค์ในฝ่ายมหายาน คนไทยก็รับเอามาบูชาเช่นกัน 

 

ในประเพณีหลวง ราชสำนักไทยก็รับเอาธรรมเนียมจีนมาปรับใช้ ในเทศกาลตรุษจีนก็มีพระราชพิธีสำคัญ คือ พระราชพิธีสังเวยพระป้าย เป็นการถวายเครื่องสักการะบวงสรวงพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ณ พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางประอิน อยุธยา

 

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ตรุษจีนเป็นเทศกาลที่คหบดีเชื้อสายจีนจะนำข้าวของจำนวนมากไปทูลเกล้าถวาย ก็โปรดให้จัดพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีนเพื่อนำข้าวของมาทำบุญเป็นกุศลแก่ผู้ถวาย หรือในการพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสี หรือพระศพเจ้านายพระองค์สำคัญต่างๆ ก็มีการอาราธนาพระสงฆ์จากฝ่ายมหายาน คือ ฝ่ายจีนนิกายและฝ่ายญวนนิกาย เข้ามาประกอบพิธีกงเต็กเป็นพระราชกุศลด้วย 

 

นอกจากเรื่องขนบธรรมเนียมแล้ว ในเขตพระราชฐานก็มีร่องรอยการก่อสร้างสถาปัตยกรรมหรือการตกแต่งแบบศิลปะจีนปรากฏอยู่ทั่วไป ซึ่งผสมผสานกับศิลปะแบบไทย เช่น ทวารบาลที่ประตูเข้าเขตพระราชฐานต่างๆ ก็เป็นประติมากรรมจีนอย่างนักรบจีนหรือสิงโตจีน ในวัดวาอารามที่พระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงสร้างและอุปถัมภ์ ก็ล้วนแล้วแต่มีการผสมผสานทางศิลปกรรมจีนให้อยู่ทั่วไป

ประเพณีนิยมในวันปีใหม่ของคนไทย

วันที่ออกอากาศ: 1 มกราคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

การถือวันที่ 1 มกราคม เป็นวันปีใหม่ไม่ได้อยู่ในธรรมเนียมปฏิบัติของไทยเรามาแต่ดั่งเดิม แต่เป็นธรรมเนียมที่รับมาจากวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินมาตรฐาน

 

การรับเอาธรรมเนียมตะวันตกนี้มาปรับประยุกต์ใช้ในธรรมเนียมไทย สามารถนับย้อนไปได้ตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามสากล แต่ด้วยเหตุบางประการทำให้กลับไปใช้เดือนเมษายนตามธรรมเนียมเดิม จนกระทั่งปี 2484 จึงได้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่มาจนถึงปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ นอกจากการประกาศวันขึ้นปีใหม่ตามแบบตะวันตก ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงริเริ่ม ก็ทรงนำธรรมเนียมปฏิบัติในเทศกาลปีใหม่ของตะวันตกเข้ามาปรับใช้เป็นธรรมเนียมเทศกาลขึ้นปีใหม่แบบไทยๆ ด้วย 

 

การส่งบัตรอวยพร ส.ค.ส. (ส่งความสุข) เป็นธรรมเนียมตะวันตกที่เรารับมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 และเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน เราสามารถส่ง ส.ค.ส. ให้ได้ทั้งผู้อาวุโสกว่า คนรุ่นเดียวกัน หรือผู้ที่อ่อนอาวุโสกว่า ปัจจุบัน ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมก็เริ่มมีจำหน่ายกันอย่างเอิกเกริก กระทั่งบางหน่วยงานทั้งราชการและเอกชนก็ผลิตขึ้นมาใช้เองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

 

ธรรมเนียมการให้ของขวัญปีใหม่ก็ริเริ่มเกิดขึ้นในสมัยเดียวกัน แต่ไม่อาจกล่าวว่าเรารับธรรมเนียมนี้มาจากตะวันตก ทั้งนี้ ในวัฒนธรรมไทยก็มีการให้ของขวัญมาช้านานแล้ว และตามธรรมเนียมตะวันตกก็ไม่มีการให้ของขวัญในวันปีใหม่ แต่เป็นการให้ของขวัญภายในครอบครัวในวันคริสต์มาส

 

ปัจจุบัน เรานิยมให้ของขวัญในวันปีใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมอบกระเช้า ซึ่งห้างสรรพสินค้าต่างๆ ก็จัดเตรียมไว้จำหน่ายอย่างพร้อมสรรพ โดยมีราคาตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักหมื่นบาท ต่อมาเป็นเรื่องการจัดงานเลี้ยงปีใหม่ ซึ่งปรับใช้มาจากงานสังสรรค์ภายในครอบครัวช่วงวันสงกรานต์ของไทยและเทศกาลคริสต์มาสของตะวันตก ปัจจุบันก็นิยมจัดเป็นงานเลี้ยงประจำปีของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งเป็นวันรวมญาติอีกวันของคนไทย

 

ยังมีธรรมเนียมตะวันตกที่เรารับมาใช้ช่วงไม่เกิน 20 ปีมานี้ คือ การนับ เคาท์ดาวน์ (countdown) ซึ่งประเทศต่างๆ ในยุโรปจะมีประชาชนมารวมตัวในคืนวันที่ 31 ธันวาคม บริเวณพื้นที่สำคัญของเมืองหลวง อย่างเช่น จตุรัสทราฟัลการ์ ในลอนดอน ถนน ช็องเซลิเซ ในปารีส เพื่อร่วมนับถอยหลังเข้าสู่วันขึ้นปีใหม่ แล้วจุดพลุดอกไม้ไฟเพื่อเฉลิมฉลอง ธรรมเนียมนี้เข้ามาในประเทศไทยโดยห้างสรรพสินค้าต่างๆ เป็นผู้ริเริ่ม 

 

นอกจากนี้ ยังมีธรรมเนียมปีใหม่ที่เราคิดขึ้นหรือปรับใช้จากวัฒนธรรมเดิมของเรา อย่างเช่น การลงนามถวายพระพรในเทศกาลขึ้นปีใหม่ ริเริ่มในราชสำนักไทยตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้คณะทูตานุทูตและเจ้าหน้าที่ต่างประเทศได้ลงนามถวายพระพรในวันที่ 1 มกราคม โดยพระราชทานปฏิทินหลวงเป็นของที่ระลึก

 

ธรรมเนียมนี้ยังคงปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน โดยโปรดเกล้าให้จัดให้มีการลงนามถวายพระพรทั้งในกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค เช่น ศาลาสหทัยสมาคม พระบรมมหาราชวัง พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศ เชียงใหม่ พระตำหนักภูพานราชนิเวศ สกลนคร พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

 

ยังมีการรื้อฟื้นธรรมเนียมเก่าทางพุทธศาสนาขึ้นมา อาทิ การสวดมนต์ข้ามปี ซึ่งเป็นธรรมเนียมของราชการที่ปฏิบัติมาเกินกว่า 30 ปี โดยอาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์เจริญชัยมงคลคาถาเพื่อความเป็นสิริมงคล การทำบุญไหว้พระ 9 วัดในเทศกาลขึ้นปีใหม่ ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน 

 

ทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมเนียมปีใหม่ของไทย ทั้งที่ปรับใช้จากธรรมเนียมของต่างชาติ หรือที่นำธรรมเนียมเดิมซึ่งอยู่บนพื้นฐานของคติความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้ามาปรับประยุกต์ใช้ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีขึ้นเพื่อหาสิ่งที่เรียกว่า เป็นสิริมงคล ให้กับชีวิตของทุกคนในโอกาสขึ้นปีใหม่ 

ประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับการปลูกข้าว

วันที่ออกอากาศ: 10 มิถุนายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

การปลูกข้าวเป็นการสร้างแหล่งอาหารหลักของคนไทยและคนภูมิภาคอุษาคเนย์มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ เนื่องจากการปลูกข้าวจำเป็นต้องพึ่งพาธรรมชาติซึ่งเป็นปัจจัยที่มนุษย์ควบคุมไม่ได้ ผู้คนในภูมิภาคนี้จึงประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการปลูกข้าวเพื่อเป็นหลักประกันทางจิตใจ มีวัตถุประสงค์เพื่อ

 

(1) เป็นการขอร้องอ้อนวอนต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ ทั้งหลาย เช่น ผี  สิ่งลึกลับ หรือเทวดาฟ้าดินต่างๆ ให้ช่วยดูแลรักษาต้นข้าวให้เจริญงอกงาม ให้ได้ผลผลิตตามจำนวนที่ต้องการ

 

(2) เป็นการบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประจำอยู่ในธรรมชาติ เพื่อขออนุญาตใช้สอยทรัพยากรต่างๆ ในการเพาะปลูก เช่น แม่พระธรณี ในการขอใช้พื้นดิน พระแม่คงคา ในการขอใช้น้ำ เป็นต้น

 

(3) เป็นการขอขมาต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ หรือแม้แต่สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงสัตว์แรงงานที่ใช้ในการปลูกข้าว

 

(4) เป็นการเสี่ยงทายว่าจะได้ผลผลิตดีหรือไม่ มากน้อยเพียงใด เพื่อความสบายใจ หรือหากเสี่ยงทายแล้วได้ผลที่ไม่ดีจะได้หาทางแก้ไขต่อไป เช่น การบำรุงเพิ่มแร่ธาตุอาหารในดินและต้นข้าว การขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าว เป็นต้น

 

พิธีกรรมในการปลูกข้าวสามารถจำแนกตามลักษณะและช่วงเวลาในการประกอบพิธีกรรมออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

 

พิธีกรรมก่อนลงมือปลูกข้าว เป็นการบอกกล่าวผีบรรพบุรุษ ผีประจำหมู่บ้าน ผีประจำชุมชน หรือผีเมือง เพื่อขออนุญาตเริ่มต้นปลูกข้าวในปีนั้นๆ และขอให้บุญบารมีช่วยคุ้มครองให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ รวมถึงขอให้ผู้ปลูกมีสุขภาพดีมีเรี่ยวแรงปลูกข้าวจนถึงเก็บเกี่ยว ซึ่งในแต่ละภูมิภาคจะมีลักษณะพิธีกรรมคล้ายๆ กัน คือ การนำอาหารมาเซ่นสรวงสังเวยผี การนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์เพื่อเป็นสวัสดิมงคล รวมถึงการทำบุญกุศลอุทิศให้แก่บรรพบุรุษ

 

ในกรณีที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลจะต้องประกอบพิธีกรรมขอฝน ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค เช่น ในภาคอีสานจะมีการจุดบั้งไฟเพื่อบูชาพญาแถนซึ่งเป็นผีที่มีอำนาจสูงสุดบนฟ้า ในภาคกลางมีพิธีกรรมแห่นางแมว การบูชาพระคันธราช หรือพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ ซึ่งเป็นพิธีหลวง เป็นต้น

 

พิธีกรรมระหว่างปลูกข้าว เริ่มจากพิธีแรกนา ซึ่งเป็นการเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกข้าวและขั้นตอนการหว่านเมล็ด หรือก่อนถอนต้นกล้าไปปักดำในแปลงนาจะต้องประกอบพิธีแรกดำนา เพื่อเป็นการบอกกล่าวพระแม่โพสพซึ่งถือเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่รักษาต้นข้าว

 

เมื่อต้นข้าวกำลังออกรวงตั้งท้องอ่อนๆ ก็ประกอบพิธีทำขวัญข้าว ซึ่งเป็นพิธีทั้งทางพุทธและทางไสย มีการถวายสิ่งของต่างๆ บูชาแม่โพสพให้ดูแลรักษาต้นข้าวไม่ให้ศัตรูพืชชนิดต่างๆ มาทำลาย และหากมีน้ำมากเกินไปจะประกอบพิธีไล่เรือ เพื่อขับไล่น้ำออกไปไม่ให้ท่วมต้นข้าว

 

พิธีกรรมช่วงเก็บเกี่ยวและได้ผลผลิตแล้ว มีการบอกกล่าวเพื่อขออนุญาตเก็บเกี่ยวผลผลิต เมื่อเก็บเกี่ยวได้ข้าวแล้วจะประกอบพิธีนวดข้าว เนื่องจากการนวดข้าวนั้นจะเอารวงข้าวฟาดลงกับพื้นหรือใช้วัวหรือควายมาเหยียบรวง จึงต้องบอกกล่าวขอขมาพระแม่โพสพ เมื่อนำข้าวเปลือกมาเก็บที่ยุ้งฉางก็ประกอบพิธีเปิดยุ้งหรือเปิดฉาง แล้วนำผลผลิตแรกเก็บเกี่ยวที่ได้ไปทำทานข้าว คือการนำข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ในครั้งแรกไปทำบุญกับพระสงฆ์ ซึ่งเรียกว่าเทศกาลสารทเดือน 10

 

หลังจากหมดฤดูทำนาแล้วจะประกอบพิธีกรรมทำขวัญวัว ขวัญควาย เพื่อเป็นการขอบคุณและขอขมา จนกระทั่งการนำผลผลิตข้าวไปขายก็ต้องประกอบพิธีตักข้าว ซึ่งถือเป็นพิธีกรรมสุดท้าย

 

จะเห็นได้ว่าคนไทยมีพิธีกรรมตามความเชื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าวมากมาย  โดยเฉพาะความเชื่อในเรื่อง แม่โพสพ ซึ่งเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่รักษาต้นข้าว ดังนั้น ในทุกๆ กระบวนการตั้งแต่ก่อนลงมือปลูกข้าวไปจนถึงหลังการเก็บเกี่ยว ชาวนาจะประกอบพิธีกรรมต่างๆ เพื่อบอกกล่าว ขออนุญาต และขอขมาแม่โพสพ ทั้งนี้ โดยเชื่อว่าจะทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร อันนำมาซึ่งความสุขของคนในสังคม

ผ้าอาบน้ำฝน

ผ้าอาบน้ำฝน เป็นของใช้จำเป็นอย่างหนึ่งสำหรับพระสงฆ์ ซึ่งคนไทยตั้งแต่อดีตมักนำไปถวายพระในเทศกาลเข้าพรรษา บางคนเรียกว่า ผ้าจำนำพรรษา กล่าวคือ เป็นผ้าที่ถวายกันประจำในเทศกาลเข้าพรรษา บางคนก็เรียกสั้นๆ ว่า ผ้าอาบ หรือถ้าเรียกเป็นศัพท์บาลีตามพระพุทธวินัยบาลี จะเรียกว่า ผ้าอุทก หรือ ผ้าอุทกสาฎก แต่ทั้งหมดนี้แปลอย่างง่ายๆ ว่า ผ้าสำหรับนุ่งไปอาบน้ำ 

 

พระสงฆ์เถรวาทมีผ้าสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น 7 ชิ้น เมื่อนำผ้าทั้งหมดมาตัดเย็บเสร็จจะเรียกว่า ผ้าไตร  ซึ่งในผ้า 7 ชิ้นนี้มี ผ้าสบง หรือผ้านุ่ง เนื่องจากพระสงฆ์ไม่สามารถสวมกางเกง แล้วก็มีผ้าเอาไว้นุ่งไปอาบน้ำที่เรียกว่า ผ้าอาบน้ำ ซึ่งมีหน้าตาเหมือนสบงแบบหนึ่ง

 

จีวร ซึ่งผ้าขนาดยาวใช้เป็นผ้าห่มคลุมด้านนอก ผ้าสังฆาฏิ คือผ้าที่ใช้พาดบ่า รัดประคต เป็นเส้นเชือกเหมือนเข็มขัด ใช้สำหรับรัดเวลานุ่งสบง อังสะ คือผ้าที่ตัดเย็บเป็นเสื้อตัวยาว สำหรับใช้ทำงานบ้านกวาดลานวัด สุดท้ายคือ ผ้ากราบ ใช้เวลารับประเคนของจากสตรี 

 

กล่าวอย่างง่ายๆ ผ้าอาบน้ำก็คือผ้าสำหรับพลัดเวลาอาบน้ำ ซึ่งในสมัยพุทธกาลนั้น ผ้าอาบเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะในพระวินัยบัญญัติกล่าวว่า มีผู้ไปเห็นพระภิกษุอาบน้ำตามแม่น้ำลำธารแล้วไม่นุ่งผ้า จึงไปติเตียนพระพุทธองค์ เลยมีพุทธบัญญัติว่าเวลาพระสงฆ์อาบน้ำให้นุ่งผ้าด้วย

 

ทั้งนี้ แม้ว่าในสังคมปัจจุบันที่มีห้องน้ำเป็นสัดส่วนเรียบร้อย แต่ยังมีพระสงฆ์บางรูปที่เคร่งครัดในพระวินัย ยังคงใช้ผ้าอาบนุ่งเวลาอาบน้ำอยู่ แต่บางรูปก็ถือว่าห้องน้ำเป็นที่รโหฐานลับตาแล้ว ก็ละไว้ไม่ได้ใช้ตามแบบฆราวาส  

แนวคิดที่ทำให้เกิดการถวายผ้าอาบน้ำฝน มาจากการที่ฤดูเข้าพรรษาเป็นช่วงที่มีฝนตกชุก ซึ่งเป็นฤดูที่พระสงฆ์มีโอกาสได้อาบน้ำชำระร่างกายบ่อยครั้ง เนื่องจากในชมพูทวีปค่อนข้างขาดแคลนน้ำ เคยมีเหตุการณ์ที่หยิบยกมาจากพระวินัยที่ระบุว่า มีพระสงฆ์ไปใช้อาบน้ำในแหล่งน้ำของเมืองทุกวัน ซึ่งแหล่งน้ำนี้เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคของทั้งชาวบ้านชาวเมืองและพระมหากษัตริย์ในเมืองราชคฤห์

 

ปรากฏผู้คนในเมืองพอใช้น้ำไม่ได้ก็ไปติเตียนกับพระพุทธองค์ ก็ทรงออกพระพุทธบัญญัติว่า ถ้าอยู่ในสภาพที่อาบไม่ได้ทุกวัน ก็จำต้องมีการพิจารณาเว้นระยะบ้าง ดังนั้น ในเทศกาลที่ฝนตกชุกมีน้ำใช้บริบูรณ์ ก็เป็นโอกาสที่จะอาบน้ำชำระล้างร่างกายได้บ่อยครั้ง จึงเป็นธรรมเนียมนิยมที่มีการถวายผ้าสำหรับนุ่งอาบน้ำสำหรับพระสงฆ์ในช่วงนี้ 

 

ปัจจุบันนี้ ผ้าอาบน้ำมีความจำเป็นน้อยลง เนื่องจากไม่จำเป็นต้องสรงน้ำในที่โล่งแจ้งแล้ว โดยการถวายผ้าอาบน้ำฝนกลายเป็นเรื่องการถวายในพอเป็นพิธีตามที่เคยเป็นประเพณีมา ซึ่งร้านสังฆภัณฑ์บางแห่ง ยังคงจัดจำหน่ายผ้าอาบน้ำฝนในชุดถวายพระในวันเข้าพรรษา แต่เป็นผ้าขนาดเล็กนำมาพับเป็นรูปกระทงสำหรับใส่ปัจจัยถวายอื่นๆ เพื่อความสวยงาม แต่ไม่ได้คำนึงถึงการใช้งานจริง

 

ดังนั้น บางคนจึงไม่ถวายเป็นผ้าอาบแล้ว แต่ถวายผ้าขนหนูหรือผ้าเช็ดตัวแทนผ้าอาบน้ำฝนเพื่อให้ประโยชน์ได้ในอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นการปรับเปลี่ยนธรรมเนียมประเพณีไปตามสภาพแวดล้อมและความจำเป็นที่เปลี่ยนแปลงไป

พระพุทธคันธารราฐ

วิถีชีวิตของคนไทย รวมถึงคนท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างมีความผูกพันกับการทำเกษตรกรรม ซึ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพาฝนฟ้าในการเพาะปลูกมาตั้งแต่สมัยโบราณ จึงทำให้เกิดคติความเชื่อ พิธีกรรม ประเพณี ที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ และการทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล

 

แต่เดิมความเชื่อและพิธีกรรมเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับอำนาจเหนือธรรมชาติต่างๆ ซึ่งพัฒนาไปสู่สิ่งที่เรียกว่า เทวดา หรือ เทพเจ้าต่างๆ จนกระทั่งพุทธศาสตร์ได้เข้ามาเป็นความเชื่อหลักของสังคม จึงได้นำเอาเรื่องพุทธานุภาพหรือพระคุณของพระพุทธเจ้ามาเป็นที่พึ่งในการบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ โดยความเชื่อนี้ ได้ปรากฏอยู่ในพระราชพิธีพืชมงคลด้วย

 

พระราชพิธีพืชมงคล เกี่ยวข้องกับคติความเชื่อของทั้งพราหมณ์และพุทธ โดยพิธีที่เกี่ยวข้องกับพระยาแรกนาและนางพระยาเทพี เป็นพิธีพราหมณ์ เรียก พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และพิธีทางพุทธศาสนา เรียก พิธีพืชมงคล ซึ่งมีการเจริญพระพุทธมนต์ และอัญเชิญพระพุทธรูปที่มีความเชื่อเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์มาประดิษฐานในพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคล

 

พระพุทธรูปปางที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีพืชมงคลนี้ นิยมเรียก พระพุทธรูปปางขอฝน หรือ ปางสรงฝน แต่ชื่อทางการนั้น คือ พระพุทธรูปปางคันธารราฐ มีลักษณะพระกรขวาอยู่ในท่ากวักพระหัตถ์ ส่วนพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลาในท่าหงาย เหมือนรองรับน้ำฝน สร้างในลักษณะประทับยืนหรือนั่งก็ได้

 

เชื่อว่าน่าจะมีธรรมเนียมการสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยอ้างอิงประกาศการพระราชพิธีพืชมงคลในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระราชดำริว่าในสมัยโบราณได้มีการสร้างพระพุทธรูปคันธารราฐมาก่อนแล้ว ซึ่งแสดงว่ามีธรรมเนียมการสร้างพระพุทธรูปลักษณะนี้ก่อนสมัยรัตนโกสินทร์เป็นอย่างน้อย

 

ปัจจุบันนี้ มีพระพุทธรูปปางคันธารราฐที่ประดิษฐานในพระราชพิธีพืชมงคล จำนวน 4 องค์ ได้แก่ พระพุทธคันธารราฐประทับนั่งองค์ใหญ่ สร้างตามแบบศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระเกศมาลาหรือยอดแหลมที่พระเศียรเป็นรูปดอกบัวตูม พระพุทธคันธารราฐแบบจีนมหายาน มีพระหัตถ์ขวาถือช้อน พระหัตถ์ข้างซ้ายถือถ้วยน้ำ ทั้ง 2 องค์นี้สร้างจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 1

 

ยังมีพระคันธารราฐตามพุทธลักษณะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 คือ พระเกศมาลาไม่เป็น 2 ชั้น พระเศียรกลมเหมือนพระสงฆ์ทั่วไป ครองจีวรตามแบบพระสงฆ์ธรรมนิติกรรม และพระคันธารราฐในสมัยรัชกาลที่ 5 หล่อด้วยทองคำ ปั้นตามแบบศิลปะตะวันตก 

 

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีพระราชดำริให้สร้างพระพุทธคันธารราฐ ประดิษฐานที่วัดพุทไธศวรรย์ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้ชาวไร่ชาวนาได้สักการะเป็นสิริมงคล เนื่องจากบางปะอินเป็นพื้นที่ปลูกข้าวและมีชาวไร่ชาวนาอาศัยอยู่มาก 

 

ปัจจุบัน ธรรมเนียมการสร้างพระพุทธรูปปางคันธารราฐ ยังได้รับความนิยมไปในส่วนภูมิภาคและจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ยังเป็นเกษตรกรและต้องพึ่งพาธรรมชาติในการเพาะปลูกอยู่มาก เนื่องจากความเชื่อที่ว่าพระพุทธรูปปางนี้สามารถขอฝนหรือเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ จึงพบสร้างพระพุทธรูปปางคันธารราฐตามวัดในหมู่บ้านต่างๆ อีกด้วย

พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช

วันที่ออกอากาศ: 30 มีนาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พระราชพิธีบรวงสรวงพระสยามเทวาธิราช เป็นพระราชพิธีประจำปีของราชสำนักไทยในปัจจุบัน มีกำหนดการประกอบพิธีกรรมในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินไทย ตามคติความเชื่อของสังคมไทยที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาแบบเถรวาท

 

มักนิยมทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระเนื่องในวันปีใหม่ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณของบรรพบุรุษ รวมถึงการบูชาเซ่นสรวงเทพยดาอารักษ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ สำหรับพระสยามเทวาธิราชนั้น ถือเป็นเทพยดาในลักษณะเทพารักษ์ ซึ่งมีหน้าที่ปกปักรักษาคุ้มครองประเทศ 

 

การบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช เป็นธรรมเนียมที่เพิ่งปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 4 เนื่องมาจากพระราชดำริว่าสยามประเทศดำรงความเป็นเอกราชดำรงความผาสุขยั่งยืนมาตั้งแต่โบราณ แม้หลายครั้งหลายคราวจะมีเหตุที่ทำให้บ้านเมืองเพลี่ยงพล้ำข้าศึกศัตรูหรือมีเหตุจะเสียบ้านเสียเมืองแต่ก็รอดพ้นมาได้ทุกครั้ง ก็น่าจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพยดาอารักษ์คุ้มครองให้รอดพ้นภัยอันตรายมาได้ทุกครั้ง

 

จึงโปรดเกล้าให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรกานต์ซึ่งนายช่างประติมากรรม  ปั้นหุ่นเทพยดาทรงมงกุฏและเครื่องต้นแบบกษัตริย์ พระหัตถ์ขวาถือพระขันธ์ พระหัตซ้ายจีบนิ้วมือยกพระหัตถ์เสมอพระอุระ สูงประมาณ 1 ฟุต แล้วหล่อด้วยทองคำทั้งองค์ มีการทำฐานและซุ้มด้วยไม้จันทน์แกะสลักด้วยลวดลายศิลปกรรมจีน  จารึกอักษรจีนที่ฐานมีคำแปลว่าที่สถิตแห่งองค์พระสยามเทวาธิราช แล้วทรงกำหนดวันบวงสรวงในวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ช่วงเทศกาลตรุษของพระราชพิธี

 

ต่อมาจึงได้กลายเป็นราชประเพณีสำหรับพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงถวายเครื่องบรวงสรวงสักการะและอธิษฐานเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติบ้านเมือง อันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึง จุดศูนย์รวมทางจิตใจและจิตวิญญาณของประเทศชาติ

 

ปัจจุบัน พระราชพิธีบรวงสรวงพระสยามเทวธิราชจัดขึ้นในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หรือผู้แทนพระองค์ซึ่งเป็นพระราชวงศ์ฝ่ายใน ทรงประกอบพิธีจุดธูปเทียนถวายเครื่องบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช จากนั้นเป็นการแสดงละครบวงสรวงของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ซึ่งจัดการแสดงทั้งละครใน ละครนอก ละครพันทาง สลับเปลี่ยนกันไปในแต่ละปี

 

นอกจากนี้ยังเป็นพระราชพิธีที่บุคลากรในเขตพระราชฐานชั้นในได้มีโอกาสมาชุมนุมรวมตัวกัน มีการจัดงานฝีมือต่างๆ ดอกไม้ประดิษฐ์ ดอกไม้สด รวมถึงอาหารและขนมแบบชาววัง ถือเป็นงานพระราชพิธีประจำปีที่สร้างความคึกครื้นให้กับเขตพระราชฐานชั้นใน 

 

โดยปกติแล้ว พระราชสำนักไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปถวายสักการะพระสยามเทวาธิราช เนื่องจากถือเป็นปูชนียวัตถุสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ แต่เมื่อครั้งงานฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี หลังจากมีพระราชพิธีบรวงสรวงพระสยามเทวาธิราช ทรงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพนักงานอันเชิญเทวรูปพระสยามเทวาธิราชมาประดิษฐานบนบุษบกมุขเด็ดที่ด้านหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงพระราชทานราชานุญาตให้ประชาชนร่วมถวายสักการะพระสยามเทวาธิราช ครั้งนั้นมีการประดิษฐานไว้นานถึงหนึ่งเดือน เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากมากราบไหว้ด้วยความเคารพศรัทธา

 

ในปัจจุบันมีการจัดสร้างพระสยามเทวธิราชองค์จำลองไว้หลายองค์ บางองค์มีการขยายสัดส่วนใหญ่โตกว่าเทวรูปองค์จริง ประดิษฐานไว้ตามสถานที่ต่างๆ แม้กระทั่งจังหวัดตามแนวชายแดนก็มีการประดิษฐานพระสยามเทวธิราชจำลองไว้สำหรับถวายสักการะ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน และประชาชนในพื้นที่

พวงหรีด

วันที่ออกอากาศ: 2 กุมภาพันธ์ 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พวงหรีด หรือที่คำศัพท์ทางราชการเรียกว่า พวงมาลา หมายถึง การจัดดอกไม้ประเภทหนึ่งให้เป็นพวง ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งลักษณะวงกลม วงรี วงสี่เหลี่ยม หรือสามเหลี่ยมก็ได้ โดยนำดอกไม้แห้งหรือดอกไม้สดมาใช้ประดับตกแต่งนำมาใช้สำหรับพิธีศพ

 

การวางพวงหรีดหรือการวางพวงมาลาไม่ได้เป็นธรรมเนียมของไทยมาแต่ดั่งเดิม จนมาถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อไทยเปิดความสัมพันธ์กับโลกตะวันตก ราชสำนักไทยเริ่มรับธรรมเนียมของการวางพวงมาลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีการพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมวงศ์ หรือพระศพเจ้านาย จึงมีการประดับพวงหรีด หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า "Wreath" 

 

ในธรรมเนียมตะวันตก "Wreath" คือพวงดอกไม้ที่จัดเป็นวงกลม อาจใช้ดอกไม้ ใบไม้หรือผลไม้มาประดับตกแต่งขึ้นเป็นพวงวงรอบ สามารถนำไปแขวน วางบนพื้น หรือวางเอียงติดกับผนังก็ได้ วัตถุประสงค์ของการวางพวดหรีดไม่ได้จำกัดเฉพาะในพิธีศพเท่านั้น แต่มักนิยมใช้ในพิธีมงคลต่างๆ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยกรีกโรมัน สามารถแบ่งลักษณะได้ 4 ประเภทหลักๆ ดังนี้

 

1. Decoration Wreath คือพวงหรีดดอกไม้สำหรับตกแต่งบ้านเรือน นิยมใช้ดอกไม้แห้งที่มีกลิ่นหอม หรือใบไม้สมุนไพรกันแมลงกันต่างๆ ประดับที่บานประตูหรือผนังบ้านเรือนให้สวยงาม โดยเฉพาะในงานเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ 

 

2. Wreath of History เป็นสัญลักษณ์ของผู้ชนะจากสงครามหรือการแข่งขันกีฬาต่างๆ นิยมใช้ใบไม้ เช่นใบมะกอก (Bay Leaf) หรือ ใบกระวาน มาร้อยเป็นพวงแล้วก็สวมศีรษะผู้ได้รับชัยชนะ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ

 

3. Cram Wreath คือพวงหรีดสำหรับสวมศีรษะเป็นเครื่องประดับ หรือเป็นมงกุฎที่เรียกว่ามงกุฎดอกไม้  

 

4. Funereal Wreath คือพวงหรีดสำหรับมอบให้ในพิธีศพ เพื่อระลึกและไว้อาลัยแก่ผู้ตาย ในธรรมเนียมอังกฤษ โดยเฉพาะรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียมีการคัดสรรดอกไม้ประเภทต่างๆ ที่จะใช้ประดิษฐ์พวงหรีดสำหรับพิธีศพอย่างพิถีพิถันโดยเฉพาะดอกไม้ที่มีสีขาวเพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ของวิญญาณผู้ตาย

 

การมอบพวงหรีดตามธรรมเนียมไทยนำมาใช้สำหรับพิธีศพเท่านั้น เพื่อระลึกหรือไว้อาลัยแก่ผู้ตาย โดยนิยมนำไปมอบให้ญาติผู้ตายในพิธีรดน้ำศพหรือระหว่างการสวดพระอภิธรรมศพ ซึ่งเจ้าภาพจะนำพวดหรีดมาตั้งประดับไว้ในพิธี

 

การมอบพวงหรีดไม่ได้จำกัดเฉพาะในนามส่วนตัวเท่านั้น ยังสามารถมอบพวงหรีดในนามกลุ่มบุคคล อาทิ บริษัทที่ทำงานของผู้ตายหรือของทายาทผู้ตาย กลุ่มเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากธรรมเนียมตะวันตกซึ่งคนสำคัญในชีวิตของผู้ตายเท่านั้นที่จะนำพวงหรีดมาวางตั้งบนหีบศพ เช่น คู่สมรส ทายาท เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ในวัฒนธรรมไทยการประดับพวงหวีดได้กลายเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่แสดงถึงบารมีของผู้ตาย หรือผู้ตายเป็นที่รักของบุคคลมากน้อยแค่ไหน จึงนิยมแขวนประดับพวงหรีดบนผนัง เพดาน หรือประตูหน้าต่างของศาลาสวดอภิธรรมศพ หรือวางไว้บนขาตั้ง ซึ่งการวางพวงหรีดบนขาตั้งเป็นธรรมเนียมที่คนไทยประยุกต์ขึ้นเพื่อให้วางแล้วดูสวยงามเป็นระเบียบ

ลอยกระทงวิถีไทย

วันที่ออกอากาศ: 17 พฤศจิกายน 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ประเพณีลอยกระทง ถือเป็นพิธีบูชาตามคติความเชื่อของสังคมไทย ซึ่งเป็นคติความเชื่อทั้งทางพุทธศาสนาและทางพราหมณ์ ตามคติพราหมณ์ คนไทยลอยกระทงเพื่อขอคมาต่อแม่พระคงคา ซึ่งเป็นเทพแห่งน้ำของศาสนาพราหมณ์ เป็นการแสดงออกถึงความเคารพ ความกตัญญูต่อตัวแทนของแหล่งน้ำทั้งหลายที่มนุษย์ใช้อุปโภคบริโภค แล้วได้ระบายสิ่งปฏิกูลสกปรกลงไป ซึ่งสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสังคมเพาะปลูกที่มีความผูกพันกับแหล่งน้ำมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ น้ำจึงมีความสำคัญและมีคุณูปการต่อชีวิต

 

สำหรับคติทางพุทธศาสนา การลอยกระทงเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งตามคำภีร์ทางพุทธศาสนาระบุว่าพระพุทธองค์ทรงประทับรอยพระบาทอยู่ 2 แห่ง คือ ฝั่งแม่น้ำนัมมทาในชมพูทวีป และพิภพของนาคซึ่งอยู่ใต้น้ำลงไป การบูชารอยพระพุทธบาททั้ง 2 แห่งจึงจำเป็นต้องมีเครื่องสักการะเพื่อลอยถวายบูชาในแหล่งน้ำ

 

นอกจากสังคมไทยแล้ว ในพม่าหรือล้านนาก็เชื่อว่าการลอยกระทงหรือลอยประทีปเป็นการบูชาพระอรหันต์รูปหนึ่งชื่อพระอุปคุตต์ซึ่งมีที่จำพรรษาอยู่ที่สะดือของทะเล    

 

ในสังคมไทยประเพณีลอยกระทงยังเป็นเทศกาลที่เรียกว่าการนักขัตฤกษ์ เป็นการพักผ่อนเฉลิมฉลองหลังจากเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนสิบสอง ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นฤดูน้ำหลากทำให้มีน้ำนองเต็มตลิ่ง เป็นน้ำที่นิ่งและเริ่มตกตะกอนใส พระจันทร์ขึ้นสวย และมีอากาศดี

 

นอกจากพิธีกรรมทางความเชื่อแล้ว ประเพณีลอยกระทงจึงเป็นเรื่องของความบันเทิงอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยมีวิวัฒนาการเรื่อยมานับตั้งแต่ในสมัยอดีต อาทิ การเล่นดนตรีและเพลงพื้นบ้าน การจุดไฟตะเกียงหรือดอกไม้ไฟ  จนมาถึงกาลสมัยปัจจุบัน งานลอยกระทงยังประกอบด้วยกิจกรรมหลายอย่าง เช่น ประกวดนางนพมาศ ประกวดกระทง หรือการประกวดแปลกๆ ที่เน้นความสนุกสนานของผู้ร่วมงาน

 

การลอยกระทงในลักษณะชุมนุมผู้คนเป็นนักขัตฤกษ์ เป็นราชประเพณีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา  พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ และข้าราชบริพารในพระราชสำนักจะเสด็จลอยพระประทีปที่ตำหนักแพ แต่มีนักประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งเชื่อว่าการลอยกระทงเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัยโดยอ้างอิงจากจารึกหลักที่ 1 ที่ระบุถึงการเผาเทียนเล่นไฟ แต่ก็มิได้กล่าวถึงการลอยกระทงอย่างชัดเจน 

 

สำหรับงานลอยกระทงของชาวบ้านที่เป็นงานนักขัตฤกษ์ใหญ่ สันนิษฐานว่ามีขึ้นในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 50-60 ปี อย่างเช่นการประกวดนางนพมาศเกิดขึ้นครั้งแรกในยุครัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นยุครัฐนิยมซึ่งพยายามเสริมสร้างวัฒนธรรมอันดีของไทย โดยใช้สถานที่ของวัดซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมน้ำเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากวัดเป็นศูนย์กลางของสังคมอยู่

 

การประกวดนางงามลักษณะนี้ถือเป็นค่านิยมใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยสมัยนั้น จนกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับเทศกาลลอยกระทง ซึ่งยังคงสืบสานมาจนถึงปัจจุบัน    

 

ปัจจุบัน งานลอยกระทงถือประเพณีนิยมในสังคมไทยที่จัดขึ้นอย่างเอิกเกริกตามแหล่งน้ำต่างๆ ทั้งงานประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมตามคติความเชื่อ และงานมหรสพต่างๆ เพื่อความสนุกสนานและสร้างความบันเทิงแก่ผู้มาร่วมงาน ประเพณีลอยกระทงได้กลายเป็นงานเทศกาลสำคัญเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดต่างๆ อย่างกว้างขวาง

วัดโคกพระยากับธรรมเนียมการสำเร็จโทษ

วันที่ออกอากาศ: 27 เมษายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ตามโบราณราชประเพณีสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดโคกพระยา เป็นสถานที่สำหรับนำพระมหากษัตริย์ซึ่งถูกถอดออกจากราชสมบัติและเจ้านายในพระราชวงศ์ไปกระทำการสำเร็จโทษ โดยพระมหากษัตริย์ที่ถูกถอดราชสมบัติส่วนใหญ่เกิดจากเหตุรัฐประหารผลัดแผ่นดิน

 

หรือในกรณีของการสำเร็จโทษเจ้านายก็เนื่องจากทำผิดกฎมณเฑียรบาลหรือกฎหมายอาญาของบ้านเมือง ซึ่งหากต้องโทษประหารจะถูกนำไปสำเร็จโทษในบริเวณวัดโคกพระยา ดังปรากฏความระบุไว้ในกฎมณเฑียรบาลซึ่งสันนิษฐานว่าตราขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นอย่างน้อย

 

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ อาทิ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ฉบับพันจันทนุมาศ ฉบับพระราชหัตถเลขา เมื่อนำมาประมวลด้วยแล้ว ต่างก็ได้กล่าวถึงการสำเร็จโทษพระมหากษัตริย์และเจ้านายในสมัยอยุธยาบริเวณโคกพระยาหรือบางสำนวนเขียนเป็นวัดโคกพระยานับรวมแล้วมากกว่า 10 ครั้ง

 

โดยมีเหตุการณ์สำคัญจำนวนไม่น้อยที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา ได้แก่ การสำเร็จโทษพระเจ้าทองรัน หรือ พระเจ้าทองจัน ซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ขุนหลวงพะงั่ว โดยพระราเมศวรซึ่งเป็นพระราชโอรสสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทองเสด็จเข้ามาชิงราชสมบัติ แล้วนำพระเจ้าทองรันขณะมีพระชนม์ 12-15 ชันษาไปสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยา

 

การสำเร็จโทษพระยอดฟ้า พระราชโอรสของสมเด็จพระชัยราชาธิราช โดยขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจัน การสำเร็จโทษสมเด็จพระศรีเสาวภาค ซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรศ ก่อนการเสด็จขึ้นครองราชของพระเจ้าทรงธรรม การสำเร็จโทษพระพันปีศรีสินขณะเป็นพระอุปราชโดยสมเด็จพระเชษฐาธิรราช เนื่องจากมีการกระทำที่ส่อไปในทางกบฏ

 

การสำเร็จโทษเจ้าฟ้าไชยซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์โตของพระเจ้าปราสาททองจากเหตุการชิงราชสมบัติของสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา ซึ่งต่อมาก็เกิดเหตุให้มีการสำเร็จโทษพระศรีสุธรรมราชา โดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รวมถึงเหตุการณ์การสำเร็จโทษเจ้าพระขวัญซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเพทราชาโดยสมเด็จพระเจ้าเสือ 

 

จากจดหมายเหตุของวันวลิต ชาวฮอลันดาที่เข้ามาอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้กล่าวถึงการนำเจ้านายไปสำเร็จโทษในสถานที่เรียกว่าวัดพระเมรุโคกพระยา โดยระบุตำแหน่งว่าอยู่ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง ซึ่งในปัจจุบันอยู่บริเวณพื้นที่ใกล้กับวัดหน้าพระเมรุและวัดหัสดาวาส ซึ่งพื้นที่ทางเหนือของวัดหน้าพระเมรุเป็นทุ่งนากว้างเรียกว่า ทุ่งลุมพลี มีคลองสระบัวไหลผ่าน ใกล้ๆ กันมีเนินที่มีวัดร้างซึ่งชาวบ้านเรียกว่า วัดโคกพระยา สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่เดียวกับกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารและในจดหมายเหตุ ต่อมากรมศิลปากรจึงได้เข้าไปบูรณะซากวัดแห่งนี้ 

 

นอกจากนี้ ในบริเวณที่ห่างออกไป 2-3 กิโลเมตร มีพื้นที่ที่ชาวบ้านเรียกว่า โคกพระยา เหมือนกัน อยู่กลางทุ่งภูเขาทองใกล้กับพระเจดีย์ภูเขาทอง มีการอ้างอิงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปยืนช้างทอดพระเนตรดูกำลังข้าศึกบนเนินโคกพระยาซึ่งในพงศาวดารระบุว่าอยู่ใกล้ทุ่งภูเขาทอง ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ใช้สำเร็จโทษเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์เหตุผลต่างๆ แล้ว สถานที่สำเร็จโทษกษัตริย์และเจ้านายไม่น่าจะเป็นสถานที่อยู่ห่างไกลพระราชวังมากนัก ด้วยเหตุของปัญหาที่ว่าการนำกษัตริย์หรือเจ้านายไปสำเร็จโทษนั้น ต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งชิงตัวกษัตริย์หรือเจ้านายที่ต้องโทษ และเป็นเรื่องที่ต้องกระทำอย่างรวดเร็วเพื่อให้กษัตริย์พระองค์ใหม่สามารถปราบดาภิเษกขึ้นมาระงับเหตุได้ทันท่วงที และจัดการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองต่อไป

 

ดังนั้น สถานที่สำเร็จโทษควรอยู่ใกล้พระราชวังที่เป็นศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งน่าจะเป็นวัดโคกพระยาบริเวณวัดหน้าพระเมรุดังเหตุผลที่กล่าวมา

สงกรานต์เมืองนครฯ

วันที่ออกอากาศ: 13 เมษายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

สงกรานต์เป็นเทศกาลฉลองปีใหม่ของวัฒนธรรมไทยมาแต่ดั้งเดิม ปัจจุบันทางราชการได้กำหนดช่วงฉลองเทศกาลไว้ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี โดยตามประเพณีนิยม เทศกาลสงกรานต์จะมีความเกี่ยวเนื่องกับการทำบุญทางพระพุทธศาสนา มีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า ทำบุญเลี้ยงพระ และพิธีบังสกุลเพื่อระลึกและอุทิศบุญกุศลแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ

 

อย่างไรก็ตาม ประเพณีปฏิบัติก็มีความแตกต่างในแต่ละภูมิภาคขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ รวมถึงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ 

 

เทศกาลสงกรานต์ที่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า เมืองนครฯ ซึ่งถือเป็นหัวเมืองใหญ่ของภาคใต้ มีประเพณีปฏิบัติแตกต่างจากเทศกาลสงกรานต์ในกรุงเทพฯ ซึ่งสะท้อนคติความเชื่อและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของคนท้องถิ่น ชาวเมืองนครฯ มักเรียกวันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นวันมหาสงกรานต์ว่า วันส่งเจ้าเมืองเก่า

 

เจ้าเมืองในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ปกครองทางราชการ แต่หมายถึงเทวดาอารักษ์ผู้ทำหน้าที่รักษาชะตาบ้านเมืองและชาวเมืองนครศรีธรรมราช ถือกันว่าวันมหาสงกรานต์เป็นวันที่เจ้าเมืองลากลับไปชุมนุมกันอยู่บนสวรรค์ โดยจะประชุมเทวดากันในวันที่ 14 เรียกว่า วันว่าง เพื่อสลับหมุนเวียนเมืองที่อยู่ในความดูแลกันใหม่และลงมายังเมืองมนุษย์ในวันที่ 15 หรือวันเถลิงศก ซึ่งชาวนครฯ เรียกว่า วันรับเจ้าเมืองใหม่ 

ในวันส่งเจ้าเมืองเก่า ชาวนครศรีธรรมราชจะทำความสะอาดและซ่อมแซมบ้านเรือน จัดเตรียมเครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย และข้าวของสำหรับการไปทำบุญ ชาวนครฯ มีพิธีกรรมหนี่งที่เรียกว่า พิธีลอยเคราะห์ ซึ่งคล้ายกับพิธีลอยกระทง แต่ไม่ได้ลอยกระทงที่ตกแต่งสวยงาม จะใช้กระทงหรือแพทำจากหยวกกล้วยใส่สิ่งของต่างๆ เช่น อาหาร หมากพลู ธูปเทียน ดอกไม้ บางก็นิยมตัดผมตัดเล็บใส่ลงไปด้วย แล้วนำไปลอยในแม่น้ำหรือทะเลพร้อมอธิษฐานให้เคราะห์กรรมทุกข์โศกลอยไปพร้อมกระแสน้ำ

 

นอกจากนี้ ยังมีธรรมเนียมการแห่พระพุทธสิหิงค์ประจำเมือง โดยแห่จากหอพระพุทธสิหิงส์ซึ่งอยู่บริเวณศาลากลางจังหวัด ใช้ขบวนรถคันใหญ่ร่วมด้วยเทพีสงกรานต์แห่ไปประดิษฐานบริเวณสนามหน้าเมือง เมื่อพิธีแห่เสร็จสิ้นแล้วก็เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมสรงน้ำขอพร

 

ในวันที่ 14 หรือวันว่าง ชาวเมืองนครฯ ทุกสาขาอาชีพจะหยุดทำงาน เนื่องจากถือว่าวันนี้ไม่มีเทวดาคุ้มครอง มีธรรมเนียมให้นำสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ร่วมเครื่องมือทำมาหากิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สากและครก ออกมาล้างหรือแช่น้ำ

 

จากนั้นชาวเมืองส่วนใหญ่จะนำภัตตาหาร เครื่องสักการะบูชาต่างๆ ไปทำบุญที่วัด ไปร่วมสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ที่สนามหน้าเมืองและรองน้ำที่ตกจากรางสรงน้ำพระพุทธสิหิงส์กลับบูชาที่บ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล รวมถึงไปสักการะพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของเมือง

 

ในช่วงเย็นจะมีมหรสพต่างๆ อาทิ มโนห์รา หนังตะลุง เพลงบอก และมีการละเล่นสำหรับเด็กอย่างมอญซ่อนผ้า อุบลูกไก่ ชักกะเย่อ ในเทศกาลดังกล่าวด้วย

 

วันรับเจ้าเมืองใหม่ถือเป็นวันสำคัญที่สุดของเทศกาล ชาวเมืองจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ไปร่วมทำบุญที่วัดในช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่ายจะมีประเพณีขึ้นเบญจา โดยเชิญผู้ใหญ่ผู้อาวุโสมานั่งบนที่นั่งหรือเบญจา แล้วลูกหลานในครอบครัวจะมาช่วยกันรดน้ำทั้งตัว จึงมักเรียกอีกอย่างว่า ประเพณีอาบน้ำผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันจะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดให้ศีลให้พรไปด้วย หลังจากนั้นลูกหลานก็นำผ้าไหมมาให้ผลัดเปลี่ยนให้ 

 

ปัจจุบันเมืองนครฯ มีประเพณีมหาสงกรานต์แห่นางดานเมืองนคร ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาไม่ถึง 10 ปี เป็นประเพณีส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด ซึ่งฟื้นฟูประเพณีโบราณของเมืองคือ พิธีตรียัมปวายโล้ชิงช้า ซึ่งเป็นพระราชพิธีทางพราหมณ์ในสมัยอยุธยา โดยนำการแห่นางดานซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในพิธีโล้ชิงช้ามาปฏิบัติให้ชาวนครฯ และนักท่องเที่ยวได้ชม

 

นางดานหมายถึงแผ่นกระดาน 3 แผ่นแกะสลักเป็นรูปพระอาทิตย์-พระจันทร์ รูปพระแม่ธรณี และรูปพระแม่คงคา ซึ่งเป็นเทพบริวารเพื่อรอรับเสร็จพระอิศวรที่จะเสด็จลงมาเยี่ยมโลกในเทศกาลปีใหม่

10 พุทธศิลป์ชิ้นเยี่ยมแห่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ

วันที่ออกอากาศ: 31 มีนาคม 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์ 

 

 

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีบทบาทสำคัญในการการสร้างงานพุทธศิลป์ไทย ซึ่งเป็นงานศิลปะที่อุทิศตามพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทั้งงานสถาปัตยกรรม ปฏิมากรรม จิตรกรรม และงานประณีตศิลป์

 

ทรงเข้าพระทัยการออกแบบงานพุทธศิลป์ต่างๆ จนสามารถสร้างงานที่ยิ่งใหญ่และไม่เคยมีปรากฏในยุคก่อนๆ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาและพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะของพระองค์ 

10 ตัวอย่างงานพุทธศิลป์ชั้นเยี่ยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งแนะนำให้คนไทยควรหาโอกาสไปเยี่ยมชมศึกษา ได้แก่

 

(1) พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ได้รับการออกแบบและก่อสร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระปรางค์ทรงสูงฉลูดที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดในสมัยสมัยสุโขทัยจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คือประมาณ 1 เส้นเศษ หรือสูงเกือบหนึ่งร้อยเมตร  

 

(2) โลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม เป็นพุทธเจดีย์ตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับธรรมเนียมการสร้างโลหะปราสาทในสมัยพุทธกาลซึ่งปรากฏความอยู่ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา โลหะปราสาทที่วัดราชนัดดารามเป็นอาคาร 3 ชั้น มียอดปราสาทรวม 37 ยอด ซึ่งแทนหัวข้อธรรมะในพุทธศาสนา คือ พระโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ  

 

(3) พระเจดีย์เรือสำเภา วัดยานนาวา ทรงสร้างพระเจดีย์ที่มีฐานเป็นรูปเรือสำเภาจีน ตามพระราชประสงค์เพื่อให้เป็นปริศนาธรรมที่แสดงให้เห็นว่าองค์พระพุทธเจ้าทรงมีบทบาทเหมือนเรือสำเภาที่นำสรรพสัตว์ข้ามโลกุตระลาวาหรือมหาสมุทรแห่งกิเลสตัญหาต่างๆ  

 

(4) สัตตมหาสถาน วัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นการจำลองสถานที่ 7 แห่งที่พระพุทธเจ้าทรงย้ายที่ประทับภายหลังการตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่งอยู่บริเวณรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์ มีการปลูกต้นไม้ที่กล่าวถึงในพระพุทธประวัติ เช่น พระศรีมหาโพธิ์ ต้นมุจลิน ต้นสัตตบัน แล้วมีการประดับตกแต่งสถานที่ด้วยวัสดุต่างๆ เช่น เก๋งจีน ตุ๊กตาจีนที่เป็นศิลาแกะสลักจากเมืองจีน เป็นต้น  

 

(5) พระอุโบสถวัดราชโอรสาราม เป็นพระโอบสถที่มีสถาปัตยกรรมตามพระราชนิยม คือพระอุโบสถวิหารที่ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ตามสถาปัตยกรรมแบบไทยเดิม โดยก่อโครงหลังคาด้วยอิฐปูน แทนการไม้ซึ่งไม่ทนทานหักพังได้ง่าย แล้วประดับด้วยกระเบื้องเป็นลวดลายต่างๆ ตามคติจีน ถือว่าพระอุโบสถวัดราชโอรสารามเป็นตัวอย่างที่ดีทีสุดที่แสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

(6) พระอุโบสถวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นพระอุโบสถตามสถาปัตยกรรมแบบไทยเดิมที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดในประเทศจนถึงปัจจุบัน ทรงมีพระราชดำริให้หล่อพระพุทธตรีโลกเชษฐ์ ซึ่งเป็นพุทธปฏิมาขนาดใหญ่มากประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังภาพประวัติของพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหนี่งในงานจิตรกรรมสำคัญสมัยรัตนโกสินทร์ 

 

(7) พระพุทธรูปปางไสยาสน์ วัดพระเชตุพน ก่อด้วยอิฐแล้วตกแต่งด้วยปูนปั้น มีความยาวประมาณ 50 เมตรเศษ ที่พระบาทตกแต่งลายประดับมุกเป็นมงคล 108 ประการ ถือเป็นงานประณีตศิลป์ชิ้นสำคัญ

 

(8) พระพุทธไตรรัตนนายก วัดกัลยาณมิตร เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ สร้างโดยใช้คติและรูปแบบเดียวกับวัดพนัญเชิงในพระนครศรีอยุธยา จึงพระราชทานนามของพระพุทธรูปว่า พระพุทธไตรรัตนนายก ซึ่งเป็นพระนามเดียวกับพระพุทธรูปหลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง

 

(9) พระพุทธรูปในวัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร ซึ่งเป็นพระประธานขนาดกลางจำนวน 28 องค์ สร้างตามคติอดีตพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ในคัมภีร์ภัทรกัปของพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นพระพุทธเจ้าปางมารวิชัย ประดิษฐานลดหลั่นกันไปบนฐานชุกชีในพระอุโบสถ

 

(10) รูปหล่อของพระภิกษุณีสงฆ์ในพระวิหารวัดเทพธิดาราม ทรงสร้างวัดเทพธิดารามพระราชทานแก่พระราชธิดา พระองค์เจ้าวิลาส กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ แล้วโปรดให้หล่อรูปพระภิกษุณีที่มีอากัปกิริยาเหมือนนั่งนั่งฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้าบนแท่นที่อยู่เบื้องหน้าองค์พระประธาน ซึ่งถือเป็นงานประติมากรรมชิ้นเยี่ยมในรัชสมัย

จิตรกรรมฝาผนังวัดกก

วันที่ออกอากาศ: 6 กรกฎาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

วัดกก เป็นวัดประจำชุมชนของชาวสวนย่านธนบุรีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตั้งอยู่บริเวณคลองสนามชัยซึ่งขุดใช้เป็นเส้นทางเสด็จประพาสของพระเจ้าแผ่นดินสมัยอยุธยา

 

พระอุโบสถของวัดกกมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบสมัยรัชกาลที่ 1 ช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์ที่สืบเนื่องมาจากกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี  มีลักษณะคล้ายกับหอพระนาค อาคารหลังหนึ่งในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

 

ภายในพระอุโบสถของวัดกกมีฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระประธาน 2 องค์ พระประธานองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ด้านหลังเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ และพระประธานองค์หน้าเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งเป็นลักษณะนิยมของพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย เช่นเดียวกับฐานชุกชีที่มีเป็นลักษณะเฉพาะในช่วงปลายสมัยอยุธยาเช่นกัน จึงสันนิษฐานได้ว่าพระอุโบสถหลังนี้สร้างมาก่อนสมัยรัชกาลที่ 1 แต่น่าจะได้รับการปฏิสังขรณ์หรือสร้างใหม่ตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา 

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถของวัดกกมีความน่าสนใจและมีเอกลักษณ์เป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นภาพรูปแบบจิตรกรรมแบบรัชกาลที่ 1 และมีการเขียนภาพเพิ่มเติมเป็นรูปแบบจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 3

 

ปัจจุบันยังเหลือภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ประมาณร้อยละ 70 ของผนังทั้ง 4 ด้าน ซึ่งถือว่ามาก สิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นภาพจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 1 คือ ภาพเทพชุมนุม ซึ่งเขียนเต็มพื้นที่ของผนังเหนือช่องหน้าต่างด้านซ้ายและด้านขวาของพระประธาน เป็นภาพเทพยดา ครุฑ นาค จนถึงเทวดาชั้นพรหมเรียงรายกันเป็น 3 แถว นั่งประนมมือเข้าหาพระประธาน ซึ่งเป็นรูปแบบที่เทียบเคียงได้กับจิตรกรรมเทพชุมนุมของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพระราชวังบวรสถานมงคล

ผนังด้านล่างระหว่างช่องหน้าต่าง ช่องประตู มีภาพวาดทศชาติชาดกและมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งปัจจุบันเลือนลางไปมาก ประกอบกับผนังอุโบสถได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ซึ่งกรมศิลปากรได้เข้ามาอนุรักษ์และพยายามซ่อมแซม

 

ภาพจิตรกรรมที่เป็นเอกลักษณ์อย่างมากของวัดกก คือ ภาพจิตรกรรมบนผนังเหนือช่องหน้าต่างด้านสะกัด ก็คือด้านหน้าและด้านหลังองค์พระประธาน ซึ่งแต่เดิมในสมัยปลายอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 มักนิยมวาดภาพตรงหน้าพระประธานเป็นภาพมารผจญและด้านหลังพระประธานเป็นภาพไตรภูมิ แต่ด้านหน้าพระประธานของวัดกกกลับเป็นภาพมณฑปพระพุทธบาทสระบุรีเป็นศูนย์กลาง รอยพระพุทธบาทประดิษฐ์จากแผ่นทองเหลืองแกะลายขนาดใหญ่ แวดล้อมด้วยภาพป่าเขา มีภาพเมืองสระบุรีและมหาชนกำลังนมัสการพระพุทธบาท

 

ด้านหลังพระประธานเป็นภาพพระพุทธเจ้ายืนพิงหน้าผาอยู่ ซึ่งเป็นภาพพระพุทธฉาย ปูชนียสถานอีกแห่งหนึ่งในแขวงเมืองสระบุรี ภาพจิตรกรรมทั้ง 2 ภาพนี้เป็นฝีมือของช่างสมัยยุครัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 3 

 

ภาพนมัสการพระพุทธบาทสระบุรีและพระพุทธฉายนี้ ไม่ปรากฏในภาพจิตรกรรมของวัดอื่นๆ หรือแม้แต่วัดสำคัญในจังหวัดสระบุรีซึ่งอยู่ในพื้นที่ แต่เหตุใดมาปรากฏในวัดกกที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ได้เป็นวัดหลวงที่มีความสำคัญมากนักในทางประวัติศาสตร์

 

ตรงนี้มีข้อสันนิษฐานจากข้อความในพระราชพงศาวดารสมัยรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 3 พบว่าบริเวณบางบอน-บางขุนเทียน เป็นพื้นที่รองรับการกวาดต้อนผู้คนจากสงครามและการอพยพของชาวลาวช่วงการทำศึกเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งกลุ่มชาวลาวถูกกวาดต้อนมาพักบริเวณรอยต่อที่ราบสูงโคราชบริเวณจังหวัดสระบุรีในปัจจุบัน

 

จึงมีข้อสันนิษฐานว่าผู้อุปถัมภ์การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดกกในสมัยรัชกาลที่ 3 อาจจะเป็นผู้อันจะกินเชื้อสายลาวที่อพยพมา ซึ่งรับรู้การนมัสการปูชนียสถานพระพุทธฉายและพระพุทธบาทของเมืองสระบุรี ปัจจุบันภาพจิตรกรรมดังกล่าวนี้ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มาก โดยกรมศิลปากรอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี 

งานประดับมุก

งานประดับมุก เป็นงานประณีตศิลป์สำหรับตกแต่งโบสถ์วิหารในวัดต่างๆ ซึ่งรุ่งเรืองเฟื่องฟูมากในยุครัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่เป็นงานประดับบานประตูหน้าต่างโบสถ์วิหาร นอกจากนั้นยังสามารถนำไปประดับภาชนะเครื่องใช้สำหรับพระสงฆ์ที่มีพื้นผิวเป็นไม้ เช่น ตู้พระธรรม ตะลุ่ม ฝาบาตร กล่องใส่หมากพลู เป็นต้น

 

วิธีการทำคือการประดับมุกลงบนพื้นผิวของไม้ เริ่มจากร่างลายบนพื้นผิวของวัตถุ จากนั้นแกะสลักให้เป็นลายตื้นเพื่อให้สามารถฝังชิ้นเปลือกมุก สำหรับมุกจะต้องฉลุตามลายที่ร่างแบบไว้ โดยสามารถนำเปลือกหอยมาใช้ได้หลายชนิด เช่น หอยมุก หอยอูฐ หอยนมสาว หอยงวงช้าง หอยจอบ นำมาขัดให้เป็นประกายแวววาว หากออกมาเป็นสีรุ้งจะมีศัพท์ทางช่างเรียกกันว่า มุกไฟ ซึ่งนิยมนำมาใช้ในงานประดับมุกชิ้นเอก นำมาฝังในร่องลายที่แกะไว้แล้ว

 

จากนั้นก็ถมยางรักให้เต็มพื้นผิว แล้วขัดจนกระทั่งลายมุกปรากฏขึ้นมาเรียบเสมอกับผิวไม้ จะเห็นได้ว่างานประดับมุกเป็นงานละเอียดที่ใช้เวลาและความอดทนอย่างมาก ซึ่งทำให้มีราคาค่อนข้างสูงตามไปด้วย

 

งานประดับมุกที่เก่าที่สุด เป็นงานสมัยอยุธยาตอนปลาย มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้โปรดเกล้าให้สร้างบานประตูหน้าต่างประดับมุกสำหรับโบสถ์วิหารสำคัญๆ ในราชอาณาจักรหลายแห่งด้วยกัน อย่างเช่นบานประตูประดับมุกที่วิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

 

นอกจากนี้ วัดบรมพุทธาราม ซึ่งสมเด็จพระเพทราชาทรงสถาปนาขึ้น ก็ได้มีการสร้างบานประตูประดับมุกที่วัด โดยหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ถอดบานประตูดังกล่าวมาใช้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และกลายเป็นต้นแบบของงานประดับมุกในสมัยต่อมา

 

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นช่วงที่เฟื่องฟูมาก มีวิธีการและการออกแบบลวดลายประดับตกแต่งใหม่ๆ ต่างไปจากสมัยอยุธยา มีงานประดับมุกสำคัญๆ อาทิ บานประตูอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ เป็นการผูกลวดลายเล่าเรื่องรามเกียรติ์ตอนต่างๆ การผูกลวดลายแบบจีนบนบานประตูพระอุโบสถวัดราชโอรสาราม ซึ่งงดงามมากจนสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงชมไว้อย่างยิ่งในพระนิพนธ์ สาสน์สมเด็จ 

 

งานสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 4 คือ บานประตูพระอุโบสถ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม บานด้านตะวันออกเป็นไม้แกะสลักลงลักปิดทอง ประดับกระจกข้างหลังบาน บานด้านที่อยู่ในพระอุโบสถเป็นงานประดับมุกที่มีอิทธิพลงานประดับมุกแบบญี่ปุ่น

 

สมัยรัชกาลที่ 5 มีการสร้างงานประดับมุกไว้หลายชิ้น ชิ้นสำคัญ คือ บานประตูและหน้าต่างประดับมุกพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มีการผูกลวดลายเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำคัญของไทยในเวลานั้น ซึ่งมีลวดลายสวยงามมีประกายระยิบระยับเหมือนมุกไฟ

 

งานประดับมุกในวัดวาอารามต่างเริ่มเสื่อมความนิยมลงไปหลังจากสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากหาช่างที่มีฝีมือค่อนข้างยาก เพราะในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ กรมช่างสิบหมู่ที่มีหน้าที่โดยตรงในการฝึกหัดช่างฝีมือในสังกัด โดยสามารถคัดเลือกคนที่มีศักยภาพในการทำงานศิลปะจากระบบเกณฑ์แรงงาน ซึ่งช่างฝีมือเหล่านี้จะได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินรางวัลตอบแทน

 

แต่ต่อมาเมื่อได้ยกเลิกระบบเกณฑ์แรงงาน ก็ทำให้การฝึกช่างฝีมือเป็นเรื่องยาก เนื่องจากงานประดับมุกจำเป็นต้องใช้ช่างที่มีฝีมือขั้นสูง อาศัยความละเอียดและความอดทนอย่างมาก ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกไปทำงานอย่างอื่น อย่างไรก็ตาม ก็มีความพยายามในการอนุรักษ์เพื่อสืบทอดงานประณีตศิลป์ประเภทนี้ไว้ โดยยังคงมีการเปิดสอนงานช่างประดับมุกในวิทยาลัยช่างฝีมือในวัง (ชาย) ในปัจจุบัน  

ชมศิลปะไทใหญ่ในแม่ฮ่องสอน

 

วันที่ออกอากาศ: 8 กุมภาพันธ์ 2558
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

แม่ฮ่องสอนเป็นเมืองที่มีประชากรจำนวนมากเป็นชาวไทใหญ่ หรือ ชาวฉาน ซึ่งอพยพเข้ามาในพื้นที่ตั้งแต่สมัยอดีต โดยนำวัฒนธรรมของไทใหญ่เข้ามาแลกเปลี่ยนปะทะสังสรรค์กับวัฒนธรรมดั้งเดิมในพื้นที่ ซึ่งจะพบว่ามีงานศิลปะและพุทธศิลป์แบบไทใหญ่มากมายปรากฏอยู่ทั่วจังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

งานพุทธศิลป์ของชาวไทใหญ่มีวิวัฒนาการคล้ายกับชาวสยาม ต่างก็รับเอาพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์มาเป็นแก่นความเชื่อหลักของสังคมมาตั้งแต่สมัยโบราณ อาทิ วิถีการดำเนินชีวิตตามหลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา ความเชื่อเรื่องกรรม บุญกุศล การสั่งสมบุญบารมี พิธีกรรมที่สะท้อนคติความเชื่อในทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนการสร้างสรรค์งานศิลปะต่างๆ ที่สะท้อนคติความเชื่อทางศาสนา และมีประเพณีของการสร้างงานพุทธศิลป์เพื่อเป็นการประกาศศรัทธา การบำเพ็ญบุญกุศล รวมถึงการทนุบำรุงพระพุทธศาสนา

 

รูปแบบของงานพุทธศิลป์ไทใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะมอญพม่า เนื่องจากชาวไทใหญ่ตกอยู่ใต้อำนาจของชาวพม่ามาตั้งแต่สมัยพุกาม สืบมาในยุคราชวงศ์ตองอู จนถึงราชวงศ์อลองพญาราวพุทธศตวรรษที่ 22-24 ซึ่งมีอิทธิพลต่อกรอบการพัฒนางานพุทธศิลป์ของชาวไทใหญ่อย่างมาก ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม รวมถึงงานประณีตศิลป์

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณางานพุทธศิลป์ของชาวไทใหญ่โดยละเอียดแล้วจะพบว่ามีเอกลักษณ์เป็นของตนเองภายใต้กรอบของศิลปะแบบมอญพม่า

 

ด้านสถาปัตยกรรม การก่อสร้างวัด หรือ จอง ในภาษาไทใหญ่ นิยมสร้างอาคารต่างๆ ประกอบด้วย อุโบสถ วิหาร หอฉัน กุฎีสงฆ์ อยู่ติดกันในลักษณะเรือนหมู่แบบคนไทย แต่สร้างหลังคาของอาคารต่างๆ ทรงยอดปราสาทแบบพม่ามอญ เรียกว่า ทรงพญาธาตุ แต่ลดจำนวนชั้นและความซับซ้อนของโครงสร้างลงไป สำหรับเจดีย์มีลักษณะคล้ายกับสถูปเจดีย์แบบมอญพม่า แต่มีการประยุกต์โดยขยายส่วนสูงเพิ่มขึ้น ทำให้เจดีย์ไทใหญ่มีรูปทรงสูงชลูดมากกว่าเจดีย์พม่า 

 

ด้านประติมากรรม พบว่ามีการสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ครบทั้ง 4 อิริยาบถ ได้แก่ นั่ง ยืน นอน เดิน มีรูปพระพักตร์แบบพม่า นิยมแกะสลักจากหินหยก หรือเป็นพระพุทธไม้แกะสลักปิดทองแล้วประดับด้วยกระจก นอกจากพระพุทธรูปแล้ว ยังนิยมสร้างรูปพระอรหันต์อุปคุต รวมถึงรูปประติมากรรมต่างๆ ที่สร้างถวายเป็นพุทธบูชา เช่น รูปสิงห์ รูปหงส์ รูปคนฟ้อนรำ เป็นต้น 

 

ด้านจิตรกรรม นิยมเขียนภาพจากพุทธประวัติ ภาพชาดก มีทั้งตัวละครที่แต่งกายแบบพม่า เขียนตัวละครที่แต่งกายทรงมงกุฎยอดแหลม มีเครื่องแต่งกายเหมือนจิตรกรรมไทย จึงเป็นภาพจิตรกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะไทยและพม่า อาจกล่าวได้ว่างานพุทธศิลป์ไทใหญ่ประเภทจิตรกรรมปรากฏพบอยู่ในเมืองแม่ฮ่องสอนค่อนข้างน้อยกว่างานศิลปกรรมประเภทอื่น

 

ด้านงานประณีตศิลป์ ได้แก่ เครื่องเขิน เป็นเครื่องใช้สำหรับพระสงฆ์ บาตรพระ พานสำหรับใส่เครื่องบูชา ทำจากไม้ตกแต่งด้วยการลงเขิน หรือลงรักปิดทองและประดับด้วยกระจก งานประณีตศิลป์ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทใหญ่คือ ลายฉลุ เป็นการฉลุลายแบบที่ภาษาภาคกลางเรียกว่า งานทองแผ่ลวด แต่ชาวไทใหญ่เรียกว่า ลายไตร นำไปใช้ตกแต่งอาคารในวัดวาอาราม ศาลา หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ 

 

ปัจจุบัน สามารถเยี่ยมชมและศึกษาตัวอย่างงานพุทธศิลป์ไทใหญ่ในแม่ฮ่องสอนได้จากศาสนสถานสำคัญๆ ได้แก่ พระธาตุดอยกองมู พระธาตุเจดีย์สำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอน วัดหัวเวียง ซึ่งมีพระเจ้าพาราละแข่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญประดิษฐานอยู่ จำลองแบบจากพระมหามัยมุนีของเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า วัดจองคำ-วัดจองกลาง ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองแม่ฮ่องสอน ริมหนองจองคำ เป็นต้น

ประเภทของจิตรกรรมฝาผนังในวัดโพธิ์

วันที่ออกอากาศ: 11 มกราคม 2558
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

วัดพระเชตุพนวิมลมังคราราม หรือ วัดโพธิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกขนาดใหญ่ที่มีผลงานสร้างสรรค์ทางด้านศิลปะประเภทจิตรกรรมอยู่อย่างมากมาย ถือเป็นแหล่งที่รวบรวมภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้ได้มากที่สุด

 

มีภาพจิตรกรรมฝาผนังปรากฎอยู่ทั้งในอาคารขนาดเล็ก ไปจนถึงอาคารขนาดใหญ่ระดับพระอุโบสถและพระวิหาร ซึ่งภาพเกือบทั้งหมดเป็นผลงานจิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3

 

หากพิจารณามุมมองในเชิงประวัติศาสตร์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดพระเชตุพนฯ สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ

 

ประเภทแรก คือ ทางคดีธรรม ซึ่งเป็นเรื่องราวทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ทั้งเรื่องการสอนในเชิงนัยประวัติ ได้แก่ ประวัติของพระพุทธเจ้า ประวัติของพระสาวก ประวัติของพระภิกษุณี อุบาสกหรืออุบาสิกาคนสำคัญที่กล่าวไว้ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา รวมถึงการสอนในเชิงธรรมะ เรื่องบาปบุญคุณโทษ การปฏิบัติธรรม หัวข้อธรรมะต่างๆ

 

ประเภทที่สอง เป็นจิตรกรรมฝาผนังในเชิงคดีโลก เป็นการให้ความรู้สรรพวิชาต่างๆ ที่ไม่ใช่ห้วข้อธรรมะ ซึ่งในการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังครารามสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้รวบรวมความรู้และวิทยาการในสาขาต่างๆ ทั้งวรรณคดี วรรณกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ตำรายา สุขวิทยาต่างๆ ถ่ายทอดเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเพื่อให้ผู้คนได้ศึกษาความรู้นั้นๆ ในเชิงรูปธรรม อาทิ ภาพตำราการนวด ภาพรามเกียรติ์ ภาพสัตว์หิมพานต์ ภาพขนบประเพณีและคติคตินิยมในสังคมไทย ภาพพงศาวดารจีน ภาพการค้าเรือสำเภา รวมถึงภาพชนชาติ 12 ภาษา

 

ในเชิงคดีธรรมมีภาพจิตรกรรมที่สำคัญอยู่มากมาย เริ่มจากภาพในพระอุโบสถซึ่งเป็นเสมือนศูนย์กลางของวัด พระอุโบสถนี้สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังตามขนบธรรมเนียมใหม่ ได้แก่ภาพมโหสถชาดก หนึ่งในทศชาติชาดกซึ่งสะท้อนเปรียบเทียบถึงปัญญาบารมีและความเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาขององค์รัชกาลที่ 3

 

รวมถึงภาพพระอรหันต์เอตทัคคะ 41 องค์ เป็นภาพประวัติของพระอรหันต์ 41 องค์ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยกให้เป็นความดีเด่นหรือมีจริยวัตรที่โดดเด่นในแต่ละด้าน

 

ในวิหารพระพุทธไสยาสน์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังส่วนเหนือช่องหน้าต่างทั้ง 4 เป็นเรื่องคัมภีร์มหาวงศ์หรือพงศาวดารของลังกาทวีป การประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีปหรือเกาะศรีลังกา ซึ่งเป็นต้นทางพระพุทธศาสนาก่อนเข้ามาเจริญในประเทศไทย

 

นอกจากนี้มีภาพประวัติบุคคล 3 ประเภท ได้แก่ พระพุทธสาวิกา หรือ ภิกษุณีเอตทัคคะ 13 องค์ เรื่องอุบาสกเอตทัคคะและอุบาสิกาเอตทัคคะ ซึ่งกล่าวถึงอุบาสกและอุบาสิกาในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่อง อาทิ พระเจ้าพิมพิสาร อนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขา เป็นต้น 

 

ในเขตพุทธาวาสของวัดพระเชตุพนฯ ยังมีวิหารตั้งอยู่บนแนวระเบียงคตรอบพระอุโบสถทั้ง 4 ทิศ วิหารทิศตะวันออก มีภาพจิตรกรรมเรื่องพระโยคาวจรพิจารณาสุภาษิต ซึ่งเป็นธรรมะขั้นสูงของพระสงฆ์และพระธุดง ภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ  วิหารทิศตะวันตก มีจิตรกรรมพุทธประวัติเกี่ยวกับพระเกศาธาตุ

 

วิหารทิศเหนือ มีจิตรกรรมเรื่องไตรภูมิและโลกสันฐาน และวิหารด้านทิศใต้ มีภาพจิตรกรรมพระพุทธประวัติ 2 เรื่อง ได้แก่ ตอนแสดงปฐมเทศนาหรือเทศนาธรรมจักร และตอนเทศนาดาวดึงส์ กล่าวถึงเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนดาวดึงส์และเทศนาโปรดพระพุทธมารดา 

พระเครื่องเบญจภาคี

วันที่ออกอากาศ: 15 กันยายน 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พระเบญจภาคี คือกลุ่มพระบูชาในวงการพระเครื่อง เป็นกลุ่มพระบูชาที่มีผู้นิยมสะสมบูชามากที่สุด ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นพระเครื่องที่มีคุณลักษณะที่ดี มีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถนำสิ่งที่เป็นคุณมาสู่ผู้ที่มีไว้บูชา ประกอบด้วยพระเครื่อง 5 ตระกูลซึ่งสร้างขึ้นต่างยุคสมัย สามารถเรียงลำดับตามอายุการสร้างได้ ดังนี้

 

พระรอดลำพูน เป็นพระพิมพ์รุ่นเก่าที่สุด สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรหริภุญชัย ซึ่งเป็นรากเง้าของเมืองลำพูนในปัจจุบัน เดิมเคยเป็นอาณาจักรของพวกมอญ สันนิษฐานว่า พระนางเจ้าจามเทวี ทรงเป็นกษัตริย์ต้นราชวงศ์ หลังจากพุทธศตวรรษที่ 18 จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา ซึ่งอยู่ร่วมสมัยเดียวกับอาณาจักรสุโขทัยยุคต้น ในรัชกาลพระยารามราช หรือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เชื่อกันว่าการบูชาพระรอดลำพูน จะช่วยให้อยู่รอดปลอดภัย แคล้วคลาดพ้นภัยเวลาเดินทาง อยู่ยงคงกระพัน และอุดมด้วยโภคทรัพย์ 

 

พระซุ้มกอ มีกรอบทรวดทรงของพระพิมพ์เหมือนซุ้มรูปตัวอักษร กอ-ไก่ ภายในซุ้มมีพระพุทธรูปประทับนั่งสมาธิ พบในกรุสถูปเจดีย์ที่เมืองกำแพงเพชร เชื่อว่าเป็นพระที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย เนื่องจากเมืองกำแพงเพชรอยู่ในกลุ่มเมืองสำคัญของรัฐสุโขทัย ถือพระเครื่องที่มีอายุรองลงมาจากพระรอดลำพูน เชื่อว่ามีพุทธคุณทางโภคทรัพย์ ความมั่งคั่งร่ำรวย ส่งเสริมให้ผู้บูชาได้เป็นใหญ่เป็นนายคน มีวาสนา ไม่มีวันอับจน

 

พระผงสุพรรณ พบในกรุพระเจดีย์ต่างๆ ของแขวงเมืองสุพรรณบุรี โดยเฉพาะกรุพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี สุพรรณบุรีหรือสุพรรณภูมิเป็นนครรัฐอิสระของคนไทยบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 – 19 ต่อมารวมเมืองกับแคว้นละโว้และอโยธยากลายเป็นกรุงศรีอยุธยา เชื่อว่ามีคุณในเรื่องเมตตาบารมี ความเป็นผู้นำ มีเสน่ห์ มีความสงบและหนักแน่น และขจัดทุกข์

 

พระนางพญา เป็นพระพิมพ์ทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ด้านแหลมค่อนข้างยาว พบในกรุวัดนางพญาเมืองพิษณุโลก  ในสมัยรัตนโกสินทร์มีผู้สร้างเลียนแบบพระพิมพ์ทรงสามเหลี่ยมปรากฏในกรุเจดีย์ใหญ่ๆ ในกรุงเทพ ซึ่งน่าจะเป็นพระนางพญาคนละยุคสมัย เชื่อว่าให้คุณเรื่องความมีเมตตากรุณา ความเป็นสวัสดิมงคล มีอิทธิฤทธิ์แกล้วกล้า อยู่ยงคงกระพัน ไม่หวั่นเกรงต่อศาสตราวุธศัตรู คนที่บูชาจะเป็นผู้มีบารมี มีคนเกรงใจ

 

พระสมเด็จวัดระฆัง สร้างโดยพระคุณสมเด็จพุทธจารย์โตพรหมรังสี วัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีสัณฐานเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีกรอบโค้งอยู่ข้างในและมีเค้าโครงรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่บนพุทธบัลลังก์ที่ซ้อนกันหลายชั้น ซึ่งไม่ได้ลงรายละเอียดชัดเจน ผู้ที่มีไว้บูชาจะเชื่อเรื่องพุทธคุณครอบจักรวาล เน้นบุญฤทธิ์หนุนดวงชะตาเมตตามหานิยม แคล้วคลาดภัยพิบัติ คงกระพัน โชคลาภ บารมีรุ่งเรืองไม่มีวันตกต่ำ

 

แม้พระสมเด็จวัดระฆังจะมีความเก่าแก่น้อยที่สุด แต่ในวงการพระเครื่องถือว่ามีความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกเล่าว่าสมเด็จพระพุทธจารย์โตพรหมรังสีสร้างพระบูชาด้วยฝีมือของท่านเอง ซึ่งท่านเป็นพระเถรวาทผู้ใหญ่และเป็นเกจิอาจารย์ที่คนไทยเคารพศรัทธามาก ตั้งแต่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 รวมถึงประชาชนทั่วไป

 

ทั้งนี้ ยังมีความเกี่ยวข้องกับตำนานเรื่องแม่นาคที่เล่าขนาถึงอิทธิฤทธิ์และความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน จึงทำให้มีผู้คนเคารพศรัทธาสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

พระพิมพ์ พระเครื่อง

ออกอากาศวันที่ 8 กันยายน 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พระพิมพ์ เป็นรูปเคารพแทนองค์พระพุทธเจ้าที่สร้างขึ้นด้วยวิถีการขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ โดยวัสดุหลักๆ ที่นำมาปั้นเนื้อพระ ได้แก่ ดิน ขี้เถ้า มวลสารต่างๆ หรือแม้กระทั่งอัฐิของพระสงฆ์ที่เชื่อว่าเป็นพระอรหันต์  หรืออัฐิของพระสงฆ์ที่เป็น เกจิอาจารย์ หรือแม้แต่อัฐิคนธรรมดา ซึ่งการทำพระพิมพ์ในสมัยโบราณถือว่าเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่ช่วยสร้างบุญอุทิศให้กับผู้ตาย

 

สันนิษฐานว่าเริ่มมีการสร้างพระพิมพ์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 5-6 หลังจากการสร้างพระพุทธรูปและสังเวนียสถาน ซึ่งเริ่มสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 3 ในสมัยโบราณการสร้างพระพิมพ์ทำขึ้นเพื่อบรรจุในกรุของสถูปเจดีย์

 

ในกรุหนึ่งๆ จะบรรจพระพิมพ์ไว้เป็นจำนวนมาก อาจมีจำนวนถึง 48,000 องค์เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ ซึ่งมาจากแนวคิดเรื่องการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา มีคติความเชื่อเรื่อง ปัญจอัตรธาร หรือความเสื่อมสลายของศาสนาในราว 5,000 ปี จึงคิดสร้างพระพิมพ์บรรจุในกรุสำหรับคนในชั้นหลัง

 

ภายหลังจึงมีแนวคิดการสร้างพระพิมพ์เพื่อเป็นของที่ระลึกสำหรับคนไปนมัสการสังเวชนียสถานหรือผู้บริจาคปัจจัยต่างๆ มีการสร้างพระพิมพ์เป็นรุ่นๆ ซึ่งได้รับความนิยมแตกต่างกันไป

 

พระพิมพ์ แบ่งเป็นออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ตามเนื้อของวัสดุที่ได้ ดังแก่ 

 

(1) วัสดุที่เป็นดิน คือ ดินเหนียวเนื้อดี ผสมกับมวลสารชนิดต่างๆ ซึ่งสร้างคุณค่าและมูลค่าให้แก่พระพิมพ์ อาทิ อัฐิธาตุ ชายจีวร ดอกไม้ ขี้เถ้าจากธูป ขี้ผึ้งจากเปลวเทียน เป็นต้น พระพิมพ์ที่ไม่นำมาเผาให้แห้ง เรียกว่า พระพิมพ์ดินดิบ ซึ่งรอให้เนื้อพระพิมพ์แห้งเอง ซึ่งไม่คงทนเหมือนกับพระพิมพ์ที่เผาก่อนบรรจุในกรุสถูปเจดีย์ 

 

(2) พระพิมพ์ที่ผลิตจากวัสดุชนิดอื่น เช่น ดีบุก ตะกั่ว หรือที่เรียกว่า เนื้อชิน ภายหลังมีความนิยมใช้ทองคำและเงิน นำมาหล่อเป็นพระพิมพ์ ซึ่งพระพิมพ์ประเภทนี้มีจำนวนน้อยกว่า เนื่องจากใช้ต้นทุนสูงและต้องอาศัยแม่พิมพ์ที่มีความคงทนมากสำหรับเทโลหะที่หลอมละลายด้วยความร้อนสูง ปัจจุบันมีการนำเครื่องจักรมาใช้ผลิตในรูปแบบของเหรียญโลหะ ซึ่งผลิตได้ครั้งละจำนวนมาก

 

สำหรับคำว่า พระเครื่อง เพิ่งเริ่มมีปรากฏในสมัยรัตโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 4 โดยเรียกรวมเครื่องรางต่างๆ ที่เชื่อว่าทำให้เกิดพุทธคุณแก่ผู้ที่มีไว้บูชา ซึ่งนับรวมถึง พระพิมพ์ เข้ามาอยู่ในกลุ่มพระเครื่องด้วย

 

คติความเชื่อเรื่องพระพิมพ์มักเชื่องโยงกับอำนาจพุทธคุณที่ก่อเกิดประโยชน์ทางด้านใดด้านหนึ่งแก่ชีวิต แต่พระเครื่องจะหมายรวมความถึง เครื่องรางของขลังอื่นๆ ที่มักมีคติความเชื่อปะปนร่วมกับทางไสยเวช เช่น เขี้ยวเสือ เล็บเสือ หรือกระดูกสัตว์ที่เป็นสัตว์ดุร้าย มักบูชาร่วมกับพระพิมพ์ ซึ่งมีฐานะเป็นเครื่องรางมาตั้งแต่โบราณ ที่เรียกว่า พระเครื่องราง ภายหลังต่อมาคำว่ารางเลือนหายไปกลายเป็นคำว่า พระเครื่อง

 

ในทางวิชาการ พระพิมพ์ เป็นวัตถุที่แสดงถึงวิวัฒนาการลักษณะของพุทธศิลป์ของประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พระพิมพ์คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ทั้งทางประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ศิลป์

 

ส่วนหนึ่งแสดงให้เห็นวิชาช่างในยุคต่างๆ มุมมองและรสนิยมของคนในยุคต่างๆ ที่พิจารณาอากัปกิริยาของพระพุทธองค์ในรูปลักษณะต่างๆ เป็นต้น จึงถือว่า พระพิมพ์ มีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ นอกเหนือจากอำนาจศักดิ์สิทธิ๋ที่เป็นคติความเชื่อของผู้ที่นับถือบูชา

พระลีลา “กำแพงเขย่ง”

วันที่ออกอากาศ: 22 กันยายน 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พระลีลา หรือ พระกำแพงเขย่ง เป็นหนึ่งในกลุ่มพระพิมพ์ที่ได้รับความนิยมในวงการพระเครื่อง ซึ่งมีความโดดเด่นในเรื่องพุทธคุณที่เชื่อถือศรัทธากันมา และมีรูปลักษณะงดงามทางพุทธศิลป์ โดยนิยมทำเป็นพระพิมพ์ใน 2 ลักษณะ ได้แก่ พระพิมพ์ขนาดเล็กที่สามารถพกพานำติดตัว และองค์พระขนาดใหญ่ประมาณศอก เรียกว่า พระกำแพงศอก 

 

พระกำแพงลีลานี้ บางครั้งเรียกว่า พระกำแพงเขย่ง คำว่า พระกำแพง นี้สันนิษฐานว่าเป็นคำเรียกจากลักษณะการพิมพ์รูปพระที่ย่อส่วนมาจากพระพุทธรูปปางลีลาที่เป็นปฏิมากรรมเอกลักษณ์สมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปที่เรียกว่าพระ 4 อิริยาบถ ได้แก่ พระนั่ง พระยืน พระเดิน และพระนอน ซึ่งพระพุทธรูปปางลีลาอยู่ในอิริยาบถเดิน มักปั้นให้มีลักษณะอ่อนช้อย นิยมปั้นติดกับกำแพงหรือผนังซุ้มสถูปเจดีย์ ไม่ปั้นเป็นพระลอยองค์เหมือนรูปพระอิริยาบถอื่นๆ

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อสันนิษฐานอื่นถึงคำว่า กำแพง นั้น มาจาก กำแพงเพชร ซึ่งเป็นกลุ่มเมืองสำคัญโบราณในสมัยสุโขทัยที่มีการค้นพบพระพิมพ์ปางลีลาในรูปแบบต่างๆ จำนวนมาก ส่วนคำว่า เขย่ง เรียกจากลักษณะการย่างพระบาทของพระพุทธรูปปางลีลา บิดสะโพกเล็กน้อยและเอียงกายทางซ้าย ซึ่งเรียกว่า กริดพัง คนโบราณแลดูว่าเหมือนว่าพระกำลังก้าวเขย่ง จึงเรียกต่อกันมาว่า พระกำแพงเขย่ง

 

พระกำแพงปางลีลาขนาดเล็กมีอยู่ 2 ลักษณะ ได้แก่ กำแพงลีลาแบบเม็ดขนุน ตัวพระพิมพ์เป็นรูปวงรีคล้ายเม็ดขนุน และกำแพงลีลาพลูจีบ มีลักษณะเป็นทรงแหลมเหมือนกลีบจำปา กล่าวกันว่างามกว่าทรงเม็ดขนุน

 

พระกำแพงทั้ง 2 ลักษณะพบอยู่ในกรุพระเจดีย์วัดร้างต่างๆ ในเขตเมืองกำแพงเพชร โดยเฉพาะวัดร้างบริเวณทุ่งเศรษฐี ซึ่งในสมัยสุโขทัย มีฐานะเป็นเขตอรัญญิก ซึ่งพระกำแพงที่ค้นพบจากกรุทุ่งเศรษฐีจะเป็นที่นิยมมาก โดยเฉพาะกำแพงลีลาแบบพลูจีบเนื่องจากองค์พระมีความงดงามและคมชัด

 

พระกำแพงลีลาแบบกำแพงศอก พบในเขตจังหวัดที่เป็นแคว้นสุพรรณภูมิเดิม ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ลงไปจนถึงจังหวัดสุพรรณบุรี มีความสูงประมาณข้อศอก นิยมวางไว้บูชาบนโต๊ะหรือในตู้พระ เดิมนิยมทำจากวัสดุดินเผา ภายหลังนิยมใช้ดีบุกผสมตะกั่วมาหล่อองค์พระ เรียกว่า เนื้อชิน

 

ลักษณะของพระกำแพงศอกเป็นรูปทรงยาว ตรงส่วนบนของแผงพระจะสอบเข้าด้วยกันเหมือนรูปโค้งปลายแหลม มีรายละเอียดขององค์พระและลวดลายต่างๆ งดงามชัดเจนมาก  โดยมีพระพุทธรูปลีลาประทับอยู่ในซุ้มที่ตกแต่งลวดลายพันธุ์พฤกษา

 

กล่าวกันว่าพระลีลากำแพงศอกของแท้ต้องประดับซุ้มด้วยแจกันดอกไม้ 2 ข้าง ซึ่งเป็นรูปแบบนิยมในสมัยสุโขทัย กรุพระลีลากำแพงศอกที่สำคัญๆ ได้แก่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดราชบูรณะ จังหวัดอยุธยา และวัดสนามชัย วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น

 

ความเชื่อด้านพุทธคุณของผู้ที่บูชาพระลีลา-กำแพงเขย่ง จัดอยู่ในเรื่องเมตตามหานิยม การทำมาค้าขาย ความเจริญก้าวหน้า ซึ่งแผงนัยยะจากลักษณะของพระพุทธรูปปางลีลาที่อยู่ลักษณะก้าวเดิน ก้าวอย่าง ซึ่งสื่อถึงความก้าวหน้าหรือก้าวอย่างมั่นคง

 

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าสามารถป้องกันอัคคีภัยได้อีกด้วย เมื่อรวมถึงความงดงามของรูปลักษณะทางพุทธศิลป์แล้ว พระลีลา-กำแพงเขย่ง จึงเป็นพระพิมพ์ที่มีผู้นิยมบูชามากที่สุดประเภทหนึ่ง

ราวเทียนในงานประณีตศิลป์

วันที่ออกอากาศ: 20 กรกฎาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ในการประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาของสังคมไทยตั้งแต่สมัยโบราณ เทียนเป็นวัตถุพิธีอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญนำมาใช้จุดบูชาร่วมกับธูป เทียนที่จุดแล้วให้แสงสว่าง หมายถึง ประทีป ถือเป็นเครื่องอามิสบูชาอย่างหนึ่งในการบูชาพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นสิ่งเคารพสูงสุดในพระพุทธศาสนา คนไทยจึงมีภูมิปัญญาในการหล่อเทียนด้วยวัสดุต่างๆ เพื่อใช้ในสังคมมาช้านานแล้ว

 

รวมถึงรู้จักประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับรองหรือตั้งเทียนไว้ใช้ด้วย โดยมักปรากฎอยู่ตามศาสนสถานโดยเฉพาะในโบสถ์และวิหารตามวัดต่างๆ นิยมเรียกกันว่า ราวเทียน มีลักษณะเป็นคานยาวยึดด้วยเสา 2 ข้าง ทำจากไม้หรือเหล็กก็ได้ อาจทำเหล็กแหลมเหมือนตะปูบนราวเพื่อความสะดวกในการปักเทียน ส่วนรูปแบบของราวเทียนนั้นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของประเทศ

 

ในภาคกลาง ราวเทียนถือเป็นงานประณีตศิลป์อย่างหนึ่ง ปรากฏอยู่ในพระอารามหลวงสำคัญๆ ในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นราวเทียนที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าให้สร้างสำหรับปักเทียนในงานพระราชพิธีต่างๆ อาทิ ราวเทียนรอบฐานชุกชีพระพุทธรัตนมหามณีปฏิมากร ราวเทียนรอบฐานชุกชีพระศรีศากยมุนีในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งสร้างในรูปแบบของภาคกลางที่ดูเรียบๆ แต่มีความประณีตงดงาม หล่อรูปดอกบัวบานประดับเรียงรายบนราวเทียน กลางดอกบัวมีเหล็กแหลมขึ้นมาสำหรับปักเทียน

 

กลุ่มคนไทยที่มีเชื้อสายไทยลาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีวัฒนธรรมการประดิษฐ์ประดอยราวเทียนให้มีความซับซ้อนงดงามจนเป็นเอกลักษณ์ ราวเทียนในวัฒธรรมไทยล้านนาและไทยล้านช้างมีชื่อเรียกเฉพาะว่า สัตตภัณฑ์ หรือ สัตตบริภัณฑ์  หมายถึงภูเขาทั้ง 7 ที่ตั้งอยู่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุตามคติไตรภูมิของพุทธศาสนา ซึ่งนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์รูปแบบของราวเทียน โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางและมีทิวเขาสัตตบริภัณฑ์ลดหลั่นลงไปเป็นรูปสามเหลี่ยม บนยอดเขาทำหลักแหลมไว้สำหรับปักเทียน ตัวราวเทียนเป็นไม้แกะสลักวิจิตรงดงาม ถือเป็นงานศิลปะที่นำมาประกวดประขันกันเป็นหน้าเป็นตาของวัด

 

ปัจจุบันสามารถหาชมสัตตภัณฑ์ที่ทำด้วยความประณีตงดงามได้ตามวัดโบราณในภาคเหนือ อาทิ วัดประจำเมือง วัดพระธาตุต่างๆ มักสร้างสัตตภัณฑ์ประดิษฐานไว้ในวิหารหน้าพระธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าชุกชีหรือฐานพุทธบัลลังก์ขององค์พระประธาน 

 

สำหรับราวเทียนในวัดระดับท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ฮาวใต้เทียน หรือ ฮาวเทียนใต้ ซึ่งคำว่า เทียนใต้ หมายถึงเทียนสำหรับจุดบูชาพระ นอกจากราวเทียนในลักษณะเขาพระสุเมรุจำลองแล้ว ยังนิยมทำราวเทียนเป็นรูปพญานาค โดยแกะสลักไม้เป็นลำตัวพญานาค มีเสา 2 ข้างยึดส่วนหัวและหางพญานาค แล้วทำที่สำหรับปักเทียนไว้บนลำตัว ซึ่งเป็นงานฝีมือของช่างท้องถิ่นที่ปัจจุบันยังหาชมได้ตามวัดต่างๆ ในภาคอีสาน

 

ในปัจจุบัน แม้ราวเทียนในฐานะงานประณีตศิลป์ได้ลดบทบาทและความสำคัญลงไป มีการนำเชิงเทียนสำเร็จรูปที่ผลิตในรูปแบบคล้ายๆ กันมาใช้แทน แต่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคเหนือก็คงรักษาธรรมเนียมการสร้างสัตตภัณฑ์หรือราวเทียนรูปเขาพระสุเมรุถวายไว้หน้าองค์พระประธาน โดยเฉพาะในโอกาสที่มีการสร้างวัด พระอุโบสถ หรือพระวิหารขึ้นใหม่ สัตตภัณฑ์จึงยังถือเป็นงานประณีตศิลป์ที่สร้างขึ้นตามความศรัทธาในพระพุทธศานา ซึ่งผู้มีจิตศรัทธาถวายไว้เป็นพุทธบูชา 

ฮูปแต้ม

ฮูปแต้ม เป็นความงามที่ซ่อนอยู่ในสิมอีสาน หรือก็คือภาพจิตรกรรมฝาผนังของโบสถ์ในภาษาภาคกลาง แต่เนื่องจากผู้ที่สร้างสรรค์งานฮูปแต้มส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านหรือพระภิกษุในวัด จึงทำให้ผลงานมีความต่างกับงานจิตรกรรมโดยฝีมือช่างหลวงในภาคกลาง ซึ่งมีความประณีตวิจิตรบรรจงตามกำลังทุนทรัพย์ที่รัฐอุปถัมภ์ให้

 

ผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบอีสาน อาจเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ทางจิตรกรรมมาก่อน จึงทำให้ความสวยงามของภาพค่อนข้างธรรมดา แต่มีสิ่งที่สำคัญกว่าคือการสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญา วิถีชีวิต และเรื่องราวในการดำเนินชีวิตของผู้คนในภาคอีสานออกมาเป็นชีวิตจิตใจ 

 

คำว่า ฮูปแต้ม ถ้าออกเสียงในภาษากลางก็คือ รูปแต้ม หมายถึงภาพที่มาจากการแต้มสี ผู้ที่วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังในภาคกลางเรียกว่า ช่างวาด หรือ จิตรกร แต่ในอีสานเรียกผู้เขียนฮูปแต้มว่า ช่างแต้ม เป็นการใช้ภาษาสื่อความหมายที่ตรงไปตรงมา

 

เราสามารถชมฮูปแต้มในสิมอีสานทั้งผนังด้านในและด้านนอกของสิมเท่านั้น ซึ่งวาดเป็นภาพต่อเนื่องกัน มีขนบธรรมเนียมการวาดคล้ายกับภาคกลาง คือ นิยมวาดเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้าปัญจระ ภาพมารผจญ ภาพไตรภูมิ

 

หรือแม้แต่ชาดกตามคติพุทธศาสนาเถรวาท เช่น ทศชาติชาดก หรือชาดกที่คนอีสานนับถือมากอย่าง เวสสันดรชาดก แต่สำนวนของภาคอีสานจะมีลักษณะคล้ายกับนิทานพื้นบ้าน ซึ่งเนื้อเรื่องบางตอนไม่ตรงกับภาคกลาง ภาพสัตว์ที่มีคุณกับพระพุทธศาสนา อาทิ ช้าง นาค ก็ปรากฏอยู่มากในฮูปแต้มอีสาน

 

นอกจากนี้ ยังมีภาพที่สะท้อนให้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน เช่น ภาพเครื่องแต่งกายของชาวบ้านและพระภิกษุสงฆ์ในท้องถิ่น ภาพประเพณีงานบุญต่างๆ หรือภาพขบวนเกวียน วัวต่าง ม้าต่าง ที่ขนสินค้าระหว่างพื้นที่เมืองต่างๆ ในภาคอีสาน รวมถึงเรื่องการจับสัตว์น้ำ การทอดแหจับปลา การนำปลามาทำปลาแดกหรือปลาร้า 

 

สำหรับเทคนิคการวาดฮูปแต้มนั้น จะไม่มีการร่างภาพเหมือนจิตรกรรมฝาผนังในภาคกลางที่ต้องใช้กระดาษฟางมาปรุภาพ แล้วจึงถ่ายภาพที่ปรุลงบนผนังก่อนวาดเส้นลงไป ช่างแต้มเพียงแต่ร่างเส้นดินสอลงไปบนผนังแล้วจึงลงสีแต้มปะเส้น สีที่ใช้อาจเป็นสีธรรมชาติหรือสีเคมีก็ได้

 

ถ้าเป็นสีธรรมชาติจะทำขึ้นเองจากวัสดุท้องถิ่น เช่น สีน้ำเงินจากต้นคราม สีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลอมดำทำจากยางรัก สีม่วงจากลูกหว้า สีเหลืองจากยางของต้นรง สีดำจากเขม่าก้นหม้อ หรือสีแดงจากหินชนิดหนึ่ง ภาพที่ออกมาจึงมีสีพื้นๆ ไม่โดดเด่น นอกจากนี้ พื้นหลังของฮูปแต้มนิยมให้คงสีของพื้นผนังเอาไว้ ใช้การวาดเส้นสีเทาแบ่งให้เห็นเป็นเรื่องๆ ไป มักมีตัวหนังสือเขียนกำกับเพื่อบอกว่าเหตุการณ์ตามภาพนั้นๆ โดยพบทั้งอักษรไทยและอักษรลาว

 

ภาพฮูปแต้มหลายแห่งยังอยู่ในสภาพดี แต่ทั้งหมดเป็นภาพในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา เนื่องจากชาวอีสานมักสร้างสิมด้วยไม้ อิฐ หรือดิน ซึ่งเป็นวัสดุไม่คงทน ทำให้ต้องมีการซ่อมแซ่มหรือสร้างขึ้นใหม่อยู่บ่อยครั้ง 

 

ภาพฮูปแต้มที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบได้มีอายุไม่เกิน 150 ปี หรือในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่วัดหนองสระบัว อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งสยามสมาคมได้สำรวจพบ จึงสนับสนุนเงินทุนในการบูรณะและอนุรักษ์ไว้ทั้งตัวสิมและฮูปแต้ม ทำให้อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ ยังมีภาพฮูปแต้ม ในอำเภอมัญจาคีรี ที่ได้รับการอนุรักษ์และบูรณะจากเงินทุนขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ซึ่งมองว่าฮูปแต้มอีสานเป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาประเภทหนึ่งของโลก โดยเฉพาะการสะท้อนมรดกทางภูมิปัญญาของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

กระเบื้องในศิลปะไทย

กระเบื้อง ใช้ในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมไทยมาตั้งแต่ยุคโบราณ นับย้อนได้ตั้งแต่ก่อนยุคสุโขทัย โดยมีประโยชน์ใช้สอยอย่างมากมาย อาทิ การมุงหลังคา การปูพื้นปูผนัง การประดับตกแต่ง เป็นต้น

 

เราสามารถเห็นกระเบื้องที่ประโยชน์ในองค์ประกอบต่างๆ ของวัดไทย ตั้งแต่หลังคา ช่อฟ้าใบระกา เชิงชาย ฐานพื้นและฝาผนังของโบสถ์วิหาร ไปจนถึงกำแพงแก้วก็ใช้กระเบื้องตกแต่งเป็นซี่ลูกกรงหรือลวดลายโปร่งของกำแพง

 

ซึ่งกระเบื้องที่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างทางศิลปกรรมของไทยมาตั้งแต่โบราณ มีทั้งกระเบื้องที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ กระเบื้องสำเร็จที่นำเข้ามา รวมถึงกระเบื้องสั่งทำตามแบบในต่างประเทศ

 

กระเบื้อง ถือเป็นเครื่องปั้นดินเผาชนิดหนึ่งของไทย แบ่งออกเป็น กระเบื้องเคลือบ และ กระเบื้องไม่เคลือบ โดยกระเบื้องเคลือบจะเคลือบน้ำยาก่อนนำไปเผา ทำให้มีความทนทานมากขึ้น มีสีสันสดใส และไม่ซึมน้ำ

 

ส่วนกระเบื้องไม่เคลือบจะมีผิวด้าน สีออกเป็นธรรมชาติของดิน น้ำสามารถซึมเข้าในเนื้อกระเบื้องได้ ซึ่งความชื้นจะทำให้กระเบื้องเสื่อมสภาพเร็วกว่ากระเบื้องเคลือบ

 

ในการศึกษารูปแบบกระเบื้องยุคสุโขทัย พบว่า เครื่องกระเบื้องเป็นวัสดุก่อสร้างสำคัญในการสร้างโบสถ์วิหาร พระสถูปเจดีย์  การขุดค้นทางโบราณคดีมักพบเศษกระเบื้องกระจัดกระจายอยู่ตามบริเวณรอบโบสถ์วิหาร กระเบื้องที่นิยมมาก คือ เครื่องเคลือบที่เรียกว่า เครื่องสังคโลก ซึ่งผลิตขึ้นเองในสมัยนั้น

 

ตัวอย่างของการใช้กระเบื้องเคลือบที่โดดเด่น คือ ซี่ลูกกรงของพนังกำแพงแก้วของวัดมังกร ซึ่งเป็นวัดร้างเล็กๆ แห่งหนึ่งในเขตอรัญญิกทางตะวันตกของเมืองเก่าสุโขทัย ปัจจุบันยังพบกำแพงแก้วของสถูปเจดีย์หลงเหลืออยู่ ลูกกรงของกำแพงแก้วทำด้วยสังคโลกเคลือบสีน้ำตาลอ่อนๆ สวยงามมาก 

 

ในสมัยอยุธยาตอนต้น ยังคงมีความสืบเนื่องของการผลิตเครื่องกระเบื้องสังคโลกอยู่บ้าง จนมาหยุดผลิตไปในช่วงที่เริ่มทำสงครามกับพม่า ซึ่งผู้คนในกลุ่มเมืองสุโขทัยถูกกวาดต้อนจนทำให้ต้องทิ้งเมือง รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตเครื่องกระเบื้อง

 

ทำให้การสร้างวัดวาอารามของอยุธยาในสมัยต่อๆ มา ส่วนใหญ่มักใช้กระเบื้องดินเผาไม่เคลือบ จะเห็นว่าสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาจะมีไม่ค่อยสดใส เป็นกระเบื้องหยาบๆ สีดิน สีอิฐ ทั้งนี้ กระเบื้องเคลือบเป็นของหายากและมีราคาสูง

 

เราพบหลักฐานว่า หากมีวัดวาอารามแห่งใดนำกระเบื้องเคลือบมาใช้ก็จะกลายเป็นที่โจทย์ขาน เช่น วัดบรมพุทธาราม ซึ่งสมเด็จพระเพทราชา กษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์บ้านภูหลวง ทรงสร้างขึ้นโดยใช้กระเบื้องเคลือบมุงหลังคาและตกแต่งโบสถ์วิหาร จนทั่วทั้งกรุงเรียกวัดนี้ว่า วัดกระเบื้องเคลือบ แต่ปัจจุบันปรักหักพังลงเหลือให้เห็นเป็นเศษกระเบื้องเคลือบกระจายรอบๆ พื้นที่ 

 

การใช้กระเบื้องเคลือบกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ การติดต่อค้าขายกับจีนทำให้เกิดเทคนิคการทำกระเบื้องมากขึ้น โดยเฉพาะกระเบื้องเขียนลาย ในช่วงรัชกาลที่ 2-3 ได้นำเข้ากระเบื้องเขียนลวดลายจากจีนเข้ามาตกแต่งวัดวาอารามมากมาย เช่น วัดเทพธิดา วัดราชโอรสาราม วัดกัลยาณมิตร วัดเฉลิมพระเกียรติ

 

จนในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าให้ตั้งโรงเผากระเบื้องเคลือบใช้เองที่วัดสระเกศฯ จึงทำให้เทคนิคในการใช้กระเบื้องเคลือบเพื่อบูรณะวัดได้รุ่งเรืองสืบต่อมาในรัชกาลที่ 4-5 ซึ่งพบว่าในรัชกาลที่ 5 ทรงใช้กระเบื้องสั่งทำที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ เป็นกระเบื้องที่มีลวดลายงดงามทั้งในแบบไทย จีน และตะวันตก 

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้กระเบื้องสีเบญจรงค์แบบไทยมาตกแต่งโบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แต่เป็นกระเบื้องนำเข้ามา โดยออกแบบแล้วสั่งให้ช่างจีนทำเป็นลายไทยสีเบญจรงค์ ทำให้สถาปัตยกรรมในวัดราชบพิธใช้กระเบื้องสีเบญจรงค์ที่สดใสมากมาจนทุกวันนี้

กุฏิสงฆ์

วันที่ออกอากาศ: 24 พฤศจิกายน 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

คำว่า กุฏิ หรือ กุฎี เป็นคำภาษามคธ พบในพระไตรปิฎก พระสูตร พระพุทธวจนะ หมายถึงที่อยู่ของสงฆ์

 

แต่เดิมที่เมื่อพระพุทธเจ้าทรงออกมหาพิเนษกรมณ์หรือการออกผนวช ทรงละทิ้งทรัพย์สมบัติทุกสิ่งแม้กระทั่งที่อยู่อาศัย เสด็จจาริกเพื่อทรงบำเพ็ญเพียร ต้องอาศัยตามร่มไม้ ถ้ำ ชายป่า หรือริมฝั่งน้ำเป็นที่ประทับ หลังจากทรงตรัสรู้ก็แสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 บริเวณที่ประทับในป่า ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีธรรมเนียมการสร้างที่อยู่ถวายให้พระสงฆ์ 

 

ตามพุทธประวัติ พระเจ้าพิมพิสารถวายป่าไผ่เป็นพระเวฬุวัน ถือเป็นอารามแห่งแรกในพุทธศาสนาสำหรับแสดงธรรมหรือชุมนุมสงฆ์ และใช้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้ากับพระสาวก จึงเกิด กุฎี หรือ กุฏิ เป็นครั้งแรก ซึ่งมีความกว้างยาวเพียงแค่ประทับนั่งหรือนอนได้เท่านั้น ที่เรียกว่า คันธกุฎี

 

ภายหลังเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน กษัตริย์ในชมพูทวีปรุ่นหลังได้อุทิศถ้ำเป็นวิหาร อาราม และที่อยู่ของพระสงฆ์ อาทิ ถ้ำอชันต้า  ถ้ำตุนหวงในประเทศจีน ในประเทศไทยก็พบถ้ำหลายแห่งตกแต่งเป็นศาสนสถานทางพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยทรารวดี เช่น กลุ่มถ้ำฤาษีที่ราชบุรี ถ้ำเขาถมอรัฐที่เมืองศรีเทพ เป็นต้น

 

การสร้างที่อยู่สงฆ์ในลักษณะ คันธกุฎี ตามพุทธบัญญติ สามารถย้อนได้ถึงสมัยสุโขทัยพบการสร้างกุฏิขนาดที่ใช้สำหรับนั่งกับนอนได้เท่านั้น รวมถึงกุฏิสงฆ์ในวัดล้านนาโบราณซึ่งเป็นยุคร่วมสมัยกับสุโขทัย

 

แม้แต่การสร้างวิหารให้พระพุทธรูปในสมัยสุโขทัยก็สร้างเพียงในลักษณะมณฑป ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งอยู่ได้เพียงองค์เดียวซึ่งไม่สามารถทำพิธีกรรมในนั้นได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคติของที่อยู่สงฆ์แบบคันธกุฎี

ต่อมาภายหลัง คณะสงฆ์มีบทบาทเกี่ยวข้องกับชุมชุมเมืองมากขึ้น มีแนวคิดให้วัดเป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิชาความรู้และเป็นศูนย์กลางของชุมชน จึงจำเป็นต้องสร้างให้วัดมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับจำนวนของพระสงฆ์

 

การสร้างที่อยู่ของสงฆ์จึงได้เปลี่ยนแปลงจนมีลักษณะของการสร้างหมู่เรือนแบบฆราวาส ซึ่งรูปแบบการสร้างวัดในสมัยหลังมักมีความเกี่ยวข้องกับฐานะทางเศรษฐกิจของผู้สร้างถวายด้วย โดยเฉพาะวัดที่สร้างโดยพระมหากษัตริย์ เจ้านายเชื้อพระวงศ์ หรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ที่มีฐานมั่งคั่ง มักมีหมู่เรือนขนาดใหญ่รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในวัดด้วย

 

รวมถึงการที่พระสงฆ์มีกิจต้องประกอบพิธีกรรมต่างๆ สำหรับญาติโยม โดยเฉพาะพระสงฆ์ฝ่ายคันถธุระคือพระฝ่ายบ้าน หรือการใช้วัดเพื่อเป็นสถานศึกษา จำเป็นต้องปรับปรุงให้เรือนต่างๆ รวมทั่งกุฏิมีขนาดใหญ่โตขึ้นเพื่อรองรับการกิจกรรมเหล่านี้

 

ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการปรับปรุงกุฏิไม้ในพระอารามหลวงต่างๆ เป็นกุฏิตึก 2 ชั้น ลักษณะเดียวกับตำหนักเจ้านาย  เช่น วัดพระเชตุพน วัดราชโอรสาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสริต วัดสุทัศนเทพวราราม วัดอรุณราชวราราม เป็นต้น ในสมัยรัชกาลที่ 4-6 ทรงโปรดให้สร้างกุฏิวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชาธิราช ในลักษณะสถาปัตยกรรมตะวันตก  

 

ในปัจจุบัน กุฏิตามหลัก คันธกุฎี คือ มีความกว้าง 3 ศอกคืบ ยาว 4 ศอก ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เกิดความติดอยู่กับการครองเรือนได้ ยังสามารถพบเห็นในวัดป่าต่างๆ เนื่องจากความตั้งใจปฏิปทาของพระป่าคือมุ่งวิปัสสนาเพื่อบรรลุการหลุดพ้น กุฏิวัดป่าส่วนใหญ่จึงยังมีขนาดเล็กสร้างด้วยไม้หรืออาจสร้างด้วยการก่ออิฐก็ได้ มีขนาดพอใช้จำพรรษาสำหรับสงฆ์หนึ่งรูปสำหรับนั่งและนอนได้  

เก๋งจีนในศิลปะไทย

 

วันที่ออกอากาศ: 23 สิงหาคม 2558
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

เก๋ง คืออาคารรูปทรงจีน ที่ปะปนอยู่ในงานสถาปัตยกรรมไทยมาตั้งแต่โบราณ ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง เรือน หรือ ตึก ที่มีรูปหลังคาแบบศาลาจีน ก่อด้วยอิฐหรือปูน ไม่ได้สร้างด้วยไม้ทั้งหมด

 

อาจสันนิษฐานได้ว่า เก๋ง มีรากศัพท์มาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน ซึ่งแปลว่า บ้าน หรือ เรือน ลักษณะของเก๋งแบ่งได้ตามวัตถุประสงค์หลักของการสร้างเพื่อประโยชน์ใช้สอย ได้แก่

 

เก๋งที่มีลักษณะเป็นห้องที่มีรั้วรอบขอบชิด มีทางเปิดปิดสำหรับเข้าออกได้ ใช้เป็นศาสนสถาน เช่น อุโบสถ วิหาร หรือหอสำหรับประดิษฐานปูชนียวัตถุ หรือพระพุทธรูป เป็นต้น

 

อีกลักษณะหนึ่ง เป็นเก๋งทรงศาลา ปล่อยโล่ง ไม่กั้นฝา ใช้เป็นที่พักหรือประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด เช่น ศาลารายที่อยู่รอบพระอุโบสถวิหาร หรือพระสถูปเจดีย์ 

 

ในสถาปัตยกรรมไทย นิยมสร้างเก๋งทั้งในเขตพระราชฐานที่ประทับ และในวัด เก๋งในเขตพระราชฐานมีทั้งลักษณะอาคารรโหฐาน หรือศาลา ตัวอย่างเช่น พระตำหนักสวนกุหลาบ ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อใช้เป็นที่ประทับ

 

ส่วนเก๋งที่สร้างในบริเวณวัด มักสร้างเพื่อใช้เป็นวิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิ หอไตร หอระฆัง หรือศาลาท่าน้ำ ตัวอย่างเช่น เก๋งรอบพระอุโบสถวัดโปรดเกศเชษฐาราม ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 กุฎิหลังคาทรงเก๋งจำนวน 9 หลังที่วัดบพิตรพิมุข ศาลาท่าน้ำหลังคาเก๋งจำนวน 6 หลังที่วัดอรุณราชวราราม ศาลาท่าน้ำเก๋งจีนวัดราชโอรสาราม เก๋งจีนหน้าพระวิหารหลวงของวัดสุทัศเทพวราราม เป็นต้น

 

วิวัฒนาการของเก๋งในสถาปัตยกรรมไทย สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งเริ่มติดต่อการค้าสำเภากับจีน แต่ปัจจุบันไม่สามารถพบร่องรอยของเก๋งที่สร้างในสมัยอยุธยาได้ เนื่องจากถูกทำลายไปเมื่อคราวศึกสงคราม

 

ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงโปรดให้สร้างพระตำหนักเก๋งคู่ ไว้ที่ริมประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกของพระราชวังหลวง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า พระราชวังเดิม ทรงใช้เป็นพระวิมารที่บรรทม

 

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชนิยมในศิลปะจีน จึงโปรดให้สร้างเก๋งจีนขึ้นเป็นจำนวนมาก  ในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงสร้างเก๋งนารายณ์เพื่อใช้เป็นที่ทรงงานช่าง และโปรดให้สร้างประตูทางเข้าออกในเขตพระราชฐานชั้นใน เป็นหลังคาทรงเก๋งอีก 3 ประตู คือ ประตูมังกรเล่นลม ประตูกลมเกลาตรู และประตูชมพู่ไพที

 

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้สร้างเก๋งบอกพระปริยัติธรรม บริเวณด้านทิศตะวันออกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเป็นสถานที่สำหรับพระสงฆ์เรียนพระปริยัติธรรม (ถูกรื้อไปในสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อปฏิสังขรณ์วัดในโอกาสสมโภชพระนคร 150 ปี)

 

และโปรดให้สร้างเก๋งจีนหลังใหญ่ 2 หลังที่วัดพระเชตุพนฯ หลังแรกสร้างบริเวณทิศตะวันตก มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับการติดต่อค้าขายสำเภา ระหว่างจีนกับสยาม หลังที่สอง สร้างบริเวณทางด้านทิศใต้ของวัด ใช้สำหรับให้พระราชโอรสเรียนหนังสือในวัยพระเยาว์

 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ช่างฝีมือชาวจีนสร้างพระที่นั่งเวหะจำรูญ เป็นพระที่นั่งทรงเก๋ง บริเวณพระราชวังบางปะอิน 

 

แม้ว่าเก๋งจะเป็นอาคารก่อตึกที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปกรรมของจีน แต่เราจะพบว่าอาคารทรงเก๋งได้เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมของไทยอย่างกลมกลืน ซึ่งแสดงถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ระหว่างไทยและจีน ที่มีอย่างยาวนาน จนเกิดเป็นงานศิลปะที่ผสมผสานระหว่างศิลปะจีน กับงานศิลปะประเพณีไทยได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยม

ความสำคัญของพระมณเฑียรธรรม

วันที่ออกอากาศ: 19 ตุลาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

หอพระมณเฑียรธรรม เป็นอาคารสถานสำคัญแห่งหนึ่งในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชตั้งแต่แรกสถาปนาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่ามีฐานะเสมือนเป็นหอไตร หมายถึงหอเก็บคัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งถือเป็นอาคารสำคัญหนึ่งในเป็นองค์ประกอบของวัดในประเทศไทย

 

แต่อันที่จริงหอพระมณเฑียรธรรมไม่ได้มีแต่เฉพาะในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ยังพบว่าในสมัยอยุธยา ภายในวัดพระศรีสรรเพชรก็มีวิหารในชื่อเดียวกันและใช้ในบทบาทหน้าที่เดียวกันกับหอพระมณเฑียรธรรม จึงแสดงให้เห็นว่าหอพระมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นการสืบธรรมเนียมมาจากวัดพระศรีสรรเพชร และไม่ได้มีความสำคัญในฐานะหอไตรเก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกเท่านั้น

 

โดยทั่วไป หอไตรเป็นอาคารขนาดเล็กพอให้ภิกษุสามเณรขึ้นไปเปิดตู้หนังสือค้นคว้าคัมภีร์ได้ แต่หอพระมณเฑียรธรรมทั้งในวัดพระศรีสรรเพชรและวัดพระศรีรัตนศาสดารามกลับสร้างเป็นวิหารขนาดใหญ่ หอพระมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดารางสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 ประมาณปี 2332 ซึ่งไม่ได้ใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ เป็นฉบับที่ได้รับการสังคายนาในรัชกาลที่ 1 แต่โปรดเกล้าให้สร้างพระมณฑปประดิษฐานไว้บนฐานไพทีใกล้ๆ กับพระอุโบสถ ปัจจุบันนี้พระมณฑปองค์นี้ขนาบด้วยพระศรีรัตนเจดีย์และพระพุทธปรางค์ปราสาท (ปราสาทพระเทพบิดร)

 

ส่วนหอพระมณเฑียรธรรมสร้างอยู่ตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของวัดพระแก้ว ภายในหอพระมณเฑียรธรรมมีตู้พระธรรมศิลปะอยุธยาและศิลปะรัตนโกสินทร์จำนวนหลายตู้ ใช้ประดิษฐานคัมภีร์พระไตรปิฎกที่เรียกกันว่า "ฉบับครูเดิม" ซึ่งรวบรวมมาจากหัวเมืองต่างๆ มาตั้งแต่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

 

จากข้อมูลต่างๆ พบว่าหอพระมณเฑียรธรรมมิได้มีหน้าที่เพียงแค่ใช้เก็บพระไตรปิฎกฉบับเก่าเท่านั้น การที่สร้างอาคารเป็นวิหารขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ใช้สอยมากและมีระเบียงให้เดินได้โดยรอบ อีกทั้งตัวอาคารยังถือเป็นสถาปัตยกรรมชั้นเยี่ยมหลังหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่ได้สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถ นำช่างสกุลวังหน้ามาร่วมสร้างหอพระมณเฑียรนี้ด้วย ย่อมสะท้อนให้ถึงภารกิจหน้าที่สำคัญในการใช้สอยอาคารหลังนี้

 

นั้นคือการใช้เป็นสถานที่ทำงานของราชบัณฑิตทางพระพุทธศาสนา หมายถึงบัณฑิตผู้รู้ธรรมในพุทธศาสนา ผู้ที่เคยบวชเรียนจนสำเร็จเปรียญแต่ได้ลาสิขาออกมา ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินในสมัยอยุธยาก็โปรดเกล้าให้มารับราชการแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตประจำกรมสังฆการี มีหน้าที่บอกหนังสือพระสงฆ์หรือสอนหนังสือแก่พระสงฆ์ที่รับการคัดเลือกให้มาเรียนเปรียญ

 

นอกจากนี้ หอพระมณเฑียรธรรมยังเป็นสถานที่แปลพระราชสาสน์และเอกสารทางฑูตต่างๆ รวมถึงการจารึกพระราชสาสน์ลงแผ่นทองคำ จึงเป็นสถานที่ทำงานของอารัก คล้ายๆ เป็นหน่วยงานสารบรรณที่เกี่ยวกับการโต้ตอบจดหมายทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

จวบจนสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา บทบาทของหอพระมณเฑียรธรรมได้ลดความสำคัญลง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้สร้างเก๋งบอกพระปริยัติธรรมนอกระเบียงคตของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อใช้สอนหนังสือสำหรับภิกษุสามเณรแทน เพื่อรองรับจำนวนผู้เรียนเพิ่มมากขึ้น

 

สำหรับงานด้านพระราชสาสน์การฑูตซึ่งมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ภายหลังก็มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบเป็นกิจลักษณะ ปัจจุบัน หอพระมณเฑียรธรรมเป็นสถานที่จัดเก็บพระไตรปิฎกฉบับครู รวมถึงเป็นที่เก็บรักษาศิลปะวัตถุสำคัญ ได้แก่ บานประตูประดับมุกที่มีลวดลายที่วิจิตรงดงาม ซึ่งเป็นบานประตูเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา

ความสำคัญของหน้าบัน

วันที่ออกอากาศ: 26 สิงหาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

หน้าบัน เป็นองค์ประกอบหนึ่งในโครงสร้างหลังคาของอาคารสถาปัตยกรรมไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนิยมสร้างหลังคาในรูปทรงสามเหลี่ยมที่มีความลาดเอียงและมีเพดานสูงโปร่งโล่ง อันตอบสนองต่อสภาพภูมิอากาศของภูมิภาค ทั้งนี้ ความลาดเอียงของหลังคาจะช่วยระบายน้ำฝนในฤดูฝน และพื้นที่ภายในหลังคาจะช่วยระบายความร้อนในฤดูร้อน

 

ลักษณะของหลังคาสามเหลี่ยมจะทำให้เกิดช่องว่างด้านหน้าและด้านหลัง ดังนั้น เพื่อป้องกันน้ำฝนสาดและป้องกันสัตว์ต่างๆ ไม่ให้เข้ามาทำรังอาศัย จึงจำเป็นต้องทำหน้าจั่วปิดทึบช่องว่างดังกล่าว ซึ่งในการก่อสร้างอาคารสถาปัตยกรรมของชนชั้นสูง อาทิ โบสถ์ วิหาร ศาลา หรือตำหนักที่ประทับต่างๆ มักนิยมตกแต่งลวดลายให้กับหน้าจั่วเพื่อความสวยงาม โดยเรียกหน้าจั่วที่ตกแต่งลวดลายแล้วว่า หน้าบัน    

 

วิวัฒนาการของหน้าบันมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เห็นได้จากโบราณสถานสมัยขอมที่สร้างขึ้นมาก่อนการเกิดรัฐของประชาคมคนไทย อาทิ ปราสาทหิน เทวาลัย เทวสถาน ซึ่งใช้หิน อิฐ หรือศิลาแลงในการก่อสร้างอาคาร

 

มีการตกแต่งหน้าบันด้วยการแกะสลักลงไปในเนื้อหิน เนื้ออิฐ หรือศิลาแลง โดยนิยมทำลวดลายเป็นรูปเทพเจ้าต่างๆ ในศาสนาพราหมณ์ เช่น พระอิศวร พระวิษณุหรือพระนารายณ์ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ หรือเรื่องราวในมหากาพย์ต่างๆ เช่น มหาภารตะ รามเกียรติ์ เป็นต้น

 

หลังจากที่ประชาคมคนไทยรวมตัวก่อตั้งรัฐขึ้น ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา นิยมสร้างอาคารสถาปัตยกรรมต่างๆ ด้วยไม้ หน้าบันจึงถูกสร้างขึ้นด้วยไม้ด้วย โดยใช้เทคนิคการแกะสลักมาตกแต่งลวดลาย ซึ่งในช่วงแรกนิยมแกะสลักเป็นลวดลายพรรณพฤกษาต่างๆ ที่ค่อนข้างเรียบง่าย ตัวอย่างของหน้าบันไม้ในสมัยสุโขทัยที่สามารถเห็นได้ในปัจจุบันคือ หน้าบันของวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีมหาธาตุฯ จังหวัดพิษณุโลก  

 

ต่อมาในสมัยอยุธยาจึงทำลวดลายหน้าบันที่วิจิตรงดงามมากยิ่งขึ้น โดยนิยมแกะสลักเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ จนมาในสมัยของรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 3 โครงสร้างหลังคาอาคารต่างๆ นิยมก่อสร้างด้วยอิฐหรือปูน การตกแต่งหน้าบันได้รับอิทธิพลศิลปะของจีนโดยนำกระเบื้องหรือเครื่องกังไสของจีนมาตกแต่งลวดลายเป็นรูปสิ่งของหรือสัตว์มงคลต่างๆ ของจีน เช่น รูปดอกโบตั๋น ซึ่งเป็นดอกไม้มงคลของจีน ต่อมานิยมตกแต่งเป็นรูปพระปรมาภิไธยย่อของพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อบ่งบอกถึงผู้สร้างหรือผู้อุปถัมภ์ของวัดนั้นๆ

 

วัตถุประสงค์ของการสร้างหน้าบันนั้น เพื่อบ่งบอกถึงฐานานุศักดิ์ ความสำคัญ และประวัติความเป็นมาของสิ่งก่อสร้าง ด้วยเป็นขนบธรรมเนียมของการก่อสร้างอาคารสถาปัตยกรรมในสังคมไทยที่นิยมแสดงให้เห็นถึงฐานันดรศักดิ์ของผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งจะตกแต่งองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้างรวมถึงหน้าบันให้มีความวิจิตรงดงามแตกต่างกันตามฐานะ

 

สังเกตได้ว่าอาคารในเขตพระราชทาน เช่น พระที่นั่ง ตำหนัก วังที่ประทับของเจ้านาย หรืออาคารที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างเช่น โบสถ์ วิหาร กุฏิ ศาลา โดยเฉพาะในวัดหลวงสำคัญๆ มีการตกแต่งลวดลายหน้าบันให้วิจิตรงดงามและอลังการมากกว่าสิ่งก่อสร้างของสามัญชน ทั้งในเรื่องเทคนิคการตกแต่ง ความชำนาญของช่างฝีมือ และการออกแบบลวดลายที่มีความซับซ้อน ตลอดจนการอัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ หรือตราประจำพระองค์ ไปประดิษฐานเป็นลวดลายหน้าบัน

 

สำหรับสิ่งก่อสร้างของสามัญชนอย่าง ส่วนใหญ่จะไม่มีการแกะสลักตกแต่งหน้าจั่ว มักนิยมใช้แผ่นไม้ต่อกันเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วเรียบๆ หรือหากเป็นวัดวาอารามของของราษฎรมักนิยมแกะสลักตกแต่งหน้าบันเป็นลวดลายง่ายๆ เช่น ลายกนก ลายพรรณพฤกษา เป็นต้น

พระบรมราชานุสาวรีย์และศาลสมเด็จพระนเรศวร

วันที่ออกอากาศ: 18 มกราคม 2558
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

วันที่ 18 มกราคม ถือเป็นวันกองทัพไทย โดยมีพิธีถวายสักการะพระบรมราชาอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี  ทั้งนี้ กองทัพไทยได้เอาเหตุการณ์ในพระบรมราชพงศาวดาร การกระทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชแห่งกรุงหงสาวดี มากำหนดฤกษ์ในการเชิดชูเกียรติภูมิของกองทัพไทย

 

การสร้างพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ สร้างจากข้อสันนิษฐานของพระบาทพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ว่าบริเวณดอนเจดีย์ที่มีฐานของเจดีย์โบราณน่าจะเป็นองค์เดียวกันกับพระเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดให้สร้างเพื่อประดิษฐานพระศพของพระมหาอุปราชแห่งหงสาวดี ซึ่งหมายรวมถึงอนุสรณ์ที่ทรงมีชัยชนะในสงครามยุทธหัตถี

 

รัฐบาลไทยจึงได้สร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ครอบรากฐานพระเจดีย์เดิม โดยมีลักษณะเป็นสถูปทรงลังกาแบบเดียวกับพระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลที่อยุธยา ซึ่งเป็นพระเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรฯ โปรดเกล้าให้บูรณะใหม่ภายหลังจากทรงมีชัยชนะในสงครามยุทธหัตถี

 

นอกจากนี้ ยังได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประทับบนช้างศึกแต่งเครื่องทรงพร้อมเข้าสู่การกระทำยุทธหัตถี ซึ่งเรียกสถานที่บริเวณนั้นโดยรวมว่า พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ มีการกำหนดวันสักการะโดยคำนวณวันเดือนปีจากพระราชพงศาวดารจนสรุปให้เป็นวันที่ 18 มกราคม ของรอบปี

 

พระบรมราชานุสาวรีย์ดอนเจดีย์ที่สุพรรณบุรี ถือเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรฯ แห่งแรก สร้างขึ้นในราวทศวรรษที่ 2500 หลังจากนั้นก็มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์และศาลสมเด็จพระนเรศวรฯ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนับได้มากกว่า 30 แห่ง

 

เฉพาะในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเดิมเป็นราชธานีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงครองราช ก็มีจำนวนถึง 4 แห่งกระจายตามพื้นที่ต่างๆ พระบรมราชานุสาวรีย์ที่รู้จักกันดีอยู่ที่ทุ่งภูเขาทอง สร้างขึ้นโดยพระบรมราชูปถัมภ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ นอกจากนี้ก็มีอยู่ที่วัดใหญ่ชัยมงคล และมีศาลสมเด็จพระนเรศวรฯ ตั้งอยู่ในจังหวัดอีก 2 แห่ง

 

ในจังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ ก็มีพระบรมราชานุสาวรีย์อยู่ในเขตเทศบาลสุพรรณบุรี เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายทรงพระแสงดาบ อีกแห่งหนึ่งอยู่ที่วัดชัยนาวาส เขตอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลกมีพระบรมราชานุสาวรีย์หลายแห่ง เนื่องจากตามพระราชประวัติเป็นเมืองที่พระองค์ประสูติและประทับอยู่ขณะทรงดำรงพระอิศริยยศเป็นพระมหาอุปราช อาทิ ในพระราชวังจันทร์มีศาลประดิษฐานพระบรมรูปหล่อสำริด ในค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รวมถึงในมหาวิทยาลัยเรศวร

 

ในพื้นที่ภาคเหนือของไทยตั้งแต่ลำปาง เชียงใหม่ จนถึงแม่ฮ่องสอน มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ตลอดเส้นทาง ซึ่งเป็นบริเวณที่ทรงเดินทัพผ่านในอดีต อาทิ อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อำเภอเมืองงาย อำเภอเชียงดาว อำเภอฝาง อำเภอแม่แตง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภอแม่เสรียง อำเภอขุนยวม อำเภอแม่ฮ่องสอน เป็นต้น

 

การสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สะท้อนให้เห็นถึงสำนึกและการรับรู้ของคนไทยต่อความยิ่งใหญ่ของพระราชวีรกรรมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พระบรมราชานุสาวรีย์แต่ละแห่งล้วนมีความเกี่ยวข้องกับพระราชประวัติ สมรภูมิที่ทรงมีชัยชนะ หรือแม้แต่เส้นทางเดินทัพ

 

รัฐบาลยังได้กำหนดวันที่ระลึกถึงพระองค์ไว้ถึง 2 วันในรอบปี ได้แก่ วันที่ 18 มกราคม ในวันกองทัพไทย หรือที่เรียกกันว่า วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งมีพิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ แต่มีความเกี่ยวข้องกับพิธีการทางทหารมากกว่า และวันที่ 25 เมษายนของปี ซึ่งตรงกับวันเสด็จสวรรคต เป็นวันสำหรับวางพวงมาลาถวายสักการะเพื่อสดุดีวีรกรรมของพระองค์โดยเฉพาะ  

พระพุทธมณเฑียร

วันที่ออกอากาศ: 30 พฤศจิกายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

หมู่พระพุทธมณเฑียร เป็นหมู่อาคารพระที่นั่งที่สร้างขึ้นพร้อมๆ กับหมู่พระอภิเนานิเวศน์ทางด้านทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวังในช่วงต้นรัชกาลที่ 4 ปัจจุบันยังคงเหลืออาคารอยู่ 2 หลัง ซึ่งเป็นอาคารสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ได้รับมีการรื้อถอนอาคารในหมู่พระอภิเนานิเวศน์หมดสิ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหมู่พระพุทธมณเฑียรค่อนข้างจะมีน้อยเมื่อเทียบกับหมู่พระอภิเนานิเวศน์ ซึ่งมีทั้งข้อมูลเอกสารและภาพถ่ายจำนวนมากในสมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงต้นรัชกาลที่ 5

 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธนิเวศน์หรือพระพุทธมณเฑียรส่วนหนึ่งได้มาจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุญนาค) ได้อธิบายมูลเหตุของการโปรดเกล้าให้สร้างหมู่อาคารดังกล่าวในพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นสวนขวาในสมัยรัชกาลที่ 1 แล้วมาสร้างตกแต่งครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 2 อย่างวิจิตรงดงาม โดยสร้างพระที่นั่งแฟดแบบไทยประเพณีทรงโบสถ์วิหารติดกัน 3 หลัง คล้ายกับพระที่นั่งจักรพรรดิ์พิมานในหมู่พระมหามณเฑียร

 

ครั้นมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้ปรับปรุงพื้นที่ในบริเวณนี้เสียใหม่ ซึ่งโปรดให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างเดิมหลายอาคาร แต่ทรงละพระที่นั่ง 3 องค์นี้ไว้ โปรดให้แก้ไขลวดลายบนผนังจากเดิมเขียนลายทองบนพื้นชาดสีแดงเป็นลายทองลายรดน้ำ รวมทั้งเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระปฐมสมโภชน์และพุทธประวัติซึ่งทรงค้นคว้าจากคัมภีร์พระสูตรต่างๆ

 

ในพระที่นั่งองค์กลางโปรดเกล้าให้ประดิษฐานพระเจดีย์ทองเหลืองซึ่งทรงกะไหล่ทองคำทั้งองค์ ฐานกว้าง 3 ศอก สูง 7 ศอก สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ทั้งยังโปรดให้สร้างเครื่องตกแต่งต่างๆ เป็นเครื่องบูชาไว้อย่างวิจิตรพิสดาร พระราชทานนามใหม่ให้เรียกว่า พระพุทธมณเฑียร หรือ พระพุทธนิเวศน์ เพื่ออุทิศให้เป็นพระมณเฑียรสำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือเป็นพระราชกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถ

 

ทางด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่ง 3 องค์นี้ซึ่งหันไปทางพระมหามณเฑียร โปรดเกล้าให้สร้างปราสาทหลังน้อยองค์หนึ่งชื่อ พระที่นั่งมหิศรปราสาท หน้าบันของมุกทั้ง 4 ด้านจำหลักไม้เป็นภาพพญาช้างเผือกยืนโรงหันหลังชนกัน 4 เชือก ซึ่งเป็นตราพระบรมราชสัญลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและคัมภีร์พระไตรปิฏก

 

ทางด้านตะวันออกโปรดเกล้าให้สร้างเป็นพระอุโบสถประจำพระพุทธนิเวศน์ กรุผนังภายนอกด้วยหินอ่อนสีเทา เป็นพระอุโบสถขนาดเล็กเรียกว่า พระพุทธรัตนสถาน สำหรับประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิ์พิมนมณีมัย หรือ พระแก้วขาว เป็นพระแก้วประจำรัชกาลที่ 2  ซึ่งทรงอัญเชิญจากนครจำปาศักดิ์

 

จากนั้นทรงสร้างอาคารที่เป็นองค์ประกอบของโบสถ์วิหารจำนวนมากในบริเวณพระพุทธรัตนสถาน อาทิ หอระฆัง ศาลาราย เครื่องตกแต่งบูชาต่างๆ ขณะเดียวกันก็สร้างกำแพงแก้วล้อมอาณาบริเวณหมู่พระพุทธมณเฑียร ซึ่งถือเป็นพระอารามอีกแห่งหนึ่งในพระบรมมหาราชวัง

 

ภายหลังได้ใช้เป็นที่จำพรรษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงพระผนวชเป็นสามเณร ตั้งแต่สมัยยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ และอีกครั้งทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อเจริญพระชนม์มายุ 21 พรรษา ซึ่งเป็นช่วงภายหลังจากทรงรับพระราชสมบัติแล้ว

ภายหลังจำเป็นต้องรื้อถอนหมู่พระพุทธมณเฑียรเช่นเดียวกับหมู่พระอภิเนานิเวศน์ เนื่องจากวัสดุต่างๆ ที่ใช้ก่อสร้างเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว แต่มีพระราชดำริให้เก็บอาคารไว้ 2 หลัง ได้แก่ พระที่นั่งมหิศรปราสาท และพระพุทธรัตนสถาน ทั้งตัวพระอุโบสถ ศาลาราย และหอระฆัง ปัจจุบันพระอุโบสถตั้งอยู่ในสนามหญ้าของสวนศิวาลัย ส่วนพระที่นั่งมหิศรปราสาทตั้งอยู่บนกำแพงสูงซึ่งกั้นระหว่างสวนศิวาลัยกับเขตพระราชฐานชั้นในด้านพระมหามณเฑียร

พระราชวังฤดูร้อน

 

วันที่ออกอากาศ: 13 พฤษภาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ธรรมเนียมการสร้างพระราชวังฤดูร้อนของไทยมีพัฒนาการมาจากแนวคิดของโลกตะวันตกหรือในซีกโลกทางเหนือที่มีอากาศหนาว ซึ่งเราสามารถพบเห็นพระราชวังฤดูร้อนทั้งในทวีปยุโรปและเอเชียที่มีจุดประสงค์ในการสร้างเพื่อเป็นที่ประทับสำหรับพระมหากษัตริย์ในช่วงฤดูที่มีอากาศร้อนจัด ซึ่งมีคลื่นความร้อนที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยมักสร้างให้อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำเพื่อนำมาใช้ทำน้ำพุหล่อเลี้ยงความเย็นและความชื้นในบริเวณพระราชวัง

 

ต่อมา พระมหากษัตริย์ของไทยจึงรับเอาธรรมเนียมการสร้างพระราชวังฤดูร้อนมาใช้ แต่ไม่ได้ใช้เพียงแค่เป็นที่ประทับสำหรับในฤดูร้อนเท่านั้น เนื่องจากเมืองไทยมีสภาพอากาศร้อนเกือบตลอดทั้งปี จึงใช้เป็นพระราชวังสำหรับเสด็จไปพักหลบร้อนหรือผ่อนคลายพระอิริยาบถเมื่อทรงว่างจากพระราชกรณียกิจต่างๆ ด้วย

 

ธรรมเนียมการสร้างพระราชวังฤดูร้อนในราชสำนักไทย สามารถย้อนไปได้ถึงสมัยอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้สร้างพระนารายณ์ราชนิเวศน์ที่เมืองลพบุรี เพื่อใช้เป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่ง ด้วยเมืองลพบุรีมีอากาศที่ร้อนจัด จึงได้นำเทคนิคการสร้างน้ำพุมาช่วยทำให้พระราชวังมีความรื่นรมย์ นอกจากนี้ ยังโปรดให้สร้างพระตำหนักที่ทะเลชุบศร ซึ่งเป็นพระตำหนักกลางทะเลสาบจำลองที่สร้างขึ้นนั้นเพื่อเป็นแหล่งเก็บน้ำ

 

ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่าทรงโปรดเสด็จไปทรงเบ็ดตกปลาที่ปากน้ำบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี และประทับพักผ่อนบริเวณหาดที่ปัจจุบันเรียกว่า หาดเจ้าสำราญ ซึ่งได้สร้างเป็นพลับพลาที่ประทับไว้

 

ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ก็โปรดให้สร้างพระราชวังบริเวณบางปะอิน โดยพบร่องรอยการขุดสระน้ำและสร้างพลับพลาที่ประทับกลางสระ เพื่อใช้ความเย็นของน้ำในสระมาหล่อเลี้ยงให้เกิดความชุ่มชื้นและลดอุณหภูมิความร้อนของอากาศ

 

ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างพระราชวังเมืองสมุทร เป็นพระราชวังขนาดเล็กตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับปากแม่น้ำแขวงเมืองสมุทรปราการ เพื่อใช้เป็นที่ประทับเวลาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงตรวจการก่อสร้างพระสมุทรเจดีย์ ซึ่งเป็นพระเจดีย์กลางน้ำสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยต่อมาทรงมีพระราชประสงค์เพื่อใช้เป็นที่ประทับพักร้อนด้วย นอกจากนี้ ยังทรงโปรดให้พื้นฟูพระราชวังเดิมบริเวณบางปะอินเพื่อใช้เป็นที่ประทับพักผ่อนอีกแห่งหนึ่ง

 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ก่อสร้างพระราชวังบางปะอินขึ้นมาใหม่ ซึ่งปัจจุบันชาวต่างชาติเรียกพระราชวังแห่งนี้ว่า Summer Palace หรือพระราชวังฤดูร้อน จากจดหมายเหตุต่างๆ พบว่าทรงเสด็จไปประทับอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูกฐิน ซึ่งทรงนำพระอัครเมเหสี พระภรรยาเจ้า พระราชโอรสและธิดารวมถึงข้าราชบริพาร ไปบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินและถวายผ้าป่าวัดในกรุงศรีอยุธยาทุกๆ ปี

 

นอกจากนี้ ก็โปรดให้สร้างพระราชวังพญาไทและพระราชวังดุสิตเพื่อเสด็จประทับในฤดูร้อนตามคำแนะนำจากแพทย์และวิศวกรชาวตะวันตก ซึ่งเห็นว่าพระบรมมหาราชวังมีความแออัดของอาคารสถานที่จึงถ่ายเทอากาศได้ไม่ดี ทำให้มีอากาศที่ร้อนจัดเป็นพิเศษในช่วงฤดูร้อน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ

 

ภายหลังจึงมีพระราชนิยมสร้างที่ประทับพักผ่อนบริเวณริมชายทะเล ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างพระราชวังเกาะสีชัง หรือ พระจุฑาครุฑราชฐาน ที่จังหวัดชลบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดในสร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยทรงเอาพระทัยใส่อย่างมากในการวางแผนผังและออกแบบหมู่พระที่นั่งต่างๆ ให้สามารถรับลมได้โดยทั่ว ทำให้พื้นที่ต่างๆ ในเขตพระราชวังมีความเย็นสบาย

 

ในสมัยรัชกาลที่ 7 ก็โปรดให้สร้างพระราชวังไกลกังวล ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีขนาดของที่ประทับไม่ใหญ่โตนัก โดยตั้งพระทัยสร้างในลักษณะเป็นบ้านมากกว่าเป็นพระราชวัง ซึ่งได้ใช้เป็นพระราชฐานที่ประทับมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน 

วัดไชยทิศ บางขุนศรี

วันที่ออกอากาศ: 16 มีนาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ในกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี บริเวณบางกอกน้อย บางยี่ขัน บางพลัด แต่เดิมเป็นพื้นที่สวนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ชาวสวนในสมัยโบราณนั้น ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นคหบดีผู้มีอันจะกิน ซึ่งมักนิยมสร้างวัดประจำชุมชนอยู่ตามเรือกสวนต่างๆ ในพื้นที่บริเวณนี้จึงปรากฏวัดจำนวนไม่น้อยที่มีอายุเก่าแก่สืบมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นวัดโบราณมีงานศิลปะที่น่าไปเยี่ยมชมศึกษา โดยเฉพาะงานภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีความงดงาม

 

วัดไชยทิศ ตั้งอยู่ในแขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย เป็นวัดกลางสวนมีคลองไชยทิศไหลผ่าน จากหลักฐานการสำรวจทางโบราณคดียืนยันว่าเป็นวัดที่มีอายุสืบได้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย สังเกตจากสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถ ซึ่งยังหลงเหลืออยู่ เป็นพระอุโบสถขนาดกลางประมาณ 3 ห้อง เดิมไม่มีช่อฟ้าใบระกา แต่การบูรณะในระยะหลังได้ต่อเติมเพิ่มขึ้นมา มีพาลัยคลุมทั้งด้านหน้าและด้านหลังทำให้บริเวณมุกด้านหน้าและด้านหลังของพระอุโบสถมีหลังคาคลุมกันฝน

 

ใบเสมาของพระอุโบสถแกะสลักจากหินทรายขนาดเล็ก มีการก่อแท่นฐานตกแต่งด้วยลายปูนปั้นประดับ โดยสามัญเรียกลักษณะของเสมาแบบนี้ว่า เสมานั่งแท่น ซึ่งพาลัยและเสมานั่งแท่นถือเป็นลักษณะเอกลักษณ์ของโบสถ์สมัยอยุธยาตอนปลาย โดยเฉพาะตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นต้นมา

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดไชยทิศ ถือเป็นผลงานสำคัญที่ผู้สนใจงานศิลปะประเภทจิตรกรรมฝาฝนังต้องมาศึกษาเยี่ยมชม ในพระอุโบสถของวัดมีภาพจิตรกรรมเขียนไว้เต็มฝาผนังทั้ง 4 ด้าน แต่ภาพบางส่วนเสียหายจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ในปีพุทธศักราช 2485 โดยเฉพาะบริเวณระหว่างช่องประตูหน้าต่างที่น้ำท่วมถึง

 

แต่ถือเป็นความโชคดีเนื่องจากส่วนที่ถือเป็นหัวใจของเรื่องราวต่างๆ ในแต่ละภาพอยู่เหนือรอยน้ำท่วมขึ้นไป เป็นภาพจิตรกรรมฝาฝนังที่ถือว่าเป็นงานศิลปะชิ้นเอกหลายต่อหลายชิ้น ซึ่งกรมศิลปากรได้เข้ามาดำเนินการอนุรักษ์เมื่อต้นทศวรรษ 2550 ทำให้ปัจจุบันภาพจิตรกรรมต่างๆ อยู่ในสภาพที่เห็นรายละเอียดได้ชัดเจนและมีสีสันสวยงาม

 

ภาพจิตรกรรมของวัดไชยทิศ แต่เดิมเขียนขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่มากกว่าครึ่งหนึ่งมีการซ่อมแซมและเขียนเพิ่มเติมในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ภาพฝาผนังส่วนเหนือช่องประตูหน้าต่างที่อยู่ด้านข้างพระประธานเขียนลายดอกมณฑารพ ซึ่งเป็นดอกไม้สวรรค์ที่ล่วงลงมาตอนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ตัวดอกไม้ใบไม้เขียนด้วยสีทองบนพื้นสีแดงแลดูสดใส

 

ผนังด้านหลังพระประธานเหนือช่องประตูเขียนเป็นภาพไตรภูมิตามขนบสมัยอยุธยา เน้นความสำคัญของพระจุฬาเจดีย์มณีบนยอดเขาพระสุเมรุ และภาพเทพยดาวิทยาธรเหาะมาสักการะบูชาพระจุฬามณีเจดีย์ ผนังด้านหน้าพระประธานโดยปกติตามขนบเดิมนิยมเขียนภาพมารผจญ แต่ของวัดไชยทิศเขียนเป็นภาพพุทธประวัติแบ่งเป็น 3 เรื่อง ได้แก่ การแสดงธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ และการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ

 

ระหว่างช่องประตูหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติจากคัมภีร์ปฐมสมโภช ล้วนแล้วแต่วาดตัวละครต่างๆ ได้อย่างปราณีตงดงาม อาทิ ภาพตอนพระอินทร์อาราธนาพระโพธิสัตว์อุบัติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ภาพพระพุทธมารดาประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ ภาพพระพุทธบิดาประกอบพิธีแรกนาขวัญและเจ้าชายสิทธัตถะได้ปฐมฌาน ภาพอสิตดาบสทำนายเจ้าชายสิทธัตถะ ภาพเสด็จออกมหาภิเนษกรม

 

รวมถึง ภาพมารผจญ ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพที่มีการนำไปลงตีพิมพ์ในหนังสือภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นจำนวนมาก จึงเห็นได้ว่าพระอุโบสถวัดไชยทิศมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่น่าสนใจอยู่มากมาย ซึ่งผู้พิสมัยการชมภาพจิตรกรรมฝาผนังสวยๆ สามารถใช้เวลาชมและศึกษาภาพจิตรกรรมของวัดอยู่ได้ทั้งวัน

วัดทองบางพลัด วัดบางยี่ขัน

วันที่ออกอากาศ: 23 มีนาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

วัดทอง ย่านเขตบางพลัด เป็นวัดอีกแห่งที่ตั้งอยู่ในเรือกสวนฝั่งธนบุรี จากลักษณะสถาปัตยกรรมต่างๆ ภายในวัดสะท้อนให้เห็นว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย

 

มีพระอุโบสถเก่าแก่สร้างพาลัยอยู่ด้านหน้าเหนือประตู ซึ่งเป็นทางเข้าออกเพียงทางเดียว ด้านหลังเป็นผนังทึบ มักเรียกพระอุโบสถแบบนี้ว่า โบสถ์มหาอุด เชื่อกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาว่าเหมาะสำหรับการประกอบพิธีกรรมปลุกเสกวัตถุมงคลเครื่องรางของขลังต่างๆ เนื่องจากความศักดิ์สิทธิ์หรือความอาถรรพ์ทั้งหลายไม่สามารถออกไปทางประตูหลังได้

 

ปัจจุบันพระอุโบสถหลังนี้ได้กลายเป็นวิหารของวัด ส่วนอุโบสถหลังปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ลักษณะของซุ้มเสมาที่อยู่รอบๆ เป็นเสมานั่งแท่น ซึ่งเป็นศิลปะในสมัยอยุธยา

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถได้รับการบูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นเรื่องพุทธประวัติตามขนบของศิลปะจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 4 ยังมีภาพผู้คนแต่งกายเป็นฝรั่ง ภาพตึกฝรั่ง จึงเป็นภาพจิตรกรรมยุครอยต่อระหว่างสยามเก่ากับสยามใหม่

 

มีสถาปัตยกรรม 2 สิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าวัดทองบางพลัดสร้างขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา และได้รับการทำนุบำรุงต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์สืบต่อมา คือ เจดีย์ 2 องค์ที่ตั้งอยู่บนลานระหว่างอุโบสถกับวิหาร องค์หนึ่งเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองตั้งอยู่บนฐานสูง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นเจดีย์ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ประมาณสมัยรัชกาลที่ 3 มีรูปแบบสัดส่วนที่งดงามมาก สามารถใช้เป็นตัวอย่างเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองในการสอนวิชางานช่างหรือประวัติศาสตร์ศิลป์ของไทยได้เป็นอย่างดี

 

เจดีย์อีกองค์ขนาดย่อมลงมา มีทรวดทรงสวยงามเช่นกัน เป็นเจดีย์ทรงลังกามีลักษณะคล้ายระฆังกลม ซึ่งเป็นลักษณะนิยมของเจดีย์ในสมัยสุโขทัยจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น มาได้รับการบูรณะอีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 4

 

วัดบางยี่ขัน มีลักษณะสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาตอนกลาง ยังคงหลงเหลือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นฝีมือของช่างเขียนสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่มีการเขียนซ่อมและเขียนเพิ่มเติมในสมัยต้นรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 3 แต่ยังคงขนบการเขียนภาพในลักษณะจิตรกรรมสมัยอยุธยา

 

ผนังเหนือช่องประตูหน้าต่างด้านหลังพระประธานเขียนเรื่องไตรภูมิ ด้านหน้าพระประธานเขียนเรื่องมารผจญ เป็นภาพที่เขียนได้ปราณีตงดงามมาก ทั้งภาพกองทัพมาร ภาพก่อนและหลังเหตุน้ำท่วม ภาพพระพุทธเจ้าประทับบนพุทธบัลลังก์และพระแม่ธรณีบีบมวยผม ซึ่งภาพมารผจญของวัดบางยี่ขันได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบที่สวยงามของภาพมารผจญในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ 

 

ด้านข้างพระประธานเหนือช่องหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุม ซึ่งงดงามไม่น้อยกว่าภาพเทพชุมนุมในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่พระราชวังบวรสถานมงคล ระหว่างช่องหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติจากคัมภีร์ปฐมสมโภชและเรื่องทศชาติชาดก ซึ่งมีภาพที่น่าสนใจและวาดได้อย่างปราณีตปรากฏอยู่ 2 ภาพ ได้แก่

 

ภาพสุวรรณสามชาดก เขียนในตอนที่ท้าวกบิณยักษ์เสด็จประพาสป่าแล้วยิงลูกศรไปโดนพระสุวรรณสามซึ่งบวชเป็นฤาษีล้มลงเสียชีวิต เป็นภาพซึ่งให้ทั้งลีลาและอารมณ์ของภาพ ตลอดจนการใช้สีที่ทำให้ตัวละครทั้ง 2 ตัว คือท้าวกบิณยักษ์และพระสุวรรณสามโดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางฉากในป่า

 

อีกภาพหนึ่งเขียนเรื่องพระเตมีย์ใบ้ซึ่งเป็นชาดกเรื่องแรกในทศชาติชาดก เป็นภาพพระเตมีย์กำลังยกราชรถกวัดแกว่งไปมาซึ่ง จิตรกรได้ใช้จินตนาการอย่างมากและลงสีไว้อย่างงดงาม 

 

ภาพจิตรกรรมสำคัญอีกภาพหนึ่งของวัดบางยี่ขัน คือภาพเหตุการณ์การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ซึ่งเป็นเหตุให้กษัตริย์หลายพระนครยกทัพมาทำสงครามเผื่อแย่งพระบรมสารีริกธาตุ ฉากของการทำสงครามเขียนได้อย่างปราณีตมีความละเอียดละออมาก สะท้อนให้เห็นถึงความโกลาหลวุ่นวายในภาวะสงครามให้อารมณ์ของความดุเดือด 

วัดพระแก้ววังหน้า

วันที่ออกอากาศ: 7 กันยายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

วัดบวรสถานสุทธาวาส เป็นโบราณสถานสำคัญสมัยรัตนโกสินทร์ มีชื่อเรียกเป็นสามัญว่า "วัดพระแก้ววังหน้า" หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าวัดพระแก้วไม่ได้มีเฉพาะแต่ในวังหลวง ซึ่งหมายถึงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในส่วนของวัดพระแก้วของวังหน้าเป็นวัดประจำพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ซึ่งเป็นที่ประทับสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช แต่เดิมถือเป็นตำแหน่งสำคัญในราชสำนักมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

ในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระองค์เจ้าอรุโณทัย พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระปิตุลาขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ทรงมีบทบาทอย่างมากในการบูรณะปฏิสังขรณ์และก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ในพระราชวังบวรสถานมงคล รวมถึงการก่อสร้างวัดพระแก้ววังหน้าให้เป็นวัดประจำพระราชวัง

 

ในปีแรกที่ทรงรับสถาปนากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ มีพระราชประสงค์ให้สร้างวัดเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาโดยสร้างเพียงพระอุโบสถหลังใหญ่บริเวณพื้นที่ที่เคยเป็นวัดหลวงนางชีในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่เดิมมีพระราชดำริจะสร้างเป็นทรงปราสาท คือมีจตุรมุขและยอดปราสาท แต่เมื่อกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคัดค้านด้วยเห็นว่าการสร้างปราสาททำได้เฉพาะในวังหลวงเพื่อเป็นการแสดงฐานานุศักดิ์ของพระมหากษัตริย์ จึงลดรูปแบบเป็นพระอุโบสถทรงจตุรมุข สร้างขึ้นบนฐานไพทีสูงอยู่พอสมควร

 

เนื่องจากเป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ทำใช้การสร้างใช้เวลานาน รวมทั้งได้สร้างด้วยความปราณีตและใช้วัสดุอย่างดี ตัวอย่างเช่นฐานไพทีและบันไดที่รองรับพระอุโบสถ รวมถึงผนังภายนอกพระอุโบสถก็กรุด้วยหินอ่อนสีเทา ภายในพระอุโบสถมีความโอ่โถงมาก ทรงตั้งพระทัยที่จะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานเป็นพระประธาน แต่เสด็จทิวงคตเสียก่อนในปี 2375

 

พระทายาทของพระองค์คือพระองค์เจ้าดาราวดี ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ในการก่อสร้างพระอุโบสถของวัดบวรสถานสุทธาวาสจนสำเร็จ ประดิษฐานพระธานเป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพโปรดให้หล่อเป็นพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารไว้ รวมถึงการตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่้งเป็นถือชิ้นงานศิลปะที่โดดเด่น

 

ปัจจุบัน พระราชวังบวรสถานมงคล กลายเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ซึ่งมีการแบ่งอาณาเขตเป็นส่วนต่างๆ เพื่อใช้เป็นสถานที่่ราชการ ในส่วนของวัดบวรสถานสุทธาวาสอยู่ในเขตวิทยาลัยนาฏศิลป์ เดิมไม่ได้เปิดให้เยี่ยมชมโดยทั่วไป เนื่องจากอยู่ในเขตสถานศึกษา แต่ปัจจุบันกรมศิลปากรได้เผยแพร่ความก้าวหน้าของการสำรวจพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล รวมถึงการเข้าไปบูรณะปฏิสังขรณ์วัดบวรสถานสุทธาวาส ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมศึกษา

 

วัดบวรสถานสุทธาวาสได้รับการบูรณะภายนอกพระอุโบสถแล้ว คงเหลือการบูรณะภาพภาพจิตรกรรมฝาผนังแต่สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ ภาพจิตรกรรมฝาผนังมีอยู่เต็มพื้นที่ทั้ง 4 มุข ของพระอุโบสถ เป็นจิตรกรรมฝาผนังระหว่างรัชกาลที่ 3-4 ประกอบด้วยเรื่องราวหลักๆ ได้แก่ เรื่องพระพุทธสิหิงค์ เรื่องประวัติอดีตพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ซึ่งอุบัติขึ้นก่อนพระพุทธเจ้าศากยมุนีตามคัมภีร์ของพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ บนบานประตูและหน้าต่างก็มีภาพเกี่ยวกับตำนานเทพเจ้าในศาสนาพราหม รวมถึงเรื่องราวของอมนุษย์ซึ่งเป็นอวตารของพระนารายณ์ในคัมภีร์ไวศนพ

วัดมหาพฤฒาราม

วัดมหาพฤฒารามเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิด วรวิหาร มีความเกี่ยวพันกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อย่างมาก อย่างไรก็ตาม วัดนี้ไม่ใช่วัดที่ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ แต่ทรงโปรดให้บูรณะจากวัดเดิมที่มีมาก่อนการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ชื่อ วัดท่าเกวียน

 

เนื่องจากสมัยนั้น พื้นที่รอบบริเวณวัดเป็นทุ่งโล่งที่เรียกว่า ทุ่งวัวลำพอง ซึ่งเป็นบริเวณที่ขบวนเกวียนจากหัวเมืองแวะพักก่อนเข้าไปค้าขายในเมือง ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดตะเคียน สันนิษฐานว่าเปลี่ยนชื่อมาเนื่องจากมีต้นตะเคียนขึ้นกันอยู่หนาแน่นรอบบริเวณวัดซึ่งมีอาณาบริเวณมากกว่า 10 ไร่

 

ในปลายรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สมัยที่ยังทรงผนวชเป็น พระวชิรญาณภิกขุ มีความคุ้นเคยกับเจ้าอาวาสของวัดตะเคียน คือ พระอธิการแก้ว ซึ่งเป็นพระภิกษุชราอายุกว่าร้อยปีที่ทรงเคารพศรัทธามาก จึงเสด็จไปประทับจำวัดตะเคียนอยู่บ่อยครั้ง

 

พระอธิการแก้วผู้นี้ถวายคำพยากรณ์ว่าพระองค์จะได้ขึ้นครองราชย์ จึงรับสั่งกับพระอธิการแก้ว หากคำพยากรณ์เป็นจริง จะทรงสถาปนาวัดตะเคียนถวายให้เป็นวัดใหม่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 2397 ก็โปรดเกล้าพระราชทานสมณศักดิ์พระอธิการแก้วเป็นพระราชาคณะในราชทินนามว่า พระมหาพฤฒาจารย์ แปลว่า พระอาจารย์ผู้เฒ่า และโปรดให้สร้างพระอารามขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า วัดมหาพฤฒาราม หมายถึง อารามที่สถิตของพระอาจารย์ผู้เฒ่า 

 

สถาปัตยกรรมและศิลปวัตถุของวัดมหาพฤฒาราม จึงเป็นงานศิลปะพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 อาทิ พระอุโบสถ และ วิหารพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งสร้างตามแบบไทยประเพณี มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หลังคาประดับกระเบื้องเคลือบสี และตัววิหารมีลักษณะสูงตอบ ทรงโปรดให้สร้างพระปรางค์ 4 องค์ ด้วยมีพระราชประสงค์อุทิศถวายแด่อดีตพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ในภัทรกัป โดยมีสถาปัตยกรรมคล้ายกับพระเมรุทิศ วัดไชยวัฒนาราม อยุธยา องค์พระปรางค์ทั้ง 4 ทาสีขาว ตั้งอยู่ระหว่างพระอุโบสถกับวิหาร  

 

งานศิลปกรรมชิ้นสำคัญ คือ ลวดลายแกะสลักที่หน้าบันของพระอุโบสถ เป็นรูปตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 4 คือ รูปพระมหามงกุฎ วางอยู่บนแว่นฟ้า 2 ชั้น ภายในวิมานบุษบก แล้ววิมานบุษบกนั้น ตั้งอยู่บนหลังของช้างสามเศียร

 

ส่วนบานประตูหน้าต่างของพระอุโบสถ แกะสลักไม้เป็นภาพวัวเทียมเกวียน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเดิมของวัด มีรูปช้างบนบานประตูพระอุโบสถเป็นสัญลักษณ์ของความมีอายุยืน ซึ่งหมายถึงพระอธิการแก้ว อดีตเจ้าอาวาสของวัด ส่วนบนสุดของบานประตูทำเป็นรูปภาพเทพยดากำลังทูลพาน 2 ชั้น แล้วมีพระมหามงกุฎวางอยู่ข้างบน ซึ่งหมายถึงองค์รัชกาลที่ 4 ตามพระนามเดิมคือ สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ 

 

นอกจากนี้ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ก็มีความสนใจอย่างยิ่ง ด้วยเป็นงานศิลปะที่เปลี่ยนขนบการเขียนไป ซึ่งไม่ได้เขียนเรื่องราวชาดกในพุทธประวัติ ภาพอดีตของพระพุทธเจ้า หรือเรื่องไตรภูมิ แต่ได้หยิบยกเอาคติของพุทธศาสนาแบบลังกา ซึ่งเป็นคติที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาธรรมยุติกนิกาย

 

ภาพเขียนฝาผนังในพระอุโบสถเป็นเรื่องธุดงควัตร 13 คือวัตรปฏิบัติของพระธุดงค์ โดยการเขียนภาพได้รับอิทธิพลแบบตะวันตก ซึ่งได้นำเทคนิคเขียนภาพแนว 3 มิติเข้ามาใช้ กล่าวคือ มีภาพวิวทิวทัศน์ต่างๆ เป็นฉากหลัง มีการจัดองค์ประกอบภาพให้เห็นความตื้นลึกเหมือนจริงตามธรรมชาติ รวมทั้งมีภาพอาคารตามสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกอยู่ในภาพด้วย อาจเรียกได้ว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดมหาพฤฒารามเป็นสกุลช่างเดียวกับพระอาจารย์อิน หรือขรัวอินโข่ง 

วิวัฒนาการของพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย

พิพิธภัณฑ์ เป็นแนวคิดที่เพิ่งวิวัฒนาการขึ้นในประเทศไทยมาไม่ถึง 200 ปี อาจกล่าวได้ว่า พิพิธภัณฑ์มีจุดเริ่มต้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็ยังมิใช่พิพิธภัณฑ์ตามแนวคิดในปัจจุบัน

 

สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นสมัยแห่งการเปิดประเทศ เพื่อติดต่อเชื่อมความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ ทรงสังเกตว่าในนานาอารยประเทศ มีธรรมเนียมที่ประมุขของรัฐได้นำของขวัญหรือเครื่องบรรณาการที่ได้เจริญสัมพันธไมตรีมาจัดแสดงไว้ในพระราชสถานที่ประทับหรือในทำเนียบทางราชการ เพื่อเป็นเครื่องประดับพระเกียรติ และเป็นการแสดงถึงเครือข่ายความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ

 

ทรงรับแนวคิดนี้มา โดยโปรดเกล้าให้สร้างพระที่นั่งบริเวณพระมหามณเฑียร เป็นอาคารสถาปัตยกรรมจีน 2 ชั้น พระราชทานชื่อว่า พระที่นั่งราชฤดี โปรดเกล้าให้ใช้เป็นที่แสดงสิ่งของต่างๆ ที่นานาประเทศส่งมาน้อมเกล้าถวาย ให้ผู้คนที่มาเข้าเฝ้าได้มีโอกาสชมและศึกษา ต่อมาจึงได้มาจัดแสดงใน พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งพระที่นั่ง 2 แห่งนี้ถือเป็นจุดกำเนิดของแนวคิดในการจัดพิพิธภัณฑสถานในประวัติศาสตร์ไทย

 

ต่อมาในรัชกาลที่ 5  ทรงมีโอกาสเสด็จต่างประเทศหลายครั้ง โดยเยือนพิพิธภัณฑสถาน หรือ museum สำคัญๆ ในโลกตะวันตกหรือแม้กระทั่งในเมืองอาณานิคม จึงนำแนวคิดการรวบรวมศิลปวัตถุ โดยเฉพาะโบราณวัตถุจากแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญๆ ในประเทศ ที่แสดงให้เห็นรอยร่อยอารยธรรมที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน เพื่อจัดแสดงไว้ในกรุงเทพฯ

 

ทรงโปรดเกล้าให้สร้าง ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง เป็นอาคารห้องโถงขนาดใหญ่ และย้ายสิ่งของใน พระที่นั่งประภาสพิพิธภัณฑ์ มาจัดแสดงไว้ใน ศาลาสหทัยสมาคม ร่วมกับโบราณศิลปวัตถุที่มีพระราชดำริให้รวบรวมมา ต่อมา จึงมีแนวคิดในการก่อตั้ง Royal Museum ประจวบกับตำแหน่งวังหน้าได้ถูกยุบเลิกไป จึงโปรดเกล้าให้นำพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นที่เก็บรักษาโบราณศิลปวัตถุ โดยมีสมเด็จกรมพระยาราชานุภาพเป็นกำลังสำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม การเปิดใช้พระราชวังบวรสถานมงคลเป็น โรง Museum ของหลวง อย่างเป็นทางการนั้น เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เป็นครั้งแรก 

 

ในช่วงเวลาใกล้กันกับการเปิดพิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ ก็มีแนวคิดของพระสงฆ์ท้องถิ่นและเจ้านายฝ่ายเหนือผู้ปกครองเมืองลำพูน ในการรวบรวมศิลปวัตถุที่เป็นร่องรอยอารยธรรมหริภุญชัยมาเก็บรักษาและจัดแสดง ในบริเวณวัดพระบรมธาตุหิริภุญชัย โดยมีการจัดทำคำอธิบายและการกำหนดอายุอย่างเป็นระบบเหมือนกับพิพิธภัณฑ์สากลในต่างประเทศ

 

ต่อมาเมื่อศิลปวัตถุเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงขยายพื้นที่ตรงข้ามด้านหลังวัด ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญชัย โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ด้วย 

 

ปัจจุบัน มีพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเป็นจำนวนมากกว่า 30 แห่ง และยังมีพิพิธภัณฑ์อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งที่สังกัดหน่วยราชการและเป็นของส่วนตัวหรือหน่วยงานเอกชน แนวคิดของการจัดพิพิธภัณฑ์ยังได้ขยายออกไปมากกว่าเรื่องการจัดแสดงโบราณวัตถุ ยังมีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเมืองหรือชุมชน วิถีชีวิตของคนกลุ่มอาชีพต่างๆ ข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน อาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหาร เครื่องแบบเครื่องแต่งกาย หรือเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์

 

การมีพิพิธภัณฑ์เพิ่มขึ้นมากมายสะท้อนให้ถึงความกระตือรือร้น ความสงสัยใคร่รู้ของเยาวชนไทยที่มากขึ้น ก็เป็นความโชคดีที่มีหน่วยงานต่างๆ พยายามตอบสนองสิ่งเหล่านี้ จึงทำให้กระบวนการของการจัดตั้งองค์กรพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

สวนศิวาลัย

วันที่ออกอากาศ: 7 ธันวาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

สวนศิวาลัย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากโปรดเกล้าให้รื้อถอนหมู่พระพุทธนิเวศน์และหมู่พระอภิเนานิเวศน์ตรงบริเวณฝั่งตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากได้ตรวจสอบว่าชำรุดทรุดโทรมเกินกว่าจะบูรณะได้ คงไว้แต่พระที่นั่งมหิศรปราสาท และพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน ซึ่งรวมถึงหอระฆังกับศาลาราย

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้ปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นสวน ซึ่งแต่เดิมบริเวณนี้เคยเป็นสวนอุทยานสำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จประทับสำราญพระอิริยาบถในสมัยรัชกาลที่ 1-3 และโปรดเกล้าให้สร้างอาคารใหม่บริเวณสุดมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ของสวนก็คือ พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งมหาปราสาททำนองเดียวกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่มิได้มีมุกยาวเสมอกัน 4 ด้านแบบจตุรมุก

 

พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทเป็นปราสาท 5 ยอดที่มีมุกยาว 2 ด้านและมุกสั้น 2 ด้าน โปรดเกล้าให้ออกแบบตามอย่างพระมหาปราสาทในสมัยกรุงศรีอยุธยา ยุคราชวงศ์บ้านภูหลวง ที่สร้างด้วยอิฐปูนในสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลแบบตะวันตก พอจะเห็นตัวอย่างได้จากพระตำหนักที่วัดกุฎีดาวของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระตำหนักคำหยาดของสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร ในอำเภอโพธิทอง จังหวัดอ่างทอง 

 

พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทเป็นพระที่นั่ง 2 ชั้น มีบันไดทางขึ้นทั้งด้านทิศตะวันตกไปยังท้องพระโรงเล็กและทางทิศตะวันออกเป็นท้องพระโรงใหญ่ แต่ไม่มีเฉลียงเดินเชื่อมถึงกัน สวนที่อยู่บริเวณโดยรอบก็ได้พระราชทานนามว่าสวนศิวาลัยตามนามพระที่นั่ง คำว่า "ศิวาลัย" หมายถึงสถานที่ประทับของพระศิวะ ตามคติเทวราชาของศาสนาพรามหมณ์ พระมหากษัตริย์ก็คือองค์พระศิวะที่ประทับอยู่บนโลกมนุษย์

 

ต่อมาในวโรกาสสมโภชน์พระนคร 100 ปี ทรงโปรดเกล้าให้ย้ายพระบรมรูปหล่อเสมือนจริงของบุรพกษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ทั้ง 4 รัชกาลจากพระที่นั่งสุไธสวรรค์ปราสาท มาประดิษฐานในพระที่่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท จึงอาจเป็นที่มาของการใช้คำว่าศิวาลัย ซึ่งในยุคโบราณมักสร้างเทวรูปเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์เป็นเทวรูปฉลองพระองค์ของกษัตริย์

 

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ได้มีการหล่อพระบรมรูปของพระองค์มาประดิษฐานเพิ่มเติม ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาลไปประดิษฐานที่พระพุทธปรางค์ปราสาท แล้วโปรดให้เปลี่ยนชื่อเป็นปราสาทพระเทพบิดร ทรงกำหนดวันที่ 6 เมษายนของทุกปีเป็นวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์

 

หลังจากสร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าให้สร้างพระที่้นั่งบริเวณทิศเหนือของสวนศิวาลัยเพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชหลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับจากทรงศึกษาในยุโรป เดิมพระราชทานนามว่าพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น พระที่นั่งบรมพิมาน

 

แต่ขณะนั้นรัชกาลที่ 6 ทรงกราบทูลขอเสด็จไปประทับที่พระราชวังสราญรมย์นอกพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากทรงมีข้าราชบริพารจำนวนมากที่ไม่รู้ธรรมเนียมปฏิบัติในเขตพระบรมมหาราชวัง อาจทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศได้ ภายหลังทรงรับราชสมบัติจึงทรงใช้พระที่นั่งบรมพิมานเป็นที่ประทับเวลาเสด็จเข้ามาประทับที่พระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นธรรมเนียมสืบมาจนถึงรัชกาลที่ 8

 

ต่อมาในรัชกาลที่ 9 จึงโปรดเกล้าให้ปรับปรุงพระที่นั่งบรมพิมานเป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะระดับประมุขของรัฐ ทั้งที่เป็นพระราชาธิบดี สมเด็จพระราชินีนาถ หรือประธานาธิบดี ซึ่งได้เสด็จหรือเดินทางมาเยือนประเทศไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระเจ้าแผ่นดิน ทั้งในระดับทางการหรือเป็นการเสด็จส่วนพระองค์

สิมอีสาน

สิม คือคำเรียกของโบสถ์หรือพระอุโบสถในภาษาวัฒนธรรมไทย-ลาว ถือเป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่นในวัดวาอารามของภาคอีสาน ซึ่งวัสดุก่อสร้างที่นำมาใช้และการออกแบบตกแต่งต่างๆ ได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และคติความเชื่อของชาวไทยอีสานได้เป็นอย่างดี

 

วัสดุที่ชาวไทยอีสานนำมาก่อสร้างสิม หรือ อุโบสถ ในยุคเก่า ส่วนใหญ่เป็นวัสดุประเภทไม้ซึ่งหาได้ง่ายในธรรมชาติ อาจจะเป็นไม้เนื้อแข็ง ไม้ไผ่ หรือหวายก็ได้ สิมในภาคอีสานมีขนาดไม่ใหญ่โต เป็นโบสถ์เล็กๆ พอเพียงสำหรับทำสังฆกรรมของพระสงฆ์

 

สะท้อนให้เห็นว่า สิมเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับใช้ในกิจของสงฆ์เท่านั้น อาทิ พิธีอุปสมบท หรือการกฐิน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจของฆราวาส โดยหากฆราวาสจะเข้ามาในเขตวัดเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาหรือทำบุญทำกุศลต่างๆ ก็ให้ใช้ลานวัดหรือศาลาวัดที่มีขนาดใหญ่กว่า 

 

สิมอีสาน สามารถแบ่งลักษณะตามการกำหนดเขตพื้นที่สำหรับประกอบกิจของสงฆ์ ได้แก่ สิมบก ซึ่งหมายถึงสิมในเขตวัดทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นสิ่งก่อสร้างถาวรที่ทำจากไม้ อิฐ หรือดิน และ สิมน้ำ ซึ่งก่อเป็นฐานในพื้นที่ที่มีน้ำไหลผ่านล้อมรอบ อย่างเช่นแม่น้ำลำคลองต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นสิมที่ใช้ชั่วคราว ซึ่งในคติของพุทธศาสนาลังกาวงศ์ ถือว่าน้ำเป็นสิ่งบริสุทธิ์สำหรับชำระล้าง จึงสามารถใช้น้ำเป็นมณฑลล้อมรอบเป็นเขตพัทธสีมา

 

สิมบก ยังสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ สิมไม้  สิมก่อ และ สิมโถง เนื่องจากบริเวณภาคอีสาน โดยเฉพาะอีสานทางใต้ เป็นเขตพื้นที่มีป่าไม้มาก ชาวอีสานจึงนิยมก่อสร้างสิมไม้ เนื่องจากเป็นทรัพยากรที่มีอยู่มาก สิมไม้ส่วนใหญ่ก่อสร้างเป็นอาคารลักษณะตอบสูง ขนาดไม่ใหญ่โต แต่พอที่จะประดิษฐานพระพุทธรูปประธานองค์เล็กได้ ทำประตูทางเข้าออกไว้เพียงช่องเดียว มีหน้าต่างไม่เกินด้านละ 2 บาน

 

แม้จะดูเป็นสิ่งก่อสร้างที่เรียบง่าย แต่ก็มีเสน่ห์ในตัว ด้วยความสุนทรียะทางศิลปะของชาวบ้านที่สอดแทรกไว้ในการก่อสร้าง เช่น เทคนิควิธีการเข้าไม้ การแกะสลักไม้เป็นลวดลายต่างๆ ซึ่งชาวบ้านจะประดิดประดอยทำเพื่อเป็นการบูชาพุทธศาสนา 

 

สิมโถง มีหน้าตาเหมือนอาคารศาลา ประกอบด้วยเสาไม้อยู่บนฐานรองรับหลังคา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีฝาผนัง หรืออาจมีฝาเฉพาะด้านที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน

 

ต่อมาคือ สิมก่อ หมายถึงมีการก่อผนังทั้ง 4 ด้าน เป็นอาคารที่ก่อด้วยอิฐดิบ  การก่อสร้างสิมก่อค่อนข้างมีความประณีตมากกว่าสิมไม้ โดยมีการประดับตกแต่งผนังหรือฐานปั้นปูนเป็นลวดลายต่างๆ ให้สวยงาม มีการทำช่องประตู ช่องหน้าต่าง ซึ่งไม่เกินด้านละ 2 ช่อง 

 

ด้วยความที่สิมมักทำจากไม้หรือวัสดุไม่ค่อยคงทน ส่วนใหญ่จึงผุพังไปตามกาลเวลา แต่ยังคงพบเห็นได้ในจังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดกาฬสินธุ์ หรือในหลายพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานี

 

อย่างไรก็ตาม เท่าที่สำรวจพบจะนับอายุย้อนไปได้ไม่เกินปีพุทธศักราช 2500 ในปัจจุบัน มีความพยายามของวัดใหม่ๆ ในภาคอีสานในการอนุรักษ์สิมอีสาน โดยสร้างพระอุโบสถหรือสร้างสิมในรูปแบบที่รักษาความเป็นเอกลักษณ์ไว้ แต่สร้างให้มีขนาดใหญ่โตขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับจำนวนพระสงฆ์สามเณรที่เพิ่มขึ้น และต้องใช้เป็นพื้นที่สำหรับอุบาสก อุบาสิกา ที่มาปฏิบัติธรรมกันมากขึ้นด้วย 

 

สิมอีสานที่วัดป่าแสงอรุณ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เป็นสิมที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยกให้เป็นสิมอีสานตัวอย่าง เป็นสิมหลังใหญ่ขนาด 9 ห้อง มีลักษณะตามสิมโบราณกึ่งไทยกึ่งลาว สร้างด้วยอิฐปูนมีลวดลายประดับตกแต่ง ช่อฟ้าเป็นรูปพญานาค ที่สันหลังคาเป็นเรือนยอดหลังเล็กๆ ภาษาอีสานเรียกว่า ยอด-ผา-สาท นอกจากนี้ ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีความสนใจแห่งหนึ่งในภาคอีสาน

หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์

วันที่ออกอากาศ: 23 พฤศจิกายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ สร้างขึ้นในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี 2397 ซึ่งเป็นปีแรกที่เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ โดยสร้างติดกันกับหมู่พระพุทธนิเวศน์หรือพระพุทธมณเฑียร สร้างในอาณาบริเวณทางด้านทิศตะวันออกสุดของพระบรมมหาราชวังติดกำแพงพระราชวังด้านถนนสนามชัย ซึ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นพระราชอุทยานที่เรียกว่า สวนขวา

 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าให้สร้างและตกแต่งสวนด้วยศิลปะจีนยุคราชวงศ์ชิงอย่างวิจิตรงดงาม ครั้งพอถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริสถาปนาหมู่พระราชมณเฑียรเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกนาถ โปรดเกล้าให้แบ่งพื้นที่สวนขวาออกเป็น 2 ส่วน

 

ส่วนหนึ่งทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วยการทรงสร้างหมู่พระพุทธนิเวศน์ ซึ่งมีฐานะเป็นวัดอีกแห่งหนึ่งในพระบรมมหาราชวัง และอีกส่วนหนึ่งทรงสร้างเป็นพระราชมณเฑียรแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกประยุกต์ สำหรับใช้เป็นสถานที่จัดแสดงศิลปะวัตถุที่เป็นเครื่องราชบรรณาการที่ทรงได้รับมาจากนานาประเทศ ซึ่งก็คือหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์

 

รูปแบบสถาปัตยกรรมของพระอภิเนาว์นิเวศน์ได้ผสมผสานอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคของทางตะวันตกร่วมกับสถาปัตยกรรมจีน โดยเฉพาะลักษณะหลังคาเก๋งแบบจีน รวมทั้งได้นำสถาปัตยกรรมไทยประเพณีเข้ามาผสมผสานด้วย

 

แนวคิดหลักที่ใช้ออกแบบพระที่นั่งต่างๆ ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ คือโปรดเกล้าสร้างในรูปแบบที่พระมหากษัตริย์จะประทับและทรงดำรงชีวิตอย่างสมัยใหม่ ทั้งเป็นสถานที่เสด็จออกว่าราชการ เสด็จออกแขกเมือง และเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องราชบรรณาการต่างๆ ในลักษณะที่เรียกว่า State Apartment ในพระราชวังของพระมหากษัตริย์ในทวีปยุโรป ด้วยมีพระราชดำริว่าพระมหาษัตริย์ควรปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และวิถีดำรงชีวิตให้เหมือนกับพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศ เนื่องจากทรงต้องติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศมากขึ้น

 

หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ประกอบอาคาร 11 หลัง เป็นอาคารพระที่นั่ง 8 องค์ ในจำนวนนี้โปรดเกล้าให้รวมพระที่นั่ง 2 หลังที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 3 คือ พระที่นั่งสุไธสวรรค์ปราสาท และพระที่นั่งไชยชุมพล ส่วนอาคารอีก 3 หลังสร้างเป็นหอสำหรับประดิษฐานปูชนียวัตถุ ทรงพระราชทานชื่ออาคารอย่างคล้องจ้องกัน ได้แก่ พระที่นั่งไชยชุมพล พระที่นั่งภูวดลทัศไนย พระที่นั่งสุไธสวรรย์ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งบรมพิมาน พระที่นั่งนงคราญสโมสร พระที่นั่งจันทรทิพโยพาส พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ พระที่นั่งมูลมณเฑียร และหอเสถียรธรรมปริตร หอราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ หอโภชนลีลาศ และพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีประโยชน์ใช้สอยแตกต่างกันไป

 

อาทิ พระที่นั่งภูวดลทัศไนยเป็นหอนาฬิกา พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกว่าราชการ พระที่นั่งบรมพิมานเป็นที่บรรทม พระที่นั่งนงคราญสโมสรเป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกฝ่ายใน หอโภชนลีลาศเป็นห้องพระราชทานเลี้ยงภัตตาหาร เป็นต้น

 

จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงทุกข์โทมนัสจากการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระบรมชนกนาถในปี 2411 จึงทรงย้ายกลับไปประทับที่พระที่นั่งจักรพรรดิ์พิมานในหมู่พระมหามณเฑียร จนถึงปี 2416 จึงโปรดให้สำรวจสภาพของหมู่พระอภิเนาว์นิเวศ พบว่าวัสดุก่อสร้างที่เป็นไม้ อิฐ และปูน เสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว ไม่ปลอดภัยจะใช้เป็นที่ประทับต่อไป ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้รื้อถอนลงแล้วปรับปรุงพื้นที่เป็นสวน และทรงสร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท พระราชทานเรียกชื่อว่าสวนแห่งนี้ว่า สวนศิวาลัย 

อนุสรณ์ในรัชกาลที่ 1

วันที่ออกอากาศ: 6 เมษายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ของพระบรมราชจักรีวงศ์เมื่อวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325  ทรงเป็นประธานของระบบบริหารราชการแผ่นดินของสยามประเทศสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

 

ทั้งยังมีพระราชดำริให้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งตะวันออก สถาปนากรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่    ปกครองภายใต้พระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ครองราชสมบัติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันรวม 9 รัชกาล 

 

ในกรุงเทพมหานครมีอนุสรณ์สำคัญๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกและสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอย่างน้อย 7 แห่งที่ควรกล่าวถึง ได้แก่ วัดสระเกศราชวรวิหาร หรือที่ผู้คนสมัยนี้นิยมเรียกว่า วัดภูเขาทอง ซึ่งเป็นวัดดั้งเดิมที่อยู่มาตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงเทพฯ ชื่อวัดสะแก

 

เป็นวัดที่สมัยพระองค์ดำรงยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ใช้ทำพิธีสรงบูรพาภิเษกซึ่งเป็นการอาบน้ำสระผมชำระร่างกายตามคติธรรมเนียมภายหลังกลับมาจากการระงับเหตุจราจลในกรุงกัมพูชา หลังจากเสด็จปราบดาภิเษกแล้ว ทรงรำลึกถึงวัดสะแกจึงโปรดเกล้าฯให้บูรณะและเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสระเกศ ซึ่งหมายถึง การสระผม 

 

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ก็เป็นวัดที่รำลึกถึงรัชกาลที่ 1 สร้างก่อนกรุงรัตนโกสินทร์เช่นกัน โดยเป็นวัดประจำชุมชนในเมืองบางกอกมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดโพธาราม หรือ วัดโพธิ์ ต่อมามีพระราชดำริให้ปฏิสังขรณ์วัดนี้อย่างใหญ่โต เนื่องจากเป็นวัดที่อยู่ติดกับพระบรมมหาราชวัง จึงปฏิสังขรณ์ขึ้นให้เป็นเกียรติเป็นศรีแก่บ้านเมือง มีพระพุทธเทวปฏิมากร เป็นพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ในเวลาต่อมา

 

หอพระไตรปิฏกวัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งอดีตเป็นส่วนหนึ่งในจวนที่ประทับของพระองค์เมื่อครั้งยังทรงเป็นขุนนางในกรุงธนบุรี ดำรงพระอิสริยายศเป็นพระราชวรินทร์ แล้วทรงจำเริญก้าวหน้าขึ้นมาเป็นเจ้าพระยาจักรี และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ตามลำดับ เมื่อเสด็จปราบดาภิเษกก็ทรงยกจวนแบ่งถวายเป็นหอพระไตรปิฏกของวัดระฆังโฆษิตารามและมีการปฏิสังขรณ์และวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังเพิ่มเติม 

 

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ประดิษฐานในปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างขึ้นตามพระราชดำริขององค์รัชกาลที่ 4 จนมาสำเร็จในรัชกาลที่ 5 โดยปั้นเป็นรูปเหมือนจากการสอบถามเชื้อพระวงศ์และขุนนางที่เคยพบพระพักต์ พระบรมรูปทรงยืนเท่าพระองค์จริงฉลองพระภูษานุ่งอย่างลำลอง 

 

ถนนพระรามที่ 1 เป็นถนนที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เดิมเรียก ถนนปทุมวัน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนเป็นถนนพระรามที่ 1 เนื่องจากถนนสายนี้เป็นเส้นทางโบราณที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ในการเสด็จยกทัพไปและกลับจากการระงับเหตุจราจลที่กรุงกัมพูชา ถนนเส้นนี้จึงเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงรัชกาลที่ 1 และบนเส้นทางนี้ก็มีอนุสรณ์อีกแห่งหนึ่ง คือ สะพานกษัตริย์ศึก เดิมเป็นสะพานไม้สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนบูรณะเป็นสะพานคอนกรีตในสมัยรัชกาลที่ 7 

 

สถานที่สุดท้ายคือ ปฐมราชานุสรน์ ประกอบด้วย พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสะพานพระพุทธยอดฟ้า ก่อสร้างในวาระฉลองสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี สมัยรัชกาลที่ 7 เป็นสะพานที่ใช้สัญจรเชื่อมฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีสืบต่อมา และเป็นสถานที่สำหรับถวายราชสักการะเนื่องในวันจักรี วันที่ 6 เมษายน ของทุกปี ซึ่งมีการเสด็จพระราชดำเนินของพระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐบาล ส่วนราชการและภาคเอกชน ถวายพานพุ่มดอกไม้ ถือเป็นพิธีสำคัญสืบมาจนถึงปัจจุบัน

กลองมโหระทึก

วันที่ออกอากาศ: 9 พฤศจิกายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

กลองมโหระทึก เป็นประดิษฐกรรมจากอารยธรรมยุคสัมฤทธิ์โบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้ามามีบทบาทในวัฒนธรรมไทย กลองมโหระทึกมิได้เป็นเครื่องดนตรีสำหรับเล่นเพื่อความบันเทิง แต่คาดว่าจะเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นกลองสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ทำมาจากส่วนผสมของทองแดงและดีบุก พบได้ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งบทแผ่นดินใหญ่และในบริเวณคาบสมุทรหมู่เกาะต่างๆ

 

กลองมโหระทึกมีลักษณะเป็นกลองตั้งมีตั้งแต่ขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ หน้ากลองทำจากโลหะสัมฤทธิ์ตกแต่งเป็นลวดลาย ซึ่งส่วนใหญ่นิยมลวดลายเป็นวงโคจรของดวงดาวที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง บ้างเป็นภาพวงโครจรของฝูงนก บ้างเป็นขบวนของผู้คนลักษณะต่างๆ ส่วนตรงมุมทั้ง 4 ของหน้ากลองยังมีรูปกบ 4 ตัวนั่งอยู่

สันนิษฐานว่าต้นตอของกลองมโหระทึกมาจากวัฒนธรรมดงเซิน (Dong Son) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมหนึ่งในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอายุประมาณ 2,000 ปีจนถึง 1,000 กว่าปีก่อนคริสตกาล มีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในแขวงทันหัวของเวียดนามตอนเหนือ หรือที่เรียกว่าแคว้นตันเกี๋ย

 

ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมสัมฤทธิ์บนคาบสมุทรชานตงทางตอนใต้ของจีน ซึ่งแพร่ขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมเลียบฝั่งทะเลของประเทศจีนลงมาจนถึงเวียดนามตอนเหนือ พบร่องรอยของชุมชนมนุษย์ที่ประสบความสำเร็จในผสมแร่ทองแดงและดีบุกกลายเป็นโลหะสัมฤทธิ์นำมาใช้ประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ก่อนจะมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับพื้นที่อื่นๆ ในภูมิภาค

 

ปัจจุบันสามารถขุดพบกลองมโหระทึกทั้งในหมู่เกาะอินโดนีเซีย แหลมมลายู รวมถึงพื้นที่แถบประเทศพม่าและกัมพูชา

 

สำหรับการใช้กลองมโหระทึก ประการแรกใช้ตีบอกสัญญาณสำคัญในพิธีกรรมต่างๆ บอกกล่าวการปรากฏตัวของชนชั้นสูง ประการต่อมาใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์หรือพิธีขอฝน สันนิษฐานได้จากรูปกบบนหน้ากลอง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของฝนฟ้ามาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์

 

เมื่อพิจารณาลวดลายบนหน้ากลองที่ส่วนใหญ่ทำเป็นวงกลมซ้อนกันและมีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรู้จักสังเกตุวิถีโคจรของดวงอาทิตย์และดวงดาวในธรรมชาติที่เป็นปรากฎการณ์บนท้องฟ้าที่มีความสัมพันธ์กับฤดูกาลปลูกเพาะ หรือความสัมพันธ์ระหว่างดวงจันทร์กับปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง

 

แสดงในเห็นถึงภูมิปัญญาต่างๆ ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีผลต่อความอุดมสมบูรณ์และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน กลองมโหระทึกจึงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของมนุษย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่โบราณ

 

กลองมโหระทึกในวัฒนธรรมไทยมีปรากฏอยู่ในจารึกตั้งแต่ยุคก่อนสุโขทัย ในบทพระอัยการสมัยอยุธยา จนปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจนในสมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งประโคมกลองมโหระทึกในในงานพระราชพิธีต่างๆ เฉพาะพระอิสริยยศพระมหากษัตริย์ อาทิ การเสด็จออกมหาสมาคมในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา พระราชพิธีถวายน้ำสงฆ์พระบรมศพในอดีตก็จะมีการย่ำมโหรทึกไปพร้อมกับการประโคมแตรสังข์ ตีกลองชนะ

 

รวมถึงการประโคมในพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งบริเวณบันไดทางขึ้นพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ด้านหน้าของฉากลับแลกั้นประตูทั้ง 2 ข้าง จะมีกลองมโหระทึกตั้งอยู่เพื่อใช้ในพระราชพิธี

การศึกษาประวัติศาสตร์จากจารึก

ในการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคโบราณ จารึกถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมาก เพราะหากขาดเสียซึ่งหลักฐานประเภทนี้แล้ว ก็จะไม่สามารถให้คำอรรถาธิบายประวัติศาสตร์ในยุคต้นได้เลย

 

การทำจารึกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งในประเทศไทย เริ่มมีความสำคัญตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 1 เป็นต้นมา กระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 13-14 จึงค่อยๆ ได้รับความนิยมน้อยลงไป จนในที่สุดธรรมเนียมการทำจารึกก็กลายเป็นบันทึกเรื่องราวเฉพาะในวงการพุทธศาสนา 

 

จารึก คือการสลักตัวอักษรลงไปบนวัสดุที่เป็นพื้นระนาบและมีความแข็ง แล้วใช้ศิลปะในการสลักอักษรลงไปในเนื้อวัตถุเพื่อให้คงทนอยู่ยาวนาน เราสามารถใช้ตัววัตถุมาแบ่งประเภทของจารึกได้ ดังนี้

 

ประเภทแรก ศิลาจารึก คือ จารึกบนแผ่นหิน ซึ่งเป็นที่นิยมมาก เพราะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีหินหลายชนิดที่สามารถใช้ทำจารึกได้ดี อีกประการหนึ่ง หินเป็นวัสดุที่คงทน แม้ว่ายุคสมัยของบุคคลหรือบ้านเมืองที่เป็นเจ้าของจารึกนั้นจะผ่านพ้น หรือเสื่อมถอยไปแล้วนานนับพันปีก็ตาม แต่ศิลาจารึกนั้นยังคงอยู่เป็นหลักฐานที่ทำให้คนรุ่นหลังได้ใช้ศึกษาในทางประวัติศาสตร์

 

ประเภทต่อมาเป็นจารึกบนแผ่นโลหะ ซึ่งนิยมใช้แผ่นทองคำ แผ่นโลหะผสม หรือแม้กระทั่งสัมฤทธิ์ การจารึกบนสัมฤทธิ์ไม่ได้ทำในลักษณะแผ่นระนาบ แต่จะจารึกลงบนวัตถุที่ทำขึ้นจากสัมฤทธิ์ เช่น ฐานเทวรูป ระฆัง เป็นต้น นอกจากนี้ ก็มีการจารึกลงบนแผ่นไม้ แต่ไม่ค่อยคงทนนัก

 

จารึกยังสามารถแบ่งประเภทตามวัตถุประสงค์ของการใช้ ประเภทแรก คือ จารึกเพื่อประกอบศาสนาสถาน อาทิ เทวาลัย วัด หรือสถูปเจดีย์ต่างๆ ซึ่งเป็นธรรมเนียมของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่ยุคโบราณ

 

การสร้างจารึกพร้อมกับการสร้างศาสนสถานนั้น ก็เพื่อแสดงวัตถุประสงค์ของผู้สร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำบุญบำเพ็ญพระราชกุศลของกษัตริย์ หรือเป็นการสร้างถวายเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ การบูชาพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนามหายาน หรือเป็นพุทธบูชาแก่พระรัตนตรัย ซึ่งจะมีการบันทึกข้อความลงไปในจารึก นอกจากนี้ยังได้ระบุถึงการอุทิศถวายที่เรียกว่า การกัลปนา จากนั้นจึงเป็นการอธิษฐานขอพรต่างๆ 

 

ประเภทสอง คือ จารึกบันทึกประวัติบุคคลและเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของผู้สร้างจารึก ตัวอย่างเช่น พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงให้สร้างจารึกประเภทนี้ พระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อสายพอขุนผาเมือง ก็ทรงสร้างจารึกวัดศรีชุมเพื่อบันทึกเหตุการณ์ของราชวงศ์พระร่วง ตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงสุโขทัย รวมทั้งเรื่องราวของพระองค์ที่จำเป็นต้องออกผนวช ไปจาริกแสวงบุญยังลังกาทวีป แล้วก็นำสิ่งที่ได้ศึกษากลับมาสร้างสิ่งต่างๆ ในเมืองสุโขทัย 

 

ประเภทที่สาม คือ จารึกเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่างๆ ก็เป็นจารึกที่นิยมทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณจวบจนปัจจุบัน ตัวอย่างเช่นศิลาฤกษ์ต่างๆ รวมทั้งจารึกแผ่นป้ายในการเปิดใช้อาคาร

 

นอกจากนี้ก็มีจารึกที่บันทึกความรู้หรือสรรพวิทยาการต่างๆ เช่น จารึกวัดพระเชตุพน โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้บันทึกสรรพวิชาต่างๆ ที่เป็นองค์ความรู้ในแบบจารีตดั้งเดิมของสังคมไทย ไม่ให้สูญหายไปท่ามกลางกระแสของวัฒนธรรมตะวันตกหรือความรู้แผนใหม่ที่เข้ามา 

 

จารึกเหล่านี้ ต่างให้ข้อมูลที่สำคัญเพื่อสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ แม้แต่จารึกประกอบศาสนสถาน ที่นอกจากจะให้ความรู้เกี่ยวกับวัดวาอารามแล้ว ยังให้ข้อมูลอื่นๆ โดยเฉพาะการกัลปนา ที่มีการอุทิศข้าวของเครื่องใช้ ผู้คน สิ่งก่อสร้าง หรือข้อมูลการทำเกษตรกรรมและการปศุสัตว์ ก็สะท้อนให้เห็นสภาพเศรษฐกิจของบ้านเมืองในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

ความสำคัญของวัฒนธรรมทวารวดี

วัฒนธรรมไทยสยาม เป็นวัฒนธรรมที่อิงอยู่บนพื้นฐานของพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมหลายๆ แขนงในภาคกลางของประเทศไทย หลายคนมองว่าวัฒนธรรมไทยสยามได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมต่างๆ จากภายนอก อาทิ อินเดีย ลังกา หรือแม้แต่เขมร ซึ่งได้หล่อหลอมมาเป็นวัฒนธรรมของไทยภาคกลาง

 

แต่จริงๆ แล้ว คนไทยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็ได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมของตนขึ้น บนรากฐานของวัฒนธรรมเดิมที่เคยเจริญรุ่งเรืองบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งตอนบนและตอนล่าง รวมทั้งในบริเวณรอบๆ อ่าวไทยตอนบน ซึ่งก็คือวัฒนธรรม ทวารวดี 

 

ทวารวดี เป็นวัฒนธรรมแรกๆ ที่ปรากฏในพื้นที่บริเวณรอบอ่าวไทย เป็นวัฒนธรรมที่บูรณาการอิทธิพลของอารยธรรมอินเดียเข้ามาผสมผสาน จนเกิดเป็นรูปแบบวัฒนธรรมเฉพาะของคนพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มต้นราวพุทธศตวรรษที่ 7 แล้วมีความเจริญรุ่งเรืองจนถึงพุทธศตวรรษที่ 13-14 จากนั้นก็เริ่มเสื่อมลงหลังจากพุทธศตวรรษที่ 15 ไปจนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 โดยวัฒนธรรมเขมรได้เข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่แทน

นักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อว่า ทวารวดี เป็นชื่อของรัฐหรืออาณาจักรที่มีระบบปกครองแบบอินเดีย โดยสันนิษฐานการมีอยู่ของหน่วยการเมืองนี้จากหลักฐานลายลักษณ์อักษรเป็นเครื่องยืนยัน โดยเฉพาะหลักฐานจากบันทึกสมัยราชวงศ์ถังของจีน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 8–9

 

นอกจากนี้ ยังพบจารึกที่ด้านหลังของเหรียญกษาปณ์ มีข้อความภาษาสันสกฤตว่า ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ หมายถึง ผู้มีบุญกุศลของพระผู้เป็นเจ้าแห่งทวารวดี ซึ่งแสดงถึงการมีกษัตริย์ปกครองรัฐที่ชื่อทวารวดี 

 

ส่วนนักวิชาการอีกกลุ่มกลับมองว่าความมีตัวตนของทวารวดีในฐานะรัฐไม่ได้มีความสำคัญ แต่ให้ยอมรับทวารวดีในฐานะวัฒนธรรมสำคัญที่มีอิทธิพลต่อชุมชนต่างๆ รอบอ่าวไทย โดยส่งผ่านวัฒนธรรมพุทธศาสนากระจายทั่วบริเวณที่ราบลุ่มแม้น้ำเจ้าพระยา ไปจนถึงรอยต่อที่ราบสูงโคราชและบางส่วนของคาบสมุทรภาคใต้ ทั้งนี้ วัฒนธรรมพุทธศาสนาสมัยทวารวดีก็มีความหลากหลาย ไม่ได้จำกัดเฉพาะเถรวาทแบบลังกาเท่านั้น 

 

วัฒนธรรมทวารวดีมีศิลปะในลักษณะเฉพาะ เราพบศิลปวัตถุแบบทวารวดีจำนวนมากในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันตก รวมทั้งภาคใต้ตอนบนบางส่วน โดยเฉพาะพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ถือเป็นศิลปวัตถุที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ทางศิลปะแบบทวารวดีที่ชัดเจนที่สุด มักสร้างในปางประทับนั่งห้อยพระบาท พระวรกายค่อนข้างท้วม มีลักษณะเฉพาะของพระพักตร์ เช่น พระขนงตอบเป็นปีกกา พระโอษฐ์หนา พระเนตรโปน ขมวดเส้นพระเกศาโต พระพักตร์ยังไม่ได้เป็นรูปไข่ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ก็มีภาพลายปูนปั้นรูปชาดกในคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความหลากหลายของวัฒนธรรมพุทธศาสนาในทวารวดี โดยเฉพาะภาพปูนปั้นรูปชาดกที่พระเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม พบการเรียงลำดับเรื่องราวตามแบบ มูลสรรวาสติวาท ซึ่งเป็นนิกายเถรวาทสายหนึ่งที่ไม่ได้มาจากลังกา 

 

เราสามารถพบร่องรอยเมืองโบราณของทวารวดีได้ในหลายพื้นที่ เช่น บ้านคูเมืองที่สิงห์บุรี เมืองจันเสน เมืองโคกไม้เดน ที่จังหวัดนครสวรรค์ เมืองอู่ทองที่สุพรรณบุรี เมืองคูบัวและเมืองโบราณนครปฐม แหล่งโบราณคดีทุ่งเศรษฐี จังหวัดเพชรบุรี เมืองเสมาที่นครราชสีมา

 

การกระจายของวัฒนธรรมทวารวดีในวงกว้างนี้ สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองของทวารวดีในยุคนั้น และเป็นรากฐานสำคัญต่อวัฒนธรรมพุทธศาสนาในพื้นที่ภาคกลางของไทย นับตั้งแต่สมัยอยุธยามาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ความสำคัญของศรีสัชนาลัย

วันที่ออกอากาศ: 2 พฤศจิกายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

เมืองศรีสัชนาลัย เป็นหนึ่งในเมืองศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรสุโขทัยร่วมกับเมืองสุโขทัย ซึ่งสมัยสุโขทัยใช้ระบบการบริหารบ้านเมืองในลักษณะเมืองคู่ ปัจจุบันศรีสัชนาลัยเป็นชื่ออำเภอหนึ่งของจังหวัดสุโขทัย แต่ตัวเมืองเดิมของศรีสัชนาลัยสมัยสุโขทัยนั้น ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของอำเภอศรีสัชนาลัยกับอำเภอสวรรคโลก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีแม่น้ำยมไหลผ่าน

 

จากหลักฐานการสำรวจทางโบราณคดีพบว่า พื้นที่บริเวณนี้มีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์มาอย่างน้อย 3,000 ปี ได้ขุดพบหลุมฝังศพ เครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ตั้งแต่ยุคหินใหม่ ยุคสัมฤทธิ์ ยุคโลหะ และยุคเหล็ก และพบว่าเป็นแหล่งอารยธรรมมนุษย์ซึ่งผ่านความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมมาหลายยุคสมัยต่อเนื่องกันมา

 

ตั้งแต่วัฒนธรรมทวารวดี ผ่านมาสู่ยุคอาณาจักรขอมโบราณ ซึ่งพบหลักฐานทางสถาปัตยกรรมมากมายที่เป็นเทวสถานสมัยขอม อาทิ พระปรางค์ที่วัดเจ้าจันทร์ พระปรางค์ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง ซึ่งอยู่ในตัวเมืองดั้งเดิมก่อนยุคสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย ก่อนมีการขยายเมืองไปทางทิศเหนือและสถาปนาเมืองศรีสัชนาลัยใหม่ขึ้นในสมัยสุโขทัย 

 

จากข้อมูลที่ได้จากจารึกต่างๆ สะท้อนว่าเมืองศรีสัชนาลัยมีความสำคัญรองลงไปจากกรุงสุโขทัย โดยเป็นเมืองที่ประทับของพระมหาอุปราชซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญรองจากพระมหากษัตริย์ หรือเป็นที่ประทับของพระอนุชาพระเจ้าแผ่นดินก็ได้

 

เมืองศรีสัชนาลัยมีขนาดย่อมลงจากกรุงสุโขทัยแต่มีการวางผังเมืองอย่างดี โดยใช้เขาพนมเพลิงเป็นศูนย์กลางของเมืองซึ่งเป็นสูงสามารถใช้เป็นที่สังเกตการณ์ ที่ราบรอบเขาเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวเมือง มีการสร้างกำแพงคูเมืองล้อมรอบ ภายนอกกำแพงเมืองเป็นพื้นที่เพาะปลูก ถัดออกไปมีแนวเทือกเขาล้อมรอบอาณาบริเวณอีกชั้นกลายเป็นปราการทางธรรมชาติ

 

เมืองศรีสัชนาลัยจึงมีความสำคัญด้านความมั่นคงของอาณาจักร และเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยต่อมาจนถึงอาณาจักรอยุธยา โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงใช้เมืองศรีสัชนาลัยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการป้องกันการรุนรานจากแคว้นล้านนา 

 

ในตัวเมืองศรีสัชนาลัยมีวัดสำคัญๆ หลายแห่ง สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ภายใต้การอุปถัมภ์ของกษัตริย์สมัยสุโขทัย อาทิ วัดช้างล้อม ซึ่งถือเป็นวัดพระมหาธาตุตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีพระเจดีย์ทรงลังกาขนาดใหญ่ก่อจากศิลาแลงประดับด้วยรูปช้างปูนปั้นล้อมรอบ

 

วัดเจดีย์เจ็ดแถว ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดช้างล้อม มีสถาปัตยกรรมเจดีย์รูปแบบต่างๆ ทั้งแบบศิลปะขอม ศิลปะล้านนา ศิลปะพุกามของพม่า พระเจดีย์องค์ที่เป็นประธานสร้างสรรค์โดยช่างสุโขทัยในรูปแบบที่เรียกว่า พระเจดีย์ทรงดอกบัวตูม หรือ พระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่สำหรับเก็บพระอัฐิของเจ้านายฝ่ายศรีสัชนาลัย จึงได้สร้างพระเจดีย์จำนวนมากในลักษณะเจดีย์ราย

 

นอกจากนี้ ยังมี วัดนางพญา ซึ่งมีภาพลายปูนปั้นประดับผนังวิหารที่งดงามมาก 

 

เมืองศรีสัชนาลัยในอดีต ยังเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเครื่องถ้วยสังคโลกขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณรอบนอกกำแพงเมืองในบริเวณที่เรียกกันว่า เตาป่ายาง และ เตาเกาะน้อย ซึ่งการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีทำให้พบเตาเผาเครื่องถ้วยสังคโลกโบราณจำนวนมากในบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำยม กรมศิลปากรจึงได้เข้าไปอนุรักษ์และจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีแหล่งเตาเผาที่ยังไม่ได้ดำเนินการขุดค้นอีกเป็นจำนวนมาก 

จากปราสาทหินถึงกู่ในอีสานใต้

 

วันที่ออกอากาศ: 8 มิถุนายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

โบราณสถานหลายแห่งที่เราพบในภาคอีสานตอนล่างตั้งแต่นครราชสีมาไปจนถึงอุบลราชธานี ส่วนใหญ่เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมเขมรที่แพร่อิทธิพลเข้ามาจากศูนย์กลางของอาณาจักรกัมพูชาโบราณ ตั้งอยู่บริเวณจังหวัดเสียมเรียบของประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน

 

ในสมัยโบราณจะเรียกบริเวณที่ตั้งเมืองยโสธาราปุระ ซึ่งเป็นเมืองพระนครศูนย์กลางอำนาตของอาณาจักรเขมรว่า เขมรต่ำ หรือเขมรตอนล่าง ส่วนบริเวณภาคอีสานตอนใต้ที่ตั้งอยู่อีกฝั่งของเทือกเขาพนมดงรักเรียกว่า เขมรสูง ตามลักษณะของภูมิประเทศ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเขมรมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14-15 ภายหลังจากความเสื่อมลงของวัฒนธรรมทวารวดี

 

นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 ภาคอีสานตอนล่างจึงกลายเป็นพื้นที่ในปริมณฑลทางอำนาจปกครองของอาณาจักรกัมพูชาโบราณ ทำให้ศาสนาฮินดู ทั้งลัทธิไศวะนิกาย และลัทธิไวษณพนิกาย เจริญรุ่งเรืองขึ้นแทนที่พุทธศาสนา มีการก่อสร้างศาสนสถานหรือเทวสถานจำนวนมาก ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กทั่วในอาณาบริเวณ

 

ปัจจุบันมีการขุดพบซากโบราณสถานขนาดต่างๆ ได้มากกว่า 100 แห่ง บ้างก่อด้วยศิลาแลง บ้างก่อด้วยหินทรายบ้าง หรือก่อด้วยอิฐไม่สอปูนบ้าง หากเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่จะเรียกว่า ปราสาท ถ้ามีขนาดเล็กมักนิยมเรียกว่า กู่

 

โบราณสถานที่น่าสนใจในเขตอีสานใต้มีอยู่เป็นจำนวนมาก เฉพาะจังหวัดมหาสารคามก็มีกู่จำนวนมากกว่า 13 แห่ง อาทิ กู่ทอง กู่แก้ว กู่น้อยบ้านหมี่ รวมถึงกู่สันตรัตน์ ซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุดและยังอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ในจังหวัดนครราชสีมามีศาสนสถานขนาดใหญ่ที่เรียกว่าปราสาทอย่างเช่นปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมวัน ปราสาทเมืองแขก รวมถึงกู่ต่างๆ ที่อยู่สร้างอยู่ในบริเวณใกล้เคียง

 

จังหวัดบุรีรัมย์มีปราสาทพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดสุรินทร์ในตัวเมืองมีปราสาทบ้านพลวงซึ่งเหลือแค่ปรางค์ประธานองค์เดียว หากเลยออกไปทางชายแดนติดกับกัมพูชาจะพบกลุ่มปราสาทตาเมือน ประกอบด้วยปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ต ออกไปทางจังหวัดศรีสะเกษก็มีปราสาทศีขรภูมิ ปราสาทเมืองที ส่วนในเขตจังหวัดศรีสะเกษมีปราสาทสระกำแพงใหญ่ และปราสาทสระกำแพงน้อย

 

คำว่า "ปราสาท" เป็นศัพท์ภาษาสันสกฤตที่รับมาจากวัฒนธรรมเขมร มิได้หมายถึงปราสาทราชวังของท้าวพระยามหากษัตริย์ แต่หมายถึงวิมานของเทพเจ้าซึ่งมนุษย์สร้างถวายบนพื้นพิภพให้เป็นที่ประทับของเทพเจ้า ซึ่งถือเป็นจุดศูนย์กลางของบ้านเมืองตลอดจนเป็นสถานที่กระทำพิธีสักการะบูชาเทพเจ้าของชนชั้นสูงโดยอาศัยพลานุภาพยึดโยงให้เกิดความเป็นเอกภาพของราชอาณาจักร ด้วยความเชื่อที่ว่าพระเจ้าแผ่นดินอวตารมาจากพระศิวะหรือไม่ก็พระวิศณุ

 

จนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันต์ที่ 7 ทรงเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนามหายานแบบวัชรยาน จึงได้ก่อสร้างรวมถึงบูรณะศาสนาสถานตามความเชื่อใหม่ นอกจากนี้ยังปรากฎในจารึกปราสาทพระขันธ์ที่นครธมว่า ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยการสร้างศาสนสถานที่เรียกว่า "ธรรมศาลา" คือที่พักคนเดินทาง และ "อโรคยศาล" ซึ่งเป็นสถานพยาบาล รวมจำนวน 102 แห่งกระจายตามเส้นทางจากเมืองพระนครไปยังเมืองต่างๆ ในเขตปริมณฑลซึ่งรวมถึงดินแดนของประเทศไทยในปัจจุบัน

 

กู่ ในอีสานใต้ส่วนใหญ่จึงน่าจะเป็นธรรมศาลาและอโรคยศาลที่เป็นโบราณสถานขนาดเล็ก โดยส่วนหนึ่งพบรูปพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุซึ่งเชื่อว่ามีอานุภาพในการรักษาอาการเจ็บป่วย รวมถึงขุดพบหม้อต้มยา เศษถ้วยหลงเหลืออยู่ด้วย

จารึกในประเทศไทย ตอนที่ 1

วันที่ออกอากาศ: 25 มีนาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

จารึก ถือเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคต้นของประเทศไทย นับถอยจากสมัยอยุธยาไปจนถึงยุคสุโขทัย ล้านนา หรือรัฐในแว่นแคว้นโบราณต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่คนไทยจะรวบรวมคนตั้งตนเป็นบ้านเมืองได้ จริงๆ แล้ว การสร้างจารึกถือเป็นวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานนับพันปี

 

จารึกส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทย หรือประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดีย โดยได้หยิบยืมอักษรอินเดียโบราณมาใช้ เช่น ปัลลวะ พราหมี เทวนาครี หรือการนำภาษาอินเดียมาใช้ถ่ายเสียงภาษาพื้นเมือง เช่น ใช้อักษรสันสกฤตเขียนภาษาเขมร ใช้อักษรปัลลวะเขียนภาษามลายู เป็นต้น

 

ยกเว้นจารึกในเวียดนาม ตั้งแต่สมัยก่อตั้งอาณาจักร ไดเวียด ขึ้นมาใหม่ๆ นั้น ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมจีน จึงใช้อักษรจีนมาทำจารึก

 

ต่อมา คนพื้นเมืองในประเทศต่างๆ เหล่านี้ต่างก็ประดิษฐ์อักษรขึ้นจากการประยุกต์ใช้ภาษาที่มีมาแต่ดั่งเดิม แล้วก็นำอักษรเหล่านี้มาใช้ทำจารึกด้วย อย่างเช่นอักษรขอมในกัมพูชา หรือลายสือไทยในยุคพ่อขุนรามคำแหง 

 

วิธีการทำจารึกนั้น จะใช้วัสดุโลหะปลายแหลมจานลงบนพื้นผิวของวัสดุให้ลึกเป็นรอยลงไป ตอกเป็นรูปตัวอักษรเรียงเป็นข้อความ โดยมีวัสดุที่สามารถนำมาใช้ได้หลายชนิด แต่ที่นิยมคือการจารึกบนหิน ซึ่งเรียกว่า ศิลาจารึก หินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เหมาะในการทำจารึกก็มีหลายชนิด เช่น หินทราย หินอ่อน หินสบู่ หินภูเขาไฟ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ โลหะชนิดต่างๆ อย่างเช่น ทองคำ ก็สามารถตีแผ่เป็นแผ่น แล้วก็จารึกลงบนแผ่นทองได้ เรียกกันว่า จารึกลานทอง หรือการจารึกลงไปบนโลหะสัมฤทธิ์ ซึ่งนิยมจารึกในรูปศิลปวัตถุต่างๆ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป ระฆัง เป็นต้น

 

ก่อนการแกะสลักตัวอักษรลงบนวัตถุนั้น น่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่ร่างคำพูดหรือข้อความต่างๆ ที่จะจารึก อาจจะเป็นอาลักษณ์ของราชสำนัก เพราะจารึกส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทยเป็นจารึกของกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ ชนชั้นสูง หรือแม้กระทั่งคหบดีที่มั่งมี

 

ทั้งนี้ สันนิษฐานจากข้อความในจารึกต่างๆ พบว่า ข้อความเหล่านั้นมักเป็นการพรรณนาโดยใช้ภาษาที่สละสลวย  ซึ่งน่าจะผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว จึงเกินวิสัยที่จะใช้วิธีบอกกล่าวแบบปากต่อปาก คำต่อคำ อย่างไรก็ตาม การบันทึกข้อความสั้นๆ อย่างการจารึกบนผนังถ้ำ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะใช้วิธีการเขียนคำบอก

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นผู้บุกเบิกรายแรกๆ ในประเทศไทย ที่ใช้จารึกมาเป็นหลักฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุที่ทรงค้นพบและพยายามศึกษาข้อความในจารึก ได้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนชั้นหลัง

 

ต่อมาได้มีนักโบราณคดีตะวันตกโดยเฉพาะนักวิชาการชาวฝรั่งเศส สนใจเข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยและประเทศใกล้เคียง ก็เป็นการเปิดศักราชของการอ่านจารึกและการใช้ข้อความในจารึกเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์

 

จนในปัจจุบัน การศึกษาจารึกมีการพัฒนาไปสู่ระบบฐานข้อมูลออนไลน์ มีการรวมรวมสำเนาตัวอักษรจากจารึกต่างๆ และถอดข้อความเป็นภาษาไทยโดยคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งผู้สนใจสามารถใช้งานผ่านเวปไซต์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

จารึกในประเทศไทย ตอนที่ 2

วันที่ออกอากาศ: 1 เมษายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

การทำจารึกในรัฐโบราณของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งอาณาจักรไทยโบราณ ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประกอบการสร้างศาสนสถาน ดังที่เห็นได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี มักจะพบจารึกอยู่ร่วมกับโบราณสถานที่เป็นศาสนสถานด้วย

 

โดยแบบแผนข้อความของจารึกลักษณะนี้ เบื้องต้นจะกล่าวถึงผู้สร้างจารึก ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้รู้บทบาทและประวัติของบุคคลต่างๆ ในยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลของกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ของราชอาณาจักรโบราณ  

 

อย่างการพบพระราชประวัติของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 จากจารึกปราสาทสด๊กก๊อกธม ในจังหวัดสระแก้ว ข้อมูลเกี่ยวกับราชวงศ์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จากจารึกที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา จารึกเกี่ยวกับเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าวรมันที่ 2 จากเขาพนมรุ้ง เป็นต้น

 

หลังจากนั้นก็เป็นการแสดงพระราชประสงค์หรือความประสงค์ของเจ้าของจารึก ว่ามีศรัทธาสร้างถวายให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามลัทธิความเชื่อใด เช่น สร้างถวายพระศิวะในศาสนาพราหมณ์ หรือสร้างเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เป็นต้น 

 

ต่อมาเป็นการกล่าวถึงข้อมูลการดำเนินการก่อสร้างศาสนสถาน เช่น ใครเป็นผู้คุมงาน เกณฑ์คนมาจากที่ใด มีการจัดเตรียมทรัพยากรในการเลี้ยงดูแรงงานอย่างไร หรือมีการสร้างรูปเคารพอะไรบ้างเพื่อประดิษฐานอยู่ในศาสนสถานแห่งนั้น ที่สำคัญที่สุด เป็นการกล่าวถึงการกัลปนาในการสร้างศาสนสถานแห่งนั้น 

 

กษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์ที่เป็นผู้สร้างโบราณสถานเทวสถาน ส่วนใหญ่จะเลือกสร้างเทวสถานพื่นที่ห่างไกลจากชุมชนเดิม ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการขยายอาณาเขตของเมืองหรือราชอำนาจ โดยเมื่อสร้างศาสนสถานนั้นๆ เสร็จก็จะใช้เป็นศูนย์กลางของชุมชน

 

กษัตริย์จะส่งกัลปนาก็คือการอุทิศทรัพยากรทรัพย์สินต่างๆ เช่น  ที่ดิน ผู้คน พราหมณ์และนักบวช ปศุสัตว์ ร่วมถึงการปันส่วนทรัพยากรจากส่วนกลางระหว่างที่ชุมชนใหม่ยังไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เช่น ข้าว พืชพันธุ์ธัญญาหาร หรือผลผลิตผลอื่นๆ ซึ่งข้อมูลต่างๆเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ วิถีชีวิตของบ้านเมือง หรือผลิตผลทางการเกษตรในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี 

 

ข้อความในส่วนสุดท้ายของจารึกประกอบศาสนสถานนั้น มักเป็นข้อความสำหรับอธิษฐาน ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการขอทรัพย์สินเงินทอง ขอให้มีอำนาจบารมี แล้วค่อยๆ ขอในสิ่งที่สูงขึ้นไป เช่น ขอให้เป็นผู้รู้ธรรม เป็นโสดาบัน จนกระทั่งขอให้บรรลุนิพพาน  

 

นอกจากจารึกประกอบการสร้างศาสนสถานแล้ว ยังมีจารึกประเภทอื่นๆ อีก ซึ่งก็มีจารึกประเภทบันทึกเหตุการณ์ ซึ่งจารึกประเภทนี้พบได้ไม่มากนัก โดยจะบอกกล่าวความเป็นไปในบ้านเมือง อย่างเช่น จารึกพ่อขุนรามคำแหง เป็นการเล่าเรื่องบุคคลและเหตุการณ์ในรัชสมัย

 

จารึกวัดป่ามะม่วง ทำให้ทราบความเป็นมาของพระมหาธรรมราชาลิไท ช่วงการเสด็จออกผนวช และเหตุการณ์ในรัชสมัย จารึกวัดศรีชุม บันทึกประวัติของพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์สุโขทัยในสายพ่อขุนผาเมือง พระกรณียกิจในการอุปถัมภ์พุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ การสร้างและบูรณะศาสนสถานต่างๆ ทำให้ได้ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ศิลป์และงานพุทธศิลป์ต่างๆ ในแคว้นสุโขทัย

 

จารึกอีกประเภทหนึ่ง เป็นการบันทึกสรรพวิทยาความรู้ต่างๆ รวมถึงบทสวดมนต์พระคาถาต่างๆ อย่างเช่นจารึกที่วัดโพธิ์ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากจารึกได้หมดบทบาทหน้าที่แล้ว ด้วยมีกระดาษสมุดเข้ามาแทนที่ จึงนิยมบันทึกในลักษณะจดหมายเหตุหรือพงศาวดาร   

 

แม้ว่าธรรมเนียมการสร้างจารึกค่อยๆ หมดความนิยมลงนับตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่ในปัจจุบัน จารึกก็ยังไม่หมดบทบาทลงเสียทีเดียว ยังคงมีธรรมเนียมการวางศิลาฤกษ์ประจำอาคารต่างๆ ให้เห็นได้อยู่มาก ซึ่งถือว่าเป็นจารึกอีกประเภทหนึ่งเช่นกัน

โบราณสถานในเมืองตาก

วันที่ออกอากาศ: 21 ตุลาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์ 

 

 

ตาก เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในหุบเขา ตัวเมืองอยู่บนเนินสูง มีแม่น้ำปิงไหลผ่านทางด้านหนึ่ง ด้านทางทิศตะวันตก มีเทือกเขาถนนธงชัยเป็นแนวต่อลงไปยังเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเขตพรมแดนระหว่างประเทศไทย และพม่า มาตั้งแต่โบราณ

 

จากหลักฐานทางโบราณคดี พบการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในพื่นที่จังหวัดตาก นับย้อนไปได้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้มีแหล่งน้ำบริบูรณ์จากแม่น้ำปิง และได้ทรัพยากรธรรมชาติจากป่าเขาเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์

 

ก่อนการเกิดรัฐสุโขทัยที่เป็นประชาคมของคนไทยนั้น มีตำนานที่กล่าวถึงความเป็นมาของเมืองตาก ว่าเคยเป็นประชาคมของคนเชื้อสายมอญมาก่อน โดยการกล่าวถึงพระนางจามเทวีของนครหริภุญชัย ซึ่งมีเชื้อสายมอญ

 

ทรงพบร่องรอยของกำแพงเมือง และซากเมือง บริเวณเมืองตากระหว่างเสด็จเดินเรือกลับจากละโว้ จึงทรงสถาปนาเมืองขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้ ในตำนานปรัมปราที่เล่าสืบทอดกันมาของกลุ่มเมืองต่างๆ ของจังหวัดตาก ล้วนมีการเชื่อมโยงการสร้างบ้านสร้างเมือง เข้ากับพระนามจามเทวีทั้งสิ้น

 

เมืองตากมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางเดินทัพ และการรบทัพจับศึกต่างๆ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงต้นรัตนโกสินทร์ เดิมทีตัวเมืองตากตั้งอยู่บริเวณอำเภอบ้านตากปัจจุบัน โดยมีพระธาตุเจดีย์คือ วัดพระบรมธาตุ เป็นศูนย์กลางของเมือง

 

บริเวณบ้านตากนี้เป็นเมืองตั้งอยู่บนที่สูงมีดอย และภูเขาลูกเล็กๆ โดยรอบ จึงมีชัยภูมิที่ดี เหมาะแก่การป้องกันการโจมตีของข้าศึกศัตรู แต่ต่อมาได้มีการย้ายทำเลที่ตั้งตัวเมืองอยู่หลายครั้ง อันเนื่องมาจากความห่างไกลจากแหล่งน้ำ

 

ในรัชกาลพระมหาธรรมราชา สมัยอยุธยา ทรงย้ายตัวเมืองมาที่บริเวณสบวัง ซึ่งเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำปิงและแม่น้ำวัง เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายกองทัพ และขนส่งสินค้า

 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 หลังสิ้นสุดสถานการณ์การรบทัพกับพม่า ได้ย้ายตัวเมืองมาอยู่บริเวณบ้านระแหงริมแม่น้ำปิง เพื่อความสะดวกในการขนส่งสินค้า และการคมนาคมติดต่อกับหัวเมืองทางตอนล่าง ซึ่งในคำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวว่าบ้านระแหง แขวงเมืองตาก เป็นจุดรวบรวมสินค้าจากป่าสำหรับส่งไปกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในสมัยนั้น ซึ่งยังคงเป็นที่ตั้งของเมืองตากในปัจจุบันด้วย

 

โบราณสถานต่างๆ ในเมืองตาก มีความหลากหลายทางศิลปกรรมที่ปะปนกันอยู่ ตั้งแต่ศิลปะแบบมอญพม่า ต่อมายังสมัยสุโขทัย อยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ ยังพบศิลปะแบบล้านนาที่เกิดขึ้นในสมัยหลัง

 

เนื่องจากสมัยอยุธยาตอนปลาย จนถึงสมัยธนบุรี มีความพยายามกวาดต้อนผู้คนจากล้านนา ลงมาอาศัยในบริเวณภาคกลางตอนบน และภาคเหนือตอนล่าง เพื่อไม่ให้ล้านนาเป็นจุดสนใจของพม่าอีก ดังนั้น ธรรมเนียมการสร้างวัดวาอาราม และสถูปเจดีย์ในเมืองตาก จึงมีทั้งลักษณะแบบอยุธยา แบบล้านนา หรือแบบมอญพม่ากระจายอยู่ทั่วเมือง

 

เมืองตากมีโบราณสถานที่มีความน่าสนใจทางศิลปะอยู่หลายแห่ง ทั้งที่ปัจจุบันกลายเป็นวัดร้างไปแล้ว และวัดที่ยังคงมีสถานะสืบมาจนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น

 

วัดบรมธาตุ ซึ่งเป็นวัดศูนย์กลางของตัวเมืองเดิม

 

วัดมณีบรรพต ที่มีรูปแบบศิลปะของอยุธยาต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงประจำจังหวัดตาก

 

วัดเขาแก้ว ที่กลายเป็นวัดร้าง แต่มีความสำคัญในพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ว่าเสด็จมาอธิษฐานเสี่ยงบารมีเมื่อครั้งรับราชการที่เมืองตาก ต่อมาเมื่อปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว ก็ทรงพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงสร้างเสนาอาสนะตามแบบศิลปะปลายอยุธยาที่วัดแห่งนี้

 

นอกจากนี้ ยังมีเจดีย์ยุทธหัตถีเมืองตาก ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย รวมถึงศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเป็นที่สักการะของคนชาวเมืองตาก

เมืองโบราณดงละคร

วันที่ออกอากาศ: 1 มิถุนายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

เมืองดงละคร เป็นเมืองโบราณสำคัญตั้งอยู่ในตำบลดงละคร อำเภอเมืองนครนายก โดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2478 เป็นเมืองโบราณที่มีสันฐานรูปไข่เกือบเป็นวงกลมมีอายุสืบได้ตั้งแต่ยุคทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 10-18

 

ปรากฎร่องรอยของคูน้ำคันดิน 2 ชั้น ตัวเมืองครอบคลุมอาณาบริเวณประมาณ 3,000 ไร่ เส้นผ่านศูนย์กลางของเมืองกว้างประมาณ 700-800 เมตร พื้นที่ในตัวเมืองส่วนหนึ่งเป็นเนินสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 30 เมตร

 

ปัจจุบันยังคงมีร่องรอยซากโบราณสถานปรากฎอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ใหญ่โตสมบูรณ์มากนักเมื่อเทียบกับโบราณสถานทวารวดีแห่งอื่นๆ อย่างเช่น นครปฐม อู่ทอง คูบัว หรือศรีเทพ

 

โบราณสถานสำคัญในเมืองดงละครมีอยู่ประมาณ 3-4 แห่ง แต่ไม่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ คงเหลือเพียงฐานรากและซากปรักหักพัง โบราณสถานหมายเลข 1 ตั้งอยู่นอกตัวเมือง เหลือเพียงแค่ฐานรากที่มีลักษณะคล้ายกำแพงแก้ว ก่ออิฐดินเผา มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางมีฐานรูปเคารพ 2 ฐาน

 

ในบริเวณดังกล่าวยังพบซากของสถูปโบราณแบบทวารวดีสร้างอยู่ใกล้เคียงกัน ถือเป็นโบราณสถานหมายเลข 2 ซึ่งในบริเวณโบราณสถาน 2 แห่งนี้ กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีร่วมกับภาควิชาโบราณคดีของมหาวิทยาลัยไวกาโต (Waikato) ประเทศนิวซีแลนด์

 

พบศิลปวัตถุยุคทวารวดีเป็นจำนวนมาก อาทิ พระพุทธรูป เศียรพระพุทธรูปทองคำ แหวน กำไร ตุ้มหู ลูกปัดหิน เครื่องประดับชนิดต่างๆ ซึ่งบ่งบอกวัฒนธรรมยุคทวารวดี ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิทธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี

 

จุดที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งคือสระน้ำโบราณ ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางทิศเหนือ เป็นสระน้ำที่ขุดในบริเวณที่มีศิลาแลงที่เรียกว่า บ่อแลง สันนิษฐานว่าน่าเกิดจากการขุดเอาศิลาแลงไปใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างศาสนสถานหรือเชิงเทินกำแพงเมือง ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นมีความลึกจนสามารถกักเก็บน้ำได้

 

ในคำอธิบายของกรมศิลปากรกล่าวว่าเป็นสระน้ำสำหรับให้ชาวเมืองชำระร่างกายก่อนที่เข้าเมือง หรือใช้เป็นปราการสำหรับป้องกันข้าศึกโจมตีประตูเมืองทางทิศเหนือ

 

จากการศึกษาทางธรณีวิทยาพบว่าในอดีตขอบชายทะเลฝั่งอ่าวไทยอยู่ลึกเข้าไปจนถึงสิงห์บุรีและลพบุรี เมื่อเปรียบเทียบกับแผนที่โบราณของสมัยทวารวดีจะพบว่ามีเมืองโบราณต่างๆ ในยุคทวารวดีตั้งอยู่โดยรอบขอบทะเลอ่าวไทยในสมัยอดีต เรียงรายต่อเนื่องกันจากทิศตะวันตกของอ่าวไทย

 

ตั้งแต่เมืองโบราณบริเวณเชิงเขานางพันธุรัตน์ อำเภอชะอำ  เมืองโบราณคงตึก เมืองโบราณคูบัว เมืองอู่ทอง เมืองนครปฐม วกลงมาสู่ฝั่งตะวันออกมีเมืองลพบุรี เมืองซับจำปา ลงมาสู่เมืองในลุ่มแม่น้ำนครนายก ได้แก่ เมืองโบราณดงละคร เมืองศรีมโหสถ และเมืองพระรถ จึงมองเห็นเครือข่ายกลุ่มเมืองของอาณาจักรทวารวดีเป็นรูปโค้งเว้ารอบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน

 

เมืองโบราณดงละครในสมัยทราวดีจึงเป็นเมืองที่อยู่ใกล้ทะเล จากหลักฐานทางโบราณคดีอย่างเช่นเศษเครื่องถ้วยชามที่พบในเมืองโบราณดงละครซึ่งเคลือบสีฟ้าอ่อน นักโบราณคดีพบว่าเป็นเครื่องถ้วยชามจากเปอร์เซีย มีแหล่งผลิตอยู่ที่เมืองชีราซในประเทศอิหร่านปัจจุบัน

 

ลูกปัดหินต่างๆ ก็ถือสินค้านำเข้าของยุคนั้น จึงสรุปได้ว่าเมืองดงละครน่าจะเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในเครือข่ายเส้นทางการค้าทางทะเลระหว่างอินเดียกับจีนในสมัยโบราณ  

เมืองดงละครยังคงดำรงอยู่มาอย่างน้อยถึงยุคที่อารยธรรมเขมรขยายอิทธิพลเข้าครอบคลุมบริเวณลุ่มแม่น้ำนครนายก เนื่องจากพบศิลปวัตถุเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนามหายานและมีรูปแบบงานศิลปกรรมเขมรแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

 

ภายหลังเมืองดงละครก็ได้ล่มสลาย ซึ่งนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำนครนายกที่เปลี่ยนเส้นทางน้ำไหลห่างไกลออกไปจากตัวเมือง ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ เมืองดงละครจึงเสื่อมความสำคัญลงไป

เมืองเสมา (โคราชเก่า)

วันที่ออกอากาศ: 5 กุมภาพันธ์ 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

เมืองเสมา เป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา แต่เมืองเสมานี้ คือจุดกำเนิดของเมืองนครราชสีมา หรือ โคราช ในปัจจุบัน

 

จากร่องรอยศิลปวัตถุที่สำรวจพบ พบว่าเป็นเมืองโบราณที่มีอายุยาวนานตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 12 จนถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง มีการสันนิษฐานว่าเป็นเมืองเดียวกับที่ปรากฏชื่อในจารึกของอาณาจักรกัมพูชา คือ โคราฆปุระ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นที่มาของคำว่าโคราช 

 

จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่วัฒนธรรมแรกที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาในพื้นที่นี้ คือ วัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งแพร่วัฒนธรรมพุทธศาสตร์จากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำป่าสัก บริเวณรอยต่อระหว่างที่ราบลุ่มภาคกลางกับที่ราบสูงโคราช ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเสมา

 

ปัจจุบันมีศิลปวัตถุแบบทวารวดีที่น่าสนใจอยู่ใน วัดธรรมจักรเสมาราม อำเภอสูงเนิน ซึ่งพบพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ สร้างในพุทธลักษณะทวารวดี กำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 มีความยาว 13.30 เมตร สูง 2.80 เมตร สร้างด้วยการนำหินทรายแดงมาก่อขึ้นแล้วแกะสลักเป็นพระพุทธรูป และยังพบหลักเสมา ซึ่งน่าจะเป็นเขตอุโบสถเดิม

 

นอกจากนั้น ยังได้พบธรรมจักรแกะสลักจากหินทรายในศิลปะทวารวดี เป็นธรรมจักรขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายคลึงกับธรรมจักรที่พบในเขตเมืองนครปฐม 

 

เมื่อวัฒนธรรมทวารวดีเสื่อมลง วัฒนธรรมของอาณาจักรกัมพูชาโบราณก็ได้เข้ามาเจริญรุ่งเรืองจนถึงที่ราบลุ่มภาคกลาง ซึ่งได้สำรวจพบปราสาทหินเขมรหลายแห่งในเมืองเสมา โดยโบราณสถานที่เป็นศูนย์กลางของเมืองเป็นศาสนสถานพราหมณ์แบบเขมร แม้ปรักหักพังเหลือแต่ฐานอิฐ แต่ก็สำรวจพบศิลปวัตถุรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งแสดงว่าวัฒนธรรมเขมรเข้ามามีอิทธิพลแทนที่ในเมืองนี้ด้วย

 

นอกจากนี้ มีปราสาทหิน 2 แห่ง ได้แก่ ปราสาทเมืองแขกและปราสาทโนนกู่ โดยปราสาทเมืองแขกมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ ได้รับการขุดแต่งและบูรณะโดยกรมศิลปากร เรียกได้ว่าเป็นปราสาทหินเขมรแห่งแรกที่สามารถพบได้ในการเดินทางมาจากกรุงเทพ

 

ในพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา วัฒนธรรมไทยสยามซึ่งมีตัวแทนคือพระนครศรีอยุธยา ได้เจริญขึ้นมาแทนในพื้นที่ภาคกลาง เมืองเสมายังมีฐานะสืบต่อมาในสมัยอยุธยาตอนต้น คำว่า เสมา ได้กลายเป็นคำท้ายนามของเมืองนครราชสีมา

 

จนมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ด้วยมีพระราชดำริในทางยุทธศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ โปรดเกล้าให้ย้ายเมืองนครราชสีมาไปสร้างใหม่ในบริเวณพื้นที่ของอำเภอเมืองในปัจจุบัน ทำให้เมืองเสมาถูกทิ้งร้างจนกลายสภาพเป็นซากโบราณสถาน 

 

อย่างไรก็ตาม ร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ทำให้ทราบว่า เมืองเสมา เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีความคึกคัก มีวัฒนธรรมทางศาสนาที่บูรณาการมาจากวัฒนธรรมอินเดียที่หลากหลาย ด้วยเป็นเมืองชุมทางของการเดินทางติดต่อระหว่างที่ราบภาคกลางกับเขตที่ราบสูงโคราช เป็นเส้นทางเชื่อมไปทางลาวหรือพื้นที่อีสานตอนบน หรือเชื่อมออกไปทางกัมพูชา

 

เป็นเมืองที่อาจจะเทียบเคียงได้กับเมืองพิมายที่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรว่าปกครองโดยเจ้านายที่มีเชื้อสายจากเมืองพระนคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรกัมพูชา สันนิษฐานกันว่า เมืองเสมาเองน่าจะมีฐานะใกล้เคียงกัน เพราะมีการสร้างปราสาทหินขนาดใหญ่จำนวนมาก 

 

จากหลักฐานต่างๆ ที่แสดงให้เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมในเมืองเสมานี้ เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจที่ทำให้เราตระหนักได้ว่า วัฒนธรรมไทยภาคกลางที่เป็นวัฒนธรรมกระแสหลักในทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นการรังสรรค์วัฒนธรรมขึ้นมาใหม่โดยไม่มีรากฐานอะไรรองรับ แต่ความเป็นเราในทุกวันนี้ มาจากการหล่อหลอมวัฒนธรรมโบราณที่หลากหลาย ทั้งจากภายในและภายนอกที่ราบภาคกลาง

วิวัฒนาการของศิลปะในคาบสมุทรภาคใต้ของไทย

วันที่ออกอากาศ: 20 เมษายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ภาคใต้เป็นแหล่งงานศิลปกรรมที่สำคัญ โดยเฉพาะศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนา ทั้งงานด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม รวมถึงงานประณีตศิลป์ มีตัวอย่างงานสำคัญๆ ในแต่ละยุคสมัยซึ่งมักถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างอิงในการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ของประเทศไทย ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย ยุคอยุธยา จนถึงยุครัตนรัตนโกสินทร์ ภาคใต้จึงเป็นแหล่งศึกษาพัฒนาการของงานศิลปะไทยได้เป็นอย่างดี

 

ในคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทยปรากฎแหล่งโบราณคดีที่ค้นพบผลงานศิลปะที่โดดเด่นของมนุษย์ในสังคมก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ประมาณ 2,500-3,000 ปีที่แล้ว แบ่งได้ 2 ประเภท ประเภทแรกคือศิลปะภาพเขียนผนังถ้ำ และประเภทที่ 2 คือเครื่องประดับ โดยเฉพาะลูกปัดหินต่างๆ ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าจากพ่อค้าอินเดียที่เดินเรือเข้ามายังคาบสมุทรภาคใต้ทั้งฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทย

 

จังหวัดกระบี่ถือเป็นแหล่งรวมภาพเขียนฝนังถ้ำและลูกปัด โดยเฉพาะที่อำเภอคลองท่อมซึ่งอยู่ติดทะเลฝั่งอันดามัน มีถ้ำติดทะเลที่ปรากฏภาพเขียนอยู่เป็นจำนวนมาก มีภาพเขียนคนแต่งตัวประหลาดสวมเสื้อคลุมและสวมเครื่องประดับศีรษะ ชาวบ้านเรียกว่าผีหัวโต ภาพลายประทับฝ่ามือมนุษย์ ภาพวาดสัตว์ทะเล ซึ่งเป็นภาพที่คนยุคก่อนประวัติศาสตร์ใช้ในการถ่ายทอดความนึกคิด และอาจจะใช้เป็นสัญลักษณ์ในการประกอบพิธีกรรมบางอย่างเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ชุมชนที่อยู่อาศัย 

 

ประมาณคริสตวรรษที่ 7 ชุมชนบริเวณนี้เริ่มได้รับอิทธิพลของศาสนาพรามหณ์และพุทธศาสนาผ่านพ่อค้าและนักบวชชาวชมพูทวีปที่เดินทางผ่านเข้ามาสู่คาบสมุทรภาคใต้ จึงมีปฏิสัมพันธ์กับคนพื้นเมืองและถ่ายทอดอารยธรรมความเจริญของอินเดียโบราณจนวิวัฒนาการกลายเป็นบ้านเมืองภายใต้ระบบกษัตริย์ที่อิงอยู่กับฐานะสมมุติเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์

 

ศิลปวัตถุจากยุคนี้ส่วนใหญ่เป็นรูปเคารพต่างๆ ทั้งในพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ที่นำเข้ามาจากอินเดีย โดยมีศิลปวัตถุชิ้นที่สำคัญๆ ได้แก่ เทวรูปพระวิษณุสวมหมวกทรงกระบอก พระพุทธรูปแบบอมราวดี ซึ่งต่อมาเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้ช่างท้องถื่นสร้างสรรค์งานของตนเอง

 

นอกจากอารยธรรมอินเดียแล้ว ในช่วงคริสตวรรษที่ 7-9 รัฐศรีวิชัยในหมู่เกาะอินโดนีเซียซึ่งควบคุมเส้นทางการค้าระหว่างจีนกับอินเดีย มีศูนย์กลางรัฐอยู่ในเกาะสุมาตราตอนใต้ ก็ได้แผ่ขยายอิทธิพลข้ามช่องแคบมะละกาแหลมมลายูเข้ามายังคาบสมุทรภาคใต้ โดยปรากฎจารึกของกษัตริย์ศรีวิชัยที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุถึงการสร้างเทวาลัยถวายพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ตามคติพุทธมหายาน ซึ่งต่อมามีการค้นพบศาสนสถานโบราณขนาดใหญ่ ได้แก่ สถูปที่วัดแก้ว สถูปที่วัดหลง และองค์พระบรมธาตุไชยยา 

หลังจากรัฐศรีวิชัยเสื่อมอำนาจช่วงประมาณคริสตวรรษที่ 13 ภาคใต้ก็ได้รับอิทธิพลด้านศิลปะของราชวงศ์โจละจากอินเดียใต้ ซึ่งนับถือพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ จึงพบการบูรณะดัดแปลงศาสนสถานและเทวรูปดั่งเดิมต่างๆ ให้สะท้อนหลักพุทธศาสนาแบบเถรวาท อาทิ การบูรณะสถูปแบบพุทธมหายานให้เป็นพระบรมธาตุเจดีย์ การประดิษฐานพระพุทธรูปแทนที่เทวรูปและรูปพระโพธิสัตว์ต่างๆ

 

จนถึงยุครุ่งเรืองของอาณาจักรอยุธยา เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองไชยา ซึ่งถือเป็นเมืองศูนย์กลางของภาคใต้ ได้ถูกผนวกกลายเป็นหัวเมืองสำคัญของอาณาจักรอยุธยา ขณะเดียวกันช่างศิลปะท้องถิ่นก็รับเอาอิทธิผลด้านศิลปะมาจากอยุธยาจนเกิดเป็นศิลปะอยุธยาสกุลช่างไชยา สกุลช่างนครศรีธรรมราช สกุลช่างสงขลา

 

ตัวอย่างงานศิลปะสำคัญๆ เช่นภาพปูนปั้นที่วิหารพระทรงม้าในวัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ด้านหนึ่งเป็นภาพเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช และอีกด้านมีภาพพญามารยืนห้ามไม่ให้พระโพธิสัตว์เสด็จออกผนวช เป็นศิลปะปูนปั้นที่งดงามมากสร้างมาตั้งแต่ต้นสมัยอยุธยา และต่อมามีการบรูณะซ่อมแซมในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

กว่าจะเป็นแม่ฮ่องสอน

วันที่ออกอากาศ: 1 กุมภาพันธ์ 2558
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พื้นที่บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีภูมิประเทศเป็นหุบเขา ทำให้ตัวเมืองมักตั้งอยู่ในหุบเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่าน จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า อาณาบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีร่องรอยของมนุษย์อยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์

 

ยิ่งมีการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งใหม่ๆ ก็ยิ่งพบหลักฐานที่อายุเก่าแก่มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันพบหลักฐานที่มีอายุเกินกว่าหมื่นปีแล้ว อาทิ โลงศพที่ทำจากไม้ซุงในถ้ำผีแมน แกลบข้าวที่แสดงถึงภูมิปัญญาในการปลูกข้าวเป็นธัญญาหาร เป็นต้น 

 

อำเภอสำคัญๆ ของแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน เช่น อำเภอขุนยวม อำเภอปาย อำเภอแม่เสลียง หรือแม้กระทั่งตัวอำเภอเมือง เกิดขึ้นมาจากกระบวนการขยายอาณาเขตของอาณาจักรล้านนา

 

การแสวงหาทรัพยากรต่างๆ แร่ธาตุ ป่าไม้ ตลอดจนทรัพยากรบุคคล ซึ่งหมายถึงการรวบรวมคนในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มคนไทยวนของล้านนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านกำลังคนของอาณาจักรล้านนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20 เนื่องจากกำลังเผชิญกับการคุกคามจากอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยา รวมถึงการขยายอิทธิพลของราชวงศ์พม่า

 

อย่างไรก็ตาม จังหวัดแม่ฮ่องสอนในปัจจุบันมีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนในกลุ่มชาติพันธุ์ฉานหรือไทใหญ่ อันเนื่องมาจากการอพยพของชาวไทใหญ่จากความผันผวนทางการเมืองภายในรัฐฉานในระยะหลัง

 

ราวปลายปีพุทธศตวรรษที่ 24 ช่วงที่แม่ฮ่อนสอนกำลังเข้าสู่ยุคชุมชนเมือง สมัยเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์เป็นผู้ปกครองล้านนา เกิดการสู้รบกันในรัฐไทใหญ่ทำให้ชาวไทใหญ่กลุ่มหนึ่งอพยพข้ามแม่น้ำสาละวินเข้ามาอาศัยอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ บริเวณที่เป็นเมืองแม่ฮ่องสอนปัจจุบัน อาทิ บ้านแม่ร่องสอน ปางหมู ขุนยวม ปาย

 

มีผู้นำชาวไทใหญ่ชื่อ ชานกะเล ซึ่งเป็นทหารในกองทัพของเจ้าฟ้าโกหล่าน เจ้าฟ้าไทใหญ่นครหมอกใหม่ ไม่เห็นด้วยกับการยกทัพไปสู้รบกับเมืองเชียงของ ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองในพระราชอาณาเขตของสยามแล้ว จึงลอบพาผู้คนหนีจากเมืองหมอกใหม่อพยพมาอยู่ที่บ้านแม่ร่องสอน ในเวลาต่อมาเจ้าฟ้าโกหล่านเองก็ต้องอพยพมาอยู่เมืองปายด้วยรบแพ้ต่อเจ้าเมืองไทใหญ่คนอื่นๆ 

 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ราวปี พ.ศ. 2443 รัฐบาลได้รวมเมืองขุนยวม เมืองปาย เป็นเมืองใหญ่เมืองเดียวกันคือเมืองแม่ฮ่องสอน จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 จึงยกฐานะเมืองแม่ฮ่องสอนขึ้นเป็นเมืองชั้นจัตวาในสังกัดมณฑลพายัพ มีการแต่งตั้งข้าราชการทำหน้าที่เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนจากรัฐบาลไทย คือ พระศรสุรราช (เปลื้อง) ถือว่าท่านดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนแรก ในช่วงพ.ศ. 2484-2488

 

แม่ฮ่องสอนถือเป็นหนึ่งในจังหวัดของประเทศสยามที่มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์สงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านเข้ามาในเขตอำเภอขุนยวมเพื่อที่จะข้ามไปยังประเทศพม่า จนกระทั่งญี่ปุ่นแพ้สงครามก็ถอนทัพกลับมาเมืองขุนยวม ซึ่งชาวเมืองให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี

 

ด้วยความซาบซึ้งในมิตรไมตรีรัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้มาก่อตั้งอนุสรณ์สถานแห่งมิตรภาพไทยญี่ปุ่นที่อำเภอขุนยวม ปัจจุบันตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงวัตถุและภาพถ่ายเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามเอเชียบูรพาของเมืองขุนยวม

 

นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2488 ถือว่าแม่ฮ่องสอนได้วิวัฒนาการขึ้นมาเป็นหนึ่งในจังหวัดของประเทศไทยโดยสมบูรณ์ แต่มีปัญหาการคมนาคมที่ไม่สะดวก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงทรงบุกเบิกพัฒนาพื้นที่บริเวณที่สูงของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทรงพัฒนาวิถีชีวิตของชนกลุ่มน้อยตามโครงการพระราชดำริ ทั้งทรงสร้างพระราชนิเวศที่ประทับคือ พระราชนิเวศปางตอง ในช่วงที่เสด็จแปรพระราชฐาน ทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ของดีเมืองชัยนาท

วันที่ออกอากาศ: 15 มกราคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

เมืองชัยนาท มีอดีตอันยาวนานนับตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนมามีฐานะเป็นหนึ่งในเมืองลูกหลวงเมื่อครั้งสมัยอยุธยาตอนต้น และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะศูนย์การกระจายอำนาจของเชื้อพระวงศ์อยุธยาสายสุพรรณภูมิ

 

ราชวงศ์สุพรรณภูมิมีบทบาทในการสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติผ่านการแต่งงานของเชื้อพระวงศ์ เพื่อรวมแผ่นดินสุโขทัยเข้ากับรัฐใหม่อย่างอยุธยาเข้าเป็นแผ่นดินเดียวกัน เดิมศูนย์กลางอำนาจของสุพรรณภูมิอยู่ที่สุพรรณบุรีในปัจจุบัน ต่อมาได้กระจายอำนาจไปยังเมืองชัยนาท รวมทั้งเมืองสรรคบุรีและเมืองแพรกศรีราชา ซึ่งปัจจุบันรวมอยู่ในเขตจังหวัด

 

ถ้ามองกลุ่มเมืองชัยนาทเหล่านี้ตามพิกัดภูมิศาสตร์ ก็คือเมืองบริเวณรอยต่อระหว่างเขตแดนของสุโขทัยกับแคว้นอยุธยา ซึ่งอาจจะเป็นหน้าด่านของสุโขทัย หรือหน้าด่านของสุพรรณภูมิเดิม ความรุ่งเรืองในอดีตของชัยนาทนี้ ยังพบสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นร่องรอยที่ยืนยันได้มาจนถึงปัจจุบัน

 

วัดสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเมืองขนาดใหญ่ของชัยนาท ได้แก่ วัดธรรมามูลวรวิหาร ตั้งอยู่บนเชิงเขาริมแม่น้ำเจ้าพระยานอกเขตอำเภอเมือง ปัจจุบันมีฐานะเป็นอารามหลวงประจำจังหวัด หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญในวัดแห่งนี้ คือ ใบเสมาของพระอุโบสถ ระบุว่าเป็นเสมาแบบอยุธยาตอนต้น แกะสลักจากหินทรายแดง มีลวดลายที่ประดับบนใบเสมา ยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เป็นหลักฐานที่ยืนยันถึงอิทธิพลของเจ้านายสายสุพรรณภูมิในพื้นที่

 

นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติองค์ใหญ่ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อธรรมจักร ด้วยที่ฝ่าพระหัตถ์แกะสลักเป็นรูปธรรมจักร มีความพิเศษตรงพุทธลักษณะที่ก่ำกึ่งระหว่างศิลปะอู่ทองหรืออยุธยากับศิลปะสุโขทัย ส่วนพระพักตร์กับรูปร่างคล้ายกับพระพุทธรูปอู่ทอง แต่พระเศียรและพระรัศมีสะท้อนให้เห็นธรรมเนียมของการสร้างพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยที่เรียกว่า พระอัฏฐารส ซึ่งลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้ก็เหมือนกับลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์ของเมืองชัยนาทที่แบ่งครึ่งกันได้พอดีระหว่าง 2 เมืองนี้ 

 

วัดสำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ พระบรมธาตุชัยนาท ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง เป็นพระเจดีย์ทรงปราสาทมียอดสูงใหญ่ 1 ยอด และเจดีย์ยอดเล็กๆ รายล้อม มีความสำคัญต่อประเพณีหลวงสำหรับการทำพลีกรรมตักน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งมีบ่อน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในการประกอบน้ำสงฆ์มูรธาภิเษกสำหรับพระมหากษัตริย์

 

นอกจากนี้ในบริเวณวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงโบราณวัตถุ โดยท่านเจ้าคุณพระชัยนาทมุนี อดีตเจ้าอาวาสได้มอบไว้ก่อนมรณภาพ กรมศิลปากรจึงจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนีขึ้น

 

ในอำเภอสรรคบุรี ก็เป็นเมืองแต่ดั้งเดิมที่มีความสำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้น เมืองสรรคบุรีมีวัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลาง พระมหาธาตุที่วัดนี้เป็นพระปรางค์ ปัจจุบันได้ปรักหักพังลงแล้ว แต่ยังมีเจดีย์ที่เรียงรายเป็นแถวให้เห็นอยู่ มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์เจ็ดแถวที่เมืองศรีสัชนาลัย มีทั้งพระเจดีย์ทรงลังกา ทรงปราสาท ตลอดจนพระปรางค์ที่เป็นเอกลักษณ์ของอโยธยา เรียกว่า ปรางค์กลีบมะเฟือง ซึ่งยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดที่สามารถหาชมได้

 

ในบริเวณวัดยังมีพระพุทธรูปเก่าลักษณะสุโขทัยอยู่ 2-3 องค์ จึงเห็นได้ว่าเป็นวัดที่ค่อนข้างใหญ่และคงมีความสำคัญในอดีตไม่น้อย 

 

ในอำเภอสรรคบุรียังมีเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัยอยู่ที่วัดโตนดหลาย ใกล้กับวัดมหาธาตุ และมีพระเจดีย์ใหญ่แบบอโยธยา เป็นพระเจดีย์ทรงลังกาที่มีฐานสูงชะลูด มีทรวดทรงงดงามมากจนกล่าวกันว่า เป็นราชินีแห่งเจดีย์ อยู่ในวัดพระแก้ว บริเวณเขตเทศบาลของอำเภอ โดยศิลปวัตถุที่มีอยู่ปะปนกันทั้งแบบอยุธยาและสุโขทัย ก็แสดงว่าสุโขทัยได้เข้ามามีบทบาทกับเมืองสรรคบุรีมากพอสมควร 

 

ในจังหวัดชัยนาทไม่ได้มีเพียงวัดหรือโบราณสถานเท่านั้น ยังมีเขื่อนเจ้าพระยาที่น่าเที่ยวชมและมีร้านอาหารอร่อยอยู่หลายแห่ง ของดีเมืองชัยนาทอีกอย่างก็คือ ส้มโอขาวแตงกวา มีรสชาติอร่อยมาก 

จังหวัดอุตรดิตถ์

จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นเมืองสงบๆ แต่มีลักษณะวัฒนธรรม วิถีชีวิต ตลอดจนศิลปะที่น่าสนใจ เนื่องจากตั้งอยู่บนรอยต่อระหว่างพื้นที่ภาคกลางและพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งได้มีการผสมผสานวัฒนธรรมทั้ง 2 ภาค จนกลายเป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ของเมืองอุตรดิตถ์

 

เมืองอุตรดิตถ์เกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นการรวม 3-4 หัวเมืองเล็กๆ ได้แก่ เมืองทุ่งยั้ง เมืองลับแล เมืองฝางหรือสวางคบุรี และเมืองพิชัย หากพิจารณาสภาพภูมิศาสตร์ของที่ตั้งเมือง เมืองนี้อยู่ไม่ไกลจากเมืองสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย จังหวัดที่ต่อขึ้นไปจากอุตรดิตถ์ คือ แพร่ และ น่าน ซึ่งตรงนั้นเป็นหัวเมืองของล้านนาในยุคพระเจ้าติโลกราช

 

อุตรดิตถ์จึงเป็นเมืองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างอิทธิพล 2 ฝ่าย คือ ไทยสยาม และ ไทยล้านนา ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นวัฒนธรรมที่มีความปะปนกันอยู่ ความเป็นเมืองรอยต่อระหว่างวัฒนธรรมไทย 2 กลุ่ม ทำให้อุตรดิตถ์เป็นแหล่งงานศิลปะของทั้งแบบล้านนา แบบไทยภาคกลาง รวมถึงงานศิลปะที่ผสมผสานกัน

 

อย่างเช่นพระพุทธรูปของวัดท่าถนนในเขตอำเภอเมือง เป็นพระพุทธรูปล้านนาแบบเชียงแสนสิงห์ในยุคที่อาณาจักรล้านนามีความรุ่งเรืองมาก เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเรียกกันว่า หลวงพ่อเพชร ซึ่งมีความงดงามมาก จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เชิญลงมาประดิษฐานไว้ในวัดเบญจมบพิตรในช่วงเวลาหนึ่ง

 

หลวงพ่อเพชรนี้ไม่ได้เป็นพระพุทธรูปล้านนาองค์เดียวที่มาปรากฏอยู่ในเมืองอุตรดิตถ์ ยังอีกหลายองค์ตามวัดต่างๆ แต่ขณะเดียวกันก็พบพระพุทธรูปสุโขทัยในจำนวนที่มากพอๆ กันตามวัดเก่าต่างๆ ในเมืองอุตรดิตถ์ โดยส่วนหนึ่งนำมาจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานจังหวัดน่าน

 

วัดกลาง เป็นวัดโบราณในเมืองอีกแห่งที่น่าสนใจ สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา พระอุโบสถเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายในยุคพระเจ้าบรมโกศ แต่จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถเป็นศิลปะในยุคต้นรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสำคัญกับเมืองอุตรดิตถ์ ต่อเนื่องจากสมัยอยุธยามาถึงรัตนโกสินทร์ 

 

เมืองสวางคบุรี เป็นหนึ่งในหัวเมืองที่รวมเข้ามาเป็นจังหวัดอุตรดิตถ์ เดิมมีชื่อว่าเมืองฝาง ต่อมาในสมัยอยุธยาจึงได้ชื่อเมืองว่าสวางคบุรี วัดสำคัญของเมืองนี้ปัจจุบันมีชื่อว่า วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน มีพระธาตุเจดีย์ทรงลังกาเป็นศูนย์กลาง

 

สันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะมีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย ซึ่งมีอิทธิพลของลัทธิลังกาวงศ์เข้าไป รัชกาลที่ 5 ทรงได้พระพุทธรูปทรงเครื่องจักรพรรดิสมัยอยุธยาตอนปลายมาจากวัดแห่งนี้ชื่อว่า พระฝาง ซึ่งปัจจุบันได้อัญเชิญกลับมาประดิษฐานไว้ที่วัดตามเดิมแล้ว 

 

เมืองลับแล เป็นเมืองโบราณอีกแห่งหนึ่งของอุตรดิตถ์ มีวัดโบราณ 2 แห่งที่แสดงให้เห็นถึงงานศิลปะตั้งแต่ยุคอยุธยามาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ รวมทั้งมีศิลปะล้านนาปะปนมาด้วย  ได้แก่ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง และวัดพระแท่นศิลาอาสน์ วัดทั้งสองแห่งนี้มีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคสุโขทัยและยังคงมีความสำคัญอยู่ในปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม ศิลปะยุคสุโขทัยในวัดทั้งสองแห่งนี้สูญหายไปหมดแล้ว เนื่องจากการก่อสร้างตกแต่งในยุคต่อๆ มา แต่พบหลักฐานที่แสดงว่าเมืองลับแลมีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคสุโขทัยจากการปรากฏชื่อในจารึกยุคพระมหาธรรมลิไท ตัววิหารของวัดพระแท่นและโบสถ์วิหารในวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ล้วนเป็นศิลปะยุคอยุธยาที่ปนกับลักษณะวิหารแบบล้านนา ซึ่งปนกันได้สัดส่วนจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

 

นอกจากนี้ ทั้งวัดบรมธาตุทุ่งยั้งและวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ถือเป็นปูชนียสถานสำคัญมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยในรัชกาลที่ 3-4 โปรดให้พระราชทานเงินหลวงและช่างหลวงมาช่วยในการบูรณะวัด โดยเฉพาะวิหารหลวงของวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งนั้น มีงานจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ปัจจุบันนี้ลบเลือนไปมากพอสมควร 

ชวนเที่ยวแม่น้ำอ้อม จังหวัดนนทบุรี

วันที่ออกอากาศ: 14 ธันวาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

เมืองนนทบุรีมีพื้นดินที่มีความสมบูรณ์มากเหมาะสำหรับการทำสวนปลูกพืชผลได้เป็นอย่างดี เป็นแหล่งสวนผลไม้ที่โด่งดังมากมาตั้งแต่สมัยอยุธยา อยู่ในพื้นที่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างไหลผ่านไปจนถึงลุ่มแม่น้ำแม่กลอง มีการทำสวนผลไม้สลับกับที่นาไปโดยตลอด

 

อย่างไรก็ตาม แม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่ไหลผ่านเมืองนนทบุรีมีความคดเคี้ยวมากจนเป็นอุปสรรคต่อความเจริญเติบโตทางการค้าในสมัยอยุธยา ในสมัยอยุธยาต้นนับตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นต้นมา จึงมีนโยบายขุดคลองลัดแม่น้ำเพื่อย่นระยะทางและสะดวกต่อการเดินเรือขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนเส้นทางมาเข้าคลองลัด ต่อมาคลองลัดก็ขยายตัวเป็นแม่น้ำขณะที่แม่น้ำสายเดิมก็เล็กลงจนกลายเป็นคลอง

 

ในเมืองนนทบุรีบริเวณแม่น้ำที่ไหลคดเคี้ยวซึ่งได้กลายไปเป็นคลองหลังจากการขุดคลองลัด ยังคงมีชุมชนที่ผู้คนตั้งถิ่นฐานยังอย่างหนาแน่น โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันตกของเมืองนนทบุรีที่ปัจจุบันเรียกว่า คลองอ้อมนนท์ เป็นบริเวณที่น่าท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจอย่างยิ่ง รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ทางโบราณคดี

 

คลองอ้อมนนท์ หรือตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่ยังคงเรียกแม่น้ำอ้อม มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปากคลองบางกรวยตรงข้ามวัดเขมาภิรตารามในเขตอำเภอเมืองนนทบุรี ไหลไปจนถึงบริเวณบ้านบางศรีเมืองเลยวัดเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้นไปเล็กน้อยก่อนถึงสะพานพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณนั้นคือปากคลองของแม่น้ำอ้อมทางด้านทิศเหนือ

 

เท่ากับว่าบริเวณปากคลองทิศเหนือตรงบ้านบางศรีเมืองจนถึงปากคลองบางกรวย ซึ่งปัจจุบันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ก็คือคลองลัดที่ขุดในปี 2479 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ตามพระราชดำริว่า แม่น้ำเจ้าพระยาไหลอ้อมเหลือเกิน เรือแพที่เป็นเรือสินค้าของต่างชาติเกิดปัญหามากที่จะเข้าไปไม่ถึงพระนครศรีอยุธยา จึงให้ขุดคลองลัดปากทางทั้งสอง ซึ่งแม่น้ำนั้นไหลเป็นรูปตัวยูปัจจุบันวัดระยะทางได้ประมาณ 17.5 กิโลเมตร ภายหลังก็กลายเป็นคลองอ้อมไป

 

บริเวณแม่น้ำอ้อมหรือคลองอ้อมนี้เป็นบริเวณที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในทางประวัติศาสตร์โบราณคดี เป็นแหล่งรวบรวมงานศิลปกรรมโบราณ แหล่งกำเนิดของนิทานพื้นบ้าน รวมถึงเป็นเส้นทางกวีนิราศที่เราสามารถเห็นประเพณีวิถีชีวิตไทยแบบดั่งเดิม ซึ่งมีอายุตั้งแต่สมัยต้นอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ 

 

ตลอดระยะทางราว 17 กิโลเมตร มีวัดโบราณสมัยอยุธยาตอนต้นจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์กว่า 60 แห่งตั้งอยู่ทั้ง 2 ฝั่งคลอง ซึ่งยังคงมีร่องรอยของงานศิลปกรรมโบราณในสภาพดี ทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม และงานประณีตศิลป์ให้ศึกษาได้ในทุกวัด

 

วัดสำคัญๆ ได้แก่ วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระชนกชนนีในกรมสมเด็จพระศรีสุราลัยพระบรมราชชนนี สามารถชมงานศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ได้

 

วัดประชารังสรรค์ เดิมชื่อวัดย่าไทร มีพระพุทธรูปซึ่งชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อหิน แกะสลักจากหินทรายสีแดง และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารเก่า

 

วัดปรางค์หลวง ซึ่งมีพระปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้นเป็นถาวรวัตถุสำคัญ มีตำนานเล่าขานเรื่องท้าวอู่ทองอพยพผู้คนหนีโรคห่าจากเมืองอู่ทองมาตั้งอยู่บริเวณวัดปรางค์หลวง ซึ่งชาวบ้านเล่าขานสืบกันมานับศตวรรษ

 

วัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ วัดปราสาท มีอุโบสถสมัยราชวงศ์บ้านภูหลวง เป็นอุโบสถตกท้องช้างทั้งยังเป็นโบสถ์มหาอุต มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาสกุลช่างนนทบุรีซึ่งปัจจุบันลบเลือนลงไปมากแล้ว 

 

ปัจจุบัน กรมศิลปากรเข้าไปอนุรักษ์และขึ้นทะเบียนวัดหลายแห่งบริเวณคลองอ้อมนนท์เป็นโบราณสถานแล้ว หากสนใจจะไปเที่ยวชมวัดโบราณและวิถีชีวิตไทยตาม 2 ฝั่งคลองอ้อม ก็สามารถจ้างเรือหางยาวซึ่งเป็นเรือรับผู้โดยสารจากท่าน้ำนนทบุรี

ไทลื้อ

วันที่ออกอากาศ: 19 มกราคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

ไทลื้อ หรือ ไตลื้อ คือกลุ่มชาติพันธุ์ ไท หรือ ไต ถิ่นฐานเดิม ซึ่งได้แตกแขนงมากมายและอพยพไปตามพื้นที่ต่างๆ บนแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการสันนิษฐานว่าถิ่นฐานโบราณดั่งเดิมของชาวไทน่าจะอยู่ในบริเวณมณฑลทางตอนใต้ของจีนซึ่งมีทั้งลักษณะเป็นภูเขาสูงและเป็นที่ราบ ซึ่งมีประชาคมของชุมชนของชาวไทกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป 

 

ชาวไทลื้อมีวัฒนธรรมร่วมกับคนไทยที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางใต้ลงมา ตั้งแต่ภาคเหนือของไทยลงมาถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งผู้ปกครองเมืองนับถือพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคติชาวไทลื้อในมณฑลสิบสองปันนาที่รับพุทธศาสนาไปเป็นศาสนาหลัก โดยได้ประสานกลมกลืนร่วมกับการนับถือผี วิญญาณในธรรมชาติ บรรพบุรุษ

 

ทำให้เห็นว่ารากฐานทางวัฒนธรรมของชาวไทลื้อมีลักษณะใกล้เคียงกับคนไทยกลุ่มอื่นๆ ที่มีพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน ดังนั้นเมื่อเกิดการอพยพของชาวไทลื้อเข้ามาในดินแดนของชาวไทยกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือจึงไม่เป็นอุปสรรคหรือมีความแปลกแยกใดๆ ต่อการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม 

 

ในประเทศไทย น่าน ถือเป็นจังหวัดที่เราสามารถมองเห็นวัฒนธรรมไทลื้อได้เด่นชัด ทั้งการแต่งกาย อาหารการกิน สถาปัตยกรรม จิตรกรรมฝาผนัง จนกลายเป็นแหล่งรวบรวมวัฒนธรรมไทลื้อที่สำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมไทลื้อหรือไตลื้อในเขตจังหวัดน่านเพิ่งเริ่มปรากฏให้เห็นชัดขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 23-24 ซึ่งตรงกับสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หลังจากไทยได้ขับไล่พม่าออกไปจากล้านนา เชียงแสน และบริเวณภาคเหนือ เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองน่านได้สวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ

 

รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำริให้เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญไปกวาดต้อนผู้คนชาวไทลื้อในเขตสิบสองปันนาลงมาตั้งรกรากในเขตเมืองน่าน เพื่อแก้ปัญหาจำนวนประชากรของเมือง จึงปรากฏวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีแบบไทลื้อในจังหวัดน่านและจังหวัดใกล้เคียงของไทยมาจนถึงปัจจุบัน

 

ด้วยเหตุนี้ชาวไทลื้อจึงกลายเป็นคนพื้นถิ่นของเมืองน่าน และวัฒนธรรมของชาวไทลื้อได้กลายเป็นวัฒนธรรมหลักของเมืองน่าน

 

ศิลปวัฒนธรรมไทลื้อที่สำคัญๆ ในจังหวัดน่าน ได้แก่ วัดหนองบัว และวัดหนองแดง มีสถาปัตยกรรมและภาพจิตรกรรมไทลื้อที่หาดูได้ยาก ปัจจุบันกรมศิลปากรเข้าไปอนุรักษ์ไว้ ภาพจิตรกรรมของวัดภูมินทร์ ซึ่งมีภาพจิตรกรรมที่โด่งดัง เรียกว่า กระซิบรักบรรลือโลก

 

นอกจากนี้ ผ้าทอลายน้ำไหล หรือซิ่นน้ำไหล ซิ่นขาก่าน ซิ่นม่าน ของชาวไทลื้อยังได้สร้างชื่อเสียงให้กับเมืองน่าน และกลายเป็นชุดพื้นเมืองประจำจังหวัด ผู้คนนิยมแต่งกายในงานบุญ หรือโอกาสงานสำคัญ

 

ปัจจุบันการแต่งกายแบบไทลื้อยังแพร่หลายไปในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ ซึ่งเรียกเหมารวมการแต่งกายแบบไทลื้อนี้ไปว่า การแต่งกายแบบล้านนา 

 

นับได้ว่าเมืองน่านเป็นจังหวัดหนึ่งที่ ชาวไทลื้อ หรือ ไตลื้อ กลุ่มชนชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไทยอาศัยอยู่มาก จึงมีวัฒนธรรมประเพณีที่น่าสนใจ มีการรักษาและสืบทอดขนบประเพณีของตน ทั้งเรื่องการแต่งกาย พิธีกรรม มาจนถึงทุกวันนี้ 

เมืองสระบุรี

วันที่ออกอากาศ: 13 ตุลาคม 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

สระบุรี เป็นจังหวัดที่มีความน่าสนใจในฐานะเมืองสำคัญทั้งทางโบราณคดีและทางประวัติศาสตร์  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์  ปัจจุบัน สระบุรี ถือว่าเป็นจังหวัดใหญ่ที่มีอาณาเขตติดต่อกับหลายจังหวัด เช่น ลพบุรี นครนายก นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

คำว่า สระบุรี ที่ปัจจุบันนิยมอ่านว่า สะ-ระ แต่เดิมมาจากคำว่า สระ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับสระน้ำโบราณสมัยทวารวดี ซึ่งเป็นศาสนสถานเขมร แต่ปัจจุบันชาวสระบุรีรวมถึงชาวจังหวัดอื่นๆ ส่วนใหญ่ได้ลืมเลือนความหมายของคำดังกล่าวจากความทรงจำแล้ว

 

เมื่อกล่าวถึงจังหวัดสระบุรีในทางประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม ส่วนใหญ่นึกถึงรอยพระพุทธบาทในฐานะของแหล่งแสวงบุญที่สำคัญของประเทศ

 

เมืองสระบุรี ในจารึกเขมรโบราณเดิมชื่อ เมืองปรันตะปะ จากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ปรากฏแหล่งอารยธรรมโบราณจำนวนมากตรงพื้นที่นี้ เนื่องจากปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ โดยมีแม่น้ำป่าสักซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่ช่วยหล่อเลี้ยงป่าไม้ในพื้นที่ให้อุดมสมบูรณ์  

 

สระบุรีจึงเป็นจุดหมายปลายทางในการอพยพของคนหลายเชื้อชาติ โดยเฉพาะกลุ่มคนเชื้อสายลาวและกลุ่มไทยญวน  กลายเป็นเหมือนหม้อที่หลอมรวมวัฒนธรรมที่หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน 

 

ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยกรุงเทพฯ เมืองสระบุรีมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่าน ซึ่งเป็นชุมทางเศรษฐกิจสำคัญในการขนส่งสินค้าจากเขตที่ราบสูงโคราชหรือเมืองทางตอนเหนือ ซึ่งมีการล่องซุงและสินค้าจากป่ามารวบรวมไว้ที่เมืองสระบุรีก่อนส่งไปยังอยุธยา

 

ในสมัยอยุธยา สินค้าจากป่าจำนวนมากถือเป็นสินค้าสำคัญ เป็นทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับชาวเมือง รวมทั้งใช้เป็นส่วย  อากร และยุทธปัจจัยในการศึกสงคราม นอกจากสินค้าป่าแล้ว ชาวสระบุรียังผลิตพืชผลทางการเกษตรมาตั้งแต่สมัยโบราณ

 

ดังนั้น การเป็นเมืองต้นทางของบรรดาสินค้าทั้งหลายที่จะส่งลงมายังเมืองหลวงจึงทำให้เศรษฐกิจของเมืองสระบุรีดีขึ้น กลายเป็นเมืองใหญ่ที่มีความมั่งคั่งมาตั้งแต่สมัยอยุธยาสืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ 

 

สระบุรี ยังเป็นแหล่งจาริกแสวงบุญของพระมหากษัตริย์และของราษฎรมาตั้งแต่โบราณ ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่าพระมหากษัตริย์อยุธยาทรงพบพระพุทธฉายบนหน้าผาของเขาปฐวี ซึ่งอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในปัจจุบัน

 

ในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมทรงพบรอยพระพุทธบาท ซึ่งต่อมากลายเป็นพุทธสถานสำหรับจาริกแสดงบุญของชาวอยุธยา มีประเพณีการจาริกแสดงบุญไปยังพระพุทธบาทสระบุรีที่ปฏิบัติเป็นประจำทุกปีของพระเจ้าแผ่นดินและราษฎรในอาณาจักรอยุธยา และสืบสานต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

ปัจจุบัน สระบุรีเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจหลายแห่ง อาทิ ถ้ำพระโพธิสัตว์ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก อำเภอมวกเหล็ก มีภาพสลักนูนต่ำทางพุทธศาสนาในวัฒนธรรมทวารวดี เป็นภาพพระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรมแก่บรรดาเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีความชัดเจนของภาพอยู่มาก

 

นอกจากนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะในเขตอำเภอมวกเหล็กและอำเภอแก่งคอยบริเวณเชิงขอบที่ราบสูงโคราช ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แม่น้ำป่าสักไหลผ่านซอกเขาเกิดเป็นโตรก เป็นธาร และมีเพิงผาตลอด 2 ฝั่งลำน้ำ จึงเป็นที่นิยมสำหรับกิจกรรมล่องแก่ง

ล่องแม่น้ำป่าสัก

วันที่ออกอากาศ: 17 มิถุนายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

แม่น้ำป่าสัก ถือเป็นหนึ่งในแม่น้ำประวัติศาสตร์สำคัญ 3 สายที่ไหลผ่านกรุงศรีอยุธยานอกจากแม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำเจ้าพระยา

 

ลำน้ำป่าสักเมื่อครั้งอดีตเป็นเส้นทางที่พระเจ้าแผ่นดินใช้เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทที่แขวงเมืองสระบุรี ซึ่งได้รับการสถาปนาให้เป็นศาสนสถานสำคัญมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมในสมัยอยุธยา จนกลายเป็นพระราชประเพณีประจำปีของพระเจ้าแผ่นดินทุกรัชกาลสืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

 

นอกจากนี้ แม่น้ำป่าสักเป็นเส้นทางคมนาคมที่มีความสำคัญมาตั้งแต่โบราณจึงมีโบราณสถานและชุมชนของชาวบ้านกระจัดกระจายตลอดเส้นทาง ซึ่งถือเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่น่าสนใจ  

 

เนื่องจากการล่องแม่น้ำป่าสักยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ผู้สนใจเดินทางเส้นทางนี้จำเป็นต้องสำรองเช่าเรือล่วงหน้า โดยสามารถติดต่อเรือเช่าได้ที่ท่าเรือป้อมเพชรหรือท่าเรือวัดสุวรรณาราม การเช่าเรือมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงสักเล็กน้อย เนื่องจากระยะทางค่อนข้างไกลทำให้ต้องใช้เวลาเดินทางนาน

 

หากต้องการเดินทางถึงอำเภอท่าเรือ ซึ่งเคยเป็นจุดจอดเรือสุดท้ายของพระมหากษัตริย์สมัยอดีตที่แวะพักก่อนเดินทางทางบกไปยังพระพุทธบาท จะต้องใช้ระยะเวลาเดินทางราว 12-14 ชั่วโมง ดังนั้น ควรออกเดินทางตั้งแต่เช้ามืด 

 

สำหรับเส้นทางที่แนะนำนั้น ให้ออกเดินทางจากท่าเรือไปยังลำคูขื่อหน้า ซึ่งเป็นจุดบรรจบกันของแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำลพบุรี ซึ่งอยู่บริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมืองอยุธยา กล่าวกันว่าบริเวณนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญและเป็นจุดที่กองทัพพม่าใช้โจมตีอยุธยาได้สำเร็จในสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 โดยมีสถานที่สำคัญ คือ พระราชวังจันทรเกษม หรือวังหน้าซึ่งเป็นที่ประทับของมหาอุปราช

 

จากนั้นล่องเรือต่อไปจะพบร่องน้ำโบราณ  ซึ่งอดีตคือแม่น้ำหันตราหรือแม่น้ำป่าสักสายเดิมที่เป็นคูเมืองของเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร เมืองอยุธยาโบราณก่อนที่พระรามาธิบดีจะมาการสร้างพระนครศรีอยุธยา

 

ขอแนะนำให้จัดเตรียมข้าวของใส่บาตรไว้ด้วยเนื่องจากในช่วงเช้าจะมีพระสงฆ์พายเรือมาบิณฑบาตตามแม่น้ำ อันเป็นวิถีชีวิตของชุมชนแถบนี้มาตั้งแต่โบราณ ระหว่างล่องเรือจะพบว่าสองฝั่งของแม่น้ำเป็นเทือกสวนไร่นาของชาวบ้าน ซึ่งสามารถพบเห็นวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวบ้านไปได้ตลอดเส้นทาง

 

เมื่อล่องเรือจนถึงเขตอำเภอนครหลวงจะพบกับปราสาทนครหลวง ซึ่งเป็นที่ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถของพระมหากษัตริย์ในการเสด็จนมัสการพระพุทธบาท สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง และบริเวณใกล้เคียงกันมีวัดใหม่ประชุมพลซึ่งสามารถเข้าไปศึกษาสถาปัตยกรรมในสมัยประเจ้าปราสาททอง คือ เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง และพระพุทธรูปทรงเครื่องจักรพรรดิราชองค์ใหญ่ที่เป็นพระประธาน รวมถึงจิตรกรรมฝาผนังที่มีลวดลายสวยงามมาก

 

เมื่อแวะชมวัดใหม่ประชุมพลเสร็จแล้วสามารถแวะรับประทานอาหารแถวนี้ ซึ่งมีก๋วยเตี๋ยวเรือและเรือกาแฟผ่านมาบริการ หรืออาจจะเตรียมอาหารมารับประทานบนเรือ

 

จากนั้นให้ล่องเรือต่อไปยังหมู่บ้านอรัญญิก ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องของการตีมีด  ถือเป็นภูมิปัญญาไทยอีกอย่างหนึ่ง ต่อจากนั้นจะผ่านวัดวาอารามตลอด 2 ฝั่งซึ่งสามารถแวะเยี่ยมชมได้ จนกระทั่งไปถึงท่าเจ้าสนุก เขตอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่ติดกับอำเภอเสาไห้จังหวัดสระบุรี

 

หากพ้นจากอำเภอท่าเรือแล้วจะไม่สามารถเดินทางโดยทางเรือเพื่อไปนมัสการพระพุทธบาทต่อไปได้ เนื่องจากจะมีเขื่อนพระราม 6 ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้เป็นเขื่อนชลประทานสำหรับบริหารจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำป่าสัก

 

บริเวณนี้มีตลาดขนาดใหญ่ให้แวะเลือกซื้อสินค้าก่อนเดินทางกลับมายังท่าเรือวัดพนัญเชิง โดยจะถึงท่าเรือราว 1-2 ทุ่ม แต่หากไม่ต้องการเดินทางกลับทางเรือสามารถนัดรถมารับที่ตลาดอำเภอท่าเรือนี้ก็ทำได้

สุนทรภู่กับการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

วันที่ออกอากาศ: 24 มิถุนายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

สุนทรภู่ได้รับยกย่องว่าเป็นนักเดินทางท่องเที่ยวรุ่นบุกเบิกของเมืองไทย เนื่องจากในชีวิตของท่านได้มีโอกาสเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ มากมาย  ทั้งที่เป็นภารกิจทางราชการ การพักผ่อนหย่อนใจ กระทั่งการท่องเที่ยวเพื่อบรรเทาความทุกข์ใจในช่วงตกต่ำของชีวิตราชการ โดยได้ถ่ายทอดเรื่องราวในการเดินทางของท่านออกมาเป็นผลงานวรรณกรรมสำคัญๆ หลายเรื่อง

 

โดยเฉพาะวรรณกรรมประเภทนิราศที่ท่านประพันธ์ไว้ทั้งสิ้น 9 เรื่อง สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดและความกระตือรือร้นของท่านในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ที่ท่านเดินทางผ่านไป ทั้งในเรื่องสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตผู้คน ตลอดจนวัฒนธรรมคติความเชื่อของท้องถิ่น 

 

นิราศทั้ง 9 เรื่อง เรียงลำดับจากปีที่ประพันธ์ ได้แก่ นิราศเมืองแกลง เป็นเรื่องราวขณะที่ท่านเดินทางไปเมืองระยอง ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นบ้านเกิดของท่าน ประพันธ์ไว้ในปี 2350 ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 2 และในปีเดียวกันยังได้ประพันธ์ นิราศพระบาท ขณะตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ เจ้านายวังหลัง ไปนมัสการพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี

 

นิราศภูเขาทอง ประพันธ์ในปี 2371 เว้นห่างจากนิราศ 2 เรื่องแรกถึง 20 ปี ขณะที่ท่านอยู่ในสมณเพศ นิราศเมืองเพชร ช่วงปี 2371-2374 ซึ่งเป็นช่วงที่ท่านเดินทางไปพำนักอยู่ที่เพชรบุรี หลังจากนั้นจึงกลับมายังพระนครและได้ประพันธ์ นิราศวัดเจ้าฟ้า ประมาณปี 2374 ขณะท่านศึกษาการแปรธาตุและเรื่องเหล็กไหลที่วัดเจ้าฟ้า

 

ช่วงปี 2375-2378  ได้ประพันธ์นิราศอิเหนา ซึ่งเป็นนิราศที่ไม่ได้ประพันธ์จากการเดินทางจริงๆ แต่สมมุติตัวท่านเองเป็นอิเหนาที่ต้องพลัดพลากจากนางบุษบา นิราศสุพรรณ ช่วงปี 2377-2380 มีความพิเศษตรงที่ท่านแต่งเป็นโคลง เป็นนิราศที่แสดงความสามารถทางด้านภาษาของท่าน

 

รำพันพิลาป ประพันธ์ในปี 2385 ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางแต่แสดงถึงช่วงชีวิตรันทดในเพศภิกษุของท่านขณะที่จำพรรษาที่วัดเทพธิดาราม และเรื่องสุดท้าย นิราศพระปฐม ช่วงปี 2385-2388 ขณะที่เดินทางไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์องค์เดิมก่อนที่จะมีการบูรณปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ 4 

 

หากศึกษานิราศของสุนทรภู่จะพบว่าท่านนิยมศึกษาชื่อบ้านนามเมืองของท้องถิ่นต่างๆ และนำมาใช้ประโยชน์ในงานประพันธ์ โดยเฉพาะการนำชื่อของสถานที่มาพ้องกับสิ่งที่ท่านต้องการสื่อสารแก่ผู้อ่าน ถือเป็นความสามารถและปฏิภาณกวีที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของท่าน

 

ดังที่ปรากฏในนิราศภูเขาทอง สุนทรภู่เดินทางไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งได้ผ่านย่านหรือชุมชมต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็นำชื่อย่านชุมชนมาประพันธ์เปรียบเปรย

 

ถึงบางจากจากวัดพลัดพี่น้อง

มามัวหมองม้วนหน้าไม่ฝ่าฝืน
เพราะรักใคร่ใจจืดไม่ยืดยืน

จึงต้องขืนในพรากมาจากเมือง
(คำว่า"จาก" ในบางจากนำมาสื่อสารเรื่องการจากลา)

 

ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์

มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร

จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจาฯ
(คำว่า "พูด" ในบางพูดนำมาสื่อสารเรื่องความระมัดระวังในการพูดจา)

 

สุนทรภู่ยังได้สอดแทรกประวัติความเป็นมาของสถานที่ต่างๆ รวมถึงการสะท้อนให้เห็นสภาพชุมชนของท้องถิ่นต่างๆ ในช่วงเวลานั้น ดังปรากฏในนิราศภูเขาทอง ขณะที่ท่านเดินทางผ่านเมืองสามโคก ทำให้ท่านรันทดใจนึกถึงช่วงที่ท่านยังรับราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งพระราชทานชื่อใหม่แก่เมืองสามโคกว่าปทุมธานี เนื่องจากบริเวณนั้นมีบัวอยู่เป็นจำนวนมาก (ปทุม แปลว่า บัว)  

 

ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า

พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี

ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว

 

ในนิราศเมืองแกลง ท่านเดินทางตามลำน้ำไปบางปะกง ซึ่งในสมัยนั้นยังเรียกว่าบางมังกง ก็บรรยายถึงสภาพของชุมชนที่แปรรูปสินค้าจากการประมง เมื่อเดินทางถึงบางแสนยังได้บรรยายให้ภาพบรรยากาศของตลาดเขาสามมุก

 

ถึงหย่อมย่านบ้านบางมังกงนั้น

ดูเรียงรันเรือนเลียบชลาสินธุ์
แต่ล้วนบ้านตากปลาริมวาริน

เหม็นแต่กลิ่นเน่าอบตระหลบไป

 

เป็นสองแถวแนวถนนคนสะพรั่ง

บ้างยืนบ้างนั่งร้านประสานเสียง
ดูรูปร่างบรรดาแม่ค้าเคียง

เห็นเกลี้ยงๆ กร้องแกร้งเป็นอย่างกลาง
ขายหอยแครง แมงภู่กับปูม้า

หมึกแมงดาหอยดอง รองกระถาง
พวกเจ๊กจีนสินค้าเอามาวาง

มะเขือคางแพะเผือกผักกาดดอง
ที่ขายผักหน้าถังก็เปิดโถง

ล้วนเบี้ยโป่งหญิงชายมาจ่ายของ
สักยี่สิบหยิบออกเป็นกอบกอง

พี่เที่ยวท่องทัศนาจนสายัณห์

 

นอกจากนี้ สุนทรภู่ยังมีความสนใจในวิถีชีวิตของชาวจีน ซึ่งท่านมักสังเกตสิ่งต่างๆ เหล่านี้ระหว่างการเดินทาง และนำมาประพันธ์ในนิราศของท่านเสมอ ในนิราศเมืองแกลงท่านก็กล่าวถึงศาลเจ้าปูนเถ้ากง ซึ่งเป็นศาลเจ้าเซียนผู้พิทักษ์รักษาชุมชนจีนตามคติความเชื่อลัทธิเต๋า

 

เห็นศาลเจ้าเหล่าเจ๊กอยู่เซ็งแซ่

ปูนทะก๋งองค์แก่ข้างเพศไสย
เกเลเอ๋ยเคยข้ามคงคาลัย 

ช่วยคุ้มภัยปากอ่าวเถิดเจ้านาย

 

กล่าวได้ว่านิราศทั้ง 9 เรื่องของสุนทรภู่ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีความเกร็ดความรู้ปกิณกะในเรื่องวิถีชีวิตของผู้คน สภาพความเป็นอยู่ของชุมชน รวมทั้งสภาพภูมิประเทศไทยในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ผู้ที่สนใจอาจลองเดินทางท่องเที่ยวตามเส้นทางในนิราศของท่านแล้วเปรียบเทียบสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีตและปัจจุบันก็จะได้รับประโยชน์ยิ่ง

หมู่บ้านสาขลา

หมู่บ้านสาขลา เป็นชุมชนโบราณที่อยู่เขตพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ปัจจุบันทางราชการกำหนดให้ชุมชนหมู่บ้านสาขลาเป็นตำบล แต่เรียกชื่อว่า ตำบลนาเกลือ ด้วยแต่เดิมเป็นบริเวณที่มีการทำนาเกลือกันมาก หมู่บ้านสาขลาเป็นชุมชนขนาดกลางๆ กะทัดรัด อยู่ละแวกปากอ่าวไทย ค่อนข้างเป็นเอกเทศในลักษณะชุมชนแบบปิด ซึ่งแต่เดิมสามารถเข้าออกชุมชนได้เพียงแค่ทางเรือ 

 

ชุมชนสงขลานี้ สันนิษฐานจากโบราณวัตถุที่ค้นพบเป็นเศษเครื่องถ้วยชามประเภทต่างๆ ซึ่งมีเศษถ้วยชามสังคโลกที่อายุย้อนไปได้ถึงสมัยสุโขทัย เศษเครื่องถ้วยลายครามจากสมัยอยุธยา หรือแม้แต่เครื่องถ้วยเบญจรงค์ในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งแสดงว่าเป็นชุมชนโบราณที่มีเศรษฐกิจมั่งคั่ง

 

ทั้งนี้ ชุมชนบริเวณปากอ่าวมักเป็นชุมชนประมงที่มีอุตสาหกรรมพื้นบ้านประเภทการถนอมอาหารทะเล เช่น ปลาหมึกแห้ง ปลาแห้ง ปลาเค็ม กุ้งแห้ง ซึ่งในประวัติศาสตร์ถือว่าสินค้าเหล่านี้เป็นของดีมีราคา

 

มีผู้สันนิษฐานว่า ชื่อหมู่บ้าน สงขลา เพี้ยนมาจากคำว่า สาวกล้า ซึ่งชาวสาขลาในปัจจุบันภูมิใจกับคำว่าสาวกล้ามาก มีตำนานกล่าวกันว่า ชุมชนหมู่บ้านสาขลาได้ผจญกับกองลาดตระเวนพม่าในสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งเข้ามาปล้นสะดมเพื่อหาเสบียงอาหาร โดยผู้คนในหมู่บ้านเหลือเพียงผู้หญิง เด็ก และคนแก่ เนื่องจากผู้ชายส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์ไปรบในสงคราม ปรากฏว่าบรรดาผู้หญิงในหมู่บ้านลุกขึ้นมาต่อสู้ จนสามารถขับไล่กองลาดตระเวนพม่าออกไปได้สำเร็จ ก็เป็นที่มาของชื่อชุมชนสาวกล้า แล้วจึงเพี้ยนมาเป็นสาขลา 

 

หมู่บ้านสาขลามีวัดประจำชุมชนชื่อ วัดสาขลา กล่าวกันว่าเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา พิจารณาได้จากพระพุทธรูปเก่าสมัยอยุธยาจำนวนมาก ในสมัยปลายกรุงธนบุรีมีการสร้างพระปรางค์เป็นสิ่งก่อสร้างหลักในวัด เป็นพระปรางค์ทรงชะลูดแบบสมัยปลายอยุธยาต่อถึงตอนต้นรัตนโกสินทร์ มีความสูงประมาณ 13 วา แต่ปัจจุบันพระปรางค์องค์นี้อยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรจนเอียง ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า พระปรางค์เอน เพราะปัจจุบันหมู่บ้านสาขลาประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะ เช่นเดียวกับชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ริมปากอ่าวหลายแห่ง 

หมู่บ้านสาขลามีของฝากที่ขึ้นชื่อคือ กุ้งเหยียด โดยนำกุ้งทั้งตัวนำมาต้มกับเกลือและน้ำตาล อาจจะเป็นกุ้งกะลาดำ กุ้งแชบ๊วย หรือกุ้งทะเลก็ได้ แต่จะนำตัวกุ้งมาจับให้ตรงแล้วจัดเรียงก่อนนำไปต้ม ทำให้กุ้งมีลักษณะตัวตรงสวย ซึ่งต่างจากกุ้งหวานในที่อื่นๆ ที่เป็นกุ้งตัวงอ

 

นอกจากนี้ ยังมีงานหัตถกรรมที่เรียกว่า ปูสต๊าป คือการนำปูทะเลหรือปูม้าตัวใหญ่ไปสต๊าปแห้งเพื่อทำเป็นของประดับ ของที่ระลึก หรือเอาไว้ใช้สำหรับห้องวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน และยังมีการทำ ปูรามเกียรติ์ คือการนำกระดองปูมาเขียนเป็นหน้ายักษ์หรือหน้าตัวละครในเรื่องราวรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมที่ค่อนข้างขายดี 

 

ปัจจุบัน ชาวหมู่บ้านสาขลายังคงรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนได้อย่างน่าชื่นชม ทั้งนี้ บริเวณอำเภอพระสมุทรเจดีย์ที่ต้นทางมีหมู่บ้านชาวประมงที่ทำอุตสาหกรรมเรือประมงอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะจ้างชาวพม่ามาเป็นแรงงาน จนกลายเป็นชุมชนพม่าขนาดใหญ่ ซึ่งมีปัญหาทางสังคมต่างๆ ตามมา แต่ปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้กับหมู่บ้านสาขลา อาจเป็นเพราะหมู่บ้านสาขลาเป็นเหมือนกึ่งๆ ชุมชนปิด เพราะแต่เดิมเข้าถึงได้ทางเรือเท่านั้น

 

แม้ว่าในปัจจุบันที่มีถนนเข้าไปถึงหมู่บ้านแล้ว แต่ว่าหมู่บ้านสาขลาก็มีองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีประสิทธิภาพ และพยายามที่จะพัฒนาดูแลรักษาความบริสุทธิ์ของความเป็นหมู่บ้านดั่งเดิมให้ยังคงอยู่ต่อไป นอกจากนี้ยังได้เผยแพร่ชื่อเสียงและความน่าสนใจของหมู่บ้านไปยังนักท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าหมู่บ้านสงขลายังได้รับการอนุรักษ์ได้ดีอย่างยิ่ง

อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

วันที่ออกอากาศ: 9 มีนาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

อำเภอสามโคก เดิมเคยเป็นศูนย์กลางของจังหวัดปทุมธานีมาก่อน จึงมีความน่าสนใจทางประวัติศาสตร์ให้ได้ทัศนศึกษาและเที่ยวชมร่องรอยของอดีต

 

ในนิราศภูเขาทองซึ่งเป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สุนทรภู่ประพันธ์ขึ้นในช่วงต้นรัชกาลที่ 3 ขณะเดินทางไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง ซึ่งต้องนั่งเรือผ่านบริเวณเมืองสามโคก ก็คิดถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ปรากฏเป็นความว่า

 

ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า

พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี

ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว
โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง

แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว
โอ้เรานี้สุนทรประทานตัว

ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ

 

ในเวลานั้นเมืองสามโคกได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่าเมืองปทุมธานี เดิมเป็นที่ตั้งของชุมชนมอญที่อพยพจากสงครามมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ 2 ก็มีเหตุให้ชาวมอญต้องอพยพครั้งใหม่มาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารอีกครั้ง จึงโปรดเกล้าให้จัดแบ่งครอบครัวมอญไปอาศัยอยู่เมืองต่างๆ รวมถึงเมืองสามโคก

 

มีหลักฐานว่าเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ไปประทับแรมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดปทุมทอง ได้ทอดพระเนตรเห็นดอกบัวหลวงบานสะพรั่งอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำของเมืองสามโคก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนามแก่เมืองสามโคกให้เป็นสิริมงคลว่าเมืองประทุมธานี ภายหลังจึงเปลี่ยวตัวสะกดเป็น ปทุมธานี

 

ด้วยความที่สามโคกเป็นเมืองเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น จึงมีชุมชนตั้งรกรากมาโดยตลอด มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมมอญที่มีพื้นฐานจากการนับถือพระพุทธศาสนาเหมือนกัน ในเขตอำเภอสามโคกจึงมีจำนวนวัดพุทธมากขึ้น 48 แห่ง ยังไม่รวมวัดร้างจำนวนราวๆ 10 แห่ง เรียกว่าเหมือนกับเมืองอยุธยาน้อยๆ ที่มีซากวัดโบราณจำนวนมากที่น่าตื่นตาตื่นใจ

 

วัดที่มีความสำคัญ ได้แก่ วัดสิงห์ สร้างจากจิตศรัทธาของชาวมอญ วิหารมีลักษณะสถาปัตยกรรมอยุธยาตอนปลาย มีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ รวมถึงพระแท่นบรรทมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสมัยที่เสด็จประพาสเมืองสามโคก และมีการจัดแสดงอิฐมอญโบราณ รวมทั้งมีโรงทำอิฐที่เป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้านของชาวบ้านมอญ 

 

วัดเจดีย์ทอง สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีพระเจดีย์ทรงมอญหรือทรงรามัญอายุประมาณ 160 ปีเป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น และมีพระพุทธรูปหยกขาวปางมารวิชัยซึ่งเป็นพระพุทธรูปแบบมอญ วัดนี้ถือเป็นวัดสำคัญในอำเภอสามโคกเป็นสถานที่จัดงานประเพณีต่างๆ ของชาวไทยมอญ

 

วัดป่างิ้ว เป็นวัดที่รวมเอาวัดร้าง 2 แห่ง ได้แก่ วัดพญาเมือง และวัดนางหยาด วัดพญาเมืองเคยเป็นศูนย์กลางของเมืองสามโคกเดิมตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ปัจจุบันเสนาสนะส่วนใหญ่ในวัดเป็นของสร้างใหม่ แต่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถที่น่าชมมาก เป็นจิตรกรรมฝาผนังแบบไทยประยุกต์ รวมถึงซากโบราณสถานของวัดพญาเมืองกับวัดนางหยาด

 

ปัจจุบัน ชุมชนมอญสามโคก ถือเป็นชุมชนมอญใหญ่แห่งหนึ่งในเขตภาคกลางของไทย ซึ่งยังคงดำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมมอญอยู่ในเขตอำเภอสามโคก และมีความใกล้ชิดกับชุมชนมอญในเกาะเกร็ด จังหวัดนนทุบรี เนื่องจากมีเชื้อสายเดียวกัน

การชุมนุมล้มอำนาจรัฐในสมัยโบราณ

วันที่ออกอากาศ: 16 กุมภาพันธ์ 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

การชุมนุมต่อต้านอำนาจรัฐ ปรากฏในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย คือการระดมผู้คนมาชุมนุมโดยมีวัตถุประสงค์ในการยุติ ล้มล้าง เปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐ หรือเปลี่ยนขั้วอำนาจการปกครองจากกลุ่มอำนาจเดิมไปสู่กลุ่มผู้ต่อต้าน

 

ในสมัยโบราณความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่ความไม่พอใจในตัวกษัตริย์ มักเป็นปัญหาความขัดแย้งในกลุ่มบุคคลชั้นปกครอง กลุ่มเจ้านาย หรือกลุ่มขุนนาง ซึ่งมักมีความไม่ลงรอยในการจัดสรรทรัพยากร

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกณฑ์แรงงานในสังคมยุคจารีตที่มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอำนาจรัฐอย่างมาก ทั้งในเรื่องกำลังพลในการทัพ และแรงงานในก่อสร้างอาคารสถานสำคัญ สาธารณูปโภคต่างๆ ในเมือง

 

กระบวนการชิงอำนาจจำเป็นต้องผ่านการล้มอำนาจเดิม โดยการระดมผู้คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรผู้ชายมาชุมนุมพลกลายเป็นกองกำลังติดอาวุธหรือทหาร เพื่อรบพุ่งกับฝ่ายที่ตนเองต้องการล้มอำนาจ 

 

มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรปรากฏในศิลาจารึกยุคสุโขทัย โดยเฉพาะจารึกวัดป่ามะม่วง กล่าวถึง ความวุ่นวายจากการชิงอำนาจหลังรัชสมัยพระยาเลอไท พระมหาธรรมราชาลิไทต้องเสด็จเข้ามาระงับการจลาจลโดยอ้างความชอบธรรมในฐานะพระมหาอุปราช จึงทรงระดมไพร่พลจากเมืองศรีสัชนาลัยเข้ามาตีเมืองสุโขทัยจนทรงได้รับอำนาจการปกครอง ภายหลังทรงใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสถานะของพระองค์ในฐานะกษัตริย์แบบธรรมราชา 

 

ในสมัยอยุธยาที่มีช่วงระยะเวลายาวนานกว่า 4 ศตวรรษ ก็มีเหตุขัดแย้งในชนชั้นปกครองอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอาณาจักรอยุธยาเกิดจากการรวมของนครรัฐเดิม 3 นคร คือ สุพรรณภูมิ อโยธยา และละโว้ ซึ่งผนวกรวมเข้าด้วยกันบนพื้นฐานความสัมพันธ์ทางเครือญาติจากการอภิเษกสมรสข้ามราชวงศ์ จึงมักเกิดเหตุความขัดแย้งทางการเมือง

 

โดยเฉพาะช่วงการเปลี่ยนผ่านรัชกาลที่ต่างฝ่ายต่างอ้างความชอบธรรมในการเป็นผู้ถืออำนาจการปกครองของรัฐ อาทิ เหตุการณ์เมื่อสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทอง มีความขัดแย้งระหว่างสมเด็จพระราเมศวร เจ้านายฝั่งอู่ทอง กับขุนหลวงพระงั่ว เจ้านายฝั่งสุพรรณภูมิ

 

หรือเมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงกระทำการต่อต้านสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา ซึ่งเป็นพระเจ้าอา พระองค์ต้องทรงระดมพลแม้กระทั่งชาวต่างชาติ โดยเฉพาะแขกเปอร์เซีย แขกมัว มาเป็นกำลังสำคัญ จนได้รับชัยชนะและทรงสามารถขึ้นครองราชย์ได้สำเร็จ

 

นอกจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนชั้นนำ ยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงกรณีชนชั้นระดับไพร่บ้านพลเมืองลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจรัฐในสมัยอยุธยา ที่เราเรียกว่าเหตุการณ์กบฏต่างๆ อาทิ กบฏธรรมเสถียรในสมัยพระเพทราชา ด้วยเกิดความไม่พอใจในอำนาจรัฐของราชวงศ์บ้านภูหลวง โดยมีนายธรรมเสถียรซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาปลอมตัวเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ พระญาติของสมเด็จพระนารายณ์ เพื่ออ้างความชอบธรรมในการสืบต่อราชบัลลังก์ มีการระดมพลจากชาวบ้านตามชานเมืองอยุธยา

 

หรือกรณี กบฏผู้มีบุญต่างๆ ที่มักใช้เหตุการณ์ทางพระพุทธศาสนามาอ้างอิงตัวว่าเป็นผู้นำที่จะสิ้นสุดกลียุคและนำไปสู่ยุคพระศรีอารย์ที่ประเสริฐกว่า เพื่อสร้างความชอบธรรมในการระดมชาวบ้านต่อต้านอำนาจรัฐ

 

จึงเห็นได้ว่าการชุมชนต่อต้านอำนาจรัฐในสมัยโบราณแตกต่างจากการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบัน  ด้วยในทัศนะคนโบราณ กษัตริย์คือผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองของรัฐแบบสมบูรณาญาสิทธิ์ เมื่อเกิดความไม่พอใจหรือมีความขัดแย้งกับองค์อธิปัตย์ของรัฐ จึงมักนำไปสู่การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวผู้ปกครอง  

 

ส่วนการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบัน เป็นแนวคิดที่ใหม่ที่นำมาจากโลกตะวันตก ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี 2435 ไปแล้ว ซึ่งอาจเป็นการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องบางอย่าง โดยไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครองก็ได้

จากเลกวัดสู่เด็กวัด

วันที่ออกอากาศ: 2 กันยายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ตามพระธรรมวินัยแล้ว พระสงฆ์ไม่อาจมีบทบาทเป็นผู้ทำมาหาเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเอง จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรที่เป็นฆราวาสกลุ่มหนึ่งเข้ามาอาศัยในวัดเพื่อช่วยดูแลความเป็นอยู่ของพระสงฆ์

 

ในประวัติศาสตร์ของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ตั้งแต่อินเดีย ลังกา จนมาถึงภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และไทย พบว่าในสมัยโบราณ เวลาที่กษัตริย์หรือผู้นำที่มีบุญบารมีในสังคมจะสร้างวัดวาอารามต่างๆ เพื่อเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจและที่จำพรรษาของพระสงฆ์ ก็จำเป็นต้องมีการอุทิศถวายคนกลุ่มหนึ่งเพื่อทำหน้าที่บางอย่างในวัดแทนพระสงฆ์ที่ถูกจำกัดด้วยพระธรรมวินัย

 

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อาทิ จารึก จดหมายเหตุ พงศาวดาร ปรากฏชื่อกลุ่มบุคคลเหล่านี้ซึ่งมีอยู่หลายลักษณะได้แก่ เลกวัด โยมวัด ข้าพระ ข้าวัด ศิษย์วัด ศิษย์โยม เป็นต้น โดยสามารถจำแนกกลุ่มคนเหล่านี้ตามสถานภาพและหน้าที่ได้ ดังนี้

 

เลกวัด คำว่า เลก นี้มาจากคำว่า สักเลก หมายถึงการทำเครื่องหมายที่ข้อมือของชายฉกรรจ์ที่ถูกเกณฑ์แรงงานในระบบไพร่ของไทยสมัยศักดินา พระธรรมกิติวงศ์ราชบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดราชโอรสารามได้อธิบายคำว่าเลกวัดไว้ในพจนานุกรมคำวัด ว่าหมายถึงชายฉกรรจ์ที่พระมหากษัตริย์พระราชอุทิศให้เป็นข้าใช้สอยในวัด ซึ่งเดิมเป็นไพร่หลวงหรือไพร่สมในระบบการเกณฑ์แรงงานไพร่

 

การพระราชทานเลกวัดเป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างวัดใหม่ของราชสำนัก ซึ่งเป็นธรรมเนียมมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลที่เรียกว่า การกัลปนา คือการที่พระมหากษัตริย์อุทิศทรัพยากรต่างๆ เช่น กำลังคน พื้นที่ ที่ดิน ข้าวปลาอาหาร หรือทรัพย์สินมีค่าต่างๆ ให้กับศาสนสถาน โดยกำลังคนเหล่านี้จะมีหน้าที่รับใช้และดูแลความเป็นอยู่ของพระภายในวัด อาทิ การทำความสะอาด การซ่อมบำรุงอาคารสิ่งของต่างๆ รวมถึงการทำเกษตรเพื่อนำผลผลิตมาเป็นอาหารเลี้ยงพระและแรงงานในวัด

 

ข้าพระ มีหน้าที่รับใช้และดูแลพระภายในวัดเช่นเดียวกับเลกวัด แต่มีความแตกต่างกันของสถานภาพที่มา โดยข้าพระในสมัยโบราณคือ ทาส ซึ่งมีฐานะต่ำกว่าไพร่ เมื่อเจ้านาย ขุนนาง หรือคณหดีผู้มีฐานะสร้างวัดวาอารามก็มีธรรมเนียมในการอุทิศสิ่งจำเป็นต่างๆ แก่วัดตามธรรมเนียมหลวง ซึ่งรวมถึงการถวายทาสในเรือนให้เป็นแรงงานสำหรับวัดด้วย

โยมสงฆ์ อาจเรียกอีกอย่างว่า โยมวัด ศิษย์โยม หรือศรัทธา ไม่ได้มีสถานภาพเป็นสมบัติของวัดตามระบบไพร่หรือทาส แต่เป็นคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบริเวณรอบวัดแล้วมีจิตศรัทธาในการช่วยเหลือหรืออุปถัมป์วัด เนื่องจากมีความศรัทธาในปูชนียวัตถุของวัด หรือนับถือพระเถระที่เป็นเจ้าอาวาส หรือมีความผูกพันของวัดหรือพระสงฆ์ในวัดมาตั้งแต่อดีต

 

จึงอาสาช่วยเหลือกิจการของวัดในทางใดทางหนึ่ง รวมถึงการดูแลผลประโยชน์ของวัด ซึ่งตามพระวินัยแล้ว พระสงฆ์ไม่สามารถจับต้องหรือเก็บทรัพย์สินเงินทองได้ จึงจำเป็นต้องให้ฆราวาสเข้ามาช่วยดูแลรักษาและบริหารเงินบริจาคของวัด

 

การถวายแรงงานในธรรมเนียมกัลปนาถูกยกเลิกในเวลาต่อมา เนื่องจากระบบเกณฑ์แรงงานไพร่และระบบทาสเริ่มเสื่อมคลายลง จนมาถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้ไม่มีแรงงานไพร่หรือทาสสำหรับอุทิศถวายแก่วัด

 

อย่างไรก็ตาม บุคลากรฆราวาสที่ทำหน้าที่ดูแลรับใช้พระสงฆ์หรือช่วยเหลือกิจกรรมด้านต่างๆ ก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับวัด ซึ่งต่อมาโยมสงฆ์ข้าพระได้กลายสถานภาพมาเป็น เด็กวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กกำพร้าหรือเด็กยากจนที่วัดอุปการะไว้ รวมถึงโยมสงฆ์ที่เปลี่ยนมาเรียกว่า ไวยาวัจกร หรือ มรรคนายก ซึ่งทำหน้าดูแลรักษาผลประโยชน์และบริหารจัดการทรัพย์สินต่างๆ ของวัด

เดินสวนเดินนา

วันที่ออกอากาศ: 16 กันยายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ในช่วงสมัยกรุงธนบุรี มาจวบจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงที่ราชสำนักไทยพยายามฟื้นฟูบ้านเมือง ภายหลังจากการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา จึงจำเป็นต้องมีการจัดเก็บรายได้เข้าท้องพระคลังให้มากขึ้น เพื่อใช้ในงานราชการต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การก่อร่างสร้างตัวของราชธานีแห่งใหม่ให้เป็นหลักเป็นฐาน

 

แต่เนื่องจากการจัดเก็บภาษีตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันมาในสมัยอยุธยาเริ่มไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย ราชสำนักจึงพยายามแสวงหารายได้ใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น รายได้การค้าสำเภาจีนซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเอง ภาษีจากเรือสินค้าที่เรียกว่าภาษีอากรจังกอบ การเก็บภาษีแทนการเกณฑ์แรงงาน เป็นต้น

 

ในสมัยรัชกาลที่ 2 ภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงครองราชย์ครบ 3 ปี ทรงมีแนวคิดการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ที่เรียกว่า การเดินสวนเดินนา ซึ่งเป็นภาษีที่เก็บจัดเก็บตามจำนวนผลผลิตที่ประเมินได้จากที่สวนไร่นาของราษฎร

 

ทรงมีพระราชวินิจฉัยภายหลังจากการย้ายการราชธานีมาอยู่ที่บางกอกว่า นอกจากการขยายพื้นที่ของที่นาสมัยกรุงธนบุรีแล้ว บริเวณโดยรอบราชธานีมีการทำไร่สวนผลไม้อยู่หนาแน่น ซึ่งชาวสวนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างล้วนแล้วแต่มีฐานะเป็นคหบดีทั้งสิ้น  

 

สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลพระทัยสำหรับการจัดเก็บอากรภาษีจากไร่สวนและที่นาต่างๆ ไม่ให้รั่วไหล โดยเฉพาะภาษีเดินสวนซึ่งมีอัตราจัดเก็บสูงกว่าภาษีเดินนา เนื่องจากชาวสวนมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า 

 

ภาษีเดินสวน เป็นการส่งข้าหลวงออกไปสำรวจและรังวัดพื้นที่สวนของราษฎร ซึ่งจะเก็บภาษีตามจำนวนต้นของไม้ผล โดยมีอัตราจัดเก็บแตกต่างไปตามชนิดของผลไม้ที่ปลูก สามารถแบ่งอากรได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

 

– อากรสวนใหญ่ มีอัตราภาษีสูงที่สุด จัดเก็บจากผลไม้ยืนต้นชั้นดี ซึ่งมีทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด มะม่วง มะปราง ลางสาด หมาก และพลูค้างทองหลาง โดยทุเรียนมีอัตราการจัดเก็บภาษีสูงที่สุดถึงต้นละ 1 บาท ซึ่งถือเป็นอัตราที่แพงมากเมี่อเปรียบเทียบกับข้าวที่มีราคาไร่ละ 1 สลึงในเวลานั้น

 

– อากรพลากร จัดเก็บภาษีจากไม้ยื่นต้นที่มีลำดับชั้นรองลงมา มีทั้งหมด 8 ชนิด ได้แก่ ขนุน สะท้อนหรือกระท้อน  เงาะ ส้ม มะไฟ ฝรั่ง สับปะรด และสาเก

 

– อากรสมพัตสร จัดเก็บจากผลไม้ล้มลุกมีทั้งหมด 2 ชนิด ได้แก่ กล้วย และ อ้อย

 

ภาษีเดินนา มีการส่งข้าหลวงออกไปสำรวจรังวัดพื้นที่นาของราษฎร โดยจัดเก็บภาษีตามประเภทของนา ดังนี้

 

– นาท่า หรือ นาคู่โค คือนาที่ปลูกข้าวได้ปีละหลายครั้งโดยอาศัยน้ำท่าจากแม่น้ำลำคลอง มีการจัดเก็บภาษีเป็นหางข้าวซึ่งเป็นผลผลิตส่วนเกินจากนาข้าวในแต่ละแปลง โดยประเมินจำนวนผลผลิตจากการนับจำนวนโคหรือกระบือที่ชาวนาใช้ทำนา สำหรับนาท่านี้ แม้ว่าจะไม่ได้ผลผลิตในปลายปี ชาวนาก็ยังต้องเสียภาษีหางข้าวเพราะว่าได้ใช้ทรัพยากรของหลวงคือน้ำท่าแล้ว

 

– นาฟางลอย หรือ นาดอน คือนาที่ปลูกโดยอาศัยน้ำฝน จัดเก็บภาษีตามจำนวนตอฟางข้าวภายหลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว หากในปีใดไม่ได้ผลผลิตก็ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

 

ภาษีเดินสวนเดินนานั้น ใช้มาจนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 จึงทรงปรับเปลี่ยนระบบการเก็บภาษีอากรตามแนวคิดสมัยใหม่ ต่อมาได้พัฒนาปรับปรุงจนกลายมาเป็นพระราชบัญญัติอย่างในทุกวันนี้

เศรษฐกิจสมัยกรุงธนบุรี

วันที่ออกอากาศ: 28 ธันวาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

หากกล่าวถึงประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรี แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 15 ปี แต่ก็มีเหตุการณ์และประเด็นต่างๆ ที่นักประวัติศาสตร์ศึกษาและถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่อง

 

ในปัจจุบันการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงธนบุรีนั้นมีวิวัฒนาการและค้นพบหลักฐานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ช่วยให้นักวิจัยสามารถนำไปใช้ศึกษาและผลิตเป็นงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ได้อย่างมากมาย

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งซึ่งมักถูกละเลยมองข้ามในการศึกษาวิจัยอยู่เสมอ ก็คือประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ  

 

จิราธร ชาติศิริ ได้เขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2547 เรื่องเศรษฐกิจสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจและเป็นประเด็นทางด้านเศรษฐกิจที่ถูกละเลยมานานสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงธนบุรี

 

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้มีผู้นำไปอ้างอิงและต่อยอด เสมือนเป็นการริเริ่มและสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาวิจัยประเด็นดังกล่าวในเวลาต่อมา

 

เศรษฐกิจในสมัยกรุงธนบุรี ต้องพิจารณาในเบื้องต้นว่าอยู่ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองเพิ่งฟื้นตัวจากภัยสงคราม หลังจากการล่มสลายของพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจการปกครองและความมั่งคั่งมากอย่างยาวนาน ทำให้ราชอาณาจักรสยามสูญเสียปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจในทันที

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านกำลังคน คนในวัยฉกรรจ์จำนวนมากถูกกวาดต้อนไปกรุงอังวะ อีกจำนวนหนึ่งหนีกระจายเข้าไปในป่าหรือไปร่วมกลุ่มผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นตามส่วนภูมิภาค ซึ่งในที่สุดได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นเจ้าชุมนุมหรือเจ้าก๊ก ทำให้ทรัพยากรมุนษย์ซึ่งเป็นกำลังการผลิตทางเศรษฐกิจนั้นหายไปจากระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมการปลูกข้าวในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้หยุดชะงักไปเป็นเวลากว่า 10 ปี

 

เมื่อไม่มีการปลูกข้าว บ้านเมืองจึงเข้าสู่ภาวะข้าวยากหมากแพง แม้สมเด็จพระเจ้าตากสินฯทรงเอาชนะและขับไล่กองทัพพม่าออกไปจากอยุธยาได้ภายในเวลา 10 เดือน แต่ทรงพบว่าคุณภาพชีวิตของประชากรที่ตกต่ำลงอย่างมาก เต็มไปด้วยผู้คนอดตาย จึงทรงตัดสินพระทัยย้ายศูนย์กลางอำนาจลงมายังเมืองธนบุรี ซึ่งมีความพร้อมและมีขนาดเล็กพอที่กองกำลังของพระองค์จะดูแลได้

 

ทรงรวบรวมและอพยพผู้คนเข้ามาในกรุงธนบุรี และระดมสรรพกำลังทุกด้านเพื่อพื้นฟูกิจกรรมการปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงดูผู้คน ทรงขยายพื้นที่ทำนาทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก และมีพระราชดำริให้ข้าราชการออกไปช่วยทำนา แต่ข้าวที่ผลิตได้ในช่วงนั้นไม่เพียงพอ จำเป็นต้องซื้อข้าวมาจากจีนเพื่อแจกจ่ายราษฎร ขณะเดียวกันก็ต้องนำเข้าเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นๆ ทั้งจากจีนและชาติตะวันตก

 

ทรงมีพระราโชบายทำให้กรุงธนบุรีมีสถานะเป็นเมืองท่า โดยชักชวนให้สำเภาจีนก็ดี เรือบริษัทการค้าตะวันตกก็ดีเข้ามาขายสินค้าเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ทำให้ราคาสินค้าถูกลงจนในที่สุดสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องความอดอยากขาดแคลน

 

สำหรับการฟื้นฟูท้องพระคลังซึ่งสัมพันธ์กับอำนาจการซื้อนั้น ทรงมีนโยบายให้ขุดหาสมบัติจากเมืองเก่าที่ราชสำนัก ขุนนาง ราษฎร ในราชสำนักอยุธยาฝังซ่อนกองทัพพม่า โดยให้สัมปทานการขุดสมบัติเพื่อไปประมูลขายพ่อค้าชาวจีน แล้วเก็บเป็นภาษีเข้าท้องพระคลังเป็นเงินหมุนเวียน ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญในเวลานั้น

 

ส่วนรายจ่ายสำคัญของของราชสำนักธนบุรี ลำดับแรกเป็นเรื่องการบำรุงปากท้องของประชาชนก่อน ต่อมาคือค่าใช้จ่ายในการศึกสงครามที่ยังคงต้องรบต่อเนื่องกับพม่า เรื่องที่สามคือการฟื้นฟูและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์

 

ท้ายที่สุดแล้วกรุงธนบุรีสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง เห็นได้ว่าในยุครัตนโกสินทร์ฐานะการคลังของราชสำนักในรัชกาลต่อๆ มาได้ฟื้นฟูไปในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการค้าสำเภามีผลช่วยให้ภาวะขาดเงินคงคลังบรรเทาขึ้นมาได้มาก จนสามารถคลี่คลายปัญหาได้ในสมัยรัชกาลที่ 2

สินค้านำเข้าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

วันที่ออกอากาศ: 30 กันยายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ปัจจุบันคนไทยสามารถหาซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเพื่อใช้อุปโภคบริโภคได้อย่างสะดวกสบาย สินค้านำเข้าเหล่านี้มีอยู่มากมายหลายประเภทและหลากหลายราคาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนในทุกระดับชั้น แต่ในอดีตนั้น สินค้านำเข้าจากต่างประเทศถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและมีราคาสูง จึงจำกัดวงผู้บริโภคแต่เฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูงในสังคมไทยเท่านั้น

 

กล่าวได้ว่าสินค้าจากต่างประเทศในสมัยอยุธยาก็ดี รัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ดี ได้สั่งเข้ามาเพื่อตอบสนองต่อวัฒนธรรมการบริโภคของกลุ่มชนชั้นสูง ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านาย ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนคหบดีที่มีฐานะมั่งคั่ง 

 

กระบวนการของการค้าขายระหว่างประเทศ คือการแลกเปลี่ยนค้าขายสินค้าระหว่างกันและกัน โดยทั่วไปแล้วมักส่งออกสินค้าที่สามารถผลิตในประเทศได้จำนวนมาก และนำเข้าสินค้าที่ไม่สามารถผลิตได้เอง ซึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น สินค้าส่งออกของไทยจะเป็นผลิตผลทางการเกษตรและสินค้าจากป่าเป็นส่วนใหญ่

 

สำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศก็มีทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ผลไม้ชนิดต่างๆ ถ้วยชามเครื่องกระเบื้อง เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าสินค้าต่างๆ เหล่านี้บางส่วนจะเป็นของประเภทเดียวกับที่ผลิตได้เองในประเทศ แต่สินค้าเหล่านี้มักมีคุณภาพดีกว่าของในประเทศ โดยใช้เทคนิควิธีการผลิตขั้นสูงกว่าที่ผลิตกันในประเทศ สินค้าเหล่านี้จึงเป็นของดีมีราคาและเป็นที่นิยมเฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูงที่มีฐานะมั่งคั่งพอในการหาซื้อมาบริโภคได้

 

โดยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นิยมนำเข้าสินค้ามาจากกลุ่มประเทศต่างๆ ได้แก่ กลุ่มเอเชียตะวันออก คือ จีนและญี่ปุ่น กลุ่มเอเชียใต้หรืออนุทวีปอินเดีย กลุ่มเอเชียตะวันตก คือ เปอร์เซียหรืออิหร่านในปัจจุบัน รวมถึงประเทศอาหรับในคาบสมุทรอาราเบีย และสุดท้ายกลุ่มประเทศในยุโรป 

 

สินค้านำเข้าในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทั้งที่เป็นสินค้าบริโภคซึ่งหมายถึงอาหารและของกินต่างๆ และสินค้าอุปโภคหรือข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ นั้น มีอยู่มากมายหลายชนิดซึ่งแตกต่างไปตามกลุ่มประเทศที่นำเข้ามา

 

สินค้าบริโภคมักนิยมนำเข้ามาจากประเทศในเอเชียตะวันออก ซึ่งมีวัฒนธรรมของอาหารการกินใกล้เคียงกัน โดยนิยมนำเข้าผลไม้แห้งจากจีน เช่น ลูกพลับ ลูกไหน ลิ้นจี่ดอง เป็นต้น จากเนื้อความในกาพย์แห่ชมเครื่องคาวหวานก็พบว่ามีสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นที่เป็นเครื่องหมักจากถั่วเหลืองหรือปลาอย่างเช่นซอสโชยุ

 

ในกลุ่มอนุทวีปอินเดียและเอเชียตะวันตกมีสินค้านำเข้ามาจำพวกเครื่องเทศต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องประกอบของแกง รวมถึงถั่วชนิดต่างๆ เช่น ถั่วทอง ถั่วสีชมพู เป็นต้น 

 

สำหรับสินค้าอุปโภค ส่วนใหญ่เป็นของใช้ฟุ่มเฟือยเพื่อเสริมบารมีหรือแสดงความมั่งคั่งหรูหราของผู้ใช้สินค้าเหล่านั้น โดยสินค้าอุปโภคไทยที่นำเข้ามาจากประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออก ได้แก่ ผ้าไหมและผ้าแพรจากจีน ซึ่งเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงในด้านเทคนิคการผลิตและคุณภาพของเส้นไหม โดยเฉพาะผ้าแพรของจีนมีคุณลักษณะเด่นเรื่องความเบาของเนื้อผ้าใส่แล้วเย็นสบาย จึงเป็นที่นิยมในราชสำนักใช้เป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่ม รวมถึงทำเป็นผ้าไตรจีวรสำหรับถวายพระเถระผู้ใหญ่

 

สินค้าจากจีนยังมีเครื่องถ้วยชามกระเบื้อง ซึ่งเป็นแม่แบบของเครื่องถ้วยชามสวยงามในราชสำนักไทย รวมถึงภาพวาดพงศาวดารจีนหรือภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ ส่วนสินค้านำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องเขิน ซึ่งมีการเขียนลวดลายด้วยมืออย่างประณีต นิยมใช้เป็นเครื่องบรรณาการส่งไปยังราชสำนักต่างประเทศ รวมถึงฉากและพัดแบบญี่ปุ่น  

 

นอกจากนี้ ยังนิยมนำเข้าพรม เครื่องสำอาง น้ำหอม น้ำอบต่างๆ จากประเทศในกลุ่มอนุทวีปอินเดียและเอเชียตะวันตก และยังนิยมนำเข้าเครื่องแก้วเจียระไน โคมไฟแก้วที่เรียกว่าแชนเดอเรีย กรอบรูป จากกลุ่มประเทศในยุโรปอีกด้วย

150 ปี ปฐมบรมราชินีนาถ

วันที่ออกอากาศ: 12 มกราคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ในปีพุทธศักราช 2556 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศสดุดีพระเกียรติคุณยกย่องให้ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง เป็นบุคคลสำคัญของโลก

 

และในปีพุทธศักราช 2557 รัฐบาลไทยประกาศให้เป็นปีฉลอง 150 ปี พระบรมราชสมภพ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา-บรมราชินีนาถฯ สืบเนื่องจากการประกอบพระราชกรณียกิจที่เป็นคณูปการเอนกอนันต์ต่อบ้านเมือง จึงถือเป็นปีแห่งการฉลอง 150 ปี ปฐมบรมราชินีนาถ

พระบรมราชินีนาถ คือ สมเด็จพระราชินีที่ได้รับการโปรดแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนองค์พระมหากษัตริย์ เกิดขึ้นครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2440 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปเป็นครั้งแรก ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระนามเดิมของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

 

ซึ่งในประวัติศาสตร์ไทยมีประกาศพระราชโองการแต่งตั้งพระบรมราชินีนาถเพียง 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงดำรงตำแหน่งผู้รักษาราชการแทนพระองค์อยู่นานร่วมปี ทรงมีส่วนร่วมในกระบวนการปรึกษาราชการแผ่นดิน ทรงออกความคิดเห็น ตลอดจนทรงตัดสินใจการบริหารกิจการบ้านเมืองตามบทบาทที่ได้รับอย่างเหมาะสม

 

หากเป็นกรณีเรื่องสำคัญมากๆ ก็ทรงปรึกษาคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก่อน หากตัดสินใจกันไม่ได้จึงมีพระราชโทรเลขไปยุโรปเพื่อขอพระราชดำริในเรื่องนั้น ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเวลานั้นดำเนินการได้อย่างลุล่วงด้วยดี 

 

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ยังทรงมีบทบาทในการเป็นประมุขฝ่ายใน มีหน้าที่ดูแลพระบรมวงศานุวงศ์เปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัวในเขตพระราชฐานชั้นใน และมีบทบาทในการพัฒนาสังคมในฐานะผู้นำการพัฒนาสตรีสมัยใหม่ในยุคปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัย

 

เช่นในปีพุทธศักราช 2436 ในวิกฤตการณ์ รศ.112 ที่มีความขัดแย้งกับฝรั่งเศส การรบครั้งนั้นทำให้มีทหารและประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริจัดตั้งสภาอุณาโลมแดงตามลักษณะสภากาชาดสากล โดยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีเมื่อได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถแล้วทรงรับตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทยจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 

 

ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการพัฒนาสถานศึกษาในประเทศ แต่ทรงเน้นบทบาทในการพัฒนาโรงเรียนสำหรับสตรี ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ในการก่อตั้งโรงเรียนสตรีในช่วงปลายทศวรรษ 2440 ได้แก่ โรงเรียนบำรุงวิชา โรงเรียนราชินี โรงเรียนสุนันทาลัย (ต่อมาใช้ชื่อว่า โรงเรียนราชินีล่าง) ทรงรับพระราชภาระเป็นผู้จัดการโรงเรียนด้วยพระองค์เอง

 

ในส่วนภูมิภาคยังทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ให้กระทรวงธรรมการ กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งโรงเรียนสตรีในจังหวัดต่างๆ เช่น โรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐม โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ จังหวัดอยุธยา โรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรัง โรงเรียนสตรีราชินูทิศ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งถือเป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด

 

นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าให้สร้างโรงเรียนนางผดุงครรภ์และนางพยาบาลขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนราชแพทยทยาลัย ซึ่งปัจจุบันคือคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บริเวณโรงพยาบาลศิริราช ด้วยทรงเห็นความจำเป็นในสร้างบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

รัชกาลที่ 2 กับจังหวัดปทุมธานี

ความรักและความอาทรที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ต่อพสกนิกรนั้น ไม่ได้ทรงมีแต่เฉพาะชาวไทยซึ่งเป็นราษฎรในขอบขันทสีมาเท่านั้น ยังทรงแสดงความอาทรต่อกลุ่มคนต่างชาติพันธุ์ซึ่งอพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมพาร

 

โดยเฉพาะครอบครัวชาวมอญกว่า 40,000 คน ที่อพยพมาตั้งรกรากในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง บริเวณจังหวัดปทุมธานี เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ จนในที่สุดได้กลายเป็นราษฎรไทยภายใต้พระบารมีและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและสังคมไทยสืบต่อมา

 

ในช่วงต้นรัชกาลที่ 2 ประมาณปีพุทธศักราช 2358 มีการอพยพของครอบครัวชาวมอญจากเมืองเมาะตะมะทางตอนใต้ของพม่า ซึ่งเป็นอาณาบริเวณของชุมชนชาวมอญ เนื่องจากการคุกคามจากกองทัพพม่าในราชวงศ์คองบอง ทำให้ สมิงรามัญ ผู้นำชุมชนของเมืองเมาะตะมะนำชาวเมืองกว่า 40,000 คนหนีอพยพเข้ามาในดินแดนสยาม

 

รัชกาลที่ 2 ทรงยินดีต้อนรับเนื่องจากเป็นการเพิ่มกำลังคนหรือแรงงานซึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ จึงโปรดเกล้าฯให้จัดกองทัพจากกรุงเทพฯ ไปรับครัวมอญที่ด่านพระเจดีย์สามองค์ และมีพระราชดำริให้ครัวมอญไปอาศัยอยู่ที่ สามโคก หรือบริเวณจังหวัดปทุมธานีในปัจจุบัน ซึ่งมีชุมชนมอญอาศัยอยู่สืบมาตั้งแต่สมัยอยุธยา รวมถึงบริเวณเกาะเกร็ด และพระประแดงในปัจจุบัน ภายหลังทรงยกเมืองสามโคกขึ้นเป็นเมืองชั้นตรีเนื่องจากมีประชากรเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

 

ตามบันทึกไว้ที่พระราชพงศาวดาร ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ชุมชนมอญอพยพเป็นอย่างยิ่ง กล่าวว่าในเดือน 11 ของปีนั้น พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการจัดสรรที่ตั้งชุมชนมอญ ทรงสร้างพลับพลาและประทับแรมที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกเยื้องกับเมืองสามโคก บริเวณวัดปทุมทองซึ่งอยู่ในตัวอำเภอเมืองปทุมธานีในปัจจุบัน

 

โปรดเกล้าให้ผู้แทนชุมชนพาครัวเรือนมอญมาเข้าเฝ้า โดยชาวชุมชนได้ทูลถวายดอกบัวที่เก็บมาจากท้องทุ่งในเมืองสามโคก ซึ่งเต็มไปด้วยดอกบัวชนิดต่างๆ บานสะพรั่งในช่วงฤดูน้ำหลาก ด้วยเหตุนี้ ภายหลังจึงได้พระราชทานชื่อใหม่ให้แก่เมืองสามโคกเมื่อครั้งทรงยกขึ้นเป็นหัวเมืองชั้นตรีแล้วว่า เมืองประทุมธานี ดังปรากฎความอยู่ในนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่

 

ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า

พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี

ชื่อประทุมธานีเพราะมีบัว

 

ทรงมีพระบรมราชโองการยกสามโคกขึ้นเป็นเมืองตรี ชื่อเมืองประทุมธานี เป็นทางการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ปีพุทธศักราช 2358 ปัจจุบันจังหวัดปทุมธานีจึงถือว่าวันนี้เป็นวันเฉลิมฉลองการสถาปนาจังหวัด ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6-7 ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารส่วนจังหวัด จึงเปลี่ยนสถานะของเมืองประทุมธานีเป็นจังหวัด โดยเขียนคำว่า ประทุมธานี แบบกร่อนเสียง กลายเป็น ปทุมธานี แทน

 

จึงเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ความเอาพระราชหฤทัยใส่ ตลอดจนความเอื้ออาทรต่อชุมชนชาวมอญที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในบริเวณจังหวัดปทุมธานี ทรงรับเข้ามาเป็นราษฎรในภายใต้พระบารมีในขอบขันธสีมาของพระองค์และทรงดูแลความเป็นอยู่ของราษฏรกลุ่มนี้เป็นอย่างดี

 

ชาวมอญก็มีความสัมพันธ์ที่ดีและมีไมตรีจิตต่อคนไทยมาโดยตลอด ไม่มีเรื่องขัดแย้ง คุกคาม หรือเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ซึ่งคนไทยและคนมอญต่างก็มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมของการนับถือพุทธศาสนาร่วมกัน อีกทั้งวัฒนธรรมมอญโบราณก็เป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย จึงทำให้คน 2 กลุ่มชาติพันธุ์มีความกลมกลืนประสานวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตร่วมกันได้เป็นอย่างดี

สมเด็จพระนางเจ้าฯ กับการอนุรักษ์ผ้าไทย

วันที่ออกอากาศ: 19 สิงหาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีบทบาทความสำคัญอย่างยิ่งในการอนุรักษ์ผ้าและสิ่งทอของไทย ด้วยทรงเห็นว่าผ้าและสิ่งทอถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ที่นำมาใช้ทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม การผลิตผ้าและสิ่งทอก็เป็นกิจกรรมสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ วิถีชีวิต ตลอดจนสภาพแวดล้อมของกลุ่มคนท้องถิ่นต่างๆได้

 

เนื่องจากประเทศไทยประกอบด้วยคนพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ ที่สามารถผลิตงานหัตถกรรมประเภทผ้าและสิ่งทอแตกต่างกันไปตามวิถีชีวิตของตน ทั้งภูมิปัญญาในการผลิตเส้นใยและการออกแบบลวดลายต่างๆ ที่สวยงาม จึงทำให้เกิดผลงานผ้าและสิ่งทอมีความหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์

 

จากพระราชกรณียกิจที่โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไปเยี่ยมเยียนราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ทำให้ทรงสังเกตการนุ่งห่มของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งสร้างความสนพระราชหฤทัยและเป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัยให้ทรงตระหนักถึงคุณค่าของผ้าไทย โดยทรงเริ่มต้นจากการศึกษาและสะสมผ้าจากท้องถิ่นต่างๆ ตลอดจนการนำผ้าท้องถิ่นเหล่านั้นมาตัดเย็บฉลองพระองค์

 

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 เป็นต้นมา จะพบว่าทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าท้องถิ่นในการพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคนั้นๆ ซึ่งแสดงถึงความพยายามที่จะฟื้นฟูลักษณะการแต่งกายของสุภาพสตรีไทยขึ้นมา โดยในเวลาต่อมาได้ทรงกำหนดลักษณะชุดไทยพระราชนิยม ซึ่งใช้ผ้าไหมไทยชนิดต่างๆ มาเป็นวัสดุสำคัญในการตัดเย็บ ซึ่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นชุดสตรีที่นิยมใส่โดยทั่วไปทั้งในลักษณะทางการและกึ่งทางการ  

 

กล่าวได้ว่าบทบาทในการเป็นผู้อนุรักษ์ผ้าไทยของพระองค์ท่าน เริ่มมีความเป็นทางการมากขึ้นในปี พ.ศ. 2521 เมื่อทรงสนับสนุนให้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญในการอนุรักษ์และส่งเสริมงานหัตถกรรมท้องถิ่นชนิดต่างๆ ของประเทศ ซึ่งรวมถึงผ้าและสิ่งทอประเภทต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะผ้าไหมที่มีแหล่งผลิตอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

 

ทรงตระหนักว่าภูมิปัญญาการเรียนรู้และเทคนิคการผลิตผ้าไหมมักถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อทรงพบเห็นว่าผู้ผลิตผ้าไหมส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนชราแล้วทั้งสิ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าภูมิปัญญาเหล่านั้นอาจจะสูญหายไปได้ จึงทรงรวบรวมลูกหลานของชาวบ้านเพื่อส่งเสริมให้เรียนรู้วิธีการผลิตเส้นไหม ย้อมสี และผูกลายผ้า โดยอุปการะเข้ามาเป็นสมาชิกของมูลนิธิศิลปาชีพเพื่อฝึกฝนทักษะฝีมือจนชำนาญ

 

นอกจากนี้ ได้ทรงใช้หลักการตลาดเข้ามาช่วยในเรื่องการจำหน่ายสินค้า ตลอดจนการขยายตลาดของผ้าไหมไทยให้เป็นที่นิยมในวงกว้างมากขึ้น โดยเปิดร้านจิตรลดาเพื่อจำหน่ายสินค้าของมูลนิธิศิลปาชีพ โดยรับซื้อผ้าที่ชาวบ้านผลิตในราคาสูงและจัดจำหน่ายในราคาถูก ทำให้ชาวบ้านผู้ผลิตมีรายได้เสริมและสามารถจำหน่ายผ้าไหมของโครงการได้มากขึ้นด้วย

 

อีกทั้งทรงมีพระราชดำริแนะนำให้ชาวบ้านปรับลวดลายและสีสันของผ้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อให้สามารถนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าตามสมัยนิยมได้

 

ปัจจุบันผ้าไทยเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ นักออกแบบเสื้อผ้าชื่อดังของหลายๆ ประเทศนิยมนำผ้าไทยไปออกแบบตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูปและวางจำหน่ายในห้องเสื้อชั้นนำ ซึ่งนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงเข้ามามีบทบาทในการทำให้ผ้าพื้นเมืองของไทยได้อย่างดียั่ง จนผ้าไทยสามารถกลับฟื้นคืนชีวิตมาได้และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก 

สมเด็จพระนางเจ้าฯ กับการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย

วันที่ออกอากาศ: 12 สิงหาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยแขนงต่างๆ ไม่เพียงแต่เฉพาะงานศิลปหัตถกรรมไทยเท่านั้น ยังรวมถึงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของไทยอีกด้วย

 

โดยมรดกวัฒนธรรมไทย หมายถึง ความเจริญทางวัฒนธรรมที่อยู่ในอารยธรรมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่เป็นวัฒนธรรมภาคกลางและวัฒนธรรมของภูมิภาคต่างๆ  ที่ได้หลอมรวมกันเป็นวัฒนธรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์และความเป็นไทยในปัจจุบัน

 

ซึ่งตามประเพณีปฏิบัติของไทยตั้งแต่สมัยโบราณ สถาบันพระมหากษัตริย์มีบทบาทโดยตรงต่อการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของความเป็นไทยให้ยืนยงอยู่คู่สังคมไทย 

 

กล่าวถึงพระราชประวัติของพระองค์ท่าน การได้ใช้ชีวิตในหมู่พระราชวงศ์ทำให้ทรงมีโอกาสพบเห็นขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทยมาแต่ครั้งพระเยาว์ และการเสด็จพระราชดำเนินไปประทับอยู่ในต่างประเทศ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส และสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นอารยประเทศที่เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม จึงทรงได้รับการศึกษา อบรมให้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมด้วย

 

เมื่อทรงอภิเษกสมรสและได้รับพระราชทานสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์ในฐานะสมเด็จพระบรมราชินีเป็นต้นมา ก็ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอย่างเข้มแข็งในการอนุรักษ์และกระตุ้นเตือนให้ราษฎรให้ประชาชนไทยตระหนักถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมและความเป็นไทยด้านต่างๆ ดังนี้

 

ความสำคัญของภาษาไทย ดังเห็นได้จากพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานในโอกาสต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ในการใช้สำนวน ถ้อยคำ หรือรูปประโยคของภาษาที่เข้าใจง่าย กระชับ สื่อความหมายได้ชัดเจน และทรงใช้ภาษาในเชิงสร้างสรรค์มีปิยวาจา กล่าวคือ ใช้วาจาอ่อนหวาน สุภาพ เหมาะสมแก่กาลเทศะ

 

นอกจากนี้ ทรงมีพระปรีชาในด้านภาษาเขียนด้วย เห็นได้จากงานพระราชนิพนธ์ปกิณกะความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย รวมถึงพระราชหัตถเลขาที่เป็นจดหมายส่วนพระองค์ หรือพระราชนิพนธ์คำไว้อาลัยบุคคลต่างๆ ทรงใช้ภาษาที่กระชับ รวมถึงสำนวนภาษาและถ้อยคำที่สื่อสารภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

กิริยามารยาทแบบไทย ทรงปฏิบัติรักษากิริยามารยาทไทยได้อย่างงดงามและถูกต้อง อย่างเช่นวัฒนธรรมการกราบไหว้ของคนไทยที่มีระดับของการไหว้แตกต่างกัน โดยทรงปฏิบัติตามจารีตประเพณีได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งยังทรงวางพระองค์ได้อย่างเหมาะสมและมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งพบว่าเวลาที่เสด็จออกไปพบปะประชาชนซึ่งนั่งอยู่กับพื้นแล้ว จะเสด็จประทับราบอยู่กับพื้นแล้วทรงมีพระราชดำรัสกับประชาชนในระดับที่เสมอกัน

 

การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระองค์ในฐานะพุทธมามกะ ทรงเคารพในพระรัตนตรัยและปฏิบัติตนอยู่ในพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด คือ การปฏิบัติธรรม การปฏิบัติสมาธิภาวนา ตลอดจนการฟังพระธรรมเทศนาโดยเฉพาะในวันธรรมสวนะ  

 

นอกจากนี้ ทรงเอาพระทัยใส่ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปะพื้นบ้านอย่างงานหัตถกรรมประเภทต่างๆ รวมถึงศิลปะประจำชาติอื่นๆ เช่น โขน ละคร  โดยในปี พ.ศ. 2537 คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ได้ถวายพระราชสมัญญาองค์เอกอัครอุปถัมภ์ มรดกช่างศิลป์ไทย และในปี พ.ศ. 2555 กระทรวงวัฒนธรรมไทย ได้ถวายพระราชสมัญญาอัครภิรักษศิลปิน ซึ่งหมายความว่าศิลปินยิ่งใหญ่ ผู้ปกปักรักษางานศิลปะ เพื่อเป็นการสดุดีพระเกียรติคุณแก่สมเด็จพระนางเจ้าสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถที่ทรงอนุรักษ์ ฟื้นฟู รักษาศิลปะไทยให้อยู่คู่กับคนไทยตลอดไป